องค์กรควบคุมวิชาชีพของนักกฎหมาย

6 เมษายน 2557 20:11 น.

       บทความชิ้นนี้ผู้เขียนมุ่งสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นจริงที่ปรากฎในสังคมนักกฎหมาย ประกอบไปด้วยมุมมอง ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและข้อมูลที่ปรากฏในบทความเป็นเพียงข้อสรุปเบื้องต้นของผู้เขียนเท่านั้น โดยมีรายละเอียดดังนี้
        
       คำว่า “นักกฎหมาย”[1]  มีชื่อเรียกที่ต่างกันตามสถานะของวิชาชีพกฎหมายนั้น โดยผู้เขียนขอแบ่งนักกฎหมายออกเป็น ๒ กลุ่ม ดังนี้
        
       นักกฎหมายกลุ่มที่หนึ่ง ได้แก่ “นิติกร” หรือ “เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย” มักจะทำงานอยู่ในส่วนราชการทั้งราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจตราเป็นกฎหมายจัดตั้ง หรือองค์กรเอกชนต่าง ๆ หรือผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระที่ต้องใช้ความรู้ทางกฎหมาย นักกฎหมายกลุ่มนี้อาจจะมีคุณสมบัติพื้นฐานหรือตามที่องค์กรนั้นได้ตั้งกฎเกณฑ์ไว้ เช่น บุคคลนั้นต้องสำเร็จการศึกษาเป็นนิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยที่องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาได้ให้การรับรองไว้ หรือต้องมีใบอนุญาตว่าความให้เป็นทนายความ จากสำนักอบรมวิชาว่าความ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปภัมภ์ หรือต้องสำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิต จากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปภัมภ์
        
                 ทั้งนี้ หมายความรวมถึงผู้ที่ทำให้หน้าที่สอนหนังสือให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งก็คือ “ครู อาจารย์” ที่มีหน้าที่ให้ทักษะ ความรู้ ปัญญา ที่เกี่ยวข้องกับ “ศาสตร์” และ “ชีวิต”  ด้วย โดยอาจต้องมีคุณสมบัติคือ สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาขั้นต่ำปริญญาโท (เกียรตินิยม) เป็นอย่างน้อย หรือบางกรณีกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกในประเทศหรือต่างประเทศ เป็นต้น
        
       นักกฎหมายกลุ่มที่ 2 ได้แก่ “ทนายความ ศาลและอัยการ”
       นักนิกฎหมายกลุ่มนี้เป็นกลุ่มวิชาชีพที่ใช้ความรู้ทางกฎหมายในอันผดุงรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมของบ้านเมืองตามกฎหมาย  
        
       นักกฎหมายกลุ่มที่ 3 เลือกที่จะเดินทางในสายอาชีพหรืองานที่ตนเองใฝ่ฝันในครั้งสมัยยังศึกษาเล่าเรียน กล่าวคือ เมื่อสำเร็จการศึกษาเป็นนิติศาสตรบัณฑิตแล้ว เลือกที่จะประกอบอาชีพที่ใช้วิชาความรู้ทางนิติศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย โดยทำธุรกิจส่วนตัว หรือกระทั่งศึกษาต่อในสาขาวิชาอื่นเพื่อเป็นลู่ทางในอาชีพที่ใฝ่ฝัน เป็นต้น
        
       ข้อความที่ผู้เขียนเกริ่นนำมาตอนต้นนี้เป็นการฉายภาพเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของวิชาชีพนักกฎหมายเท่านั้นว่า ภายหลังผู้ที่สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตไปแล้วนั้นมีเส้นทางเลือกเดินของชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง ลำดับต่อไปผู้เขียนจะขอเข้าสู่ความเป็นวิชาชีพนักกฎหมายกับองค์กรควบคุมวิชาชีพกฎหมาย
        
       ในมุมมองของผู้เขียน กฎหมายถือเป็นวิชาชีพ[2] (Profession) หนึ่งเพราะมี “ลักษณะเฉพาะ”[3] หากจะเทียบเคียงได้ก็คงแบบเดียวกันกับแพทย์ศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งวิชาชีพแพทย์ พยาบาล เภสัชกร วิศวกร ต่างมีลักษณะพิเศษเฉพาะที่ต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ เฉพาะทางที่มีความซับซ้อน สมาชิกวิชาชีพจะต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบทางจริยธรรม มีสิทธิที่จะถูกควบคุมดูแลกันเองในวิชาชีพนั้น สามารถถูกตรวจสอบโดยผู้รับบริการและสังคมได้ โดยอาจสรุปได้ว่า วิชาชีพมีลักษณะสำคัญ 4 ประการคือ[4]
        
