ครั้งที่ 282

15 มกราคม 2555 19:15 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 16 ถึงวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2555
       
       “จะแก้รัฐธรรมนูญกันอีกแล้ว ??”
        
                 สืบเนื่องมาจากนโยบายรัฐบาลข้อ 1.16 ที่กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พร้อมกับทำประชามติ นับตั้งแต่เริ่มต้นปีใหม่เป็นต้นมาหลังจากประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ กระแสเรียกร้อง (จากนักการเมือง !!!) ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เริ่มดังกระหึ่มขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง มีข้อเสนอจากหลายฝ่ายให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมาโดยใช้รูปแบบเดียวกับ สสร. ที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 คือประกอบด้วยตัวแทนประชาชนจากทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 คน กับนักวิชาการและผู้มีประสบการณ์ด้านต่าง ๆ อีก 22 คน รวม 99 คน แต่ก็มีบางฝ่ายเสนอให้มี สสร. จำนวน 100 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด โดย สสร. 1 คนเป็นตัวแทนของประชาชน 400,000 คน และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ก็ได้มีข้อเสนอใหม่ออกมาว่าควรมีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 34 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี
                 มีผู้มาสัมภาษณ์ผมจำนวนมากถึงเรื่องข้อเสนอต่าง ๆ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ผมก็ไม่ได้ให้สัมภาษณ์อย่างจริงจังเพราะผมมองว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการปัญหาเศรษฐกิจของประเทศก่อนเนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ส่วนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบว่า มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังประสบปัญหาหลายด้าน แม้ว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ผมได้เคยพูดและเคยเขียนไปหลายครั้งแล้วในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา  แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ความคิดเห็นต่าง ๆ ต้อง “หลุดลอยไป” จากกระแส ก็จะขอเขียนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งโดยกำหนดประเด็นที่จะต้องเขียนไว้  2ประเด็นด้วยกันคือ ถึงเวลาแก้รัฐธรรมนูญหรือยัง และถ้าถึงเวลาแล้วองค์กรที่จะเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญควรมีหน้าตาอย่างไร
                 ในประเด็นแรก ถึงเวลาแก้รัฐธรรมนูญหรือยังนั้น เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยในหลาย ๆ เรื่องด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ ที่มาของตัวบุคคลบางคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ บรรยากาศในขณะร่างรัฐธรรมนูญ เนื้อหาบางส่วนที่แย่เสียยิ่งกว่าแย่ เช่น มาตรา 309 การยุบพรรคการเมืองที่ถูกใช้เป็นกลไกในการทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ การสืบทอดอำนาจในองค์กรตามรัฐธรรมนูญบางองค์กร สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาของคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งแต่กลับมีอำนาจมากมายเสียเหลือเกิน เป็นต้น
                 ถ้าตัดเรื่อง “รูปแบบ” และ “ที่มา” ของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ออกไปและพิจารณาเฉพาะ “เนื้อหา” ของรัฐธรรมนูญแต่เพียงอย่างเดียว ยังไม่มีใครตอบได้ชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 นั้นสร้างปัญหาให้กับนักการเมืองหรือสร้างปัญหาให้กับประเทศไทย “ในภาพรวม” อย่างมากมายจนถึงกับต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือมีเพียงเนื้อหาบางส่วนที่อาจต้องแก้ไข  ยิ่งไปกว่านั้น เป็นที่ชัดเจนหรือเป็นที่ยุติแล้วหรือไม่ว่า ปัญหาจำนวนมากที่เกิดขึ้นแล้วเราบอกว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญนั้น จริง ๆ แล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่หรือเป็นเพียงการ “ขาดความเข้าใจ” หรือ “การแปลความ” รัฐธรรมนูญที่ผิด ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับตนเองและพวกพ้องหรือเพื่อทำลาย “ฝ่ายตรงข้าม” มากกว่าเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน  เพราะจนถึงวันนี้ ยังไม่เห็นมีการศึกษา วิจัย หรือวิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ออกมาเผยแพร่ให้ประชาชนทราบอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลยครับ
                 เช่นเดียวกับข้อเสนอที่ให้นำเอารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 กลับมาใช้ ก็รู้ ๆ กันอยู่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 นั้น สร้างระบอบเผด็จการผ่านกลไกรัฐสภา ส่งผลทำให้รัฐบาลคุมฝ่ายนิติบัญญัติได้ รัฐบาลคุมองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจที่มีฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้คัดเลือกได้ ทำให้การตรวจสอบฝ่ายบริหารต้องเสียไป และกลายมาเป็นข้อขัดแย้งของสังคมไทยในวันนี้ ปัญหาที่เกิดจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ก็ยังไม่มีการศึกษา วิจัย วิเคราะห์ปัญหาทั้งหมดออกมาเผยแพร่ให้ประชาชนทราบอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเช่นเดียวกับปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550
                 แต่ทำไม ถึงกลับมีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 และให้เอารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มาใช้ใหม่ หรือเรียกร้องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550  ทั้ง ๆ ที่เรายังไม่ทราบปัญหาที่ชัดเจนของรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่เลย รวมทั้งยังไม่ชัดเจนด้วยว่า ปัญหาของประเทศไทยที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนั้น เป็นปัญหาที่เกิดจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมของผู้ใช้รัฐธรรมนูญกันแน่
                 ในส่วนตัวผมเองนั้น ในช่วงเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ทุก ๆ ครั้งที่มีผู้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมก็จะมีข้อเสนอออกมาเป็นทำนองเดียวกันว่า ควรทำการศึกษาให้ละเอียดรอบคอบก่อนว่า รัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่มีปัญหาอะไรบ้าง เป็นปัญหาที่เกิดจากข้อผิดพลาดของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือเป็นปัญหาที่เกิดจากข้อผิดพลาดของการแปลความหรือตีความ เช่นตีความโดยใช้หลักกฎหมายเอกชนที่มุ่งคุ้มครองประโยชน์ปัจเจกชนมากกว่าคุ้มครองประโยชน์สาธารณะตามหลักกฎหมายมหาชน เป็นต้น เพราะหากว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาอย่างแรกคือ เกิดจากข้อผิดพลาดของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ การแก้รัฐธรรมนูญก็จะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ แต่ถ้าเป็นปัญหาเรื่องการแปลความหรือตีความ แก้รัฐธรรมนูญอย่างไรก็ไม่มีผลดีเกิดขึ้นเพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด
                 ด้วยเหตุนี้เอง หากจะต้องตอบคำถามของตัวเองในประเด็นแรกที่ว่า ถึงเวลาแก้รัฐธรรมนูญหรือยัง คำตอบของผมก็คือ “ยัง” เพราะเรายังไม่ทราบชัดเจนเลยว่า จะแก้รัฐธรรมนูญไปทำไม แก้ในเรื่องใด แก้ไขแล้วจะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นของประเทศได้หรือไม่
                 ต่อมาในประเด็นที่สองก็คือ องค์กรที่จะเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ควรมีหน้าตาอย่างไรนั้น ผมได้เคยเขียนเอาไว้หลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่จะขอนำมาสรุปสั้น ๆ ในบทบรรณาธิการครั้งนี้อีกครั้งหนึ่ง ใครสนใจฉบับเต็มก็ลองเข้าไปหาอ่านได้ครับ เริ่มต้นจากบทบรรณาธิการครั้งที่ 176 เรื่อง “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อการปฏิรูปการเมือง” ที่เผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2550 นั้น ผมได้เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ของประเทศฝรั่งเศสในการจัดทำข้อเสนอเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนระดับบรมครูจำนวนหนึ่งมาทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญแล้วเสนอไปให้รัฐสภาพิจารณาตามกระบวนการปกติ บทบรรณาธิการครั้งต่อมาคือครั้งที่ 177 เรื่อง “รัฐบาลใหม่ควรทำอะไรบ้าง” ที่เผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2551 ผมก็ได้เสนอให้รัฐบาลในขณะนั้นตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป  ต่อมาในบทบรรณาธิการครั้งที่ 196 เรื่อง “ประตูไปสู่การเมืองใหม่ (1)” ซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 29 กันยายน 2551 ผมได้เสนอว่ายังไม่ควรรีบแก้รัฐธรรมนูญ แต่ควรตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่งซึ่งได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายและมีความเป็นกลางเข้ามาทำการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 