ครั้งที่ 266

5 มิถุนายน 2554 19:54 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน 2554
        
       “ปัญหากระบวนการให้ได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่ง กสทช.”
        
                 ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน มีกระบวนการ “สรรหา” บุคคลให้เข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรของรัฐระดับสูงที่น่าสนใจอยู่ 3 องค์กรด้วยกันคือ วุฒิสภา คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งในองค์กรหลังนี้ ปัจจุบันยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ
                 กระบวนการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรทั้ง 3 นี้ไม่เหมือนกัน ในส่วนของวุฒิสภา มาตรา 113 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันกำหนดให้เป็นหน้าที่ของ “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” ในประเทศจำนวน 7 คน ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสรรหา ซึ่งจนกระทั่งวันนี้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาก็ยังมีอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่า “ขาด” จุดเชื่อมโยงกับประชาชน เพราะกรรมการสรรหาทุกคนไม่ได้มาจากการคัดเลือกโดยประชาชน ส่วนอีก 2 องค์กรคือ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและ กสทช. นั้นมีองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา “ทำนองเดียวกัน” คือคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจำนวน 12 คน มาจากภาครัฐ 4 คน ภาควิชาการ 4 คน และจากองค์กรเอกชนอีก 4 คน ส่วนคณะกรรมการสรรหา กสทช. จำนวน 15 คน มาจากภาครัฐ 6 คน อีก 9 คนมาจากภาคเอกชน
                 ผลการสรรหาคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายสร้างความแปลกใจให้กับนักกฎหมายจำนวนมากเพราะในจำนวนกรรมการทั้ง 11 คนนั้นมีนักกฎหมายที่อยู่ในระดับที่ดูแล้วมีความเชี่ยวชาญมาก ๆ อยู่ไม่เกิน 3 คน  นอกจากนั้น บางคนยังไม่เป็นที่รู้จักของสังคมเลยก็มี บางคนก็ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระมาแล้วไม่รู้กี่องค์กรโดยไม่มีใครทราบว่า “เก่งมาจากไหน” ที่น่าเสียดายที่สุดก็คือ เมื่อพิจารณาจากรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการสรรหาที่ไม่ได้รับการคัดเลือกก็จะพบว่ามีนักกฎหมายที่อยู่ในระดับดีที่สุดของประเทศอีกหลายคนที่พลาดโอกาสโดยไม่มีใครบอกได้เลยว่าทำไม ?  ส่วนการสรรหา กสทช. ในปัจจุบันก็มีการฟ้องกันอยู่ที่ศาลปกครองถึง 4 คดี เกี่ยวกับความไม่โปร่งใสและความไม่เป็นธรรมของคณะกรรมการสรรหา
                 ผมไม่ทราบว่ามีคนที่ไม่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการปฏิรูปกฎหมายไปดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอให้ “ล้ม” กระบวนการสรรหาหรือไม่ แต่ถ้าจะให้เดาคิดว่า “คงไม่” เพราะทราบว่ามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายไปแล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง
                 ผมเป็นคนหนึ่งที่สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กสทช. สายกฎหมายซึ่งในโครงสร้างของ กสทช. ต้องมีอยู่ 2 คน แต่ผลออกมาก็ปรากฏว่า ผมไม่ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาซึ่งจริง ๆ ผมทราบล่วงหน้าก่อนประกาศผล 3 - 4 วันแล้วว่าจะไม่ได้รับการสรรหาเพราะมีคนที่กล่าวอ้างว่าได้ยินข้อมูลมาว่ามีการกำหนดตัวบุคคลไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่ผมก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคำพูดเหล่านั้น แม้ในเวลาต่อมาจะเป็นจริงก็ตาม
