ครั้งที่ 265

22 พฤษภาคม 2554 20:55 น.

       ครั้งที่ 265
       สำหรับวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน 2554
        
       “พรรคการเมืองที่ไม่มีความเป็นพรรคการเมือง”
        
                   ในที่สุด การยุบสภาผู้แทนราษฎรก็เกิดขึ้นจริงหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเอาไว้ล่วงหน้ามาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ส่วนวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถูกกำหนดไว้ให้เป็นวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554
                 มีผู้ออกมาคาดเดาและพยากรณ์กันมากว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้คงมีอะไรที่น่าตื่นเต้นเกิดขึ้นมากมาย เพราะนอกจาก “คนเก่า” จะต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองได้กลับไปอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรและ “คนใหม่” ซึ่งมีจำนวนมากต่างก็อยากจะเข้าไปแย่งที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ยังมีความสำคัญเป็นอย่างมากกับ “กลุ่มอำนาจเก่า” ที่ถูกรัฐประหารไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ที่จะใช้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็น “ช่องทาง” ในการกลับมาอย่างถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้อาจแตกต่างไปจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2550 เพราะในครั้งนั้นทุกอย่างยังไม่ชัดเจน  แต่ในวันนี้ ความชัดเจนในด้านต่าง ๆ ก็มีมากขึ้น และล่าสุด การประกาศว่าน้องสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยก็ทำให้การเลือกข้างเป็นไปอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น  สำหรับผม นี่คือการรบครั้งสุดท้ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถ้าชนะก็ได้ไป แต่ถ้าแพ้ขึ้นมา ก็คงต้องหยุดได้แล้ว ประเทศนี้ไม่ได้มีเอาไว้เพื่อนำไปต่อรองทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของใครทั้งนั้นครับ
                 อีกไม่กี่วัน ก็คงถึงฤดูการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่ผมเขียนบทบรรณาธิการนี้ นโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการประกาศออกมาอย่างชัดเจนซึ่งก็เป็นเรื่องที่แปลกมาก ๆ สำหรับความเป็นพรรคการเมือง เพราะที่ถูกแล้ว นโยบายพรรคการเมืองควรจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกับการจัดตั้งพรรคการเมือง เหมือนกับการก่อตั้งบริษัทก็ต้องมีวัตถุประสงค์ของบริษัทที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น ฉันใดก็ฉันนั้น
                 หากจะถามว่านโยบายพรรคการเมืองคืออะไร ? คำตอบก็คงมีหลากหลายแล้วแต่ว่าผู้ตอบจะเป็นใคร  ในทางปฏิบัติที่เป็นสากล เมื่อมีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา พรรคการเมืองก็ย่อมจะต้องมี “อุดมการณ์ทางการเมือง” ตามวัตถุประสงค์ของผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองนั้น เช่น เป็นพรรคการเมืองของผู้ที่นิยมชมชอบระบอบสังคมนิยม อนุรักษ์นิยม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คอมมิวนิสต์ ฯลฯ อุดมการณ์ทางการเมืองเหล่านั้นก็จะกลายมาเป็น “ที่มา” ที่สำคัญของนโยบายพรรคการเมืองนั้น และนโยบายพรรคการเมืองนี้เองก็จะกลายเป็นสิ่งที่บรรดาพรรคการเมืองนำเสนอต่อประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาว่าจะเลือกพรรคการเมืองใดเข้ามาบริหารประเทศ เพราะเมื่อเลือกพรรคการเมืองใดเข้ามา พรรคการเมืองนั้นก็จะนำเอานโยบายของพรรคการเมืองของตนเข้ามาเป็นเกณฑ์ในการบริหารประเทศ นโยบายพรรคการเมืองจึงไม่ใช่สิ่งที่จะมาเขียนกันเล่น ๆ หรือเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลาเพียงเพื่อให้ตนได้รับเลือกตั้งเข้ามาเท่านั้น
