การดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร

20 พฤศจิกายน 2554 17:39 น.

       1.     คำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก   
        
       ตามที่กัมพูชาได้ยื่นขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ซึ่งต่อไปเรียกว่า “ศาลโลก”)  ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกได้ตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2505  และพร้อมกันนี้กัมพูชาได้ยื่นคำร้องเร่งด่วนขอให้ศาลโลกกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2554  ต่อมาในวันที่ 18 ก.ค. 2554  ศาลโลกได้มีคำสั่งต่อคำร้องขอของกัมพูชาให้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวดังนี้ 
       (A) โดยเอกฉันท์  ยกคำขอของประเทศไทยที่ให้จำหน่ายคดีที่กัมพูชายื่นให้พิจารณาเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2554  ออกจากสารบบความของศาล
       (B)  กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวดังนี้
              (1)      โดยคะแนนเสียง 11 ต่อ 5  ทั้งสองฝ่ายต้องถอนกำลังทหารซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตปลอดทหารชั่วคราว (Provisional Demilitarized Zone: PDZ) ตามที่กำหนดในย่อหน้าที่ 62 ของคำสั่งนี้ในทันที  และงดเว้นจากการวางกำลังทหารภายในเขตนั้น  และจากกิจกรรมทางอาวุธใดๆ ที่มุ่งหมายไปที่เขตนั้น
                               (2)      โดยคะแนนเสียง 15 ต่อ 1  ประเทศไทยจะต้องไม่ขัดขวางการเข้าถึงอย่างอิสระ (free access) ของกัมพูชาไปยังปราสาทพระวิหาร  หรือการจัดส่งเสบียงของกัมพูชาให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ทหารของตนในปราสาทพระวิหาร  
                               (3)      โดยคะแนนเสียง 15 ต่อ 1  ทั้งสองฝ่ายต้องดำเนินความร่วมมือกันต่อไปตามที่ทั้งสองฝ่ายได้เข้าร่วมในกรอบอาเซียน  และโดยเฉพาะต้องอนุญาตให้คณะผู้สังเกตการณ์ที่แต่งตั้งโดยอาเซียนเข้าไปยังเขตปลอดทหารชั่วคราวดังกล่าวได้  
                               (4)      โดยคะแนนเสียง 15 ต่อ 1  ทั้งสองฝ่ายต้องงดเว้นจากการกระทำใดๆ ที่อาจทำให้ข้อพิพาทที่ปรากฏต่อศาลเลวร้ายลงหรือเกิดมากขึ้น  หรือทำให้มันยากยิ่งขึ้นที่จะแก้ไข 
                       (C) โดยคะแนนเสียง 15 ต่อ 1  ตัดสินว่าแต่ละฝ่ายต้องแจ้งต่อศาลถึงการปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวข้างต้น  
                       (D) โดยคะแนนเสียง 15 ต่อ 1  ตัดสินว่าจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาต่อคำร้องขอสำหรับการตีความ  ศาลยังคงอำนาจต่อไปในการพิจารณาเรื่องราวสาระที่ก่อให้เกิดคำสั่งครั้งนี้
        
