ศาลต้องพิจารณาตัวเอง

20 พฤษภาคม 2555 23:03 น.

       ไม่น่าเชื่อว่าศาลไทยจะไม่มีใครออกมาปกป้องเลย ไม่ว่าจากสื่อหรือประชาชนทั่วไปจากกรณี “อากง” ที่เสียชีวิตในเรือนจำอันเนื่องมาจากการต้องคำพิพากษาศาลชั้นต้นถึง 20 ปีจากกรณีต้องสงสัยว่าส่งเอสเอ็มเอส หมิ่นเบื้องสูง และไม่ได้ประกันตัวในชั้นศาล ทั้งๆที่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน เพราะโดยปกติแล้วหากมีการวิจารณ์ศาลเกิดขึ้นมักจะมีการออกมาปรามทั้งหนักและเบาว่าระวังจะเข้าข่ายหมิ่นศาลหรือละเมิดอำนาจศาลอยู่เสมอ แต่ในคดีนี้กลับเงียบกริบ มีเพียงโฆษกศาลยุติธรรมและอธิบดีศาลอาญาออกมาพยายามอธิบายบ้างแต่ก็ถูกระหน่ำจนเละในโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือเครือข่ายสังคม
       ผมคงไม่กล่าวถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายในคดีนี้เพราะมีผู้เขียนถึงเยอะมากแล้ว เช่น โทษหนักไปหรือไม่ เหตุใดจึงไม่ได้ประกันตัว หรือแม้กระทั่งเชื่อหรือไม่เชื่อว่าอากงเป็นคนส่งเอสเอ็มเอสเพราะอากงบอกกับผู้เกี่ยวข้องมาตลอดว่าตนเองส่งเอสเอ็มเอสไม่เป็น ฯลฯ แต่จะกล่าวถึงการสูญเสียความเชื่อมั่นในศาลไทยจากประชาชนไทยและต่างประเทศ
       ลำดับความน่าเชื่อถือของศาลไทยอยู่เป็นอันดับหนึ่งในบรรดาองค์กรของรัฐไทยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นด้วยความรู้ความสามารถในการสอบแข่งขันเข้าสู่ตำแหน่ง การดำรงตนอย่างสมถะของผู้พิพากษาตุลาการ ความเป็นกลางทางการเมือง ฯลฯ แต่ภายหลังจากเหตุการณ์ที่คนพยายามเรียกว่า “ตุลาการ        ภิวัตน์”เกิดขึ้นโดยศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองต่างวินิจฉัยยกเลิกการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2548 ด้วยเหตุผลว่าตั้งคูหาลงคะแนนหันหลังให้ประชาชน ซึ่งเป็นการผิดปกติเป็นอย่างยิ่งที่ศาลสองศาลจะพิจารณาคดีเดียวกัน
       ความเคลือบแคลงสงสัยต่อศาลไทยเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดภายหลังการรัฐประหาร 2549 เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคอื่นอีกสองพรรค แม้จะแก้ว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลจึงไม่ได้สวมเสื้อครุยศาลก็ตาม แต่คณะตุลาการก็มาจากศาลยุติธรรมและศาลปกครองอยู่ดี และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัย(อย่างเร่งด่วนนอกที่ตั้งศาลรัฐธรรมนูญแต่ไปวินิจฉัยที่ศาลปกครองแทน)ยุบพรรคพลังประชาชนและพรรคชาติไทยอีกระลอกหนึ่ง แต่ที่ตลกจนหัวเราะก็ไม่ออกร้องไห้ก็ไม่ได้คือ กรณีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ทั้งๆที่ต่อสู้กันมาจนปิดคดีแล้วโดยให้เหตุผลว่าส่งฟ้องเกินระยะเวลาหรือพูดง่ายๆว่าขาดอายุความ ซึ่งก็เป็นเหมือนปล่อยให้นักมวยต่อยกันจนครบยกแล้วกรรมการบอกไม่ตัดสินล่ะเพราะอีกฝ่ายน้ำหนักเกิน เรียกเสียงครางฮือๆกันทั่วประเทศ
       มาถึงคดีก่อการร้ายบ้างใครที่ความไม่สั้นคงจำได้ว่าคดีก่อการร้ายนี้มีผู้ก่อการร้ายตามคำฟ้องอยู่สองพวก คือ พวกแรกคือพวกที่ยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบินทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมือง ผู้ต้องหาเหล่านี้ล้วนแล้วได้ประกัน พวกที่มีสตางค์ก็เดินทางเข้าออกประเทศกันเป็นว่าเล่น แต่พวกที่สองคือพวกที่ชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ยกเว้นพวกแกนนำ นอกนั้นยังอยู่ในคุกกันถ้วนหน้า
