จดหมายเปิดผนึกถึงผู้ที่ใช้ภาษีอากรของราษฎร

22 พฤษภาคม 2554 20:53 น.

       จดหมายเปิดผนึกถึงผู้ที่ใช้ภาษีอากรของราษฎร 
        
       --------------------------------------------------------------------------
       เขียนที่บ้านชุ่มเมืองเย็น
       
       ๑๘  พฤษภาคม  ๒๕๕๔
       
       ถึง ผู้ที่ใช้ภาษีอากรของราษฎรทั้งหลาย
       ข้าฯในฐานะที่เป็นผู้ที่เสียภาษีอากรทั้งภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อมเริ่มมีความรู้สึกรับไม่ได้กับการที่พวกเอ็งทั้งหลายกระทำการอันเป็นการเผาผลาญภาษีอากรของข้าฯอย่างไร้คุณค่าและอย่างฉ้อฉลหนักข้อขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน ข้าจึงขอให้ผู้ที่ใช้ภาษีอากรของข้าฯไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐยุติการกระทำต่างๆ  ดังต่อไปนี้
                   ๑)ยุติการใช้ภาษีอากรของข้าฯไปในการติดป้ายโฆษณาติดรูปภาพของตนเองหรือผู้อื่น  ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำคัตเอาต์ริมถนนหนทาง ในหน้าหนังสือพิมพ์หรือในสื่อโทรทัศน์ทั้งหลาย เพราะทำให้ข้าฯเกิดอาการเบื่ออาหารและคลื่นไส้อยากจะอาเจียนออกมาวันละหลายๆครั้ง นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าตำรวจ หัวหน้าส่วนราชการ นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล อธิบดีกรมต่างๆ ฯลฯ ทั้งโฆษณาตัวเองโดยตรงหรือโดยแฝง เช่น ทำเป็นบทความหรือข่าวประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
                   ๒)ยุติการที่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งหมายความรวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่กินเงินเดือนหรือค่าตอบแทนจากภาษีอากรแต่กระทำตัวเป็นหัวคะแนนให้แก่บรรดานักเลือกตั้งทั้งหลายที่ควบคุมกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ใช้บุคคลากรและวัสดุอุปกรณ์ของหลวงไปใช้ในการหาเสียงหาคะแนนให้ตนเองและพรรคพวก
                   ๓)ยุติการนำภาษีอากรไปสนับสนุนพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพียงเพื่อรอรับเงินอุดหนุนจาก กกต.เท่านั้น
                   ๔)ยุติการนำภาษีอากรไปให้ กกต.ถลุงเป็นพันๆล้านแล้วกลับได้ ส.ส., ส.ว.ห่วยๆเข้ามายิ่งกว่าเดิม โดยให้ กกต.เป็นเพียงผู้ดูแลเท่านั้น ดังเช่นประเทศอื่นที่มี กกต.เพียงเพื่อการกำกับดูแลและรับรองผลการเลือกตั้ง มิใช่มาจัดการเลือกตั้งเสียเองโดยทำตัวเป็นมหาดไทย ๒ ที่ใหญ่โตเทอะทะยิ่งกว่าเดิมแล้วก็ยังต้องพึ่งหน่วยงานอื่นของรัฐทำหน้าที่อยู่ดี ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมี กกต.ไปทำไม สหรัฐอเมริกาใหญ่กว่าเราตั้งหลายเท่าตัวยังไม่มี กกต.เลย มีแต่ให้แต่ละเคาน์ตี(County)เป็นผู้รับผิดชอบจัดการเลือกตั้ง มีปัญหาก็ให้ศาลตัดสิน ซึ่งสามารถพิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วนได้
                   ๕)ยุติการโฆษณาชวนเชื่อว่าตนเองหรือหน่วยงานของตนเองดีอย่างโน้น ดีอย่างนี้ ทั้งที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองหรือบีบบังคับให้สื่อของรัฐต้องลงโฆษณาให้แก่ตนเองหรือหน่วยงานของตนเองไม่ว่าจะเป็นทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เพราะถ้าดีจริงไม่ต้องลงโฆษณามากคนก็จะรู้เอง
                   ๖)ยุติการเดินทางไปเที่ยวโดยอ้างว่าไปดูงานทั้งในและต่างประเทศ ทั้งๆที่บางทีเขาไม่เชิญมาก็ยังใช้เล่ห์เพทุบายให้เขาเชิญมาก็มี(แต่เราออกค่าใช้จ่ายเอง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไกล้ๆสิ้นปีงบประมาณ
                   ๗)ยุติการปิดหูปิดตาประชาชนโดยการใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่กินเงินเดือนจากภาษีอากรราษฎรเป็นผู้ดำเนินการ เช่น การปิดเว็บไซต์ วิทยุชุมชน ฯลฯ ทั้งๆที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาเลยว่าสิ่งที่นำมาเผยแพร่นั้นผิดกฎหมายแล้วไม่ อย่างใด และที่น่าสังเวชใจเป็นอย่างยิ่งการปิดเว็บบางเว็บที่ใช้อำนาจตาม พรก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเลิกไปตั้งนานแล้ว ยังมีไอ้ยักษ์ตาเดียวตามไปแปะหน้าเว็บไซต์อยู่อีกให้เสียอารมณ์
