ปฏิรูปประเทศไทยด้วยแนวคิดประชานิติศาสตร์

24 เมษายน 2554 19:40 น.

        ช่วงเวลา 5-6 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องอยู่ในสภาวการณ์รอยต่อทางการเมืองการปกครอง หรืออาจเรียกได้ว่า อยู่ใน “ช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง” (Political Transitional Period) รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าต่างกล่าวอ้างว่า ตนเองนั้นยึดหลักประชาธิปไตยบ้าง นิติรัฐบ้าง เพื่อแสดงให้ประชาชนได้เห็นถึงความชอบธรรมและความถูกต้องภายใต้การปกครองประเทศของตนเอง   
       คำถามคือ เราทราบได้อย่างไรว่า สิ่งที่รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่ากล่าวอ้าง เป็นจริง?
       เกณฑ์ในการพิจารณาประเด็นดังกล่าว สามารถพิเคราะห์จากการที่รัฐได้ใช้อำนาจต่ำกว่ามาตรฐานที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ (Constitutional Standard) ว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลถึงการไม่เป็นนิติรัฐไปด้วย
       กล่าวอีกนัยหนึ่ง ตามหลักการแล้ว ระบอบประชาธิปไตยกับนิติรัฐมีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่งยวดอันมิอาจที่จะแยกออกจากกันได้อย่างเป็นเอกเทศ หรือจะให้เข้าใจง่ายขึ้นต้องพูดว่า “ไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีนิติรัฐ”
       เพราะระบอบประชาธิปไตยและนิติรัฐต่างก็ “เป็นเสาที่ค้ำยันซึ่งกันและกัน” หากมีเสาต้นใดหักโค่นลงไป เสาอีกต้นหนึ่งก็ไม่สามารถที่จะดำรงคงอยู่ด้วยตัวของมันเองได้ เนื่องจาก วัตุประสงค์หลักที่ถูกต้องตรงกันระหว่างระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐคือ การรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการเข้าไปจำกัดอำนาจรัฐ ยึดถือประโยชน์มหาชนเป็นใหญ่
                       เมื่อพิจารณาสภาพความเป็นจริงของบ้านเราพบว่า องค์กรหลักทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือแม้แต่ฝ่ายตุลาการ ในฐานะของ “ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน” กลับใช้อำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตราและการบังคับใช้กฎหมายไปโดยยังไม่ได้คำนึงถึง “เจ้าของอำนาจ” มากพอ เช่น กฎหมายต่างๆ ที่มีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินกว่าเหตุบ้าง ปัญหาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายบ้าง ฯลฯ เป็นต้น
       ผลคือ การปกครองประเทศจึงตกอยู่ใน “วังวนของชนกลุ่มหนึ่ง” เท่านั้น
       ทั้งนี้ แม้จะมีการตรารัฐธรรมนูญหลายฉบับเพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้นผ่านการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการใช้อำนาจดังกล่าวไปให้มีความถูกต้องและเป็นธรรมมากขึ้น แต่ในโลกของความเป็นจริง “กฎหมายสูงสุด” นี้ก็เป็นเพียง “เอกสารทางการเมือง” ที่แสดงถึงการพูดคุย เจรจาตกลงกันเพื่อจัดสรรการใช้อำนาจและประสานผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น
       นอกจากนี้ แม้จะมีการสถาปนากลไกเพื่อให้ “เจ้าของอำนาจอธิปไตย” ได้เข้ามามีบทบาท ส่วนร่วมและมีอำนาจในการต่อรองกับ “ฝ่ายการเมือง” โดยตรงผ่าน “เครื่องมือต่างๆ” อาทิ การรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายโดยประชาชนเองหากฝ่ายนิติบัญญัติไม่ดำเนินการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชาชน การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ หากไม่ประพฤติปฏิบัติตัวบทกฎหมาย การทำประชามติประชาพิจารณ์ในการตรา หรือแก้ไขตัวบทกฎหมายที่สำคัญอย่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ
       แต่กลไกต่างๆ ที่ให้ประชาชนใช้ในการต่อรองและกดดันฝ่ายการเมืองว่าด้วยการตราและการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ถือได้ว่ายังมีน้อยอยู่ ยังมิพักที่จะกล่าวถึงความบกพร่องอันนำไปสู่การด้อยประสิทธิภาพของกลไกต่างๆ เหล่านี้เสียด้วยซ้ำ เหล่านี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่นำไปสู่การออกมาเรียกร้องของประชาชนจำนวนมากและนำไปสู่กระแสการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ในปัจจุบัน
                       ปัญหาเรื่อง “ความเป็นประชาธิปไตยในเชิงรูปแบบในการตราและการบังคับใช้กฎหมาย” ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งถูกยอมรับนับถือว่า เป็นประเทศประชาธิปไตยอันดับต้นๆ ประเทศหนึ่งของโลก จึงได้มีการเสนอแนวคิดในทางกฎหมาย (Legal Concept) ขึ้นมาเพื่อเป็นการส่งเสริม ผลักดัน และปรับปรุงให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและแท้จริง โดยความคิดดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “Demosprudence”