                 การจัดทำนโยบายพรรคการเมืองเป็นสิ่งสำคัญและมีความละเอียดอ่อน นโยบายพรรคการเมืองที่ดีจะต้องครอบคลุมภารกิจของรัฐทุกประเภททั้งที่เป็นภารกิจถาวร เช่น การสาธารณสุข การศึกษา และภารกิจเฉพาะหน้าเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ เช่น การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การจัดทำนโยบายพรรคการเมืองจึงต้องจัดทำโดยผู้ชำนาญในแต่ละศาสตร์ จะต้องผ่านการคิดวิเคราะห์มาแล้วอย่างเป็นระบบเพื่อที่ว่าเมื่อมีโอกาสที่จะนำนโยบายเหล่านั้นไปปฏิบัติจะได้สามารถทำได้ ไม่ใช่เป็นเพียงการเขียนนโยบายเพื่อ “ขายฝัน”
                 ในประเทศที่มีการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไปแล้วเป็นอย่างดี การเลือกตั้งในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะให้ความสนใจกับนโยบายของพรรคการเมืองเป็นหลักมากกว่าจะให้ความสนใจในตัวบุคคล ทั้งนี้ เพราะในนโยบายของพรรคการเมืองแต่ละพรรคต่างก็มีจุดเด่นของตัวเองที่คงไม่มีใครไปลอกมาใส่ไว้ในนโยบายของพรรคการเมืองอื่น ๆ กันอย่างง่าย ๆ  จริงอยู่ที่นโยบายของพรรคการเมืองแต่ละพรรคการเมืองอาจมีบางส่วนที่คล้ายกันและก็อาจร่วมงานกันได้ แต่เท่าที่เห็นในประเทศใหญ่ ๆ ที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองขนาดใหญ่จะมีนโยบายที่เป็น “แกน” ที่ไม่เหมือนกันและไม่สามารถมารวมกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ คงมีแต่เพียงพรรคการเมืองขนาดเล็กที่จะไปรวมกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้เนื่องจากมีนโยบายที่ใกล้เคียงกันในบางเรื่อง ตัวอย่างก็คือพรรคการเมืองฝ่ายขวาอย่างเช่นพรรคอนุรักษ์นิยมอาจร่วมงานกับพรรคชาตินิยมได้ ในขณะที่พรรคสังคมนิยมก็อาจร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์ได้ เป็นต้น
                 ในประเทศไทยเรานั้น พรรคการเมืองไม่ค่อยมีความเป็น “สถาบันทางการเมือง” เท่าไรนัก ผมมีเหตุผลหลายประการที่กล่าวเช่นนี้ครับ เหตุผลแรก เราจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 80 ปี ของระบอบประชาธิปไตยในบ้านเรา มีพรรคการเมืองเพียงไม่กี่พรรคการเมืองที่มีนโยบายทางการเมืองที่ชัดเจนและยืนหยัดอยู่ในนโยบายนั้นมาตลอด ถ้าจำไม่ผิดก็คือพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยซึ่งในปัจจุบันผมไม่ทราบว่ายังมีตัวตนอยู่หรือไม่ ส่วนพรรคการเมืองอื่น ๆ นั้น ไม่ทราบครับ อาจจะมีพรรคไทยรักไทยที่ต่อมากลายเป็นพรรคพลังประชาชนและปัจจุบันคือพรรคเพื่อไทยที่มีนโยบายทางการเมืองที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันมาตลอดคือนโยบายประชานิยมครับ  เหตุผลที่สองที่ทำให้ผมเห็นว่าพรรคการเมืองของไทยไม่มีความเป็นสถาบันทางการเมืองก็คือ การยุบพรรคการเมืองโดยองค์กรที่รัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดตั้งขึ้นมา เป็นไปได้อย่างไรที่พรรคการเมืองซึ่งเกิดจากอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกันของประชาชนจำนวนหนึ่งที่เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจะถูกใครก็ไม่รู้มาสั่งยุบพรรคการเมืองซึ่งก็คือการล้มล้างเจตจำนงร่วมกันของประชาชนในการเข้าร่วมกับพรรคการเมืองนั้น แปลกไหมครับกับระบบที่เราออกแบบกันมา
