มองการปฏิรูปประเทศผ่านสายตานักกฎหมาย นันทวัฒน์ บรมานันท์ จากคนวงในสู่ภาพขยายสังคม

18 กุมภาพันธ์ 2561 18:44 น.

       หากเอ่ยชื่อนักกฎหมายมหาชนของประเทศไทย ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ เป็นนักวิชาการอีกคนหนึ่งที่อยู่ในสารบบความเชี่ยวชาญด้านนี้
        
       หลังพ้นจากเก้าอี้คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็กลับมาให้เวลาเต็มที่กับการทำงานวิชาการเหมือนอย่างที่เคยทำมาโดยตลอด
        
       นอกจากงานสอนหนังสือที่เป็นหน้าที่หลักแล้วยังคงให้บริการความรู้ประชาชนด้วยการกลับมาเปิดดำเนินการเว็บไซต์ Public-Law อีกครั้ง หลังต้องหยุดนิ่งไปช่วงหนึ่งด้วยเหตุผลที่จะได้อธิบายขยายความต่อไป
       THE STANDARD ชวนดร.นันทวัฒน์สนทนาหลายเรื่อง ตั้งแต่งานวิชาการที่จะทำต่อหลังพ้นภาระบริหารจนถึงเรื่องบ้านเมือง และในฐานะนักวิชาการที่เข้าไปคลุกวงในทำงานอย่างต่อเนื่องกับภาครัฐเพื่อให้เห็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนอีกด้านหนึ่งด้วย
        
       
       หลังพ้นหน้าที่คณบดี ตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่
       ก่อนจะเป็นคณบดีเมื่อ 4 ปีเศษที่แล้ว ผมก็ทำงานวิชาการค่อนข้างเยอะ ย้อนหลังก่อนเป็นคณบดีไป 15 ปีก็เขียนหนังสือ 30 กว่าเล่ม ทำงานวิจัย และทำเว็บไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชน
       ที่ผ่านมาส่วนราชการต่างๆ เขาก็คาดหวังว่าเราจะช่วยเขาได้ ก็มีการเชิญไปเป็นกรรมการตามส่วนราชการต่างๆ จำได้ว่าก่อนเป็นคณบดี เป็นกรรมการ เป็นอนุกรรมการ คณะทำงาน เบ็ดเสร็จแล้วรวมเกือบ 50 แห่งนะครับ ถือว่าช่วงก่อนเป็นคณบดีผมก็จะยุ่งอยู่แต่กับงานวิชาการทั้งหมด 
        
       ตอนนี้ก็กลับมาทำงานสอนหนังสือเต็มที่ กลับมาทำเว็บไซต์ให้บริการความรู้ในด้านกฎหมายกับประชาชน แล้วก็ยังเป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ ของภาครัฐอยู่บ้าง 
        
       
       แล้วทำไมต้องปิดเว็บไซต์ในช่วงนั้น
       เว็บไซต์ Public-Law ของเราต้องเขียนบทความเอง ตอนเป็นคณบดีใหม่ๆ ก็ยังทำอยู่ แต่ตอนหลังมีประเด็นข้อขัดแย้งในสังคมที่รุนแรงขึ้น มันก็จะมีบางเรื่องที่พอเอาออกมาวิเคราะห์แล้วไปเข้าทางของฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งก็โจมตีหาว่าเราเป็นพวก พอไปเข้าอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายก่อนหน้านี้ก็โจมตี ผมก็อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง การให้ความเห็น ผมก็ไม่ต้องการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 
       ตอนนั้นเราจะเห็นได้ว่าข้อขัดแย้งทางวิชาการและทางการเมืองมีสูงมาก พอมีข้อขัดแย้ง เมื่อเราให้ความเห็นไปโดนใจฝ่ายใด เราก็กลายเป็นพวกเขา ก่อนเป็นคณบดี ตอนทำเว็บไซต์ผมเคยถูกขู่ เคยถูกปิดนะครับ เคยมาสารพัดอย่าง เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องรับเงินรับทอง แล้วก็มีการเขียนถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญก็ถูกโจมตี เพราะเรามีตำแหน่ง ก็เลยต้องหยุดเพื่อไม่ให้องค์กรถูกโยง
       จนกระทั่งพอเป็นคณบดีครบวาระ ผมก็คิดว่าจะมาทำใหม่ คือเตรียมพร้อมที่จะลงจากตำแหน่งแล้วก็เดินหน้าทางวิชาการต่อ พอครบตำแหน่งคณบดี เว็บไซต์ก็เลยออนไลน์ ทีมงานได้ทำการอัปเดตเนื้อหาให้ทันสมัยอยู่ตลอด ตอนนี้กลับมาเปิดปกติแล้ว เราทำมาเป็น 10 กว่าปีแล้ว
        