                       “Demosprudence” เป็นหลักการที่ถูกคิดประดิษฐ์ขึ้นโดยนักวิชาการทางนิติศาสตร์ 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ลานี่ กุยเนียร์ (Prof. Lani Guinier) แห่งโรงเรียนกฎหมาย มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด (Harvard Law School) โดยเป็นนักกฎหมายที่ต่อสู้เรียกร้องทางด้านสิทธิพลเมือง ความเท่าเทียมกันทางด้านเชื้อชาติ เพศ และระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังถือได้ว่าเป็นสตรีชาวแอฟริกันอเมริกัน (ผิวสี) คนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ตลอดชีวิต ณ โรงเรียนกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดอีกด้วย
       อีกท่านหนึ่งคือ ศาสตราจารย์เจอรัล ทอร์เรส (Prof. Gerald Torres) แห่งโรงเรียนกฎหมาย มหาวิทยาลัยเท็กซัส-ออสติน (University of Texas at Austin School of Law) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสำคัญอย่างประธานสภาโรงเรียนกฎหมายอเมริกันและที่ปรึกษาอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม   
         เท่าที่ผู้เขียนทราบ ไม่มีนักวิชาการไทยในสายนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์กล่าวถึงแนวคิดนี้เลย มีเพียง ดร.พิชญ์ พงษ์สวสัดิ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยเขียนบทความเกี่ยวกับหลัก “Demosprudence” บ้าง โดยได้แปลเป็นภาษาไทยว่า “ประชา-ตุลาการภิวัฒน์” และ “ประชานิติศาสตร์”   
       ผู้เขียนเห็นว่า การใช้คำว่า “ประชานิติศาสตร์” แทนคำว่า “Demosprudence” น่าจะเป็นการถูกต้องและเหมาะสม เพราะหากพิจารณาตามรากศัพท์อย่างหยาบๆ แล้ว คำนี้ประกอบขึ้นมาจากคำว่า “Demos” ซึ่งเป็นภาษากรีกโบราณ (อันเป็นรากศัพท์ของคำว่า ประชาธิปไตย หรือ Democracy) มีความหมายว่า “ประชาชน” และคำว่า “Prudence” ที่มาจากการลดรูปของคำเต็มว่า “Jurisprudence” หมายถึง นิติศาสตร์
       อนึ่ง คำว่า “นิติปรัชาธิปไตย” ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นคำที่ใช้ได้ เพราะคำว่า “Jurisprudence” นอกจากจะหมายถึง นิติศาสตร์แล้ว ก็ยังหมายถึง นิติปรัชญา ได้ด้วย
       หลักการ “ประชานิติศาสตร์” นั้นคือแนวคิดในทางนิติศาสตร์ที่ว่าด้วยการให้ความสำคัญในการตราบังคับใช้และการแก้ไขกฎหมายโดยผ่านการเคลื่อนไหวของประชาชนในภาคสังคม (Social Movement)
       กล่าวคือ จำต้องมีการสร้างกลไก หรือรูปแบบใหม่ของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนให้เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนการกระจายการจัดสรรอำนาจที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมิใช่การกระจายการจัดสรรอำนาจเยี่ยงรูปแบบเดิมๆ ที่ในทางรูปแบบดูประหนึ่งว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอำนาจ (Power Shift) แต่ในทางเนื้อหาแล้วก็เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของ “ลูกตุ้มนาฬิกา” ที่เคลื่อนไปทางซ้ายทีขวาทีอย่างซ้ำไปซ้ำมา อันสะท้อนให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนเคลื่อนตัวของอำนาจระหว่างกลุ่มชนชั้นนำ (Groups of Elite) เท่านั้น เช่น กลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง กลุ่มชนชั้นนำทางทหาร กลุ่มชนชั้นนำทางภาคธุรกิจ กลุ่มชนชั้นนำทางภาควิชาการ หรือแม้แต่กลุ่มชนชั้นนำทางกฎหมายเอง เป็นต้น     
                       แต่ “ประชานิติศาสตร์” จะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจที่แท้จริง (Actual Power Shift) ด้วยการ “ทำให้เสียงที่ไม่เคยมีใครได้ยินของประชาชน” ผู้ที่มิใช่กลุ่มชนชั้นนำ (Non-Elites) ดังขึ้น และนำไปสู่การพูดคุยถกเถียงกันอย่างเป็นทางการ กล่าวคือ ด้วยหลักการดังกล่าวจะทำให้กลุ่มผู้ที่มิใช่ชนชั้นนำได้มีโอกาสเข้าไปมีบทบาทและส่วนร่วม (Participation) ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคมในองค์รวม ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการในการตรา การแก้ไข หรือการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อการเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงผ่านการทำให้เกิดสภาวะ “เสียงส่วนใหญ่” อย่างแท้จริง
                       เพื่อให้เห็นภาพแนวคิด “ประชานิติศาสตร์” ว่ามีบทบาทหน้าที่อย่างไรในการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอย่างไรที่ชัดเจนขึ้น อาจลองดูตัวอย่างการปรับใช้แนวคิดดังกล่าวกับการใช้อำนาจอธิปไตยของค์กรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้ตัวบทกฎหมายต่างๆ กับประชาชน เช่น
