๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ วันประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานคร

17 มิถุนายน 2555 20:07 น.

       วันที่ ๒๔ มิถุนายนในปีนี้นอกจากจะเป็นวันระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยที่เปลี่ยนจากการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ นี้ในเวลาบ่ายแก่ๆ(๑๕.๐๐ น.)จนถึงค่ำ สำหรับชาวเชียงใหม่แล้วถือได้ว่าเป็นเวลาที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะจะเป็นวันที่คนเชียงใหม่จะประกาศเจตนารมณ์ว่าเชียงใหม่พร้อมแล้วที่จะจัดการตนเองโดยประกาศการขับเคลื่อนเพื่อรณรงค์ลงชื่อเสนอร่าง “พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. ...” ณ บริเวณหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ หลังจากที่ได้     ยกร่างและระดมความเห็นจากเวที ๒๕ อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีอีก ๔๕ จังหวัดเป็นแนวร่วมที่พร้อมจะขับเคลื่อนตามมาหากเชียงใหม่ทำสำเร็จ
        
       ในหลักการเหตุผลประกอบร่าง พรบ.ได้ชี้ว่าประเทศไทย มีระบบการบริหารราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคเป็นกลไกสำคัญในการบริหารประเทศ ทำหน้าที่ตัดสินใจ กำหนดนโยบาย บริหารจัดการบริหารบุคลากร และจัดสรรงบประมาณ มีรัฐบาลเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด โดยมีกระทรวง ทบวง กรม เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ครอบคลุมทั้งประเทศกว่า ๑๒๐ ปีที่ผ่านมา
        
       ระบบการบริหารงานดังกล่าวได้สร้างคุณูปการแก่ประเทศไทยอย่างใหญ่หลวงจนสามารถทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจมาได้ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งสังคมมีความซับซ้อน และการรวมศูนย์การตัดสินใจ และการดำเนินการปฏิบัติการ กลายเป็นความซับซ้อน ระบบใหญ่โต ไร้ประสิทธิภาพ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชน ประชาชนขาดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมือง
        
       จากปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ จึงจำเป็นต้องคืนอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นตัดสินใจ และมีอิสระในการกำหนดทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต สวัสดิการ การศึกษา สาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่สอดคล้องกับชุมชนท้องถิ่นให้มีอำนาจบริหารจัดการบุคลากร มีงบประมาณที่เพียงพอ เพื่อให้ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นได้ใช้อำนาจทางตรงในการกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและเข้าถึงการตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานได้
        
       ร่าง พรบ.จึงมีสาระสำคัญที่จะมุ่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยดำเนินการใน ๓ แนวทางด้วยกัน คือ
        
       ๑.) ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค เหลือเพียงราชการส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่น  เต็มพื้นที่และมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจในการกำหนดแนวนโยบาย ระเบียบ ข้อบัญญัติ การจัดงบประมาณ การคลัง การจัดการบริหารบุคลากรและกลไกโครงสร้างการบริหารงานภายในท้องถิ่นเพื่อการบริหารราชการท้องถิ่นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นได้ครอบคลุมทุกเรื่อง ยกเว้น ๔ เรื่องหลัก คือ การทหาร ระบบเงินตรา       การต่างประเทศ และการศาล โดยจัดการปกครองเป็น ๒ ระดับ คือ ระดับบน(เชียงใหม่มหานคร) และระดับล่าง (เทศบาล) ทำให้สามารถดูแลครอบคลุมเต็มพื้นที่ โดยทั้ง ๒ ระดับมีการบริหารงานในลักษณะของการแบ่งหน้าที่การทำงานอย่างชัดเจน
        
       โดยการจัดให้มีการปกครองท้องถิ่น 2 ระดับ(two tiers)นี้ เป็นการประยุกต์มาจากญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งแตกต่างจากกรุงเทพมหานครซึ่งมีระดับเดียวที่รวมศูนย์อยู่ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และแตกต่างจากรูปแบบเมืองพัทยาที่กำหนดพื้นที่เฉพาะตรงไข่แดงเท่านั้น แต่เชียงใหม่มหานครนี้จะครอบคลุมเต็มพื้นที่แทน อบจ.ซึ่งจะถูกยุบเลิกไป เพราะทุกพื้นที่ของเชียงใหม่ประกอบด้วยคนเชียงใหม่เหมือนกัน การกำหนดเฉพาะพื้นที่ที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวจึงเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
        
       ในระดับล่างมีการยกระดับองค์กรปกครองท้องถิ่นทั้งหมดให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน คือ เทศบาล เพราะในปัจจุบันมีการลักลั่นกันมาก ดังจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันในพื้นที่ตำบลเดียวกันมีทั้งเทศบาลและ อบต.มีนายกฯถึง 2 คน มีที่ทำการถึง 2 แห่ง
        
       ในส่วนของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งสังกัดราชการส่วนภูมิภาคก็ต้องเลือกเอาว่าจะกลับไปสังกัดกระทรวง ทบวง กรม เดิมของตนที่ส่วนกลาง หรือเลือกที่จะอยู่ในพื้นที่ โดยสังกัดกับท้องถิ่นที่มีผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานครที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้บังคับบัญชา
        
       สำหรับกำนันผู้ใหญ่บ้านก็ยังคงอยู่ต่อไป แต่จะกำหนดบทบาทและหน้าที่ให้ชัดเจนแยกออกจากผู้บริหารท้องถิ่น โดยเพิ่มบทบาทไปในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย ในฐานะหัวหน้าฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ของตนเช่นเดียวกับตำรวจซึ่งต้องขึ้นกับท้องถิ่นที่มีผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานครเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารเช่นในนานาอารยประเทศทั้งหลาย โดยจะยังคงมีกองปราบหรือFBI/DSI ฯลฯ เพื่อปฏิบัติการในกรณีคาบเกี่ยวในเขตพื้นที่หรือเป็นคดีสำคัญ ซึ่งการให้ตำรวจมาสังกัดท้องถิ่นนี้จะทำให้เกิดการคล่องตัวทั้งสายการบังคับบัญชาและงบประมาณที่จะทำให้ตำรวจท้องที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
        
