ข้อเสนอสำหรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทย [ตอนที่ 1]

3 มกราคม 2548 17:28 น.

       บทที่ 1
       แนวความคิดและความเป็นมาของการรับฟังความคิดเห็น
       ของประชาชนในประเทศไทย
       
                   
       การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นมาตรการสำคัญประการหนึ่งที่มาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ได้บัญญัติรับรองเอาไว้ จุดประสงค์สำคัญของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็เพื่อเพิ่มบทบาทของภาคประชาชนในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของฝ่ายปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินการจัดให้มีโครงการของรัฐที่สำคัญ ๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
                   
       การมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นต่อการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครองในประเทศไทยมิได้เพิ่งมีขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ก่อนหน้านี้ มีกฎหมายหลายฉบับที่มีบทบัญญัติให้ประชาชนได้มีโอกาสแสดงความเห็นในเรื่อง เฉพาะ ที่กฎหมายนั้นกำหนดไว้ เช่น พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 และพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 นอกจากนี้แล้ว ในปี พ.ศ. 2539 รัฐบาลได้จัดทำ "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 " ขึ้น เพื่อเป็น "เกณฑ์กลาง" ที่ใช้ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการดำเนินการในโครงการของรัฐทั้งหลาย แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งในกฎหมายเฉพาะและในระเบียบสำนักนายก
       รัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ดังกล่าว ก็ยังไม่สามารถ "ตอบสนอง" ความต้องการของประชาชนที่ประสงค์จะมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของฝ่ายปกครองได้อย่างเต็มที่ ข้อบกพร่องของกฎหมายและระเบียบทำให้การแสดงความเห็นของประชาชนเป็นไปได้อย่างไม่เต็มที่และไม่ได้รับการยอมรับ และในบางกรณีก็นำไปสู่ความขัดแย้งของสังคมด้วย ดังนั้น การศึกษาถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่านมาจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่จะได้นำมาเป็นข้อคิดเห็นประกอบการจัดทำกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อไป
                   
       การศึกษาถึงแนวความคิดและความเป็นมาของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในบทนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อใหญ่ ๆ คือ การศึกษาแนวความคิดในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีอยู่ก่อนการประกาศใช้
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540)
       
       1.1 แนวความคิดในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
                   
       ในประเทศต่าง ๆ ที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศมีที่มาจากประชาชนในประเทศ ดังนั้น การปกครองสังคมเพื่อให้สมาชิกในสังคมอยู่รวมกันโดยปกติสุขจึงต้องถือมติของปวงชนในสังคมเป็นใหญ่ แต่เดิมการ
       ปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นรูปแบบที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม คือ ให้ประชาชนในรัฐสามารถออกเสียงต่อกิจการบ้านเมือง หรือกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยตรง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐเจริญขึ้นและประชาชนในแต่ละรัฐมีจำนวนมากขึ้น การที่จะให้ประชาชนแต่ละคนเข้าไปใช้อำนาจ
       ดังกล่าวย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องสถาปนาระบบการมีผู้แทนราษฎรขึ้นเพื่อให้ผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนและรับเอาความคิดเห็นของประชาชนไปปฏิบัติโดยการออกเสียงแทนประชาชนในกิจการต่าง ๆ การเลือกผู้แทนที่ตนไว้วางใจและเห็นว่าเหมาะสมที่จะใช้อำนาจแทนตนเข้าไปดำเนินการในการปกครองแทนย่อมสอดคล้องกับความหมายของการปกครองระบบประชาธิปไตยมากที่สุด ระบบประชาธิปไตยโดยมีผู้แทนที่เรียกกันว่า รูปแบบของ ประชาธิปไตยโดยอ้อม หรือโดยผู้แทน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีที่ว่าอำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน โดยผู้แทนเหล่านั้นจะเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ (ตรากฎหมาย) และอำนาจบริหาร (คณะรัฐมนตรี) แทนประชาชน
                   
       แต่อย่างไรก็ตาม การให้ผู้แทนราษฎรทำหน้าที่แทนประชาชน จะตั้งอยู่บนหลักสมมติฐานที่ว่าผู้แทนราษฎรซึ่งประชาชนเลือกนั้นเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ตามความเป็นจริงหากพิจารณาทางสังคมวิทยาแล้ว จะพบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ดี หรือพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดก็ดี ย่อมมีผลประโยชน์ผูกพันกับวิธีการที่ให้ประโยชน์แก่ตนเอง หรือแก่พรรคการเมืองของตน ทำให้การแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของผู้แทนราษฎรเหล่านั้นไม่ตรงกับเจตนาส่วนรวมของประชาชนได้1 ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนยังคงเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง จึงเกิดแนวความคิดในเรื่องประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ( participatory democracy ) ขึ้น ซึ่ง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หมายถึงการที่อำนาจในการตัดสินใจไม่ควรเป็นของกลุ่มคนจำนวนน้อย แต่อำนาจดังกล่าวควรได้รับการจัดสรรในระหว่างประชาชน เพื่อให้ทุก ๆ คนได้มีโอกาสที่จะมีอิทธิพลต่อกิจกรรมส่วนรวม ซึ่งการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้น สามารถกระทำได้ในหลายรูปแบบและมีระดับขั้นของการมีส่วนร่วมของประชาชนที่แตกต่างกันออกไป โดยสามารถเรียงลำดับการมีส่วนร่วมของประชาชนจากน้อยไปหามากได้ดังนี้ คือ การให้ข้อมูล การเปิดรับความคิดเห็นจากประชาชน การปรึกษาหารือ การวางแผนร่วมกัน การร่วมปฏิบัติ การควบคุมโดยประชาชน
                   
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ถือได้ว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญร่วมกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผลจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทำให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่าน ๆ มา โดยมีการรับรองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคให้กับประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และนอกจากนี้ ได้มีการบัญญัติเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้ในหลายมาตรา โดยมีรายละเอียดดังนี้ คือ
       
       
       ประเภทของการมีส่วนร่วม บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
       1. การมีส่วนร่วมในการรับรู้
                   
       - สิทธิได้รับทราบข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น (มาตรา 58)
                   
       - สิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาต หรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้สำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น (มาตรา 59)
       
       2. การมีส่วนร่วมในการให้ความเห็น
       
                   
       - เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น (มาตรา 39)
                   
       - สิทธิในการเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (มาตรา 59)
       3. การมีส่วนร่วมในการริเริ่ม
                   
       
       - สิทธิในการเสนอกฎหมายของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน (มาตรา 170)
                   
       - สิทธิในการเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น (มาตรา 287)
       
       4. การมีส่วนร่วมในการคิดและ
       ตัดสินใจ
                   
       - สิทธิในการออกเสียงแสดงประชามติ (มาตรา 214)
                   
       - สิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 104 กับมาตรา 105)
                   
       - สิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (มาตรา 123 กับมาตรา 124)
       
       5. การมีส่วนร่วมในการดำเนินการ
                   
       - สิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือ วัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน (มาตรา 46)
                   
       - สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (มาตรา 56)
       
       6. การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
                   
       - สิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ และได้รับแจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาอันสมควร (มาตรา 61)
                   
       - สิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ
       รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นของรัฐ ที่เป็นนิติบุคคลให้รับผิด (มาตรา 62)
                   
       - สิทธิในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น (มาตรา 286)
                   
       - สิทธิในการเสนอให้วุฒิสภาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน (มาตรา 304)
       
       
                   