                   ๘)ยุติการกระทำตัวเป็นคุณพ่อ(แม่)รู้ดี เที่ยวไปกำหนดกฎเกณฑ์ว่าสิ่งไหนราษฎรควรดู หรือไม่ควรดู เช่น กรณีของ “เรยา” หรือกรณีห้ามไม่ให้เด็กดูโดยอ้างว่าเข้าข่ายขัดศีลธรรมหรือการใช้ความรุนแรงแต่ที่ตัวเองประพฤติเสียเองหรือทำหนังไทยรบพม่าฆ่ากันตายเลือดท่วมจอกลับบอกว่าไม่เป็นไร ให้เด็กๆดูเพื่อที่จะได้รักชาติมากขึ้น เป็นเสียอย่างนั้นไป
                   ๙)ยุติการนำภาษีอากรไปสนับสนุนสื่อทั้งการให้เงินสนับสนุนโดยตรงหรือการโฆษณาแก่สื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อวิทยุโทรทัศน์ฯที่มักจะอ้างว่าเป็นกลางแต่แท้ที่จริงแล้วเอียงกระเท่เร่
                   ๑๐)ยุติการกระทำตัวเป็นนายราษฎร ทั้งการประพฤติหรือคำเรียกขานตัวเองกับผู้อื่นหรือบังคับโดยปริยายให้ผู้อื่นเรียกตัวเอง เช่น เรียกว่าท่านบ้าง เรียกว่านายบ้าง หรือหัวหน้าบ้างทั้งๆไม่ได้เป็นผู้มีอุปการคุณ เจ้านายหรือหัวหน้าของราษฎรสักหน่อย
                   ๑๑)ยุติการนำวัสดุอุปกรณ์ของรัฐไปใช้ส่วนตัว เช่น รถยนต์ของรัฐไปรับลูกรับเมีย(ผัว) นำวัสดุครุภัณฑ์ไปใช้ที่บ้าน ใช้คอมพิวเตอร์ของรัฐเล่นเกมหรืออินเตอร์เน็ตส่วนตัว ฯลฯ รวมถึงพวกที่ได้รับค่าใช้จ่ายสำหรับรถยนต์ประจำตำแหน่งในกรณีที่รัฐไม่ได้จัดรถยนต์ประจำตำแหน่งให้ แต่เอาเข้ากระเป๋าตัวเองโดยผิดวัตถุประสงค์ของงบประมาณ
                   ๑๒)ยุติการนำภาษีอากรของราษฎรไปซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ที่ด้อยประสิทธิภาพเสียที ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินรบ รถถังมือสอง จีทีสองร้อย บอลลูนที่ลอยไม่ได้ ฯลฯ
                   ๑๓)ยุติการนำสถานพยาบาลของรัฐ บุคลากรทางการแพทย์ของรัฐ ไปให้บริการแก่ราษฎรโดยอ้างว่าเป็นคลินิกพิเศษเพื่อที่จะได้เก็บแพงกว่าปกติหลายเท่าตัว ทั้งที่การบริการก็ไม่ได้ดีไปกว่าเดิมสักเท่าไหร่ คนไข้ก็ยังต้องมารอเอาคิวกันเป็นเวลาหลายๆชั่วโมงเหมือนเดิม
                   ๑๔)ยุติการออกวีซาให้นักท่องเที่ยวกเฬวราก ซึ่งมาแย่งใช้บริการสาธารณะที่มาจากภาษีอากรของเราเสียที เพราะเราจะไปขอวีซาประเทศเขากลับต้องแทบจะกราบกรานขอ บางประเทศขอยากขอเย็นแสนเข็ญ ทำอย่างกับจะเข้าไปขอทานหรือขายของเก่าในประเทศของเขาเสียอย่างนั้น บางที่ก็แสนจะเจ็บใจทีไปติดต่อกลับเจอพฤติกรรมที่ดูถูกคนไทยกันเองจากเจ้าหน้าที่สถานทูตหรือกงสุลเสียด้วยสิ
                   ๑๕)ยุติการนำภาษีอากรไปถลุงโดยการบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่เทอะทะและล้าหลังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศให้รุดไปข้างหน้าให้เหลือเพียงการบริหารราชการส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเท่านั้น ดังเช่นนานาอารยประเทศทั้งหลายที่เห็นเป็นตัวอย่าง คือ ญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ที่ไม่มีการบริหารราชการส่วนภูมิภาคแต่อย่างใด
                   ๑๖)ยุติการนำเวลางานไปใช้ในกิจส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยที่ชั่วโมงสอนก็ไม่ค่อยมี วิจัยก็ไม่ทำ แต่มีเอาเวลาไปรับจ้างเป็นที่ปรึกษาทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน หรือครูบาอาจารย์ในระดับมัธยมประถมก็มัวแต่เอาเวลาไปทำผลงานปรับตำแหน่งต่างๆจนนักเรียนสอบตกกันเป็นเบือ
                   จึงแจ้งมาเพื่อทราบและให้ยุติการดำเนินการดังกล่าวเสีย มิฉะนั้น ข้าฯมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามแนวทางที่วางไว้ เพื่อขับไล่ผู้ที่ฝ่าฝืนเจตจำนงของราษฎรออกจากตำแหน่งต่อไป
        
                                                                        ขอแสดงความไม่นับถือ
                                                                         (ลงชื่อ)    ชำนาญ
                                                                       (นายชำนาญ จันทร์เรือง)
                                                                            ราษฎรไม่อาวุโส
        
        


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1589
เวลา 5 พฤษภาคม 2567 18:33 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)