กรณีศึกษา - case study คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕/๒๕๕๓ (กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์) ตอนที่ 3 (หน้าที่ 1)

27 มีนาคม 2554 21:46 น.

       ส่วนที่สาม  ความเห็นเชิงวิเคราะห์ของผู้เขียน 
       ในส่วนที่สามนี้   ผู้เขียนจะขอให้ความเห็นเป็น  ๓  ตอน คือ
                   ตอนที่หนึ่ง   จะเป็นการวิเคราะห์  “การให้เหตุผลในการวินิจฉัยชี้ขาด”ของตุลาการ  (เพื่อตรวจดู “พฤติกรรมของตุลาการ”)    
                    ตอนที่สอง เป็นการวิเคราะห์  “ข้อบกพร่อง”ของบทกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ        
                       ตอนที่สาม  ว่าด้วย  “ปัญหา” การทำงานของ “ประธานกรรมการการเลือกตั้ง” และ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” 
        
                             ----------------------------------------------------------------------------------------------------------
        
       ตอนที่หนึ่ง(การวิเคราะห์การให้เหตุผลในการวินิจฉัยชี้ขาด”ของตุลาการ  เพื่อตรวจดู “พฤติกรรมของตุลาการ”  (กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์)
                   ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทนำว่า   เราสามารถมองเห็น  “พฤติรรมของตุลาการ”( ที่เขียนคำวินิจฉัยของศาล)ได้ จากการตรวจดูหรือวิเคราะห์ การให้เหตุผลในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีของตุลาการ   โดยเราจะสามารถทราบได้ว่า  ตุลาการท่านใด  เป็นคนเก่งหรือไม่เก่ง  และเป็นคนสุจริต(ใจ)หรือไม่สุจริต     ;  แต่ในการวิเคราะห์เช่นนี้   เป็นเรื่องที่เสียเวลามาก  เพราะต้องวิเคราะห์เป็นรายคดี (ที่ “ผิดปกติ”) และต้องตรวจสอบในรายละเอียด    แต่ให้ประโยชน์น้อย  เพราะคนทั่วไปมองไม่ค่อยเห็น “ความสำคัญ”ของการวิเคราะห์คำพิพากษา   (ทั้ง ๆ ที่มีความสำคัญมาก) ;    แต่โดยที่ “กรณีขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์”นี้    เป็นเรื่องที่นักวิชาการและคนทั่วไปให้ความสนใจและมีปฏิกริยาต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกันมาก   ผู้เขียนเลยคิดว่าน่าจะทำการวิเคราะห์ดู  เพื่อเป็น “ตัวอย่าง” 
        
               ในตอนที่หนึ่งนี้  ผู้เขียนจะขอแยกเป็น ๔  ข้อ  ดังนี้
                  (๑) ข้อที่หนึ่ง  เราสามารถทราบได้อย่างไร   ว่า คำพิพากษาของศาล”ฉบับใด เป็นคำพิพากษาที่ “ผิดปกติ”
                 (๒)ข้อที่สอง   การวิเคราะห์การให้เหตุผลของตุลาการ ๓ ท่าน (ที่ให้ยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง เพราะ “เหตุ” ที่ นายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ได้ทำ “ความเห็น” ก่อนการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง) ว่า  มีข้อความที่ “ควร”จะปรากฎ  แต่ได้ตกหล่นไปจากการวินิจฉัย  มากน้อยเพียงใด
                  (๓) ข้อที่สาม  การวิเคราะห์การให้เหตุผลของตุลาการ ๑ ท่าน  (ที่ให้ยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง เพราะ “เหตุ” ที่ นายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในกำหนดเวลา ๑๕ วันตามที่กฎหมายกำหนด -  มาตรา ๙๓ วรรคสอง พรบ.ฯ พ.ศ. ๒๕๕๐ ) ว่า   มีข้อความที่ “ควร”จะปรากฎ  แต่ได้ตกหล่นไปจากการวินิจฉัยไป มากน้อยเพียงใด   
                 (๔) ข้อที่สี่   การวิเคราะห์การให้เหตุผลใน “คำวินิจฉัย -ส่วนตน” ของตุลาการเสียงข้างมาก ๔ ท่าน (ที่เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้กระทำความผิด ตามข้อกล่าวหา) ว่า   มีข้อความที่ “ควร”จะปรากฎ  แต่ได้ตกหล่นไปจากการวินิจฉัย  มากน้อยเพียงใด  (ประเด็นนี้   คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๕ / ๒๕๕๓”  ไม่ได้มีการวินิจฉัยไว้ )  
         
            อนึ่ง  ขอเรียนว่า   ในการวิเคราะห์ของผู้เขียนนี้  จะเป็นการวิเคราะห์บนพื้นฐานตาม “ข้อเท็จจริง” เฉพาะเท่าที่ปรากฎใน “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”  และใน “คำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของตุลาการ เท่านั้น  (โดยผู้เขียนไม่ได้และไม่มีสิทธิเข้าถึงเอกสารในสำนวนคดี )  และขอเรียนว่า   “เลขหน้า”  ตามที่จะอ้างอิงในบทความต่อไปนี้  จะเป็นเลขหน้า ของคำวินิจฉัยฉบับที่เป็นทางการ (ทั้ง “คำวินิจฉัยกลาง” และ “คำวินิจฉัย -ส่วนตน”) เท่านั้น   โดยผู้เขียนได้เปลี่ยนเลขหน้า จากเลขหน้าของ “คำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ” )ในส่วนที่สอง  ให้เป็น “เลขหน้า” ของ “คำวินิจฉัย(ทางการ)ศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ แล้ว )  ]
        
                                   ---------------------------------------------------------------------------------------------------
        
       (๑)ข้อที่หนึ่ง  เรา (บุคคลภายนอก) สามารถทราบได้อย่างไร ว่า  “คำพิพากษาของศาล”ฉบับใด เป็นคำพิพากษาที่ “ผิดปกติ”  
        
                    ก่อนอื่น  คงต้องขอเรียนว่า  ผู้เขียนไม่คิดว่า  “ บุคคลทั่ว ๆ ไป” ที่ได้อ่านคำพิพากษาของศาล (ไม่ว่าศาลใด ๆ )  จะสามารถบอกได้ว่า คำพิพากษาของศาลฉบับใด  เป็น “คำพิพากษาที่ผิดปกติ” หรือไม่  นอกเสียจากว่า  บุคคลนั้นจะต้องเป็น “นักกฎหมาย” ;  พูดง่าย ๆ  ก็คือ  นักกฎหมายเท่านั้น จึงจะสามารถรู้เท่าทันหรือตรวจสอบนักกฎหมายได้
                 และนอกจากนั้น  นักกฎหมายที่จะสามารถรู้ได้ว่า “คำพิพากษาของศาลฉบับใด  เป็น “คำพิพากษาที่ผิดปกติ”ได้  จะต้องเป็น “นักกฎหมายชั้นดี” เท่านั้น (ไม่ใช่นักกฎหมายทั่วไป) คือ จะต้องเป็นนักกฎหมายที่เมื่ออ่านคำพิพากษาแล้ว  จะต้องสามารถรู้ได้ว่า ข้อความใดที่ “ควร”จะปรากฎในการวินิจฉัย  แต่ไม่ปรากฎ(ขาดหายไป)นั้น  คือ อะไร   ซึ่งในบางคดีก็ยาก  บางคดีก็ง่ายและเห็นได้ชัด ; ทั้งนี้เพราะเราต้องไม่ลืมว่า   ผู้พิพากษาที่เขียนคำพิพากษานั้นเป็น “นักกฎหมายชั้นดี”  และเป็นผู้ที่รู้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคดีอย่างละเอียดลึกซึ้ง   เนื่องจากเป็น “ผู้ที่ได้นั่งพิจารณาคดี”นั้นมาตั้งแต่ต้น   และตุลาการเหล่านี้เอง ที่เป็นผู้เขียนและกำหนด “แนวการเขียนคำพิพากษา” (ด้วยตนเอง)
        
               ในบทความนี้  ผู้เขียนใช้   คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ มาเป็น “ตัวอย่าง” ในการทำ case study   ; คำวินิจฉัยฉบับนี้  เป็นคำพิพากษาตามมาตรฐานของศาลแบบไทย (เข้าใจว่า เป็นประเทศเดียวในโลก)   คือ อ่านก่อนและเขียนทีหลัง  เพราะประเทศอื่น  ผู้พิพากษาของเขาต้องเขียนคำพิพากษาเสร็จก่อน  แล้วจึงอ่าน  ; คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้  ได้อ่าน “คำวินิจฉัย(อย่างไม่เป็นทางการ)”  ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓  และหลังจากที่ได้รับฟังการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดตามมาแล้ว   จึงได้เขียนเสร็จและเผยแพร่คำวินิจฉัยที่เป็นทางการ ในวันที่ ๘  ธันวาคม ๒๕๕๓  ซึ่ง เป็นเวลาหลังจากการอ่านคำวินิจฉัยไปแล้วเป็นเวลา ๙ วัน  แต่ได้ลงวันที่ในคำวินิจฉัยย้อนหลังไปในวันที่ ที่ได้อ่านคำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการ  คือ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
        