       เมื่อพิจารณาถึงประเภทต่าง ๆ ของการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) แล้ว จะพบว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนที่สำคัญประการหนึ่งและได้มีการบัญญัติรับรองไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ก็คือ การมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นโดยการเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดห็นของประชาชนตามมาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากในปัจจุบัน (ธันวาคม พ.ศ. 2545) ยังไม่มีการออกกฎหมายมารองรับบทบัญญัติในมาตราดังกล่าว จึงทำให้ประชาชนยังไม่สามารถใช้สิทธิในการเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้อย่างแท้จริง ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตาม
       เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) จึงได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. ขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประชาชนก็สามารถมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นได้ เนื่องจากมีการบัญญัติเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในกฎหมายเฉพาะเรื่อง 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 และพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 นอกจากนี้ยังได้มีการวางหลักเกณฑ์กลางในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในระเบียบ 1 ฉบับ คือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวในบทนี้ จึงขอนำเสนอกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีอยู่ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ส่วนกระบวนการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 นั้น จะได้ทำการศึกษาในบทต่อไป
       
       1.2 การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีอยู่ก่อนประกาศใช้
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540)

                   
       แนวความคิดเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนถูกนำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายเป็นครั้งแรกโดยพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 17 และมาตรา 18 ที่กำหนดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดใด ต่อมามีการบัญญัติกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 มาตรา 27 กำหนดว่า ก่อนที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางจะกำหนดให้ท้องที่ใดเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดิน คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางมอบหมายจะต้องรับฟังความคิดเห็นของเจ้าของที่ดินทุกรายในท้องที่นั้นเสียก่อน แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายทั้งสองฉบับข้างต้นก็มิได้มีการกำหนดรูปแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการในการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้อย่างชัดเจน ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมีแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้น เมื่อพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 มาตรา 19 และมาตรา 33 ได้กำหนดให้สำนักผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในท้องที่ที่จะมีการวางและจัดทำผังเมืองก่อนที่จะมีการวางและจัดทำผังเมืองในท้องที่ดังกล่าว แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ยังมิได้มีการกำหนดรูปแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการในการดำเนินการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน เนื่องจากกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนับได้ว่าเป็นกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นในเรื่องต่าง ๆ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ดังนั้น เพื่อให้เห็นถึงพัฒนาการของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทย จึงขอนำเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ทั้ง 3 ฉบับ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
                   
       1.2.1 พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 25112
                   
        พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ผลิตขึ้นภายในประเทศไทย โดยก่อนที่จะประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ก็มีผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลายชนิดที่ผลิตขึ้นได้ภายในประเทศอยู่แล้ว แต่เนื่องจากยังมิได้มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้เป็นที่แน่นอนและเหมาะสม ทำให้มีการแข่งขันกันลดราคา ด้วยการทำคุณภาพสินค้าให้ต่ำลงเป็นเหตุให้ประชาชนขาดความนิยม
       เชื่อถือ และยังอาจเกิดอันตรายแก่ประชาชน ตลอดจนก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในการประกอบ
       กิจการอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลเสียแก่เศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐสภาจึงได้ตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นกำหนดมาตรฐานเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อความปลอดภัยหรือเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดแก่ประชาชนหรือแก่กิจการอุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจของประเทศ3
                   
        กฎหมายฉบับนี้ได้บัญญัติกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในมาตรา 17 และมาตรา 18 คือ ก่อนที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดใดต้องเป็นไปตามมาตรฐานแล้ว สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์
       อุตสาหกรรมจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์
       อุตสาหกรรมชนิดนั้นเสียก่อน กฎหมายฉบับนี้นับได้ว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่ได้กล่าวถึงการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเอาไว้
                   
        1.2.1.1 หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
                   
        พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ได้บัญญัติเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดย การรับฟังคำคัดค้าน ไว้ใน มาตรา 17 และมาตรา 18 ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ คือ
                   
        (ก) ก่อนที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดใดต้องเป็นไปตามมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์
       อุตสาหกรรมจะต้องดำเนินการประกาศโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา และหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยอย่างน้อยหนึ่งฉบับ มีกำหนดไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เพื่อประกาศให้ประชาชนทราบว่าสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมประสงค์จะกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดใดเป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมทั้งประกาศให้ทราบว่าประชาชนสามารถดูรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ ณ สถานที่ใดบ้าง ตลอดจนกำหนดระยะเวลาให้ผู้ที่ประสงค์จะคัดค้านการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวยื่นคำคัดค้านต่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่วันประกาศ4
                   
        (ข) การดำเนินการภายหลังการประกาศโฆษณา5 แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
                   
        (ข.1) กรณีไม่มีผู้คัดค้าน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต้องรายงานให้คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทราบ เพื่อที่คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะได้ดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดนั้นต่อไป
                   
        (ข.2) กรณีมีผู้คัดค้าน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์
       อุตสาหกรรมจะต้องเสนอคำคัดค้านดังกล่าวต่อคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจัดให้มีการแถลงคำคัดค้านของผู้คัดค้าน โดยปิดประกาศกำหนดวัน เวลา และสถานที่ฟังคำแถลงคัดค้านไว้ ณ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์
       อุตสาหกรรม และแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้คัดค้านทราบ
                   
        (ค) การดำเนินการในวันรับฟังคำแถลงคัดค้าน เมื่อถึงวันที่กำหนดให้มีการแถลงคำคัดค้าน ผู้คัดค้านและบุคคลผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าร่วมในการแถลงคำคัดค้าน โดยผู้คัดค้านมีสิทธิแถลงคำคัดค้าน และบุคคลผู้มีส่วนได้เสียสามารถแสดงความเห็นได้ หากผู้คัดค้านไม่มาในวันดังกล่าว คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมีอำนาจพิจารณาไปตามที่เห็นสมควร
       
       
       เชิงอรรถ
       
                   
       1. นันทวัฒน์ บรมานันท์, "รัฐธรรมนูญกับการออกเสียงแสดงประชามติ" วารสารกฎหมาย ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 (มกราคม 2542) : หน้า 160.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       2. ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 85 ตอนที่ 121 (วันที่ 31 ธันวาคม 2511).
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       3. เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       4. พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 17.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       5. พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 18.
       [กลับไปที่บทความ]
       
       
       
       
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2546

       
       


                   
        1.2.1.2 ผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
                   
        พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ได้บัญญัติถึงผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในมาตรา 18 ว่า หลังจากการรับฟังการแถลงคำคัดค้านแล้ว คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะนำคำแถลงคัดค้านของผู้คัดค้านมาประกอบการพิจารณาว่าจะกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวหรือไม่ แล้วทำคำวินิจฉัย โดยปิดสำเนาคำวินิจฉัยดังกล่าวไว้ ณ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และส่งสำเนาคำวินิจฉัยไปให้ผู้คัดค้านทราบ โดยมาตรา 19 ของกฎหมายฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียเนื่องจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการชุดดังกล่าวสามารถอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อ
       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศสำเนาคำวินิจฉัย ณ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ได้บัญญัติเรื่องศาลปกครองไว้ในหมวด 8 ศาล ส่วนที่ 4 ศาลปกครอง มาตรา 276 ถึงมาตรา 280 และได้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แล้ว ดังนั้น หากผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสามารถใช้สิทธิตามมาตรา 496 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยเสนอคดีศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวได้
                   
        1.2.2 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 25177
                   
        พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรมของประเทศให้เจริญก้าวหน้าและส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้น โดยกำหนดให้มีการดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเสียใหม่เพื่อให้ที่ดินทุกแปลงได้รับประโยชน์จากโครงการชลประทานและการสาธารณูปโภคโดยทั่วถึง และเพื่อให้เกษตรกรได้มีที่ดินของตนเองสำหรับประกอบอาชีพเกษตรกรรมซึ่งจะมีผลช่วยให้ฐานะในทางเศรษฐกิจของประเทศและของเกษตรกรให้มั่นคงขึ้น8 กฎหมายฉบับนี้มีบทบัญญัติให้มีการแสดงความคิดเห็นของประชาชนไว้ในมาตรา 27 คือ หากในจังหวัดใดยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตโครงการปฏิรูปที่ดิน เมื่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางเห็นสมควรจัดให้ที่ดินในท้องที่ใดในจังหวัดนั้นเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดิน คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางมอบหมายจะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินทุกรายในท้องที่นั้นเสียก่อน
       