                 บทบรรณาธิการครั้งนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆเพราะผมไม่ได้ฟ้องศาลปกครองกับเขาด้วย แล้วก็รอให้พ้น 30 วันนับแต่วันที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการสรรหารอบแรกออกมาแล้ว ผมจึงเขียนบทบรรณาธิการนี้โดยมีความมุ่งหวังที่จะชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดของกฎหมายและการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสรรหา กสทช. ที่ผ่านมา
                 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมาก และนอกจากนี้ก็ยังเป็น “ขุมทรัพย์” ขนาดใหญ่ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ถ้าใคร “ได้” เข้าไปอยู่ในวงจรของกิจการตามกฎหมาย หากเป็นคนดีมีความรู้ความสามารถก็จะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้มาก แต่ถ้าหากเป็นคนไม่ดี ทุจริต รวมทั้งไม่มีความรู้ความสามารถ ประเทศชาติก็คงจะวิบัติได้ไม่ยากเพราะทั้งกิจการโทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ตามปกติของประชาชนไปแล้ว การพัฒนาเรื่องดังกล่าวอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทยและสำหรับประชาชนทั้งหมดของประเทศที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างทัดเทียมกับประเทศอื่นได้
                 ภายหลังจากที่เกิดการสรรหา กสทช. ขึ้นและผมได้มีโอกาส “สัมผัส” กับกฎหมายฉบับนี้ ผมมองว่ามีข้อบกพร่องอยู่หลายประการในบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยข้อบกพร่องประการแรกของกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ คือ คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 14 ที่มีองค์ประกอบของกรรมการประเภท “โดยตำแหน่ง” ทั้งภาครัฐจำนวน 6 คน และภาคเอกชนอีก 9 คน การที่กฎหมายกำหนดให้บุคคลที่มี “ตำแหน่ง” มาสรรหาบุคคลที่ “มีผลงานหรือมีความรู้และความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์” ตามที่มาตรา 6 แห่งกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้ให้เป็นคุณสมบัติของ กสทช. นั้นน่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่งเพราะผมไม่เชื่อว่ากรรมการสรรหาทั้ง 15 คนจะมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะพิจารณาได้ว่าผู้สมัครรายใด “มีผลงานหรือมีความรู้และมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์” เพราะการมีตำแหน่งกับการมีความรู้ความสามารถเป็นคนละเรื่องกัน  การสรรหา “คนเก่ง” ก็ต้องใช้คนที่ “เก่งเท่ากัน” หรือ “เก่งกว่า” มาเป็นผู้สรรหาหาไม่แล้ว ในการสอบต่าง ๆ เราคงไม่เอาคนที่เก่งมาเป็นกรรมการสอบ การสอนระดับปริญญาโทเราคงไม่เอาคนจบปริญญาตรีมาสอน ฉันใดก็ฉันนั้นครับ นี่คือข้อบกพร่องประการแรกของกฎหมายที่กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาโดนเน้น “ตำแหน่ง” มากกว่า “ความรู้ความสามารถ” ของตัวบุคคลที่จะเข้ามาเป็นกรรมการสรรหา ส่วนข้อบกพร่องประการที่สองก็คือ องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาที่มาจากภาครัฐจำนวน 6 คน และภาคเอกชนจำนวน 9 คน ที่สัดส่วนทำให้เกิดการ “รวมตัวกัน” เป็นกลุ่มก้อนได้ง่ายและอาจส่งผลต่อการสรรหาได้หากกรรมการสรรหาบางคนต้องการ !!!
