เก็บตกการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ๒๐๑๒

19 พฤศจิกายน 2555 09:31 น.

       ผ่านไปแล้วสําหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ๒๐๑๒ มีทั้งสมหวังและผิดหวังจากกองเชียร์ทั้งสองฝ่าย แต่สําหรับชาวต่างประเทศยกเว้นอิสราเอล อิหร่านและตาลิบันแล้วส่วนใหญ่ก็เชียร์โอบามากันเกือบทั้งนั้น รวมถึงพี่ไทยเราด้วย ซึ่งก็ได้มีผู้ให้ความเห็นไว้กันมากแล้วทั้งสื่อโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ ผมในฐานะที่มีโอกาสได้รับเชิญจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาให้ไปสังเกตการเลือกตั้งในคราวนี้ที่เมืองใหญ่ๆหลายเมือง อาทิ บอสตัน วอชิงตัน ดี ซี เมดิสัน มิลวอกกี และสุดท้ายที่ชิคาโกจึงจะนําเสนอในมุมที่คิดว่าคงไม่มีใครพูดถึงมากนัก
        
       บรรยากาศการหาเสียงที่ผมได้พบเห็นเป็นไปอย่างสนุกสนาน ไม่เคร่งเครียดแบบเอาเป็นเอาตาย จะเห็นได้จากเวลามีการหาเสียงของพรรคหนึ่ง อีกพรรคหนึ่งก็ยังสามารถถือป้ายเดินผ่านเข้าไปได้ อาจจะมีเสียงโห่บ้างแต่เป็นไปแบบแซวกันมิใช่การโห่ฮาป่าหรือขว้างปาสิ่งของหรือทําร้ายกัน บรรยากาศเหมือนกับการดูฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ซะอย่างนั้น ในหน่วยเลือกตั้งไม่มีเจ้าหน้าที่ตํารวจหรือทหารคอยรักษาความปลอดภัย บรรยากาศเป็นไปอย่างเป็นมิตร ไม่เครียด
        
       วันเลือกตั้งกําหนดให้เป็นวันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายนทุก ๔ ปี ที่กําหนดให้เป็นเดือนพฤศจิกายนเพราะเป็นระยะเวลาหลังการเก็บเกี่ยว ที่กําหนดให้เป็นวันอังคารเพราะแต่ก่อนการเดินทางเป็นไปด้วยความลําบาก ฉะนั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการไปโบสถ์ในวันอาทิตย์ จึงให้ไปโบสถ์วันอาทิตย์ให้เรียบร้อยเสียก่อนแล้วจึงเดินทางในวันจันทร์ ส่วนที่สงสัยกันมากว่าทําไมต้องหลังวันจันทร์แรกด้วย วันอังคารแรกเลยไม่ได้หรือ ที่กําหนดให้เป็นหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายนก็เนื่องเพราะวันที่ ๑ พฤศจิกายนเป็นวันสําคัญของชาวคาทอลิก จึงต้องเลี่ยงวันที่ ๑ พฤศจิกายนออกไปหากวันอังคารแรกเป็นวันที่ ๑ พฤศจิกายนน่ะครับ
        
       ในวันเลือกตั้งส่วนใหญ่แล้วเริ่มเปิดหีบตั้งแต่ ๗ โมงเช้าปิดหีบ ๒ ทุ่ม และที่สําคัญคือไม่ถือเป็นวันหยุดราชการซะด้วยสิ เพราะเขาถือว่าเขาให้เวลามากพอสมควรแล้ว และมีการเลือกตั้งล่วงหน้าด้วย วิธีการเลือกตั้งมีหลายวิธีนอกจากการกาบัตร(ระบาย)แล้วยังมีระบบสัมผัสหรือtouch screen(ที่อดีตประธานาธิบดีบุชเผลอไปกดลงคะแนนให้โอบามานั่นแหละครับ)อีกด้วย
        
