ครั้งที่ 324

25 สิงหาคม 2556 21:30 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2556
       
       “ความเป็นกลางทางการเมือง”
       
                   พักนี้มีแต่ข่าว “ความเสื่อมถอย” ของสภาผู้แทนราษฎรออกมามาก คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็น “การทำลายตัวเอง” ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนที่ใช้เวทีประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่ระบาย “ความโกรธแค้น” จนทำให้การประชุมสภาผู้แทนราษฎรกลายเป็นการประชุมที่ "ไม่มีสาระ" เพราะมีแต่การประท้วงทุกนาทีเพื่อขัดขวางการพิจารณาเนื้อหาของร่างกฎหมายหรือร่างรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการแสดงกิริยาแบบ “สุดแสนจะทน” ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคน ทำให้ “คุณค่า” ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “ผู้ทรงเกียรติ” หมดไป ครับ
                ข่าวข้างต้นกลบข่าวสำคัญที่สุดข่าวหนึ่งในแวดวง “กฎหมายมหาชน” ข่าวหนึ่งไปอย่างน่าเสียดาย นั่นคือ ข่าวของการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้
                 เรื่องเดิมมีอยู่ว่า นายวสันต์  สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ทำหนังสือแจ้งต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอลาออกจากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ส่วนเหตุผลที่ขอลาออกก็เนื่องมาจากได้ตกลงกับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้ว่าจะดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่เกิน 2 ปี  เมื่อนายวสันต์ฯ  ลาออกจึงต้องมีกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่
                 คงไม่ต้องกล่าวถึง “บทบาท” ของนายวสันต์ฯ ที่ผ่านมาคงจำกันได้และทราบกันดีอยู่แล้วว่า สมัยที่ยังเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นั้น  นายวสันต์ฯ ได้สร้าง “ความแปลกใหม่” ให้กับวงการกฎหมายมาแล้วหลายๆ เรื่อง แล้วก็มากขึ้นไปอีก เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ
                 เมื่อคนหนึ่งพ้นไป ก็ต้องมีคนใหม่มา
                 ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ. 2550 ประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 9  คน (รวมประธานศาลรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว) มีที่มาจาก 4 แหล่งด้วยกัน ซึ่งนายวสันต์ฯ นั้นมีที่มาจาก ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ตามมาตรา 204(3) แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเมื่อนายวสันต์ฯ ลาออก จึงต้องดำเนินการตามมาตรา 206 แห่งรัฐธรรมนูญ คือ สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ โดยรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งเลือกกันเองให้เหลือคนหนึ่ง โดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒินี้ที่จะต้องดำเนินการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน  30 วัน นับแต่วันที่มีเหตุทำให้ต้องมีการเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว จากนั้นก็ต้องเสนอรายชื่อผู้ได้รับการเลือกรวมทั้งความยินยอมของผู้นั้นต่อประธานวุฒิสภาเพื่อมีมติให้ความเห็นชอบบุคคลดังกล่าวต่อไป รายละเอียดของการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ปรากฏอยู่ในมาตรา 206 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันครับ
                 มีข่าวออกมาว่า มีการเปิดรับสมัครผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนนายวสันต์  สร้อยพิสุทธิ์ ในระหว่างวันที่ 6-13 สิงหาคม ปรากฏว่ามีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาจำนวน 9 คน
                 ไม่มีข่าวออกมามากนักเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมที่จะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อศึกษาจากตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็จะพบว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 205 แห่งรัฐธรรมนูญ เช่น ต้องเคยดำรงตำแหน่งระดับสูงบางตำแหน่งมาก่อน ต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือไม่เคยดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามของผู้ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 102 ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นผมไม่ทราบว่ามีกระบวนการอย่างไรในการสรรหาครับ
