ลาภมิควรได้ในกฎหมายปกครองฝรั่งเศส

2 กรกฎาคม 2555 07:23 น.

       ๑.ความทั่วไป
                                       ทฤษฎีเรื่องลาภมิควรได้ (l’enrichissement sans cause) ในกฎหมายฝรั่งเศสเป็นการวางหลักของศาลยุติธรรมที่มีเนื้อหาสาระกำหนดให้โจทก์สามารถอ้างสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหาย (une indemnité) จากจำเลยได้โดยอ้างเงื่อนไขว่าตนมีการลดน้อยถอยลง (appauvrir) ในขณะที่อีกฝ่ายได้รับสิ่งใดเพิ่มเติม (enrichir) ซึ่งการลดน้อยถอยลงและการได้รับสิ่งใดเพิ่มเติมนี้จะต้องมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ การได้รับสิ่งใดเพิ่มเติมจะต้องเป็นไปด้วยความชอบธรรมในการนั้น และส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีจะสามารถเรียกร้องให้มีการชดใช้ความเสียหายจากการลดน้อยถอยลงของตนได้
        
                                       กฎหมายปกครองฝรั่งเศสถือว่า ลาภมิควรได้ถือเป็นความรับผิดของฝ่ายปกครองในกลุ่มความรับผิดกึ่งสัญญา (la responsabilité quasi contractuelle)[๑] ซึ่งเป็นความรับผิดที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างความรับผิดตามสัญญาและความรับผิดเหนือสัญญา อนึ่ง ความรับผิดกึ่งสัญญานี้มีองค์ประกอบคือ การมีข้อตกลงระหว่างคู่กรณี มีการแสดงเจตนาที่ถูกต้องตรงกัน มีการให้สัตยาบันแต่ไม่มีการแสดงอะไรออกมาอันอาจถือว่ามีการเกิดขึ้นของสัญญา ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๗๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส
        
                                       ลาภมิควรได้เป็นทฤษฎีที่ศาลยุติธรรมวางหลักไว้ในคำพิพากษาปี ค.ศ. ๑๙๘๒ ต่อมาสภาแห่งรัฐได้นำทฤษฎีดังกล่าวมาปรับใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดี โดยถือว่าหลักในเรื่องลาภมิควรได้นี้ ถือเป็น “หลักทั่วไปที่นำมาปรับใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีแม้จะไม่มีลายลักษณ์อักษรกำหนดไว้”[๒] (คำพิพากษาสภาแห่งรัฐคณะพิเศษ คดี Sud-Aviatation ลงวันที่ ๑๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๑) และได้นำทฤษฎีดังกล่าวมาปรับใช้ในการให้ความเห็นในคดีประเภทงานโยธาสาธารณะเพื่อเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับงานโยธาสาธารณะที่ก่อให้เกิดประโยชน์ (les travaux utiles) ซึ่งไม่ได้กำหนดไว้แต่เริ่มแรกในการทำสัญญา ซึ่งเป็นการก่อสร้างที่ผู้รับเหมากระทำลงไปเองหรือกระทำลงไปภายหลังจากที่ได้รับคำสั่งด้วยวาจาเป็นกรณีพิเศษ (คำพิพากษาสภาแห่งรัฐคณะพิเศษ คดี Commnue de Canari ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๕)
        
                                       หลักในเรื่องลาภมิควรได้นำมาปรับใช้ขณะที่มีการปฏิบัติตามสัญญา (กล่าวคือ ต้องมีการเกิดของสัญญาก่อน) และผู้ประกอบการได้กระทำก่อสร้างโดยที่ไม่มีข้อกำหนดของสัญญากำหนดไว้ ดังนั้น การนำทฤษฎีเรื่องลาภมิควรได้มาปรับใช้ในทางกฎหมายปกครองนี้จะต้องพิจารณาเรื่องการมีอยู่ของสัญญาเป็นอันดับแรก ซึ่งในประเทศฝรั่งเศสมีปัญหามากในเรื่องนี้ ทั้งนี้เนื่องจากการเข้าทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของฝรั่งเศสต้องถือตามข้อบังคับของกฎหมายสหภาพยุโรปที่วางเงื่อนไขในเรื่องการประกาศและความโปร่งใสในการทำสัญญาไว้ด้วย
        