       มาถึงจุดวิกฤติที่ความเชื่อมั่นที่มีต่อศาลไทยลดลงอย่างน่าใจหายก็คือคดีหมิ่นฯโดยเฉพาะอย่างยิ่งคดี “อากง” ผมจะไม่พูดเรื่องแก้หรือไม่แก้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา เพราะเคยพูดไว้เยอะแล้วในหลายที่และในหลายสถานการณ์ แต่จะพูดถึงวิธีพิจารณาคดีของศาลไทยในกรณีคดีหมิ่นฯที่ว่านี้ เพราะคำกล่าวที่ว่า “ปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าเอาคนถูกเข้าคุกคนเดียว” กับ “ในคดีอาญาศาลจะลงโทษจำเลยต่อเมื่อโจทก์ได้พิสูจน์จนสิ้นสงสัยว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง” นั้นแทบจะไม่ได้ถูกนำมาใช้เลย แม้กระทั้งผมเองก็ยังกังขาว่าศาลเองกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญฯมาตรา 39 วรรคสองและสามหรือไม่ในประเด็นที่ว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด” “ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้” เพราะเท่าที่ผมทราบ(อาจจะมีแต่ผมไม่ทราบ)จำเลยในคดีหมิ่นฯนี้ไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นศาลเลย
       แล้วจะทำอย่างไร
       หลังจากที่ศาลเป็นฝ่ายที่พิจารณาผู้อื่นมามากต่อมากแล้ว ในภาวะที่ไฟกำลังลุกหรือหม้อต้มกำลังเดือดรอเวลาระเบิดจนกลายเป็นวิกฤติต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อศาลไทยในปัจจุบันนี้ ศาลไทยถึงเวลาที่จะต้องพิจารณาหรือทบทวนตัวเองแล้ว
       1)    ศาลต้องทบทวนทัศนคติที่มีต่อการรัฐประหารที่ว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ โดยต้องไม่ยอมรับการรัฐประหารใดใดว่าชอบด้วยกฎหมาย(ค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่ http://shows.voicetv.co.th/intelligence/34621.html)
       2)    ศาลต้องมีความเชื่อมั่นและกล้ายืนหยัดต่อการแทรกแซงจากอำนาจภายนอกเพราะความเป็นอิสระของตุลาการ (Judicial independence)นั้น เป็นหลักที่มีความสำคัญมากของระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ ดังเช่นกรณีผู้พิพากษาเอ็ดเวิร์ดที่กล้าคัดค้านต่อพระเจ้าเจมส์ที่ 1 และที่ 2 แห่งอังกฤษ จนเป็นตำนานที่ผู้พิพากษาทั่วโลกยึดเป็นแบบอย่าง(ค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่http://www.enlightened-jurists.com/page/174) หรือดังเช่นกรณีของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพี พัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทยที่กล้าเสนอความเห็นคัดค้านต่อรัชกาลที่ 5 ในอดีต
       3)    ศาลต้องรู้เท่าทันโลกและกติกาของโลก มิใช่ว่าพอมีใครยกหลักสิทธิมนุษยชนหรือกติการะหว่างประเทศขึ้นมา ก็หาว่าบังอาจไปสอนกฎหมายศาล อย่าลืมว่าเราอยู่ในสังคมโลก หากโลกไม่ยอมรับระบบศาลไทยขึ้นมาแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น
        
       ศาลก็คือคน ย่อมมีรักโลภโกรธหลง แต่ระบบที่บรรพบุรุษได้วางไว้แล้วเป็นอย่างดี ทำให้ผู้คนมีความเชื่อมั่นว่า “ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้าย” แต่หากผู้คนหันหาที่พึ่งอื่นเป็นที่สุดท้ายแทนศาลแล้วอะไรจะเกิดขึ้น
        
       ถึงเวลาแล้วล่ะครับที่ศาลจะต้องพิจารณาตัวเอง หาไม่แล้วหากผู้อื่นเช่นสภานิติบัญญัติมาเป็นผู้พิจารณาแทนดังตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่เปลี่ยนระบบศาลไปใช้ระบบลูกขุน เป็นต้น หรือประชาชนทนไม่ไหวลุกขึ้นมาเปลี่ยนเอง แล้วศาลจะมาร้องว่าถูกแทรกแซงไม่ได้ เพราะในเมื่อมีโอกาสแล้วไม่ทำเอง
        
       ----------------


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1727
เวลา 25 เมษายน 2567 11:09 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)