                       2.     ท่าทีและการดำเนินการของรัฐบาลไทยต่อคำสั่งศาลโลก   
        
                       ในวันที่ 18 ก.ค. 2554    ภายหลังศาลโลกได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว  นายกษิต  ภิรมย์ รมต.กระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น  ได้แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า  ฝ่ายไทยเคารพคำสั่งของศาลและจะปฏิบัติตาม  ทั้งนี้  ไทยมีความพอใจต่อคำสั่งดังกล่าวเพราะมีผลให้ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตาม  ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายไทยฝ่ายเดียว  และไทยกับกัมพูชาคงต้องมีการหารือกันภายในกรอบของคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (GBC)
                       ต่อมาในวันที่ 25 ก.ค. 2554  ได้มีการประชุมหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการดำเนินการของไทยกรณีศาลโลกออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว นายกษิต  ภิรมย์  ได้แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า  ข้อสรุปจากที่ประชุมจะได้นำเรียนต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาส่งมอบให้รัฐบาลชุดใหม่ต่อไป  โดยแนวทางการปรับกำลังทหารนั้น  ทั้งสองฝ่ายต่างมีกำลังในเขตปลอดทหารชั่วคราว (PDZ)  ที่ศาลโลกได้กำหนด  จึงจำเป็นต้องหารือกันว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร  รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าไปใน PDZ ของพลเรือนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ  อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องพิจารณาต่อไป         
                       รัฐบาลชุดใหม่ที่มี น.ส. ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี  ได้เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2554  และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่  16 ส.ค. 2554  ให้กระทรวงการต่างประเทศไปพิจารณารายละเอียดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับกรณีการที่กัมพูชาขอให้ตีความคำพิพากษาของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหารและคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว  ให้รอบคอบและรอบด้านก่อนนำเสนอ ครม.ต่อไป
                       ต่อมากระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมหารือในเรื่องดังกล่าวและได้เสนอให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พิจารณาโดยได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่  12 ต.ค. 2554  จากนั้นในวันที่  18 ต.ค. 2554  ครม. ได้มีมติให้ความเห็นชอบตามที่ สมช. เสนอ  ให้มีการปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก  พร้อมทั้งแนวทางในการดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว  รวมทั้งให้ความเห็นชอบท่าทีของไทยในการประสานกับกัมพูชาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลกต่อไป  
                       ในวันเดียวกันนั้น  นายสุรพงษ์  โตวิจักษณ์ชัยกุล  รมต. กระทรวงการต่างประเทศ  ได้เสนอวาระจรเพื่อขอให้ครม. ให้ความเห็นกรณีผู้บังคับบัญชาการทหารสูงสุดและปลัดกระทรวงการต่างประเทศจะเดินทางไปหารือกับทางการกัมพูชาเพื่อหารือถึงกรอบการเจรจา GBC ในการดำเนินการตามคำสั่งศาลโลก ผู้สื่อข่าวได้รายงานว่า  ครม. ได้มีความเห็นแบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายในเรื่องนี้
                       ฝ่ายแรกเป็นส่วนของนายสุรพงษ์  โตวิจักษณ์ชัยกุล  โดยมีความเห็นว่า ครม. ควรมีมติที่ชัดเจนในท่าทีที่มีต่อกรอบการเจรจา  หรือดำเนินการนำเข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 190  ฝ่ายที่สองเป็นส่วนของนายวรวัจน์  เอื้ออภิญญกุล  รมต. กระทรวงศึกษาธิการ  นายปลอดประสพ  สุรัสวดี  รมต. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และนายต่อพงษ์  ไชยสาส์น  รมช. กระทรวงสาธารณสุข  โดยไม่เห็นด้วยกับการให้ ครม. มีมติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ  แต่สนับสนุนให้นำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา   และฝ่ายที่สามเป็นส่วนของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  และนายเฉลิม  อยู่บำรุง  รองนายกรัฐมนตรี  โดยมีความเห็นว่า ครม. ไม่ควรมีมติในเรื่องนี้  และไม่จำเป็นต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 190  เนื่องจากเป็นเพียงการไปหารือเพื่อวางกรอบเจรจาเท่านั้น  ไม่ได้เป็นการทำสนธิสัญญา
