อำนาจดุลยพินิจในกระบวนการบริหารบุคคลของฝ่ายปกครอง

15 ตุลาคม 2560 20:18 น.

       ผู้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้นั้น ศาลปกครองสูงสุดได้อธิบายว่าจะต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ ดังนี้[๑]
       1. ผู้ฟ้องคดีจะต้องเป็นผู้ซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในเรื่องนั้น
       2. ความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับนั้นเกิดจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 9  วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
        3. การแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับนั้นต้องมีคำบังคับตามที่
       กำหนดไว้ในมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
        
       คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองขอนแก่น) กรณีผู้ฟ้องคดีมีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม (1.อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 2.อธิบดีกรมการปกครอง และ 3.ปลัดกระทรวงมหาดไทย) โดยให้เหตุผลว่า การที่บุคคลทั้งสามไม่ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินคดีกับนายอำเภอเมือง ก.กรณีนายกเทศมนตรีตำบล ส.ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครอง ที่ให้เทศบาลตำบล ส.เบิกจ่ายทุนการศึกษาให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ดำเนินการล่าช้าเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย และเทศบาลตำบล ส.ต้องเสียดอกเบี้ยโดยไม่มีเหตุอันควร ตั้งแต่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดี มาจนถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2557 เป็นเวลาเกินกว่า 90 วันแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยังไม่ได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินคดีกับนายอำเภอเมือง ก.และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานท้องถิ่นอำเภอเมือง ก. ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร  โดยคำขอท้ายคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม(1.อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 2.อธิบดีกรมการปกครอง และ 3.ปลัดกระทรวงมหาดไทย) ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อเอาผิดกับนายอำเภอเมือง ก.และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานท้องถิ่นอำเภอเมือง ก. ทางวินัยและอาญาให้แล้วเสร็จภายใน 30วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด และแจ้งผลการสอบสวนข้อเท็จจริงทางวินัยและอาญาให้ผู้ฟ้องคดีทราบภายใน 10วัน
        
        ศาลชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยให้เหตุผลว่า การที่ศาลจะกำหนดคำบังคับตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีต้องแสดงให้เห็นว่าหากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามมิได้
       ดำเนินการตามคำร้องเรียนของผู้ฟ้องคดี จะทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับผลกระทบต่อสิทธิของตนจนได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอย่างใด หรือมีประโยชน์ได้เสียโดยตรงในกรณีนี้อย่างไร อีกทั้งการที่ศาลจะกำหนดคำบังคับตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ก็มิได้มีผลเป็นการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง[๒] แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยคำขอท้ายคำร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้น และมีคำสั่งมอบคดีนี้ให้องค์คณะตุลาการศาลปกครองชุดใหม่เป็นผู้วินิจฉัยคดีนี้แทนองค์คณะชุดเดิมด้วย ศาลปกครองสูงสุด ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การดำเนินการทางวินัยและการดำเนินคดีอาญาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามคำขอของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว เป็นอำนาจดุลยพินิจ[๓]โดยแท้ในกระบวนการบริหารงานบุคคลของฝ่ายปกครอง โดยผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควรและตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งศาลปกครองไม่อาจก้าวล่วงการใช้ดุลยพินิจดังกล่าวได้ รวมทั้งการดำเนินการทางวินัยและอาญาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวหาได้มีผลเป็นการบรรเทาหรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายของผู้ฟ้องคดีแต่ประการใดไม่ จึงเป็นกรณีที่ศาลปกครองไม่อาจกำหนดคำบังคับตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 72 [๔]แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 445/2556คำร้องที่ 1015/2555 คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.466/2557 คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 260/2546 (ที่ประชุมใหญ่) และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.714/2555นั้น เห็นว่าคำพิพากษาและคำสั่งดังกล่าวมีข้อเท็จจริงแตกต่างจากคดีนี้ จึงไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกันได้ คำร้องอุทธรณ์คำสั่งของผู้ฟ้องคดีที่ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย ที่มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา 42  วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542  นั้นฟังไม่ขึ้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น
        