       ข้อบกพร่องประการที่สามที่เป็น “ต้นเหตุ” ของความไม่ยุติธรรมและไม่โปร่งใส จนนำไปสู่การฟ้องร้องในปัจจุบันก็คือ มาตรา 15 วรรค 4 แห่งกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ บัญญัติเกี่ยวกับการได้มาซึ่งรายชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการสรรหาไว้ว่า “หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้เป็นไปตามที่เลขาธิการวุฒิสภากำหนด โดยให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก” ซึ่งต่อมา เลขาธิการวุฒิสภาก็ได้ออก “ระเบียบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติโดยวิธีการสรรหา พ.ศ. 2553” จำนวน 14 ข้อ โดยในข้อ 7 (3) ของระเบียบกำหนดให้ผู้สมัครเสนอเอกสารและหลักฐานที่แสดงผลงานหรือความรู้และความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์กับข้อ 7 (4) ที่กำหนดให้ผู้สมัครจัดทำเอกสารแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัคร แต่ในระเบียบดังกล่าวไม่ได้กำหนดถึงวิธีการในการสรรหาว่าจะทำอย่างไร ทั้ง ๆ ที่ในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าเป็นหน้าที่ของเลขาธิการวุฒิสภาที่จะต้องกำหนด “หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก” เอาไว้  ด้วยเหตุนี้เองที่ต่อมา คณะกรรมการสรรหา กสทช. ได้มีหนังสือลงวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554 ถึงผู้สมัครเพื่อเชิญเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์กับคณะกรรมการสรรหา กสทช. โดยในเอกสารตามที่ส่งมาด้วย 3 เรื่องหลักเกณฑ์ในการแสดงวิสัยทัศน์ คณะกรรมการสรรหา กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์การแสดงวิสัยทัศน์ไว้ 4 ข้อ ที่สำคัญคือในข้อ 3 ที่กำหนดว่า “หากผู้สมัครคนใดไม่สามารถเข้าร่วมการแสดงวิสัยทัศน์ได้ จะถือว่าผู้สมัครคนนั้นสละสิทธิในการแสดงวิสัยทัศน์ แต่ไม่เป็นการตัดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา”
        ข้อบกพร่องประการที่สามเป็นข้อบกพร่องที่ร้ายแรงในหลายส่วนด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. ไปกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเอง ทั้ง ๆ ที่ในมาตรา 15 วรรค 4 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเลขาธิการวุฒิสภา แต่เลขาธิการวุฒิสภาก็มิได้ทำหน้าที่ดังกล่าวด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกอย่างครบถ้วนเอาไว้ในระเบียบฯ จึงทำให้การคัดเลือกเป็นดุลพินิจของกรรมการสรรหาทั้ง 15 คนไปโดยปริยาย
        จากข้อบกพร่องทั้ง 3 ประการดังกล่าวข้างต้นทำให้เกิดปัญหาขึ้นในหลายส่วนด้วยกันที่อาจส่งผลต่อความถูกต้องของการดำเนินการของคณะกรรมการสรรหา กสทช. ในส่วนของข้อบกพร่องประการแรกและประการที่สองซึ่งเป็นข้อบกพร่องของกฎหมายนั้นคงไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้เพราะกฎหมายยังคงเป็นเช่นนี้อยู่ หากมีผู้เห็นด้วยว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา กสทช. ซึ่งเป็นการสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ จึงควรให้ผู้มีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์มาเป็นผู้คัดเลือกมากกว่าให้ผู้ที่มีตำแหน่งซึ่งก็ไม่มีใครทราบได้ว่าคนเหล่านั้นเป็นผู้มีความรู้ความสามารถจริงหรือไม่เพราะไม่มีการนำเสนอประวัติของกรรมการสรรหาว่า “เรียนหนังสือ” จบอะไรกันมาบ้าง ระดับไหน และมีความรู้พอที่จะ “อ่าน” งานของผู้สมัครหรือไม่ ก็ต้องหาหนทางเสนอขอแก้ไขกฎหมายในส่วนนี้ต่อไปครับ
        แต่ในส่วนของข้อบกพร่องประการที่สามซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ “น่าจะ” ทำให้กระบวนการคัดเลือก กสทช. ไม่สมบูรณ์นั้น ผมมีข้อสังเกตอยู่หลายประการด้วยกันดังนี้คือ