               อันที่จริง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓  ไม่ถือว่า  เป็นคดีที่ยากนักสำหรับการทำการวิเคราะห์  เพราะคดีนี้  เป็นคดีที่มี บทมาตราของกฎหมายที่ชัดเจน  และมีข้อเท็จจริงที่ไม่ซับซ้อนเกินไป  และนอกจากนั้น  ในคดีของศาลรัฐธรรมนูญนี้    รัฐธรรมนูญ (มาตรา ๒๑๖ วรรคสอง )ได้กำหนดให้ต้องมี “คำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของตุลาการทุกท่านไว้ด้วย   ดังนั้น  ผู้วิเคราะห์จึงอาศัยความเห็นของ “ตุลาการที่วินิจฉัยคดีแตกต่างกัน”  มาอธิบายเทียบเคียงกัน (เป็น “ตัวช่วย”)   เพื่อให้เห็นความแตกต่างของ  “ความเห็นของตุลาการ” แต่ละฝ่ายได้  โดยไม่ต้องเป็น “ความเห็นส่วนตัว”ของผู้วิเคราะห์ เพียงอย่างเดียว       [หมายเหตุ  แม้ว่า  ในการเทียบเคียงคำวินิจฉัย -ส่วนตน ของตุลาการ   ผู้วิเคราะห์จะเสียเวลาค่อนข้างมาก   เนื่องจาก “กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ” (หรือข้อกำหนด) ของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้   ไม่ได้กำหนด “รูปแบบ” หรือแนวทางของการเขียนคำวินิจฉัย - ส่วนตนของตุลาการไว้ให้แน่นอน    ดังนั้น   ตุลาการแต่ละท่านจึงเขียนคำวินิจฉัย - ส่วนตนอย่างหลากหลายตามสำนวนความของแต่ละท่าน  ซึ่งไม่เอื้ออำนวยให้ “วงการวิชาการ” เข้ามาตรวจสอบและเทียบเคียงได้ง่ายนัก ]
                บางที   ถ้าหากผู้วิเคราะห์เขียนวิเคราะห์  โดยนำเอา “คำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของตุลาการแต่ละท่านมาเทียบเคียงได้ดีแล้ว    ท่านผู้อ่านก็อาจประเมืนและมองเห็น  “คุณภาพ( ความสามารถ)” และ “ความสุจริต(ใจ)”  ของตุลาการที่เขียนคำวินิจฉัยของศาลได้ด้วยตนเอง   โดยผู้วิเคราะห์ ไม่จำเป็นจะต้องให้ความเห็นเลย
        
              ในการที่จะทราบว่า “คำพิพากษาของศาล”ฉบับใด เป็นคำพิพากษาที่ “ผิดปกติ”  หรือไม่  ผู้เขียนคิดว่า  เราสามารถทำได้  ด้วยการพิจารณาสั้น ๆ เพียง  ๓ ประการ   คือ
                  ประการแรก  ตรวจดูว่า  “ตัวบทกฎหมาย”ในคดี มีอย่างไร
                  ประการที่สอง  ตรวจดูว่า ตุลาการผู้เขียนคำพิพากษา  ตั้ง”ประเด็น” เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยที่เป็น “ข้อยุติ”  ไว้ อย่างไร  และเหตุผล - reason ของตุลาการ(ในแต่ละประเด็น)  มีความสมเหตุสมผล - logicality   หรือไม่
               ประการที่สาม ตรวจดูว่า  “ผลของคำวินิจฉัย” เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของ (บท)กฎหมาย หรือไม่
        
                 (๑) ประการแรก  ตรวจดูว่า  “ตัวบทกฎหมาย”ในคดี มีอย่างไร ; ซึ่งในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์นี้  ท่านผู้อ่านก็จะพบว่า     มีตัวบทกฎหมายที่สำคัญ  เพียงมาตราเดียวและมีข้อความเพียงสั้น ๆ  คือ  มาตรา ๙๓ วรรคสอง (พรบ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐) ที่บัญญัติว่า “เมื่อปรากฎต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่ง  ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ความปรากฎต่อนายทะเบียน”  และตัวบทกฎหมาย ก็มีเพียงเท่านี้จริง ๆ
               มาตรา ๙๓   มีบทมาตราอื่น ที่มี “ถ้อยคำ” ในลักษณะเดียวกันที่อาจนำมาเปรียบเทียบได้  คือ  มาตรา ๙๕  (กรณีพรรคการเมืองกระทำผิดตาม มาตรา ๙๔) 
        
       [หมายเหตุ  เพื่อความสะดวกสำหรับท่านที่อ่านบทความนี้   ผู้เขียนขอนำมาตรา ๙๓ และ มาตรา ๙๕    มาเขียนใว้ในที่นี้ด้วย
          “ มาตรา ๙๓  ในกรณีพรรคการเมืองใดมีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองยังมีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่   หรือในกรณีที่พรรคการเมืองใดไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง หรือมาตรา ๘๒  ให้ยุบพรรคการเมืองนั้น
          เมื่อปรากฎต่อนายทะเบียนว่า พรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนื่ง  ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฎต่อนายทะเบียน   เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองตามคำร้องของนายทะเบียน  ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น”
              ( มาตรา ๔๒ วรรคสอง  ได้แก่ กรณีที่พรรคการเมืองไม่จัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในรอบปีตามวรรคหนื่ง  และเมื่อนายทะเบียนสั่งเตือนตามวรรคสอง พรรคการเมืองก็ยังไม่จัดทำรายงาน ฯ ภายในกำหนดเวลาตามที่นายทะเบียนกำหนด ; และ  มาตรา ๘๒ ได้แก่ กรณีที่พรรคการเมืองไม่จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองให้ถูกต้องตามความจริง และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามนัยเช่นเดียวกับมาตรา ๔๒ วรรคสอง )
        
            “มาตรา ๙๕ เมื่อปรากฎต่อนายทะเบียน หรือเมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งจากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา ๙๔   ให้นายทะเบียนโดยความเห็นขอบของคณะกรรมการเลือกตั้งแจ้งต่ออัยการสูงสุดพร้อมด้วยหลักฐาน   เมื่ออัยการสูงสุดได้รับแจ้ง ให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับแจ้ง  ถ้าอัยการสูงสุดเห็นสมควร ก็ให้ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าว   ถ้าอัยการสูงสุดไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ  ให้นายทะเบียนตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่งโดยมีผู้แทนจากนายทะเบียนและผู้แทนจากสำนักอัยการสูงสุด  เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แล้วส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป  ในกรณีที่คณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการยื่นคำร้องได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่แต่งตั้งคณะทำงาน  ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจยื่นคำร้องเอง
            หากนายทะเบียนเห็นสมควรจะให้ระงับการดำเนินการของพรรคการเมือง ซึ่งกระทำการตามมาตรา ๙๔  ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งต่ออัยการสูงสุดขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งระงับการกระทำดังกล่าวของพรรคการเมืองไว้เป็นการชั่วคราว
              ในกรณี ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดแล้ว  ให้นายทะเบียนประกาศคำสั่งยุบพรรคการเมือง .........”       
                ( มาตรา  ๙๔  ได้แก่  พรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ระบุไว้  (๑) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฯ , (๒) กระทำการฝ่าฝืน พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ซึ่งมีผลทำให้การะลือกตั้งมิได้ป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม , (๓) ........ฯลฯ )
                   นอกจากนั้น   ในการอ่านคำวินิจฉํยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้  ท่านผู้อ่านต้องทราบด้วยว่า  “นายทะเบียนพรรคการเมือง” และ “ประธานกรรมการการเลือกตั้ง” นั้น   กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง (มาตรา ๖ ) กำหนดให้เป็นบุคคลคนเดียวกัน ]
        