                 กลับมาพิจารณาดูสภาพสังคมในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า ความรักความเกลียดทำให้สังคมของเราแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดแจน แต่ละขั้วต่างก็มี “ผู้สนับสนุน” ที่บางคนก็ชัดเจน บางคนก็ไม่ชัดเจน บรรดา “ผู้สนับสนุน” เหล่านี้แทรกตัวอยู่ในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาครัฐ ในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ต่อมา เมื่อมีปัญหา 2 มาตรฐานเกิดขึ้นในการพิจารณาคดี คนจำนวนมากก็พุ่งเป้าโจมตีไปยังฝ่ายตุลาการว่า “เลือกข้าง” ด้วยเช่นกัน ศาลรัฐธรรมนูญนับได้ว่าเป็นองค์กรตุลาการที่ถูกโจมตีมากที่สุดว่า “ไม่เป็นกลาง”
                 อันที่จริง ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้สร้าง “เครื่องมือ” ที่เป็น “หลักประกัน” ในการทำงานของตัวเองอยู่บ้าง  ยกตัวอย่างเช่น ประมวลจริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีผลใช้บังคับไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 ในข้อ 9 ก็ได้กำหนดเอาไว้ว่า “ยึดมั่นความเป็นอิสระ และเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่หวั่นไหวต่อกระแสหรือแรงกดดันใดๆ” แต่ที่ผ่านมา ในหลายๆ คำวินิจฉัยหรือคำสั่ง รวมทั้งในการให้สัมภาษณ์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคน เรากลับพบว่ามีความน่าสงสัยในความเป็นกลางอยู่บ้างไม่มากก็น้อย
                 นอกจากนี้ คุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญก็ไม่มีการกำหนดถึงเรื่อง “ความเป็นกลางทางการเมือง” เอาไว้ด้วย
                 ในเรื่อง “ความเป็นกลางทางการเมือง” นั้น เราอาจพิจารณาเทียบเคียงได้จากเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับข้าราชการพลเรือน โดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของข้าราชการพลเรือนในทางการเมืองไว้ในหลายมาตรา เช่น มาตรา 43 กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญมีเสรีภาพในการรวมกลุ่ม แต่ต้องไม่กระทบต่อประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะและต้องไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ส่วนมาตรา 81 ก็กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ มาตรา 82(9) กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ราชการและในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชน กับจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการว่าด้วยมารยาททางการเมืองของข้าราชการด้วย
                 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยมารยาททางการเมืองของข้าราชการการเมือง ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2499 กำหนดไว้ว่าข้าราชการพลเรือนจะนิยมหรือเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใดๆ ที่ตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายและจะไปในการประชุมของพรรคการเมืองนั้นเป็นการส่วนตัวก็ได้ แต่ในทางที่เกี่ยวกับประชาชนและในหน้าที่ราชการจะต้องกระทำตัวเป็นกลางปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลโดยไม่คำนึงถึงพรรคการเมือง และต้องไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามดังต่อไปนี้
       (1) ไม่ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองใดๆ เว้นแต่ผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภท 2 หรือข้าราชการการเมือง
       (2) ไม่ใช้สถานที่ราชการในกิจการทางการเมือง
       (3) ไม่วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลให้ปรากฏแก่ประชาชน
       (4) ไม่แต่งเครื่องแบบราชการไปร่วมประชุมพรรคการเมืองหรือไปร่วมประชุมในที่สาธารณะสถานใดๆ อันเป็นการประชุมที่มีลักษณะทางการเมือง
       (5) ไม่ประดับเครื่องหมายพรรคการเมืองในเวลาสวมเครื่องแบบราชการหรือในเวลาราชการ หรือในสถานที่ราชการ
       (6) ไม่แต่งเครื่องแบบของพรรคการเมืองเข้าไปในสถานที่ราชการ
       (7) ไม่บังคับให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือประชาชนเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองและไม่กระทำการในทางให้คุณให้โทษ เพราะเหตุที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือประชาชนนิยมหรือเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใดที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย
       (8) ไม่ทำการขอร้องให้บุคคลใดอุทิศเงินหรือทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง
       (9) ไม่โฆษณาหาเสียงเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง หรือแสดงการสนับสนุนพรรคการเมืองใดๆ ให้เป็นการเปิดเผยในที่ประชุมพรรคการเมือง และในที่ที่ปรากฏแก่ประชาชน หรือเขียนจดหมายหรือบทความไปลงหนังสือพิมพ์ หรือพิมพ์หนังสือหรือใบปลิวซึ่งจะจำหน่ายแจกจ่ายไปยังประชาชน อันเป็นข้อความที่มีลักษณะของการเมือง