                                       ฝ่ายปกครองจะนำหลักลาภมิควรได้มาใช้ต่อเมื่อเคารพเงื่อนไขบางประการ นั่นคือ เป็นข้อพิพาทในกรณีสัญญา งานที่กระทำลงไปถือเป็นงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และการชำระเงินดังกล่าวจะต้องไม่เป็นการชำระเงินที่มีผู้ได้รับประโยชน์เป็นกรณีพิเศษ อย่างไรก็ดีฝ่ายปกครองอาจขอลดหย่อนเงินจำนวนนี้ลงได้หากฝ่ายปกครองมีส่วนผิดที่ทำให้ตนเกิดความลดน้อยถอยลงด้วย ค่าเสียหายดังกล่าวจะลดลงตามส่วน
        
                                       โดยทั่วไปแล้วถือว่า สัญญาทางปกครองจะระงับลงได้ก็ต่อเมื่อมีการสิ้นสุดของปฏิบัติการตามสัญญา (ตัวอย่างเช่น การส่งมอบทรัพย์สินในกรณีสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง)  หรือ การปฏิบัติตามสัญญาจนมาถึงขั้นการสิ้นสุดของสัญญา เช่น การสิ้นสุดของสัมปทานหรือการปิดกิจการ โดยในกรณีการสิ้นสุดของสัญญานี้อาจมาจากเหตุที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้ เช่น การตกลงระงับสัญญาของคู่สัญญา หรือการที่ฝ่ายปกครองเข้าไปปฏิบัติตามสัญญานั้นเสียเอง (le rachat contractuel) ซึ่งเป็นกรณีที่กำหนดไว้แต่แรกแล้วในสัญญา หรือการที่ฝ่ายปกครองขอเลิกสัญญาฝ่ายเดียวอันเนื่องมาจากสาเหตุประโยชน์ของบริการสาธารณะนั้นหรือจากการถูกลงโทษ การเลิกสัญญาอาจเกิดจากคำพิพากษาของศาลที่เป็นการอนุญาตตามคำขอของคู่สัญญาอันมีสาเหตุมาจากการข้อแก้สัญญาฝ่ายเดียวนั้นไม่อาจกระทำได้ หรืออาจเกิดจากความผิดร้ายแรงของฝ่ายปกครองหรือจากเหตุสดวิสัย หรือการเลิกสัญญาดังกล่าวอาจเกิดจากคำขอของฝ่ายปกครองเองโดยอ้างเหตุความล้มเหลวในการจัดทำบริการสาธารณะและไม่มีข้อกำหนดใดในสัญญาที่ให้สามารถอ้างเหตุดังกล่าวเพื่อเป็นการเลิกสัญญาได้ 
        
       ๒.ทฤษฎีทางกฎหมายอื่นที่ใกล้เคียง : การจัดการงานนอกสั่ง และการเรียกเงินคือกรณีจ่ายเกิน 
        
                                       นอกจากทฤษฎีลาภมิควรได้แล้ว ยังมีทฤษฎีที่อยู่ในกลุ่มความรับผิดกึ่งสัญญาซึ่งใกล้เคียงกับทฤษฎีลาภมิควรได้อีก ๒ ประการคือ การจัดการงานนอกสั่ง (la gestion d’affaire) และการเรียกเงินคืนกรณีจ่ายเกิน (la répétition de l’indu) ซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลในการเลือกปรับใช้ทฤษฎี ๓ ประการให้เข้ากับข้อเท็จจริงในคดี
                                      