        
       มีเป้าหมายที่จะให้บริการความรู้ประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายอย่างไรบ้าง
       คนที่เขียนบทความมาลงกับเรามีจำนวนมาก ซึ่งทุกคนไม่ได้ค่าเขียนบทความ เป็นการร่วมมือทางวิชาการกัน ในช่วงหนึ่งบทความเหล่านี้ต้องมีคนอ่าน ผมก็ไปเชิญอาจารย์หลายท่านมาช่วยอ่าน จากเดิมที่ 12 เดือนแรกมีคนใช้เว็บไซต์ 2 หมื่นคนในช่วงปี 2544 ในช่วงสุดท้ายที่เราจะปิดไป ระยะเวลา 3 เดือนมีคนใช้ประมาณ 1 แสน ซึ่งถือว่าเราได้รับความไว้วางใจอย่างมาก 
       สื่อต่างๆ ก็จะดึง ตัดตอนเอาความเห็น เอาทุกอย่างของเราไปใช้ทั้งหมด นิสิตนักศึกษาก็จะเข้ามาใช้งานเยอะ เพราะว่าพักหลังจะทำเป็นรายละเอียดที่นักศึกษาสามารถนำเอาเนื้อหาไปใช้ทำวิทยานิพนธ์ได้ ก็มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นฐานข้อมูลทางวิชาการและสำหรับประชาชนที่จะเข้ามาเรียนรู้ศึกษา ซึ่งอาจจะยากหน่อย แต่ก็พยายามสื่อสารให้หลากหลายและเข้าใจง่าย
        
       
        
       ปัจจุบันพื้นที่การสื่อสารมีมากขึ้น นักวิชาการก็มีช่องทางแสดงออก เว็บไซต์กฎหมายแบบนี้ยังจำเป็นหรือ
       ที่ผ่านมานักวิชาการรุ่นเก่าบางคนก็ไปอยู่ในวงการเมือง บางคนก็วางมือไปแล้ว เราก็ไม่อยากไปรบกวนท่าน นักวิชาการรุ่นใหม่มีน้อยมากที่จะเขียน ส่วนมากเน้นการพูดมากกว่า หนังสือหรือตำราไม่ค่อยเขียน ก็ได้แต่คาดหวังว่าจะมีนักวิชาการรุ่นใหม่ที่ยังอยากจะร่วมงานกับเรา 
       สมัยก่อนพื้นที่ในการแสดงออกหรือช่องทางสื่อสารมันน้อย อยากให้คนอ่านเยอะๆ อาจต้องไปลงหนังสือพิมพ์ เรียกว่าพอเปิดเว็บไซต์ตอนนั้นก็เหมือนเป็นช่องทางพิเศษเพิ่มขึ้น เป็นเวทีให้เด็กรุ่นใหม่ได้แสดงความรู้ความสามารถ ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จ หลายคนที่ไปศึกษาต่างประเทศก็ส่งมา จนกระทั่งคนเหล่านั้นจำนวนหนึ่งก็กลับมา บางคนก็ยังเขียนต่อ แต่พอมีฐานทางวิชาการ มีฐานทางการทำงานของเขาก็ไม่ได้ส่งมาที่เราอีกต่อไป ก็ไปทำตามช่องทางของเขา เพราะฉะนั้น ถือว่าเราก็มีส่วนสร้างพื้นที่ให้นักวิชาการได้ปล่อยความรู้ของตนเองลงไปบ้าง 
       บอกว่ามีภาระงานมาก แต่ทำไมถึงรับตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในตอนนั้น
       ตอน สปช. ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเหมือนกัน เพราะว่าทุกคนมีความคิดเหมือนกันว่าเราสอนรัฐธรรมนูญ เราเรียนมาจากประเทศที่มีการปฏิวัติมานานมากแล้ว ตอนนี้พอมีรัฐประหาร เราก็เริ่มวิตกกันในหลายเรื่อง
       ตอนที่มีการตั้ง สปช. มหาวิทยาลัยก็มีการเสนอชื่อคณบดีของคณะนิติศาสตร์และคณบดีของคณะรัฐศาสตร์ไป แต่ผมก็ปฏิเสธ ตอนนั้นก็มีการพูดในที่ประชุมว่าคณบดีคณะนิติศาสตร์จะให้อดีตคณบดีไปมากกว่า คืออาจารย์บวรศักดิ์ แต่ไปๆ มาๆ ไม่มั่นใจว่าเกิดอะไรขึ้น ก็มีชื่อผมเป็น สปช. ไม่แน่ใจว่ามาจากทางอื่นด้วยหรือเปล่า เพราะว่าจากที่เราเคยอยู่ในส่วนราชการ อยู่ในกรรมการต่างๆ ก็มีการเสนอชื่อเราไปด้วย
       ตอนที่เข้าไปเป็น สปช. ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุดในชีวิต เพราะว่าผมต้องทำงานบริหาร ต้องสอนหนังสือด้วย ขณะเดียวกันก็รู้ว่าการเป็น สปช. ต้องประชุมทั้งวัน ต้องเข้าห้องประชุม ต้องนับองค์ประชุม เป็นตอนที่ลำบากมากในชีวิตผม เพราะผมไม่สามารถหอบงานไปทำได้ เป็นช่วงที่อึดอัดมากพอสมควรเหมือนกัน แล้วก็เป็นช่วงที่ทำอะไรไม่ได้มาก
        