                       ผู้สื่อข่าวได้รายงานอีกว่า  ระหว่างที่ ครม. ทั้ง 3 ฝ่ายกำลังถกเถียงกันในเรื่องดังกล่าว  พล.อ.ยุทธศักดิ์  ศศิประภา  รมต. กระทรวงกลาโหม  ได้กล่าวว่า  เกี่ยวกับเรื่องนี้  ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ให้ความเห็นว่า  หากไม่มีมติ ครม.  ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา  ก็จะไม่เดินทางเดินทางเจรจากับกัมพูชา  จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  จึงได้สอบถามความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา  ซึ่งได้รับคำตอบว่า  นายกรัฐมนตรีมีสิทธินำเรื่องเข้าหารือกับรัฐสภาเพื่อรับฟังความคิดเห็นโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 179  แต่กรณีการหารือกรอบเจรจา GBC นั้นไม่เข้าข่ายที่จะต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา  ในที่สุด  น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  จึงได้ตัดสินใจว่า  เรื่องนี้ไม่ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา  และไม่จำเป็นต้องมีมติ ครม. เพื่อแสดงท่าทีและวางกรอบในการไปเจรจาครั้งนี้  และขอให้ผู้ที่จะไปเจรจาเดินทางไปเจรจาอย่างสบายใจ  หากใครไม่ยอมไปเจรจาก็ให้ รมต. กระทรวงต้นสังกัดมาหารืออีกครั้งหนึ่ง
                       ในวันที่ 21 ต.ค. 2554  นายธานี  ทองภักดี  ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า  โดยที่การปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลกเป็นเรื่องการใช้อำนาจบริหารของรัฐบาลในการประสานกับฝ่ายกัมพูชาเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก  มิใช่เป็นเรื่องการจัดทำหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 190  จึงไม่ต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ  อย่างไรก็ดีการปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกเป็นเรื่องสำคัญซึ่งรัฐบาลจะต้องพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบ  และรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติควรได้รับทราบและให้ความเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจในการดำเนินการของรัฐบาล  ดังนั้นส่วนราชการต่างๆ  รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศจึงเสนอให้รัฐบาลเสนอเรื่องเข้าสู่รัฐสภาเพื่อเปิดโอกาสให้รัฐสภารับทราบและแสดงความคิดเห็นโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 179
                       ในวันที่ 3 พ.ย. 2554  นายสุรพงษ์  โตวิจักษณ์ชัยกุล  รมต. กระทรวงการต่างประเทศ  ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า  น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี  ได้ลงนามในหนังสือส่งให้ประธานรัฐสภาเพื่อขอให้เปิดการประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามที่ ครม. ได้ให้เปิดการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 179  ต่อกรณีการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก  ซึ่งศาลโลกได้กำหนดให้ไทยและกัมพูชาส่งรายงานการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในวันที่ 21 พ.ย. 2554  โดยที่ทางทหารในฐานะผู้ปฏิบัติมีความกังวลว่า  การถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทอาจทำให้มีการกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุให้ประเทศเสียอธิปไตย  และนำไปสู่การยื่นฟ้องดำเนินคดีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้  ที่ประชุม สมช. จึงมีความเห็นมายังรัฐบาลขอให้เปิดการประชุมร่วมกันของรัฐสภาดังกล่าวเพื่อป้องกันการฟ้องร้องที่จะมีขึ้นได้ในอนาคต  โดยประธานรัฐสภาได้กำหนดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาสำหรับเรื่องดังกล่าวในวันที่ 15 พ.ย. 2554
        
