ครั้งที่ 323

11 สิงหาคม 2556 21:06 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2556
        
       “ชุมนุมกันอีกแล้ว”
        
                 สองสัปดาห์ที่ผ่านมาเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างเกิดขึ้นในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่การที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี เสด็จออกจากโรงพยาบาลศิริราชแปรพระราชฐานไปประทับยังวังไกลกังวล หัวหิน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ในวันเดียวกันนั้นเอง คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในพื้นที่ 3 เขตของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตดุสิต เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ระหว่างวันที่ 1 - 10 สิงหาคม 2556 โดยฝ่ายความมั่นคงประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่าจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเนื่องจากมีการประกาศว่าจะมีการชุมนุมของมวลชนหลายกลุ่มเพื่อคัดค้านและประท้วงไม่เห็นด้วยกับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีคนมาร่วมชุมนุมมากและอาจเข้าไปขัดขวางการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาก็มีข่าวว่าจะมีการรัฐประหารตามมาเป็นระยะ ๆ ในช่วง 2 - 3 วัน และนอกจากนี้ ก็ยังมีกรณีที่นายกรัฐมนตรีออกข่าวเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2556 เรื่องข้อเสนอทางออกประเทศไทยว่าจะเชิญตัวแทนของกลุ่มต่าง ๆ มาร่วมกันเพื่อหาทางออกให้กับประเทศไทย  สุดท้ายในขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ ก็เกิดความวุ่นวายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ดูแล้วก็ทั้งเสียใจและสมเพชปนกัน เนื่องจากการแสดงออกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งที่ “เหลือรับ” รวมไปถึงการประท้วงอย่างเอาจริงเอาจังและเอาเป็นเอาตายกับเรื่องอะไรก็ไม่รู้จนทำให้การอภิปราย “เนื้อหา” ของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแทบจะทำไม่ได้
                 ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมคงไม่พูดถึงเรื่องร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเพราะได้เคยพูดและเป็นไปพอสมควรแล้ว นอกจากนี้ ก็มีนักวิชาการออกมาให้ความเห็นเรื่องนิรโทษกรรมกันเป็นจำนวนมาก แต่ผมจะขอเขียนถึงเรื่องเกี่ยวกับการกำหนด “กติกา” สำหรับการชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีการประกาศใช้กฎหมายรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรครับ
                 ในประเทศไทยมีการชุมนุมทางการเมืองที่ทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายครั้ง แต่เราก็ไม่เคยมี “กติกา” สำหรับใช้ในการชุมนุม รวมไปถึง “กติกา” สำหรับสลายการชุมนุมที่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย  คงจำกันได้ว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวรวมตัวกันเพื่อขัดขวางไม่ให้รัฐบาลเข้าไปแถลงนโยบายในรัฐสภาเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งต่อมาผู้เกี่ยวข้องก็ได้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยุติการใช้อาวุธต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมพร้อมทั้งขอให้กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองโดยห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อาวุธหรือใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมเป็นการชั่วคราวด้วย ในตอนนั้นศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2551 โดยคำสั่งดังกล่าวมีสาระสำคัญ 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นความเห็นศาลปกครองว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบอันจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  ในส่วนที่สอง เกี่ยวกับเรื่องการสลายการชุมนุม ศาลปกครองมีความเห็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสลายการชุมนุมจะต้องกระทำเท่าที่จำเป็นโดยคำนึงถึงความเหมาะสม มีลำดับขั้นตอนตามหลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุมของประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อาจดำเนินการตามอำเภอใจได้ ต่อมา ในการพิพากษาคดีดังกล่าว ศาลปกครองกลางก็ได้กล่าวไว้ในคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2555 ตอนหนึ่งว่า “... เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 นับแต่เวลา 05.00 นาฬิกาถึง 24.00 นาฬิกา ได้นำอาวุธปืน วัตถุระเบิดชนิดต่าง ๆ อันมีอันตรายโดยสภาพมาใช้ในการสลายการชุมนุม โดยมิได้ปฏิบัติตามหลักการมาตรฐานของสากลซึ่งต้องเริ่มจากการเจรจาต่อรอง หากไม่สามารถเจรจาต่อรองได้จึงจะใช้มาตรการสลายการชุมนุมจากเบาไปหาหนัก โดยใช้โล่กำบังผลักดันผู้ชุมนุม หากไม่ได้ผลจึงจะใช้มาตรการฉีดน้ำจากรถดับเพลิง ซึ่งมีความแรงพอที่จะผลักดันกลุ่ม ผู้ชุมนุมให้ออกจากเป้าหมายที่ประสงค์จะเปิดทางได้ หากใช้น้ำฉีดไม่ได้ผลจึงค่อยใช้แก๊สน้ำตา ทั้งสามขั้นตอนดังกล่าว เจ้าหน้าที่จำต้องประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบก่อน .........”
