ครั้งที่ 55

14 ธันวาคม 2547 18:21 น.

       "สหภาพยุโรป 25 ประเทศ"
       ผมนั่งเขียนบทบรรณาธิการนี้ขณะกำลังเดินทางกลับประเทศไทยโดยสายการบินไทย ระยะเวลาสองเดือนที่ผมอยู่ประเทศฝรั่งเศสทำให้ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้กลับบ้าน แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกใจหายเพราะช่วงเวลาสองเดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ผมมีความสุขมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศไทยครับ
       ก็อย่างที่ผมได้เล่าให้ฟังไปแล้วในบทบรรณาธิการเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่าประเทศฝรั่งเศสไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะผมมีโอกาสได้กลับมาประเทศฝรั่งเศสบ่อยครั้งก็เป็นไปได้เลยทำให้ผมไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง แต่อย่างไรก็ตาม ในวงการกฎหมายก็มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นตัวบทกฎหมายใหม่ๆที่ออกมาเพื่อ “จำกัดสิทธิ” พลเมืองอย่างเช่นกฎหมายควบคุมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถ หรือกฎหมายที่ออกมาเพื่อ “ให้สิทธิ” พลเมืองเพิ่มมากขึ้นอย่างเช่น กฎหมายเกี่ยวกับการรับฟังความเห็นของประชาชนในเรื่องสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปกิจการก๊าซและกิจการไฟฟ้า เป็นต้น นอกเหนือจากตัวบทกฎหมายใหม่ๆแล้ว ผมพบว่า ปัจจุบันมีหนังสือกฎหมายมหาชนออกมาวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก โดยหนังสือกฎหมายใหม่ๆเหล่านี้เขียนโดยนักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี ผมมีโอกาสได้พิจารณาดูบางเล่ม พบว่าส่วนใหญ่แล้วจะเป็นหนังสือที่ทำขึ้นเพื่อ “สรุปสาระสำคัญ” ของสาขาวิชาเป็นหลัก หนังสือประเภทนี้ทำโดยมีวัตถุประสงค์ให้นักศึกษาเตรียมสอบนั่นเองครับ ผมซื้อมาสองสามเล่มเกี่ยวกับกฎหมายปกครอง หากมีเวลาผมจะลองทำสรุปเป็นภาษาไทยดูเผื่อจะเป็นประโยชน์แก่นิสิตนักศึกษาของเราบ้างครับ
       ข่าวคราวเกี่ยวกับสงครามในอิรักดูจะเลือนหายไปจากความสนใจของคนฝรั่งเศสไปบ้างแต่ก็ยังเป็นข่าวที่ปรากฏอยู่ในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับอยู่ครับ ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ผมสังเกตเห็นว่ามีเอกสารสวยงามชุดหนึ่งวางแจกให้กับประชาชนตามสถานที่ราชการและไปรษณีย์หลายแห่ง เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารเกี่ยวกับการ “ขยาย” อาณาเขตของสหภาพยุโรปครับ ผมเห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยเก็บมาเล่าให้ฟังกัน แต่ก็ต้องขอออกตัวไว้ก่อนนะครับว่าผมไม่ใช่นักกฎหมายระหว่างประเทศ หากมีข้อบกพร่องอย่างไรก็ขอให้ผู้รู้ทักท้วงมาได้ครับ
       การเกิดขึ้นของสหภาพยุโรปคงต้องเล่าย้อนหลังไปถึงวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500) เมื่อประเทศต่างๆรวม 6 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และ ลักเซมเบิร์ก ร่วมลงนามในสนธิสัญญากรุงโรม อีก 15 ปีต่อมาคือในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1973 สหภาพยุโรปก็มีประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นใหม่อีก 3 ประเทศ คือ เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ และอังกฤษ ทำให้สหภาพยุโรปประกอบด้วยประเทศสมาชิกรวม 9 ประเทศ ประเทศกรีซได้เข้าร่วมในสหภาพยุโรปเป็นประเทศที่ 10 เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1981 ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1986 ประเทศสเปน และโปรตุเกสก็เข้าร่วมกับสหภาพยุโรป ในขณะที่ประเทศออสเตรีย ฟินแลนด์ และสวีเดน ได้เข้าร่วมในสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1995 ทำให้ในปัจจุบันสหภาพยุโรปประกอบด้วยประเทศสมาชิกรวม 15 ประเทศ