โดยคณะทำงานต้องประกอบด้วยคนที่รู้จริง เน้นบุคคลที่มีความรู้และมีประสบการณ์เป็นหลัก เช่น นักวิชาการ ผู้ทำงานการเมืองที่เก่ง ดี และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย อดีตผู้นำประเทศ เมื่อคณะทำงานศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้วได้ความว่าอย่างไร ก็ให้จัดทำเป็นข้อเสนอ รัฐบาลนำข้อเสนอไปให้ประชาชน สื่อมวลชน หน่วยงานของรัฐวิพากษ์วิจารณ์ ในที่สุดถ้าจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ จะตั้ง สสร. หรือจะให้รัฐสภาเป็นผู้แก้ไขก็ว่ากันไป ส่วนในบทบรรณาธิการครั้งที่ 197 เรื่อง “ประตูไปสู่การเมืองใหม่ (2)”  เผยแพร่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2551 ผมได้ย้ำเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง โดยเสนอให้รัฐบาลตั้งคณะทำงานเล็ก ๆ ขึ้นมา 1 คณะ ทำการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ผ่านมาว่า เกิดจากข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญหรือเกิดจากพฤติกรรมมนุษย์ โดยในส่วนของคณะทำงานนั้นผมเสนอให้มีประธานคนหนึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการปกครองอย่างมากและมีความรู้ความสามารถด้านกฎหมายเป็นอย่างดี ซึ่งในตอนนั้น ผมได้เสนอชื่อ คุณชวน หลีกภัย เนื่องจากมีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดและเป็นที่ยอมรับของสังคมมากกว่าคนอื่น ๆ ส่วนคณะทำงานก็ให้ประธานกับนายกรัฐมนตรีร่วมกันตั้ง โดยคณะทำงานมี 2 ส่วน ส่วนแรกมีจำนวนไม่เกิน 15 คน ควรตั้งจากผู้เชี่ยวชาญที่สุดในประเทศไทยโดยยึดโยงจากหมวดต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญ เช่น หมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนไทยก็ต้องตั้งคนที่เก่งที่สุดและรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพดีที่สุดในประเทศไทยมาเป็น 1 ในคณะทำงาน  สำหรับส่วนที่สองที่มีจำนวนไม่เกิน 5 คน ควรตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการศึกษาปัญหาของประเทศ เช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ มาเป็นคณะทำงาน คณะทำงานซึ่งมีความเจนจัดอยู่แล้วควรใช้เวลาทำงานไม่เกิน 3 เดือน จากนั้นให้จัดทำรายงานการศึกษาปัญหาของประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2540 - ปัจจุบัน เสนอต่อรัฐบาล รัฐสภา หน่วยงานของรัฐ และต่อประชาชนเพื่อให้วิพากษ์วิจารณ์กันสักพักใหญ่แล้วค่อยมาพิจารณากันต่อไปว่า สมควรแก้รัฐธรรมนูญหรือสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
                 ในวันนี้ จุดยืนของผมยังเป็นเช่นเดิม หากจะแก้รัฐธรรมนูญหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรมีฐานที่มาจากการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างละเอียดรอบคอบก่อนจึงค่อยมาคิดว่าจะให้ “ใคร” เป็นผู้มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
                 เมื่อพูดถึงเรื่องของการที่จะให้ “ใคร” มาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็อดนึกไปถึงข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ไม่ได้  หลาย ๆ คน “ฮือฮา” ถึงข้อเสนอดังกล่าวเพราะ “แตกต่าง” ไปจากกระแสที่ต้องการจะตั้ง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่สำหรับผมแล้วรู้สึกเฉย ๆ เพราะเรื่องดังกล่าวแม้จะเป็นเรื่อง “ใหม่” สำหรับบางคน รวมทั้งของ “ผู้เสนอ” ด้วย แต่เรื่องดังกล่าวกลับไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน โครงสร้างลักษณะนี้ ศาสตราจารย์ ดร.อมร  จันทรสมบูรณ์ ได้เคยเสนอเอาไว้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดแรกในปี พ.ศ. 2540 เสียด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่ใช่แค่เสนอเฉย ๆ แบบ คอ.นธ.  แต่ในข้อเสนอมีคำอธิบายรายละเอียดที่ชัดเจนของทุกกระบวนการในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้งยังเสนอร่างรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วย แม้เนื้อหาในข้อเสนอของศาสตราจารย์ ดร.อมร  จันทรสมบูรณ์ จะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยและสำหรับนักวิชาการบางกลุ่ม แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็มีความสมบูรณ์และเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว หาก คอ.นธ. ไม่เคยเห็นก็ลองเข้าไปดูได้ในเอกสารชื่อ “หมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง” ที่เผยแพร่ไปใน www.pub-law.net ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 ครับ ดีกว่าและสมบูรณ์กว่าที่ คอ.นธ. เสนอหลายเท่าเลยครับ !!!
