ครั้งที่ 276

23 ตุลาคม 2554 17:02 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 24 ตุลาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน 2554
       
       “การบริหารจัดการภัยพิบัติระดับชาติ”
       
                 ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ต่างก็ตื่นตระหนกอยู่กับข่าวน้ำท่วมทั้ง ๆ ที่ตามความเป็นจริงแล้ว น้ำเริ่มท่วมในบางพื้นที่มาเป็นเวลาพอสมควรแต่กลับไม่เป็นข่าวใหญ่แล้วก็ไม่ได้มีการระมัดระวังกันมาก แต่พอน้ำเริ่มเข้ามาใกล้กรุงเทพฯ ผู้คนก็เริ่มมีความวิตกเพราะบริเวณรอบ ๆ กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของโรงงานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เมื่อผู้คนเริ่มมีความวิตกกังวลจึงกลายเป็นข่าวสำคัญขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลซึ่งในขณะนั้นเพิ่งชนะการเลือกตั้งเข้ามาและกำลังวุ่นวายอยู่กับบรรดาโครงการประชานิยมที่ได้สัญญาเอาไว้กับประชาชนในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งก็ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจที่จะเผชิญหน้ากับภัยพิบัติขนาดใหญ่เช่นนี้ จึงออกอาการคลำถูกคลำผิดอยู่นาน กว่าจะกลับตัวได้ ความสูญเสียก็เกิดขึ้นมากมายไปแล้ว
                 สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลทำได้แต่เพียงอย่างเดียวคือ “การตั้งรับ” แม้รัฐบาลจะระดมความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนเพื่อหาทางสกัดไม่ให้น้ำเข้ามาในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญและไม่ให้เข้ามาในกรุงเทพมหานครฯ รวมทั้งการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติ แต่ก็ไม่สามารถทำได้และความช่วยเหลือที่ให้ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชนผู้สูญเสียซึ่งมีจำนวนมากกว่าความช่วยเหลือหลายร้อยเท่า  แต่อย่างไรก็ดี อีกไม่นาน เมื่อทุกอย่าง “จบลง” ก็ยังไม่มีใครทราบว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป รัฐบาลจะช่วยเหลือประชาชนได้ทั้งหมดหรือไม่ก็ไม่ทราบ รวมทั้งแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาร้ายแรงเช่นนี้ขึ้นมาอีกจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันติดตาม เพราะเราไม่ควรปล่อยให้เกิดภัยพิบัติเช่นนี้บ่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่เราสามารถป้องกันได้ล่วงหน้า ถ้าทำได้ ความเสียหายก็จะลดลงแล้วก็จะเป็นการผ่อนหนักให้เป็นเบา
                 ภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในครั้งนี้แม้จะเป็น “ครั้งแรก” และหนักที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วบ่อยครั้งในต่างประเทศ แม้ภัยพิบัติจะเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาได้อย่างแน่นอนชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่เท่าที่สังเกตเห็นในบางประเทศที่มีภัยพิบัติลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เขาจะมี “กฎหมาย” เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการภัยพิบัติที่เป็นระบบโดยมีสาระสำคัญคือ การวางแผนเตรียมรับมือกับภัยพิบัติเอาไว้ล่วงหน้า แผนเกี่ยวกับภัยพิบัติต่าง ๆ มักจะประกอบด้วยสาระสำคัญหลายส่วนด้วยกัน เช่น แผนการดำเนินการป้องกัน แผนการบริหารจัดการขณะเกิดภัยพิบัติ แผนการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ รวมทั้งบรรดาเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จะต้องมีเพื่อให้แผนทั้ง 3 บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ของแผน เพื่อเตรียมที่จะรับมือกับสถานการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติหรือสงครามที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ก็ตาม แผนดังกล่าวจึงเป็น “เครื่องมือ” ที่ฝ่ายปกครองต้องจัดทำเพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ถูกต้องและเพื่อให้เกิดการดำเนินการที่จะสามารถนำไปสู่การออกจากสถานการณ์วิกฤติได้โดยเร็ว
