ครั้งที่ 288

8 เมษายน 2555 22:50 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 9 เมษายนถึงวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน 2555
       
       “การปรองดอง ?”
        
       
                 เรื่องของความพยายามที่จะสร้าง “ความปรองดอง” ในชาติของหลาย ๆ ฝ่ายกลายมาเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องจับตามองว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรและจะแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติได้หรือไม่ ที่สำคัญที่สุดคือ การปรองดองจะเป็น “ทางออก” สำหรับประเทศไทยหรือจะกลับกลายไปเป็น “ทางตัน” ที่เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งเหมือนกับที่เกิดขึ้นมาแล้วในความพยายามหลาย ๆ อย่างที่จะแก้ปัญหาที่เกิดเคยขึ้นแต่ก็ไม่เป็นผล !!!
                 ปัญหาความแตกแยกในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในวันนี้มีที่มาจาก “การเมือง” ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่ใช่ !!! ปี พ.ศ. 2549 เป็นเส้นแบ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการรัฐประหารและปัญหาที่เกิดจากการรัฐประหาร ซึ่งปัญหาทั้ง 2 ส่วนนี้มี “รากเหง้า” ที่ไม่เหมือนกัน ก่อนการรัฐประหาร ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นก็คือ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจมากและระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐต่าง ๆ ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ นำไปสู่การใช้อำนาจอย่าง “เกินขอบเขต” การรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวกลับกลายเป็นปัญหาที่ร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างมาก เกิดการดำเนินการต่าง ๆ ตามมามากมายที่ส่งผลให้เกิดการทำลายระบบนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน ระบบตุลาการและอื่น ๆ อีกมากมายจนทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งทนรับกับความไร้มาตรฐานไม่ไหวจึงออกมารวมกลุ่มกันแล้วก็เกิดเป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่ชัดเจนขึ้น ความแตกแยกในสังคมไทยช่วงหลังรัฐประหารจึงมีความรุนแรงกว่าความแตกแยกในช่วงก่อนรัฐประหารเป็นอย่างมาก
                 มีความพยายามที่จะหาทางแก้ปัญหาจากหลาย ๆ ฝ่ายแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะผู้คนที่อยู่ในประเทศส่วนใหญ่ต่าง “แบ่งข้าง” ของตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว และเมื่อสื่อมวลชนเข้าร่วมกับการแบ่งข้างด้วย ความแตกแยกก็เลยลุกลามออกไปจนกลายเป็น “สงคราม” ระหว่างฝ่ายที่แต่ละฝ่ายต่างมีกระบอกเสียงของตนเอง ความร้ายแรงของความขัดแย้งเริ่มชัดเจนขึ้นในช่วงของการรัฐประหาร มีความพยายามที่จะ “จัดการ” กับปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการใช้ “เครื่องมือ” ต่าง ๆ ที่รัฐมีอยู่และที่รัฐสามารถเข้าไป “ชักจูง” ได้ให้ร่วมกันแก้ปัญหาแต่ก็ไม่สำเร็จ การที่มีคนเสียชีวิตและสูญเสียอิสรภาพจำนวนมากกลับทำให้คนกล้ามากขึ้นและความแตกแยกก็ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  ในที่สุดเมื่อหาทางออกด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ได้แล้วจึงต้องย้อนกลับไปหาสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดที่อาจแก้ปัญหาได้ นั่นก็คือการ “จับเข่าคุยกัน”
                 เริ่มต้นจากการที่คณะรัฐมนตรีที่มีนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีได้มีมีมติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 เห็นชอบในหลักการให้มี คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และแต่งตั้ง ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธานคณะกรรมการ ส่วนกรรมการก็ให้ประธานกรรมการเป็นผู้สรรหาเอาเอง และนอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. 2553 เพื่อกำหนดแนวทางในการทำงานของ คอป. เช่น การตรวจสอบและค้นหาความจริงที่เป็นที่มาของปัญหาความขัดแย้งและเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น การเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง และวางมาตรการเพื่อลดความขัดแย้งในสังคมไทยและป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงและความสูญเสียขึ้นอีกในอนาคต  ต่อมาเมื่อรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศก็ได้สนับสนุนนโยบายปรองดองและให้ คอป. ที่ตั้งโดยรัฐบาลชุดที่ผ่านมาทำงานต่อไป