                 ผมรู้สึกแปลก ๆ กับ คอ.นธ. มาตั้งแต่เริ่มตั้งเพราะเมื่อรัฐบาลออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 และต่อมาก็ได้ตั้ง ดร.อุกฤษ  มงคลนาวิน มาเป็นประธาน คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ผมก็เริ่มสงสัยว่า ตั้งคณะกรรมการชุดนี้มาทำอะไรและทำไมถึงเป็น ดร.อุกฤษ  มงคลนาวิน เพราะผมไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า ดร.อุกฤษ  มงคลนาวิน ซึ่งเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญระดับสูงในด้านหลักนิติธรรม  ต่อมาไม่นาน ผมก็มีโอกาสได้อ่านคำแถลงฉบับที่ 1 ลงวันที่ 14 กันยายน 2554 จำนวน 10 ข้อ โดยเฉพาะในข้อ 4 ที่ว่า “งานสำคัญงานแรกได้แก่การพิจารณาบุคคลที่จะมาร่วมเป็นคณะกรรมการจำนวนไม่เกิน 12 คน โดยมีหลักพิจารณาจากนักวิชาการทางกฎหมายและนักกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ได้แก่ คณบดีและอดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนั้น จะเชิญนักกฎหมายอาวุโสที่ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองและมีตำแหน่งทางวิชาการในระดับศาสตราจารย์มาร่วมเป็นคณะกรรมการ” ซึ่งอ่านดูแล้วก็น่าสนใจดี แต่พอมีการตั้งกรรมการซึ่งมีจำนวน 9 คน กลับปรากฏว่ามีอดีตคณบดีอยู่ 3 คน ส่วนนักวิชาการในระดับศาสตราจารย์นั้นก็เห็นมีแต่ประเภทศาสตราจารย์พิเศษซึ่งก็รวมทั้งตัวประธานเองด้วย จะมีศาสตราจารย์จริง ๆ ก็คือ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพียงคนเดียวเท่านั้น  นอกจากนั้น ก็มีนักวิชาการระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ 1 คน อดีตข้าราชการอีก 4 คน บางคนผมไม่ทราบว่ามีความชำนาญในเรื่องใดเพราะไม่เคยเห็นผลงานปรากฏแก่สาธารณชนว่าเป็นนักวิชาการหรือเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงในด้านใด ต่อมาในคำแถลงฉบับที่ 2 ลงวันที่ 19 กันยายน 2554 ซึ่งมี 6 ข้อนั้น ในข้อที่ 4 ก็ได้กล่าวยืนยันหลักการทำงานของ คอ.นธ. ว่าจะยึดโยงกับปัญหา “หลักนิติธรรมและหลักยุติธรรม” ส่วนคำแถลงฉบับที่ 3 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ก็ได้มีการอธิบาย “คุณสมบัติ” ของกรรมการแต่ละคนซึ่งก็พยายามเขียนให้กรรมการแต่ละคน “โยงไปได้” กับ “หลักนิติธรรม” ตามชื่อของ คอ.นธ.  ท้ายที่สุด ส่วนคำแถลงฉบับต่อมาก็แปลกออกไปจากเดิม แทนที่ คอ.นธ. จะเสนอ “รายละเอียด” เกี่ยวข้องกับ “หลักนิติธรรม” หรือปัญหา “นิติธรรม” ในสังคมไทย  คอ.นธ. กลับมีข้อเสนอแนะว่าด้วยกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญออกมา 7 ข้อ โดยพยายามใส่เรื่องหลักนิติธรรมเอาไว้ในข้อเสนอดังกล่าวโดยเฉพาะในข้อที่ 7 ที่พยายามชี้ให้เห็นว่า มีหลายมาตราในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ขัดกับหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน รวมทั้งมีคณะบุคคลบางคณะที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญมีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะปฏิวัติ พร้อมนี้ คอ.นธ ก็ได้มีข้อเสนอตามมาอีก 6 ข้อให้แก้รัฐธรรมนูญในหมวด 15 มาตรา 291 โดยในข้อแรกได้กล่าวว่า ให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรมสากล ส่วนในข้อ 3 ก็ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 30 - 35 คน โดยคัดเลือกจากบุคคลผู้มีความรู้และมีประสบการณ์ด้านรัฐธรรมนูญ เป็นที่ยอมรับในสังคม เช่น มีผลงานการเขียนตำรา เขียนบทความ ให้ความเห็นทางสื่อมวลชน “เป็นนักรัฐธรรมนูญ” ........ พร้อมทั้งยังมีบัญชีรายชื่อบุคคลที่ คอ.นธ. เขียนนำเอาไว้ว่า “รายชื่อบุคคลที่มีความรู้และความสนใจในรัฐธรรมนูญเท่าที่คิดได้ .....” จำนวน 34 คน มานำเสนอไว้ตอนท้ายอีกด้วย