       กรณีการบังคับกฎหมายความมั่นคงของประเทศ กล่าวคือ เมื่อภาครัฐโดยฝ่ายบริหารตัดสินใจเลือกที่จะใช้ตัวบทกฎหมายทำนองนี้ที่โดยสภาพแล้วถูกออกแบบให้บังคับใช้กับการก่อการจลาจลที่ร้ายแรง แต่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อบังคับใช้กับการชุมนุมทั่วไปซึ่งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย จึงมีการสื่อสารไปยังฝ่ายบริหารถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ผิดพลาดด้วยการปฏิเสธการบังคับใช้กฎหมายนี้     
       จากปรากฏการณ์นี้จะเห็นได้ว่า ผู้ชุมนุมในฐานะของปุถุชนทั่วไป (Ordinary People) ซึ่งมิได้มีส่วนร่วมในการเสนอ การร่าง และการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงได้ใช้พลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มตนในการ “ส่งเสียง” (ด้วยการปฏิเสธถูกบังคับใช้กฎหมาย) ไปยังชนชั้นนำที่ปกติเป็นผูกขาดในการใช้อำนาจทางกฎหมาย (Legal Elites) ให้มีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมแบบเดิมๆ (Culture Change) ที่อาจมีการเลือกใช้กฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย รวมไปถึงการตีความกฎหมาย (เพราะก่อนที่ฝ่ายบริหารจะเลือกกฎหมายมาบังคับใช้ก็ต้องผ่านกระบวนการตีความภายในองค์กรของตนเองว่าจะสามารถนำมาบังคับใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้หรือไม่อย่างไรด้วย) ที่ผิดหลักการและวัตถุประสงค์เสมออันนำไปสู่การทำลายระบอบประชาธิปไตย         
                       ถ้าการส่งเสียงของกลุ่มชนที่มิใช่ชนชั้นนำผ่านการเคลื่อนไหวทางภาคสังคมดังกล่าวทำให้กลุ่มชนชั้นนำได้ตระหนักเข้าใจด้วยการฟังเสียงของประชาชนเพิ่มเติมมากขึ้น และกลับมาทบทวนว่าตนเองมีการกระทำอะไรที่ผิดพลาดไปหรือไม่อย่างไร หากภาครัฐเห็นด้วยก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมการบังคับใช้กฎหมาย หรือแม้แต่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัวบทกฎหมาย (Legal Change) เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ส่งผลไปยังการสถาปนาหลักนิติรัฐขึ้นในประเทศ และนำมาซึ่งความยุติธรรมในสังคมอันถือได้ว่าเป็นวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปประเทศที่แท้จริงอีกด้วย 
                       กล่าวโดยสรุปแล้ว แนวคิด “ประชานิติศาสตร์” หรือ “Demosprudence” ถือได้ว่าเป็นหลักการที่น่าสนใจซึ่งชนชั้นนำในทางกฎหมายอย่าง ส.ส. และ ส.ว. ในฐานะของผู้ตรากฎหมาย (Legislators) ก็ดี ครม. ในฐานะของผู้บริหารราชการแผ่นดินด้วยการบังคับใช้กฎหมายก็ดี และผู้พิพากษาในฐานะของผู้ตัดสินอรรถคดีต่างๆ ผ่านการตีความตัวบทกฎหมายเองก็ดี พึงให้ความสำคัญในการศึกษาหาความรู้
       และด้วยสภาพการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ผู้เขียนเห็นว่า ควรมุ่งแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ ควบคู่กับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านการเมือง โดยแนวคิดนี้สามารถที่จะอธิบายถึงปัญหาเรื้อรังโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจอธิปไตยผ่านการตรา แก้ไข และบังคับใช้กฎหมายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานานได้ พร้อมทั้งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการเสริมสร้างกลไกต่างๆ อันนำประเทศไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในทางเนื้อหามากขึ้น
       เพราะเราจำต้องตระหนักว่า แค่การเลือกตัวแทนมานั่งในฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหารหาใช่ตัวบ่งชี้ว่าประเทศนั้นอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่!
       อนึ่ง แนวคิด “ประชานิติศาสตร์” ยังคงมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากระบอบม๊อบ (Mobocracy) อีกทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยได้อย่าง “องค์กรตุลาการ” ด้วย ซึ่งหากมีโอกาสผู้เขียนจะได้นำเสนอบทความในเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดต่อไป
       ............................................................................................................................
        
                        


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1580
เวลา 29 เมษายน 2567 19:27 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)