มาตรการทางกฎหมายในการป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษ

12 เมษายน 2554 01:23 น.

       [1] บทนำ
       เกมกีฬาฟุตบอลยุคใหม่ (The modern professional football games) ได้ถูกวิวัฒนาการในประเทศอังกฤษมาเป็นเวลานาน โดยเห็นได้จากการก่อตั้งสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (The Football Association-FA) ในปี ค.ศ. 1869 ซึ่งสมาคมดังกล่าวมีหน้าที่ในการกำหนดและบัญญัติกฎและข้อบังคับกีฬาฟุตบอลในการแข่งขั้นระดับต่างๆ เพื่อให้เกิดมาตรฐานในเกมส์กีฬาฟุตบอล (The football rules and league management)  ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศอังกฤษจะมีการจัดตั้งสมาคมฟุตบอลอังกฤษเพื่อทำหน้าที่บัญญัติกฎเกณฑ์และข้อบังคับเกี่ยวกับองค์ประกอบต่างๆ ของกีฬาฟุตบอลแล้ว แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาบางอย่างก็อาจเกิดขึ้นได้และเกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้ง เช่น ปัญหาความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอล (the football spectators associated hooliganism with vandalism) และ ปัญหาการขาดมาตรฐานความปลอดภัยในสนามกีฬาฟุตบอลอย่างพอเพียง (Many stadia failed to make football ground safety for football spectator by poor facilities) เป็นต้น
       นอกจาก สมาคมฟุตบอลอังกฤษแล้ว ในระดับชั้นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลต่างๆ ประเทศอังกฤษยังมีหน่วยงานกีฬาฟุตบอลหรือองค์กรกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ (Football Governing Bodies) ได้แก่ การกีฬาอังกฤษ (UK Sport) องค์กรการออกใบอนุญาตฟุตบอล (The Football Licensing Authority - FLA) และองค์กรการพิจารณาคำสั่งห้ามในกีฬาฟุตบอล (Football Banning Orders Authority - FBOA) ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอลต่างๆ ตลอดจนถึงมาตรการและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอล ย่อมตกอยู่ภายใต้หลักกฎหมายการกีฬาที่สำคัญ ได้แก่ หลักระบบพีระมิดหรือระบบลำดับศักดิ์ (The Pyramidal System or Hierarchical System) ที่กำหนดให้องค์กรหรือหน่วยงานกีฬาที่มีลำดับสูงกว่าปกครองหรือสามารถออกข้อบัญญัติที่องค์กรหรือหน่วยงานกีฬาระดับล่างหรือระดับต่ำกว่าต้องปฏิบัติตาม
       ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศอังกฤษมีสมาคมฟุตบอลอังกฤษและหน่วยงานกีฬาฟุตบอลหรือองค์กรกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆแล้ว แต่อย่างไรก็ดีปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ชมกีฬาฟุตบอล (Football Spectators) โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลของอังกฤษยังเป็นปัญหาที่สามารถพบได้ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ ทั้งนี้ ประเทศอังกฤษได้มีบทเรียนและตัวอย่างของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลในระหว่างการแข่งขันที่สำคัญ ได้แก่ โศกนาฏกรรมจากหายนะเฮเซล (The Heysel disaster) ที่มีผู้ชมกีฬาฟุตบอลในการแข่งขันดังกล่าวเสียชีวิตถึง 39 คน
       จากบทเรียนและประสบการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอล รัฐสภาอังกฤษ จึงได้ตรากฎหมายขึ้นหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันความรุนแรง (violence problems or hooliganism) ระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอล เช่น กฎหมาย The Football Spectators Act 1989 กฎหมาย The Football (Offences) Act 1991 และกฎหมาย The Football (Offences and Disorder) Act 1999 เป็นต้น โดยมาตรการกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติขึ้น เพื่อลดพฤติกรรมความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอล (destructive behaviour by football fans) และอาชญากรรมความรุนแรง (violent crime)
       ดังนั้น บทความฉบับนี้ประสงค์ที่จะให้ผู้อ่านได้รับความรู้และความเข้าใจ ในที่มาและเจตนารมณ์ของกฎหมายทางอาญาและกฎหมายการกีฬาของประเทศอังกฤษ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอล เช่น กฎหมาย The Football Spectators Act 1989 กฎหมาย The Football (Offences) Act 1991 และกฎหมาย The Football (Offences and Disorder) Act 1999 เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้เขียนประสงค์ที่จะให้ผู้เกี่ยวข้องในวงการกีฬาได้รับความรู้และความเข้าใจในการบัญญัติกฎหมายการกีฬาเฉพาะด้าน เพื่อนำไปสร้างหรือกำหนดมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลของประเทศไทยในอนาคต
       [2] ปัญหาความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษ
       กีฬาฟุตบอลอาชีพของประเทศอังกฤษ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจการกีฬาและอุตสาหกรรมการกีฬา กล่าวคือ มีกิจกรรมทั้งทางธุรกิจและกีฬาที่มีผลประโยชน์ในด้านต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ[1]  เช่น การให้การสนับสนุนแก่สโมสรฟุตบอล (Sponsorships) ความสัมพันธ์ในด้านการจ้างแรงงานระหว่างสโมสรฟุตบอลกับนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ (labour relations) และการออกใบอนุญาตกีฬาฟุตบอลด้านต่างๆ (football licensing) เป็นต้น
       นอกจากที่กีฬาฟุตบอลอาชีพ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจการกีฬาและอุตสาหกรรมการกีฬา กีฬาฟุตบอลอาชีพยังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของประชาชนชาวอังกฤษหรือชาวต่างประเทศที่นิยมและติดตามชมเกมการแข่งขันของสโมสรต่างๆ ในการแข่งขันระดับต่างๆหรือฤดูการต่างๆ[2] ดังนั้น การที่กีฬาฟุตบอลได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของประชาชนชาวอังกฤษที่เป็นผู้ชมกีฬาฟุตบอล ทั้งที่ติดตามจากการแพร่ภาพโทรทัศน์หรือเข้าไปชมในสนามกีฬาฟุตบอล  สำหรับในกรณีที่ผู้ชมกีฬาฟุตบอลของอังกฤษได้เดินทางไปเพื่อชมกีฬาฟุตบอลในเกมที่แข่งขันในฤดูการต่างๆ ภายในประเทศและการที่ผู้ชมกีฬาที่สนับสนุนสโมสรที่แตกต่างกันมาแข่งขันในการแข่งขันรอบเดียวกัน ภายในสนามกีฬาของสโมสรเหย้าหรือเยือนนั้น ย่อมอาจก่อให้เกิดการกระทบกระทั้ง จนอาจเป็นเหตุให้เกิดอาชญากรรมระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลของสโมสรฝ่ายตรงกันข้ามหรือความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอล
       ความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษ (Football spectator violence at sports events) ถือเป็นปัญหาอาชญากรรมทางการกีฬา[3]และอาชญากรรมทางสังคม[4] โดยความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลก็ถือว่าเป็นปัญหาอาชญากรรมความรุนแรงประเภทหนึ่งด้วย (A category of violent crime) [5] ทั้งนี้ การใช้ความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้อื่นในสังคมในลักษณะที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่นและรบกวนสิทธิของบุคคลอื่น[6] เช่น การเจตนาทำร้ายร่างกายผู้ชมกีฬาฟุตบอลฝ่ายตรงข้าม เป็นต้น[7] นอกจากนี้ ความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายการกีฬา (Sports Law) และกฎหมายอาญาของอังกฤษ (Criminal Law)
       ดังนั้น แม้ว่าเกมกีฬาฟุตบอลจะประกอบด้วยกฎของเกมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและมารยาททางการกีฬาฟุตบอลสำหรับผู้เล่นและผู้ชมกีฬาฟุตบอล นอกจากกฎในเกมกีฬาฟุตบอลแล้ว เกมกีฬาฟุตบอลยังต้องอาศัยทักษะและความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นหรือนักกีฬาฟุตบอล แต่อย่างไรก็ดีพฤติกรรมความรุนแรงของผู้ชมกีฬาฟุตบอล (Football hooliganism) มักก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเกมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและมารยาททางการกีฬาฟุตบอลและพฤติกรรมความรุนแรงของผู้ชมกีฬาฟุตบอลยังเป็นการทำลายจิตวิญญาณของเกมกีฬาฟุตบอลดั่งเดิมอีกด้วย (spirits of social outstanding characteristic of traditional sports)
       ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา ประชาชนชาวอังกฤษได้ประสบเหตุการณ์อันเป็นโศกนาฏกรรมที่สำคัญ ที่ก่อให้เกิดการทำลายจิตวิญญาณของเกมกีฬาฟุตบอลดั่งเดิม โดยโศกนาฏกรรมที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลนี้ ได้แก่ โศกนาฏกรรมจากหายนะเฮเซล (The Heysel disaster)[8] โดยโศกนาฏกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นในบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของบรัซเซลส์ เมืองวันที่ 29 พฤศภาคม 1985 ที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงระหว่างผู้ชมที่เป็นกองเชียร์ทีมลิเวอร์พูล Liverpool F.C (England) และผู้ชมที่เป็นกองเชียร์ทีมจูเวนตูส Juventus F.C (Italy) โดยหายนะดังกล่าวได้ทำให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลถึง 39 คนต้องตายและทีมฟุตบอลที่เข้าแข่งชันโดนลงโทษเป็นเวลาห้าปี ผลที่ตามมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้สโมสรฟุตบอลอังกฤษทั้งหมดถูกห้ามไม่ให้แข่งขันในระดับยุโรปเป็นเวลาห้าปีและเฉพาะสโมสรลิเวอร์พูล ถูกห้ามไม่ให้แข่งขันในระดับยุโรปเป็นเวลาเจ็ดปี[9]
       แม้ว่าโศกนาฏกรรมจากหายนะเฮเซลไม่ได้เกิดภายในประเทศอังกฤษ แต่ผลของการกระทำของแฟนบอลชาวอังกฤษ ก่อให้เกิดผลร้ายต่อสโมสรฟุตบอลอังกฤษทั้งหมดที่ถูกห้ามไม่ให้แข่งขันในระดับยุโรปเป็นเวลาห้าปี นอกจากนี้ โศกนาฏกรรมในเหตุการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องในการบริหารจัดการกีฬาและธรรมาภิบาลการกีฬาของประเทศเบลเยียมอีกด้วย
       หลังจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมจากหายนะเฮเซล รัฐบาลอังกฤษจึงได้ตระหนักถึงปัญหาของความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอล รัฐสภาอังกฤษจึงได้ตรากฎหมายขึ้นหลายฉบับและกำหนดมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษ ได้แก่ กฎหมาย the Public Order Act 1986 กฎหมาย the Football Spectator Act 1989 กฎหมาย the Football (Offences) Act 1991 กฎหมาย the Football (Offences and Disorders) Act 1999 และกฎหมาย the Football (Disorder) Act 2000[10]
       ดังนั้น กฎหมายและมาตรการทางกฎหมายของประเทศอังกฤษจึงมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ได้แก่ เพื่อป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอล (football violence) และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเข้าชมกีฬาฟุตบอลในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการต่างๆ (Safety at football grounds in designated football matches) นอกจานี้ มาตรการทางกฎหมายในการป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษยังสร้างมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ก่อความรุนแรง (hooliganism) เช่น การกำหนดมาตรการห้ามผู้ชมฟุตบอลที่ก่อความรุนแรง (football banning order system) เข้าชมการแข่งขันภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น
       [3] องค์กรการกีฬาที่สนับสนุนการป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษ
       ประเทศอังกฤษได้มีการพัฒนาองค์กรกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ (Football Governing Bodies) ที่กำหนดข้อบังคับทางการกีฬาฟุตบอลให้สโมสรฟุตบอลต่างๆ ต้องปฏิบัติตามหรือเป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายป้องกันอาชญากรรมทางการกีฬาโดยเฉพาะ ได้แก่ สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (The Football Association - FA) องค์กรการออกใบอนุญาตฟุตบอล (The Football Licensing Authority - FLA) และองค์กรการพิจารณาคำสั่งห้ามในกีฬาฟุตบอล (Football Banning Orders Authority - FBOA)
       [3.1] สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (The Football Association - FA)
       สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (The Football Association - FA) ได้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1863 ทั้งนี้ สมาคมฟุตบอลอังกฤษมีหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดมาตรฐานในกีฬาฟุตบอลโดยกำหนดกฎและข้อบังคับต่างๆ ที่สมาคมหรือสโมสรฟุตบอลทั้งหลายในประเทศอังกฤษต้องปฏิบัติตาม[11] โดยกฎและข้อบังคับของกีฬาฟุตบอลได้กำหนดขึ้น ย่อมส่งผลให้เกิดกฎของเกมกีฬาฟุตบอล (Laws of the Game) และกฎของสมาคมดังกล่าว (The Rules of The Association) สามารถกำหนดมาตรการในการลงโทษ (penalize) สโมสรฟุตบอลหรือนักกีฬาฟุตบอลที่ฝ่าฝืนกฎหรือข้อบังคับของสมาคม
       นอกจากนี้ สมาคมฟุตบอลอังกฤษยังก่อตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเล่นเกมกีฬาฟุตบอลอย่างเป็นธรรม (Fairplay) ภายใต้หลักธรรมาภิบาลกีฬา (Sports Governance) ที่ว่าเกมกีฬาไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นกีฬาฟุตบอลอาชีพและผู้ชมกีฬาฟุตบอล ต้องประพฤติและปฏิบัติภายใต้กฎระเบียบของสมาคมฟุตบอลและกฎหมายที่รัฐบาลได้กำหนดไว้[12] เช่น การกำหนดมาตรการป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอล เพื่อไม่ให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลแสดงพฤติกรรมรุนแรงหรือก่ออาชญากรรม เป็นต้น
       ในส่วนของการป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษ กฎของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ Article 20 (A)[13] และ (B)[14] ได้วางหลักเกณฑ์ไว้[15] โดยกำหนดข้อห้ามไม่ให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลในการแข่งขันระดับต่างๆ ใช้ความรุนแรงในการชมกีฬาฟุตบอล (prevent spectator violence and hooliganism on English football grounds) เช่น การห้ามใช้วาจาดูหมิ่นผู้ชมกีฬาฟุตบอลฝ่ายตรงข้าม การห้ามใช้กำลังทำร้ายผู้ชมกีฬาฟุตบอลฝ่ายตรงข้าม เป็นต้น
       [3.2] องค์กรออกใบอนุญาตมาตรฐานสนามกีฬาฟุตบอล (The Football Licensing Authority - FLA)
