ครั้งที่ 291

20 พฤษภาคม 2555 23:16 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2555
        
       “ถามหาความจริงใจในการป้องกันการทุจริต”
        
               เมื่อวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม 2555 นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น” ภายใต้แนวคิด “ประเทศไทยก้าวไกลไร้ทุจริต” ณ  ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุมว่า เรื่องการต่อต้านการทุจริตถือเป็นนโยบายเร่งด่วนและสำคัญของรัฐบาลซึ่งได้กำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยจะเน้นใน 4 แผนงานเชิงรุก คือ 1.การปลูกจิตสำนึกและสร้างการตระหนักเรียนรู้โดยสร้างข้าราชการไทยไร้ทุจริตพร้อมมอบรางวัลให้กับข้าราชการที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีผลงานต่อต้านการทุจริต 2.การพัฒนาองค์กร ส่งเสริมให้ส่วนราชการจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการของตนเอง ปรับปรุงกระบวนการหลักที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตคอรัปชั่นผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติการจริงเพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาจากความเต็มใจและยอมรับร่วมกันจากเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานจนเป็นกลไกในการบูรณาการและขับเคลื่อนแผนป้องกัน 3.การตรวจสอบและเฝ้าระวังเชิงรุก โดยการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ในการรับแจ้งเบาะแส รับเรื่องร้องเรียน  ป้องกันและปราบปราม และเชื่อมโยงการรายงานทั้งหมดไปที่ศูนย์บัญชาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งสามารถร้องเรียนผ่านสายด่วน 1206 โดยเฉพาะเรื่องการซื้อขายตำแหน่งเพราะถือเป็นบ่อเกิดการทุจริตคอรัปชั่น และยืนยันว่าจะปกป้องผู้ร้องเรียนการทุจริตเข้ามาอย่างเต็มที่และ 4.การปราบปรามอย่างจริงจังและการลงโทษที่เข้มงวด โดยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่องค์กรดีเด่นในการปราบปรามเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานราชการและจังหวัดตรวจสอบการทำงานภายในองค์กรของตัวเองว่ามีความเสี่ยงต่อการทุจริตคอรัปชั่นหรือไม่
        
                 นั่นคือข่าวที่ปรากฎอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับเมื่ิอเช้าวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม 2555 ครับ
        