                 มีคำถามและข้อคัดค้านเกิดขึ้นมากมายจากข้อเสนอของ คอ.นธ. ที่ตั้งแต่เริ่มต้นของการก่อตั้ง ไม่เคยมีการพูดถึงรัฐธรรมนูญเลย แต่ต่อมากลับมีการเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นไปได้อย่างไรที่กรรมการ คอ.นธ. ไม่ได้ประกอบด้วยนักรัฐธรรมนูญแต่กลับบอกว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาและต้องแก้ไขโดยตั้งคณะกรรมการที่เป็น “นักรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเมื่อดูรายชื่อที่ คอ.นธ. นำเสนอแล้ว ส่วนใหญ่คงไม่น่าจะใช่ “นักรัฐธรรมนูญ” ที่เก่งกาจของประเทศนี้เป็นแน่ครับ !!!
                 ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า ข้อเสนอให้มีการแต่งตั้งนักวิชาการมาเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลยสำหรับนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนเพราะพวกเราเคยเห็นสิ่งที่ ศาสตราจารย์ ดร.อมร  จันทรสมบูรณ์ ได้เคยเสนอไว้หลายหนหลายรอบแล้ว มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปการเมืองเพื่อแก้ปัญหาของประเทศไม่รู้กี่ร่าง มีคำอธิบายกลไกและวิธีการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายสิบคำอธิบาย ก่อนที่จะเสนออะไรออกมาก็น่าจะลองตรวจสอบดูก่อน เพราะพอมีข้อเสนอที่คล้าย ๆ กันกับของเก่าเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วแต่กลับปรากฏว่าของเก่าสมบูรณ์กว่าและดีกว่า   ก็ไม่ทราบจะเสนอไปทำไม ขอเจ้าของเดิมเอาของเก่ามาปรับใช้ให้สอดคล้องกับสภาพเหตุการณ์ปัจจุบันยังจะ “ดูดี” กว่า เพราะ “ของเดิม” มี “ฐาน” ทางวิชาการ มีคำอธิบาย (exposé des motifs) ที่ชัดเจนเป็นระบบ รวมทั้งยังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญเอาไว้แล้ว ไม่ใช่แต่แค่เสนอลอย ๆ ขึ้นมาโดยไม่มีฐานทางวิชาการสนับสนุน ส่วนตัวบุคคลจำนวน 34 คนที่เสนอมานั้นยิ่งแล้วใหญ่ แม้ผมจะไม่ใช่ “นักรัฐธรรมนูญ” แต่ก็รู้จักและได้ยินชื่อเสียงของ “นักรัฐธรรมนูญ” หลาย ๆ คนที่ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือตำราของคนเหล่านั้น ผมพยายามทำความเข้าใจรายชื่อของบุคคลจำนวนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อของ คอ.นธ. ก็ไม่เข้าใจว่าจะเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างไรและมีความเป็น “นักรัฐธรรมนูญ” อย่างไร  จริง ๆ แล้วการที่จะหานักรัฐธรรมนูญตามความประสงค์ของ คอ.นธ. ที่เขียนไว้ในข้อ 3 คือ “...บุคคลผู้มีความรู้และมีประสบการณ์ด้านรัฐธรรมนูญ เป็นที่ยอมรับในสังคม เป็นผู้มีผลงานการเขียนตำรา เขียนบทความ ให้ความเห็นทางสื่อมวลชนทุกแขนง เป็นนักรัฐธรรมนูญ ....” นั้น ไม่ยากอะไรเลย เพียงแค่เดินเข้าไปศูนย์หนังสือจุฬา แผนกหนังสือกฎหมายก็จะเห็นหนังสือตำราเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญจำนวนหลายเล่มซึ่งทุกเล่มก็ต้องมีชื่อผู้เขียนอยู่แล้ว !! หรือหากไม่อยากไปเดินตามศูนย์หนังสือก็ให้บรรณารักษ์ห้องสมุดช่วยค้นดูรายชื่อผู้เขียนบทความ งานวิจัย หรือหนังสือ ตำราเรื่องรัฐธรรมนูญก็คงจะได้ความชัดเจนและถูกต้องมากกว่าและน่าจะได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและดีกว่า “....เท่าที่คิดได้....” ครับ !!!