       1. การที่กฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กำหนดให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก แต่ในระเบียบฯ ที่ออกโดยเลขาธิการวุฒิสภากลับไม่มีการกำหนดสิ่งที่เป็นวิธีการคัดเลือกเอาไว้เลยว่า วิธีการให้คะแนนเป็นอย่างไร ให้น้ำหนักกับเรื่องใด จึงทำให้กระบวนการสรรหาขาดความโปร่งใสและยิ่งเลขาธิการวุฒิสภาออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการทำลายบัตรลงคะแนนของคณะกรรมการสรรหา กสทช. ว่าเป็นเรื่องปกติในการลงคะแนนลับ ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าระเบียบฯ นี้ขาดหลักเกณฑ์ที่ควรมีสำหรับการสรรหา จึงทำให้กระบวนการสรรหาไม่โปร่งใสและเป็นไปตาม “ความประสงค์” ของคณะกรรมการสรรหา กสทช. แต่เพียงฝ่ายเดียว
       2. การที่คณะกรรมการสรรหากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครไว้ในหนังสือเชิญแสดงวิสัยทัศน์นอกเหนือไปจากที่เลขาธิการวุฒิสภากำหนด คณะกรรมการสรรหามีอำนาจหรือไม่ เพราะกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และระเบียบฯ ไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการสรรหาไว้
       3. กสทช. ตามกฎหมายเป็นกรรมการที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน แต่กรรมการสรรหากสทช.เป็นกรรมการที่มาจากตำแหน่งไม่ใช่จากความชำนาญ ในการพิจารณาเอกสารและหลักฐานที่แสดงผลงานหรือความรู้ของผู้สมัครตามระเบียบฯ ข้อ 7 (3) นั้น ไม่ทราบว่า คณะกรรมการสรรหามีวิธีการพิจารณาเอกสารต่าง ๆ ของผู้สมัครแต่ละรายอย่างไรจึงสามารถตัดสินเลือกผู้หนึ่งผู้ใดได้ หรือพิจารณาเองทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องความรู้ความสามารถเฉพาะด้านที่ตัวเองอาจไม่มีความรู้ในเรื่องดังกล่าว
       4. เนื่องจากคณะกรรมการสรรหาได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการแสดงวิสัยทัศน์ว่า ผู้ที่ไม่สามารถเข้าร่วมในการแสดงวิสัยทัศน์ไม่ถูกตัดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา ก็เท่ากับว่าการแสดงวิสัยทัศน์ไม่ใช่องค์ประกอบที่สำคัญที่นำมาใช้ในการพิจารณาสรรหา การสรรหาจึงจำกัดอยู่ที่ระเบียบฯ ข้อ 7 (3) คือต้องพิจารณาจากเอกสารและหลักฐานที่แสดงผลงานหรือความรู้และความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ด้านใดด้านหนึ่งที่กำหนดไว้ในกฎหมาย แต่ระเบียบฯ ก็ไม่ได้กำหนดถึงวิธีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวเอาไว้ จึงทำให้ระเบียบฯ ไม่สมบูรณ์ครบถ้วนเพราะไม่มีใครทราบหลักเกณฑ์และวิธีการในการพิจารณาเอกสารและหลักฐานของผู้สมัคร ทำให้กระบวนการสรรหาไม่โปร่งใส เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกถึงตัวบุคคลที่ชัดเจน เช่นในส่วนของผมนั้น ผมเสนองานวิจัยไป 8 เล่มและหนังสือที่ใช้สำหรับสอนในระดับปริญญาตรีและโทอีก     17 เล่ม ผมไม่ทราบว่าใครเป็นคนอ่านผลงานทั้ง 25 เล่มของผม และมีการให้น้ำหนักหรือคะแนนอย่างไร เพราะผลงานบางส่วนเป็นผลงานที่ใช้ในการขอตำแหน่งศาสตราจารย์ ผลงานบางส่วนเป็นผลงานที่ทำให้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติและเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ซึ่งการพิจารณาทั้ง 3 กรณีของผมทำโดยผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ก็ไม่ทราบว่าคณะกรรมการสรรหา กสทช. เก่งมาจากไหนและพิจารณาเอกสารเหล่านั้นอย่างไรจึงได้ “ตัด” ผมออกไปตั้งแต่ต้นครับ !! ที่ถูก ในการพิจารณาผลงานของผู้สมัครจะต้องมีการวางหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจนว่า มีการอ่านอย่างไร ให้คะแนนอย่างไร กรรมการสรรหาที่ไม่มีความรู้ในด้านดังกล่าวจะทำอย่างไรเพราะคงไม่สามารถเอาคนไม่มีความรู้มาประเมินคนมีความรู้ได้  ที่ถูก ในระเบียบควรกำหนดให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขามาอ่านงานของผู้สมัครจะเหมาะสมกว่า