                   
        1.2.2.1 หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชา
       ชน

                   
        พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 ได้บัญญัติเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยการสอบถามความสมัครใจ ไว้ในมาตรา 27 ว่า ในกรณีที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตโครงการปฏิรูปที่ดินในจังหวัดใด หากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางเห็นสมควรจัดให้ที่ดินในท้องที่ใดในจังหวัดนั้นเป็นเขตโครงการปฏิรูปที่ดิน คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางมอบหมายจะต้องดำเนินการสอบถามความสมัครใจจากเจ้าของที่ดินทุกรายในท้องที่นั้นว่าจะให้ดำเนินการจัดรูปที่ดินหรือไม่ และให้จัดทำบันทึกการยินยอมหรือไม่ยินยอมของเจ้าของที่ดินทุกรายไว้เป็นหลักฐาน
                   
        1.2.2.2 ผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
                   
        ภายหลังจากที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นโดยการสอบถามความสมัครใจจากเจ้าของที่ดินทุกรายในท้องที่ที่ได้กำหนดไว้ครบถ้วนแล้ว กฎหมายฉบับนี้บัญญัติถึงผลของการรับฟังความคิดเห็นไว้ในมาตรา 28 ว่า หากเจ้าของที่ดินยินยอมให้ดำเนินการจัดรูปที่ดินเกินกึ่งหนึ่งของบรรดาเจ้าของที่ดินทั้งหมด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดท้องที่ที่จะสำรวจเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดิน
                   
        1.2.3 พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 25189
                   
        พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ได้ถูกตราขึ้นเนื่องจากกฎหมายเดิมคือกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและผังชนบทได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ประกอบกับได้มีการพัฒนาทั้งในด้านเกษตรกรรม พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม และจำนวนประชากรในท้องที่ต่าง ๆ ได้ทวีความหนาแน่นยิ่งขึ้น มาตรการและโครงการที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายเดิมจึงไม่เหมาะสมกับสภาวะในขณะนั้น จึงมีการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของวิชาผังเมือง และสภาพท้องที่10 กฎหมายฉบับนี้นับว่าเป็นกฎหมายที่นำกลไกของกฎหมายปกครองมาบัญญัติไว้ เช่น สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่น หรือคณะกรรมการอุทธรณ์11 แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 แก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2518 ได้บัญญัติเรื่องศาลปกครองไว้ในหมวด 8 มาตรา 212 โดยมีสาระสำคัญว่า "ศาลปกครองจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ" และในขณะนั้นยังมิได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองขึ้น ดังนั้นจึงยังไม่สามารถนำบทบัญญัติมาตรา 70 วรรคสาม ของพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 มาใช้บังคับได้ เนื่องจาก มาตรา 70 วรรคสาม ตอนท้าย กำหนดว่า "ในกรณีที่ยังมิได้มีการจัดตั้งศาลปกครองตามรัฐธรรมนูญ มิให้นำความในวรรคนี้มาใช้บังคับ" แต่ในปัจจุบันประชาชนสามารถใช้สิทธิตามมาตรา 70 วรรคสาม ของพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ได้ เนื่องจากได้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แล้ว ดังนั้น หากประชาชนไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่น หรือคณะกรรมการอุทธรณ์ สามารถใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ นอกจากตัวอย่างข้างต้นแล้ว กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดกลไกควบคุมการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองไว้อีกด้วย เช่น การกำหนดให้มีคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมเพื่อให้คำปรึกษาและความคิดเห็นเกี่ยวกับผังเมืองรวมที่สำนักผังเมือง หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นวางและจัดทำขึ้น12 เป็นต้น
                   
        ในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น กฎหมายฉบับนี้นับได้ว่าเป็นกฎหมายที่กล่าวถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้อย่างชัดเจนมากกว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่ผ่านมา โดยได้บัญญัติให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยการรับฟังข้อคิดเห็นไว้ 2 กรณี คือ การรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดผังเมืองรวม ตามมาตรา 19 วรรคสอง13 และการรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดผังเมืองเฉพาะตามมาตรา 3314 บทบัญญัติทั้ง 2 มาตราข้างต้น สามารถสรุปสาระสำคัญได้ว่า เมื่อสำนักผังเมืองจะวางหรือจัดทำผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะของท้องที่ใด แล้วสำนักผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จะต้องจัดให้มีการโฆษณาให้ประชาชนทราบ และจัดการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในท้องที่ที่จะมีการวางและ
       จัดทำผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะ ส่วนหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการโฆษณา การประชุม และการแสดงข้อคิดเห็นให้กำหนดโดยกฎกระทรวง ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติข้างต้น จึงมีการดำเนินการออกกฎกระทรวงตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 มาตรา 19 คือ กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) 15 และมาตรา 33 คือ กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2519) 16
                   
        1.2.3.1 หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชา
       ชน

                   
        หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยการรับฟังข้อคิดเห็นตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง 2 ฉบับข้างต้น ซึ่งเมื่อพิจารณากฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 มาตรา 33 คือ กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2519) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการโฆษณา การประชุม และการแสดงข้อคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะว่า ให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโฆษณา การประชุม และการแสดงข้อคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวมตามกฎกระทรวงฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) มาใช้บังคับแก่การโฆษณา การประชุมและการแสดงข้อคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดผังเมืองเฉพาะด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น หลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการจัดการรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะ จึงมีวิธีการดำเนินการเหมือนกัน ซึ่งสามารถสรุปวิธีการในการดำเนินการรับฟังข้อคิดเห็นได้ 2 ขั้นตอน คือ
                   
        (ก) การดำเนินการก่อนการรับฟังข้อคิดเห็น
                   
        ก่อนที่จะมีการวางและจัดทำผังเมืองในท้องที่ใด
       กรมการผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ คือ
                   
        (ก.1) จัดให้มีการโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงที่สามารถรับฟังได้ในท้องที่นั้น และทางหนังสือพิมพ์ภาษาไทยรายวันที่มีจำหน่ายในท้องที่นั้นเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เพื่อให้ประชาชนทราบถึงการที่จะวางและจัดทำผังเมือง โดยการโฆษณาดังกล่าวจะต้องระบุชื่อท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง วัน เวลา และสถานที่ที่จะปิดประกาศแสดงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองไว้17
                   
        (ก.2) จัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของ
       ประชาชน เพื่อให้ประชาชนในท้องที่ดังกล่าวมีข้อมูลประกอบการแสดงความคิดเห็น นอกจากการโฆษณาตามข้อ (ก.1) แล้ว กรมการผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จะต้องปิดประกาศแสดงรายการดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ
                   
        (ก.2.1) วัตถุประสงค์ในการวางและจัดทำผังเมือง
                   
        (ก.2.2) แผนที่แสดงเขตท้องที่ที่จะวางและ
       จัดทำผังเมือง
       
                   
        (ก.2.3) แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง และแผนผังอื่นตามที่เห็นสมควร พร้อมทั้งข้อกำหนดประกอบแผนผังนั้นด้วย ซึ่งแผนผังดังกล่าวอาจทำเป็นฉบับเดียวหรือหลายฉบับก็ได้
                   
        (ก.2.4) รายการประกอบแผนผัง
                   
        (ก.2.5) นโยบาย มาตรการ และวิธีดำเนิน
       การเพื่อปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ ในการวางและจัดทำผังเมือง
                   
        (ก.2.6) ข้อความเกี่ยวกับ วัน เวลา และ
       สถานที่ที่จะจัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง รวมทั้งข้อความเชิญชวนให้ประชาชนในท้องที่ดังกล่าวมาแสดงข้อคิดเห็นในการประชุมที่จะจัดให้มีขึ้นด้วย
                   