                 ล่าสุด ประธาน คอ.นธ. ได้แถลงข่าวไปเมื่อวันอังคารที่ 10 มกราคม มีตอนหนึ่งว่า “...ถ้ารัฐบาลบอกให้เราร่าง 7 วันก็ได้แล้ว...” คำแถลงดังกล่าวทำให้ต้องเพิ่มความวิตกกังวลเข้าไปมากขึ้นอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สำหรับใช้กับคน 60 กว่าล้านคนจะมีคนเก่งที่สามารถทำได้ภายใน 7 วันเองหรือ ? จะไม่รีบร้อนไปหน่อยหรือครับ ! หรือว่ามีร่างที่มีคนแอบทำให้ไว้เรียบร้อยแล้วครับ น่ากลัวนะครับ !!!
                 นอกจากนี้ ข้อเสนอของ คอ.นธ. ยังขาดส่วนสำคัญที่สุดอีกส่วนหนึ่งก็คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในขั้นตอนต่าง ๆ ของการร่างรัฐธรรมนูญ จึงทำให้ข้อเสนอของ คอ.นธ. เป็นข้อเสนอที่ไม่น่าสนใจด้วยเหตุผลทั้งหมดดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
                 ข้อสรุปของผมในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญจึงอยู่ที่ว่า ในเบื้องต้น รัฐบาลควรต้องพิจารณาปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศก่อนว่าปัญหาใดเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนระหว่างความอยู่รอดของประเทศในด้านเศรษฐกิจหรือปัญหาด้านการเมือง หากเป็นปัญหาด้านการเมือง ควรต้องดูให้ละเอียดรอบคอบว่าเป็นปัญหาเกิดจากรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากใช่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความจำเป็นเร่งด่วนมากน้อยเพียงใด หากคำตอบออกมาว่ามีความจำเป็น ก่อนที่จะมีการแก้รัฐธรรมนูญ ควรที่จะทำการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นมาก่อนว่าเป็นอย่างไร เมื่อทราบปัญหาที่ชัดเจนแน่นอนแล้ว จึงค่อยคิดกันต่อไปว่า จะแก้รัฐธรรมนูญหรือจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยใครจะเข้ามาเป็นผู้จัดทำครับ !
                 สัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความ บทความแรกเขียนโดย ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เขียนเรื่อง "การดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของ ครม. และ GBC กรณีการปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก" บทความที่สองเป็นบทความของ อาจารย์ปีดิเทพ อยู่ยืนยง ที่เขียนเรื่อง "ปกิณกะ: ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของประเทศฝรั่งเศส" บทความที่สาม คือบทความเรื่อง "การกำหนดวิทยฐานะข้าราชการครูตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547" ที่เขียนโดยคุณเชาวลิต เหล่าชัย นิติกร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ บทความสุดท้ายคือบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงกันดีไหม(อีกครั้ง)"  ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้ง 4 บทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
        
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2555
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1683
เวลา 29 มีนาคม 2567 09:15 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)