                       3.     ผลกระทบที่สำคัญจากการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก
        
                       ผลกระทบที่สำคัญจากการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก  สรุปได้ดังนี้
        
                       3.1  ในการปฏิบัติตามคำสั่งศาลข้อ (1)  ไทยต้องถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของไทยซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่พิพาทแต่อย่างใด  คำสั่งศาลดังกล่าวเป็นการล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของไทย        
                       เขตปลอดทหารชั่วคราว (PDZ)  ที่ศาลกำหนดมีพื้นที่ประมาณ17.8 ตร.กม.  แต่พื้นที่พิพาทที่ทั้งสองฝ่ายอ้างสิทธิทับซ้อนกันมีพื้นที่เพียงประมาณ 4.6 ตร.กม.  และพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของไทยซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่พิพาทแต่อย่างใดภายใน PDZ มีพื้นที่ประมาณ 20% ของพื้นที่ PDZ ทั้งหมด  หรือประมาณ 3.5 ตร.กม.  
                       สำหรับคำสั่งศาลในข้อนี้   มีผู้พิพากษาถึง 5 คนซึ่งมีประธานศาลโลกรวมอยู่ด้วยที่มีความเห็นแย้ง  โดยเหตุผลหลักที่ผู้พิพากษาทั้งห้าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลในข้อนี้พอสรุปได้ดังนี้  ประการที่หนึ่ง  ศาลไม่มีอำนาจไปกำหนดเขตปลอดทหารดังกล่าวให้ล้ำเข้าไปในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่พิพาทแต่อย่างใด  อันเป็นการล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของรัฐนั้นๆ โดยปราศจากความยินยอมของรัฐดังกล่าว  หากจะมีการกำหนดเขตปลอดทหารก็ควรจำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ที่มีข้อพิพาทกันเท่านั้น  ประการที่สอง  ศาลกำหนดเขตปลอดทหารดังกล่าวเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่ตำแหน่งของมุมทั้งสี่มีการกำหนดพิกัดที่แน่นอน  โดยปราศจากการอธิบายให้เหตุผลว่าทำไมจึงต้องเป็นพิกัดดังกล่าว  อีกทั้งยังเป็นการกำหนดในลักษณะที่ประดิษฐ์ขึ้น (artificial manner)  โดยไม่ได้คำนึงถึงภูมิประเทศจริง รวมถึงความเป็นไปได้และความยากลำบากในการดำเนินการหรือการบังคับให้เป็นไปตามมาตรการดังกล่าวของแต่ละฝ่าย
                       สำหรับการถอนกำลังทหารของไทยออกจาก PDZ นั้น  รัฐบาลทั้งชุดปัจจุบันและชุดที่แล้วได้อ้างว่าไม่ได้ทำให้ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตยหรือเปลี่ยนแปลงอาณาเขตแต่อย่างใดเนื่องจากเป็นเพียงมาตรการคุ้มครองชั่วคราว  แต่เป็นที่ชัดเจนว่าคำสั่งศาลดังกล่าวเป็นการล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของไทย  และมีประชาชนจำนวนมากรวมทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่เห็นด้วยกับการถอนกำลังทหารดังกล่าว  ดังนั้นหากมีการดำเนินการถอนทหารดังกล่าวคงจะมีประชาชนจำนวนมากในหลายจังหวัดออกมาประท้วงในเรื่องนี้  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมอย่างกว้างขวาง  อีกทั้งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกับกัมพูชาว่าการถอนกำลังทหารของทั้งสองฝ่ายออกจาก PDZ มีขั้นตอนและรายละเอียดการถอนกำลังทหารรวมทั้งการตรวจสอบระหว่างกันอย่างไรเพื่อให้เกิดความชัดเจนและรอบคอบ 
                               นอกจากนี้สำหรับ PDZ ที่ศาลกำหนดนั้น  ศาลระบุอย่างชัดเจนในย่อหน้าที่ 61 ของคำสั่งศาลว่า ย่อมไม่กระทบต่อการดำเนินการทางปกครองตามปกติ  ซึ่งรวมถึงการให้เจ้าหน้าที่ที่มิใช่ทหารเข้าไปประจำการในส่วนที่จำเป็นต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและทรัพย์สิน  ดังนั้นฝ่ายไทยควรต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำการในเขตดังกล่าวเพื่อดำเนินการต่างๆ ทางปกครอง  และคอยสอดส่องดูความเคลื่อนไหวของฝ่ายกัมพูชาด้วย  ทั้งนี้มีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เกิดความชัดเจนและยืนยันตรวจสอบกันได้ในประเด็นนี้ด้วยว่า  เจ้าหน้าที่ที่มิใช่ทหารนั้นหมายรวมถึงเจ้าหน้าที่ในลักษณะใดบ้าง  มีพื้นที่ประจำการที่ใดได้  และอนุญาตให้มีอาวุธแบบใดได้บ้างในการใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตดังกล่าว 
        
                       3.2  ในการปฏิบัติตามคำสั่งศาลข้อ (1)  ไทยต้องยอมให้ตลาด วัด และชุมชนของกัมพูชาที่อยู่ในพื้นที่พิพาทบริเวณเขาพระวิหารอยู่ต่อไป 
                       เนื่องจากคำสั่งศาลดังกล่าวไม่ได้ให้ชุมชนที่อาศัยอยู่ใน PDZ  ต้องออกไปด้วย  ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีเฉพาะชุมชนกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียว  ยิ่งไปกว่านั้นเกือบทั้งหมดเป็นครอบครัวของทหารกัมพูชา  อีกทั้งเป็นการยากที่จะแยกแยะว่าบุคคลใดเป็นทหารหรือไม่หากอยู่ในชุดพลเรือน  และยากที่ไทยจะป้องกันไม่ให้มีชาวกัมพูชาเข้ามาอาศัยเพิ่มขึ้นอีก  หรือมีการก่อสร้างอะไรเพิ่มเติม  อันเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของไทยในพื้นที่พิพาทดังกล่าว  เพื่อให้มีหลักประกันที่จะป้องกันปัญหาดังกล่าว  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เกิดความชัดเจนและยืนยันตรวจสอบกันได้ในเรื่องดังกล่าวด้วย
                       นอกจากนี้การที่ต้องยอมให้ตลาด วัด และชุมชนของกัมพูชาที่อยู่ในพื้นที่พิพาทบริเวณเขาพระวิหารอยู่ต่อไป  รวมทั้งการให้เจ้าหน้าที่ของกัมพูชาที่มิใช่ทหารเข้าไปประจำการในส่วนที่จำเป็นต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและทรัพย์สินของกัมพูชาในพื้นที่พิพาทดังกล่าวนั้น  เป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ  พ.ศ. 2504  ที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาตามมาในปี พ.ศ. 2541 กำหนดให้ป่าเขาพระวิหารเป็นอุทยานแห่งชาติ  ซึ่งพื้นที่  PDZ  อยู่ภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติดังกล่าว 
                       ทั้งนี้ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว  ห้ามมิให้ผู้ใดยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า  เก็บหา  นำออกไป  ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้  แร่หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น  ปิดหรือทำให้กีดขวางแก่ทางน้ำหรือทางบก  เป็นต้น  ดังนั้นการปล่อยให้ชุมชนและเจ้าหน้าที่กัมพูชากระทำการดังกล่าวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ  จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  รัฐบาลจึงต้องพิจารณาดำเนินการแก้ไขประเด็นข้อกฎหมายในเรื่องนี้ดังกล่าวนี้ด้วย 
        