        (ก.2.7) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแสดงข้อคิดเห็นของประชาชน18
                   
        การประกาศข้างต้น จะต้องปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจดูได้ ส่วนสถานที่ปิดประกาศนั้น ในกรุงเทพมหานคร ให้ปิดประกาศ ณ กรมการผังเมือง ที่ว่าการเขตหรือที่ทำการแขวงของกรุงเทพมหานคร ส่วนในจังหวัดอื่นให้ปิดประกาศ ณ สำนักงานผังเมืองจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล และ
       สาธารณสถานอื่น ๆ ในท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง19
                   
        (ข) การดำเนินการจัดการประชุมรับฟังข้อคิดเห็น
                   
        การจัดการรับฟังข้อคิดเห็นนั้น ผู้ดำเนินการจัดการประชุมคือ กรมการผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี โดยจะต้องจัดให้มีการประชุมตามวัน เวลา และสถานที่ที่ระบุไว้ในประกาศตามข้อ (ก.2) และจะต้องจัดการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมืองครั้งแรกภายในสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ หากจะจัดให้มีการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในครั้งต่อ ๆ ไป ให้ประธานในที่ประชุมแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าจะมีการประชุมครั้งต่อไป และให้กรมการผังเมืองหรือเจ้าหน้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ดำเนินการปิดประกาศแสดงรายการตามข้อ (ก.2) ที่ได้จัดทำขึ้นภายหลังการประชุมครั้งแรก โดยให้นำวิธีการปิดประกาศ และการจัดประชุมครั้งแรกมาใช้บังคับกับการประชุมครั้งต่อไปด้วย20
                   
        (ข.1) ผู้ดำเนินการจัดการประชุมรับฟังข้อคิดเห็น
                   
        ในการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนนั้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นประธานในที่ประชุม หากเป็นการวางและจัดทำผังเมืองในท้องที่คาบเกี่ยวกันตั้งแต่สองจังหวัดขึ้นไป ให้ประธานคณะที่ปรึกษาผังเมืองที่คณะกรรมการผังเมืองแต่งตั้งเป็นประธานที่ประชุม21
                   
        (ข.2) ผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมและแสดงข้อคิดเห็น ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้ คือ
                   
        (ข.2.1) เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมืองหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารดังกล่าว
       
       
                   
        (ข.2.2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภาตำบล หรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กรรมการสุขาภิบาล และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่น แห่งท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง22
                   
        (ข.2.3) คณะที่ปรึกษาผังเมืองแห่งท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง23
                   
        (ข.2.4) บุคคลซึ่งกรมการผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี มีหนังสือเชิญ ซึ่งอาจจะเป็นผู้แทนสมาคม องค์การ หรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน และบุคคลหรือคณะบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น24
                   
        (ข.3) วิธีการแสดงข้อคิดเห็น การแสดงข้อคิดเห็นสามารถกระทำได้ 2 วิธี คือ
                   
        (ข.3.1) การแสดงข้อคิดเห็นด้วยวาจา การแสดงข้อคิดเห็นวิธีนี้สามารถกระทำได้ในวันประชุมเท่านั้น
                   
        (ข.3.2) การแสดงข้อคิดเห็นเป็นหนังสือ
       เป็นการแสดงข้อคิดเห็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งสามารถกระทำได้ทั้งก่อนการประชุม ระหว่างการประชุม และภายหลังการประชุม แต่มีข้อจำกัดว่าหากจะแสดงข้อคิดเห็นภายหลังการประชุม จะต้องกระทำก่อนที่กรมการผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี เสนอผังเมืองที่จะวางและจัดทำนั้นต่อคณะกรรมการผังเมือง25 นอกจากนี้ ในกรณีที่บุคคลตามข้อ (ข.2.1) ประสงค์จะแสดงข้อคิดเห็นเป็นหนังสือ หนังสือแสดงข้อคิดเห็นดังกล่าวอย่างน้อยจะต้องแสดงรายการดังต่อไปนี้ คือ
                   
        (ข.3.2.1) ชื่อ ที่อยู่ อาชีพ และลายมือชื่อของผู้แสดงข้อคิดเห็น ในกรณีที่เป็นการแสดงข้อคิดเห็นแทนผู้อื่น จะต้องแนบใบมอบฉันทะที่ให้แสดงข้อคิดเห็นแทนด้วย
                   
        (ข.3.2.2) ระบุหลักฐานแสดงฐานะการเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดิน หรืออาคารซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง
                   
        (ข.3.3.3) ระบุเรื่องอันเป็นผลกระทบต่อสิทธิของตนเองหรือประโยชน์ของส่วนรวมที่เกิดหรืออาจจะเกิดจากการจะวางและจัดทำ
       ผังเมืองพร้อมทั้งเหตุผล26
                   
        1.2.3.2 ผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
                   
        กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง ข้อ 12 ได้กำหนดถึงผลของการรับฟังข้อคิดเห็นไว้ว่า ให้ผู้ดำเนินการจัดประชุม ซึ่งก็คือกรมการผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี นำข้อคิดเห็นของผู้มีสิทธิแสดงข้อคิดเห็นและของคณะที่ปรึกษาผังเมืองไปประกอบการพิจารณาวางและจัดทำผังเมืองหรือทบทวนผังเมืองที่ได้วางและจัดทำขึ้นไว้แล้วก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการผังเมืองพิจารณา
       
                   
       แม้กฎหมาย 3 ฉบับข้างต้น คือ พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 และ พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 จะนำเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาบัญญัติไว้ และก่อให้เกิดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทยมากว่า 30 ปีแล้วก็ตาม แต่กฎหมายทั้ง 3 ฉบับก็ไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเท่าใดนัก ประกอบกับในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายปกครองดำเนินการจัดให้มีโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญและก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก จึงมีเสียงเรียกร้องให้ฝ่ายปกครองเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อโครงการสำคัญเหล่านั้น ในปี พ.ศ. 2539
       รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้จัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ เพื่อกำหนดรูปแบบ วิธีการ และหลักเกณฑ์ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ขึ้น ในเวลาต่อมาระเบียบฉบับนี้จึงได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน จึงอาจกล่าวได้ว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 เป็นระเบียบฉบับแรกของประเทศไทยที่บัญญัติรูปแบบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้อย่างชัดเจน ดังจะได้ทำการนำเสนอในบทต่อไป
       
       
       เชิงอรรถ
       
                   
       6. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
                   
       "มาตรา 49 บัญญัติว่า การฟ้องคดีปกครองจะต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผล แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะมีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น".
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       7. ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 1 ตอนที่ 155 (ฉบับพิเศษ) (วันที่ 18 กันยายน 2517).
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       8. เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       9. ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 92 ตอนที่ 33 (วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2518).
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       10. เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       11. พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 มาตรา 70 วรรคสาม.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       12. พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 มาตรา 21 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       13. พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535.
                   