                 กลับมาสู่โลกของความเป็นจริงกันดีกว่า สืบเนื่องจาก บทบรรณาธิการครั้งที่ 280 และครั้งที่ 283 ที่ผมได้นำเอาเรื่อง “การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม” ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้จัดทำและคณะรัฐมนตรียังไม่ตอบสนองจนทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการตามกฎหมายมานำเสนอ ในวันนี้มีความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวออกมาบ้างแล้ว จึงขอนำมาเล่าให้ฟังเป็นข้อมูลครับ
                  ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 280 ผมได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นมาในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่ที่มีผลใช้บังคับไปเมื่อกลางปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา โดยในมาตรา 103/7 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ได้บัญญัติไว้ว่า “ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้”  จากบทบัญญัติดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับ “การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม” เมื่อดำเนินการเสร็จเรียบร้อยและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้เสนอเรื่องดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามมาตรา 103/8 ที่ว่า “ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าว และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่ติดตามผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าวด้วย........”
                  ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 283 ผมได้เล่าให้ฟังว่า คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 มีความเห็นในเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอไป 3 ประเด็นคือ
                       1. ในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของฝ่ายบริหารได้ถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 โดยหลายหน่วยงานได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบฐานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้อยู่แล้ว สมควรให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบที่ใช้บังคับในปัจจุบัน ส่วนหน่วยงานของรัฐที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารนั้น สมควรรับทราบกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
                       2. อย่างไรก็ตาม รายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างฯ บางเรื่องอาจเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินและอาจไม่สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ประกอบกับขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่องตามแนวร่วมปฏิบัติต่อต้านทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Collective Action) โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน โดยเน้นความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่องนี้ สมควรมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปประกอบการพิจารณาดำเนินโครงการฯ แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วนต่อไป
                       3. สำหรับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมอีกอาจไม่สอดคล้องกันมาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ที่ประสงค์ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาตามความเห็นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและจะมีผลกระทบกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐตามความเห็นกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ สมควรให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง
                       จากความเห็นดังกล่าวข้างต้น คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติในรายประเด็น คือ
                       1. ให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารเร่งรัดจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยเคร่งครัด และมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องนี้และความเห็นของสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาดำเนินการตามโครงการฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วนต่อไป ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงการดำเนินการตามรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวจะต้องไม่เป็นปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินประกอบด้วย
                       2. รับทราบรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้มีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรการที่กำหนดต่อไปตามรายละเอียดแนวทางการดำเนินการประกาศราคากลางและรายละเอียดการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่กฎหมายกำหนด
                       3. การแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแต่ละครั้ง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานต่อคณะรัฐมนตรีก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
