ครั้งที่ 309

27 มกราคม 2556 21:09 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 28  มกราคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2556
        
       
       “เรื่องที่อยากให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทำ”
        
                   เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา มีการรับสมัครผู้สนใจเข้า “ท้าชิง” ตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นวันแรก โดยก่อนหน้านี้ก็มีบรรดา “ผู้ท้าชิง” หลายคนออกมาให้ข่าวหรือไม่ก็เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาของกรุงเทพมหานครอย่างไม่เป็นทางการกันอยู่บ้างแต่ก็ไม่มีอะไรที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม  แต่นี้ต่อไปเมื่อเป็นผู้สมัครแล้ว  ข้อเสนอแนะดังกล่าวก็คงกลายเป็นนโยบายของผู้สมัครผู้นั้นต่อไปแล้วก็คงต้อง “ผูกพัน” ต่อตัวผู้เสนอที่จะต้องทำตามหากได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
                 ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ คงต้องนำเอาเรื่องของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาพิจารณา แต่ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผมขอเล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของ “สถานะ” กรุงเทพมหานครก่อนเพื่อจะได้ทำให้การมองภาพของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชัดเจนขึ้น
                 เมื่อพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2476 มีผลใช้บังคับ ได้มีการจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรีขึ้น  ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514 รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็นจังหวัดเดียวกัน เรียกว่า “จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี” และได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ให้รวมเทศบาลกรุงเทพธนบุรีเป็นผู้รับผิดชอบทั้งในราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น โดยในส่วนท้องถิ่นที่เป็นเทศบาลนครหลวงกรุงเทพธนบุรีให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหลวงกรุงเทพธนบุรีอีกตำแหน่งด้วย
                 ในปี พ.ศ. 2515 ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ปรับปรุงการจัดการปกครองจังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรีเป็น “กรุงเทพมหานคร” จัดการปกครองแบบราชการส่วนภูมิภาคกึ่งท้องถิ่น มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บริหารราชการของกรุงเทพมหานคร และมีสภากรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎรในกรุงเทพมหานครทำหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารราชการของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และยกเลิกเทศบาลนครหลวงกรุงเทพธนบุรีซึ่งเป็นการปกครองแบบราชการส่วนท้องถิ่น
                 ในปี พ.ศ. 2518 ได้มีการยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 และประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เปลี่ยนการปกครองกรุงเทพมหานครจากราชการส่วนภูมิภาคกึ่งท้องถิ่นมาเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว กรุงเทพมหานครจึงไม่มีฐานะเป็นจังหวัดซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาคซ้อนอยู่เช่นจังหวัดอื่นๆ อีกต่อไป โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งคณะผู้บริหาร ได้แก่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมกับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
                 ในที่สุดในปี พ.ศ. 2528 ได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 และประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้กรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น
                   ตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งของราษฎรโดยวิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจที่สำคัญๆ ก็คือ กำหนดนโยบายและบริหารราชการของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมาย สั่งอนุญาต อนุมัติเกี่ยวกับราชการของกรุงเทพมหานคร แต่งตั้งและถอดถอนรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและตำแหน่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางตำแหน่งของกรุงเทพมหานครตามที่กฎหมายกำหนด บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย วางระเบียบเพื่อให้งานของกรุงเทพมหานครเป็นไปโดยเรียบร้อย รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการกรุงเทพมหานครและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายอื่นได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี หรือคณะเทศมนตรีแล้วแต่กรณี โดยอนุโลม