       "มาตรา 19 บัญญัติว่า เมื่อสำนักผังเมืองจะวางหรือจัดทำผังเมืองรวมของท้องที่ใด ให้สำนักผังเมืองแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นของท้องที่นั้นทราบ และให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้นมาแสดงความคิดเห็นต่อสำนักผังเมืองด้วย
                   
       ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมใด ให้สำนักผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้วแต่กรณี จัดให้มีการโฆษณาให้ประชาชนทราบ แล้วจัดการประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง เมื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในท้องที่ที่จะมีการวางและจัดทำผังเมืองรวมนั้น ในการรับฟังข้อคิดเห็นนี้จะกำหนดเฉพาะให้ผู้แทนของประชาชนเข้าร่วมประชุมตามความเหมาะสมก็ได้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโฆษณา การประชุม และการแสดงข้อคิดเห็นให้กำหนดโดยกฎกระทรวง".
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       14. พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518
                   
       "มาตรา 33 บัญญัติว่า ในการวางแผนและจัดทำผังเมืองเฉพาะใด ให้สำนักผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จัดให้มีการโฆษณาให้ประชาชนทราบ แล้วจัดการประชุมไม่น้อยกว่าสองครั้ง เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในท้องที่ที่จะมีการวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะนั้น ในการรับฟังข้อคิดเห็นนี้ จะกำหนดเฉพาะให้ผู้แทนของประชาชนเข้าร่วมการประชุมตามความเหมาะสมก็ได้ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการโฆษณาการประชุม และการแสดงข้อคิดเห็นให้กำหนดโดยกฎกระทรวง".
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       15. กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 114 ตอนที่ 22 (วันที่ 20 มิถุนายน 2540).
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       16. กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2519) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 93 ตอนที่ 104 (วันที่ 24 สิงหาคม 2519).
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       17. กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 2.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       18. กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 3.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       19. กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 4.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       20. กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 5.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       21. กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 9.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       22. กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 7.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       23. กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 9.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       24. กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 6.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       25. กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 10.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       26. กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 11.
       [กลับไปที่บทความ]
       
       
       
       
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2546

       
       


       บทที่ 2
       การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
       ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539
       
                   
       แนวความคิดเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนถูกนำมาบัญญัติไว้ในกฎหมาย 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 และพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ดังที่ได้ทำการนำเสนอไปแล้วในบทที่ 1 แต่จากการศึกษากฎหมายทั้ง 3 ฉบับข้างต้นพบว่า กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ มิได้มีการกำหนดรูปแบบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้อย่างชัดเจน จะมีก็แต่เพียงพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 เท่านั้นที่กำหนดรายละเอียดและขั้นตอนการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2539 จึงมีการจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2539 ขึ้น ระเบียบฉบับนี้นับได้ว่าเป็นระเบียบฉบับแรกที่ได้กำหนดรูปแบบ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้อย่างชัดเจน ระเบียบฉบับนี้ได้นำแนวความคิดในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ และประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น มากำหนดไว้ นั่นก็คือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ (Public hearing) การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรูปแบบดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ในการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทยอย่างกว้างขวางและแพร่หลายในเวลาต่อมา จนถือได้ว่าเป็นรูปแบบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนซึ่งเป็นที่ยอมรับและเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนไว้อีกด้วย ส่งผลให้มีการนำเอาการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์มาใช้จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว จึงขอนำเสนอกระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ในบทนี้
       
       2.1 ความเป็นมาของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539
                   
       การจัดทำประชาพิจารณ์ในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนชุมชนบ้านครัว อันเนื่องมาจากโครงการทางด่วนแยกอุรุพงษ์ - ราชดำริ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยชาวชุมชนบ้านครัวได้ร่วมกับชุมชนเพื่อนบ้านใกล้เคียงต่อสู้คัดค้านโครงการดังกล่าวมานานกว่า 4 ปี นักวิชาการ 2 คน คือ คุณแก้วสรร-คุณขวัญสรวง อติโพธิ เห็นว่า ควรจะหาเครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่งมาระงับความขัดแย้งดังกล่าวก่อนที่จะเกิดความรุนแรงขึ้น จึงเสนอให้มีการนำแนวคิด วิธีการและรูปแบบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของต่างประเทศที่เรียกว่า "Public Hearing" มาใช้ระงับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว โดยชุมชนบ้านครัวตกลงที่จะใช้กลไกตามที่นักวิชาการทั้ง 2 ท่านเสนอมา จึงเสนอต่อ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งรับผิดชอบการทางพิเศษแห่งประเทศไทยให้ใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อพิจารณาถึงความสมประโยชน์และความจำเป็นของโครงการ เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2536 โดยเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางขึ้นชุดหนึ่ง ทำหน้าที่ดำเนินการไต่สวนหาข้อเท็จจริง และให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยประกาศชี้แจงแผนงาน เอกสารข้อเท็จจริง พร้อมทั้งขอมีส่วนร่วมในการไต่ถามและเสนอพยานหลักฐานและข้อมูลโต้แย้ง ตลอดจนให้การดำเนินการดังกล่าวกระทำโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน และเสนอผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือรัฐบาลตัดสินชี้ขาดอีกครั้ง โดยไม่ผูกพันตามความคิดเห็นของฝ่ายใด แต่ให้ชี้แจงเหตุผลอย่างชัดเจนและครบถ้วน หลังจากนั้น พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 243/2536 ลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2536 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาประโยชน์ของถนนรวมและกระจายการจราจรต่อระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ขึ้น โดยคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย27
       
                   
       (1) ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ
                   
       (2) ดร.อัมมาร์ สยามวาลา กรรมการ
                   
       (3) นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย
                   
       (ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือผู้แทน) กรรมการ
                   
       (4) นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย
                   
       หรือผู้แทน กรรมการ
                   
       (5) ดร.ครรชิต ผิวนวล กรรมการ
                   
       (6) ผศ.ดร.นิพันธ์ วิเชียรน้อย กรรมการ
                   
       (7) ผศ.พรพจน์ สุขเกษม กรรมการ
                   
       (8) ผู้อำนวยการกองการข่าว กรรมการและเลขานุการ
                   
       คณะกรรมการชุดนี้ได้ใช้เวลาในการรับฟังความคิดเห็นประมาณ 2 เดือน
       มีการประชุมทั้งสิ้น 9 ครั้ง แบ่งเป็นการรับฟังข้อมูลและความเห็นเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญ และประชาชน โดยเปิดเผยต่อสาธารณชนจำนวน 6 ครั้ง และประชุมเฉพาะคณะกรรมการเพื่อหาข้อสรุป และยกร่างรายงาน 3 ครั้ง ภายหลังการรับฟังความคิดเห็น คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้สรุปผลส่ง พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2536 โดยคณะกรรมการมีมติชี้ขาดว่า โครงการดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์กับการจราจร และไม่เป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังสร้างผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนบ้านครัว โดยภาระที่เกิดจะตกแก่ชุมชนบ้านครัวมากจนไม่เป็นธรรม แต่เงื่อนไขของโครงการนี้คือ หากรัฐบาลตัดสินใจไม่สร้างจะต้องเจรจาขอแก้ไขสัญญากับบริษัททางด่วนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) (BECL) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่รัฐทำสัญญาด้วยเสียก่อน จึงทำให้ฝ่ายการเมืองตัดสินใจใด ๆ ออกมา ในขณะที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยไม่ยอมรับความเห็นของคณะกรรมการ โดยอ้างว่าข้อมูลที่คณะกรรมการนำมาพิจารณาเป็นข้อมูลเก่า จากข้อขัดแย้งดังกล่าวส่งผลให้ไม่สามารถหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าวได้ ทำให้ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นรอบที่ 2 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการชุดเดิม แต่ประธานคณะกรรมการได้ลาออก ดร.อัมมาร์ สยามวาลา ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่แทน ในการรับฟังความคิดเห็นในรอบที่ 2 นี้ คณะกรรมการได้ยืนยันในมติเดิมว่าควรยกเลิกโครงการ แต่คณะรัฐมนตรีกลับมีมติเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2538 ให้ก่อสร้างต่อไปได้ โดยเลี่ยงลงไปในคลองเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด28 แม้ว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ รัฐบาลจะมีมติแย้งกับความเห็นของคณะกรรมการก็ตาม แต่การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ก็เป็นกลไกหนึ่งที่สามารถลดความขัดแย้งโดยสันติวิธีระหว่างภาครัฐกับประชาชนได้ ส่งผลให้กระบวนการดังกล่าวเป็นที่ยอมรับต่อสาธารณชน หากพิจารณาถึงการดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ตามโครงการนี้แล้ว จะพบว่าเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีโดยที่มิได้มีกฎหมายหรือระเบียบใด ๆ รองรับเลย การจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ตามโครงการนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการนำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยวิธีประชาพิจารณ์มาใช้ในประเทศไทย ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ได้มีการดำเนินการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ ระเบียบฉบับนี้มีที่มาจากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ในข้อ 1.8.2 ดังนี้
                   