                 ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบนโลกนี้มีอยู่หลายประเภท มีทั้งภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติซึ่งมีอยู่หลายแบบ เช่น มรสุม พายุ แผ่นดินไหว และภัยพิบัติที่เกิดจากมนุษย์ซึ่งก็มีอยู่มาก เช่น สงคราม การทดลองทางวิทยาศาสตร์ หรือการทดลองอาวุธสงคราม เป็นต้น ภัยพิบัติส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นสถานการณ์ชั่วคราวที่เกิดขึ้นอย่างผิดปกติและมีความร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อประชาชน ประเทศชาติ เศรษฐกิจ หรือสิ่งแวดล้อม  ดังนั้น จึงต้องมีการวางการดำเนินการในการแก้ไขผลของการเกิดภัยพิบัติเพื่อนำพาประเทศชาติกลับคืนสู่สถานะเดิมคือ การใช้ชีวิตอย่างปกติสุขของประชาชนในสังคม  เนื่องจากการแก้ไขภัยพิบัติเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญต่อ “ความเป็นความตาย” ของผู้คนจำนวนมากและของอนาคตของประเทศ จึงต้องใช้คนที่มีความรู้ความสามารถจากหลาย ๆ สาขาให้มาร่วมมือกันวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ จัดลำดับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขที่ดีและเหมาะสมต่อไป
                 การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติต่าง ๆ นั้นแม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ เท่าที่อ่านพบจากบทความของต่างประเทศ เข้าใจว่า การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติขึ้นอยู่กับปัจจัยสองประการ คือ การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบกับการสื่อสารที่ชัดเจน
                 ในส่วนของการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบนั้นประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ การป้องกัน การรับมือ และการฟื้นฟู โดยในส่วนของการป้องกัน ได้แก่ การดำเนินการทั้งหลายทั้งปวงก่อนที่ภัยพิบัติจะเกิดขึ้น ซึ่งก็มีอยู่หลายสิ่งหลายอย่างที่ฝ่ายปกครองสามารถทำได้ เช่น การประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า การวางแนวทางในการปฏิบัติการ การติดตามสถานการณ์ การวางมาตรการในการรองรับ การวิเคราะห์เพื่อหาทางป้องกัน การคาดการณ์เกี่ยวกับอันตรายและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ในการดำเนินการต่าง ๆ ที่ว่านี้ ฝ่ายปกครองอาจต้องมีการออกกฎหรือคำสั่งมาล่วงหน้าเพื่อรองรับการดำเนินการของตนที่จะมีขึ้นในเวลาต่อมาก็ได้ สำหรับในส่วนของการรับมือนั้น เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองที่จะต้องเป็นผู้เข้าไปรับผิดชอบและดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้เหตุการณ์กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว เท่าที่เห็นในหลายประเทศก็จะพบว่า ส่วนใหญ่แล้ว มักจะมีการให้อำนาจกับคนคนเดียวคือ ผู้นำประเทศ หรือคณะบุคคลเพียงคณะเดียวที่จะเข้าไปสั่งการหรือตัดสินใจได้ นั่นก็คือสิ่งที่เราเรียกกันว่าการบูรณาการนั่นเอง การบูรณาการมีที่มาจากการที่โดยสภาพของการเกิดขึ้นของภัยพิบัตินั้นมักจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำงานของหลายกระทรวงและหลายหน่วยงาน การปล่อยให้แต่ละกระทรวงหรือแต่ละหน่วยงานดำเนินการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่ของตัวเองอาจทำให้เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างคล่องตัวเพราะแต่ละกระทรวงหรือแต่ละหน่วยงานต่างก็มีทั้งคน ทั้งเงิน และทั้งภาระหน้าที่ของตัวเอง รวมทั้งยังมีผู้บังคับบัญชาของตนเองอีกด้วย การแก้ปัญหาจึงไม่สามารถทำได้โดยง่าย  ในทางกลับกัน หากเราสามารถบูรณาการอำนาจในการวินิจฉัย อำนาจในการสั่งการและอำนาจในการดำเนินการทั้งหมดไว้ที่ “ศูนย์กลาง” แต่เพียงแห่งเดียวได้ เราก็จะสามารถทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้อย่างดี รวดเร็วและตรงจุด ส่วนการฟื้นฟูนั้น ก็อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศก็มักจะใช้วิธีการที่คล้ายกัน คือ ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบด้วยการให้กู้ยืมเงินระยะยาว การพักหนี้รายย่อยให้แก่โรงงานหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ หรือไม่ก็เพิ่มประเภทของการลดหย่อนภาษีให้มากขึ้น เป็นต้น
       สำหรับการสื่อสารที่ชัดเจนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับการบริหารจัดการภัยพิบัติต่าง ๆ การสื่อสารดังกล่าวประกอบด้วยสองส่วนสำคัญ คือ การสื่อสารภายในกับการสื่อสารภายนอก การสื่อสารภายใน ได้แก่ การที่ฝ่ายปกครองจะต้องบูรณาการเครือข่ายของการสื่อสารภายในของฝ่ายปกครองเองให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและก็สามารถติดต่อไปยังบริเวณที่เกิดภัยพิบัติได้อย่างง่ายดายด้วยเครือข่ายของการสื่อสารซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับพื้นที่และผู้มีอำนาจในการตัดสินใจได้ตลอดเวลา ส่วนการสื่อสารภายนอกก็คือ การให้ข้อมูลต่อประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นแต่เนิ่น ๆ ข้อมูลทั้งหมดที่จะให้ต่อประชาชนจะต้องเป็นข้อมูลจริง เพราะถ้าหากฝ่ายปกครองให้ข้อมูลเท็จต่อประชาชน ไม่ว่าจะด้วยความปรารถนาดีหรือไม่อยากสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน ผลร้ายก็จะย้อนกลับไปที่ผู้ให้ข้อมูลเพราะโดยสภาพแล้ว ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติยังไงเสียก็ยังคงเป็น “ความผิด” ของธรรมชาติ แต่ถ้าหากเมื่อใดก็ตามที่ฝ่ายปกครอง “บิดเบือน” หรือ “เปลี่ยนแปลง” ข้อมูลเพื่อประโยชน์ของฝ่ายปกครองเองหรือเพื่อความสบายใจของประชาชน หากเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น ความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดของผู้ให้ข้อมูลแทนที่จะเป็นความผิดของธรรมชาติ
       การบริหารจัดการภัยพิบัติระดับชาติจึงขึ้นอยู่กับการบูรณาการเป็นสำคัญ การบูรณาการเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับการบริหารจัดการภัยพิบัติระดับชาติ องค์ประกอบที่สำคัญของการบูรณาการที่ดีจะต้องมี “ผู้นำ” ที่มีภาวะผู้นำจริง ๆ สามารถสั่งการได้จริง ๆ และทุกคนที่มีส่วนร่วมก็ต้อง “เชื่อ” และ “เดินตาม” ผู้นำ การบูรณาการอำนาจในการบริหารจัดการภัยพิบัติระดับชาติต้องเริ่มต้นด้วยการทำยุทธศาสตร์ที่ต้องมีเป้าหมายและมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน การดำเนินการในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและลดขั้นตอนของการดำเนินการปกติลงไป  นอกจากนี้แล้ว การบูรณาการที่ดีย่อมต้องมีการปรับโครงสร้างในการทำงานใหม่ให้เป็นระบบ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการรับผิดชอบทั้งหมดจะต้องอยู่ร่วมกัน ทำการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ จัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการต่าง ๆ ร่วมกัน วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมร่วมกัน มีระบบการสื่อสารที่ดี วินิจฉัยโดยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติจึงขึ้นอยู่กับการดำเนินการเหล่านี้ ทั้งหมดจะต้องตัดสินใจร่วมกันภายใต้การสั่งการของ “ผู้นำ” ที่มีภาวะผู้นำ
       มีเสียงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อบูรณาการการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ แต่ก็มีหลายๆ คนออกมาให้ความเห็นว่า ไม่สมควรนำกฎหมายดังกล่าวมาใช้ โดยมีเหตุผลหลายเหตุผลด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อตอนสายของวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีก็ได้ตัดสินใจ ออกคำสั่งเตือนภัยพิบัติร้ายแรงตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เพื่อให้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นเอกภาพซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะ “ช้าเกินไป” หรือไม่ และนอกจากนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นกฎหมายที่มีลักษณะ “พิเศษ” ที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเด็ดขาดเพราะการใช้กฎหมายดังกล่าวยังต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายอื่น ๆ และกลไกของระบบราชการปกติ  ดังนั้น กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยคงนำมาใช้แก้วิกฤตครั้งนี้ไม่ได้มากนัก ด้วยเหตุนี้เองที่เมื่อทุกอย่างกลับเข้าสู่สภาวะปกติ รัฐบาลควรต้องศึกษาดูว่า สมควรมีกฎหมาย “พิเศษ” ที่ให้อำนาจฝ่ายปกครองอย่างเด็ดขาดเพื่อใช้ในการบริหารจัดการภัยพิบัติระดับชาติหรือไม่ และนอกเหนือไปจากการ “ฟื้นฟู” ความเสียหายในทุก ๆ ด้าน รัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาระยะยาวด้วยการทำการ “ศึกษา” ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมเพราะมีเสียงพูดกันมากว่าเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการน้ำด้วยการกักเก็บและปล่อยน้ำผ่านเขื่อนต่าง ๆ ไม่สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝนที่มีอยู่มากในช่วงเวลาที่ผ่านมา การตัดไม้ทำลายป่า การปลูกพืชบนไหล่เขาที่เป็นพืชประเภทที่ไม่สามารถทำให้การไหลของน้ำอ่อนตัวลงได้ การสร้างเขื่อนที่เป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำ การก่อสร้างอาคารสถานที่ ต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายจนทำให้เกิดการอุดตันของทางระบายน้ำ รวมทั้งการปล่อยให้ก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ลุ่มต่ำที่เคยเป็นท้องนามาก่อน เป็นต้น
       ท้ายที่สุด ถึงเวลาที่จะต้องทบทวนการจัดระเบียบการใช้ที่ดินและผังเมืองรวมใหม่ได้แล้วครับ !!!
