ครั้งที่ 279

4 ธันวาคม 2554 18:47 น.

       ครั้งที่ 279
       สำหรับวันจันทร์ที่ 3 ธันวาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม 2554
       
       “ไม่เกลียด”
       
        เมื่อภาวะน้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย การเมืองก็เริ่มเข้าสู่ความร้อนแรงอีกครั้งหนึ่ง เริ่มต้นจากข่าวของพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษที่ทำให้เกิดความวุ่นวายพอสมควรเพราะคนส่วนหนึ่งคิดว่าจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษเพื่อช่วยเหลือ “คนเพียงคนเดียว” จึงทำให้เกิดการประท้วงตามมามากมาย ไปไกลจนกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
       จริง ๆ แล้ว เรื่องที่เป็น “จุดอ่อน” ที่สำคัญที่สุดจุดหนึ่งของรัฐบาลนี้ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง “รัฐบาล” กับ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ก็อย่างที่ทราบว่า แม้จะมี “คนรัก” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มากมายเหลือเกิน แต่ก็มี “คนเกลียด” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มากมายเหลือเกินเช่นกัน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นและสามารถถูกนำไปเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ เรื่องเหล่านั้นก็จะกลายเป็นข้อขัดแย้งทางสังคมไปได้อย่างง่ายดายโดยไม่จำเป็นต้องมีการพิสูจน์ใด ๆ ทั้งนั้น
       ความแตกแยกในสังคมไทยกลายเป็นสิ่งที่กระทบกับภาพลักษณ์และภาพรวมของประเทศอย่างชัดเจนในวันนี้และไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงได้ แม้จะมีหลายฝ่ายพยายามเสนอทางออกที่จะแก้ปัญหาความแตกแยกและความขัดแย้งภายในชาติแต่ดู ๆ ไปแล้วก็มองไม่เห็นแสงสว่างเพราะเมื่อฝ่ายหนึ่งเสนออีกฝ่ายหนึ่งก็โต้ ขนาดคณะกรรมการที่รัฐบาลชุดที่แล้วเป็นคนตั้งและรัฐบาลชุดนี้ก็ยอมรับให้ทำงานต่อคือ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เสนอข้อเสนอออกมาหลายอย่างก็ยังถูกโต้แย้งและวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในที่ลับและที่แจ้งว่าคงไม่สามารถทำการปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศไทยเพราะความเกลียดชังของผู้คนจำนวนหนึ่งได้ฝังรากลึกเกินไปเสียแล้ว
       ถ้าจะถามว่าจุดเริ่มต้นของ “ความปรองดอง” อยู่ที่ไหน ? คำตอบ “น่าจะ” อยู่ตรงที่ว่า ความปรองดองควรเริ่มต้นจากบรรดา “ตัวละคร” ทั้งหลายที่มีบทบาทในสังคมเวลานี้ “หยุดเล่นไม่เลิก” กันเสียก่อนเพราะที่พบเห็นและเป็นข่าวอยู่ในปัจจุบันทุกฝ่ายต่างก็หาเรื่องกันทุกจังหวะเวลาที่แต่ละฝ่ายต่างมีโอกาส จองล้างจองผลาญ จองเวรจองกรรมกันทุกเรื่อง บรรยากาศแบบนี้คงเกิดการปรองดองขึ้นได้ยากเพราะการปรองดองตามแนวทางที่เสนอกันมานั้นไม่มีวิธีการใดเลยที่จะเข้าไปแก้สิ่งซึ่งมีที่มาจากพฤติกรรมของคน ไม่ว่าจะออกกฎหมายมากี่ฉบับ ไม่ว่าจะนิรโทษกรรม อภัยโทษ ล้มเลิก ยกเลิก ลบล้าง หรืออะไร ๆ ก็ตามก็คงไม่สามารถทำให้เกิดการปรองดองขึ้นได้ถ้าบรรดา “ตัวละคร” ทั้งหลายยังจองล้างจองผลาญกันเช่นที่เกิดขึ้นอยู่ในทุกวันนี้ โจทย์สำคัญของการปรองดองจึงอยู่ที่การละลายพฤติกรรมของตัวละครทั้งหมด เมื่อตัวละครเหล่านั้นหันหน้าเข้าหากันได้ ยอมรับกันได้ และรับฟังกันได้ เมื่อนั้นการนิรโทษกรรม การอภัยโทษ การล้มเลิก ยกเลิกหรือลบล้างต่าง ๆ ที่หลายฝ่ายเสนอกันมาก็คงเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้อย่างไม่ยาก
       ไม่ใช่บ้านเราเท่านั้นที่ “คนเกลียดกัน” มากมาย ในต่างประเทศก็มี ล่าสุด ภาคเอกชนใจกล้ารายหนึ่งลุกขึ้นมาทำการรณรงค์ให้พลเมืองของโลกไม่เกลียดกัน การรณรงค์ครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่มีใครทราบ แต่อย่างน้อยก็เป็นการจุดประกายให้กับโลกได้รับรู้ทั่วกันว่า ความแตกต่างในด้านวัฒนธรรม ความเชื่อและการเมืองไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้คนเกลียดกัน
       เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีข่าวเล็ก ๆ ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วโลกว่า วาติกันประท้วงต่อต้านป้ายรณรงค์ขนาดใหญ่ของกิจการค้าเสื้อผ้า Benetton ของอิตาลีที่นำเอารูปภาพของพระสันตะปาปา Benedict ที่ 15 กำลังจูบปากกับ Ahmed el Tayeb ผู้นำศาสนาอิสลามคนสำคัญคนหนึ่งของโลก โดยภาพดังกล่าวเป็นภาพที่เกิดจากการตัดต่อรูปภาพ
       Benetton เป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าประเภทเสื้อผ้าสัญชาติอิตาเลียนที่มีความเป็นมายาวนาน เริ่มผลิตเสื้อผ้าสีสันสดใสออกจำหน่ายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 เป็นต้นมา และในช่วงปี ค.ศ. 1990 ก็เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ต่อมาในปี ค.ศ. 1991 บริษัท Benetton ได้ออกหนังสือชื่อ Colors วางขาย 40 ประเทศทั่วโลกพิมพ์ถึง 4 ภาษาด้วยกัน หนังสือ Colors ทุกเล่มจะมีการกำหนดประเด็นหลักในแต่ละเล่มที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาร่วมกันของประชาคมโลก เช่น โรคเอดส์ ชาติพันธุ์ การขนส่ง หรือขยะ เป็นต้น หนังสือ Colors ใช้วิธีการนำเสนอด้วยภาพถ่ายที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา จนในบางครั้งดูอนาจาร รุนแรง หรือน่าขยะแขยง บริษัท Benetton ได้เอาภาพถ่ายจากหนังสือ Colors บางภาพมาทำเป็นแผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ซึ่งในช่วง 10 ปีหลังภาพถ่ายเหล่านั้นก็เริ่ม “รุนแรง” มากขึ้นจนในบางครั้งก็สร้างความตกใจให้กับผู้ที่เห็น เช่นภาพหัวใจจริง ๆ ของคนผิวสีต่าง ๆ หรือภาพมารดาผิวดำให้นมกับทารกผิวขาว เป็นต้น


