ครั้งที่ 260

13 มีนาคม 2554 21:35 น.

       ครั้งที่ 260
       สำหรับวันจันทร์ที่ 14 มีนาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2554
        
       “ข้อจำกัดด้านกฎหมายที่มีส่วนสำคัญต่อการปฏิรูปการเมือง”
        
                 ทราบจากข่าวหนังสือพิมพ์ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งเตรียมของบประมาณจำนวนเกือบ 4,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหากนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎร
                 ได้รับทราบตัวเลขแล้วก็รู้สึกเสียดายเงินจำนวนนี้เหลือเกินเพราะคาดเดาไว้แล้วว่าหลังเลือกตั้งเราคงได้ทั้ง “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” และ“รัฐบาล” ที่ประกอบด้วยคนที่ไม่แตกต่างอะไรไปจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเท่าไรนัก  ความขัดแย้งในสังคมก็ยังคงมีอยู่ต่อไปเพราะตราบใดก็ตามที่ความขัดแย้งในสังคมยังไม่ได้รับการแก้ไข กระแส “ไม่เอา” รัฐบาลก็คงต้องมีอยู่แบบเดิมอย่างแน่นอน ม็อบสารพัดม็อบที่อยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล หน้าลานพระบรมรูปทรงม้าและตามที่อื่น ๆ  ม็อบสีแดงที่ออกมาเขย่าขวัญคนกรุงเทพฯ เดือนละ 2 ครั้ง ก็ยังคงมีอยู่ แล้วอย่างนี้จะเลือกตั้งไปทำไมให้เสียงบประมาณแผ่นดินครับ น่าเสียดายที่ข้อเสนอของผมที่ให้นายกรัฐมนตรีลาออกแล้วหาคนที่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้มาเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันไม่ได้รับการขานรับเท่าที่ควร ทุกคนมัวแต่คิดว่าการเลือกตั้งคือการแก้ปัญหา ก็คงต้องรอดูต่อไปว่า หลังการเลือกตั้งเราจะได้ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี มาเป็นรัฐมนตรีและปัญหาความขัดแย้งในสังคมจะยังคงอยู่ต่อไปหรือไม่ ถึงตอนนั้นแล้วค่อยมาพิจารณาดูว่า การที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภาทำให้เราต้องเสียงบประมาณของประเทศไปหลายพันล้านเพื่อไม่ได้อะไรเลยนั้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบครับ !
                 เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ไปอภิปรายให้ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 2 ประจำปี 2553 ในหัวข้อ “ข้อจำกัดด้านกฎหมายที่มีส่วนสำคัญต่อการปฏิรูปการเมือง” ผมเลยถือโอกาสนำเอาเนื้อหาในส่วนของการอภิปรายของผมมาเล่าสู่กันฟังครับ
                 ผมเริ่มต้นการอภิปรายด้วยการหาความหมายของคำว่าการปฏิรูปการเมืองก่อนเพราะวันนี้ใช้กันผิด ๆ  ขนาดแก้รัฐธรรมนูญหนที่ผ่านมาซึ่งประเทศชาติและประชาชนแทบจะไม่ได้อะไรเลยก็ยังอุตส่าห์บอกว่าเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของการปฏิรูปการเมือง เป็นไปได้อย่างไรเพราะการปฏิรูปการเมืองนั้นหากจะให้ “กรอบ” ของคำดังกล่าวก็จะต้องดู “ผล” ที่เกิดขึ้นว่า มีการปรับเปลี่ยนระบบการเมือง “ขนานใหญ่” หรือไม่ เพราะการปฏิรูปการเมืองที่แท้จริงนั้นต้องมีวัตถุประสงค์สำคัญคือการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศที่หากใช้กระบวนการปกติที่มีอยู่ก็ไม่อาจแก้ปัญหานั้นได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบ กระบวนการ หรือวิธีการใหม่ที่จะทำให้การแก้ปัญหาสำคัญของประเทศเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นการปฏิรูปการเมืองจึงไม่มีวิธีการที่เป็นแบบหรือเป็นมาตรฐานเดียวกันเพราะปัญหาของแต่ละประเทศในแต่ละช่วงเวลาอาจแตกต่างกัน การปฏิรูปการเมืองของแต่ละประเทศส่วนใหญ่จึงไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับปัญหาของประเทศนั้น ๆ  สำหรับในประเทศไทยนับแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ถือเป็นการปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เนื่องมาจากเกิดขึ้นเพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศด้วยวิธีการพิเศษ ผลที่เกิดขึ้นคือเราสามารถสร้างระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขึ้นในประเทศไทยได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต
                 ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศหนึ่งที่มีผู้พูดถึงกันมากว่าประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการเมือง บทความเรื่อง “การปฏิรูปการเมืองฝรั่งเศส : ข้อคิดในการปฏิรูปการเมืองไทย” ที่เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์  อุวรรณโณ และดร.ชาญชัย  แสวงศักดิ์ ในวารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 1 ม.ค. - เม.ย. 2540 ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจของการปฏิรูปการเมืองในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) ไว้อย่างละเอียด โดยฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้นมีปัญหามากมายหลายด้านไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล ความล้มเหลวของระบบรัฐสภาที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรคที่ไม่มีเสียงข้างมาก แต่ละพรรคการเมืองก็มีนโยบายและเสนอความคิดที่แตกต่างกัน ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือปัญหาเมืองอาณานิคม โดยอัลจีเรียต้องการแยกตัวเป็นเอกราชแต่รัฐบาลฝรั่งเศสไม่ยอม ต้ทำให้ต้องส่งทหารไปทำการสู้รบ ประชาชนไม่พอใจเพราะต้องส่งคนในครอบครัวของตนเองไปร่วมรบ เกิดกระแสความสับสนวุ่นวายขึ้นมาในประเทศจนทำให้ประธานาธิบดีในขณะนั้นต้องไปเชิญ “รัฐบุรุษ” คือ    นายพล De Gaulle มากู้ชาติ  ในที่สุดนายพล De Gaulle ตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นแล้วก็ขอให้รัฐสภาออกกฎหมายมอบอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แก่รัฐบาลของนายพล     De Gaulle รัฐสภาแม้จะรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้อง “กระทบ” ต่อตัวเองอย่างแน่นอนแต่ก็ต้องจำยอมเพราะประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติ  นายพล De Gaulle จึงได้จัดตั้งคณะทำงานร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการเป็นส่วนใหญ่ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็นำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ หลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ การปฏิรูปการเมืองก็เกิดขึ้นโดยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ให้อำนาจรัฐบาลในการออก “รัฐกำหนด” ที่มีผลเป็นกฎหมายได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา ปรากฏว่าในช่วงเวลา 4 เดือนหลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ รัฐบาลออกรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญครบทั้ง 18 ฉบับและออกรัฐกำหนดธรรมดาอีกเกือบ 300 ฉบับ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1959 การปฏิรูปการเมืองในฝรั่งเศสจึงเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์
                 ปัจจัยสำคัญที่ประเทศฝรั่งเศสสามารถปฏิรูปการเมืองได้มีอยู่หลายอย่าง เช่น การมีผู้นำที่มีภาวะผู้นำ การเกิดวิกฤติขึ้นในชาติที่คนในชาติต้องการหาทางออกร่วมกัน การมีผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ ความใจกว้างของรัฐสภาที่ต้องการแก้ปัญหาของประเทศด้วยการมอบอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้องค์กรอื่นที่ไม่ใช่ตัวเองและความร่วมมือร่วมใจของประชาชนที่มาออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันคือให้รัฐธรรมนูญเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศ
                 ในประเทศไทย ดังได้กล่าวไปแล้วว่า นับแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การปฏิรูปการเมืองของเรามีเพียงครั้งเดียวคือในปี พ.ศ. 2540 เมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540   ทั้งนี้ เนื่องมากจากการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 นั้น ไม่ได้ใช้วิธีการแบบเดิม ๆ ที่เคยทำมาคือการให้รัฐสภาเข้ามาเป็นผู้จัดทำ เนื่องจากในขณะนั้น มีการมองกันว่ารัฐสภาเป็นผู้ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญจึงควรให้ “คนอื่น” ที่ไม่ใช่รัฐสภาเข้ามาเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญ จึงเป็นที่มาของ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภา  สภาร่างรัฐธรรมนูญได้พยายามแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศด้วยการสร้างกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขึ้นมาหลายกลไกด้วยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ แก้ไขปัญหาการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบรวมไปถึงการทุจริตคอร์รัปชันด้วย  ผลที่เกิดขึ้นจากการมีรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 จึงแตกต่างไปจากผลที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับที่เคยมีมาก่อนหน้านี้