       1. มีความเป็นเอกเทศในการใช้ความรู้ที่เป็นวิชาเฉพาะทางของตนเอง
       2. มีเสรีภาพในการทำวิชาชีพ และมีการควบคุมกันเองในหมู่สมาชิก
       3. เห็นแก่ประโยชน์ของผู้รับบริการและสังคมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
       4. มีความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานให้ได้ตามมาตรฐาน และมีการพัฒนาด้านวิชาการและทักษะในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง
        
       ลักษณะของวิชาชีพที่สำคัญประการหนึ่งคือ “การควบคุม” วิชาชีพโดยมีกฎหมายรองรับอำนาจในการควบคุมการประกอบวิชาชีพ ในกรณีแพทยศาสตร์ มีแพทยสภาตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 กรณีพยาบาลศาสตร์ มีสภาการพยาบาลตามพระราชบัญญัติการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 และพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540     กรณีเภสัชกร มีสภาการเภสัชกรรมตามพระราชบัญญัติเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 กรณีทนายความ มีสภาทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528[5] เป็นต้น
        
       จากที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ทราบว่าในแง่การควบคุมนักนิติศาสตร์ถูกจำกัดในวิชาชีพทนายความ คือผู้ที่สอบผ่านและได้รับใบอนุญาตว่าความ โดยมีสภาทนายความเป็นองค์กรทำหน้าที่ในการควบคุม สอดส่องจรรยา มรรยาท และวินัยของสมาชิกทนายความ ด้วยวิชาชีพทนายความที่มีความใกล้ชิดประชาชนทุกระดับและมีผลกระทบต่อสาธารณะวงกว้างทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างชัดเจน ทนายความจึงมีความจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของสภาทนายความ อย่างไรก็ตาม สภาทนายความซึ่งเป็นองค์ควบคุมวิชาชีพเจาะจงเฉพาะทนายความเท่านั้น โดยมิได้ครอบคลุมถึงนักกฎหมายที่ประกอบวิชาชีพอื่น อาทิเช่น นิติกรหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐและเอกชน อาจารย์ ผู้พิพากษา หรืออัยการ เพราะเพราะหากพิจารณาตามปรัชญาแห่งการเป็นวิชาชีพนั้น[6] จะเห็นได้ว่าวิชาชีพเป็นงานพิเศษเฉพาะ ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาทางด้านนิติศาสตร์จะไม่สามารถบอกได้ว่านักกฎหมายคนนี้ทำถูกหรือผิดชอบชั่วดีอย่างไรในวิชาชีพของตน ในทางกลับกับการขายอาหารตามสั่งที่คนทั่วไปหรือคนที่ทำอาชีพขายอาหารตามสั่งเช่นเดียวกันนั้น สามารถประเมินตรวจสอบได้ว่าอาหารจานนี้อร่อยหรือไม่อร่อย คนทำอาหารตามสั่งมีฝีมือหรือไม่ ฉันใดก็ฉันนั้นผู้ที่จะทำหน้าที่ชี้ขาดว่านักกฎหมายทำถูกหรือผิดอย่างไรจึงต้องเป็นนักกฎหมายด้วยกัน ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการตั้งองค์กรรวิชาชีพขึ้นเพื่อควบคุมให้นักกฎหมายปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานและอยู่ในจริยธรรมของวิชาชีพ 
       การไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานและไม่ยึดถือมั่นในจริยธรรมหรือจรรยาบรรณวิชาชีพก็จะถือได้ว่าผู้นั้นมิได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายดังที่กฎหมายได้ให้อำนาจสภาทนายความมีคำสั่งในการลงโทษตั้งแต่ภาคทัณฑ์ไปจนถึงลบชื่ออกจากทะเบียนทนายความ[7] เป็นต้น
        