       
        
       แสดงว่ามีความคิดที่ไม่ตรงกับการทำงานของ สปช.
       ผมมีความคิดเห็นไม่ตรงกับการทำงานของ สปช. ตั้งแต่ต้น คือผมอาจจะเป็นคนซ้ำซากในบางเรื่อง เพราะว่าผมเคยคิดถึงการแก้ไขปัญหาของประเทศ เมื่อ 10 ปีที่แล้วกับวันนี้ผมก็ยังคิดเหมือนเดิม
       ผมคิดว่าบ้านเรามีความเหลื่อมล้ำเยอะ แล้วทางเดียวที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้คือเราต้องปรับโครงสร้างประเทศให้เป็นรัฐสวัสดิการ คือสวัสดิการถ้วนหน้าเต็มรูปแบบจะเก็บภาษีอัตราสูงนะ แล้วก็ต้องมีมาตรการต่างๆ อีกเยอะ ผมจะพยายามพูดเรื่องนี้ ตอน สปช. ผมก็เสนอประเด็นนี้ แต่ในที่สุดแล้ว สปช. เองมีคนเสนอหลายเรื่องมาก เขาก็เลยไปทำเรื่อง quick win คือไปทำเรื่องเล็กๆ เป็นร้อยแปดพันเก้าเรื่อง ก็ถือว่า สปช. ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไร 
        
       ตอนหมด สปช. มี สปท. (สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) ผมก็ได้รับการทาบทาม แต่ตอนนั้นผมพูดเต็มปากเลยว่า สปช. เนี่ยไม่ไหวแล้ว เพราะฉะนั้น สปท. ก็ไม่รับ แต่พอมาคณะกรรมการปฏิรูปประเทศในตอนนี้ ดูแล้วมันเป็นคณะย่อยที่มีเป้าชัดเจน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ว่าการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งมันรวมถึงปฏิรูประบบการศึกษากฎหมายด้วย ก็คิดว่าตัวเองทำได้แน่นอนและมีเวลาแน่ ก็เลยตัดสินใจรับเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย
        