                (๒) ประการที่สอง  ตรวจดูว่า ตุลาการผู้เขียนคำพิพากษา  ตั้ง”ประเด็น” ในการพิจารณาและวินิจฉัยไว้  อย่างไร     และเหตุผล -reason ของตุลาการ มีความสมเหตุสมผล -logicality  หรือไม่
                ในข้อสองนี้  เป็นเรื่องที่ผู้ที่ทำการวิคราะห์ จะต้องตรวจดูว่า ตุลาการที่เขียนคำวินิจฉัย  ได้ตั้ง “ประเด็น” (เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยที่เป็น “ข้อยุติ” )ไว้  อย่างไร  โดยจะต้องดูการตั้งประเด็นทั้งใน “ประเด็นข้อกฎหมาย”  และ  “ประเด็นในการนำสืบข้อเท็จจริง” 
                การตรวจดูการตั้งประเด็นนี้ มีความสำคัญ  เพราะจะทำให้ผู้วิเคราะห์สามารถทราบได้ว่า  การอธิบายเหตุผลของ “ตุลาการ” มีความครบถ้วนสมบูรณ์  หรือไม่ ;   ถ้ามีการตั้ง “ประเด็น”ที่ชัดเจนและครบถ้วนในสาระสำคัญ  ก็จะทำให้ “เหตุผล”ในคำพิพากษาของศาลมีความสมบูรณ์    ซึ่งจะแตกต่างกับการวินิจฉัยของศาล  ที่ตุลาการบรรยายอธิบายไปตาม “ความเห็นของตนเอง(ตุลาการ)” เพียงฝ่ายเดียว
                 การตรวจสอบการตั้งประเด็นและการให้เหตุผลในแต่ละประเด็นในคำพิพากษา  จะทำให้ผู้วิเคราะห์มองเห็น “ความสมเหตุสมผล -logicality”  ของเหตุผลในคำพิพากษาองศาล   และสามารถทราบได้ว่า คำพิพากษาของศาล ”ตกหล่น”ในสาระสำคัญ  ไปมากน้อยเพียงใด  
               ซึ่งการวิเคราะห์ในข้อที่สองนี้   จะเป็นสาระในส่วนที่สาม นี้  ที่จะได้กล่าวต่อไป
        
                (๓) ประการที่สาม  ตรวจดูว่า  “ผลของคำวินิจฉัย” เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของ (บท)กฎหมาย หรือไม่
                การตรวจดู ว่า “ข้อยุติ” ที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดของตุลาการ  ก่อเกิดผลอย่างไร  และ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ ”   อาจเรียกได้ว่า  เป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญที่สุดของ “นักกฎหมายมหาชน”  และเป็น “เงื่อนไข” ที่นักกฎหมายมหาชนจะต้องยึดถือและต้องตรวจดูเสมอ ;   หลักเกณฑ์ข้อนี้  เป็นทั้งเงื่อนไขข้อแรก และเป็นทั้งเงื่อนไขข้อสุดท้าย ของการทำหน้าที่ของนักกฎหมายมหาชน
                ที่ว่าเป็น“เงื่อนไขข้อแรก”   ก็เพราะว่า  ในการอ่านคำพิพากษา  สิ่งแรกที่นักกฎหมายมหาชน จะต้องตรวจดู  ก็คือ  “ผลของคำพิพากษาของศาล” เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของบทกฎหมาย หรือไม่ถ้านักกฎหมายมหาชนพบว่า  “ คำพิพากษา(คำวินิจฉัย)ของศาลฉบับใด  มี “ผล” ทำให้เจตนารมณ์ของบทกฎหมายล้มเหลวหรือถูกเบี่ยงเบนไป   นักกฎหมายมหาชนก็จะมีหน้าที่ ที่จะต้องทำ “การวิเคราะห์” เพื่อหาสาเหตุ  
              ที่ว่าเป็น “เงื่อนไขข้อสุดท้าย”  ก็เพราะว่า  เมื่อทำการวิเคราะห์แล้ว  ถ้าพบว่า “สาเหตุของความล้มเหลวในเจตนารมณ์ของบทกฎหมาย”  เกิดจาก “ข้อบกพร่องของบทกฎหมาย(ลายลักษณอักษร)”  นักกฎหมายมหาชน ก็มีหน้าที่จะต้อง เสนอการแก้ไข (ออกแบบ)กฎหมาย ;   แต่ถ้าพบว่า สาเหตุมาจาก “การบิดเบือนอำนาจ - abuse of power”  โดยพฤติกรรมของผู้พิพากษา (ตุลาการ)  ก็เป็นหน้าที่ของวงการวิชาการ   ที่จะนำข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการวิเคราะห์   มาเปิดเผย - expose    ให้คนทั่วไปได้ทราบ   เพื่อหาทางแก้ไข
        
             ●“การใช้กฎหมายและการตีความกฎหมาย  ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย”  เป็น จุดอ่อน ในการเรียนการสอนวิชากฎหมายในคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของไทย    และด้วยเหตุนี้  จึงทำให้นักกฎหมายของเรา(เกือบ)ทั้งหมด  กลายเป็นลูกหลานของ “ศรีธนญชัย”  ที่ชอบเล่นสำนวนความของบทกฎหมาย  หรือเป็นนักกฎหมายประเภท “นิติบริกร” ที่ให้บริการแก่นักการเมือง  คือ  นำบทกฎหมายมาใช้บังคับ  โดย “เลือก”ตีความเอาตามอำเภอใจ (arbitrary )   ตนเองมีผลประโยชน์อย่างไร  ก็อธิบายให้ “เหตุผล”ไปในทางนั้น   โดยไม่มี“เจตนารมณ์ของกฎหมาย”กำกับ  
                   ใน  “ Administrative Procedure Act ”  ของประเทศเยอรมันนี   ที่ตราขึ้น ใน ปี ค.ศ. ๑๙๗๖ (พ.ศ. ๒๕๑๙)  คือ กว่า ๓๐ ปีมาแล้ว   มาตรา ๔๐ บัญญํติไว้ว่า “ where  an authority is empowered to act at  its discretion, it shall do so with the purpose of such empowerment and  shall respect  the legal  limits to such discretionary powers” ;  มาตรานี้เป็นบทมาตรา  ที่เตือนเจ้าหน้าที่ของรัฐ(ของเขา)ว่า   ในการใช้อำนาจดุลพินิจในการปฏิบัตหน้าที่นั้น   จะต้องคำนึงถึง “เจตนารมณ์ของบทกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจ” 
              หลักการข้อนี้ (การใช้กฎหมาย ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทกฎหมาย )   เป็นหลักที่นักกฎหมายของเขา (ประเทศที่พัฒนาแล้ว) ได้ยึดถือปฏิบัติและมีสภาพบังคับเป็น “หลักกฎหมาย -general  principle of law” สำหรับการตีความหรือในการอุดช่องว่างของกฎหมายกันมา  นับเป็นร้อยปี  โดยที่ไม่ต้องมีการตรากฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรบังคับไว้  แต่อย่างใด  ;  และ สำหรับประเทศเยอรมันนี  เมื่อมีการตรา “กฎหมายว่าด้วยวิธีปฎิบัติ(ราชการ)ทางปกครอง - Administrative Procedure Act “ ขึ้นเป็นลายลักษณอักษร   เขาก็ยังอุตส่าห์เขียนเตือนไว้ให้อีกชั้นหนึ่ง
        
                    สำหรับประเทศไทย  เราได้ตรา  “กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” ของเรา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙  โดยได้เลียนแบบมาจากประเทศเยอรมันนี  (หลังจากประเทศเยอรมันนี  ๒๐ ปี)   แต่ปรากฎว่า  กฎหมาย( พรบ.) ของเราไม่มีมาตรานี้  ;   เราได้ตัดมาตรา(สำคัญ)ดังกล่าวของประเทศเยอรมันนีนี้  ออกไป โดยไม่เขียนไว้ในกฎหมาย    ทั้ง ๆ  ที่ นักกฎหมายไทย ไม่รู้จักหรือไม่ให้ความสำคัญของ “เจตนารมณ์ของ (บท)กฎหมาย”  และคนไทยทั่ว ๆ ไป มักจะเข้าใจกันว่า  นักกฎหมายคนใดที่สามารถเล่นถ้อยคำสำนวนที่เขียนไว้ในกฎหมายได้มากเท่าใด   คนนั้นเป็นคนเก่งกฎหมาย 
               พระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. ๒๕๓๙  จึงเป็นตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง(ในบรรดาตัวอย่างจำนวนมากของประเทศไทย)   ที่แสดงให้เห็นว่า นักกฎหมายไทย “ไม่มีความสามารถ” ในระดับของนักกฎหมายในยุคแห่ง “นิติปรัชญา ศตวรรษ ที่ ๒๐” (นักกฎหมาย คือ วิศวกรสังคม -social engineer)   เพราะไม่สามารถเขียน(ออกแบบ)กฎหมาย  ให้สอดคล้องกับสภาพและความเป็นจริงของสังคม (ไทย)ได้    และด้วยเหตุนี้   บรรดานักกฎหมายของประเทศไทย จึงยังคงเป็น  “ศรีธนญชัย”  และเป็น “นิติบริกร” ที่ชอบให้บริการแก่นักการเมือง   มาจนถึงขณะนี้
        
         ต่อไปนี้    เราลองพิจารณาดู  “สิ่งที่เกิดขึ้นจริง” ว่า  คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของ กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง หรือไม่
        