       องค์กรออกใบอนุญาตมาตรฐานสนามกีฬาฟุตบอล (The Football Licensing Authority - FLA) เป็นองค์กรอิสระทางการกีฬา (Independent public sport body) ที่ก่อตั้งขึ้นตามมาตรา 13 แห่งกฎหมาย The Football Spectators Act 1989 โดยองค์กรอิสระทางการกีฬาดังกล่าว มีหน้าที่หลักในการวางหลักเกณฑ์และมาตรการที่สำคัญเพื่อสร้างความปลอดภัยในสนามกีฬา (Sports grounds safety) [16] ทั้งนี้ สโมสรกีฬาต่างๆ ที่มีสนามกีฬาฟุตบอลของสโมสร ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานตามที่องค์กรดังกล่าวกำหนดไว้ ทั้งนี้ องค์กรดังกล่าวได้ให้อำนาจในการออกใบอนุญาต (licensing system) แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกใบอนุญาตตรวจความปลอดภัย (safety certification) ของสนามฟุตบอลที่ตั้งอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ[17]
       แม้ว่า องค์กรออกใบอนุญาตมาตรฐานสนามกีฬาฟุตบอลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใช้อำนาจการออกใบอนุญาต ไม่ได้กำหนดมาตรการหรือข้อบังคับเพื่อป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลโดยตรง แต่หน่วยงานดังกล่าวและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใช้อำนาจออกใบอนุญาตสามารถกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องทางอ้อม เพื่อป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลได้ เช่น การกำหนดให้สนามกีฬาฟุตบอลแต่ละแห่งที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับใบอนุญาต ต้องมีทางเดินเข้าสนามสำหรับผู้ชมกีฬาฟุตบอลของกองเชียร์แต่ละสโมสรและต้องมีที่หนังแยกทีมของแต่ละฝ่ายไม่ปะปนกัน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั้งหรือการใช้ความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลทีมฝ่ายตรงกันข้ามกัน เป็นต้น
       [3.3] องค์กรออกคำสั่งห้ามเพื่อควบคุมผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ใช้ความรุนแรง (Football Banning Orders Authority - FBOA)
       องค์กรออกคำสั่งห้ามเพื่อควบคุมผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ใช้ความรุนแรง (Football Banning Orders Authority - FBOA) เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นตามกฎหมาย The Football (Disorder) Act 2000 ที่แก้ไขตามกฎหมาย The Football Spectator Act 1989[18] โดยองค์กรดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานตำรวจทางฟุตบอล (The UK Football Policing Unit - UKFPU)[19] ทั้งนี้ หน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่ในการออกคำสั่งห้ามเพื่อควบคุมผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ใช้ความรุนแรง (Banning Order) เพื่อควบคุมผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ใช้ความรุนแรง อันถือเป็นมาตรการทางกฎหมายหนึ่ง ที่ให้อำนาจแก่ตำรวจทางฟุตบอลเพื่อแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอล[20] โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย The Football (Disorder) Act 2000 มาตรา 14 (A) and (B)[21] กล่าวคือ กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้มีการรวมคำสั่งห้ามเพื่อควบคุมผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ใช้ความรุนแรงในประเทศ (domestic football banning orders) และคำสั่งห้ามเพื่อควบคุมผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ใช้ความรุนแรงระหว่างประเทศ (international football banning orders) เช่น การออกคำสั่งยึดหนังสือเดินทางของผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่เดินทางไปชมกีฬาฟุตบอลยังต่างประเทศและได้ก่อความรุนแรงภายนอกประเทศ (banning orders to surrender their passports) เป็นต้น
       [4] มาตรการทางกฎหมายในการป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษ
       ประเทศอังกฤษได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลในสนามกีฬาฟุตบอลหรือบริเวณที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ประเทศอังกฤษได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาที่สำคัญได้แก่ คำสั่งห้ามเพื่อควบคุมผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ใช้ความรุนแรง (Banning Order System) เพื่อป้องกันอาชญากรรมทางการกีฬาและการใช้ความรุนแรงในกีฬาและการห้ามพฤติกรรมบ้างอย่างของผู้ชมกีฬาฟุตบอล ที่อาจทำให้เกิดพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการใช้กำลังประทุษร้ายหรือทะเลาะวิวาทระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลด้วยกัน เช่น การห้ามดื่มแอลกอฮอลล์ในสนามกีฬาฟุตบอลที่มีการแข่งขันกัน เป็นต้น
       [4.1] กฎหมาย The Sporting Events (Control of Alcohol etc.) Act 1985