        
       ๒.) ทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรมจริยธรรม โดยมีระบบการตรวจสอบที่มีความเข้มแข็ง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างดุลยภาพ ๓ ส่วนเพื่อป้องกันการ “ฮั้ว”กัน ซึ่งต่างจากโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นทั่วๆไปที่มีเพียง ๒ ส่วนคือฝ่ายบริหารกับฝ่ายออกข้อบัญญัติ โดยจัดโครงสร้างใหม่เป็น ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร สภาเชียงใหม่มหานครและสภาพลเมือง (civil juries)รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้อำนาจประชาชนโดยตรงในการกำหนดทิศทาง     การพัฒนาตรวจสอบการทำงานหน่วยงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ และเข้าถึงการใช้งบประมาณ ผ่านกระบวนการกลไกต่างๆ อาทิ สภาพลเมือง การไต่สวนสาธารณะ การจัดตั้งกรรมาธิการด้านต่างๆ เช่น การศึกษา เกษตร การจัดการปัญหาหมอกควัน ฯลฯ
        
       ๓.) การปรับโครงสร้างด้านภาษี โดยภาษีทุกชนิดที่เก็บได้ในพื้นที่จะส่งคืนรัฐบาลส่วนกลางร้อยละ ๓๐ และคงไว้ที่เชียงใหม่มหานคร ร้อยละ ๗๐ ซึ่งจะเป็นการตอบคำถามที่ว่าแล้วเชียงใหม่มหานครมีรายได้เพียงพอหรือ  เพราะในปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ท้องถิ่นเก็บภาษีได้เพียงจิ๊บจ๊อย เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือน ภาษีป้าย ภาษีล้อเลื่อน ฯลฯ แต่เมื่อเปลี่ยนโครงสร้างภาษีไปเช่นนี้แล้วปัญหาในเรื่องรายได้ก็จะหมดไป แล้วต่อคำถามที่ว่าแล้วใครจะเป็นคนเก็บล่ะ คำตอบก็คือผู้มีหน้าที่นั่นแหล่ะเป็นผู้เก็บ ซึ่งก็คือ สรรพากร สรรพสามิต ศุลกากร ฯลฯ ที่เป็นข้าราชการหรือหน่วยงานสังกัดเชียงใหม่มหานครนั่นเอง ซึ่งอัตราส่วนแบ่งภาษีนี้อย่าว่าแต่ญี่ปุ่นมีส่วนแบ่ง ๓๐/๗๐ เลย จีนที่ถึงแม้ว่าจะมีการควบคุมสิทธิทางการเมืองอย่างเคร่งครัดยังมีส่วนแบ่งภาษี ๔๐/๖๐ เลย
        
       ในส่วนของมายาคติหรือข้อสงสัยว่าหากเป็นเช่นนั้นแล้วจะได้นักเลงมาครองเมือง เปลี่ยนจากอำมาตย์ใหญ่ไปสู่อำมาตย์เล็ก หรือ เป็นการแบ่งแยกรัฐหรือไม่ ฯลฯ สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1663 ครับ
        
       ในวันนั้นนอกจากจะมีประชาชนชาวเชียงใหม่ที่คาดว่าจะมาร่วมงานกันอย่างมืดฟ้ามัวดินเพื่อประกาศเจตนารมณ์โดยใช้สัญญลักษณ์ริบบินหรือธงผ้าสีส้ม(เหลือง+แดง=ส้ม)ดังกล่าวแล้ว ยังจะมีการจัดเวทีสาธารณะ “ปฏิรูปประเทศไทย ให้เชียงใหม่จัดการตนเอง” โดยมีผู้ร่วมรายการ คือ คุณพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตคณะกรรมการปฏิรูปประเทศและอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย,ดร.วณี ปิ่นประทีป รองผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูป,คุณไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย,คุณไพรัช ใหม่ชมพู ผู้อำนวยการกองการศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.เชียงใหม่, ศ.ดร.ธเนศว์ เจริญเมือง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ,คุณสงวน พงศ์มณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ,คุณสวิง ตันอุด ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการทางสังคม,คุณชำนาญ  จันทร์เรือง ประธานเครือข่ายบ้านชุ่ม    เมืองเย็น,คุณพรหมศักดิ์ แสนโพธิ์ คณะทำงานเชียงใหม่จัดการตนเอง,คุณพัชรินทร์ สุกัณศีล นักธุรกิจและชมรมเพื่อเชียงใหม่,คุณประทีป บุญหมั้น สภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงใหม่,คุณอารักษ์       หาญฤทธิ์ สมาพันธ์ครูจังหวัดเชียงใหม่ ฯลฯ โดยมีการรายงานข่าวและบันทึกเทปพร้อมทั้งดำเนินรายการโดยคุณนาตยา แวววีรคุปต์ จากไทยพีบีเอส
        
       โลกหมุนไปข้างหน้า ผู้ที่ขวางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงเพราะเหตุที่ต้องการปกป้องผลประโยชน์และอาณาจักรของตนเอง ย่อมที่จะถูกกระแสแห่งโลกาภิวัตน์กวาดตกเวทีไปอย่างช่วยไม่ได้ครับ
        
       ---------


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1733
เวลา 28 เมษายน 2567 09:01 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)