               ศาลรัฐธรรมนูญ (โดยตุลาการเสียงข้างมาก) วินิจฉัยให้ยกคำร้องของ  “นายทะเบียนพรรคการเมือง” ซึ่งเป็นผู้ที่มายื่นคำขอ(ให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบการกระทำของพรรคการเมือง)   โดยศาลให้เหตุผลว่า  การที่นายทะเบียนพรรคการเมือง ไม่ได้ทำ“ความเห็น” มาเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง)  ก่อนการประชุมของ "”คณะกรรมการการเลือกตั้ง" ( ในวันที่คณะกรรมการฯ มีมติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ)   เป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนที่เป็น “สาระสำคัญ”   ดังนั้น  กระบวนการยื่นคำร้องของ “นายทะเบียนพรรคการเมือง” (ตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง)  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นต่อไป (หน้า ๔๑)  
             ◊◊ คำถามสำหรับท่านผู้อ่าน  มีว่า  ท่านผู้อ่าน “คิด” ว่า  คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓  (ที่มี “ผล” ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ (ตนเอง)ไม่สามารถตรวจสอบ “การกระทำ” ของพรรคการเมือง ว่าเป็นกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่)   เป็นคำวินิจฉัย ที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทกฎหมาย   หรือไม่   (?)
               ถ้าท่านผู้อ่านเห็นว่า  คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทกฎหมาย  คำถามต่อไปก็มีว่า  ท่านผู้อ่านตอบได้หรือไม่ ว่า  สาเหตุของการทำให้คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทกฎหมาย  เกิดจากอะไร  ;  เกิดจาก”ข้อบกพร่อง”ของบทกฎหมาย  หรือเกิดจาก“พฤติกรรมของตุลาการ”;  ถ้าท่านผู้อ่านยังไม่แน่ใจ  ก็โปรดอ่านบทความในข้อต่อไป
                       -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
        
       (๒)ข้อที่สอง   การวิเคราะห์การให้เหตุผล  ของตุลาการ ๓ ท่าน (ที่ให้ยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง เพราะ “เหตุ” ที่ นายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ได้ทำ “ความเห็น” ก่อนการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง) ว่า  มีข้อความที่ “ควร”จะปรากฎ  แต่ได้ตกหล่นไปจากการวินิจฉัยไป มากน้อยเพียงใด   
             การวินิจฉัยนี้    เป็นความเห็นของท่านตุลาการ ๓ ท่าน (ในจำนวนเสียงข้างมาก ๔ ท่าน)  คือ นายจรัล ภัคดีธนากุล / นายสุพจน์ ไข่มุกด์/ นายนุรักษ์ มาปราณีต  โดยผู้เขียนขอเริ่มต้นด้วยการพิจารณาตามหัวข้อ ๕ ข้อ  ต่อไปนี้ตามลำดับ คือ
                - “ข้อวินิจฉัย” และ “ข้อยุติ”  ของตุลาการ ๓ ท่าน ว่า  มีอย่างไร   
                -  ข้อวินิจฉัย” และ “ข้อยุติ” (ของตุลาการ ๓ ท่านดังกล่าว)  รับฟังได้เพียงใด  
               - วิธีการอธิบายเหตุผล” และการตั้ง “ประเด็น”  ของศาลรัฐธรรมนูญ(โดยตุลาการฝ่ายข้างมาก)  มีความครบถ้วน  มากน้อยเพียงใด 
              - มติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการประชุมวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ (ที่ให้ถือว่า “ความเห็นของ  นายอภิชาติ ฯ ที่ลงมติในฐานะประธานกรรมการฯ” ในการประชุม เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓  เป็น  ”ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง” )  ถูกต้องหรือไม่  และ
               -  ข้อเท็จจริงในคดี (ตามที่ปรากฎในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ)  มีความถูกต้อง (ตรงตามข้อเท็จจริงในสำนวน)  เพียงใด
        
       ◊◊   ข้อวินิจฉัยและข้อยุติ(สรุป)   ของตุลาการ ๓ ท่าน  มีอย่างไร
                 ข้อวินิจฉัย  เมื่ออ่านคำวินิจฉัยแล้ว (โปรดตรวจดู “สาระ”ของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ จากส่วนที่สอง)    เราอาจสรุปเหตุผล  ที่เป็น “ข้อวินิจฉัย” ของ  ตุลาการฝ่ายข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญ ๓ ท่าน  ได้  ๓ ประการ   คือ  ประการที่  (๑) (หน้า ๓๖ และ หน้า ๓๑ ย่อหน้าที่ ๓ และ ๔)วินิจฉัยว่า  ก่อนมีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง  นายทะเบียนพรรคการเมือง  จะต้องมี “ความเห็น” ของตนมาก่อน  ; ประการที่ (๒) (หน้า ๓๗  ย่อหน้าที่สอง) วินิจฉัยว่า ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง จะต้องเป็น “ความเห็นที่นายทะเบียนต้องวินิจฉัยชี้ขาด” ว่า พรรคการเมืองกระทำผิด   และเห็นว่า  ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่เห็นว่า “อาจ” มีการกระทำผิด   ยังถือไม่ได้ว่า  เป็น “ความเห็น”ในกรณีนี้  ; และ  ประการที่  (๓) (หน้า ๓๗ ย่อหน้าที่หนึ่ง)  วินิจฉัยว่า  “ความเห็นส่วนตน” ของประธานกรรมการการเลือกตั้ง  ที่กระทำในการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (แม้ว่า  บุคคลนั้นจะเป็นทั้ง “ประธานกรรมการฯ” และเป็นทั้ง “นายทะเบียนพรรคการเมือง” ตามกฎหมาย ก็ตาม )  ต้องถือว่า เป็นความเห็นของประธานกรรมการ ฯ เท่านั้น  และจะถือเป็น “ความเห็นของนายทะเบียน” ไม่ได้
               ข้อยุติ  จากข้อวินิจฉัย ๓ ประการ ดังกล่าวมานี้  ศาลรัฐธรรมนูญ (โดย ตุลาการฝ่ายข้างมากสรุปเป็น “ข้อยุติ” (หน้า ๓๗) ว่า  การให้ความเห็นชอบของ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง (เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓” จึงเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนของกฎหมายในส่วนสาระสำคัญ   ไม่มีผลทางกฎหมาย ที่จะให้นายทะเบียนพรรคการเมือง มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องได้
        
       ◊◊  “ข้อวินิจฉัย” และ “ข้อยุติ” (ของตุลาการ ๓ ท่านดังกล่าว)   มีเหตุผล -reasonที่รับฟังได้มากน้อย  เพียงใด 
                   ”คำถาม”แรกที่ท่านผู้อ่านจะต้องถามตนเอง    ก็คือ  “ข้อวินิจฉัย” ๓ ประการของศาลรัฐธรรมนูญ(ตุลาการฝ่ายข้างมาก)ดังกล่าวข้างต้น    มาจากไหน (?)   เพราะมาตรา ๙๓ วรรคสอง มีบทบัญญัติเพียงว่า “เมื่อ(ความ)ปรากฏต่อนายทะเบียนว่า พรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่ง   ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ความปรากฎต่อนายทะเบียน” 
        