       กฎหมาย The Sporting Events (Control of Alcohol etc.) Act 1985[22]  เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสนามกีฬาฟุตบอล โดยกฎหมายดังกล่าวได้วางหลักเกณฑ์ที่ห้ามไม่ให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสนามกีฬาฟุตบอลและไม่ให้มีการครอบครองเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างการเดินทางมายังสนามกีฬาฟุตบอลและภายในสนามกีฬาฟุตบอล[23]
       เหตุผลที่สำคัญที่มีการตรากฎหมาย The Sporting Events (Control of Alcohol etc.) Act 1985 ก็เป็นเพราะการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือการครอบครองเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ชมกีฬาฟุตบอลในการเดินทางมายังสนามกีฬาฟุตบอลหรือภายในระหว่างเกมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลกำลังดำเนินอยู่ (The following football sporting events) ย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงที่อาจมีการทะเลาะวิวาทระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลในขณะที่ผู้ชมกีฬาฟุตบอลไม่สามารถครองสติของตนเองได้เมื่อเกิดอาการมึนเมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
       [4.2] กฎหมาย The Public Order Act 1986
       กฎหมาย The Public Order Act 1986 ได้ถูกบัญญัติขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ชมกีฬาฟุตบอล นอกจากนี้แล้ว กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดมาตรการที่สำคัญในการห้ามผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่กระทำความผิด ไม่ให้เข้าร่วมการชมกีฬาฟุตบอลในครั้งต่อไป ได้แก่ คำสั่งห้ามผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ประพฤติไม่ดีไม่ให้เข้าร่วมในกิจกรรมหรือเป็นกองเชียร์ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอล (Exclusion orders against convicted hooligans หรือ Exclusion Order System)[24] โดยศาลอังกฤษ[25]สามารถออกคำสั่งดังกล่าวในการกีดกันหรือห้ามผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ละเมิดต่อความผิดที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองหรือการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสนามกีฬาฟุตบอลหรือความผิดอื่นๆที่เกิดขึ้นในสนามกีฬาฟุตบอล (alcohol-related offences or offences committed at the football ground) ไม่ให้เข้าร่วมในกิจกรรมหรือเป็นกองเชียร์ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอล
       [4.3] กฎหมาย The Football Spectators Act 1989
       กฎหมาย The Football Spectators Act 1989 เป็นกฎหมายที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการควบคุมการเข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลของผู้ชมกีฬาฟุตบอล (The football spectator admission) ประการแรกกฎหมายดังกล่าวยังได้ให้อำนาจในการออกใบอนุญาตมาตรฐานสนามกีฬาฟุตบอล (licensing system) แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกใบอนุญาตตรวจความปลอดภัย (Safety) ของสนามฟุตบอลที่ตั้งอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ เช่น มาตรการกำหนดลักษณะของผังโครงสร้างและการออกแบบสนามกีฬาฟุตบอล (stadia construction and design) มาตรการในการจำกัดจำนวนผู้เข้าชมกีฬาฟุตบอลเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของผู้ชมกีฬาฟุตบอล  (limitation of the capacity of a sports ground) ทางเดินเข้าสนามสำหรับผู้ชมกีฬาฟุตบอลของกองเชียร์แต่ละสโมสรและต้องมีที่หนังแยกทีมของแต่ละฝ่ายไม่ปะปนกันเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ชมกีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษ (influencing supporter and club behaviours) เป็นต้น[26]
       ประการที่สอง กฎหมายดังกล่าวยังได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายเฉพาะได้แก่ คำสั่งจำกัดการเข้าชมการแข่งขันฟุตบอล (Restriction Order System) โดยให้ห้ามผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่เคยกระทำความผิดโดยก่ออาชญากรรมความรุนแรงในระหว่างการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในสนามกีฬาฟุตบอล (restrict entry to designated football matches) ไม่ให้เข้าร่วมชมเกมการแข่งขั้นในคราวต่อไป ทั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 15 แห่งกฎหมายฉบับดังกล่าว[27]
       [4.4] กฎหมาย The Football (Offences) Act 1991