                 ที่ผ่านมา คอป. ก็ได้ทำอะไรไปบ้างแล้วพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาความจริง การเยียวยา ฟื้นฟู คอป. มีข้อเสนอแนะหลายประการรวมทั้งข้อเสนอแนะให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งในระยะหลังมีการนำมาใช้กันมากเพื่อประโยชน์ทางการเมืองและก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสรีภาพของประชาชนจำนวนหนึ่ง ข้อเสนอเกี่ยวกับการทบทวนการดำเนินคดีอาญาในความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และข้อเสนอเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งทั้งหมด คอป. เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีลักษณะเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง โดย คอป. ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับรัฐบาลด้วย แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้รับลูกไปเพียงการดำเนินการเพื่อให้มีการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2548 - 2553 โดยเห็นจากข่าวว่าจ่ายให้กับผู้ได้รับผลกระทบรายละ 7.5 ล้านบาท ส่วนข้อเสนออื่น ๆ เข้าใจว่ายังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ครับ
                 ขณะที่ คอป. กำลังดำเนินการเพื่อหาทางออกให้กับประเทศไทยอยู่นั้น ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อที่ 16 - 17 พฤศจิกายน 2554 พลเอกสนธิ  บุญรัตกลิน และนายชวรัตน์  ชาญวีรกูล ได้เสนอญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ลงมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาคณะหนึ่งชื่อว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ จำนวน 38 คน มี  พลเอกสนธิ  บุญรัตกลิน เป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งต่อมา คณะกรรมาธิการก็ได้มอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าทำการศึกษาวิจัยเพื่อค้นหา “ปัจจัยและแนวทางที่ทำให้การสร้างความปรองดองแห่งชาติประสบผลสำเร็จ” และเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เอง สถาบันพระปกเกล้าก็ได้เสนอ “รายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ
                 ความไม่ปรองดองเกิดขึ้นทันทีทั้งในและนอกสภา ในสภานั้นพรรคประชาธิปัตย์ออกอาการไม่รับข้อเสนอบางประการของรายงานวิจัยโดยเฉพาะในส่วนที่ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมดและไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยมองว่ารายงานวิจัยดังกล่าวส่งผลให้มีการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ความแตกหักจึงเกิดขึ้นในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติเมื่อกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 9 คน ของพรรคประชาธิปัตย์ลาออกจากคณะกรรมาธิการฯ แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุด เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เสนอรายงานวิจัยดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้พิจารณารายงานวิจัยดังกล่าวอยู่ถึง 2 วันก็ได้มีมติให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป
                 จริง ๆ แล้วผมไม่ค่อยอยากเขียนหรือให้สัมภาษณ์ในเรื่องของการปรองดองเท่าไรนักเพราะผมไม่เชื่อว่าการปรองดองที่พยายามทำกันอยู่จะแก้ปัญหาอะไรได้ทั้งสิ้น  ตามความเข้าใจของผมนั้น การปรองดองนอกจากจะทำได้ยากแล้วหากต้องการให้เกิดผลดีในทางปฏิบัติก็ยิ่งยากเข้าไปอีก ปัญหาพื้นฐานที่เราต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะคิดทำการปรองดองก็คือ พยายามทำความเข้าใจในพฤติกรรมของมนุษย์ว่า เมื่อต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ ที่ร้ายแรงหรือต้องเจอข้อขัดแย้ง ส่วนใหญ่ก็มักจะสู้รบกันก่อน ฆ่ากันตายเป็นเบือ เมื่อไม่ชนะแล้วจึงค่อยหันกลับมาเจรจาสงบศึกกันเพราะมองเห็นว่าการฆ่ากันไม่ทำให้ชนะได้แล้วก็ไม่รู้จะสู้รบกันหรือฆ่ากันไปทำไมอีก การปรองดองจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายที่มนุษย์ส่วนหนึ่งใช้เพื่อให้ได้ข้อยุติในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
                 การปรองดองควรต้องเริ่มต้นจากการหันหน้าเข้าหากันก่อน ไม่ว่าจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม เมื่อจะใช้การปรองดองเป็นทางออกในการแก้ปัญหา ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อให้การเจรจาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหา การปรองดองทำได้ง่ายถ้าปัญหาที่เป็นข้อขัดแย้งไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน ฝังรากลึก เพียงแค่ยกเอาปัญหาขึ้นมาวางไว้ข้างบน เอาคนที่เป็นผู้เกี่ยวข้องมานั่งเจรจา ตกลงกันได้ทุกอย่างก็จบ เช่น ปัญหาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ไม่มีอะไรซับซ้อนมากนักการเจรจามักไม่มีปัญหา สามารถตกลงกันได้ง่าย เช่น การเพิ่มเงินค่าจ้างหรือการลดเวลาทำงาน เมื่อประเด็นพวกนี้เป็นประเด็นที่มีปัญหาน้อย ตัวละครน้อย การเจรจาก็สามารถจบลงได้อย่างง่ายและรวดเร็ว แต่ถ้าหากเป็นปัญหาข้อขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก กลุ่มคนหลายกลุ่ม หลายความคิด ปัญหาการเมือง ศาสนา เสรีภาพ อนาคตของประเทศ การเดินไปสู่จุดมุ่งหมายที่สนองความต้องการของทุกฝ่ายหรือสอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่ายจึงเป็นไปได้ยากมาก มีอะไรพอที่จะเป็นหลักประกันได้ว่าทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับข้อขัดแย้งจะใช้เหตุผลเดียวกันในการเจรจาหรือจะยอมรับข้อตกลงต่าง ๆ ในทำนองเดียวกัน การปรองดองจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป้าหมายสุดท้ายของทุกฝ่ายไม่สอดคล้องกัน
                 การปรองดองจึงควรเริ่มขึ้นได้หากทุกฝ่ายพร้อมที่จะเจรจาและยินยอมพร้อมใจที่จะรับ “ผล” ที่เกิดขึ้นจากการปรองดองที่แต่ละฝ่ายอาจสมประโยชน์บ้างแต่ไม่ครบเต็มร้อยเหมือนกับการชนะสงคราม ส่วนใหญ่เท่าที่ผมเข้าใจนั้น ฝ่ายที่อยากปรองดองมักจะเป็นฝ่ายที่อยู่ในสภาวะ “เสียเปรียบ” มานานและ “ต้องการจบเรื่อง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ฝ่ายขัดแย้งอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ในอำนาจมานานจนอีกฝ่ายหนึ่งมองไม่เห็นชัยชนะ จึงต้องหาทางออกอีกทางหนึ่งที่เป็นไปได้เพื่อที่จะไปถึงจุดหมายก็คือ การอยู่ในสังคมได้อย่าง “ผู้ไม่แพ้”  ตราบใดก็ตามที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (ซึ่งมีอยู่หลายฝ่ายเหลือเกิน) ยังไม่พร้อมจะเจรจาเพราะยัง “อาจมั่นใจ” ว่า จะได้ชัยชนะในระยะใกล้ การปรองดองก็คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ครับ
                 ในความคิดเห็นส่วนตัวของผมนั้น การแก้ปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากการปรองดองที่กำลังทำอยู่แต่ก็อาจมีวิธีอื่นที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมาได้บ้าง ผมพอมองเห็นว่า กลไกของความขัดแย้งในบ้านเรานั้นอยู่ที่ความพยายามที่จะเอาชนะกันด้วยวิธีการนอกระบบ ในเมื่อเอาชนะเรื่องนโยบายไม่ได้ เอาชนะเลือกตั้งไม่ได้ แม้จะเกิดการรัฐประหาร เกิดการยุบพรรคการเมืองโดยพลังตุลาการภิวัตน์ เกิดการแก้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนระบบเลือกตั้งใหม่ก็ยังเอาชนะกันไม่ได้อีก พยายามทำทุกอย่าง หาเรื่องทุกอย่างเพื่อเอาชนะให้ได้ การจ้องทำลายล้าง จับผิดจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา ผมมองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ข้อขัดแย้งของคนในสังคมทวีความรุนแรงมากขึ้น หากต้องการที่จะแก้ปัญหาจริง ๆ ก็ควรเริ่มจากการ “หยุด” ของฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งก่อน หยุดหาเรื่องเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำ ทุกวันนี้ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำอะไรก็จะถูกโยงเข้าไปในเรื่องเดียวกันหมด แก้รัฐธรรมนูญก็คิดว่าจะเป็นเรื่องนิรโทษกรรม  แก้มาตรา 112 ก็คิดว่าจะล้มเจ้า แค่เสนอรายงานการวิจัยก็กลายเป็นข่าวว่าจะมีการดำเนินการตามนั้นโดยไม่อ่านรายงานการวิจัยทั้งฉบับอย่างตั้งใจ  ไม่ว่าใครจะอธิบายอย่างไรก็ไม่เชื่อไม่ฟังกันเพราะทุกฝ่ายต่าง “มีมุมมอง” ของตนไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า “ไม่เอา” สิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งเสนอมา หากต้องการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งสิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ หยุดคิดในแง่ลบกับอีกฝ่ายหนึ่งแล้วปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่ควรเป็น มีปัญหาเกิดขึ้นก็ค่อย ๆ แก้ด้วยเหตุด้วยผลไม่ใช่ด้วยอารมณ์เกลียดหรืออารมณ์ริษยา หากเริ่มต้นทำเช่นนี้ได้ในไม่ช้าประเทศไทยคงมีทางออกที่เหมาะสมได้ครับ ส่วนรัฐบาลก็ควรจะต้องเร่งรัดดำเนินการตามข้อเสนอของ คอป. อย่างรีบด่วน ดำเนินการให้มีการเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เคารพต่อสิทธิมนุษยชน หาทางออกให้กับบรรดานักโทษการเมืองและรีบเร่งเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า
                 การปรองดองไม่มีทางเกิดขึ้นได้หากทุกฝ่ายยังคงตั้งหน้าตั้งตาที่จะห้ำหั่นกันเช่นทุกวันนี้ครับ
                 ท้ายที่สุด ด้วยวิธีปรองดองที่เสนอกันอยู่ในวันนี้ คงต้องคิดเผื่อไว้ด้วยว่า หากมีกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดที่ไม่ยอมปรองดองด้วยหรือปรองดองแค่พอได้สิ่งที่ตนต้องการแล้วก็ “หักหลัง” ฝ่ายอื่น ๆ หากเป็นเช่นนี้เราจะทำอย่างไรกันดี  ตัวอย่างมีมาแล้วที่น้ำผึ้งหยดเดียวก็ทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ คงยังจำกรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้นะครับ น้ำผึ้งหยดนั้นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญจุดหนึ่งของเหตุการณ์สำคัญ ๆ หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยวันนี้ครับ
                 สัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความ บทความแรกเป็นบทความที่ค่อนข้าง “น่ากลัว” สำหรับบรรดาผู้เป็นอาจารย์สอนหนังสือทั้งหลายที่ในวันนี้ถึงคิวที่จะถูก “วิจารณ์” ได้บ้างแล้ว  บทความนี้ได้เคยเผยแพร่ไปแล้วใน website ประชาไทและมติชนออนไลน์เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นบทความที่ถกเถียงกันมากทั้งในแวดวงอาจารย์และแวดวงลูกศิษย์ถึงความ “เหมาะสม” ในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความ “เหมาะสม” ในการตั้ง “ตุ๊กตา” ในข้อสอบที่มีชื่อคล้ายกับชื่ออาจารย์บางคนในคณะ ความถูกต้องทางวิชาการของสาระสำคัญในข้อสอบและความ “เหมาะสม” ในการวิจารณ์เรื่องดังกล่าวในที่สาธารณะทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องของข้อสอบภายในมหาวิทยาลัย บทความดังกล่าวเขียนโดย คุณพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล เรื่อง "ข้อสังเกตจากข้อสอบและธงคำตอบวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญของ ‘รศ.ดร.วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม’ ที่น่ากังขาในคุณวุฒิของผู้สอน เป็นยวดยิ่ง?"  บทความที่สองเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "สิทธิเสรีภาพในการไม่นับถือศาสนา" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 23 เมษายน 2555
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1712
เวลา 29 มีนาคม 2567 20:32 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)