                 นี่คืออำนาจหน้าที่โดยสังเขปของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
       ผมเป็นคนกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด บ้านที่อาศัยอยู่ทุกวันนี้ก็มีอายุกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ในย่านเก่าแก่แห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานครที่ในอดีตเคยเป็นย่านที่เจริญที่สุดย่านหนึ่งของประเทศไทย ในฐานะคนที่อยู่ในกรุงเทพมหานครมาตลอด ผมพบว่า กรุงเทพมหานครนั้นแม้จะมีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วน่าจะสามารถดูแลและแก้ปัญหาของตัวเองได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ แต่ก็กลับปรากฏว่า กรุงเทพมหานครไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาเนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นที่ตั้งของส่วนกลางซึ่งยังมีอิทธิพลเหนือกรุงเทพมหานครอยู่
       คงไม่จำเป็นที่จะกล่าวถึงปัญหาของกรุงเทพมหานครทั้งหมดในที่นี้  แต่ผมอยากจะนำเสนอเพียงปัญหาที่ใกล้ตัวที่สุดที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับการดำรงชีวิตของชาวกรุงเทพมหานครและเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ตามขึ้นมาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องทำก็คือ เรื่องการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย เรื่องมลพิษและเรื่องการจัดระบบจราจร
                 ในเรื่องของการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพมหานครนั้น ผมเข้าใจว่า คงไม่ต้องพูดอะไรมากนัก ทางเท้าซึ่งควรจะต้องเป็นที่สงวนไว้โดยเฉพาะสำหรับให้คนเดินกลายไปเป็นที่ขายสินค้าและอาหารที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น บรรดาจุดผ่อนผันต่างๆ  ที่ไม่ได้เป็นจุดผ่อนผันก็กลายเป็นที่ทำมาหากินอย่างผิดกฎหมายของคนจำนวนมาก การกระทำดังกล่าวนอกจากจะก่อให้เกิดผลกระทบเป็นอย่างมากต่อประชาชนผู้ใช้ทางเท้าแล้ว ยังทำให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองที่ไม่น่าดูและสกปรกด้วย จากประสบการณ์ของผมที่ช่วยทำงานให้กับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราพยายามแก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอยบริเวณทางเท้ารอบสยาม สแควร์มาหลายปีแล้วแต่ก็ไม่สำเร็จ ทดลองใช้วิธีต่างๆ หลายวิธี หมดเงินไปหลายสิบล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถเอาทางเท้าเหล่านั้นกลับคืนมาให้กับประชาชนได้ ใครที่ผ่านไปแถวสยามสแควร์ในตอนเย็นก็จะพบว่า คนเดินถนนไม่สามารถใช้ทางเท้าได้เพราะมีแต่หาบเร่แผงลอยเต็มพื้นที่ทางเท้าไปหมด ทำให้มีคนซึ่งไม่สามารถเดินได้อย่างปกติบนทางเท้าต้องลงมาเดินบนพื้นผิวจราจรและยืนรอรถเมล์อยู่บนถนน
                 บริเวณสยามสแควร์นั้นมีพื้นที่ประมาณ 63 ไร่ มีทางเท้า 3 ด้านคือ ด้านติดถนนพญาไท ถนนพระรามที่ 1และถนนอังรีดูนังต์ รวมแล้วมีความยาวประมาณ 900 เมตร เมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2553 ตอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มเข้าไปดำเนินการเอาทางเท้าคืนมาเป็นของประชาชน พบว่ามีหาบเร่แผงลอยประมาณ 400 แผง แต่ในปัจจุบันหาบเร่แผงลอยได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยมีจำนวนประมาณ 1,000 แผง แล้วครับ มองไม่เห็นหนทางเลยว่าทำอย่างไรที่จะให้ทางเท้าบริเวณรอบสยามสแควร์กลายเป็นทางเท้าของคนเดินถนนแต่เพียงอย่างเดียว
                 ความพยายามแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอยบริเวณสยามสแควร์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้นไม่ได้ทำกันเองเฉพาะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราไปพบ ขอร้อง ขอความร่วมมือ ขอความช่วยเหลือจากทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่รับผิดชอบ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตปทุมวัน ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงแต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลยครับ เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายระดับที่ไปพบก็ไม่สามารถทำอะไรได้เช่นกัน
                 มีเสียงพูดกันมากว่า ผลประโยชน์เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้หาบเร่แผงลอยสามารถยึดทางเท้าทั่วกรุงเทพมหานครใช้เป็นพื้นที่ทำมาค้าขายได้ ว่ากันว่าบรรดาผู้กระทำผิดกฎหมายเหล่านั้นต้องจ่ายค่าเช่า ค่าดูแล ค่าคุ้มครอง ให้กับ “ผู้ที่เกี่ยวข้อง” เพื่อแลกกับการทำมาค้าขายบนทางสาธารณะที่เป็นของประชาชนใช้ร่วมกัน