       5. การสรรหากรรมการระดับชาติที่มีความสำคัญเช่นนี้ควรทำด้วยความละเอียดรอบคอบ โปร่งใสในทุกขั้นตอน เปิดเผยหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือกที่มีรายละเอียดที่ชัดเจนล่วงหน้าเพื่อให้ผู้สมัครทราบ ควรมีกระบวนการในการให้คะแนนผู้สมัครที่ชัดเจนว่าให้คะแนนจากเอกสารหรือหลักฐานใดที่ผู้สมัครส่งมาและข้อสำคัญที่เกี่ยวกับการคัดเลือก เช่นการให้คะแนนผู้สมัครแต่ละรายเอาไว้ให้สังคมได้ตรวจสอบว่า ทุกอย่างถูกต้องและเป็นธรรม
       6. กรรมการสรรหาไม่มีดุลพินิจที่จะเลือกผู้สมัครด้วยเหตุผลอื่นนอกเหนือไปจากสิ่งที่เป็นคุณสมบัติของกรรมการ กสทช. ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 กำหนดเอาไว้คือเป็น  “ผู้มีผลงานหรือมีความรู้หรือมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์”  เพราะฉะนั้น คณะกรรมการสรรหาจึงต้องตอบให้ได้ว่าผู้ที่คณะกรรมการสรรหาเลือกมีคุณสมบัติใน 4 ประการที่กฎหมายกำหนด “เหนือกว่า” ผู้ที่คณะกรรมการสรรหาไม่ได้เลือกอย่างไร
       7. โดยสรุป “ระเบียบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติโดยวิธีการสรรหา พ.ศ. 2553” ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสรรหาที่เป็นระบบ มีความโปร่งใสและเป็นธรรมเอาไว้ การสรรหาจึงเกิดจากการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหาซึ่งกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ไม่ได้ให้อำนาจดังกล่าวกับคณะกรรมการสรรหาเอาไว้ กระบวนการสรรหาจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้มีส่วนได้เสียจึงควรฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนระเบียบฯ ดังกล่าวเนื่องจากระเบียบฯ ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสรรหาเอาไว้ทั้ง ๆ ที่พระราชบัญญัติกำหนดให้ต้องกำหนด ประกอบกับการสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งสาธารณะควรมีวิธีการสรรหาที่เป็นระบบ       มีความโปร่งใสและเป็นธรรมอันเป็นสิ่งที่ต้องพึงมีในการสรรหากรรมการระดับชาติ ในเมื่อระเบียบฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงทำให้กระบวนการสรรหาทั้งหมดที่เกิดจากระเบียบฯ ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย
       การสรรหาคือ การคัดเลือกบุคคลคนหนึ่งจากหลายคนเพื่อให้ผู้สรรหาได้มีการเปรียบเทียบแล้วเลือกบุคคลผู้มีคุณสมบัติที่มีความเหมาะสมที่สุดที่จะดำรงตำแหน่งที่ต้องมีการสรรหา การสรรหาที่ดีคงไม่อาจเกิดขึ้นได้หากผู้สรรหาไม่มีความรู้ความสามารถมากกว่าผู้ถูกสรรหา หากผู้สรรหาคำนึงถึงประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้องมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ และหากกฎกติกาเกี่ยวกับการสรรหาไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรมครับ !!!
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นตอนต่อของบทความขนาดยาวเรื่อง “กรณีศึกษา - case study คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 15/2553  (กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์) ตอนที่ 5” ที่เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ บทความที่สองเป็นบทความของ คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ อดีตนักกฎหมายในคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ สำนักกฎหมาย Freshfields Bruckhaus Deringer (กรุงปารีส) ที่เขียนเรื่อง “คดีปราสาทพระวิหารและหมายเหตุท้ายคำพิพากษา” บทความสุดท้ายเป็นบทความเรื่อง “พนักงานอัยการกับการดำเนินคดีปกครอง” ที่เขียนโดยคุณชำนาญ จันทรเรือง  ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามบทความด้วยครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน 2554
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1596
เวลา 25 เมษายน 2567 13:17 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)