       
       ในฐานะที่อยู่กับการปฏิรูปซึ่งเป็นงานหลักของ คสช. มองว่าการปฏิรูปของ คสช. เป็นอย่างไรบ้าง
       ผมว่าช้า เพราะจริงๆ แล้วถ้าเราดูฐานของความเป็นไปได้ ตอนที่มีการรัฐประหาร ทุกคนก็อยู่ในภาวะความสงบ คำสั่งหรืออำนาจของ คสช. ทั้งหมดก็ยังดูขลัง ดูศักดิ์สิทธิ์ ตอนนั้นผมไม่แน่ใจว่าทิศทางการปฏิรูปประเทศชัดเจนแค่ไหน 
       การตั้ง สปช. ขึ้นมาจะเห็นได้ว่าทุกคนพูดตรงกันว่าล้มเหลว เพราะมีแต่ข้อเสนอซึ่งเป็นเบี้ยหัวแตก ถึงวันนี้ผมไม่แน่ใจว่าข้อเสนอของทั้ง สปช. และ สปท. เป็นมรรคเป็นผลมากน้อยแค่ไหน
       ผมก็คงมองเหมือนทุกคน แม้ผมอยู่ในกระบวนการด้วยก็มองแบบเดียวกัน คือมองว่าคนที่เข้ามาอยู่มีเลือดเก่ากับเลือดใหม่ เลือดเก่าเราจะเห็นได้ว่าเป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือท้องถิ่นก็ตาม เข้ามาแล้วก็พูดถึงว่ามาเป็นแล้วจะได้อะไรบ้าง ได้สิทธิ ได้อะไรยังไงบ้าง เพราะฉะนั้นการปฏิรูปกฎหมายก็ยังหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องนั้น ทำไมเวลานั่งเครื่องบินไปต่างจังหวัดถึงนั่งชั้นธุรกิจไม่ได้ ต้องมีบัตรประจำตัวไหม คือเราก็ยังวนเวียนอยู่กับรูปแบบ ซึ่งจริงๆ แล้วมันน่าจะไปให้ความสำคัญกับเนื้อหา เพราะฉะนั้นถ้า สปช. ทำได้เสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ต้น ผมคิดว่าวันนี้มันจะเดินหน้าไปได้ ตอนนั้นเราเสียเวลาไปมาก เสียเงิน เสียทุกอย่างไปจำนวนมากเพื่อมาถึงจุดจบ เราจะเห็นได้ว่าการปฏิรูปประเทศจาก สปช. สปท. มาคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ มัน 3 ชุดเลย ผมมองว่าช้าและไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
        
       
        