                                       การจัดการงานนอกสั่ง หมายถึง การที่บุคคลใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการของบุคคลอื่นโดยสมัครใจและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบุคคลนั้น บุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวจึงมีหน้าที่ในการชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เสียไปให้บุคคลที่กระทำการ ตัวอย่างที่ปรากฏในการพิจารณาคดีปกครองคือ กรณีหน่วยงานทางปกครองที่ปราศจากอำนาจได้กระทำการให้เกิดนิติกรรมทางปกครองใดๆ (ซึ่งหมายความถึงกรณีทฤษฎีว่าด้วยสถานการณ์ที่ไม่ปกติที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศชาติหรือต่อการดำเนินการตามปกติของอำนาจรัฐ [la circonstance exceptionnelle][๓] ด้วย) หรือกรณีที่ฝ่ายปกครองจะต้องรับผิดเนื่องมาจากการกระทำของผู้อยู่ใต้อำนาจของตนที่กระทำลงไปด้วยความสมัครใจ
        
                                       การเรียกเงินคืนกรณีผู้รับไม่มีสิทธิ หมายถึง กรณีที่มีการชดใช้เงินคืนอันเนื่องมาจากผู้รับไม่มีสิทธิได้รับเงินนั้น ทั้งนี้ ตามความในมาตรา ๑๒๓๕ และ ๑๓๗๖ ถึง ๑๓๘๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง ทฤษฎีนี้เปิดโอกาสให้ฝ่ายปกครองและบุคคลใดๆสามารถหยิบยกขึ้นมาอ้างได้หากพบว่าผู้รับเงินไม่มีสิทธิได้รับเงิน ทฤษฎีนี้เป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลมีสิทธิในการเรียกเงินคืนจากบุคคลที่ได้รับประโยชน์ไปโดยไม่มีสิทธิ โดยการเรียกคืนดังกล่าวนั้นจะเป็นการเรียกให้ส่งมอบทรัพย์สินหรือเรียกคืนเป็นตัวเงินก็ได้ อย่างไรก็ดี ศาลไม่ได้วางหลักไว้ว่าสามารถเรียกคืนเป็นการกระทำการอย่างใดๆได้แต่ก็อาจมีข้อยกเว้นในบางกรณี
        
                                       ศาลฎีกาแผนกคดีแพ่งได้วางหลักไว้ในคำพิพากษา ลงวันที่ ๑ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๕ ว่าการเรียกเงินคืนกรณีคิดดอกเบี้ยผิดพลาดถือเป็นเรื่องความรับผิดกึ่งสัญญาและอยู่ภายใต้บังคับอายุความสามสิบปี
        
                                       การเรียกเงินคืนกรณีผู้รับไม่มีสิทธิอาจมีได้ด้วยกันหลายกรณี เช่น (๑) ระหว่างบุคคลที่ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้และบุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกหนี้ (๒) ระหว่างบุคคลที่เป็นลูกหนี้และบุคคลที่ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ (๓) ระหว่างบุคคลที่มิได้เป็นลูกหนี้และบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ การเรียกเงินคืนกรณีผู้รับไม่มีสิทธิจะต้องมีการพิจารณาถึงความสุจริตของผู้รับเงินด้วย
                                        
       ๓. คำพิพากษาสภาแห่งรัฐที่อ้างถึงทฤษฎีลาภมิควรได้ 
        
                                       สภาแห่งรัฐได้หยิบยกทฤษฎีเรื่องลาภมิควรได้มาใช้ในคดีปกครองครั้งแรกในคำพิพากษาคดี Soc. Sud -Aviation ลงวันที่ ๑๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๑ และได้ปรากฏหลักดังกล่าวในคำพิพากษาอื่นๆอีก กล่าวคือ คำพิพากษาคดี คดี Société-France-Reconstruction-Plan ลงวันที่ ๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๖ คดี Ministre de la Construction c. Ville de Bordeaux ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๖ และ La commune de Canari ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๕ คดีทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองทั้งสิ้น
        
                                       ในทางตำรามักหยิบยกคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี La commune de Canari ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๕ มาเป็นหลักในการอธิบายเรื่องการปรับใช้ทฤษฎีลาภมิควรได้ของสภาแห่งรัฐ คดีนี้มีข้อเท็จจริงในว่า เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๖๓ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งเมือง Bastia ได้กระทำการในนามของเทศบาลแห่งเมือง Canari ในการว่าจ้างให้บริษัท Société chimique routière et d’entreprise général ก่อสร้างทางสัญจรรอบเทศบาลโดยมีวงเงินตามสัญญาเป็นจำนวน ๑๙,๕๐๐ ฟรังก์ ต่อมาในชั้นปฏิบัติตามสัญญา ปรากฏว่าบริษัทฯได้ดำเนินการสร้างทางเสร็จไปเพียงแต่บางส่วนเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นยังก่อให้เกิดข้อตกลงใหม่ระหว่างเทศบาลและบริษัท ซึ่งการก่อสร้างตามข้อตกลงใหม่นี้อยู่นอกเหนือจากข้อสัญญาที่กำหนดไว้แต่แรกอันปรากฏตามหลักฐานลงวันที่ ๒๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๔ ศาลปกครองชั้นต้นแห่งเมือง Nice ได้พิจารณาข้อพิพาทดังกล่าวโดยนำหลักเรื่องลาภมิควรได้มาปรับใช้ และมีคำพิพากษาให้เทศบาลแห่งเมือง Canari ชำระเงินให้แก่บริษัท Société chimique routière et d’entreprise général เป็นจำนวน ๑๕,๐๐๐ ฟรังก์ เพื่อเป็นการชำระค่าใช้จ่ายที่บริษัทดังกล่าวได้ก่อสร้างแม้ว่าจะไม่ได้เป็นการก่อสร้างที่มีการตกลงไว้ในสัญญาแต่เริ่มแรกก็ตาม ต่อมาเทศบาลแห่งเมือง Canari ได้ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าในเอกสารที่ระบุไว้ในสัญญาและเงื่อนไขในสัญญาไม่มีข้อใดระบุว่าจะต้องมีการชำระเงินในกรณีดังกล่าว ประกอบกับพิจารณาแล้วเห็นว่าการก่อสร้างทางดังกล่าวของบริษัทไม่ได้เป็นการดำเนินการตามการสั่งการด้วยปากเปล่าหรือด้วยลายลักษณ์อักษรแต่ประการใด ยิ่งไปกว่านั้น งานที่ทำเสริมขึ้นมานี้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเป็นต่อการปฏิบัติตามสัญญาตามที่คาดการณ์ไว้แต่ต้น แม้ว่าการก่อสร้างดังกล่าวนั้นจะเป็นประโยชน์แก่เทศบาลก็ตาม แต่ก็ไม่ถือว่าเทศบาลจะต้องชำระเงินแก่บริษัทฯอันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายที่เสียไปในการนั้น การที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้บริษัทชำระค่าใช้จ่ายในการนั้นเองจึงเป็นการชอบแล้ว สภาแห่งรัฐมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
                                                                      
       ๔.บทสรุป
                                       การหยิบยกทฤษฎีเรื่องลาภมิควรได้มาปรับใช้กับคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองย่อมเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเป็นอิสระของตุลาการศาลปกครองในการหยิบยกหลักกฎหมายมาปรับใช้ในคดีพิพาทซึ่งสอดรับกับแนวคิดในเรื่องอำนาจของตุลาการในการสร้างและพิจารณาหลักกฎหมายทั่วไป[๔] ที่องค์กรวินิจฉัยข้อพิพาททางปกครองสามารถสร้างหลักกฎหมายเองได้ (prétorien) ซึ่งสภาแห่งรัฐได้ยืนยันบทบาทของตุลาการศาลปกครองในด้านนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๔๕ สำหรับการหยิบยกทฤษฎีเรื่องลาภมิควรได้มาปรับใช้กับคดีปกครองนั้นถือ สภาแห่งรัฐถือว่าหลักดังกล่าวมีคุณค่าเป็นหลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับสัญญาสาธารณะ (le principe général du droit applicable même sans texte à la matière des contrats publics)[๕] และได้นำทฤษฎีดังกล่าวมาปรับใช้โดยมีกฎเกณฑ์เฉพาะโดยคำนึงถึงเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลและความจำเป็นของการรักษารูปแบบกฎเกณฑ์ทางปกครอง
        