               เพราะเหตุใด   จากบทบัญญัติใน มาตรา ๙๓ ที่มีถ้อยคำเพียงเท่านั้น   ศาลรัฐธรรมนูญ(ตุลาการฝ่ายข้างมาก)  จึงสามารถวินิจฉัยได้ ว่า  (๑)  นายทะเบียนพรรคการเมือง  จะต้องมี “ความเห็น” ของตนมาก่อนมีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง  และ (๒)“ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง” จะต้องเป็นความเห็นที่นายทะเบียนวินิจฉัยชี้ขาดว่า พรรคการเมืองกระทำผิด   โดยความเห็นของนายทะเบียนที่เห็นว่า “อาจ” มีการกระทำผิด  ศาลรัฐธรรมนูญ(ตุลาการฝ่ายข้างมาก)ก็ยังเห็นว่า  ยังถือไม่ได้ว่า  เป็น “ความเห็น”ในกรณีนี้   ;  ศาลรัฐธรรมนูญ (โดยตุลาการฝ่ายข้างมาก  ๓ ท่าน)  มีวิธีการอธิบายให้มาสู่ “ข้อวินิจฉัย” เช่นนี้  ได้อย่างไร
                  ในทางกลับกัน  คำถามมีว่า  เพราะเหตุใด  ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีความเห็นว่า   นายอภิชาติ  สุขัคคานนท์ (ซึ่งตามกฎหมาย เป็นทั้งประธานกรรมการการเลือกตั้งและเป็นทั้งนายทะเบียนพรรคการเมืองในขณะเดียวกัน)  ย่อมสามารถพูดและแสดงความเห็น (ในฐานะนายทะเบียน)ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งได้    รวมทั้ง มีสิทธิเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง(ในฐานะนายทะเบียน)ให้พิจารณาได้ เพราะนายทะเบียนกับประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นบุคคลคนเดียวกัน  ;  ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้  เป็นไปตาม  “กฎเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการประชุมคณะกรรมการของทางราชการ”   ซึ่งเป็นที่ยึดถือปฏิบัตกันทั่วไป
               ในการประชุมคณะกรรมการของทางราชการ   บุคคลคนเดียวกัน(ที่มีสองฐานะหรือหลายฐานะ)ที่นั่งอยู่ในที่ประชุม  ย่อมสิทธิที่จะแสดงความเห็นของตนในฐานะใดก็ได้  และในกรณีนี้  คำว่า “เมื่อปรากฎต่อนายทะเบียนว่า พรรคการเมืองมีเหตุตามวรรคหนึ่ง” ในมาตรา ๙๓ วรรคสองนั้น   ผู้เขียนก็เห็นว่า  ไม่ได้มีข้อความใดที่บังคับว่า  นายทะเบียนจะต้องทำความเห็นเป็นการชี้ขาดว่า มี “การกระทำผิด”จริง ;   ดังนั้น  เพียงแต่  “มีเหตุ” ที่ปรากฏต่อนายทะเบียน  ที่นายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่า มี“การกระทำของพรรคการเมือง” ที่สมควรได้รับการตรวจสอบและการพิสูจน์ใน “ระบบวิธีพิจารณาความ”ของศาลรัฐธรรมนูญ   นายทะเบียนพรรคการเมืองย่อมมีสิทธิที่จะเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ  ได้  
               [หมายเหตุ  สำหรับข้อเท็จจริงว่า  “เหตุ” ที่ปรากฎต่อนายทะเบียนในกรณีนี้   มีอย่างไร  และทำไม  จึงเป็น “เหตุ” ที่พอเพียงที่นายทะเบียนพรรคการเมืองจะขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อยื่นคำขอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้   ผู้เขียนจะได้ไปพิจารณาใน ข้อที่สี่ (การวิเคราะห์ คำวินิจฉัย - ส่วนตน) ต่อไป ]  
        
             ● ลองสมมติว่า  ในการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง   คณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องการให้ “นายทะเบียนพรรคการเมือง” มาชี้แจงความเห็น(ของนายทะเบียน)  ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในที่ประชุม   คณะกรรมการการเลือกตั้งจะดำเนินการประชุมอย่างไร ;  ผู้เขียนเห็นว่า  ในกรณีนี้  ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (นายอภิชาติ)  ก็คงนั่งอยู่ ณ ที่เดิม  และชี้แจง(ในฐานะนายทะเบียน)ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง   แม้ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองจะ “ไม่มีอำนาจใด ๆ “ ในการร่วมลงมติในการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ;   แต่ถ้าเรายึดถือตาม “ข้อวินิจฉัย” ของศาลรัฐธรรมนูญ(โดยเสียงข้างมาก)  ว่า ความเห็นของประธานกรรมการการเลือกตั้ง (ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นบุคคลคนเดียวกับนายทะเบียนพรรคการเมือง)  ไม่สามารถถือเป็น “ความเห็นของนายทะเบียน”ได้    นายทะเบียนพรรคการเมืองอาจต้องเดินออกจากห้องประชุม  และชี้แจงความเห็นของตน(ในฐานะนายทะเบียน)ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งฟัง  โดยที่ตัวเองอยู่นอกห้องประชุม  (?) ;  ซึ่งผู้เขียนไม่คิดว่า  บทกฎหมายประสงค์เช่นนั้น
        
             ●  ผู้เขียนเห็นว่า    การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ(โดยเสียงข้างมาก)  เป็นความเห็น  ที่ขัดแย้งกับ กฎเกณฑ์และหลักกฎหมาย ว่าด้วย “ระเบียบปฎิบัติในการประชุมคณะกรรมการของทางราชการ” (ที่เรียกกันทั่ว ๆ ไป ว่า “ระเบียบการประชุม” )   เพราะในการประชุมในทางราชการนั้น    บุคคลทุกคนที่เป็นกรรมการในที่ประชุม ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะมีฐานะเดียวหรือหลายฐานะ  ย่อมมีสิทธิขอแสดงความคิดเห็นได้เสมอ  รวมทั้ง  มีสิทธิที่จะขอให้บันทึกไว้ในรายงานการประชุมให้ตรงกับความเป็นจริงว่า  ตนเองได้แสดงความคิดเห็นนั้นในฐานะใด  และจะมี “ข้อยกเว้น” ที่กรรมการไม่สามารถแสดงความเห็นในการประชุมหรือต้องออกจากที่ประชุม  ก็เฉพาะในกรณีที่มีบทกฎหมายหรือหลักกฎหมายห้ามไว้    เช่น  ในกรณีที่ที่มี  conflict of  interest  [หมายเหตุ   และในกรณี conflict of  interest   ก็จะต้องถือเอาผลประโยชน์ - interest ของบุคคลตามความเป็นจริง -reality จากทุก ๆ ฐานะของบุคคลนั้น   คงจะไม่ได้พิจารณาและถือเอา  “ผลประโยชน์” ของบุคคลนั้น เฉพาะตาม “ฐานะ” ที่กฎหมายกำหนดให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการเท่านั้น ]   
                อย่างไรก็ตาม    ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญ(โดยเสียงข้างมาก)  จะมีความเห็นที่ขัดแย้งกับ “ระเบียบการประชุม”   (ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ตุลาการของศาลมี “อำนาจ”ที่จะทำได้  เพื่อสร้างหลักกฎหมายทั่วไป - general principle of law  ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้อง“อุดช่องว่างของกฎหมาย”  เพราะบทกฎหมายมีข้อบกพร่อง)   แต่ในกรณีเช่นนี้  ศาลจะต้องอธิบายให้เห็นว่า  ความเห็นของศาลจะก่อให้เกิดผลดีแก่การปฏิบัติราชการและเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ได้อย่างไร  ; แต่กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์นี้   ศาลรัฐธรรมนูญ(โดยเสียงข้างมาก)ไม่ได้อธิบายไว้ และในทางตรงกันข้าม  การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กลับทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองต้องเสียไป  เพราะ ทำให้การกระทำของพรรคการเมือง   ที่ “อาจ” เป็นการกระทำมผิด   ไม่ได้รับการตรวจสอบโดย “กระบวนการยุติธรรม” ของศาลรัฐธรรมนูญเอง 
        
       ◊◊  “วิธีการอธิบายเหตุผล” และการตั้ง “ประเด็น”  ของศาลรัฐธรรมนูญ(โดยตุลาการฝ่ายข้างมาก)  มีความครบถ้วน  มากน้อยเพียงใด 
                ถ้าเราลองมาตรวจดู “วิธีการอธิบายเหตุผล” ของของศาลรัฐธรรมนูญ(โดยตุลาการฝ่ายข้างมาก) (หน้า ๓๑ ถึง หน้า ๓๗)  เราก็จะพบว่า  ศาลรัฐธรรมนูญ(โดยตุลาการฝ่ายข้างมาก) จะใช้วิธีการบรรยายข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย (และให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ) รวมกันไป  โดยไม่มีการตั้ง “ประเด็น”ที่ชัดเจน  ; และจะมีการตั้งประเด็นที่ชัดเจนเพียงประเด็นเดียว   คือ  เมื่อศาลรัฐธรรมนูญบรรยายข้อเท็จจริงมาถึงการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓  ซึ่งในการประชุมวันนั้น  คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติให้ถือว่า “ความเห็นส่วนตัว”ของนายอภิชาติ ที่ลงมติไว้ในการประชุมวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ เป็น “ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง” และ ณ จุด นี้เอง  ที่ ศาลรัฐธรรมนูญ(โดยตุลาการฝ่ายข้างมาก) ได้ตั้งประเด็นว่า (หน้า ๓๕)  “จึงมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่า  “ความเห็นของประธานกรรมการการเลือกตั้ง”  ที่ลงมติไว้เป็นความเห็นส่วนตัวในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ นั้น  เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง  หรือไม่
                 [หมายเหตุ  สำหรับประเด็นว่า  มติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓  จะถูกต้องหรือไม่  ผู้เขียนจะได้กล่าวในข้อต่อไป ]
                วิธีการอธิบายของศาลรัฐธรรมนูญ)ในคดีนี้  (การบรรยายข้อเท็จจริง /ข้อกฎหมาย /ความเห็นของศาล รวมกันไปโดยไม่มีการตั้ง “ประเด็น” เพื่อวินิจฉัยให้ชัดเจน)  เป็นวิธีการที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ(โดยตุลาการฝ่ายข้างมาก) สามารถกำหนด “ข้อวินิจฉัย” ได้ตามที่ตุลาการมี “ความเห็น” โดยไม่ต้องอธิบายมากนัก   เพราะเป็นการอธิบายเพียงด้านเดียว คือ จากด้านที่ตุลาการมีความเห็น ;    ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง  อำนาจของนายทะเบียนใน “การพิจารณาเบื้องต้น” (หน้า ๓๑)  และต่อมา ก็อธิบายถึง “การแยกอำนาจหน้าทีระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้งกับนายทะเบียน (หน้า ๓๕)   และสรุปลงด้วยการวินิจฉัยตามที่ตุลาการมี “ความเห็น”   ทั้งนี้ โดยไม่ต้องกล่าวถึงเหตุผล” ในด้านอื่น ที่ขัดแย้งกับข้อวินิจฉัยของตน
              ถ้าท่านผู้อ่านจะย้อนไปดู “ข้อสังเกต” ที่นักวิชาการท่านหนึ่ง (นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์) ที่ได้ให้ความเห็นไว้ในส่วนที่หนึ่ง  ท่านก็จะพบว่า  นักวิชาการท่านนั้นได้กล่าวไว้ว่า  “ตามข้อความที่ปรากฎในคำวินิจฉัยของศาล  ไม่อาจทราบได้ว่า  ศาลรัฐธรรมนูญนำเอา “หลัก”อะไรมาตีความมาตรา ๙๓ วรรคสอง ว่า   นายทะเบียนจะต้องแจ้ง “ความเห็น” ต่อที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในรูปแบบเฉพาะที่ศาลพอใจ   โดยที่ศาลมิได้ระบุว่า  การแจ้ง “ความเห็น” ของนายทะเบียนฯ ในที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง  จะต้องมี “รูปแบบ”และกฎเกณฑ์อย่างไร  เช่น จะต้องทำเป็นหนังสือ หรือกล่าวโดยวาจาในที่ประชุม ....” 
        