        เป็นอันว่า คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและจำหน่ายคดี ถึงที่สุดตามมาตรา 73 วรรคท้าย [๕] คดีนี้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการเป็นผู้เสียหายซึ่งเกิดจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง[๖] ที่มีสิทธินำข้อพิพาทมาฟ้องศาลปกครองได้นั้นต้องเข้าลักษณะองค์ประกอบตามมาตรา 42 ประกอบ มาตรา 9[๗] ในขณะเดียวกันต้องมีคำบังคับมาตรา 72 บุคคลนั้นถึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง  กล่าวเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง  ต้องเข้าลักษณะองค์ประกอบ 3 ประการ คือประการแรก ผู้ฟ้องคดีจะต้องเป็นผู้ซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในเรื่องนั้น ประการที่สอง ความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับนั้นเกิดจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 9  วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และประการที่สาม การแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับนั้นต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 หากไม่ครบองค์ประกอบดังกล่าวแล้วย่อมไม่ถือว่าเป็นผู้มีสิทธินำข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลปกครอง ที่สำคัญในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 468/2558 ที่ยกมาเป็นกรณีศึกษานี้ ศาลปกครองสูงสุดได้กรุณาอธิบายว่า อำนาจดุลยพินิจ เป็นอำนาจของฝ่ายปกครองโดยแท้ในกระบวนการบริหารงานบุคคลของฝ่ายปกครอง โดยผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควรและตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งศาลปกครองไม่อาจก้าวล่วงการใช้ดุลยพินิจดังกล่าวได้
        
        
        
       
       
       
       
       [๑] คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 468/2558
       
       
       [๒] มาตรา ๔๒  ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรืมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา ๙ และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา ๗๒ ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
       
       
       [๓] อำนาจดุลพินิจ (Discretionary Power) อำนาจดุลพินิจเป็นอำนาจที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติ หรือองค์กรฝ่ายปกครองของรัฐสามารถเลือกตัดสินใจออกคำสั่ง หรือเลือกสั่งการอย่างใดๆได้ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุผลตามความมุ่งหมายหรือตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย กล่าวอีกนัยหนึ่ง อำนาจดุลพินิจก็คืออำนาจที่กฎหมายเปิดช่องให้องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐมีอิสระในการตัดสินใจเมื่อมีเหตุการณ์หรือมีข้อเท็จจริงใดๆที่กฎหมายกำหนดไว้เกิดขึ้น
       
       
       [๔] มาตรา ๗๒  ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
       (๑) สั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งหรือสั่งห้ามการกระทำทั้งหมดหรือบางส่วน ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)
       (๒) สั่งให้หัวหน้าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลปกครองกำหนด ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
       (๓) สั่งให้ใช้เงินหรือให้ส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ โดยจะกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขอื่น ๆ ไว้ด้วยก็ได้ ในกรณีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการฟ้องเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
       (๔) สั่งให้ถือปฏิบัติต่อสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่มีการฟ้อง ให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงความเป็นอยู่ของสิทธิหรือหน้าที่นั้น
       (๕) สั่งให้บุคคลกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย
       ในการมีคำบังคับตามวรรคหนึ่ง (๑) ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดว่าจะให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ย้อนหลังหรือมีผลไปในอนาคตถึงขณะใดขณะหนึ่งได้ หรือจะกำหนดให้มีเงื่อนไขอย่างใดก็ได้  ทั้งนี้ ตามความเป็นธรรมแห่งกรณี
       ในกรณีที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนกฎ ให้มีการประกาศผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา และให้การประกาศดังกล่าวมีผลเป็นการเพิกถอนกฎนั้น
        
       
       
       [๕] มาตรา ๗๓  การคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นนั้น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันถึงที่สุด
       คำพิพากษาหรือคำสั่งตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึง คำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลหรือคำสั่งอื่นใดที่ทำให้คดีเสร็จเด็ดขาด
       ในกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคำอุทธรณ์ใดมีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลปกครองสูงสุดจะสั่งไม่รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาก็ได้
       คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดให้เป็นที่สุด
        
       
       
       [๖] “สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
        
       
       
       [๗] มาตรา ๙  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
       (๑) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
       (๒) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
       (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
       (๔) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
       (๕) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด
       (๖) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
       เรื่องดังต่อไปนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง
       (๑) การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร
       (๒) การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ
       (๓) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย หรือศาลชำนัญพิเศษอื่น
        
       
       


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1977
เวลา 20 เมษายน 2567 18:06 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)