                                       การนำทฤษฎีเรื่องลาภมิควรได้มาใช้ในคดีปกครองจึงมิได้เป็นไปในทางเดียวกับทฤษฎีตามกฎหมายแพ่งอย่างครบถ้วนนัก กล่าวคือ  สภาแห่งรัฐจำกัดว่าจะนำทฤษฎีดังกล่าวมาปรับใช้เพียงในคดีพิพาทที่เป็นการชดใช้ความเสียหายที่เกี่ยวกับสัญญาเท่านั้น ในขณะที่กฎหมายแพ่งนำเรื่องลาภมิควรได้มาปรับใช้ในทุกกรณี  การที่สภาแห่งรัฐหยิบยกทฤษฎีลาภมิควรได้มาปรับใช้ในคดีปกครองจึงเป็นการเน้นย้ำให้มีการพิจารณาถึงความมีอยู่ของสัญญาทางปกครอง การบังคับตามสัญญาทางปกครอง ตลอดจนการพิจารณาถึงความไม่มีผลของสัญญาทางปกครอง อันส่งผลอย่างต่อเนื่องถึงพัฒนาการและการวางหลักในเรื่องสัญญาทางปกครองด้วย  จึงอาจกล่าวได้ว่า การนำเรื่องลาภมิควรได้มาใช้ในกฎหมายปกครองจะก่อให้เกิดความสมดุลทางกฎหมายและก่อให้เกิดบรรยากาศที่น่าไว้วางใจระหว่างฝ่ายปกครองและคู่สัญญามากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เนื่องมาจากแนวคิดในเรื่องลาภมิควรได้ซึ่งเน้นย้ำว่าฝ่ายหนึ่งจะต้องได้ประโยชน์และอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเสียประโยชน์ ซึ่งหากพิจารณาตามแนวคิดนี้แล้วจะพบว่าเป็นการยากอย่างยิ่งที่ฝ่ายปกครองซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อการบริการสาธารณะจะอ้างว่าตนไม่ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการของผู้รับเหมา อย่างไรก็ดี การนำทฤษฎีเรื่องลาภมิควรได้มาปรับใช้ในกฎหมายปกครองของฝรั่งเศสนั้นก็มีข้อจำกัดคือ การที่สัญญาทางปกครองจะต้องทำในรูปคำสั่งทางปกครองฝ่ายเดียว ข้อจำกัดนี้ส่งผลให้การกระทำใดๆที่อยู่นอกเหนือจากที่สัญญากำหนดไว้จะถือเป็นความเสี่ยงภัยของคู่สัญญาเองจนกว่าที่ฝ่ายปกครองจะให้สัตยาบันรับรองการกระทำดังกล่าว จึงอาจสรุปได้ว่าการนำทฤษฎีเรื่องลาภมิควรได้มาใช้ในกฎหมายปกครองต้องอยู่บนแนวคิดพื้นฐานที่ว่าจะต้องมีสัญญาทางปกครองเกิดขึ้นแล้ว หากไม่มีสัญญาเกิดขึ้นแต่แรก ก็ไม่อาจยกเรื่องลาภมิควรได้มาเป็นเหตุให้ฝ่ายปกครองต้องรับผิดได้ ทั้งนี้ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
        
        
       
       
       