       แล้วคิดว่ามีกรรมการปฏิรูปประเทศจะสำเร็จ?
       คือผมไม่แน่ใจ แต่ถ้าเราไปดูเรื่องยุทธศาสตร์ชาติกับเรื่องปฏิรูปประเทศแล้ว วันนี้ผมเห็นเฉพาะการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 236 หน้าที่เราเสนอไป เราเสนอแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายไปตอนนี้ 
       ตอนนี้คณะกรรมการปฏิรูปทั้งหมด ภาพมันยังไม่ชัด เพราะว่าผมดูด้านปฏิรูปกฎหมายเท่านั้น มันจะมีด้านอื่นอีกเยอะ เมื่อทำเสร็จสภาพัฒน์จะนำไปบูรณาการกับทุกด้านของแผนปฏิรูปประเทศ บูรณาการเสร็จก็จะทำเป็นแผนใหญ่ แล้วจากนั้นยุทธศาสตร์ชาติก็ต้องออกมา
       คณะกรรมการปฏิรูปประเทศมันตัดตอน ไม่รกรุงรังเหมือน สปช. และ สปท. มันเป็นเนื้อเป็นหนังมากกว่า คนน้อยกว่า สปช. ด้วยซ้ำไป แล้วก็ถูกคุมด้วยหลายๆ อย่าง เช่น ประชุมเกินเดือนละกี่หน ได้เฉพาะเบี้ยประชุม ไม่มีเงินเดือน ไม่มีผู้ติดตาม คือการทำงานเป็นการแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นใน สปช. และ สปท. 
       แต่ในใจผมเองก็ยังไม่ค่อยถูกใจมากเท่าไร เพราะว่าผมยังอยากมองเห็นการปฏิรูปที่เป็นลักษณะใหญ่มากกว่า ถ้าเปิดเทปก็คือเหมือนรัฐสวัสดิการ เราต้องปฏิรูปทั้งหมด ปฏิรูปอะไรที่เป็นก้อนโตๆ ใช้ได้ ของผมที่มีปฏิรูประบบขายฝากก็เป็นประเด็นน้อยๆ อยู่บ้างนะครับ แต่ในภาพรวมก็คิดว่าน่าจะไปได้
       จุดใหญ่ของการปฏิรูปกฎหมายคืออะไร
       คือมันมีเรื่องเยอะมากที่เราทำจนผมจำได้ไม่หมด มีกฎหมายที่ต้องแก้อะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด แต่ว่าจุดใหญ่ใจความที่เราต้องการดูมี 2 ส่วนคือ ส่วนที่หนึ่ง กฎหมายที่มีอยู่แต่เดิมมันมีปัญหาอุปสรรค บางฉบับเก่า กฎหมายบางฉบับมีอนุบัญญัติ ก็ไปเขียนแล้วบอกว่าถ้าไม่มีอนุบัญญัติก็ใช้ของเก่าไปพลาง ไม่มีใครเขียน ไม่มีใครแก้ กฎหมายบางฉบับบอกให้มีอนุบัญญัติมา 5-6 ปีก็ยังไม่ออก กฎหมายบางฉบับก็เก่าเกินไป บางคนก็หยิบมาใช้ บางคนก็ไม่หยิบ พวกนี้ก็จะเกิดการสังคายนาใหม่ทั้งระบบ มีการทบทวนกฎหมายที่มีปัญหา มีการตัดหรือปรับแก้กฎหมายที่ใช้ไม่ได้ออกไป หรือว่าทำให้มันทันสมัยมากขึ้น มีการวางกลไกอนุญาตใหม่ เพราะว่าเรามีกฎหมายจำนวนมากที่ต้องขออนุญาตทำนั่นทำนี่ มีใบอนุญาตนั่นนี่ไปหมด มันชักช้า เป็นช่องทางของการทุจริตด้วย อันนี้ก็จะเป็นภาพใหญ่ๆ ที่ปรับ
       ส่วนต่อมาคือระบบการศึกษากฎหมาย เราจะเห็นได้ว่าฐานของคนที่ทำคือการศึกษากฎหมายพื้นฐาน วันนี้จะเห็นได้ว่ามีคณะหรือภาควิชาที่สอนนิติศาสตร์เป็นร้อย ดังนั้นมาตรฐานมันก็ไม่เหมือนกัน ตรงนี้เราก็พยายามจะปรับวิธีการเรียนด้วย
        
       
        
       พูดถึงการเรียนการสอนด้านกฎหมาย มันมีปัญหาให้ต้องรื้อใหม่อย่างไร 
       มันต้องแยกเป็น 2 ส่วน อันนี้ไม่ได้พูดถึงในฐานะที่เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศนะ แต่พูดถึงในฐานะที่อยู่ในวงการกฎหมาย อย่างแรกผมรู้สึกว่าเด็กสมัยนี้กับสมัยก่อนมีวิธีคิดไม่เหมือนกัน การเรียนเพื่อเอาคะแนน การเรียนเพื่อเอาเกรด เลือกว่าอาจารย์คนไหนให้คะแนนดี อาจารย์คนไหนไม่ดุ ไม่เช็กชื่อ เป็นสาระสำคัญของการเรียน ไม่เฉพาะนิติศาสตร์ แต่รวมถึงบางศาสตร์ โดยเฉพาะสังคมศาสตร์ เพราะฉะนั้นต้องปรับวิธีคิดของคนใหม่ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไม่สามารถทำได้ 
       ประการที่ 2 หลักสูตร พูดกันเยอะมากว่าของบ้านเรามันแปลก เราควรเริ่มสตาร์ทการเรียนกฎหมายเป็นปริญญาใบที่ 2 คือให้คนมีอายุมาเรียนแบบสหรัฐฯ อย่างที่คณะเราเองก็มีภาคบัณฑิตที่ต้องจบปริญญาตรีสาขาอื่นมาก่อน แต่เราไปเปิดภาคตอนเย็นเพื่อรองรับคนทำงาน เพราะฉะนั้นในฐานะที่เคยเป็นคณบดีมา 4 ปี ผมถือว่าสำเร็จ แต่น้อยมาก จะมีแค่คนกลุ่มหนึ่งที่มาเรียนอย่างตั้งใจแล้วเปลี่ยนสาขาวิชาชีพได้ คนอีกกลุ่มมาเรียนเพื่ออยากรู้ และคนอีกกลุ่มมาเรียนเพื่อรับปริญญาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ตัวบุคคลมากกว่าว่าเรียนไปเพื่ออะไร
       ที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเรากลัวก็คือหลักสูตรขาสั้น คือหลักสูตรที่มีเด็กมัธยมปลายไปเรียนมหาวิทยาลัยเปิดได้น่ะครับ คุณเก็บหน่วยกิตได้ พอจบปุ๊บก็ไปเรียนต่ออีกนิดเดียวก็จบปริญญาตรี คุณเรียนปริญญาตรีตอนยังนุ่งขาสั้นอยู่เลย มันไม่ได้มีเฉพาะนิติศาสตร์สาขาเดียว เราก็จะมีคนจบปริญญาตรีตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี และไปเรียนเนติบัณฑิตได้ เป็นทนายความได้ เป็นผู้พิพากษาได้ แต่จะเหมาะหรือไม่ อันนี้เป็นคำถามเท่านั้นเองนะครับ และตรงนี้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายก็จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย 
       จะทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าต้องยกเลิก หรือต้องกำหนดอายุของคนที่จะไปเรียนเนติบัณฑิตว่าเท่าไรเพื่อไม่ให้โตไวเกินไป การโตไวในบางเรื่องเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่ในวิชาชีพนักกฎหมาย เพราะมันต้องใช้ประสบการณ์ ต้องอาศัยอายุ อาศัยความเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งตรงนี้แหละที่ต้องปฏิรูป 
        