                 ในเมื่อพรรคการเมืองในบ้านเราไม่ค่อยมีความเป็นสถาบันทางการเมือง นโยบายของพรรคการเมืองจึงมีความสำคัญน้อยกว่าการชนะการเลือกตั้ง ทุกวันนี้ที่เกิดขึ้นและที่เป็นอยู่จึงกลายเป็นว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ได้เข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจะมีนโยบายอย่างไรที่จะถึงดูดใจประชาชนให้มาเลือกตนและพรรคการเมืองของตนเอง
                 มีความพยายามหลายรูปแบบที่จะทำให้ตนเองและพรรคการเมืองของตนเองชนะการเลือกตั้ง  ในส่วนตัวบุคคล เป็นที่ทราบกันดีว่า เกิดการ “ย้ายพรรคการเมือง” และ “การซื้อตัว” กันมากเมื่อโอกาสอำนวย  ในอดีต พรรคการเมืองพยายามที่จะ “ดึง” เอาบุคคลที่มีฐานเสียงในพื้นที่มาอยู่กับตนเพื่อที่จะได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคน  ต่อมาแนวความคิดนี้ก็เปลี่ยนไป ภายในพรรคการเมืองมีการแบ่งเป็นกลุ่ม แบ่งเป็นมุ้ง รวบรวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งเข้าด้วยกันเพื่อนำไปใช้ “ต่อรอง” กับพรรคการเมืองที่ตนเองอาศัยอยู่ เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเองต้องการโดยเฉพาะตำแหน่งทางการเมือง  ทั้งหมดที่กล่าวไปนี้ดำเนินไปโดยไม่มีเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายพรรคการเมืองเลย ทุกอย่างเป็นการต่อรองเพื่อประโยชน์ส่วนตัวทั้งนั้น แต่ก็มีบางกรณีที่ต้องเอาประชาชนมาเป็นข้ออ้าง เช่น “ที่ต้องทำเช่นนั้นก็เพราะชาวจังหวัด X อยากมีคนในจังหวัด X เป็นรัฐมนตรี” เป็นต้น
                 เป็นที่น่าแปลกใจว่า พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์นั้นไม่ได้มีนโยบายทางการเมืองที่เป็นแบบเดียวกันและต่อเนื่องมาตลอดจนปัจจุบัน  ผมไม่ทราบว่าในตอนก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์นั้น พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายอย่างไร เพราะในวันนี้ นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้แตกต่างไปจากนโยบายของพรรคไทยรักไทยที่ต่อมากลายเป็นพรรคพลังประชาชนและปัจจุบันคือพรรคเพื่อไทยเลยครับ นโยบายประชานิยมได้กลายมาเป็นนโยบายยอดนิยมที่บรรดาพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ต้อง “หยิบ” มาใช้    ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า พรรคประชาธิปัตย์ “นิยม” ในนโยบาย “กู้มาแจก” เหมือนกับพรรคการเมืองเกิดใหม่ที่ต้องการ “ซื้อใจ” ประชาชน ส่วนพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีอยู่ในปัจจุบันและกำลังจะเกิดขึ้นใหม่ก็คงหนีไม่พ้นการนำเอานโยบายประชานิยมมาใช้เหมือนกับที่พรรคประชาธิปัตย์กำลัง “ทำ” อยู่  เพราะ ณ วันนี้ ทุกพรรคการเมืองคิดและมองไปในทางเดียวกันแล้วว่า เนื่องจากนโยบายประชานิยมเป็นสิ่งที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ได้รับความนิยมอย่างมากจากประชาชนหาเช้ากินค่ำซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะฉะนั้น หากพรรคการเมืองของตนใช้นโยบายประชานิยมที่ไม่ด้อยไปกว่าที่ประชาชนเคยได้รับ โอกาสชนะการเลือกตั้งก็มีมาก นอกจากนโยบายประชานิยมแล้ว ในวันนี้ยังได้เห็นพรรคการเมืองขนาดเล็กมีนโยบายทางการเมืองที่ดูเท่าไรก็ไม่ใช่นโยบายทางการเมืองแม้แต่น้อย เช่น นโยบายปรองดอง นโยบายปกป้องสถาบันหรือนโยบายเป็นกลางเข้าได้กับทุกฝ่าย เป็นต้น