                  ภายหลังจากที่ได้รับทราบมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ผมได้เสนอความเห็นไว้ในบทบรรณาธิการ ครั้งที่ 283 ว่า บทบัญญัติในมาตรา 103/8 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้นยังมีความเห็นแตกต่างกันเป็นสองแนวทาง แนวทางแรกคือ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดทำรายละเอียดตามมาตรา 103/7 เสร็จก็จะต้องรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อ “สั่งการ” ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าว  ซึ่งในแนวทางแรกนี้ แม้มาตรการดังกล่าวจะเป็นมาตรการในการป้องกัน ไม่ใช่มาตรการในการปราบปรามที่คณะรัฐมนตรีจะต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยตรง แต่เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจทั้งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของฝ่ายบริหารก็ต้องอยู่ภายใต้การ “ตรวจสอบ” ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย  ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายก็คือ สั่งการไปยังหน่วยงานที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของตนให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ ดังนั้น การที่คณะรัฐมนตรี “ปฏิเสธ” ที่จะสั่งการให้มีดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่กลับไปสั่งการให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารเร่งรัดจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้สอดคล้องกับกฎ ระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยเคร่งครัด จึงเป็นการกระทำที่ “ท้าทาย” อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นอย่างยิ่ง ส่วนอีกแนวทางหนึ่งก็คือ คณะรัฐมนตรีต้องให้ความ “เห็นชอบ” ในเรื่องดังกล่าวก่อนจึงค่อย “สั่งการ” ต่อไปยังหน่วยงานของรัฐให้ปฏิบัติตาม ซึ่งในแนวทางหลังนี้เองที่เป็นความเห็นอันมีผลเป็นการ “เพิ่ม” อำนาจให้กับคณะรัฐมนตรีที่มีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.  ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงน่าจะมาจากการใช้ถ้อยคำในมาตรา 103/8 ที่มีทั้ง “สั่งการ” และ “เห็นชอบ” ซึ่งก็คงต้องตีความอย่างเคร่งครัดโดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขึ้นมาเป็นหลัก กล่าวคือ ต้องพิจารณาว่าเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีนั้นเป็นการเสนอเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรีปฏิบัติตาม หรือเป็นการเสนอเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน กล่าวง่าย ๆ ก็คือ เป็นอำนาจผูกพันหรืออำนาจในการใช้ดุลพินิจกันแน่ ซึ่งในเรื่องนี้ หากพิจารณาถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในตัวบทของมาตรา 103/8 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเคร่งครัด คงต้องแปลความเป็นอย่างหลังว่าเป็นอำนาจในการใช้ดุลยพินิจของคณะรัฐมนตรี คือ ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ คณะรัฐมนตรีจึงค่อยสั่งการหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรีให้ไปดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ด้วยเหตุนี้เองที่มติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมาจึงมีผลเป็นการ “ปฏิเสธ” หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมองดูเจตนารมณ์ของการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลัก คงต้องแปลความบทบัญญัติดังกล่าวไปในทางตรงกันข้ามกับความเห็นแนวทางหลังว่าเป็นอำนาจผูกพันที่คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ เพราะคณะรัฐมนตรีซึ่งต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่สามารถให้ความเห็นชอบกับมาตรการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดได้เนื่องจากตนเป็นผู้มีส่วนได้เสีย  ปัญหาของเรื่องดังกล่าวจึงอยู่ที่ความไม่ชัดเจนของตัวบทมาตรา 103/8 และอยู่ที่การเลือกใช้คำในตัวบทด้วยว่าจะเลือกใช้ในวัตถุประสงค์ใด เพราะหากจะเลือกใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ “ป้องกัน” การทุจริตที่เกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว คณะรัฐมนตรีก็ควรสั่งการให้หน่วยงานของรัฐทั้งหมดปฏิบัติตามแนวทางที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด !!!
                   อย่างไรก็ตาม หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไปเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ก็เกิดการดำเนินการตามมาหลายอย่างด้วยกัน โดยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 โดยมีเหตุผล 3 ประการคือ
                       1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติว่า ให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารเร่งรัดจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยเคร่งครัดและมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องนี้และความเห็นของสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาดำเนินการตามโครงการฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วนต่อไป ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงการดำเนินการตามรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวจะต้องไม่เป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินประกอบด้วยนั้น ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติในมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ที่บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเคร่งครัดอันเป็นการดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาตรการดังกล่าวจึงไม่ใช่มาตรการเดียวกันกับฝ่ายบริหาร ดังนั้นแม้ว่าในทางปฏิบัติหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอยู่แล้วก็ตาม ก็เป็นกรณีที่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของฝ่ายบริหารถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ อันเป็นกฎเกณฑ์ของฝ่ายบริหารเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งยังไม่ครอบคลุมตามเจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ประสงค์ให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด มิใช่เพียงการใช้ระเบียบในการปฏิบัติเท่านั้น ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เสนอรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 คณะรัฐมนตรีจึงต้องพิจารณาและมีมติตามนัยมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและให้มีผลในทางปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าว