       
        
       ทำไมมองดูแล้วเรามีกฎหมายมาก แต่ก็แก้อะไรไม่ได้เลย
       บ้านเรามีกฎหมายจำนวนมาก แต่การบังคับใช้กฎหมายมันหย่อนยานมาก หย่อนยานแบบไม่น่าเชื่อด้วย ดูบนทางเท้า มันเป็นไปได้ยังไงที่เรายอมให้ทางเท้าเป็นจุดขายของได้ อันนี้ง่ายๆ เลย ทางเท้ามันออกแบบมาให้คนเดิน ยิ่งทางเดินกว้างยิ่งสบาย จูงลูกจูงหลานกันสบายเลย แต่วันนี้ทางเท้าเราเป็นที่จอดรถรับจ้าง เป็นที่ตั้งของหาบเร่แผงลอย บางแห่งมีทั้งเตา ทั้งกระทะ อะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด ตึกแถวที่ขายของก็ยื่นมาบนทางเท้า คือทุกคนรบกวนสิทธิ์ของคนอื่นไปหมดโดยที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ทำอะไรเลย 
       เพราะฉะนั้นเมื่อคนก็ไม่มีวินัย เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่บังคับให้คนทำตาม ปัญหาหลักของเรากลายเป็นว่าไม่ได้อยู่ที่มีหรือไม่มีกฎหมาย แต่อยู่ที่ทำยังไงถึงจะให้คนเคารพสิทธิผู้อื่น 
       ผมเข้าใจสภาพว่าเราอยู่ในเมืองหลวง แต่เมืองหลวงทุกแห่งก็มีสภาพคล้ายกัน คือมีคนเยอะ แล้วทุกคนก็แก่งแย่งกันอยู่ แก่งแย่งกันกิน แก่งแย่งกันทำงาน แก่งแย่งกันเดินทาง เพียงแต่ว่าภายใต้การแก่งแย่งนั้นมันต้องมีจุดสมดุลที่ว่าเราต้องเคารพสิทธิของคนอื่นด้วย
       หลายครั้งรัฐก็ออกกฎหมายโดยคิดว่ามันจะแก้ปัญหาได้ แต่ก็เหมือนเดิม
       ถ้าทุกคนต้องการอิสระ ทุกคนต้องการทำตามใจตัวเอง มันก็อยู่ไม่ได้ ถ้าเราไม่เดินตามกฎ ผมว่าอาจจะมีองค์ประกอบหลายส่วน โดยเฉพาะส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งว่าเราต้องนึกถึงคนอื่นด้วย ไม่ใช่นึกถึงเฉพาะตัวเอง เพราะทุกวันนี้เรามีคนที่นึกถึงแต่ตัวเองคนเดียว


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=2008
เวลา 15 ตุลาคม 2567 17:23 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)