                       3.3  ในการปฏิบัติตามคำสั่งศาลข้อ (2)  ไทยต้องยอมไม่ขัดขวางการเข้าถึงอย่างอิสระของกัมพูชาไปยังปราสาทพระวิหาร  หรือการจัดส่งเสบียงของกัมพูชาให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ทหารของตนในปราสาทพระวิหาร ซึ่งกัมพูชาอาจใช้เส้นทางเข้าถึงไปยังปราสาทพระวิหารที่เป็นการรุกล้ำอธิปไตยของไทยในพื้นที่พิพาทได้  
                       เนื่องจากปัจจุบันมีทางเข้าถึงปราสาทพระวิหารได้ถึง 3 ทาง คือ ทางบันไดทางขึ้นใหญ่ทางทิศเหนือ  ทางบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออกตรงช่องบันไดหัก  และทางถนนทางทิศตะวันตกจากบ้านโกมุยในฝั่งกัมพูชาที่กัมพูชาได้สร้างรุกล้ำผ่านพื้นที่พิพาท 4.6 กม. ขึ้นไปยังปราสาทพระวิหาร
                               สำหรับบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออกซึ่งมีความสูงชันมากนั้น  เดิมเป็นบันไดหินขนาดเล็กและมีหลายส่วนที่ชำรุดเสียหาย  แต่ปัจจุบันกัมพูชาได้สร้างบันไดไม้คร่อมบนบันไดหินดังกล่าว  เพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้เป็นเส้นทางเดินขึ้นไปเยี่ยมชมปราสาทพระวิหาร  สำหรับบันไดทางขึ้นใหญ่ทางทิศเหนือและถนนทางทิศตะวันตกจากบ้านโกมุย  หากกัมพูชาจะใช้ผ่านขึ้นไปยังปราสาทพระวิหารจะต้องผ่านพื้นที่พิพาท 4.6 กม.  ดังนั้นไทยจึงไม่ควรให้กัมพูชาผ่านไปยังปราสาทพระวิหารโดยใช้สองเส้นทางนี้ 
                               ไทยควรต้องเจรจาตกลงกับกัมพูชาให้กัมพูชาใช้เฉพาะบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออกดังกล่าวเพื่อขึ้นไปถึงยังปราสาทพระวิหารเท่านั้น  ส่วนทางขึ้นอื่นควรใช้ได้เฉพาะเมื่อมีเหตุผลจำเป็นอันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ทั้งนี้ตามเงื่อนไขที่ทั้งไทยและกัมพูชาจะได้ตกลงกัน  แต่ทางที่ดีที่สุดควรให้กัมพูชาใช้ทางขึ้นเฉพาะทางบันไดทางทิศตะวันออกดังกล่าวเท่านั้น  ทั้งนี้ข้อสรุปจากการเจรจาดังกล่าวจำเป็นต้องทำเป็นข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เกิดความชัดเจนและยืนยันตรวจสอบกันได้   
                     