                       2. ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐโดยมิต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในส่วนที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกนั้น การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องดังกล่าวก็เพราะในทางปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ หากเกิดปัญหาในทางปฏิบัติขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน การเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ อาจใช้เวลานานและอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐได้ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินลุล่วงไปได้อย่างรวดเร็ว จึงควรให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะผู้กำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ เป็นผู้ปรับปรุงแก้ไข โดยการปรับปรุงแก้ไขดังกล่าวจะต้องไม่กระทบต่อสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไปแล้ว และการปรับปรุงแก้ไขต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน
                       3. ตามที่กระทรวงการคลังมีความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้ว่าสมควรให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดวงเงินขั้นต่ำในการประกาศราคากลาง ราคาอ้างอิง ให้การจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป ต้องประกาศราคากลางหรือราคาอ้างอิงนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นด้วยในการกำหนดราคาขั้นต่ำตามความเห็นของกระทรวงการคลังดังกล่าว
                   ต่อมา  สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ข้างต้นไปยังกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อขอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี หน่วยงานทั้ง 3 จึงได้เสนอความเห็นกลับมายังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสรุปความได้ว่า กระทรวงการคลังเห็นว่า แนวทางการดำเนินการประกาศราคากลางและรายละเอียดการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 103/7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ก็เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและเนื่องจากการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชน  ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ควรกำหนดหลักเกณฑ์แนวทางการดำเนินการให้ชัดเจนอย่างละเอียดเพื่อให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจวิธีการปฏิบัติ ขอบเขตความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลของการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์แนวทางการดำเนินการที่กำหนด และเนื่องจากหน่วยงานจัดซื้อภาครัฐซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวมีจำนวนประมาณ 45,000 หน่วยทั้งประเทศ ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงควรเตรียมความพร้อมทั้งในด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การฝึกอบรมบุคลากร การติดตามการปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นต้น  
                   ส่วนสำนักงบประมาณก็มีความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า สมควรที่คณะรัฐมนตรีจะให้ความเห็นชอบการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ ตามนัยมาตรา 103/7 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำหรับการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐนั้น เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร เห็นสมควรให้สำนักงาน ป.ป.ช. นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนด้วย
                   ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า มาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 103/8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการ โดยมิได้ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่อาจเสนอเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้  ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออาจพิจารณาเป็นประการอื่นที่เหมาะสม ซึ่งโดยข้อเท็จจริงในเรื่องนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงการคลังรับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปประกอบการพิจารณาโดยให้คำนึงถึงการดำเนินการตามรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวต้องไม่เป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินประกอบด้วย แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วนต่อไป  สำหรับกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมอีกนั้น ยังคงเห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ที่ประสงค์ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา
                   ล่าสุด  เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็ได้มีหนังสือแจ้งความเห็นของหน่วยงานทั้ง 3 ข้างต้นไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมทั้งยังได้ตั้งประเด็นใหม่ขึ้นมาอีกว่า เรื่องนี้มีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายในการปฏิบัติตามมาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ซึ่งประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้รักษาการ สมควรได้รับการพิจารณาวินิจฉัยโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
                     ที่เล่ามาทั้งหมดข้างต้นคือความเป็นมาของเรื่องทั้งหมดจนถึงปัจจุบันครับ
        