       "1.8 การมีส่วนร่วมของประชาชน
                   
        ฯลฯ ฯลฯ
                   
        1.8.2 ส่งเสริมให้มีการแสดงความคิดเห็นในปัญหาสำคัญของชาติที่มี
       ข้อโต้เถียงหลายฝ่ายโดยวิธีประชาพิจารณ์เพื่อเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจของรัฐในการดำเนินงาน"
                   
       ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลจึงได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง" โดยมีนายชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธานกรรมการ มีนายโภคิน พลกุล เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 และ นายลิขิต ธีรเวคิน เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2 โดยให้คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ คือ
                   
       (1) จัดทำแผนพัฒนาการเมืองให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐและการ
       ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รวมทั้งเสนอแนวทางและวิธีการปฏิรูปการเมืองต่อคณะรัฐมนตรี
                   
       (2) พิจารณาแนวทางการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 211
                   
       (3) ตรวจสอบ รวบรวม ศึกษาวิเคราะห์กฎหมายที่ไม่สนองตอบบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แล้วดำเนินการยกร่างหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือกำหนดแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ให้สนองตอบบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
                   
       เพื่อให้การดำเนินงานตาม (3) เป็นไปอย่างรอบคอบ และมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้แต่งตั้ง "คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเมือง" โดยมีนายโภคิน พลกุล เป็นประธานอนุกรรมการ ฯ คณะอนุกรรมการชุดนี้ได้ศึกษาเรื่องการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (public hearing) แล้วจึงจัดทำ "ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ พ.ศ. .…" ขึ้น โดยได้นำเสนอ "คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง" เพื่อพิจารณาซึ่งคณะกรรมปฏิรูปการเมืองพิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการเสนอมา จึงนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาและอนุมัติหลักการร่างระเบียบดังกล่าว และมอบให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล) ร่วมกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาในรายละเอียด ทั้งสองท่านได้พิจารณาร่างระเบียบและได้ปรับปรุงชื่อเสียใหม่เป็น "ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. …." หลังจากนั้นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 253929 ระเบียบฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังการแสดงความคิดเห็นในปัญหาสำคัญของชาติที่มีข้อโต้เถียงหลายฝ่าย สำหรับเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจของรัฐในการดำเนินงานอันมีผลกระทบต่อประชาชน30
                   
       ภายหลังการประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 แล้ว ได้มีการดำเนินการเพื่อรองรับระเบียบดังกล่าวในเรื่องที่สำคัญ คือ การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ และคณะทำงานเพื่อยกร่างหลักเกณฑ์แนวทางการปฏิบัติงานตามระเบียบ ตามที่ระเบียบดังกล่าวได้กำหนดไว้ในข้อ 4 ให้มี "คณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์" ประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกำหนดให้กรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 4 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่น อีก 4 คน นั้น นายกรัฐมนตรี (นายบรรหาร ศิลปอาชา) ได้มีคำสั่งที่ 83/2539 ลงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2539 แต่งตั้งบุคคลดังต่อไปนี้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                   
       (1) นายลิขิต ธีรเวคิน
                   
       (2) นายประณต นันทิยกุล
                   
       (3) นายเสรี วงษ์มณฑา
                   
       (4) คุณหญิงชดช้อย โสภณพานิช
                   
       หลังจากได้รับแต่งตั้งแล้วคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ได้มีคำสั่งที่ 1/2539 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2539 แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่งโดยมีนายสุธี สุทธิสมบูรณ์ เป็นประธานคณะทำงาน และมีรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (นายชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์) กับคุณหญิงชดช้อย โสภณพานิช เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน เพื่อพิจารณา
       ยกร่างหลักเกณฑ์และแนวทางในการปฏิบัติงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการ
       รับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 เพื่อเสนอคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์พิจารณา และคณะทำงานดังกล่าวได้จัดทำร่างประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ และหัวข้อการจัดทำคู่มือการปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ ในการประชุมครั้งที่ 3/2539 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2539 ซึ่งคณะกรรมการที่ปรึกษา ฯ ได้พิจารณาแล้ว ได้มีมติมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ ฯ ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศ และหัวข้อการจัดทำคู่มือ ฯ ไปให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องพิจารณาและเสนอข้อคิดเห็นเพื่อนำมาประมวลข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับปรุงให้สมบูรณ์และชัดเจนยิ่งขึ้น31 จนกระทั่งในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ ครั้งที่ 2/2540 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ได้มีมติที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ และเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2540 ได้ประกาศใช้ประกาศฉบับดังกล่าวแล้ว
       
       2.2 การจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 253932
                   
       การจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 มีสาระสำคัญดังนี้
                   
       2.2.1 เหตุที่จะจัดให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์
                   
        เรื่องที่จะจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์นั้น กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 7 ว่า การดำเนินงานตามโครงการของรัฐ33 เรื่องใดซึ่งหน่วยงานของรัฐในสังกัดจัดให้มีขึ้น อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม อาชีพ ความปลอดภัย วิถีชีวิต หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชนหรือสังคม และอาจนำไปสู่ขอโต้เถียงหลายฝ่าย อาจจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ได้
                   
       2.2.2 ช่วงเวลาในการจัดทำประชาพิจารณ์
                   
        การจัดทำประชาพิจารณ์อาจมีขึ้นได้ในหลาย ๆ ช่วงระยะเวลา กล่าวคือ ในระหว่างขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการของรัฐ การพิจารณาทางเลือกอื่นที่เหมาะสม การศึกษาผลกระทบด้านต่าง ๆ หรือในระหว่างขั้นตอนใดก็ได้ก่อนที่รัฐจะตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการของรัฐ นอกจากนี้การจัดทำประชาพิจารณ์จะไม่กระทบกระเทือนต่อการที่หน่วยงานของรัฐจะดำเนินการอื่นไปพลางเท่าที่จำเป็น แต่จะตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการของรัฐก่อนที่คณะกรรมการประชาพิจารณ์จะรายงานและแจ้งผลให้รัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี ทราบมิได้ เว้นแต่จะเป็นการตัดสินใจโดยมติคณะรัฐมนตรี หรือเป็นกรณีที่จะต้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายหรือพันธะระหว่างประเทศ หรือหากล่าช้าจะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติหรือประชาชน34
                   
       2.2.3 คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำประชาพิจารณ์
                   
        ระเบียบฉบับนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ และคณะกรรมการประชาพิจารณ์
                   
        2.2.3.1 คณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์35 ประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ประธานกรรมการ) ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสี่คน และผู้ที่ไม่เป็นข้าราชการ สมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น สมาชิกหรือเจ้าหน้าที่หรือที่ปรึกษาพรรคการเมืองอีกสองคน รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร (กรรมการและเลขานุการ) โดยคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้36 คือ
                   
        (ก) กำกับดูแลการรับฟังความคิดเห็นให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการทำประชาพิจารณ์
                   
        (ข) วินิจฉัยหรือตอบข้อหารือหรือตามที่กำหนดในระเบียบ
                   
        (ค) จัดทำรายงานประจำปีสรุปการทำประชาพิจารณ์ตามที่ได้รับรายงานจากคณะกรรมการประชาพิจารณ์ พร้อมข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะเสนอคณะรัฐมนตรีปีละครั้ง
                   