       กฎหมาย The Football (Offences) Act 1991 ได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆหรือการกระทำที่กฎหมายระบุความผิดเฉพาะไว้ (specific actions within football stadiums) [28] หรืออาจเรียกว่า ความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ความรุนแรง (relevant offence) โดยการกระทำความผิดของผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่กฎหมายระบุเฉพาะ เช่น การจุดพลุหรือประทัด (throw missiles) การเหยียดผิว (racist chanting) และลงไปในบริเวณสนามฟุตบอลที่กำลังมีการแข่งขันโดยไม่มีเหตุอันจำเป็น (going onto the playing area at a designated football grounds) เป็นต้น
       ทั้งนี้ การกระทำที่กฎหมายระบุความผิดเฉพาะไว้ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ย่อมเป็นการลดความเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรมความรุนแรงในระหว่างการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในสนามกีฬาฟุตบอล เพราะเหตุว่าการกระทำที่กฎหมายระบุไว้เฉพาะในข้างต้น อาจเป็นเหตุทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยต่อชีวิตและร่างกายของผู้ชมกีฬาฟุตบอลในสนามกีฬาฟุตบอลที่กำลังมีการแข่งขันกัน
       [4.5] กฎหมาย The Football (Offences and Disorder) Act 1999
       กฎหมาย The Football (Offences and Disorder) Act 1999 เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อขยายเนื้อความและแก้ไขกฎหมาย the Football Spectators Act 1989 และกฎหมาย the Football (Offences) Act 1991 โดยกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการลดการใช้ความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอล [29] ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้ได้เพิ่มมาตรการทางกฎหมายในการลดการใช้ความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอล เช่น การขายบัตรเข้าชมกีฬาฟุตบอลราคาเกินไปกว่าความเป็นจริง (ticket-touting)  และ การเหยียดผิว (indecent or racialist chanting) เป็นต้น[30]
       [4.6] กฎหมาย The Football (Disorder) Act 2000
       กฎหมาย The Football (Disorder) Act 2000 เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยกำหนดมาตรการเพื่อลดการใช้ความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอล ได้แก่ มาตรการห้ามผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่เคยก่อเหตุรุนแรงเดินทางออกนอกประเทศเพื่อชมกีฬาฟุตบอล (prevent suspected hooligans travelling abroad) [31] กล่าวคือ หากรัฐปล่อยให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่เคยก่อเหตุรุนแรงเดินทางออกนอกประเทศเพื่อชมกีฬาฟุตบอล ผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่เคยก่อเหตุความรุนแรงดังกล่าว อาจก่อเหตุรุนแรงในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในต่างประเทศอีก (causing trouble at foreign matches) ซึ่งอาจเป็นการกระทบต่อสิทธิของผู้ชมกีฬาฟุตบอลคนอื่นๆ โดยกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดมาตรการในการยึดหนังสือเดินทาง (surrender passports) จากผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่เคยก่อเหตุรุนแรงเพื่อไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ[32]
       [5] บทสรุป
       จากบทเรียนที่ผ่านมาของประเทศอังกฤษโศกนาฏกรรมจากหายนะเฮเซล (The Heysel disaster) และอีกหลายเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษ ซึ่งโศกนาฏกรรมดังกล่าวและเหตุการณ์ความรุนแรงในสนามกีฬาฟุตบอลหลายเหตุการณ์ ทำให้ประเทศอังกฤษ ได้พัฒนาองค์กรและมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ซึ่งองค์กรและมาตรการทางกฎหมายได้มีพัฒนาการและกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับการควบคุมความประพฤติของผู้ชมกีฬาฟุตบอล เพื่อป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอล ได้แก่ มาตรการออกคำสั่งห้ามเพื่อควบคุมผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ใช้ความรุนแรง (Banning Orders) เพื่อควบคุมผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ใช้ความรุนแรง อันถือเป็นมาตรการทางกฎหมายหนึ่ง ที่ให้อำนาจแก่ตำรวจทางฟุตบอลเพื่อแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอล และมาตรการทางกฎหมายเฉพาะในการป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลเฉพาะ เช่น การจุดพลุหรือประทัดในสนามกีฬาฟุตบอล (throw missiles) การเหยียดผิว (racist chanting) การลงไปในบริเวณสนามฟุตบอลที่กำลังมีการแข่งขันโดยไม่มีเหตุอันจำเป็น (going onto the playing area at a designated football grounds) การขายบัตรเข้าชมกีฬาฟุตบอลราคาเกินไปกว่าความเป็นจริง (ticket-touting)  การยึดหนังสือเดินทาง (surrender passports) จากผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่เคยก่อเหตุรุนแรงเพื่อไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ เป็นต้น
        