                 การแก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอยจึงเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่สำหรับผมแล้ว 4 ปีที่ผ่านมา ถือว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิงครับ เพราะหากพิจารณาเฉพาะจำนวนหาบเร่แผงลอยบริเวณสยามสแควร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ก็ชัดเจนแล้วว่าไม่มีใครช่วยแก้ปัญหาให้กับคนกรุงเทพฯที่ต้องสัญจรไปมาในบริเวณนั้นได้เลยครับเพราะ “ฝ่ายตรงข้าม” มีวิธีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ทำให้ฝ่ายที่ต้องใช้ทางเท้าเป็นทางสัญจรต้องพ่ายแพ้อย่างไม่เป็นท่า
                 อีกส่วนหนึ่งที่น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หาบเร่แผงลอยยังคงสามารถยึดครองทางเท้าในกรุงเทพมหานครได้ก็คือ บรรดาพ่อค้าแม่ค้าและบรรดาผู้มีอิทธิพลที่ “คุ้มครอง” พ่อค้าแม่ค้าเป็น “ฐานเสียง” ที่สำคัญของพรรคการเมืองหรือนักการเมืองบางคน จนทำให้ไม่มีใครอยากจะเข้าไปแก้ปัญหาเนื่องจากจะไปกระทบฐานเสียงครับ
                 ก็คงต้องขึ้นอยู่กับคนกรุงเทพมหานครแล้วว่า จะเลือกผู้ว่าราชการแบบไหน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่กล้าทำเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่พยายามอ้าปากพูดว่า เห็นใจคนจนบ้าง เห็นใจผู้ไม่มีที่ทำกินบ้าง แต่แท้ที่จริงแล้วกลัวฐานเสียงของตัวเองจะหายไปจนทำให้ต้องหลับหูหลับตาไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ปล่อยให้มีคนยึดทางเท้าเป็นที่ทำมาหากินเต็มกรุงเทพมหานครครับ
                 เรื่องต่อมาคือเรื่องมลพิษนั้น คนกรุงเทพมหานครคงทราบดีอยู่แล้วว่า ปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครเป็นต้นเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษ รวมไปถึงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ที่ไม่มีมาตรการในการป้องกันฝุ่นละอองที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร ในเรื่องปัญหาการจราจรซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหามลพิษนี้คงเป็นการยากที่จะให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเข้าไปแก้ไขเพราะเป็นเรื่องที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  “ไม่มีอำนาจครับ” ครับ ลองมาดูข้อมูลเก่าที่ผมได้เคยเขียนไปแล้วในบทบรรณาธิการครั้งที่ 302 ที่ได้เผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2555 โดยส่วนหนึ่งของบทบรรณาธิการ ผมได้นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “ไม่มีอำนาจ” ในการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครว่า “...ลองมาพิจารณาเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนกรุงเทพมหานครแต่กลับกลายเป็นเรื่องที่ “ส่วนใหญ่” แล้ว “ส่วนกลาง” เป็นคนเข้ามาบริหารจัดการ นั่นก็คือเรื่องการขนส่งมวลชน ด้วยความที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศ ราชการส่วนกลางตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ศูนย์กลางทางธุรกิจทุกประเภทตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ทำให้ผู้คนหลั่งไหลมาอยู่ที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจนทำให้เกิดปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและปัญหาเรื่องการขนส่งมวลชน เรื่องที่อยู่อาศัยนั้นปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือ การเคหะแห่งชาติซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย ในขณะที่เรื่องของการขนส่งมวลชนเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน  ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมจะขอกล่าวถึงเพียงเรื่องเดียวก่อนคือเรื่องการขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของกรุงเทพมหานครในปัจจุบันครับ
       เริ่มต้นจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 281 ที่ว่า ...รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตน เองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นและส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แก้ไขปัญหาในพื้นที่ ... ประกอบกับอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 89 (8) ที่ให้อำนาจกรุงเทพมหานครในการดำเนินกิจการขนส่งในเขตกรุงเทพมหานคร ก็จะพบว่า อำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะด้านขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นของกรุงเทพมหานครซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ นี่คือหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่ต้องทำความเข้าใจและยอมรับกันก่อน
       ต่อมา ลองมาพิจารณาดูว่า การขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครเป็นอย่างไร ?
       การขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครมีหลายรูปแบบทั้งเรือและรถประเภทต่าง ๆ ในส่วนของเรือนั้น กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม รับผิดชอบดูแลการขนส่งในแม่น้ำเจ้าพระยา คือเรือข้ามฟากและเรือด่วน ส่วนกรุงเทพมหานครรับผิดชอบดูแลการเดินเรือในคลองแสนแสบ
       รถเมล์ รับผิดชอบโดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (ขสมก.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม และ ขสมก. ได้ให้สัมปทานกับเอกชนจำนวนหนึ่งเพื่อทำรถร่วม
       รถสามล้อและรถแท็กซี่ อยู่ภายใต้การจัดระบบและควบคุมของกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม
       รถตู้โดยสาร อยู่ภายใต้การจัดระบบและควบคุมของกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม
       รถเมล์ BRT อยู่ภายใต้การจัดระบบและควบคุมของกรุงเทพมหานคร
       รถไฟฟ้า BTS อยู่ภายใต้การจัดระบบและควบคุมของกรุงเทพมหานคร
       รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง อยู่ภายใต้การจัดระบบและควบคุมของกรุงเทพมหานคร
       รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (MRT) อยู่ภายใต้การจัดระบบและควบคุมของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม
       Airport link อยู่ภายใต้การจัดระบบและควบคุมของบริษัทรถไฟฟ้า รฟท. จำกัด บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม
       ก็ต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่าข้อมูลที่ผมได้เสนอไปข้างต้นนี้ผมพยายามสอบถามจากเพื่อนข้าราชการที่อยู่ในหน่วยงานที่มีข้อมูลเหล่านี้ แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่ข้อมูลที่ผมได้มาอาจไม่ครบหรือมีข้อผิดพลาด หากใครจะนำไปใช้อ้างอิงก็คงต้องตรวจสอบก่อนครับ ที่ผมนำข้อมูลข้างต้นมาเสนอก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครนั้นมีอยู่มากและมีความหลากหลายในเรื่องรูปแบบ และกรุงเทพมหานครก็ได้เข้าไปรับผิดชอบการขนส่งมวลชนอยู่เพียงไม่กี่ประเภท นอกนั้นราชการส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดครับ
       นี่ยังไม่นับรวมบรรดา “ถนน” ในกรุงเทพมหานครที่มีอยู่หลายรูปแบบแต่กรุงเทพมหานครกลับรับผิดชอบเฉพาะแต่ถนนพื้นฐานเท่านั้น ถนนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทางพิเศษประเภทต่างๆ ต่างก็อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของส่วนกลางเช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ดอนเมืองโทลล์เวย์ มอเตอร์เวย์ ทางด่วนสายบางนา - ชลบุรี ต่างก็อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐในส่วนกลางทั้งนั้นครับ
       ส่วน “การจัดระบบจราจร” นั้น แม้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 89 (7) จะให้อำนาจกรุงเทพมหานครในการจัดการวิศวกรรมจราจร แต่ตำรวจผู้จัดการจราจรทั้งหมดก็เป็นข้าราชการของส่วนกลาง
       นอกจากนี้ หากจะพูดถึง “จำนวนรถยนต์” ในกรุงเทพมหานครแล้วยิ่งน่ากลัวเข้าไปอีก ปัจจุบันเรามีรถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งหมดในกรุงเทพมหานครกว่า 7 ล้านคัน ขณะที่ถนนในกรุงเทพมหานครสามารถรองรับรถยนต์ได้เพียง 1.6 ล้านคันเท่านั้น การจำกัดจำนวนรถยนต์ไม่สามารถทำได้โดยกรุงเทพมหานครเพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ...”
                   คิดๆ ดูแล้วก็สงสารผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มีอยู่กว่า 4 ล้านคนนะครับ แม้จะเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้แล้ว แต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็คงทำอะไรไม่ได้มากนัก แม้กรุงเทพมหานครจะมีเงิน มีงบประมาณเป็นจำนวนมากแต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหา “รถติด” ซึ่งเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดและสำคัญที่สุดของกรุงเทพมหานครได้เพราะกรุงเทพมหานครถูกส่วนกลางแย่งอำนาจไปใช้เสียหมด
                   แล้วเราจะเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไปทำไมกันครับ หรือว่าเลือกให้ไปเดินยิ้มถ่ายรูปไปวันๆ โดยที่คนกรุงเทพฯ เองก็ยังคงต้องทุนทุกข์ทรมานกับปัญหารถติด ปัญหามลพิษที่เกิดจากรถติด ปัญหาหาบเร่แผงลอยต่อไปอย่างไม่รู้จบครับ !!!
                  
                      ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ เพียงบทความเดียว คือบทความเรื่อง  ““สถานการณ์ที่ไม่ปกติ” (les circonstances exceptionnelles)ในระบบกฎหมายฝรั่งเศส” ที่เขียนโดย ดร. ปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์ พนักงานคดีปกครองชำนาญการ สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความด้วยครับ
       
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 ครับ
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์  
        


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1817
เวลา 20 เมษายน 2567 11:54 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)