        2.2.3.2 คณะกรรมการประชาพิจารณ์ เมื่อมีการจัดทำประชาพิจารณ์โครงการใด รัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะแต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์ของโครงการนั้นขึ้น เพื่อทำหน้าที่จัดประชาพิจารณ์โครงการนั้น ๆ โดยคณะกรรมการประชาพิจารณ์ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสามคน โดยประธานกรรมการและกรรมการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการของรัฐในเรื่องนั้น กรรมการอย่างน้อยหนึ่งในสามให้ตั้งจากผู้ที่มิได้เป็นข้าราชการ สมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น37 ซึ่งคณะกรรมการประชาพิจารณ์จะเป็นผู้ควบคุม และดำเนินการจัดประชาพิจารณ์โครงการที่ได้รับแต่งตั้งจนแล้วเสร็จ โดยคณะกรรมการประชาพิจารณ์มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้ คือ38
                   
        (ก) กำหนดสถานที่และเวลาในการจัดทำประชาพิจารณ์
                   
        (ข) ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ
                   
        (ค) ประกาศให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้แทนหน่วยงานของรัฐตลอดจนผู้ชำนาญการมาลงทะเบียนภายในเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ในกรณีจำเป็นให้แต่งตั้งที่ปรึกษาได้
                   
        (ง) นัดวันประชุมครั้งแรกโดยแจ้งให้ผู้ลงทะเบียนทราบ
                   
        (จ) นัดวันประชุมครั้งแรกเพื่อกำหนดประเด็นประชาพิจารณ์
       และปิดประกาศประเด็นดังกล่าว พร้อมทั้งวัน เวลาที่จะประชุมครั้งต่อ ๆ ไปให้ประชาชนทราบ
                   
        (ฉ) ให้ผู้แทนหน่วยงานของรัฐแถลงข้อเท็จจริงและความเห็นเกี่ยวกับโครงการของรัฐก่อน แล้วจึงให้ผู้ชำนาญการหรือที่ปรึกษาแถลง ต่อด้วยผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อเสร็จสิ้นแล้วคณะกรรมการประชาพิจารณ์จะกำหนดให้ฝ่ายใดแถลงชี้แจงหรือซักถามก่อนหลังก็ได้และจะเปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นด้วยก็ได้
                   
        (ช) ทำรายงานเสนอต่อผู้สั่งให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์
       
                   
       2.2.4 ผู้ริเริ่มให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์
                   
        การจัดประชาพิจารณ์เกิดขึ้นได้จาก 3 กรณี คือ
                   
        2.2.4.1 ผู้มีอำนาจในหน่วยงานนั้น ๆ เมื่อรัฐมนตรีสำหรับราชการบริหารส่วนกลาง หรือผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับราชการบริหารส่วนภูมิภาคหรือราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสำหรับราชการของกรุงเทพมหานคร เห็นว่าการดำเนินงานตามโครงการของรัฐเรื่องใดซึ่งหน่วยงานของรัฐในสังกัดจัดให้มีขึ้น อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม อาชีพ ความปลอดภัย วิถีชีวิต หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชนหรือสังคม และอาจนำไปสู่ข้อโต้เถียงหลายฝ่าย สมควรรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย หน่วยงานของรัฐและบุคคลอื่น ๆ เพื่อเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจของรัฐ ผู้มีอำนาจดังกล่าวไปแล้วอาจสั่งให้มีประชาพิจารณ์ได้39
                   
        2.2.4.2 ผู้มีส่วนได้เสีย ขอให้มีการจัดประชาพิจารณ์ การจัดประชาพิจารณ์ตามกรณีที่สองนี้จะเกิดขึ้นเนื่องจากที่ผู้มีส่วนได้เสียเห็นว่า โครงการของรัฐเรื่องใดหากดำเนินการไปแล้วอาจมีผลกระทบเช่นเดียวกับกรณีแรก และประสงค์จะให้มีประชาพิจารณ์เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียจะต้องจัดทำหนังสือไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการเพื่อสอบถามหรือขอคำชี้แจง หากหน่วยงานของรัฐมิได้ตอบหรือชี้แจงเป็นหนังสือภายใน 30 วัน หรือหน่วยงานของรัฐตอบหรือชี้แจงแล้ว แต่ผู้มีส่วนได้เสียยังไม่พอใจและประสงค์จะโต้แย้งหรือคัดค้านการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวบางส่วนหรือทั้งหมด ก็สามารถยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อรัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี เพื่อขอให้มีประชาพิจารณ์ จากนั้นผู้มีอำนาจในหน่วยงานนั้น ๆ จะพิจารณาว่ากรณีดังกล่าวสมควรที่จะจัดให้มีการประชาพิจารณ์หรือไม่ หากกรณีที่เสนอมาเป็นกรณีที่อาจมีผลกระทบเช่นเดียวกับกรณีที่หนึ่ง ซึ่งยังไม่เคยมีประชาพิจารณ์ในประเด็นดังกล่าวมาก่อน และการทำประชาพิจารณ์จะเป็นประโยชน์ต่อการประชาสัมพันธ์ การตรวจสอบเหตุผลและความจำเป็นหรือการแก้ปัญหาในการดำเนินงานตามโครงการของรัฐ ก็อาจสั่งให้มีประชาพิจารณ์ได้40
                   
        2.2.4.3 หน่วยงานของรัฐ เห็นควรให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ หากหน่วยงานของรัฐพิจารณาแล้วเห็นว่าการจัดให้มีประชาพิจารณ์จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานตามโครงการของรัฐ ก็สามารถเสนอความเห็นต่อผู้มีอำนาจในหน่วยงาน ซึ่งก็คือรัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี เพื่อกลั่นกรองหรือตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วสั่งให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ ในกรณีที่เห็นสมควรได้41
                   
       2.2.5 กระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์
                   
        การจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนก่อนวันจัดทำประชาพิจารณ์ ขั้นตอนในวันจัดทำประชาพิจารณ์ และขั้นตอนภายหลังการจัดทำประชาพิจารณ์
                   
        2.2.5.1 การดำเนินการก่อนวันจัดทำประชาพิจารณ์
                   
        เมื่อผู้มีอำนาจซึ่งก็คือ รัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสั่งให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์แล้วก็จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์โครงการนั้น ๆ ขึ้น เพื่อที่คณะกรรมการประชาพิจารณ์จะได้ดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์กำหนดสถานที่ และเวลาในการจัดทำประชาพิจารณ์ โดยก่อนที่จะจัดทำประชาพิจารณ์นั้นคณะกรรมการประชาพิจารณ์ต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการของรัฐที่จะจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ และประกาศให้ผู้มีส่วนได้เสียที่ประสงค์จะเสนอความเห็นและผู้แทนหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนผู้ชำนาญการมาลงทะเบียนไว้กับคณะกรรมการประชาพิจารณ์ภายในเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน รวมทั้งนัดวันประชุมครั้งแรกให้บรรดาผู้ลงทะเบียนได้แล้วทราบ42
                   
        นอกจากนี้ตามประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องการประชาสัมพันธ์การจัดทำประชาพิจารณ์ไว้ โดยมีสาระสำคัญคือ43 ในการประชาสัมพันธ์การจัดทำประชาพิจารณ์ให้คณะกรรมการประชาพิจารณ์ดำเนินการเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลในเรื่องที่จะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ โดยการ
       ปิดประกาศล่วงหน้าก่อนวันลงทะเบียนไม่น้อยกว่า 30 วัน นอกจากจะต้องมีการประกาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ในท้องที่ที่จะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ รวมทั้ง
       โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันของท้องถิ่นก่อนการลงทะเบียนจัดทำประชาพิจารณ์อย่างน้อย 7 วัน เมื่อมีการลงทะเบียนแล้ว คณะกรรมการประชาพิจารณ์จะต้องแจ้งให้ผู้ลงทะเบียนทราบถึงประเด็นที่จะประชาพิจารณ์ การแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ และช่วงเวลาของการประชาพิจารณ์ของกลุ่มต่าง ๆ หลังจากที่มีการลงทะเบียนแล้วไม่เกิน 7 วัน จากนั้นให้กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียแจ้งรายชื่อตัวแทนของกลุ่มต่อคณะกรรมการประชาพิจารณ์ภายใน 15 วัน นับจากวันลงทะเบียน รวมทั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์ต้องรวบรวมเอกสารโครงการที่จะจัดให้มีการประชาพิจารณ์ และแจ้งนัดวันประชุมประชาพิจารณ์ให้ผู้ลงทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน นับจากวันลงทะเบียน
                   