                 ส่วนการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 นั้น คงไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ไม่ได้สร้างอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาเลยและแม้จะมีผลใช้บังคับมา 3 ปีเศษแล้วก็ตาม แต่เราก็ไม่ได้เห็นใหม่ไปกว่าที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 เคยสร้างปรากฏการณ์เอาไว้ การทุจริตคอร์รัปชันที่กลไกในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ยังไม่สามารถ “ทำให้สิ้นซาก” ได้ ในช่วงของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ก็ยังมีอยู่มิหนำซ้ำยังมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2553 ก็เหมือนเป็นเรื่อง “หลอกเด็ก” เพราะมีเฉพาะนักการเมืองเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เข้าใจว่าทำไม “ผู้มีอำนาจ” หลาย ๆ คนจึงพยายามออกมาพูดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2553 เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการเมือง
                 ทั้งหมดนี้คือ แนวคิดและแนวทางปฏิบัติของการปฏิรูปการเมืองที่เกิดขึ้นมาแล้ว
                 ส่วนข้อจำกัดด้านกฎหมายที่มีส่วนสำคัญต่อการปฏิรูปการเมือง ผมมองว่ารัฐธรรมนูญต่าง ๆ ที่เป็น “ข้อจำกัด” ของการปฏิรูปการเมืองเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังคงให้อำนาจรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ !!
                 จริง ๆ แล้วในตอนที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ผมได้พูดผ่าน “เพื่อน”     2 - 3 คนที่ไปอยู่ในสภาร่างรัฐธรรมนูญว่า ในส่วนของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญน่าจะมีบทบัญญัติทำนองว่าหากต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเล็กน้อยก็ให้รัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการแต่ถ้าต้องมีการแก้ไขมากที่มีผลเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างหรือระบบ ก็ควรจะให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยน่าจะกำหนดโครงสร้าง ที่มาและวิธีการดำเนินการของสภาร่างรัฐธรรมนูญเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 เลย กับอีกเรื่องหนึ่งที่ผมพูดผ่าน “เพื่อน” ไปก็คือ น่าจะมีการตั้งหน่วยงานทางวิชาการที่เป็นอิสระทำหน้าที่รวบรวมประเด็นปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ศึกษากระบวนการและกลไกใหม่ ๆ ในรัฐธรรมนูญต่างประเทศแล้วเสนอแนะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอหลังนี้บ้านเราควรมีเพราะจนถึงทุกวันนี้เรายังไม่เคยมี “เจ้าภาพ” เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเลย มีปัญหาเกิดขึ้นจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญก็โวยวายกันที ไม่กี่วันเรื่องก็เงียบหายไป แก้รัฐธรรมนูญก็ไม่เห็นเอาเรื่องที่มีปัญหามาพิจารณากันเลย  แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของผมทั้งสองข้อก็ไม่ได้รับการตอบรับ
                 อุปสรรคสำคัญของการปฏิรูปการเมืองในประเทศไทยวันนี้คือ “รัฐธรรมนูญ” นั่นเองครับ !! เพราะตราบใดก็ตามที่เรายังให้ “ผู้มีส่วนได้เสีย” เป็นผู้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง แน่นอนอยู่แล้วที่จะต้องมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) เข้ามาเกี่ยวข้อง
                 การปฏิรูปการเมืองจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากเรายังไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้มีการดึง “คนนอก” เข้ามาเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญ
                 ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความด้วยกัน  บทความแรก เป็นบทความของ รองศาสตราจารย์เจริญศักดิ์ ศาลากิจ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เขียนเรื่อง “การต่ออายุราชการของข้าราชการในมหาวิทยาลัย”  บทความที่สอง เป็นบทความเรื่อง “การควบคุมตรวจสอบฝ่ายปกครองโดยศาลปกครอง” ที่เขียนโดย อาจารย์โชต อัศวลาภสกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี  บทความที่สาม เป็นบทความเรื่อง “ความเป็นสื่อสังคม (Social Media) กับมาตรฐานและจรรยาบรรณ” ที่เขียนโดย คุณธีรพัฒน์ อังศุชวาล นักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  บทความสุดท้าย คือ บทความเรื่อง “การใช้อำนาจตุลาการอันเป็นอิสระกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม” ที่เขียนโดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความครับ
        
                 พบกันใหม่ วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2554
        
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
        
        


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1568
เวลา 18 เมษายน 2567 17:14 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)