                       3.4  ในการปฏิบัติตามคำสั่งศาลข้อ (3)  ไทยต้องอนุญาตให้คณะผู้สังเกตการณ์ที่แต่งตั้งโดยอาเซียนเข้าไปยังเขตปลอดทหารชั่วคราวดังกล่าวได้
                       ทั้งนี้คำสั่งนี้ศาลไม่ได้กำหนดว่า  คณะผู้สังเกตการณ์จะต้องเข้าไปในเขตปลอดทหารชั่วคราวในทันทีหรือก่อนที่จะมีการถอนกำลังทหารออกจาก PDZ   แต่ปรากฏว่า นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กลับออกมาแถลงยืนยันว่า ทหารกัมพูชาจะถอนออกจากเขตดังกล่าวก็ต่อเมื่อคณะผู้สังเกตการณ์ได้เข้าไปในเขตดังกล่าวก่อน  การกระทำดังกล่าวของนายฮุน เซน จึงเป็นการไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับคำสั่งศาล  เพราะศาลสั่งตามข้อ (1) ให้ถอนกำลังทหารทั้งสองฝ่ายออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราวในทันที  แต่ไม่ได้สั่งตามข้อ (3) ว่าคณะผู้สังเกตการณ์ต้องเข้าไปยังเขตดังกล่าวในทันทีหรือก่อนที่จะมีการถอนกำลังทหารของทั้งสองฝ่าย
                       อย่างไรก็ตามก่อนที่ศาลโลกจะมีคำสั่งดังกล่าว  ในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2554  ไทยและกัมพูชาได้ให้คำมั่นต่อกันและต่ออาเซียนที่จะไม่ให้เกิดการปะทะกันอีก  และเพื่อให้ความมั่นใจต่อกัน ต่ออาเซียน และต่อประชาคมโลก  ทั้งสองประเทศได้เชิญรัฐบาลอินโดนีเซียให้ส่งคณะผู้สังเกตการณ์ไปในพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา  ฝั่งละ 15 คน  โดยอินโดนีเซียจะได้มีหนังสือถึงไทยและกัมพูชาเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย (TOR) 
                       แต่หลังจากนั้นไทยและกัมพูชาก็ยังไม่สามารถตกลงเงื่อนไขการส่งคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียไปในพื้นที่ดังกล่าวได้  เนื่องจากไทยยืนยันว่าคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียจะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้ก็ต่อเมื่อกองกำลังกัมพูชาต้องถอนออกจากปราสาทพระวิหาร วัดแก้วสิกขาคีรีสะวารา  ชุมชน และตลาดก่อน  ทั้งนี้หากคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้าไปโดยที่ยังมีกองกำลังกัมพูชาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเท่ากับเป็นการยอมรับการกระทำดังกล่าวของกัมพูชา  อีกทั้งยังเป็นการยอมรับการสูญเสียอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนไทย  แต่กัมพูชาปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามที่ไทยยืนยัน  ดังนั้นคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียจึงยังไม่สามารถเขาปฏิบัติหน้าที่ได้ 
                       แต่เมื่อศาลโลกมีคำสั่งตามข้อ (1) ให้ทั้งสองฝ่ายถอนฝ่ายถอนกำลังทหารออกจาก PDZ  การส่งคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้าไปปฏิบัติหน้าที่จึงไม่น่าจะมีปัญหาอีกต่อไป  ยกเว้นในกรณีที่นายฮุน เซน ยังคงยืนยันว่า ทหารกัมพูชาจะถอนออกจากเขตดังกล่าวก็ต่อเมื่อคณะผู้สังเกตการณ์ได้เข้าไปในเขตดังกล่าวก่อน    อย่างไรก็ตามคงต้องรอให้มีการตกลงในรายละเอียดและการลงนามรับรอง TOR ดังกล่าวเสร็จสิ้นสมบูรณ์ก่อน     
        
                       3.5  ในการปฏิบัติตามคำสั่งศาลข้อ (4)  กัมพูชาอาจอ้างว่าการคัดค้านแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกโดยฝ่ายไทยนั้น  เป็นการกระทำให้ข้อพิพาทเลวร้ายลงหรือเกิดมากขึ้น 
                       เนื่องจากคำสั่งศาลข้อนี้ให้ไทยต้องงดเว้นจากการกระทำใดๆ ที่อาจทำให้ข้อพิพาทที่ปรากฏต่อศาลเลวร้ายลงหรือเกิดมากขึ้น  หรือทำให้มันยากยิ่งขึ้นที่จะแก้ไข  ดังนั้นหากไทยยังคงดำเนินการคัดค้านแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารของกัมพูชาต่อไป  ไทยจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับประเทศต่างๆ ว่า  การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ที่จะปกป้องอธิปไตยของไทยเนื่องจากแผนบริหารจัดการดังกล่าวกัมพูชามีการกำหนดเขตกันชน (Buffer zone) ที่ไม่ชัดเจนซึ่งอาจรุกล้ำเข้ามาในเขตไทย  รวมทั้งต้องเรียกร้องอย่างเป็นทางการให้คณะกรรมการมรดกโลกชะลอการพิจารณาอนุมัติแผนบริหารจัดการดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าศาลโลกจะมีคำตัดสินเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกได้ตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2505 ตามที่กัมพูชาร้องขอ
                              