        2.2.5.2 การดำเนินการในวันจัดทำประชาพิจารณ์
                   
        ในการจัดทำประชาพิจารณ์ ให้ประธานกรรมการประชาพิจารณ์เป็นประธานที่ประชุมในการจัดทำประชาพิจารณ์ โดยมีอำนาจควบคุมการประชุมประชาพิจารณ์ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 และตามประกาศของคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ ทั้งยังมีอำนาจขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดูแลความสงบเรียบร้อยในการประชาพิจารณ์ หากประธานไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการประชาพิจารณ์ที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในการประชาพิจารณ์
                   
        ในส่วนของวิธีการประชาพิจารณ์นั้น ในวันจัดทำประชาพิจารณ์ให้ประธานที่ประชุมประชาพิจารณ์ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมประชาพิจารณ์ตามลำดับดังนี้ คือ เริ่มจากให้ ผู้แทนหน่วยงานของรัฐแถลงข้อเท็จจริงและความเห็น เกี่ยวกับโครงการตามประเด็นที่กำหนดไว้ แล้วจึงให้ ผู้ชำนาญการหรือที่ปรึกษาแถลง หลังจากนั้นจึงให้ ผู้มีส่วนได้เสียหรือตัวแทนของผู้มีส่วนได้เสียแถลง ตามประเด็นการประชาพิจารณ์ที่กำหนดไว้ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วคณะกรรมการประชาพิจารณ์จะกำหนดให้ฝ่ายใดแถลง ชี้แจง หรือซักถามก่อนหลังก็ได้ และอาจจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นด้วย โดยในการดำเนินการประชาพิจารณ์ คณะกรรมการประชาพิจารณ์ต้องคำนึงถึงข้อโต้เถียงของทุกฝ่าย ตลอดจนผลกระทบในด้านต่าง ๆ และให้ดำเนินการด้วยความยืดหยุ่น สุจริต และเป็นธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลประกอบการตัดสินใจของตนชัดเจนและถูกต้อง ตรงตามหลักวิธีการและสภาพความเป็นจริงมากที่สุด หลังจากเสร็จสิ้นการประชาพิจารณ์แล้วคณะกรรมการประชาพิจารณ์จะจัดประชุมลงมติให้ประเด็นที่มีการประชาพิจารณ์44
                   
        2.2.5.3 การดำเนินการภายหลังการจัดประชาพิจารณ์
                   
        หลังจากที่คณะกรรมการประชาพิจารณ์ได้รับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายเสร็จแล้ว จะต้องจัดทำรายงานประชาพิจารณ์ ภายใน 45 วัน นับแต่สิ้นสุดการประชุมประชาพิจารณ์ ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็น ผู้แต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์ซึ่งก็คือ
       รัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี อาจขยายระยะเวลาการจัดทำรายงานการประชาพิจารณ์ได้ตามที่เห็นสมควร ซึ่งรายงานฉบับดังกล่าวอย่างน้อยต้องประกอบด้วยรายละเอียดดังนี้ คือ
                   
        (ก) รายชื่อกรรมการ ผู้มีส่วนได้เสีย ผู้แทนหน่วยงานของรัฐ
       ผู้ชำนาญการ ที่ปรึกษา
                   
        (ข) ข้อเท็จจริงโดยสรุปเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่และการ
       ประชุมประชาพิจารณ์
                   
        (ค) ความเป็นมาและรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการของรัฐ
                   
        (ง) ข้อโต้เถียงของทุกฝ่ายและประเด็นที่กำหนดให้ประชาพิจารณ์
                   
        (จ) ข้อสรุปหรือผลที่ได้จากประชาพิจารณ์ในด้านความ
       เหมาะสม ผลกระทบ ทางเลือกอื่น ถ้าหากมี และข้อสังเกตในการดำเนินงานตามโครงการของรัฐ45
                   
        เมื่อคณะกรรมการจัดทำรายงานประชาพิจารณ์เสร็จสิ้นแล้ว คณะกรรมการประชาพิจารณ์จะเสนอรายงานดังกล่าวต่อรัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี และส่งรายงานให้คณะกรรมการที่ปรึกษาด้วย46 นอกจากนี้ให้เก็บรายงานประชาพิจารณ์ไว้ที่หน่วยงานของรัฐที่จัดให้มีประชาพิจารณ์อย่างน้อย 1 ชุด47 ในส่วนของการเปิดเผยรายงานประชาพิจารณ์นั้น ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี เห็นสมควรจะเปิดเผยรายงานที่ได้รับให้ประชาชนทราบก็ได้48
       
                   
       2.2.6 ค่าใช้จ่ายในการจัดทำประชาพิจารณ์
                   
        ในการจัดทำประชาพิจารณ์นั้น หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบโครงการที่จัดให้มีการประชาพิจารณ์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดจากการจัดประชาพิจารณ์ เช่น ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ การเตรียมเอกสาร เป็นต้น49
                   
       2.2.7 ผลของการจัดทำประชาพิจารณ์
                   
        หลังจากการจัดประชาพิจารณ์เสร็จสิ้นแล้ว หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของ
       โครงการจะต้องรับข้อสรุปและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชาพิจารณ์มาใช้50เป็นเพียงแนวทางหรือข้อมูลประกอบการพิจารณาและตัดสินใจในการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว แต่ ไม่มีผลผูกพันว่ารัฐต้องตัดสินใจตามผลที่ได้จากการจัดทำประชาพิจารณ์ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐจะตัดสินใจดำเนินการตามผลที่ได้จากการประชาพิจารณ์หรือไม่ก็ได้
                   
       เพื่อให้เกิดความเข้าใจในขั้นตอนการจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ขอนำเสนอแผนภูมิขั้นตอนการจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบฉบับดังกล่าวดังนี้
       
       
       
       เชิงอรรถ
       
                   
       27. สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, “ประชาพิจารณ์ : บน “เวที” หรือ “ท้องถนน” วารสารโลกสีเขียว, ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม – มิถุนายน 2543) : หน้า 35.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       28. เรื่องเดียวกัน, หน้า 22.
       
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       29. โภคิน พลกุล, การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ : การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดิน, (กรุงเทพมหานคร : บริษัทกราฟฟิคฟอร์แมท, 2540), หน้า 14-15.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       30. คำขึ้นต้นของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       31. ชาญชัย แสวงศักดิ์, การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ : การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดิน, (กรุงเทพมหานคร : วิญญูชน, 2540), หน้า 30-31.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       32. ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 113 ตอนพิเศษ 2 ง (วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2539).
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       34. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 3 ได้ให้นิยามว่า “โครงการของรัฐ” หมายความว่า การดำเนินงานไม่ว่าในลักษณะใด ๆ ตามนโยบายหรือโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือการบริหารราชการ ในกิจการของรัฐ หรือโครงการที่จะต้องได้รับสัมปทาน การอนุญาต อนุมัติ หรือความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐ และตามประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์เรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 1 หมายความรวมถึง โครงการของภาคเอกชนที่จะต้องได้รับสัมปทาน การอนุญาต อนุมัติ หรือความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐด้วย.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       35. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 ข้อ11.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       36. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณา พ.ศ. 2539 ข้อ 4.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       37. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 5.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       38. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 12.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       39. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 13 - ข้อ 15.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       40. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 7.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       41. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 8.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       42. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 9.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       43. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 12-14.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       44. ประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 3.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       45. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 14 และประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 3.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       46. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 15 และประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 4.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       47. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 16.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       48. ประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 4.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       49. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 16.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       50. ประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 5.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       51. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 21.
       [กลับไปที่บทความ]
       
       
       
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2546

       
       


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=561
เวลา 19 พฤษภาคม 2567 21:31 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)