       ล่าสุด Benetton ได้ออกมารณรงค์ภายใต้หัวข้อ Unhate หรือ ไม่เกลียด Unhate เกิดมาจากแนวความคิดของคนที่มองเห็นคนในบางสังคมที่อยู่อย่างเกลียดชังกันและไม่พอใจกัน จึงต้องการรณรงค์ให้คนที่ไม่ชอบหน้ากันหันมาเข้าใจกัน รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน ใกล้ชิดกันและอยู่กันอย่างมีความสุข เพื่อการนี้ บริษัท Benetton ได้จัดตั้งมูลนิธิไม่เกลียด (Unhate Foundation) ขึ้นมารณรงค์เพื่อให้คนเลิกเกลียดกันโดยเฉพาะ
       การรณรงค์เริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมาที่ร้าน Benetton สาขาใหญ่กลางกรุง Paris มีการนำรูปภาพของบุคคลสำคัญที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งกำลังจูบปากกันมาทำเป็นป้ายรณรงค์ นอกจากป้ายของสันตะปาปากับอิหม่ามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็ยังมีภาพของประธานาธิบดีเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสกับเยอรมัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากับเวเนซุเอลา และประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากับจีน ทุกภาพเป็นรูปผู้นำกำลังจูบปากกัน และทุกภาพมาจากการตัดต่อภาพ