                 เราลองมาพิจารณา  การอธิบาย “เหตุผล” ของศาลรัฐธรรมนูญ(โดยตุลาการฝ่ายข้างมาก) ในตอนท้ายของการสรุปประเด็นนี้ ของศาลรัฐธรรมนูญ  (ที่มีความเห็นว่า  “ความเห็นของนายอภิชาต ในการลงมติในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง”ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง  ไม่อาจถือได้ว่า เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง)  ;  ศาลรัฐธรรมนูญ ได้บรรยายให้ “เหตุผล” ในประเด็นนี้  ไว้ดังนี้  (หน้า ๓๖ - ๓๗  ข้อความเต็ม)  
              “ ..........  ความเห็นของนายอภิชาตฯ ในการลงมติดังกล่าว  เป็นส่วนหนึ่งของมติที่ประชุมคณะกรรมกรเลือกตั้ง  ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่มีอำนาจใด ๆ ที่จะร่วมลงมติในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง  การลงมติดังกล่าวจึงแตกต่างจากการเกษียนสั่งให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ............  ความเห็นของนายอภิชาต จึงไม่อาจถือได้ว่า เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง  เพราะหากจะถือเช่นนั้น  ก็ปรากฎข้อเท็จจริงว่า นายอภิชาติได้เคยลงมติในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งไปก่อนหน้านั้นแล้วในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ว่า ผู้ถูกร้องได้นำเงินสนับสนุนพรรคการเมืองไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ...... ซึ่งก็หาได้มีการถือว่า  ความเห็นของประธานกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่
              อนึ่ง การที่กฎหมายบัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นคำร้องในคดีนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็หมายความว่า  ประธานกรรมการการเลือกตั้งไม่มีอำนาจอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นคดีฉันใด  “การทำความเห็นส่วนตน”ของนายอภิชาติในการประชุมคณะกรรมการฯในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๓ .จึงมิใช่การทำความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองฉันนั้น”
       า
               ซึ่งถ้าเราจะลองหยุดคิดและพิจารณาดู  เราก็จะพบว่า ข้อความดังกล่าวข้างต้น จะมีอยู่ ๒ ประเด็น  และทั้ง ๒ ประเด็น ไม่ใช่ “เหตุผลทางกฎหมาย” (ของนักกฎหมาย)  แต่อย่างใด   กล่าวคือ
               ในประเด็นแรก  เราจะเห็นว่า  การที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่า  “ไม่เคยมีการถือว่า “ความเห็นของประธานกรรมการการเลือกตั้ง” ให้เป็น “ความเห็นของนายทะเบียน”) มาก่อนหน้านี้  ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ “  ข้อความนี้เป็นเพียง “ข้อเท็จจริง”   ซึ่งไม่สามารถนำมาเป็น “เหตุผล” ที่จะทำให้การมีมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งในครั้งนี้  ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง แต่ประการใด  ;  และก็อาจตอบได้ง่าย ๆ ว่า  การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่เคยมีมติที่ให้ถือเช่นนั้นมาก่อน   ก็เพราะไม่เคยมี “ปัญหา”เช่นนี้เกิดขึ้น  นั่นเอง
        
              สำหรับในประเด็นที่สอง  ที่ศาลรัฐธรรมนูญ(โดยเสียงข้างมาก)อธิบายไว้ว่า “การที่กฎหมายบัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นคำร้องในคดีนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็หมายความว่า  ประธานกรรมการการเลือกตั้งไม่มีอำนาจอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นคดีฉันใด   การทำความเห็นส่วนตน”ของนายอภิชาติในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง ฯลฯ  .จึงมิใช่การทำความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองฉันนั้น” นั้น ;   ข้อความนี้  ก็ไม่ใช่ “เหตุผลทางกฎหมาย” อีกเช่นกัน   แต่เป็นการใช้สำนวนอุปมาอุปมัย   และนอกจากนั้น  ยังเป็นการอุปมาอุปมัยที่ค่อนข้างแปลก  เพราะ เป็นการอุปมาอุปมัยเปรียบเทียบในระหว่างเรื่องสองเรื่องที่ไม่เหมือนกัน  คือ เป็นการ เปรียบเทียบระหว่างเรื่อง “อำนาจหน้าที่ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ”  กับเรื่อง  “การออกความเห็นในการประชุมของคณะกรรมการ”
                ผู้เขียนต้องขอสารภาพว่า   ผู้เขียนไม่สามารถเข้าใจได้ ว่า  ศาลรัฐธรรมนูญ (โดยตุลาการเสียงข้างมาก) เขียน “ข้อความ”นี้  เพื่ออธิบายโดยมีตรรกอย่างไร ;   เพราะในเรื่อง “อำนาจหน้าที่ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ” นั้น  เมื่อกฎหมายบัญญัติกำหนดอำนาจหน้าที่ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ใดอย่างไร  ก็ย่อมเป็นอย่างนั้น ;  เมื่อกฎหมายกำหนดให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็น “ผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ”  นายทะเบียนก็ต้องเป็นผู้ยื่นคำร้องตามที่กฎหมายกำหนด  (ไม่ใช่ประธานกรรมการการเลือกตั้ง)  ซึ่งเป็นกรณีที่ชัดแจ้งอยู่ในตัว 
               แต่  “อำนาจหน้าที่ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ” หรือไม่ นั้น   ไม่มีความเกี่ยวพันกับ “สิทธิในการออกความเห็นหรือสิทธิในการลงมติของบุคคลที่เป็นกรรมการ(หรือประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง)ในการประชุมของคณะกรรมการ ” ;   สิทธิในการออกเสียงหรือการลงมติ   เป็นไปตาม กฎเกณฑ์และหลักกฎหมายว่าด้วย “ระเบียบการประชุมของทางราชการ”  ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ;  ทั้งสองเรื่องนี้ เ ป็นคนละเรื่องกัน   และไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้ในลักษณะ   ฉันใดก็ฉันนั้น
               ผู้เขียนคิดว่า  ศาลรัฐธรรมนูญ(โดยตุลาการเสียงข้างมาก)  อาจหาเหตุผลที่ดีกว่านี้มาอธิบายประเด็นนี้ได้
        
        ◊◊  ปัญหาว่า   มติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการประชุมวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓  ถูกต้องหรือไม่ เพียงใด ;   
                 มติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการประชุมวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ (หน้า ๓๕) มีว่า “ .... โดยถือว่า  ความเห็นส่วนตัวของ  นายอภิชาติ สุขัคคานนท์ ที่ลงมติไว้ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง”  [ หมายเหตุ ประธานคณะกรรมการการเลิอกตั้ง และเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นบุคคลคนเดียวกัน  ตาม พรบ.ฯ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ (มาตรา ๖)  คือ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ]
          ซึ่งในประเด็นนี้   ศาลรัฐธรรมนูญ(โดยตุลาการเสียงข้างมาก) มีความเห็นตรงกันข้ามกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง  คือ มีความเห็น (หน้า ๓๖ -  ๓๗ ว่า  การลมติของประธานกรรมการการเลือกตั้ง  ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง” (ในฐานะประธาน )  ไม่อาจถือได้ว่า  เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองได้
        