                   จริง ๆ แล้วปัญหาของมาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้น ผมมองเห็นตั้งแต่รับทราบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 แล้วโดยผมได้เขียนไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 283 ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมานี้น่าจะมาจากการใช้ถ้อยคำในมาตรา 103/8 ที่มีทั้ง “สั่งการ” และ “เห็นชอบ” นั่นเอง !!! และนอกจากนี้ ในการประชุมของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาวิเคราะห์และพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์การทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐและการจัดให้มีรางวัลตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคล (คณะที่ 2) ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการของ ป.ป.ช.ที่รับผิดชอบในเรื่อง “การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางไว้ ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม” ที่มีขึ้นในเดือนมกราคมหลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับทราบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ผมในฐานะอนุกรรมการก็ได้เสนอต่อที่ประชุมว่า เห็นควรที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้หารือเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ได้ข้อยุติในทางกฎหมาย แต่คณะอนุกรรมการก็ไม่ได้ดำเนินการตามข้อเสนอของผม !!! ในวันนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีหารือเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาก็เลยทำให้การดำเนินการตามมาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 ยังเกิดขึ้นไม่ได้เสียทีครับ
                   ผมรู้สึกเสียดายเป็นอย่างยิ่งภายหลังที่ “รับทราบ” ข้อขัดแย้งในด้านการใช้อำนาจระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับคณะรัฐมนตรี เพราะในเบื้องต้น หากคณะรัฐมนตรีทำความเข้าใจกับ “เจตนารมณ์” ของการตรวจสอบการทุจริตก็จะพบว่า คณะรัฐมนตรีเองก็เป็นหนึ่งในบรรดาองค์กรและบุคคลที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะรัฐมนตรีเองถ้าหาก     “ใส่ใจ” และ “ต้องการ” แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันจริงดังที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ข้างต้นก็จะทราบได้ทันทีว่า การทุจริตคอร์รัปชันในบ้านเรานั้นส่วนใหญ่เกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  การที่คณะรัฐมนตรี “ปฏิเสธ” การดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ย่อมแสดงถึง “ความไม่เข้าใจ” ในอำนาจการตรวจสอบการทุจริตของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ต้องรีบเร่งดำเนินการภายใต้กรอบระยะเวลาที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนดไว้อย่างชัดเจน  การที่คณะรัฐมนตรีมีมติออกมาในครั้งแรกและการที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายในครั้งหลังจึงทำให้การดำเนินการตามมาตรา 103/8 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต้องล่าช้าออกไปอย่างน่าเสียดาย
                   ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจริงดังที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ข้างต้น การสั่งการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ตามข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งในภาพรวมแล้วเป็นผลดีต่อประเทศชาติและยังมีส่วนในการเพิ่มบทบาทภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตทำไมถึงได้ยุ่งยากและล่าช้าออกไปจากระยะเวลาตามที่กฏหมายกำหนดได้เช่นนี้ครับ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเกิดขึ้นทุกวัน มีคนได้ประโยชน์และประเทศชาติต้องเสียประโยชน์ทุกวัน หรือว่า คณะรัฐมนตรียังไม่อยากให้เกิดมาตรการตามมาตรา 103/7 และ 103/8 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตครับ !!!
                   นอกจากนี้แล้ว ผมยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความเห็นที่มาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่กล่าวว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่อาจเสนอเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออาจพิจารณาเป็นประการอื่นที่เหมาะสมได้นั้น คำถามที่ตามมาก็คือ  แล้วกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนดให้ใครเป็นคนวางเกณฑ์ หากจะตอบว่าเป็นคณะรัฐมนตรีก็ไม่น่าจะใช่ เพราะเป็นที่ทราบทราบโดยทั่วไปว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไม่สามารถป้องกันการทุจริตที่เกิดขึ้นจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ รัฐสภาจึงได้เขียนบทบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ความเห็นดังกล่าวจึงน่าจะไม่สอดคล้องกับบทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมทั้งเจตนารมณ์ของการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และฉบับปี พ.ศ. 2550 เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้คณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรที่มีอำนาจเหนือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปในที่สุดครับ !!!
                   ในขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวในทุก ๆ ทาง เรื่องหารือยังเดินทางไปไม่ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาวิเคราะห์และพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์การทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐและการจัดให้มีรางวัลตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคล (คณะที่ 2) รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวและควรจะ “รีบ” เรียกประชุมอย่างเร่งด่วนก็ยังคงเงียบอยู่ และนอกจากนี้ ผมได้หารือไปยัง “ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน” เพื่อที่จะหาหนทาง “ทำอะไรร่วมกัน” เพื่อให้หลักเกณฑ์ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง “การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางไว้ ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม” เกิดผลในทางปฏิบัติเสียทีหลังจากที่เสียเวลาอยู่ที่คณะรัฐมนตรีมากว่าครึ่งปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการ “ตอบสนอง” ใด ๆ จาก “ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน” ครับ
                   สงสัยว่า ผมคงจะ “วุ่นวาย” เกินกว่าเหตุไปเสียแล้วกระมัง สมควรที่จะต้อง “อยู่นิ่ง” แล้วปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเดิมต่อไป !!!
        
                   สัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 5 บทความ บทความแรกเป็นบทความภาษาฝรั่งเศสที่เขียนโดยศาสตราจารย์ ดร.René HOSTIOU เรื่อง "La théorie du bilan . Pourquoi ? Comment ?" บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง "ความเสมอภาคและความหลากหลายในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐภายใต้กฎหมาย Equality Act 2010 ของอังกฤษ" ที่เขียนโดยอาจารย์ ดร. ชวนิดา สุวานิช ร่วมกับ อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง บทความที่สาม เป็นบทความของคุณณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์ ที่เขียนเรื่อง "การจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของนักกีฬามวยตามพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ" บทความที่สี่ เป็นบทความเรื่อง "ศาลต้องพิจารณาตัวเอง" ที่เขียนโดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง และบทความสุดท้ายเป็นบทความของคุณธีรพัฒน์ อังศุชวาล ที่เขียนเรื่อง "ร่วมห้องเรียนประชาธิปไตย ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนไทย: ทรรศนะเสริม"  ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
        
                    พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน 2555
       
                    ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1722
เวลา 29 มีนาคม 2567 16:40 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)