       
        
       
       
       [๑] อาจแบ่งความรับผิดของฝ่ายปกครองออกเป็น ๓ กลุ่มคือ (๑) ความรับผิดเหนือสัญญา (la responsabilité extracontractuelle) (๒) ความรับผิดตามสัญญา (la responsabilité contractuelle) และ (๓) ความรับผิดกึ่งสัญญา (la responsabilité quasi-contractuelle) ความรับผิดประเภท (๑) และประเภท (๒) มีเงื่อนไขอย่างเดียวกัน กล่าวคือจะต้องเป็นความรับผิดที่เกิดจากสัญญาจัดซื้อจัดจ้างประเภทงานโยธาสาธารณะ (des travaux) การบริการสาธารณะ (le service) และการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ (le fourniture)  หากการปฏิบัติตามสัญญาก่อให้เกิดความรับผิดอย่างใดๆ เช่น การชำระเงินไม่ครบถ้วน จะถือเป็นความผิดประเภทที่ (๒)  ในขณะที่หากไม่มีการปฏิบัติตามสัญญา กล่าวคือไม่มีสัญญาเกิดขึ้น จะถือเป็นความผิดประเภท (๑) ความรับผิดตามสัญญาถือเป็นความรับผิดบนพื้นฐานการกระทำความผิด โดยถือว่าการกระทำความผิดคือการละเมิดภาระหน้าที่ที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ในสัญญา แม้ภาระหน้าที่บางประการมิได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนในสัญญาก็ตาม อาทิ ภาระหน้าที่ในการขอคำแนะนำจากหัวหน้าโครงการโยธาสาธารณะระหว่างการก่อสร้าง เป็นต้น หากพิจารณาตามทฤษฎีกฎหมายปกครองว่าด้วยสัญญาแล้ว จะเห็นว่าไม่สามารถอ้างให้มีความรับผิดโดยปราศจากความผิดได้ ดังนั้น จึงไม่สามารถอ้างเหตุที่ไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้า (l’imprévision) หรือเหตุสุดวิสัย (le fait du prince) มาเพื่อให้ต้องรับผิดในกรณีดังกล่าวได้ ความรับผิดตามสัญญานี้ถือเป็นความรับผิดระหว่างคู่สัญญาแต่ไม่หมายรวมถึงความรับผิดของบุคคลที่สาม
       
       
       [๒] « principe général applicable, même sans texte »
       
       
       [๓] เดิมเรียกกันว่า “ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจในยามสงคราม” (la théorie es pouvoirs de guerre) แต่ในปัจจุบันได้รวมเหตุอื่นนอกจากสงครามไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุที่เกี่ยวกับภัยพิบัติ ทฤษฎีนี้มีขึ้นเพื่อให้ฝ่ายปกครองสามารถใช้อำนาจของตนได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายหรือความชอบด้วยกฎหมาย หรือหลักต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ หรือเพื่อแก้วิกฤติต่างๆที่เป็นภัยต่อประเทศ ดูเพิ่มเติมใน นันทวัฒน์ บรมานันท์, คำอธิบายศัพท์กฎหมายมหาชน ฝรั่งเศส-ไทย, วิญญูชน ๒๕๔๘
       
       
       [๔] โปรดดูเพิ่มเติมใน ปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์, “ตุลาการศาลปกครองกับบทบาทในการสร้างและพิจารณาหลักกฎหมายทั่วไป”, วารสารวิชาการศาลปกครอง, ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๒ (เมษายน-มิถุนายน) ๒๕๕๔ : หน้า ๓๘-๕๒
       
       
       [๕] ซึ่งมีสถานะต่ำกว่ากฎเกณฑ์แห่งกฎหมายระดับรัฐบัญญัติ แต่สูงกว่ากฎเกณฑ์แห่งกฎหมายระดับรัฐกฤษฎีกา
       
       


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1739
เวลา 28 เมษายน 2567 06:19 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)