ครั้งที่ 343

18 พฤษภาคม 2557 21:32 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน  พ.ศ. 2557
        
       "ความพยายามที่จะให้มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย"
        
       สองสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสองสัปดาห์ที่มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นเป็นอย่างมากนายกรัฐมนตรีที่ "รักษาการ" ภายหลังการยุบสภาผู้แทนราษฎรและอยู่ระหว่างรอการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เพื่อให้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องพ้นจากสภาพ "รักษาการ" ไปโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอีกไม่กี่วันถัดมานายกรัฐมนตรี "รักษาการ" คนเดียวกันนั้นเองยังถูกคณะกรรมการป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญเป็นเหตุแห่งการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยวุฒิสภาครับทั้งสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความสั่นสะเทือนให้กับการบริหารราชการแผ่นดินเป็นอย่างมาก
       ในขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ผมยังอยู่ต่างประเทศช่วงเวลาที่ผ่านมามีผู้ติดต่อเข้ามาขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งสองกันมากแต่ผมก็ได้ปฏิเสธไปเนื่องจากอยู่ต่างประเทศและมีข้อมูลไม่เพียงพอข้อมูลที่ได้จากบรรดา "ออนไลน์" ทั้งหลายผมก็ไม่ค่อยแน่ใจในเรื่องความถูกต้องครบถ้วนของข่าวนักแต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากการเขียนบรรณาธิการของ www.pub-law.net เป็นหน้าที่สำคัญที่ผมทำมาตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาบทบรรณาธิการครั้งนี้จึงต้องกล่าวถึงเหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ทางการเมืองแบบแปลกๆที่เกิดขึ้นในบ้านเราครับ
       ภายหลังจากที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมาความวุ่นวายทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆสิ่งหนึ่งที่คนกลุ่มหนึ่งอยากให้เกิดก็คือพรรคเพื่อไทยพ้นจากการเป็นรัฐบาล "รักษาการ" เพื่อที่จะได้มีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทยเข้ามาทำการปฏิรูปการเมืองก่อนเมื่อการปฏิรูปการเมืองแล้วเสร็จจึงค่อยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรชุดใหม่ความอยากของคนกลุ่มนี้นำมาซึ่ง "ทางเดิน" ต่างๆมากมายทางเดินบางทางเดินก็เกิดขึ้นตามธรรมชาติในขณะที่บางทางเดิน "จงใจ" ที่จะ "สร้างขึ้นมา" กรณีของคุณถวิลเปลี่ยนศรีเป็นกรณีแรกที่ทำให้พอมองเห็น "ทางเดิน" ที่จะนำไปสู่การมีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทยแม้ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ย้ายคุณถวิลฯให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำและต่อมาก็ได้มีการออกประกาศใหม่ให้คุณถวิลฯกลับไปดำรงตำแหน่งเดิมคือเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแต่ "เหตุ" การโอนย้ายคุณถวิลฯก็ได้กลายเป็นประเด็นใหญ่โตทางการเมืองเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 9/2557 ให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมามากมายในปัจจุบัน
       ในส่วนของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดกรณีคุณถวิลเปลี่ยนศรีนั้นผมได้เขียนเอาไว้แล้วในบทบรรณาธิการ 2 ครั้งก่อนหน้านี้คือในบทบรรณาธิการครั้งที่ 341 วันที่ 21 เมษายน 2557 ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ก็จะขอเขียนเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2557 แต่เนื่องจากมีผู้ออกมาให้ความเห็นกันมากแล้วผมก็จะพยายามเขียนให้น้อยที่สุดและหลีกเลี่ยงเรื่องที่มีผู้ให้ความเห็นกันเอาไว้แล้วโดยผมมี 2 ประเด็นที่จะขอนำมากล่าวไว้ในบทบรรณาธิการครั้งนี้คือประเด็นรูปแบบและเนื้อหาของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
       ในประเด็นแรกคือรูปแบบของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นถ้าจำไม่ผิดผมน่าจะเป็นนักวิชาการคนแรกๆที่ออกมาวิพากษ์วิธีการนำเสนอผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้เท่านั้นแต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับศาลรัฐธรรมนูญทุกชุดที่ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2540 และตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันครับ  เมื่ออ่านข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยพ.ศ.  2550 แล้วก็จะพบว่าในข้อ 55 วรรค 2 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้มีผลในวันอ่านซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบันจะพบว่าหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยหรือมีการแถลงข่าวผลการวินิจฉัยออกมาแล้วกว่าที่คำวินิจฉัยส่วนตนและคำวินิจฉัยกลางจะปรากฎออกมาให้เห็นอย่างเป็นทางการก็จะใช้เวลานานมากในระหว่างนั้นในบางกรณีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็จะคาดเดากันไปต่างๆนานาเกี่ยวกับบางส่วนของคำวินิจฉัยที่อาจจะยังไม่มีความชัดเจนในเนื้อหาสำคัญบางประการแถมบางเรื่องศาลรัฐธรรมนูญยังมีการเผยแพร่ "คำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการ" ออกมาก่อนที่จะมีการประกาศคำวินิจฉัยในราชกิจจานุเบกษาจึงทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในเนื้อหาสาระของคำวินิจฉัยเข้าไปอีกระดับหนึ่งดังตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตก็คือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปีพ.ศ. 2553 โดยศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคดีดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งใช้เวลาในการอ่านไม่นานเท่าไรนักไม่กี่วันต่อมาใน website  ของศาลรัฐธรรมนูญก็ได้เผยแพร่เอกสารชื่อ "คำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ) เรื่องนายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์" จำนวน 15 หน้าต่อสาธารณชนแต่เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นทางการเผยแพร่ออกมากลับปรากฏว่ามีจำนวนถึง 42 หน้าโดยมีข้อความจำนวนมากที่ไม่ปรากฎทั้งในการอ่านและในคำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการและบางข้อความก็เกิดเป็นผลเพิ่มเติมในทางปฏิบัติ  ซึ่งเมื่อนำมาเทียบเคียงกับกรณีความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวแล้วก็จะเห็นได้ว่ามีอาการคล้ายๆกันคือมีการอ่านคำวินิจฉัยไม่กี่วันต่อมาก็มีการเผยแพร่ "คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2557 (อย่างไม่เป็นทางการ) " จำนวน 24 หน้าออกมาก็เลยทำให้ไม่ค่อยแน่ใจว่าเมื่อคำวินิจฉัย (อย่างเป็นทางการ) ออกมานั้นจะมีความแตกต่างไปจากทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านและจากคำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ) มากน้อยเพียงใดครับ!!!
       ในเรื่องของรูปแบบคำวินิจฉัยที่กล่าวไปข้างต้นนั้นผมได้เคยเขียนและพูดไปหลายหนแล้วว่าในเมื่อข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาโดยศาลรัฐธรรมนูญเองเขียนเอาไว้ในข้อ 55 วรรค 2 อย่างชัดเจนว่า "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้มีผลในวันอ่าน" ศาลรัฐธรรมนูญก็ควรจะต้องดำเนินการตามข้อกำหนดของตนอย่างเคร่งครัดเป็นระบบและถูกต้องโดยเมื่อศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยเสร็จก็จะต้องเผยแพร่ทั้งคำวินิจฉัยส่วนตนและคำวินิจฉัยกลางทันทีในวันนั้นเพื่อที่ทุกอย่างจะได้มีความชัดเจนและเดินหน้าต่อไปได้ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเอาไว้ไม่ใช่พออ่านคำวินิจฉัยเสร็จแล้วและคำวินิจฉัยนั้นมีผลไปแล้วตั้งแต่วันอ่านแต่ก็มีการแก้ไขเพิ่มเติมไปเรื่อยๆดังตัวอย่างที่ผมได้เล่าให้ฟังไปแล้วข้างต้นกรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปีพ.ศ. 2553  คำวินิจฉัยบางเรื่องใช้เวลาเป็นเดือนๆกว่าที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาใครจะไปทราบได้ครับว่าในระหว่างนั้นเกิดอะไรขึ้นมาบ้างและที่สำคัญคือเรื่องใดที่เป็นที่สนใจของผู้คนจำนวนมากพอศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยไปแล้วก็จะมีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันมากเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการที่ออกมาภายหลังคำวิจารณ์จะไม่ไป "อุดช่องว่าง" สิ่งที่เขาวิจารณ์กันอยู่ครับและถ้าเป็นอย่างนั้นจะถือว่าคำวินิจฉัยมีผลในวันอ่านได้อย่างไร  ผมคงมีความเห็นเพียงเท่านี้ครับไม่กล้าที่จะไป "แนะนำ" ศาลหรอกว่า "วิธีพิจารณาคดี" นั้นมีเอาไว้เพื่ออะไรเพราะเป็นเรื่องพื้นฐานที่ผู้พิพากษาตุลาการทุกคนควรที่จะต้องรู้กันอยู่แล้วครับ
       ในส่วนของเนื้อหาของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวนั้นมีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันไปแล้วมากพอสมควรผมคงมีความเห็นสั้นๆเกี่ยวกับ "วิธีคิด" ของการพ้นจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีที่ไปกระทบต่อรัฐมนตรีอื่นๆด้วยผมเข้าใจในเรื่องนี้ว่าแม้นายกรัฐมนตรีจะต้องพ้นจากตำแหน่งไปแต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมีผลย้อนหลังไปในอดีตโดยให้มีผลมาถึงปัจจุบันด้วยนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่แปลกมากตามความเข้าใจของผมการแต่งตั้งโยกย้ายคุณถวิลฯทำโดยคณะรัฐมนตรีชุดใดก็เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีชุดนั้นต้องรับผิดชอบเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดนั้นพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเพราะมีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองต่อไปผมจึงไม่เห็นด้วยกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้รัฐมนตรีบางคนในคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันต้องพ้นจากตำแหน่งตามนายกรัฐมนตรีไปด้วยเนื่องจากบุคคลเหล่านั้นได้  "พ้นจากตำแหน่ง" ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อมีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาครับ
       แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวก็ได้กลายเป็นช่องทางที่สำคัญช่องทางหนึ่งที่จะทำให้มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย
       ช่องทางที่สำคัญอีกช่องทางหนึ่งเกิดขึ้นมาในเวลาใกล้เคียงกันโดยคณะกรรมการป.ป.ช. ได้ชี้มูลเสนอถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรี (น.ส. ยิ่งลักษณ์ชินวัตร) กรณีจำนำข้าวการชี้มูลดังกล่าวกลายมาเป็นช่องทางที่จะให้มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย
       เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นในส่วนของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ  ผมไม่ทราบว่าการชี้มูลความผิดของกรรมการป.ป.ช. นั้นมีรูปแบบและรายละเอียดมากน้อยเพียงใดมีรูปร่างหน้าตาเหมือนหรือใกล้เคียงกับคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของบรรดาศาลต่างๆที่จะต้องประกอบด้วยความเป็นมาข้อกล่าวหาข้อเท็จจริงที่ได้มาจากกระบวนการพิจารณาประเด็นในการวินิจฉัยเหตุผลในการวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายหรือไม่แต่สิ่งที่ปรากฏออกมาให้เห็นจากคณะกรรมการป.ป.ช. คือข่าวประชาสัมพันธ์ซึ่งก็ไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องรวมไปถึงนักวิชาการได้เห็นถึงความชัดเจนของการดำเนินกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการป.ป.ช. ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อการเมืองการปกครองของประเทศที่จะต้องมีความชัดเจนเป็นอย่างมาก
       ในส่วนเนื้อหาของการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป.ป.ช.  กรณีจำนำข้าวนั้นผมอ่านดูแล้วค่อนข้างสับสนและวิตกแทนนิสิตนักศึกษากฎหมายเป็นอย่างมากข้อความที่ปรากฏอยู่ในข่าวประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมการ  ป.ป.ช.  ที่ว่า "... แม้ในชั้นนี้พยานหลักฐานยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมในการทุจริตหรือสมยอมให้เกิดการทุจริตหรือไม่ก็ตามแต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎรว่าจะป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจังโดยยึดหลักความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีทั้งไม่พิจารณาระงับยับยั้งโครงการตั้งแต่เริ่มรับทราบความเสียหายอันร้ายแรงที่สุดของประเทศจากการดำเนินการจึงมีมติ 7 ต่อ 0 เสียงว่าพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการถือว่าจงใจใช้อำนาจที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯมาตรา 11(1) อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ..."
       นักกฎหมายธรรมดาทั่วๆไปอ่านข้อความข้างต้นแล้วคงสับสนไม่น้อยและมีคำถามตามมามากมายว่าสรุปแล้วมีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ก็ยังไม่ทราบเพราะคณะกรรมการป.ป.ช. ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าโครงการรับจำนำข้าวมีการทุจริตหรือไม่และถ้ามีใครเป็นผู้ทุจริตและการทุจริตมีความเกี่ยวโยงกับนายกรัฐมนตรีอย่างไรแล้วทำไมนายกรัฐมนตรีซึ่งไม่ใช่ตัวการกลับถูกตัดสินว่าผิดข้อหาไม่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้ครับ !!!
       งงไหมครับนักกฎหมาย!!!
       แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรเหตุการณ์ทั้งสองก็ถูกนำมาใช้เพื่อที่จะนำไปสู่การมีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทยครับ
       จะสำเร็จหรือไม่อีกไม่กี่วันคงทราบครับ
        
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของคุณปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำ นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เขียนเรื่อง“ บรรทัดฐาน ”  บทความที่สองเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง “ไทยกับการค้ามนุษย์” บทความที่สามเป็นบทความเรื่อง “การใช้รัฐธรรมนูญและการอุดช่องของรัฐธรรม ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550” ที่เขียนโดยคุณณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์  ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้ง 3 บทความไว้ ณ ที่นี้ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน 2557 ครับ
        
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1964
เวลา 29 มีนาคม 2567 18:18 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)