       นอกเหนือจากให้ลงคะแนนทางไปรษณีย์แล้วที่นิวเจอร์ซีมีการลงคะแนนผ่านทางอีเมล์หรือแฟ็กซ์ได้ด้วย และที่รัฐเท็กซัสก็ได้มีกฎหมายออกมาเมื่อปี๑๙๙๗ อนุญาตให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งผ่านระบบดิจิตอลกลับมาที่ฐานบินอวกาศฮุสตันได้ ซึ่งในคราวนี้นักบินอวกาศหญิงเชื้อสายอินเดียผู้มีสิทธิ์รายหนึ่งคือ Sunita Williams เลือกที่จะลงคะแนนล่วงหน้าแบบabsentee ballot ก่อนขึ้นสู่อวกาศแทนที่จะเลือกโหวตมาจากอวกาศทั้งที่สามารถทำได้
        
       ส่วนในเรื่องของการนับคะแนนไม่ต้องมีการนับคะแนนด้วยมือแล้ว เพราะมีการประมวลผลผ่านระบบอีเล็กโทรนิก ฉะนั้น จึงจะเห็นได้ว่าเมือปิดหีบเลือกตั้งฝั่งตะวันตกเพียง ๑๒ นาทีNBCก็ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว และคนแพ้ก็ออกมาประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ และตามมาด้วยการปราศรัยของผู้ชนะที่ยกย่องผู้แพ้
        
       ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งขอให้เพียงแต่มีภูมิลําเนาไม่น้อยกว่า ๒๘ วัน(วิสคอนซิน)และต้องลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิ์หากไม่ได้ลงทะเบียนไว้ก่อน ก็ไปขอลงทะเบียนในวันเลือกตั้งก็ได้ การกาบัตรหากกาผิดให้โอกาสแก้ไขถึง ๓ ครั้งเพื่อกาใหม่ ไม่มีโทษสําหรับการฉีกบัตรหรือทําลายบัตร ที่สําคัญก็คือหากเราไม่ชอบคนที่สมัคร เราสามารถเขียนชื่อเพิ่มลงไปในบัตรเลือกตั้งได้อีก ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ในบัตรเลือกตั้งนอกจากจะมีการเลือกประธานาธิบดีแล้วยังมีการเลือกตั้งอื่นอีกแล้วแต่ว่าในเขตนั้นจะมีการเลือกอะไรที่ครบวาระ เช่น ส.ส./ส.ว. หรือในบางรัฐหรือในท้องถิ่นบางแห่ง
        
       ในบัตรเลือกตั้งอาจมีคําถามเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเพื่อให้ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งได้ลงคะแนนว่าเห็นชอบด้วยหรือไม่ นโยบายที่สภานิติบัญญัติของรัฐหรือคณะกรรมาธิการหรือสภาท้องถิ่นต้องการให้ประชาชนออกเสียงจะเรียกว่าการลงประชามติ(referendum) ส่วนนโยบายที่ประชาชนยื่นคําร้องให้บรรจุไว้ในบัตรเลือกตั้งเพื่อลงคะแนนจะเรียกว่าการริเริ่มกฎหมาย(initiative)ซึ่งตามปกติแล้วมักจะเป็นเรื่องของการออกพันธบัตรเพื่อขอความเห็นชอบในการกู้เงินมาดําเนินโครงการต่างๆ
        
       ตัวอย่างที่สำคัญในการลงคะแนนในครั้งนี้ก็คือ การรับรองการสมรสในคนเพศเดียวกัน(same-sex marriage)ของรัฐเมนและแมรีแลนด์ การรับรองให้มีและจำหน่ายกัญชาเพื่อความผ่อนคลาย(recreational use)ของรัฐโคโลราโดและรัฐวอชิงตัน การยอมให้ผู้ป่วยหนัก(terminally ill patients)จบชีวิตของตนเองของรัฐแมสสาชูเสตต์ตามรอยรัฐโอเรกอนและวอชิงตันซึ่งล่วงหน้าไปก่อนแล้ว เป็นต้น
        
       ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้เราได้ยินข่าวเฉพาะ Mitt Romney/Paul RyanจากพรรคRepublican และBarack Obama/Joe Biden จากพรรค Democrat แล้วอันที่จริงยังมี Virgil Goode/Jim Clymer จากพรรคConstitution,Gary Johnson/James P.Gray จากพรรคLiberian Party,Gloria La Riva/Filberto Ramirez,Jr.จากพรรคParty for Socialism and Liberation,Jerry White/Phyllis ScherrerจากพรรคSocialist Equality และ Jill Stein/Ben Manski จากพรรคGreen Party ปรากฎอยู่ในบัตรเลือกตั้งให้เลือกด้วย ที่พิเศษสุดก็คือผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสามารถเขียนชื่อผู้ที่ตนเองต้องการให้เป็นประธานาธิบดีแลรองประธานาธิบดีเพิ่มได้อีกด้วย หากมีคะแนนมากกว่าคนอื่นก็สามารถได้รับเลือกได้เช่นกันถึงแม้ว่าโอกาสจะเป็นไปได้ยากก็ตาม
        
       การหาเสียงทำได้ตลอดเวลาแม้กระทั่งวันเลือกตั้ง ขอเพียงอย่าไปหาเสียงในหน่วยเลือกตั้งเท่านั้นเอง ไม่มีการห้ามขายเหล้าขายสุรา ไม่มีการห้ามนํามหรสพมาแสดง ไม่มีการห้ามทําโพล ไม่มีการห้ามขนคนไปเลือกตั้ง ฯลฯ ไม่มี กกต.เพื่อดําเนินการเลือกตั้งให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดําเนินการเลือกตั้งทั้งหมด กกต.กลาง(FEC)มีหน้าที่เพียงดูแลเรืองค่าใช้จ่ายหรือการเงินเท่านั้น ไม่มีการแจกใบแดงใบหลือง หากมีปัญหาให้ศาลตัดสิน
        
       การหาเสียงในครั้งนี้นอกจากการระดมโฆษณาทางโทรทัศน์กันอย่างมโหฬารแล้วยังได้มีการนําอินเตอร์เน็ตมาเป็นเครืองมือในการหาเสียงค่อนข้างมากและได้มีการพิสูจน์แล้วว่าอินเตอร์เน็ตเป็นวิธีการระดมทุนจากผู้สนับสนุน ตลอดจนเป็นวิธีการประชาสัมพันํธ์นโยบายและประสบการณ์ของผู้สมัครที่ได้ผลอย่างดียิ่ง มีการจัดทําเว็บไซต์ส่วนตัวหรือ blog โดยบรรจุคําปราศรัย สุนทรพจน์และกิจกรรมต่างๆของผู้สมัคร ในขณะเดียวกันก็มีblogอิสระมากมายที่เขียนบทความสนับสนุนผู้สมัคร  รับเลือกตั้งที่ตนเองชอบและตอบโต้กับblogerอื่นๆ ตลอดจนมีการผลิตวิดีทัศน์เพื่อเผยแพร่บนเว็บไซต์ต่างๆ เช่น You Tube เป็นต้น
        
       ซึ่งบางครั้งก็ออกไปในแนวขบขัน แต่ในบางครั้งก็อาจมีการเผยแพร่คลิปหลุดของผู้สมัครฝ่ายตรงกันข้ามที่ทําเปิ่นหรือทําไม่ดีอะไรๆเอาไว้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือคลิปหลุดของรอมนีย์ที่เผลอพูดออกมาเกี่ยวกับการไม่เสียภาษีของประชาชนแต่คอยรับแต่สวัสดิการของรัฐ เป็นต้น
        
       การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการต่อสู้กันระหว่างแนวเศรษฐกิจแบบรัฐสวัสดิการของโอบามากับแนวเศรษฐกิจแบบทุนเต็มรูปแบบของรอมนีย์ที่หนุนหลังโดยนายทุนใหญ่และชาวยิวที่สนับสนุนอิสราเอล และเป็นการแบ่งขั้ว(polarization)อย่างชัดเจนไม่ต่างจากของไทยเรา แต่หลังเลือกตั้งแล้วเขาก็ยอมรับผลการเลือกตั้งแม้ว่าจะไม่พอใจนักก็ตาม แต่ไม่มีการเรียกร้องให้ทหารออกมาปฏิวัติหรือปิดประเทศแต่อย่างใด รอให้ให้มีการเลือกตั้งใหม่แล้วค่อยว่ากันอีกที
        
        
       ----------------


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1793
เวลา 4 พฤษภาคม 2567 13:44 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)