                  ● ก่อนที่เราจะทราบว่า  มติของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการประชุมวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓  มีความถูกต้อง” หรือไม่    ผู้เขียนคิดว่า   เราจำเป็นจะต้องทราบก่อนว่า  ทำไม คณะกรรมการการเลือกตั้ง  จึงมี ”มติ” นี้
               ข้อเท็จจริงมีว่า   พรรคประชาธิปัตย์ถูกร้องทุกข์กล่าวหาใน ๒ ข้อกล่าวหา  ข้อกล่าวแรก คือ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับบริจาคเงินจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน) และหลีกเลี่ยงการรายงานการรับบริจาคเงินตามที่กฎหมายกำหนด โดยพรรคประชาธิปัตย์ทำนิติกรรมอำพรางเป็นสัญญาว่าจ้างบริษัทเมซไซอะ ฯ ทำสื่อประชาสัมพันธ์ตามโครงการต่าง ๆ   และข้อกล่าวหาที่สอง  คือ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองให้เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติตามกฎหมาย และจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนฯ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
       ( หน้า ๓) ;  ต่อมา  ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้ง  มีมติ  ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองแจ้งต่ออัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ “ตามมาตรา ๙๕ (ทั้งสองกรณี)”   แต่ประธานกรรมการฯ (นายอภิชาต ซึ่งตามกฎหมาย ดำรงตำแหน่งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองอยู่ด้วย)  มีความเห็น(เป็นเสียงข้างน้อย)  ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ “ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง ในกรณีที่สอง” ;  ซึ่งต่อมา ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่  ๒๑  เมษายน ๒๕๕๓ (ห่างจากการประชุมครั้งก่อน  ๙ วัน  โดยในการประชุมครั้งนี้  ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (นายอภิชาต) ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย)  คณะกรรมการการเลือกตั้งก็มีมติเห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่สอง “ตามมาตรา ๙๓”  โดยให้ถือว่า  ความเห็นส่วนตัวของนายอภิชาติ ที่ได้ลงมติไว้ในการประชุม(ในฐานะประธานกรรมการ ฯ ) เมื่อ วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓   เป็นความเห็นของ “นายทะเบียนพรรคการเมือง”
             จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น  จะเห็นได้ว่า  มติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓  ที่ลงมติให้นายทะเบียนพรรคการเมือง แจ้งต่ออัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ “ตามมาตรา ๙๕ ทั้งสองกรณี”นั้น   มีความผิดพลาดในการอ้างอิงบทกฎหมาย  เพราะ ในกรณีที่สอง (ปัญหาการใช้จ่ายเงินและการจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมือง)นั้น   นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องดำเนินการ “ ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง”  (ไม่ใช่ ตามมาตรา ๙๕)  ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงได้ประชุมอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่  ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓  เพื่อแก้ไขมติดังกล่าว(เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓) ให้ถูกต้อง   ซึ่งการมีมติครั้งนี้เอง  ทำให้เกิดปัญหาใน “สาระ”ของมติ(ในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓) ว่า ถูกต้องหรือไม่ เพียงใด   ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ(โดยตุลาการเสียงข้างมาก) เห็นว่า ทำไม่ได้
        
                  เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้  ทำให้ผู้เขียนจำต้องวิเคราะห์ใน ๒ ประเด็น  คือ  :  (๑) ประเด็นแรก  ทำไม  คณะกรรมการการเลือกตั้ง   จึงมีความผิดพลาดในการอ้างอิงบทกฎหมาย (ระหว่างมาตรา ๙๓ และ มาตรา ๙๕)  ทั้ง ๆ ที่ ปัญหาข้อกฎหมายนี้ (ได้แก่  ความแตกต่างระหว่าง “กรณี” ตามบทบัญญัติตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง กับ “กรณี” ตามบทบัญญัติมาตรา ๙๕)   เป็นสิ่งที่เห็นได้ง่ายและชัดเจน  ;   และ (๒)ประเด็นที่สอง   มติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการประชุมวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓   ที่ให้ถือว่า  ความเห็นส่วนตนของ  นายอภิชาติ สุขัคคานนท์(ที่มี ๒ ฐานะตามกฎหมาย)  ที่ลง “มติ” ไว้ในการประชุมกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง  เป็น “ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง” นั้น  เป็นมติที่ถูกต้อง  หรือไม่   
        
                 -ในการพิจารณาประเด็นแรก   ข้อที่สร้างความสงสัยให้แก่ผู้เขียนเป็นอย่างมาก  ก็คือ  ทำไม  ประธานคณะกรรมการการเลืยกตั้ง  (ซึ่งมี “หน้าที่” ตามกฎเกณฑ์ของ “ระเบียบการประชุมของทางราชการ” ที่จะต้องทำความเข้าใจ ในปัญหาข้อกฎหมายกับกรรมการทั้งหลายให้ชัดเจน ก่อนที่จะทำการลงมติ )  จึงปล่อยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง  มี “มติ” ทีมีความผิดพลาด (โดยอ้างบทมาตราผิดพลาด)  และตนเอง(ประธานกรรมการ) กลับมาลง “มติ”ที่แย้งกับกรรมการส่วนมาก (?)
                  คำถามมีว่า  มีอะไรเกิดขึ้นในการประชุม (หรือถ้าจะพูดให้ตรง  ก็คือ มีอะไรเกิดขึ้นใน “ที่ประชุม”) ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในวันที่  ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ ;  ผู้เขียนไม่อาจทราบว่า  ในการประชุมวันนั้น   ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (นายอภิชาต ฯ)  ได้ “พยายาม” ทำความเข้าใจปัญหาข้อกฎหมาย (ขอบเขตและความหมายของกรณีตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง กับกรณีตามมาตรา ๙๕)  กับ  “ท่านกรรมการส่วนมาก" แล้ว หรือไม่  (?)   หรือว่า  ประธานกรรมการการเลือกตั้ง  ได้(ปล่อย)ให้ท่านกรรมการเหล่านั้นลงมติไปตามความเข้าใจของแต่ละท่าน  แล้วตนเองแยกออกมาลงมติเป็น “เสียงข้างน้อย”  
                    การที่จะทราบข้อเท็จจริงนี้ได้  ก็คงต้องไปอ่าน “รายงานการประชุม”ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันนั้น   ซึ่งผู้เขียนไม่มีโอกาสและไม่มีสิทธืที่จะเข้าถึงได้   และแม้จะเข้าถึงได้  ก็ไม่แน่ใจว่า  การจดรายงานการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  จะปรากฎรายละเอียดมากน้อยเพียงใด และจะได้บันทึกความข้อนี้ไว้หรือไม่   (?)
                  ดังนั้น  เพื่อที่จะได้ทราบถึงพฤติกรรมการทำงาน  ระหว่าง “ประธานกรรมการการเลือกตั้ง”  กับ “กรรมการการเลือกตั้ง(ส่วนใหญ่อีก ๓ -๔ ท่าน)” ได้ดีขึ้น  ผู้เขียนจึงได้เพิ่ม “หัวข้อ” ขึ้นมาอีกหัวข้อหนี่งในบทความนี้   เป็นตอนที่สาม (ว่าด้วย  “ปัญหา การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง”) อันเป็นตอนสุดท้ายของส่วนที่สามนี้     เพื่อผู้เขียนจะได้มีโอกาสตรวจดู ข้อเท็จจริงทั้งหมด (เท่าที่ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ และคำวินิจฉัย -ส่วนตน ฯ) ว่า  การทำงานของ“ประธานกรรมการการเลือกตั้ง” กับ “กรรมการการเลือกตั้งส่วนใหญ่”  มีความราบรื่นเพียงใด 
        