       ก็อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ทันทีที่ภาพดังกล่าวออกเผยแพร่ วาติกันก็ออกมาประท้วง ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา การประท้วงไม่ได้เป็นการประท้วงสาระสำคัญของการรณรงค์แต่เป็นการประท้วงการนำภาพของบุคคลสำคัญมาใช้ในการรณรงค์ที่“สุ่มเสี่ยง” กับภาพลักษณ์ของคนเหล่านั้นและอาจทำให้เกิดความขัดแย้งตามมาได้
       เห็นไหมครับว่า ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเราเท่านั้นที่จะมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งหรือความเกลียดชัง สิ่งที่ Benetton นำเสนอเป็นปัญหาสำคัญของคนในโลกที่เกิดขึ้นมานานและยืดเยื้ออย่างไม่มีที่สิ้นสุด “การจูบ” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “ความรัก” ของฝรั่งจึงถูกนำมาใช้กับ “การปรองดองแบบฝรั่ง” ที่มองว่า ควรเริ่มต้นมาจากการไม่เกลียดกันก่อน
       ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า สังคมไทยปัจจุบันมีความแตกแยกสูงมาก ความแตกแยกเหล่านี้ไม่สามารถสมานได้ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการออกกฎหมาย ด้วยการลบล้างทุกอย่างที่ไม่ถูกต้อง เพราะความแตกแยกเกิดจากภายในจิตใจของเรา จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าขนาดน้ำท่วมจนจะวิบัติกันทั้งประเทศ เราก็ยังมีแดงมีเหลืองกันอยู่เหมือนเดิม เกลียดชังกันเหมือนเดิม หาเรื่องกันเหมือนเดิม โจทย์ใหญ่ของการปรองดองของไทยเราจึงควรอยู่ตรงที่ว่า ทำอย่างไรคนไทยถึงจะเลิกเกลียดกันมากกว่า !!
       ดูการรณรงค์ของ Benetton ครั้งนี้แล้วรู้สึกชอบใจในหลาย ๆ ส่วน ส่วนแรกคือ การจับจุดที่ถูกต้องของปัญหาบนโลกที่คนเกลียดกันเนื่องมาจากมีการปกครองคนละระบบ นับถือคนละศาสนา มีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน ความแตกต่างเหล่านี้แยกคนให้ออกห่างจากกันจนกระทั่งกลายเป็นความไม่พอใจและกลายมาเป็นศัตรูกันในที่สุด ทางแก้ปัญหาก็คือ ต้องทำให้คนที่เกลียดกันเลิกเกลียดกันก่อน เมื่อคนเลิกเกลียดกันก็จะมีความเป็นกลางมากขึ้น คนที่เป็นกลางทำอะไรโดยปราศจากอคติก็จะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเป็นกลาง ไม่สองมาตรฐาน ไม่ลำเอียง เลิกทะเลาะเบาะแว้ง เลิกเป็นศัตรู เลิกต่อสู้ ความสงบก็จะกลับคืนมาสู่สังคมในที่สุด ส่วนที่สองที่ผมรู้สึกประทับใจก็คือ ความเป็นภาคเอกชนในประเทศขนาดกลาง ที่ใจกล้าคิดการใหญ่ระดับโลก แม้จะมีรายได้เป็นอย่างมากจากการขายผลิตภัณฑ์ของตนเอง การโฆษณาสินค้าก็ยังแฝงไว้ด้วยปัญหาของโลกและเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาของโลกที่เกิดขึ้นซึ่งผมเห็นว่าเป็นความกล้าอย่างมากที่ต้องยกย่อง ส่วนสุดท้ายที่ผมชอบก็คือ ความบ้าในการตัดสินใจนำเอารูป “คู่ขัดแย้ง” แห่งโลกมาใช้ในอากัปกิริยาที่ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมานำเสนอจนทำให้เรามองเห็นรูปภาพเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในสายตาของผู้มองภาพ
       บทบรรณาธิการครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหวังที่จะให้เราเห็นภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จูบปากกับบรรดาศัตรูทั้งหลายที่มีอยู่ แต่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามแก้ไขความแตกแยกซึ่งมีอยู่ทั่วโลก ความพยายามที่จะให้คนในโลกรับรู้รับทราบถึงจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาความแตกแยกด้วยวิธีการที่ง่ายสุดก็คือ ต้องเลิกเกลียดกัน ก่อนครับ
       ของขวัญปีใหม่ที่ดีที่สุดที่พลเมืองของประเทศไทยจะให้กับประเทศไทยได้หลังจากที่เราต้องเจอกับความบอบช้ำมาแล้วหลาย ๆ เรื่องก็คือ คนในชาติเลิกเกลียดกันแล้วก็หันหน้าเข้าหากันครับ
       การปรองดองที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้นคงไม่ได้มาจากผลงานของคณะกรรมการ ไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มาจากกฎหมาย แต่มาจากภายในตัวของเราเองครับ !!
       
       สัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอรวม 4 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความที่เขียนโดยอาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง เรื่อง "การตอบสนองกฎหมายสหภาพยุโรปว่าด้วยการจัดการและประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมของสก็อตแลนด์" บทความที่สองเป็นบทความของ คุณณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์ ที่เขียนเรื่อง "ความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิด" บทความที่สามเป็นบทความตอนที่ 4 ของคุณภาคภูมิ อนุศาสตร์ ที่เขียนเรื่อง "รัฐธรรมนูญ อุดมคติหรือขยะทางความคิด ๔" ส่วนบทความสุดท้าย เป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "มายาคติและข้อสงสัยในการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค"
       
       ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม 2554
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1667
เวลา 19 เมษายน 2567 23:21 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)