                       4.     การดำเนินการเพื่อให้การปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลกเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
        
                       ตามที่กล่าวมาแล้วในข้อ 2  รัฐบาลได้ดำเนินการให้ประธานรัฐสภาเปิดการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อให้มีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 179  ต่อกรณีการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก  แต่การดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงการเปิดโอกาสให้รัฐสภาได้รับทราบและแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวโดยไม่มีการลงมติใดๆ  ทั้งนี้รัฐบาลได้อ้างว่ามิใช่เป็นเรื่องการจัดทำหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 190  จึงไม่ต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ
                       แต่หากพิจารณาให้รอบคอบและถี่ถ้วนแล้ว  จะเห็นว่าในการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลกนั้น  มีความจำเป็นอย่างยิ่งและหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกับกัมพูชาในหลายเรื่องตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ 3 เพื่อให้เกิดความชัดเจนและยืนยันตรวจสอบกันได้  อันจะเป็นการป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจมีขึ้น 
                       ยิ่งไปกว่านั้นคำสั่งศาลข้อ (1) ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ 3.1 เป็นคำสั่งที่ล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของไทย เนื่องจากมีการกำหนด PDZ ให้รวมถึงพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของไทยซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่พิพาทแต่อย่างใด  อีกทั้งมีประชาชนจำนวนมากรวมทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่เห็นด้วยกับการถอนกำลังทหารดังกล่าว  ดังนั้นหากมีการดำเนินการถอนทหารดังกล่าวคงจะมีประชาชนจำนวนมากในหลายจังหวัดออกมาประท้วงในเรื่องนี้  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมอย่างกว้างขวาง
                       ดังนั้นการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งและหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่รัฐบาลจะต้องจัดทำหนังสือสัญญาเพื่อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกับกัมพูชา  ซึ่งหนังสือสัญญาดังกล่าวมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมอย่างกว้างขวาง  จึงเข้าองค์ประกอบของหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 190 วรรคสอง   ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
                       นอกจากนั้น  ก่อนดำเนินการเพื่อจัดทำหนังสือสัญญาดังกล่าว  ครม. ต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน  รวมทั้งต้องชี้แจงและเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย  ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ  มาตรา 190 วรรคสาม  และเมื่อลงนามในหนังสือสัญญาดังกล่าวแล้ว  ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน  คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น  และในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม  ครม. ต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว  เหมาะสม และเป็นธรรม  ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ  มาตรา 190 วรรคสี่ 
                       การประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่มีขึ้นในวันที่ 15 พ.ย. 2554  เพื่อให้มีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 179  ต่อกรณีการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลกนั้น  จึงไม่น่าจะมีประโยชน์ด้วยเหตุผลที่กล่าวข้างต้น  ดังนั้นรัฐบาลจึงควรต้องดำเนินการให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อชี้แจงและเสนอกรอบการเจรจากับกัมพูชาในการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลกเพื่อขอความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 190 วรรคสามก่อน 
                       นอกจากนี้ศาลโลกได้กำหนดให้ไทยต้องส่งข้อสังเกตที่เป็นลายลักษณ์อักษร (Written Observation) ให้ศาลภายในวันที่  21 พ.ย. 2554  สำหรับการพิจารณาคำร้องที่กัมพูชาร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร  ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า  หลังจากศาลได้มีคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราว  นายวีรชัย  พลาศรัย ตัวแทน (agent) ฝ่ายไทย  ได้ร่วมหารือกับที่ปรึกษากฎหมายของไทยที่กรุงปารีส  ในเรื่องการจัดทำร่างข้อสังเกตดังกล่าวแล้ว  สำหรับเรื่องนี้รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบต่อสู้คดีนี้แต่เพียงฝ่ายเดียว  ควรให้ผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ  ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยดำเนินการต่อสู้คดีด้วย  โดยอาจตั้งเป็นรูปของคณะกรรมการกลาง  นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศควรแปลเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวกับคำสั่งศาลโลกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. นี้  เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบข้อมูล


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1659
เวลา 29 เมษายน 2567 06:25 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)