       น้ำท่วมหนนี้ได้เห็นอะไรแปลกๆ หลายอย่างที่ไม่ทราบว่าจะไปถามกับใครดี ?  สิ่งแรกที่ว่าแปลกก็คือ ทำไมกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ประชาชนมาตั้งแต่เริ่มตั้งกระทรวงเมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมาถึงไม่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศในครั้งนี้เลยก็ไม่ทราบ กลับกลายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมาเป็นผู้นำทัพในการแก้ไขปัญหา สิ่งที่แปลกต่อมาก็คือ มีคนกรุงเทพฯ จำนวนพอสมควรที่เห็นแก่ตัว มีเงินซื้อรถแต่ไม่อยากเสียค่าจอดรถและไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ต่างก็นำรถของตนหนีน้ำไปจอดในทางสาธารณะบางแห่ง เช่น บนสะพาน หรือบนทางด่วน โดยไม่ได้คำนึงถึงผู้อื่นเลยนอกจากจะคิดถึงแต่ “ประโยชน์” ของตัวเองเท่านั้น สร้างความลำบากให้กับผู้ใช้เส้นทางเป็นอย่างมาก ส่วนสิ่งที่แปลกอีกประการหนึ่งก็คือ ความเข้าใจในสถานะของกรุงเทพมหานครที่ผมสงสัยว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเข้าใจว่ากรุงเทพมหานครอยู่ในสถานะที่เป็น “ประเทศ” ประเทศหนึ่งที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยดังเช่นนครวาติกันซึ่งอยู่ในประเทศอิตาลี หรือเข้าใจว่ากรุงเทพมหานครอยู่ในสถานะที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของประเทศไทยกันแน่ก็ไม่ทราบ เพราะจากการที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ออกมาให้สัมภาษณ์โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า “...กทม. เปิดประตูระบายน้ำมาโดยตลอด แต่อาจเปิดได้ไม่เต็มที่ เพราะผมทำหน้าที่รับผิดชอบต่อชาวกทม. ไม่ใช่รับผิดชอบต่อคนทั้งชาติ...” นั้น สร้างความแปลกใจให้กับผมเป็นอย่างมากกับสิ่งที่ออกมาจากปากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฟังดูแล้วไม่เข้าใจว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำลังคิดอะไรอยู่ถึงได้กล่าวออกมาเช่นนั้น ไม่ทราบว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทราบหรือไม่ว่า กรุงเทพฯ เป็นทางผ่านของน้ำโดยธรรมชาติ การไม่ยอมปล่อยให้น้ำผ่านออกไปทะเลอย่างรวดเร็วเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมรอบนอกกรุงเทพฯ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเกือบทั้งประเทศเพื่อให้คนกรุงเทพฯ อยู่ได้อย่างปกติ ไม่ทราบว่าคิดแบบนี้ได้อย่างไรครับ น่าเสียดายจริงๆ !! อยากจะยุให้ “คนอื่น” ที่ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ และได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมลองฟ้องเรียกค่าเสียหายดูครับ !!! ส่วนเรื่องแปลกเรื่องสุดท้ายที่ไม่ทราบจะไปถามใครคือ NGO หายไปไหนกันหมดครับ !!!
       ใครที่ยังไม่ได้แสดงความประสงค์ขอรับหนังสือ "รวมบทความกฎหมายมหาชนจาก www.pub-law.net เล่ม 10"  ก็ต้องรีบ ๆ กันหน่อยนะครับ โดยโปรดดูรายละเอียดในการขอหนังสือได้ที่นี่ครับ
                 สัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกคือบทความเรื่อง “ต้องวิพากษ์ ปรีดี  พนมยงค์ ได้” โดย คุณชำนาญ  จันทร์เรือง บทความที่สองคือบทความเรื่อง “รัฐธรรมนูญอุดมคติหรือขยะทางความคิด” ที่เขียนโดย คุณภาคภูมิ  อนุศาสตร์ และบทความสุดท้ายคือบทความเรื่อง “น้ำขึ้นให้รีบตัก: พลิก “วิกฤติน้ำปากไหลหลาก” สู่ “โอกาสทางประชาธิปไตย” ที่เขียนโดย คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
        
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2554
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1649
เวลา 26 เมษายน 2567 03:06 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)