                  จากทั้งคำสั่งและคำพิพากษาศาลปกครองข้างต้น ไม่เคยมีใครออกมาชี้แจงหรือให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า มาตรฐานสากลในการสลายการชุมนุมคืออะไร แต่อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 2 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้มีการประกาศใช้กฎหมายรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรเพียง 1 วัน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) พร้อมผู้เกี่ยวข้องได้แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ถึงรายละเอียดของแผนปฏิบัติการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้เพื่อดูแลการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นสรุปความได้ว่า หลักสำคัญของการใช้กำลังในการควบคุมฝูงชนนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องพึงระลึกว่าการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามกฎหมาย เมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่จะต้องพิจารณาถึงความชอบธรรมในการใช้กำลังตามกฎหมายที่กำหนด และหลักสิทธิมนุษยชนและหลักควบคุมฝูงชนที่เป็นหลักปฏิบัติสากล ซึ่งการใช้กำลังตามหลักการดังกล่าวหมายความรวมถึงการใช้อุปกรณ์และอาวุธประกอบการใช้กำลังด้วย  ส่วนการจัดการกับการชุมนุมที่ทำผิดกฎหมายนั้น เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะต้องทำตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และหากมีการใช้กำลัง เจ้าหน้าที่จะต้องยึดหลัก 4 ประการคือ
       -       หลักแห่งความจำเป็น ให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเท่าที่จำเป็นโดยต้องพยายามใช้วิธีการอื่นก่อนการใช้กำลังที่อาจเกิดอันตรายต่อผู้ชุมนุม
       -       หากจำเป็นต้องใช้กำลังเพราะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แล้ว ต้องเลือกวิธีจากเบาที่สุดและเป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุมน้อยที่สุดก่อน โดยต้องยึดหลักแห่งความได้สัดส่วน คือ ต้องใช้วิธีการและกำลังด้วยความเหมาะสมสอดคล้องกับภยันตรายที่คุกคามเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองและผู้อื่น
       -       หลักความถูกต้องตามกฎหมาย คือ การพิจารณาใช้กำลัง เครื่องมือ หรือยุทโธปกรณ์ตามหลักสากลกำหนดไว้
       -       หลักความรับผิดชอบ ให้พิจารณาถึงผลที่เกิดขึ้นจากการใช้กำลังโดยต้องมีผู้รับผิดชอบในการสั่งการหรือการปฏิบัติและให้มีการจัดเตรียมบรรเทาผลร้ายหรือเยียวยาหลังใช้กำลังเสร็จสิ้นด้วย
                 สำหรับหลักการใช้กำลังสากลในการใช้กำลังปฏิบัติการควบคุมฝูงชนนั้น รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่า มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 10 ขั้นจากเบาไปหาหนัก คือ
                 1. วางกำลังในเครื่องแบบปกติ
                 2. การจัดรูปขบวน
                 3. การวางกำลังพร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน
                 4. เคลื่อนไหวกดดัน
                 5. ใช้คลื่นเสียง
                 6. แก๊สน้ำตา
                 7. บังคับร่างกาย
                 8. ฉีดน้ำ
                 9. กระสุนยางและอุปกรณ์เฉพาะบุคคล
                 10. อาวุธปืนเฉพาะบุคคล ใช้เพียงกระสุนยางเท่านั้น
                 ก่อนจะเริ่มขั้นตอนที่ 5 เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องประกาศแจ้งเตือนต่อผู้ชุมนุมก่อนทุกครั้ง และการใช้อุปกรณ์อาจไม่เรียงลำดับ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น อาจใช้โล่กระบองก่อนใช้แก๊สน้ำตา โดยผู้บัญชาการในพื้นที่จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าจะใช้อะไรก่อน
                 การแถลงของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้เกี่ยวข้องข้างต้น ผมเรียบเรียงมาจากข่าวที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ อาจมีผิดบ้างก็ต้องขออภัยไว้ด้วยครับ