                 คงต้องรอดูกันต่อไปว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคการเมืองจะ “คลอด” นโยบายทางการเมืองของตนเองออกมาเมื่อไร
                 ในฐานะประชาชน ผมรู้สึกผิดหวังกับบรรดาพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่เคยมีนโยบายทางการเมืองที่ชัดเจนเลย คงมีเพียงนโยบายที่จะเข้าร่วมกับรัฐบาลเท่านั้นที่ชัดเจนที่สุด  เพราะฉะนั้น พรรคการเมืองจึงพยายามทำทุกวิถีทางที่จะให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาด้วยจำนวนที่ไม่มากนัก จากนั้นก็นั่งอยู่กับที่รอให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่มาเชิญชวน เกิดการต่อรองตำแหน่ง ใครให้ได้มากกว่าก็ไปอยู่กับข้างนั้น พรรคการเมืองประเภทนี้เป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีความเป็นพรรคการเมืองอยู่ในตัวเองเลยเพราะนอกจากจะไม่มีนโยบายของพรรคการเมืองที่ชัดเจนแล้ว พฤติกรรมที่แสดงให้เห็นก็ไม่ใช่พฤติกรรมของพรรคการเมืองด้วยซ้ำ จะเรียกว่าเป็นพรรคการเมืองได้ก็เพราะจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายพรรคการเมืองเท่านั้น แต่วิธีปฏิบัติของพรรคการเมืองประเภทนี้ไม่มีความแตกต่างไปจากวิธีปฏิบัติของกลุ่มผลประโยชน์เท่าไรที่วัน ๆ ตั้งหน้าตั้งตาแต่จะต่อรองและดำเนินการเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง
                 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 3 กรกฎาคมที่จะถึงนี้จึงน่าจะเป็น “วันพิพากษา” ชะตากรรมทางการเมืองของประเทศไทยด้วย เหตุการณ์ทางการเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไปคงไม่มีใครทราบได้ แต่ในฐานะประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งคนหนึ่ง คงต้องหา “แนวร่วม” ที่จะทำให้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของเราเข้าที่เข้าทางมากกว่านี้ ในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คงต้องให้ความสำคัญกับนโยบายของพรรคการเมืองมากกว่าให้ความสำคัญกับตัวบุคคล การเลือกพรรคการเมืองน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดอีกทางหนึ่งของประเทศที่กำลังพัฒนาระบอบประชาธิปไตยแบบบ้านเรา  ส่วนพรรคการเมืองที่เข้ากับใครก็ได้ พรรคการเมืองที่ไม่มีนโยบายที่ชัดเจน นักการเมืองที่ไม่ซื่อสัตย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ขาดประชุมบ่อยจนทำให้การประชุมสภาผู้แทนราษฎรต้องล่มไปหลายครั้ง นี่คือโอกาสที่เราต้อง “สั่งสอน” คนพวกนี้ด้วยการไม่เลือกให้เข้าไปอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรเพราะเข้าไปก็คงไม่มีอะไรดีขึ้นสำหรับประเทศชาติและประชาชน
                 หากจะเลือกพรรคการเมืองที่นโยบายทางการเมือง ก็ต้องจดจำกับสิ่งที่พรรคการเมืองทั้งหลายเสนอเอาไว้นะครับ ต้องคอยติดตามดูว่าเมื่อเราให้โอกาสได้เสียงข้างมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว มีการนำนโยบายที่หาเสียงไปปฏิบัติหรือไม่ หรือเป็นเพียงแต่หลอกลวงประชาชนเพื่อให้ได้เข้าไปอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารเท่านั้นเองครับ !!!