       เชิงอรรถ
       
       [1]COURT OF APPEAL, ENGLAND & WALES, Gough- vs - The Chief Constable of Derbyshire, 20 MARCH 2002 available online at,  http://www.ipsofactoj.com/international/2002/Part13/int2002(13)-010.htm, 1/6/2010.
       
       
       [2]Taylor, M., The leaguers : the making of professional football in England, 1900-1939, Liverpool University Press, Liverpool, 2005, page 3.
       
       
       [3]Beloff, M. J., Kerr, T. and Demetriou, M., Sports law, Hart, Oxford, 1999, page 33.
       
       
       [4]Greenfield, S. and Osborn, G., Law and sport in contemporary society, Routledge: London, 2000, page 183.
       
       
       [5]Croall, H., Crime and society in Britain, Longman, London, 1998, page 175.
       
       
       [6]Public order offences, Victoria Legal Aid, available online at http://www.legalaid.vic.gov.au/1993.htm, 2/6/2010.
       
       
       [7]McNamee, M. J. and Parry, S. J., Ethics & sport, E & FN Spon, London, 1998, page 215.
       
       
       [8]โปรดดู The Heysel disaster, Monday, 29 May, 2000, available online at http://news.bbc.co.uk/1/hi/uk/768380.stm, 3/6/2010. และ Soccer fans die in stampede at European Cup final , Heysel Disaster, available online at http://www.timesonline.co.uk/tol/system/topicRoot/Heysel_Disaster/, 3/6/2010. และโปรดดู The Taylor Report in HOME OFFICE, THE HILLSBOROUGH STADIUM DISASTER 15 APRIL 1989 INQUIRY BY THE RT HON LORD JUSTICE TAYLOR FINAL REPORT Presented to Parliament by the Secretary of State for the Home Department by Command of Her Majesty January 1990, HMSO: LONDON: 1990.
       
       
       [9]Heysel Stadium Disaster, available online at  http://www.contrast.org/hillsborough/history/heysel.shtm, 4/6/2010.
       
       
       [10]Deards, E., Human rights for football hooligans, (2002) E.L. Rev., 2002, 27(2), 206-217.
       
       
       [11]The Football Association, available online at  http://www.thefa.com/TheFA/WhoWeAre, 10/6/2010.
       
