ศาลปกครองไม่มีอำนาจออกคำบังคับต่อวุฒิสภา

28 สิงหาคม 2554 20:45 น.

       จากกรณีที่นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจรได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ต่อศาลปกครอง โดยศาลปกครองกลางได้ออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวตามสื่อสารมวลชนโดยทั่วไปว่าความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีซึ่งเป็นตุลาการนอกองค์คณะว่าการกระกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีน่าจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามกระบวนการพิจารณาคดีของศาลปกครองที่ต้องมีการถ่วงดุลระหว่างตุลาการในองค์คณะกับตุลาการนอกองค์คณะที่เข้าร่วมฟังข้อเท็จจริงในคดี  โดยความเห็นดังกล่าวจะไม่ผูกพันองค์คณะผู้พิพากษาที่ออกคำพิพากษา
       ซึ่งในที่สุดศาลปกครองกลางได้เห็นต่างกับความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีโดยได้พิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าวในวันที่ ๒๒ ส.ค. ที่ผ่านมาโดยให้เหตุผลคณะกรรมการสรรหากระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และยังมีคดีอื่นที่เกี่ยวข้องกับการสรรหา กสทช.ยังคงค้างอยู่ในศาลปกครองอีก ๓ คดี(ตามคำให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเมื่อ ๒๒ ส.ค.)
        ประเด็นที่ผู้เขียนจะนำเสนอต่อไปนี้มิใช่ประเด็นว่าผลแห่งคำพิพากษาคดีนี้หรือคดีที่เหลืออีก ๓ คดีจะเป็นเช่นไร ใครแพ้ใครชนะคดี หรือประเด็นข้อเท็จจริงในคดีเป็นเช่นไร แต่จะเป็นการนำเสนอความเห็นในประเด็นที่ว่าศาลปกครองสามารถออกคำบังคับต่อวุฒิสภาในกรณีที่ผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการสรรหาไปสู่ขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภาแล้วได้หรือไม่
       เมื่อเราพิจารณาถึงอำนาจของศาลปกครองแล้วเราจะเห็นได้ว่าศาลปกครองไม่มีอำนาจออกคำบังคับองค์กรอื่นดังเช่นกรณีของศาลรัฐธรรมนูญที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐตามมาตรา ๒๑๖ วรรคห้า แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯแต่อย่างใด แต่ศาลปกครองมีอำนาจในการออกคำบังคับตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง แห่ง พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ แล้วจะเห็นได้ว่า ศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับได้เพียงอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เท่านั้น คือ
       (๑) สั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งหรือสั่งห้ามการกระทำทั้งหมดหรือบางส่วน ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง(๑)
       (๒) สั่งให้หัวหน้าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลปกครองกำหนด ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
       (๓) สั่งให้ใช้เงินหรือให้ส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการโดยจะกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขอื่น ๆ ไว้ด้วยก็ได้ ในกรณีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการฟ้องเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
       (๔) สั่งให้ถือปฏิบัติต่อสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่มีการฟ้องให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงความเป็นอยู่ของสิทธิหรือหน้าที่นั้น
       (๕) สั่งให้บุคคลกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย
       กอปรกับวุฒิสภาก็มิใช่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามนิยามศัพท์ของ พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครองฯแต่อย่างใดอีกเช่นกัน เพราะ
       "หน่วยงานทางปกครอง" ตาม พรบ.จัดตั้งศาลปกครองฯ หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง
       "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ตาม พรบ.จัดตั้งศาลปกครอง หมายความว่า
       (๑) ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคล หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง
       (๒) คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท คณะกรรมการหรือบุคคลซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่ง หรือมติใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล และ
       (๓) บุคคลที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของหน่วยงานทางปกครอง
        
       ซึ่งจะเห็นได้ว่าวุฒิสภาไม่ได้เป็นหน่วยงานทางปกครองและไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับของศาลปกครองแต่อย่างใด แต่เป็นองค์กรนิติบัญญัติที่ใช้อำนาจอธิปไตยเช่นเดียวกับศาลปกครองนั่นเอง
        
       แล้วจะทำอย่างไร
       โดยหลักทั่วไปแล้วศาลจะไม่พิพากษาเกินคำขอ ในเมื่อนายสุรนันท์ มีคำขอท้ายฟ้องแค่ให้ส่งชื่อให้เพิกถอนการดำเนินการที่ทำไปแล้ว และให้ชดใช้ค่าธรรมเนียมศาลเท่านั้น หรือแม้แต่คดีอื่นที่ฟ้องขอให้เพิกถอนกระบวนการสรรหาว่าคณะกรรมการสรรหาฯซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พรบ.จัดตั้งศาลปกครองฯกระทำโดยมิชอบ ฉะนั้น จึงไม่กระทบต่อกระบวนการสรรหาโดยรวมทั้งหมดและที่สำคัญก็คือขั้นตอนการสรรหาในปัจจุบันนี้(๒๔ ส.ค.๕๔)อยู่ในขั้นตอนของการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญของวุฒิสภาแล้ว อย่างมากก็จะสามารถทำได้เพียงส่งชื่อนายสุรนันท์หรือผู้ฟ้องคดีอื่นเข้าไปให้วุฒิสภาพิจารณาเท่านั้น ส่วนจะพิจารณารับหรือไม่รับเรื่องนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่สำคัญก็คือผลแห่งคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นจะยังไม่มีผลบังคับในทันทีหากคดียังไม่ถึงที่สุด หรือหากยังไม่พ้น ๓๐ วันถ้าไม่มีการอุทธรณ์ตามมาตรา ๗๓ แห่ง พรบ.จัดตั้งศาลปกครองฯ หรือแม้แต่ว่าหากจะมีการอุทธรณ์ก็ตามผลของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดก็จะยังคงไม่สามารถบังคับต่อวุฒิสภาได้แต่อย่างใด ดังเหตุผลที่ได้ยกมาแล้วข้างต้น
       แต่อย่างไรก็ตามหากผลที่สุดของคดีทั้งหมดออกมาว่าผู้ถูกฟ้องคดีคือคณะกรรมการสรรหาฯซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พรบ.จัดตั้งศาลปกครองฯกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วไซร้ ผู้ถูกฟ้องคดีก็ต้องรับผลไปเต็มๆ หากแพ้คดี โดยไม่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภาครับ
        
       ------------------


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1624
เวลา 7 พฤษภาคม 2567 03:26 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)