       15 ประเทศที่รวมกลุ่มกันเป็นสหภาพยุโรปได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญให้กับโลกเป็นอันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจที่เราคงเห็นกันอยู่แล้วว่าเงินสกุลยูโร (euro) ของสหภาพยุโรปที่สามารถ “ต่อกร” กับเงินสกุลดอลล่าร์ของสหรัฐอเมริกาได้เป็นอย่างดีครับ
       ข่าวใหม่สำหรับวันนี้ก็คือในอีก 1 ปีข้างหน้าคือในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2004 สหภาพยุโรปจะประกอบด้วยประเทศสมาชิกรวม 25 ประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากสหภาพยุโรปได้มีมติ “รับ” ประเทศต่างๆที่อยู่ในยุโรปตะวันออกรวม 10 ประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ประเทศทั้ง 10 คือ ไซปรัส เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอลตา โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก สโลวัก และสโลวีเนีย โดยสหภาพยุโรปได้วางเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อรับประเทศต่างๆเข้าร่วมในสหภาพ ยุโรปไว้ 3 เกณฑ์ด้วยกันคือ เกณฑ์ด้านการเมือง ประเทศที่จะเข้าร่วมในสหภาพยุโรปต้องมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและชนกลุ่มน้อย รวมทั้งยังต้องมีระบบศาลที่มีความสามารถและเป็นอิสระ เกณฑ์ด้านเศรษฐกิจ อันได้แก่มีระบบการค้าอย่างเสรี และมีการแข่งขันอย่างเสรี และเกณฑ์ด้านสถาบัน อันได้แก่การที่ประเทศจะต้องนำข้อผูกพันหรือกฎเกณฑ์ของ สหภาพยุโรปไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งก็หมายความถึงการที่ต้องแก้ไขกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับเกณฑ์ของสหภาพยุโรปครับ ประเทศในยุโรปตะวันออกทั้ง 10 ประเทศดังกล่าวข้างต้นผ่านเกณฑ์ต่างๆเหล่านี้ไปแล้ว สหภาพยุโรปจึงมีมติรับประเทศทั้ง 10 ให้เข้าร่วมกับสหภาพยุโรปในวันที่ 1 พฤษภาคม ปีหน้าครับ
       คนฝรั่งเศสค่อนข้างกังวลกับการเข้าร่วมสหภาพยุโรปของประเทศทั้ง 10 มากเพราะประเทศทั้ง 10 นั้น “จน” และมีคนว่างงานเป็นจำนวนมาก ในบางประเทศมีปัญหาเศรษฐกิจ บางประเทศก็มีปัญหาด้านการเมือง ความกังวลคงอยู่ที่การเข้าร่วมสหภาพยุโรปของประเทศทั้ง 10 อาจดีสำหรับประเทศเหล่านั้นแต่อาจเป็นการสร้าง “ภาระ” อย่างใหญ่หลวงให้กับสหภาพยุโรปก็เป็นได้ และนอกจากนี้แล้ว สหภาพยุโรปยังมี “แผน” ที่จะรับประเทศในยุโรปตะวันออกอีก 2 ประเทศคือ โรมาเนีย และบัลแกเรีย เข้าร่วมในสหภาพยุโรปในปี ค.ศ. 2007 อีกด้วย จึงทำให้คนฝรั่งเศสวิตก ในอนาคตของสหภาพยุโรปเป็นอย่างมากว่าอาจ “ตกต่ำ” ลงไปได้หากมีพลเมืองจำนวนมากแต่ประสิทธิภาพลดลง ประเด็นดังกล่าวคงต้องรอดูกันต่อไปนะครับว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้าอนาคตของสหภาพยุโรปจะเป็นเช่นไรภายหลังจากการที่ยุโรปตะวันออกเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป
       ผมคงต้องแจ้งข่าวหนังสือ “รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 2” ว่า จากข้อมูลล่าสุดทราบว่าหนังสือจะพิมพ์เสร็จประมาณต้นเดือนมิถุนายนครับ คงจะแจกได้ตอนกลางเดือนมิถุนายนครับ อดใจรอกันหน่อยนะครับ
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความใหม่สองบทความ บทความแรกเป็นตอนจบของบทความของผมเรื่อง “ข้อเสนอสำหรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทย” ส่วนบทความที่สองเป็นบทความของ ผศ.มานิตย์ จุมปา แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “การออกจากตำแหน่งของประธานวุฒิสภา” ครับ สนใจบทความใดก็ลองอ่านดูนะครับ สำหรับ ผู้ที่ต้องการถามคำถาม ก็เชิญถามกันมาได้แล้วนะครับ ผมพร้อมที่จะทำงานเช่นเดิมแล้วครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2546 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=72
เวลา 27 เมษายน 2567 15:13 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)