       
       [12]Preventing Football Hooliganism, available online at  http://www.footballnetwork.org/dev/communityfootball/violence_reduce_violence.asp, 11/6/2010.
       
       
       [13]Article 20 (A) "that its directors, players, officials, employees, servants, representatives, spectators and all persons purporting to be its supporters or followers, conduct themselves in an orderly fashion and refrain from any one or combination of the following: racist, violent, threatening, abusive, obscene or provocative behaviour, conduct or language whilst attending at or taking part in a Match in which it is involved, whether on its own ground or elsewhere."
       
       
       [14]Article 20 (B) "Each Affiliated Association, Competition and Club shall be responsible for ensuring that no spectators or unauthorised persons are permitted to encroach onto the pitch area, save for reasons of crowd safety, or to throw missiles, bottles or other potentially harmful or dangerous objects at or on to the pitch.”
       
       
       [15]THE RULES OF THE FOOTBALL ASSOCIATION LIMITED as adopted by The Association on 19th May 2009,  available online at  http://www.thefa.com/TheFA/~/media/Files/PDF/TheFA/Rules_Regs/Rules_of_the_association_pg91-127.ashx/Rules_of_the_association_pg91-127.pdf, 12/6/2010.
       
       
       [16]The FLA, available online at  http://www.flaweb.org.uk/docs/thefla/thefla.php, 12/6/2010.
       
       
       [17]Football Licensing Authority A Hampton Implementation Review Report, March 2010, BIS Department for Business Innovation & Skills, available online at  http://www.bis.gov.uk/assets/biscore/better-regulation/docs/10-689-football-licensing-authority-hampton-implementation-review, 12/6/2010.
       
       
       [18]Stott, C. and Pearson, G.,’ The evolution and effectiveness of football banning orders’, (2008) I.S.L.J., 1/2, 66-67, 70-77.
       
       
       [19]โปรดดูข้อมูลของตำรวจทางฟุตบอล (Football policing) ใน http://www.btp.police.uk/passengers/issues/football_policing.aspx, 12/6/2010.
       
       
       [20]James, M.D. and Pearson, G., 'Football Banning Orders: analysing their use in court’, (2006)  J.C.L. , 70 (6),  509-530.
       
       
       [21]Lacey, N., Wells, C. and Quick, O., Reconstructing Criminal Law Text and Materials, 3rd  ed., Cambridge University Press, Cambridge, 2006, page 144.
       
       
       [22]Sporting Events (Control of Alcohol etc.) Act 1985, CHAPTER 57, available online at  http://www.opsi.gov.uk/RevisedStatutes/Acts/ukpga/1985/cukpga_19850057_en_1, 14/6/2010.
       
       
       [23]Collins, S. and Cattermole, R., Anti-social behaviour and disorder: powers and remedies, 3rd  ed., Sweet & Maxwell, London, 2006, page 90.
       
       
       [24]Deards, E., ‘Human rights for football hooligans?’, (2002) E.L. Rev., 27 (2), 206-217.
       
       
       [25]Gardiner, S., Sports law, 3rd ed., Cavendish: London, 2006, page 691.
       
       
       [26]Greenfield, S. and Osborn, G., Law and sport in contemporary society, Routledge: London, 2000, page 187.
       
       
       [27]โปรดดูเพิ่มเติมใน RESEARCH PAPER 99/41 14 April 1999, The Football (Offences and Disorder) Bill, Bill 17 of 1998-99, available online at http://www.parliament.uk/documents/commons/lib/research/rp99/rp99-041.pdf, 20/6/2010.
       
       
       [28]Deards, E., ‘Human rights for football hooligans?’, (2002) E.L. Rev., 27 (2), 206-217.
       
       
       [29]Moore, C., Sports law and litigation, 2nd ed., EMIS Professional, Welwyn Garden City, 2000, page 72.
       
       
       [30]Explanatory Notes to Football (Offences and Disorder) Act 1999, Chapter 21, available online at http://www.opsi.gov.uk/acts/acts1999/en/ukpgaen_19990021_en_1, 24/6/2010.
       
       
       [31]Scott, C. and Pearson, G., ‘The evolution and effectiveness of football banning orders.’ (2008) I.S.L.J., 1/2, 66-67, 70-77.
       
       
       [32]Gardiner, S., Sports law, 3rd ed., Cavendish: London, 2006, page 691.
       


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1575
เวลา 27 เมษายน 2567 23:18 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)