                -ประเด็นที่สอง  (มติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการประชุมวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓   ที่ให้ถือว่า  ความเห็นในการลงมติของประธานคณะกรรมการการเลิอกตั้ง (นายอภิชาติ สุขัคคานนท์)  เป็น “ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง” (นายอภิชาติ สุขัคคานนท์)   เป็นมติที่ถูกต้องหรือไม่  หรือจะกระทำได้เพียงใด)
                   ในประเด็นนี้   ก่อนอื่น เรามาลองคิดดูว่า  ถ้าเราเป็น “คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กรรมการส่วนใหญ่)”   และเรา(คณะกรรมการฯ) รู้ตัวว่า   เราได้มีมติให้นายทะเบียนพรรคการเมือง ดำเนินการในกรณีตามข้อกล่าวหาที่สอง (การใช้จ่ายเงินและการจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมือง) ผิดพลาด   โดยอ้างบทมาตราผิด  (เพราะ การดำเนินการของนายทะเบียนในกรณีนี้  จะต้องเป็นไปตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง  แต่เราอ้างเป็นมาตรา ๙๕)  ;  เรา(คณะกรรมการฯ) จะแก้ไข “มติที่ผิดพลาด”นี้  ได้อย่างไร
              ผู้เขียนคิดว่า  ในการดำเนินการแก้ไขมติดังกล่าว   คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กรรมการส่วนใหญ่  ก็คงต้องขอให้ประธานกรรมการการเลือกตั้ง เรียกประชุม    และเมื่อมีการประชุมแล้ว (ไม่ว่าประธานกรรมการฯ จะเข้าประชุมหรือไม่)   คณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็จะได้มี ”มติ” แก้ไขมติของตนเองให้ถูกต้อง  คือ ให้การดำเนินการของนายทะเบียน ฯ ในข้อกล่าวหาที่สอง อ้างมาตรา ๙๓ วรรคสอง)   ; และ ตามความเห็นของผู้เขียน   เมื่อมีมติแล้ว   คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กรรมการส่วนใหญ่) ก็เพียงให้แจ้ง “มติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ที่แก้ไขแล้ว) “  ไปให้นายอภิชาต ฯ รับทราบ (ทั้งในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง และ ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง)   ทั้งนี้ โดยไม่ต้องมีมติเพิ่มเติม ว่า  “ให้ถือว่า  ความเห็นในการลงมติของประธานคณะกรรมการการเลิอกตั้ง (นายอภิชาติ สุขัคคานนท์)ในวันที่เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓  เป็น “ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง”   แต่อย่างใด
             เพราะเมื่อดำเนินการเพียงเท่านี้    “การดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ”ในกรณีนี้  ก็จะไปเป็นไปตามขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว  เนื่องจากประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง - นายอภิชาต  ได้รู้ถึงความผิดพลาดของมติของคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่๑๒ เมษายน ๒๕๕๓อยู่แล้ว(ตามที่ตนเองมีมติเป็นเสียงข้างน้อยไว้ )   และนายอภิชาติเอง(ในฐานะที่เป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง)  ก็คงจะดำเนินการไปตาม มาตรา ๙๓ วรรคสอง 
            สรุปก็คือ    สิ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กรรมการส่วนใหญ่)จะต้องแก้ไข  มีเพียง “มติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง” ที่อ้างบทมาตราผิด(ที่ปรากฎอยู่ในรายงานการประชุม)เท่านั้น    เมื่อได้แก้ไขให้มีการอ้างมาตราที่ถูกต้อง  ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องดำเนินการอีก
        
                  ●  ปัญหามีว่า  การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมติเพิ่มเติม (ที่  “ให้ถือว่า  ความเห็นในการลงมติของประธานคณะกรรมการการเลิอกตั้ง (นายอภิชาติ สุขัคคานนท์) ในวันที่ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓  เป็น “ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง”)  ก่อให้เกิดผล อย่างไร  (?)
             ผู้เขียนเห็นว่า  มตินี้เป็น “มติที่ไม่มีความจำเป็นต้องมี”  และเป็นมติที่ไม่ควรจะมี  แต่ถ้าหากกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติไปแล้ว   มติก็ไม่ก่อให้เกิดผลเปลี่ยนแปลง “ความเป็นจริง” แต่ประการใด  เพราะในเมื่อประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นบุคคลคนเดียวกับนายทะเบียนพรรคการเมือง (ตามบทบัญญัติของกฎหมาย)   ความเห็นของ“ประธานกรรมการการการเลือกตั้ง” ก็คือ  ความเห็นของ”นายทะเบียนพรรคการเมือง”นั่นเอง ,  โดย ไม่จำเป็นต้องมามี “มติ  ให้ถือว่า  ความเห็น ของประธานคณะกรรมการการเลิอกตั้ง  เป็น “ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง” อีกครั้งหนึ่ง ;  เพราะความจริงเป็นอย่างไร  ก็เป็นอย่างนั้น    
                    แต่ปัญหาเกิดขึ้น   เพราะการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง  มีมติเพิ่มเติม( โดยไม่จำเป็นต้องมี และไม่ควรจะมี)     เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญ (โดยตุลาการเสียงข้างมาก)  ยกประเด็นนี้ ขึ้นเป็นประเด็นวินิจฉัยชี้ขาด
        
            ●   ปัญหามีว่า  การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (โดยตุลาการเสียงข้างมาก) ที่วินิจฉัย (ท้ายหน้า ๓๖ ต่อ ๓๗) ที่ว่า “ความเห็นของนายอภิชาติ สุขัคคานนท์ ในการลงมติในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ จึงไม่อาจถือได้ว่า เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง”  ยอมรับได้เพียงใด  (?)
             ผู้เขียนเห็นว่า  ข้อวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (โดยตุลาการเสียงข้างมาก) ดังกล่าว  เป็น การชี้ขาดข้อกฎหมายที่ทำให้เกิดผลที่ขัดต่อ “ความเป็นจริง”    เพราะใน” บุคคลคนเดียวกัน” ย่อมไม่สามารถแยกได้ว่า  บุคคลคนนั้นใน “ฐานะ”หนึ่งมีความเห็นในการตีความกฎหมายอย่างหนึ่ง   แต่ในอีก”ฐานะ”หนึ่ง  ให้ถือว่า บุคคลคนเดียวกันนั้นไม่มีความเห็นในการตีความกฎหมายในเรื่องเดียวกัน
        
              ผู้เขียนต้องขอเรียนว่า ผู้เขียนไม่เคยพบว่า มี “คำพิพากษา”ใด (ไม่ว่าในประเทศ ใด ๆ)   ที่ตีความโดยก่อให้เกิด “ผล”ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ตามความเป็นจริง   คือ  ให้บุคคลคนเดียวกันสามารถมีความเห็นและไม่มีความเห็นในขณะเดียวกันได้  และผู้เขียนก็ไม่เคยพบว่า  มี“ตำราว่าด้วยการตีความกฎหมาย”เล่มใด  ที่สอนให้ตีความที่ขัดกับความเป็นจริงได้    ;  แม้แต่ในการตรา “กฎหมายลายลักษณอักษร”   ผู้ตรากฎหมายก็ยังต้องพึงระวัง มิให้ “บทกฎหมายขัดต่อความเป็นจริง”  เช่น  ต้องเขียนให้เป็นเพียง “บทสันนิษฐาน”( เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพิสูจน์ความเป็นจริง)  หรือในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้เป็น “บทสันนิษฐานเด็ดขาด (ให้ถือว่า)”  กฎหมายก็จะต้องบัญญัติกำหนด “ข้อเท็จจริงพื้นฐาน” ของบทสันนิษฐานเด็ดขาดไว้ด้วย ;  แต่ในคดีนี้   เป็นเพียง”การตีความ” ที่เป็นความเห็นของตุลาการเท่านั้น  
                ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวแล้วว่า  มติเพิ่มเติมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ที่ให้ถือว่า  ความเห็น ของประธานคณะกรรมการการเลิอกตั้ง  เป็น “ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง) เป็นมติที่ไม่จำเป็นต้องมีและไม่”ควร”จะมี   เพราะตามความเป็นจริง  ความเห็น ของประธานคณะกรรมการการเลิอกตั้ง  เป็น “ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองอยู่แล้ว  เนื่องจากเป็นบุคคลคนเดียวกัน   ไม่ต้องมีมติซ้ำอีก  :  การที่ศาลรัฐธรรมนูญ (โดยตุลาการฝ่ายข้างมาก) ไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว  และตีความในนัยตรงกันข้าม (คือ ตีความว่า  ความเห็น ของประธานคณะกรรมการการเลิอกตั้ง  ไม่สามารถเป็น “ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองได้)  จึงทำให้เกิด “ผล”ในทางตรงกันข้าม  คือ   เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดที่ขัดต่อ “ความเป็นจริง -reality “  ตามธรรมชาติของคน ; คนคนเดียวกัน  ถ้ารู้ก็รู้  ไม่รู้ก็ไม่รู้  แต่ไม่สามารถ “ตีความ” ให้คนคนเดียวกันนั้น  ในฐานะหนึ่ง “รู้” แต่ในอีกฐานะหนึ่ง “ไม่รู้” ได้
              ด้วยเหตุนี้   ผู้เขียนจึงไม่คิดว่า ผู้เขียนจะสามารถยอมรับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (ตุลาการเสียงข้างมาก) นี้ได้    ทั้งนี้   นอกเหนือไปจากเหตุผลที่ว่า  การตีความของศาลรัฐธรรมนูญนี้  ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง  อีกประการหนึ่ง
       
       อ่านต่อ กรณีศึกษา - case study คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕/๒๕๕๓ (กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์) ตอนที่ 3 (หน้าที่ 2)
       


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1569
เวลา 29 เมษายน 2567 00:38 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)