                 เมื่อได้ฟังคำแถลงข้างต้นผ่านสถานีโทรทัศน์ก็รู้สึกว่า การบริหารจัดการการชุมนุมของประชาชนเริ่มเป็นระบบมากขึ้น จากเดิมที่การสลายการชุมนุมไม่เป็นระบบและเป็นไปตามสถานการณที่เกิดขึ้น มาจนถึงการที่ศาลปกครองนำเอาคำว่า “หลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุม” มาเขียนไว้ในคำสั่งเมื่อปี พ.ศ. 2551 ตามมาด้วยคำพิพากษาศาลปกครองกลางในปี พ.ศ. 2555 ที่กล่าวไว้ว่า  “...หลักการตามกฎหมายของสากลซึ่งต้องเริ่มจากการเจรจาต่อรอง หากไม่สามารถเจรจาต่อรองได้จึงจะใช้มาตรการสลายการชุมนุมจากเบาไปหาหนัก โดยใช้โล่กำบังผลักดันผู้ชุมนุม หากไม่ได้ผลจึงจะใช้มาตรการฉีดน้ำจากรถดับเพลิง ซึ่งมีความแรงพอที่จะผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมให้ออกจากเป้าหมายที่ประสงค์จะเปิดทางได้ หากใช้น้ำฉีดไม่ได้ผลจึงค่อยใช้แก๊สน้ำตา ทั้งสามขั้นตอนดังกล่าว เจ้าหน้าที่จำต้องประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบก่อน .........”  แล้วก็มาถึงการแถลงของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้เกี่ยวข้องที่กล่าวไปแล้วข้างต้นที่มีความชัดเจนมากขึ้น อย่างน้อยก็ทำให้ผู้ชุมนุมได้ทราบถึงวิธีการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้ในการดำเนินการกับการชุมนุมหากการชุมนุมนั้นกลายเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วก็เป็นขั้นตอนที่มีการแจ้งเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อที่จะได้ไม่เกิดข้อกล่าวหาว่ามีการจัดการกับการชุมนุมเกินกว่าเหตุ
                 ปัญหาสำคัญของเรื่องการชุมนุมคงอยู่ที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการวางระบบการชุมนุม เรื่องการมีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะเป็นสิ่งที่ผมได้เคยพูดเคยเขียนเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 189 และ 193 ถึงความจำเป็นของประเทศไทยที่จะต้องมีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะแต่จนบัดนี้เราก็ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ ในเมื่อเราไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะ การชุมนุมสาธารณะจึงเป็นไปตามอำเภอใจของผู้จัดการชุมนุมทำให้การชุมนุม “ขาดระเบียบ” ผู้ชุมนุมสามารถกำหนดวิธีการชุมนุมแบบไหนก็ได้ นึกอยากจะ“ดาวกระจาย” ไปที่ไหนก็ทำได้หมดโดยไม่สนใจว่าจะทำให้ใครเดือดร้อนหรือจะสร้างปัญหาให้กับการจราจรในพื้นที่ต่าง ๆ หรือไม่ พอเกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นก็มักจะกล่าวอ้างไปในทำนองเดียวกันว่าไม่ใช่ผู้ชุมนุมในกลุ่มของตัวเองบ้าง เป็นฝ่ายตรงกันข้ามแฝงตัวเข้ามาบ้าง เป็นมือที่สามบ้าง
                 การไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมจึงทำให้การชุมนุมขาดความเป็นระเบียบ ไม่มีขั้นตอน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการดำเนินการของ “แกนนำ” แต่เพียงผู้เดียว การเปลี่ยนสภาพจาก “การชุมนุมโดยสงบ” มาเป็น “การจลาจล” จึงมีโอกาสเป็นไปได้ง่าย และเมื่อถึงเวลานั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามาสลายการชุมนุม ความสูญเสียจึงเกิดขึ้นอย่างที่เคยเห็นกันมาแล้ว
                 ถ้าจะแก้ที่ต้นเหตุ ก็ควรรีบจัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะโดยเร็ว !!!
                 ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความที่เคยเผยแพร่ไปแล้วเมื่อ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา แต่ผมได้ขออนุญาตเจ้าของบทความนำมาเผยแพร่ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาของบทบรรณาธิการครั้งนี้ บทความดังกล่าวคือ บทความเรื่อง “หลักสากลในการกำลังและอาวุธของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการยุติการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ที่เขียนโดย คุณปกรณ์  นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา บทความที่สอง เป็นบทความของ อาจารย์ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขียนเรื่อง “คำตอบและคำถามเรื่องเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไทยกับการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสืบเนื่องจากคำอภิปรายในงานวิชาการรำลึกศาสตราจารย์ ไพโรจน์ ชัยนาม ครั้งที่ 3 เรื่อง “บทบาทศาลรัฐธรรมนูญในการปกป้องรัฐธรรมนูญ : ศึกษาบทเรียนจากกฎหมายต่างประเทศ”   บทความสุดท้าย เป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ที่เขียนเรื่อง “หากกระบวนการยุติธรรมดี ไม่ต้องมีนิรโทษกรรม”  ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
        
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2556
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1870
เวลา 19 เมษายน 2567 17:00 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)