       ด้วยเหตุนี้ ทำให้เชื่อได้ว่าองค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมวิชาชีพกฎหมายมีเพียงสภาทนายความเท่านั้นที่มีอำหน้าที่ควบคุมทนายความ อย่างไรก็ดีมีข้อพิจารณาในประเด็นอื่นๆ ประกอบได้ดังนี้
       1. ในอดีตถึงปัจจุบันนักกฎหมายถูกตีความและปิดกั้นในวงแคบและจำกัด อาจไม่หมายรวมถึง นิติกร เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐเอกชน อาจารย์ ผู้พิพากษา อัยการ หรือผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระที่ต้องใช้ความรู้ทางกฎหมาย อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ แม้บางวิชาชีพจะมีองค์กรกลุ่มมีหน้าที่ตามกฎหมายในการควบคุมตรวจสอบหรือการบริหารงานบุคคลอยู่แล้วก็ตาม แต่กระนั้นก็มีลักษณะต่างคนต่างทำตามวิชาชีพ ขาดความเป็นเอกภาพและขาดการประสานงานเชื่อมโยง ทั้งที่ในความเป็นจริงสถานะของหน่วยงานในการควบคุมวิชาชีพกฎหมายดังกล่าวมีบริบทที่แตกต่างกัน
       2. ความไม่ชัดเจนในแง่สถานภาพทางกฎหมาย กล่าวคือ ขาดกฎหมายรองรับในการควบคุมองค์กรวิชาชีพโดยตรง เพราะกลไกที่ควบคุมอยู่ในปัจจุบันไม่ครอบคลุมวิชาชีพกฎหมายอื่นและยังมีมาตรการลงโทษทางวินัยมากกว่าการดำเนินการที่มีมาตรการลงโทษตามข้อกำหนดที่มีผลบังคับในเรื่องของจริยธรรมหรือจรรยาบรรณ นอกจากนี้ข้อบังคับวิชาชีพบางข้อมีลักษณะเป็นนามธรรมไม่มีลักษณะตามหลักวิชาการ เช่น ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ข้อ 18 ที่กำหนดว่า “...ประพฤติตนฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี...”
       3. องค์กรวิชาชีพที่มีอยู่ตามกฎหมายไม่มีอำนาจหน้าที่อย่างแท้จริงหรือไม่มีสภาพบังคับในสถานะองค์กรวิชาชีพ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากองค์ประกอบของคณะกรรมการองค์กรกลุ่มมีลักษณะเป็นตัวแทนผลประโยชน์มากกว่าความเป็นกลางตามอำนาจหน้าที่ หรือระบบการควบคุมจริยธรรมหรือจรรยาบรรณมีความย่อหย่อน หรือมีผลประโยชน์ทางพาณิชย์เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นต้น
        
                 ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะว่า วิชาชีพกฎหมายจะต้องมีองค์กรวิชาชีพที่ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบจริยธรรมหรือจรรยาบรรณ นอกเหนือไปจากการควบคุมและลงโทษทางวินัยแบบราชการ โดยมีลักษณะเป็นองค์กรที่มีเอกภาพ ไม่ซ้ำซ้อน มีการประสานงานการทำงานระหว่างวิชาชีพกฎหมายด้วยกัน มีการออกกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานกลางของวิชาชีพกฎหมายเพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างมาตรฐานและสร้างบุคคลที่อยู่ในสังคมกับกฎหมายที่ดีต่อไป
        
       
       
       
       
       [1] บทความนี้ผู้เขียนมีความตั้งใจกล่าวถึง “องค์กรควบคุมวิชาชีพนักกฎหมาย” มากกว่ามุ่งไปที่ประเด็นความหมายของคำว่า “นักนิติศาสตร์” หรือ “นักกฎหมาย”.
        
       
       
       [2] องค์กรวิชาชีพ  หมายถึง องค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายวิชาชีพ  เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลมาตรฐานการทำงานและจริยธรรม ของผู้ประกอบวิชาชีพประเภทต่างๆ เช่น กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกรรม ได้แก่ แพทยสภา ทันตแพทย์สภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม เป็นต้น  ซึ่งในที่นี้ องค์กรวิชาชีพ หมายรวมถึง องค์กรที่จัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ตามกฎหมาย ได้แก่ องค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการปฏิบัติงานในวิชาชีพในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในรูปสมาคม ชมรม มูลนิธิและอื่น ๆ (แหล่งที่มา : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เว็บไซต์http://www.nhso.go.th/FrontEnd/page-network_history_network.aspx)
       
       
       [3] Cruess SR, Johnston S, Cruess RL Professtonsm for medicine : opportunities and obligations. Med J aust 2002 ; 177 : 208-211. อ้างถึงในบทความ  รศ.นพ.อรุณ  โรจนสกุล.  Professionalism.  หน้า ๑ ; แหล่งที่มา http://www.colorectalchula.com/upload_elearning/%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E.pdf
       
       
       [4] Gruen RL, Cruess SR, Kirksey TD. Professionalism in Surgery. J AM Coll Surg 2003; 197 : 605-608. อ้างถึงในบทความ  รศ.นพ.อรุณ  โรจนสกุล.  Professionalism.  หน้า ๑ ; แหล่งที่มา http://www.colorectalchula.com/upload_elearning/%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E.pdf
       
       
       [5] ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529
       
       
       [6] ได้อธิบายลักษณะคำว่า “วิชาชีพ ” ไว้แล้วในเชิงอรรถที่ 3
       
       
       [7] พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 52.
       
       


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1950
เวลา 4 พฤษภาคม 2567 20:55 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)