       (10) ไม่ปฏิบัติหน้าที่แทรกแซงทางการเมือง หรือใช้การเมืองเป็นเครื่องมือเพื่อกระทำกิจการต่างๆ อาทิเช่น วิ่งเต้นติดต่อกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือพรรคการเมืองเพื่อให้นำร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติเสนอสภาฯ หรือตั้งกระทู้ถามรัฐบาล
       (11) ในระยะเวลาที่มีการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่แสดงออกโดยตรงหรือ โดยปริยาย ที่จะเป็นการช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง และในทางกลับกัน ไม่กีดกัน ตำหนิติเตียน ทับถม หรือให้ร้ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง
       ข้าราชการผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนระเบียบนี้ ถือว่ากระทำผิดวินัยฐานไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ
       คงเห็นถึง “ข้อแตกต่าง” ระหว่าง “ข้าราชการพลเรือน” ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยมารยาททางการเมืองของข้าราชการการเมือง ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2499 กับ ”ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ตามที่กำหนดไว้ในประกาศศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องประมวลจริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 แล้วว่า มีความเข้มข้นที่ไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ตุลาการน่าจะต้องมีมากกว่าข้าราชการพลเรือน
       ที่ผ่านมา เรามีปัญหาและมีข้อสงสัยอย่างมากถึง “ความเป็นกลาง” ของตุลาการซึ่งในบางเรื่องก็อาจเป็นเพียงข้อสงสัยหรือเป็นเรื่องของความไม่ไว้วางใจเป็นส่วนตัวอันสืบเนื่องมาจากพฤติการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตก่อนที่จะมาเป็นตุลาการ ในวันนี้ เมื่อมีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ แม้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมิได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้ว่าจะต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองอันเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิจะ “กรุณา” เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ก็ควรจะต้องดำเนินการให้ได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ “ควรจะเป็น” เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่ทั่วไปแล้วว่า ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาบางคนนั้นนอกจากจะไม่เป็นกลางทางการเมืองแล้วยังแสดงตัวออกมาอย่างชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายใดกลุ่มใดอีกด้วย
       ผมไม่ทราบจริงๆ ว่า  กระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาได้ทำการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้สมัครเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้สาธารณชนทราบหรือไม่ รวมทั้งมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบการพิจารณาสรรหาด้วยหรือไม่ หากคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิทำเช่นที่ว่า ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ “น่าจะ” ทำให้เราได้ตัวบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในด้านรัฐธรรมนูญจริงๆ และมีความเป็นกลางทางการเมืองเข้ามาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในทางกลับกัน หากกระบวนการสรรหาเป็นกระบวนการภายในที่ “ทำกันเอง” ก็คงต้องจับตาดูกันอย่างตั้งใจว่าผู้ได้รับการสรรหาเป็นใคร มีความเป็นกลางทางการเมืองหรือไม่
       ก็ได้แต่หวังว่า เราคงได้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดี มีความเป็นกลางทางการเมือง มีความเชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง
       ไม่อยากให้เป็น “คราวเคราะห์” ซ้ำซากของประเทศไทยอีกที่แม้จะ “เก่าไปใหม่มา” แต่ก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ต่อระบบกฎหมายและต่อประเทศชาติอย่างไม่รู้จบครับ!!!          
                 ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอเพียงบทความเดียว คือบทความเรื่อง “สื่อเลือกข้างได้หรือไม่” ที่เขียนโดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง ขอขอบคุณที่ส่งบทความมาให้เราอย่างสม่ำเสมอครับ
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2556 ครับ
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1875
เวลา 19 เมษายน 2567 12:31 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)