ครั้งที่ 99

6 มกราคม 2548 14:04 น.

       "สึนามิ/โฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง"
       สวัสดีปีใหม่ครับ บทบรรณาธิการนี้เป็นบทบรรณาธิการแรกของปี 2548 แล้วก็เป็นบทบรรณาธิการแรกสำหรับ “หน้าตา” ใหม่ของ www.pub-law.net ครับ ผมได้เคยเกริ่นเอาไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้วไปแล้วว่าเราจะเปลี่ยน “หน้าตา” ใหม่ให้ดูสวยงามขึ้นหลังจากที่เราเปิดดำเนินการมาแล้วกว่า 3 ปีครับ การเปลี่ยน “หน้าตา” ครั้งนี้นอกจากจะต้องการให้ดู “สมัยใหม่” แล้ว ยังเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความสะดวกทางด้านเทคนิคกับทีมงานที่จัดทำเวบไซด์ของเราด้วยครับ ในช่วงต้นๆ หากมีข้อมูลบางอย่างที่ไม่สมบูรณ์ก็อย่าเพิ่งว่ากันนะครับ พบที่ผิดตรงไหน พบปัญหาเรื่องใด ขอความกรุณาแจ้งมาที่ webmaster@pub-law.net ด้วยนะครับ เราจะได้รีบดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้สมบูรณ์ต่อไปครับ ก็ต้องขอขอบคุณล่วงหน้าไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ 
       
       ปีใหม่ปีนี้ค่อนข้างเงียบเหงาและเศร้า ก็อย่างที่เราและคนอื่นๆบนโลกทราบกันนะครับว่า คลื่นยักษ์ที่ “จู่โจม” ทวีปเอเชียได้ก่อให้เกิดความสูญเสียมากมายอย่างคาดไม่ถึง คงไม่ต้องเล่าอะไรมากนักเพราะผมเข้าใจว่าทุกคนคงจะได้รับทราบข้อมูลต่างๆ จนเกินพอแล้ว ผมมีโอกาสได้เดินทางไปจังหวัดภูเก็ตหลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่กี่วัน ได้ไปเห็นแล้วก็รู้สึกหดหู่มากขึ้นไปอีก ระหว่างทางจากสนามบินไปยังศาลากลางจังหวัด ผมได้เห็นร่องรอยของความหายนะที่เกิดขึ้น บ้านเรือนริมทะเลพังพินาศ สภาพของชายหาดที่สวยงามในวันนั้นดูไม่ผิดอะไรกับที่รกร้างว่างเปล่าที่มีผู้คนเอาขยะไปกองทิ้งไว้ เพราะที่ผมเห็นนั้นมีแต่ขยะ เศษไม้ ซากรถยนต์ที่ระเกะระกะอยู่ริมหาดครับ ไม่น่าเชื่อว่าภายในเวลาไม่กี่นาทีที่คลื่นพัดขึ้นมาบนบกจะสร้างความหายนะได้ขนาดนี้ เรื่องนี้คงเป็น “ตำนาน” เล่าขานกันไปอีกนานครับ ส่วนที่ศาลากลางจังหวัดนั้น ผมได้มีโอกาสไปเดินดูกระดานที่ปิดประกาศหาผู้สูญหายซึ่งมีจำนวนมาก รวมทั้งกระดานที่ปิดประกาศรูปผู้เสียชีวิตที่ยังไม่ทราบว่าเป็นใครอีกจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเศร้าใจยิ่งนัก เพราะมีผู้เสียชีวิตหลายๆคนที่ยังเด็กเหลือเกินครับ คงไม่มีอะไรจะเศร้าไปกว่านี้อีกแล้วครับ ! 
       
       สิ่งที่ประทับใจสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางความหายนะคือการร่วมมือร่วมใจกันครับ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจของคนไทยที่ต้องการให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติ 2-3 วันหลังจากเกิดเหตุการณ์ ผมเห็นคนจำนวนมากเข้าคิวอยู่ที่หน้ามูลนิธิแห่งหนึ่งตรงข้างวัดหัวลำโพงเพื่อรอซื้อโลงศพไปบริจาค ผมผ่านถนนอังรีดูนังต์เห็นคนจำนวนมากเข้าคิวเพื่อบริจาคโลหิตที่สภากาชาดไทย ไปทางไหนก็มีแต่คนพูดเรื่องจะบริจาคของ เงินทองเพื่อช่วยเหลือผู้ประสพภัย ที่ภูเก็ตผมเห็นของที่มีผู้บริจาคกองอยู่เป็นจำนวนมาก อาสาสมัครซึ่งมาจากทุกๆที่ของประเทศไทยพยายามแยกของบริจาคใส่ถุงใหม่เพื่อให้มีสิ่งของที่จำเป็นครบถ้วนอยู่ในแต่ละถุง ก็น่าชื่นใจที่คนไทยเรารักกันดีเหลือเกินนะครับ แต่ที่ดีไปกว่านั้นคงเป็นกรณีคนต่างชาติที่แม้ตนเองจะไม่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าวแต่ก็เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผมเห็นเครื่องบิน “แปลกๆ” ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนจำนวนหลายลำที่สนามบินภูเก็ตที่เขาว่ากันว่าเป็น “โรงพยาบาลลอยฟ้า” ผมได้รับฟังข่าวจาก VOA ภาคภาษาไทยที่ให้ข้อมูลว่ามีประเทศต่างๆ จำนวนมากส่งเงิน เวชภัณฑ์ และสิ่งของต่างๆ มาช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเอเชีย ผมได้ยินข่าวว่า เฉพาะพลเมืองอังกฤษก็ร่วมกันบริจาคเงินเกือบ 150 ล้านดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาแล้ว ! แม้กระทั่งสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุแห่งกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศที่ฐานะทางเศรษฐกิจดีน้อยกว่าประเทศไทยเองก็ยังบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นที่น่ายินดีที่เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เรามองเห็น “ความสามัคคี” ของพลเมืองแห่งโลกนี้และทราบว่าในฐานะพลเมืองของโลก เราก็ยังมีความผูกพัน ความรักและความหว่งใยกันอยู่ครับ ! เป็นความสามัคคีที่เกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับพลเมืองในประเทศ อย่างนี้แล้วจะทำสงครามกันอีกต่อไปทำไมครับ หันหน้าเข้าหากันแบบนี้และช่วยเหลือกันดีกว่า เพราะลำพังโรคภัยไข้เจ็บและภัยธรรมชาติก็ทำให้ชีวิตมนุษย์สูญหายไปเป็นจำนวนมากแล้วครับ !
       
       เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรของเราก็เพิ่งหมดวาระลงไป ก็เป็น “ประวัติศาสตร์” อีกหน้าหนึ่งของระบบการเมืองการปกครองของไทยที่สภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลอยู่ในวาระครบ 4 ปี ก็ต้องขอแสดงความชื่นชมยินดีกับทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง “ท่านผู้นำ” ของเราด้วยที่ไม่ “ยุบสภา” ครับ ! ในวันนี้ เราก็เข้ามาสู่ช่วงระยะเวลาหาเสียงเลือกตั้งครับ ยังไงๆ ก็ต้องขอฝากความหวังไว้กับบรรดา “ว่าที่” ผู้แทนราษฎรทั้งหลายว่า การ “ซื้อเสียง” เป็นการ “ทำลาย” กลไกในระบบประชาธิปไตยนะครับ ถ้า “แน่จริง” ก็ขอให้หาเสียงกันอย่างสุจริต พยายามแสดงวิสัยทัศน์และแสดงความเก่งของตนกันดีกว่าครับ
       
       มีหลายๆเรื่องที่ “น่ารำคาญ” ที่ “อาจ” เกิดขึ้นในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ผมเคย “เรียกร้อง” มาหลายครั้งหลายหนแล้วก็ไม่ประสบผลสำเร็จกันสักทีครับ เรื่องแรกก็คือการติดป้ายโฆษณาหาเสียงที่เรายังไม่มีกฎหมายกำหนดบริเวณสถานที่ที่จะติดป้ายหาเสียงเลือกตั้งได้ ก็เลยทำให้บ้านเมือง “สกปรก” ครับ คงต้องขอวิงวอนบรรดามือติดป้ายโฆษณาว่าต้องให้ระมัดระวังกับการติดป้ายให้มาก ติดตามเสาไฟฟ้า ริมถนน ก็กรุณาดูให้ดีๆ ด้วยเพราะจะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการจราจรได้ ส่วนที่ชอบติดตามต้นไม้ก็น่าจะ “สงสาร” ต้นไม้กันบ้างนะครับ เอาเป็นว่า ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกัน เมืองก็คงจะไม่ “สกปรก” มากครับ ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง ผมเคย “เรียกร้อง” และวันนี้ก็เห็นยังถกเถียงกันอยู่ก็คือ “การทำโพล” ครับ ต่างประเทศเขามีกฎหมายเรื่องการทำโพลกันมานานแล้ว หากสนใจลองอ่านบทความของผมเรื่อง “ประเทศไทยควรมีกติกาการทำโพลหรือยัง” ที่เขียนไว้ในปี พ.ศ. 2544 ดูก็ได้ครับ มีกฎหมายออกมาซะทีจะได้ไม่ต้องมานั่งเถียงกันว่า จะทำโพลได้หรือไม่ได้ครับ เพราะหากมีกติกาที่ชัดเจนออกมาแล้ว ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามกลไกของกติกานั้นครับ
       
       กลับมาสู่สาระทางวิชาการกันดีกว่า ใน 2 สัปดาห์นี้ เนื่องจากในคราวนี้เรามีบทความหลายบทความที่จะนำเสนอ ดังนั้น ผมจึงขอพักการนำเสนอตอนที่ 7 ของบทความขนาดยาวของผมเรื่อง “การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญกรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” เอาไว้ก่อนนะครับ ส่วนบทความที่จะนำเสนอในคราวนี้ก็มีบทความเก่าของผมที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2544 เรื่อง “ประเทศไทยควรมีกติกาการทำโพลหรือยัง” เหตุผลที่ผมนำมานำเสนอใหม่ในครั้งนี้ก็เพราะเห็นเถียงกันนักในเรื่องการทำโพล ถ้าคิดเสียตั้งแต่ปี 2544 ป่านนี้คงมีกติกาที่ดีไปแล้วครับ บทความต่อมาคือบทความเรื่อง “การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงกับระบบพรรคการเมือง” ที่เขียนโดย คุณ มรุต วันทนากร นักวิจัยและอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาและอีกหลายสถาบัน ส่วนนานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน ในครั้งนี้ “ขาประจำ” ของเราอีกคนหนึ่ง คือ อาจารย์ ปิยะบุตร แสงกนกกุล แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ขณะนี้กำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศส ก็ได้ส่งข้อเขียนเรื่อง “30 ปีกฎหมายการทำแท้งเสรีในฝรั่งเศส” มาร่วมกับเราครับ ผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่ วันจันทร์ที่ 24 มกราคม 2548 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=675
เวลา 30 เมษายน 2567 11:51 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)