                 เป็นที่คาดเดาได้ว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเกิดจากการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ก็คงต้องพบกับปัญหา “เดิม ๆ” ที่ไม่ว่ากี่รัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้  ในบรรดาปัญหา “เดิม ๆ” เหล่านั้นก็มีเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันรวมอยู่ด้วย โดยในรัฐบาลที่ผ่านมาจะเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดว่า แม้พรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะบอกว่าตัวเอง “ไม่โกง” แต่พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้จัดตั้งรัฐบาลได้กลับ “สนุก” กันอย่างเต็มที่กับบรรดาโครงการต่าง ๆ และพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำก็ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะหากเล่นงานเมื่อไร รัฐบาลก็คงพังทันที การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้จึงไม่ใช่ “คำตอบ” ของการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
                 ช่วงเวลาที่ผ่านมา มีเสียงพูดกันมากถึงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย เป็นที่ทราบกันดีอยู่ทั่วไปว่าการทุจริตคอร์รัปชันคือเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยของเราไม่ก้าวหน้าในทุกวันนี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่ทั่วไปว่าการทุจริตคอร์รัปชันเกิดจาก “ความร่วมมือ” ของทุก ๆ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประจำ ฝ่ายการเมืองและฝ่ายเอกชน จึงเป็นที่น่าแปลกใจมากว่าทำไมถึงไม่มีพรรคการเมืองใดนำเสนอนโยบายที่จะเข้ามาแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจังเสียที  นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่ในอดีตสมัยยังเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านก็เคยพูดหลายครั้งถึงเรื่องนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชัน เคยแสดงความรังเกียจนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชัน และเคยเอาประเด็นของนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชันมาใช้จนทำให้เป็นส่วนหนึ่งของการได้เข้าไปเป็นรัฐบาล แต่ทำไมเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงปล่อยให้คนในรัฐบาลทำอะไรก็ไม่ทราบจนเป็นที่กล่าวขวัญกันทั้งในทางลับทางแจ้ง ทั้งในสื่อประเภทต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
                 ในฐานะพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยที่มีประประวัติความเป็นมาอันยาวนาน หากพรรคประชาธิปัตย์จริงจังกับการแก้ปัญหาซึ่งเป็นปัญหาที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ก็ควรจะมีการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันไว้ด้วยและประกาศให้ชัดเจนไปเลยว่าจะไม่ร่วมกับพรรคการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชันหรือที่เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยว่าจะทุจริตคอร์รัปชันจัดตั้งรัฐบาลอย่างเด็ดขาด เป็นฝ่ายค้านที่สะอาดดีกว่าเป็นรัฐบาลที่สกปรก !! แล้วก็ใช้นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ถาวรของพรรคประชาธิปัตย์ต่อไปในอนาคตคือ ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันและไม่ร่วมทำงานทางการเมืองกับพรรคการเมืองทั้งสีดำและสีเทาอย่างเด็ดขาด หากทำได้เช่นนี้จึงจะเรียกได้ว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีความเป็นพรรคการเมืองคือมีนโยบายที่ชัดเจน มุ่งเน้นแก้ปัญหาสำคัญของประเทศครับ !  และนอกจากนี้แล้ว ควรต้องตอบคำถามให้ได้ด้วยว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสม จะทำอย่างไรหรือจะมีมาตรการอย่างไรในการจัดการกับบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลที่ “แตกแถว” เพราะในรอบใหม่นี้ พรรคประชาธิปัตย์คงไม่สามารถนิ่งหรือพูดด้วยคำพูดที่น่าฟังแต่ไม่สามารถทำอะไรได้เลยกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเหมือนที่ผ่านมาในรัฐบาลก่อนครับ
                 ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของ คุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง “จดหมายเปิดผนึกถึงผู้ที่ใช้ภาษีอากรของราษฎร"   และบทความที่สอง เป็นบทความของคุณธีรพัฒน์  อังศุชวาล  นักศึกษาปีที่ 3 แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขียนเรื่อง “ทางสองแพร่งจริยธรรมกับประสิทธิภาพของการบริหารรัฐกิจ"   ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองด้วยครับ
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2554 ครับ
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1590
เวลา 26 เมษายน 2567 04:09 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)