ครั้งที่ 102

21 กุมภาพันธ์ 2548 07:13 น.

       "คุณสมบัติของรัฐมนตรี"
       ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นทางการ (บางส่วน) ก็ออกมาแล้วนะครับ เป็นไปตามความคาดหมายคือพรรคไทยรักไทยของท่านผู้นำได้รับเสียงท่วมท้นจากประชาชน ผมขอแสดงความยินดีกับท่านผู้นำและพรรคไทยรักไทยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       สิ่งที่น่ายินดีอีกสิ่งหนึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ การกลับมาใหม่ของรายการนายกฯทักษิณคุยกับประชาชนที่หายไปหลายสัปดาห์แล้วก็กลับมาใหม่เมื่อวันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ ครับ ก็อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วในบทบรรณาธิการก่อนหน้านี้ว่า ผมเป็น “แฟนประจำ” คนหนึ่งของรายการที่ทุกแปดโมงเช้าวันเสาร์จะขาดเสียมิได้ครับ ฟังแล้วก็รู้ความเป็นไปของรัฐบาลและของท่านผู้นำ ได้รับทราบข่าวคราวและความเป็นไปของบ้านเมืองเป็นอย่างดีครับ ใครที่ยังไม่เคยฟังก็ลองฟังดูนะครับ ส่วนผู้ที่อยู่ต่างประเทศหากสนใจสามารถฟังและอ่านได้ใน http://www.thaigov.go.th/ ครับ
       
       เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ ท่านผู้นำได้กล่าวไว้ในรายการนายกฯทักษิณคุยกับประชาชนถึงเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง ที่ผมว่าน่าสนใจก็ด้วยเหตุผลหลายประการประกอบกัน ก่อนอื่นคงต้องเข้าใจไว้ก่อนว่า พรรคไทยรักไทย “ชนะ” การเลือกตั้งครั้งนี้อย่างเด็ดขาด แม้ขณะเขียนบทบรรณาธิการนี้ จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ลงตัว แต่ก็เป็นที่แน่นอนแล้วว่าพรรคไทยรักไทยคงได้ “ที่นั่ง” ในสภาผู้แทนราษฎรไม่ต่ำกว่า 370 ที่นั่ง ด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวทำให้ท่านผู้นำเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวเกินกว่าครึ่งหนึ่ง แล้วก็ด้วยเหตุผลดังกล่าวอีกเช่นกันที่ทำให้ท่านผู้นำสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตามลำพังเพียงพรรคเดียวโดยไม่ต้องใช้เสียงจากพรรคการเมืองอื่น จากเหตุผลทั้งหลายที่กล่าวไปข้างต้น ก็เข้ามาสู่เรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่ผมได้ฟังท่านผู้นำพูดในรายการนายกฯทักษิณคุยกับประชาชน คือ การกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นของรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ของท่านผู้นำว่า ต้องทำงานหนัก ต้องทำงานเป็นและต้องมีความโปร่งใสครับ
       
       การกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าต้องทำงานหนัก ทำงานเป็นและมีความโปร่งใส แม้จะเป็นการกำหนดคุณสมบัติที่ “เข้มข้น” มากแต่ก็เป็นสิ่งที่ดีที่น่ายกย่องครับ ในบทบรรณาธิการนี้คงไม่ก้าวล่วงเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ว่าท่านผู้นำหาผู้มีคุณสมบัติเช่นนั้นได้หรือไม่อย่างไร เพราะจากเหตุผลที่กล่าวไปแล้วข้างต้น หัวหน้าพรรคเช่นท่านผู้นำซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคจริงๆก็คงทำได้อย่างไม่มีปัญหาครับ แต่ที่อยากจะขอกล่าวในที่นี้ก็คือ คุณสมบัติเบื้องต้น 3 ประการ สำหรับรัฐบาลชุดใหม่ครับ เริ่มจากทำงานหนักนั้นเป็นสิ่ง “ปกติ” ของผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เราเองคงทราบดีอยู่แล้ว ที่ผมเคย “ผ่านตา” มาบ้าง ก็เห็นว่า รัฐมนตรีที่ผมรู้จักทำงานหนักทั้งนั้น ลำพังแฟ้มเอกสารที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบก็มีจำนวนมาก มากจนทำให้เวลาหมดไปหลายวันในสัปดาห์ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีงานต่าง ๆ ที่ต้องออกไปทำการตรวจเยี่ยมนอกสถานที่ แถมในบางครั้งก็ยังต้อง “รับแขก” ที่มาเข้าพบด้วยเรื่องต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น การทำงานหนักของรัฐมนตรีจึงไม่น่าเป็นห่วงเพราะโดยสภาพแล้วงานของรัฐมนตรีนั้นหนักอยู่แล้วครับ! ส่วนการทำงานเป็นนี้ออกจะเป็นเรื่อง “น่าเป็นห่วง” พอสมควร ที่ผ่าน ๆ มาเราก็เห็นอะไรร่วมกันมามาก สมัยผมเป็นนิสิต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนหนึ่งเป็นนักกฎหมาย ต่อมาก็ย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากนั้นก็ได้ทราบว่าไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่นอีกหลายกระทรวง ผมไม่แน่ในว่า ในคำว่า “ทำงานเป็น” ของท่านผู้นำว่าจะหมายความรวมถึงการมีคุณสมบัติและคุณวุฒิที่เหมาะสมกับภารกิจที่มอบให้ทำหรือไม่ครับ แต่ถ้าหากถามผม ผมอยากเห็นผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงหนึ่งมีความรอบรู้ในภารกิจหลักของกระทรวงนั้น ๆ โดยวัดทั้งจากการศึกษาและจากประสบการณ์ในการทำงานประกอบกันทั้งสองอย่างครับ ผู้นั้นจึงน่าจะเป็นผู้ “ทำงานเป็น” ซึ่งก็จะส่งผลตามมาให้การบริหารราชการในกระทรวงนั้นเป็นไปได้อย่างดีด้วยครับ ส่วนคุณสมบัติประการที่สามคือ ต้องมีความโปร่งใสนั้น เป็นเรื่องที่ “น่าหนักใจ” มากเช่นกันอีกเรื่องหนึ่งครับ เพราะคำ ๆ นั้นมีความหมายกว้างมาก เช่น ความโปร่งใสในการทำงาน ความโปร่งใสในการตัดสินใจ ฯลฯ ผมมองว่าความโปร่งใสส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น “หลัง” จากการเข้าสู่ตำแหน่ง แต่ที่น่าพิจารณาในเบื้องต้นขณะนี้ก็คือ ความโปร่งใส “ก่อน” ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งครับ ก่อนที่จะเข้าสู่ตำแหน่ง ว่าที่รัฐมนตรีทั้งหลายคงต้อง “จัดการ” กับตัวเองให้เรียบร้อยก่อนในหลายๆเรื่อง ที่พลาดไม่ได้และไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่งก็คือ ปัญหาเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ที่อาจตามมาทราบภายหลังการเข้าสู่ตำแหน่งครับ ปัญหานี้คงต้องหาทางป้องกันไว้ล่วงหน้าด้วยการปฎิบัติตามมาตรา 209 แห่งรัฐธรรมนูญที่ว่ารัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไป ฯลฯ “อย่างเคร่งครัด” ครับ หากทำได้ปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนก็คงลดน้อยลง ส่วนเมื่อผู้มีคุณสมบัติครบ 3 ประการเข้าสู่ตำแหน่งแล้ว หลาย ๆ คนเกรงกลัวกันว่าการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลจะทำได้ลำบากขึ้นเพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกว่าครึ่งหนึ่งเป็นของพรรคไทยรักไทย ประเด็นนี้คงจะจริงครับ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารมิได้มีเฉพาะการตรวจสอบโดยสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นนะครับ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดกระบวนการตรวจสอบอื่น ๆ เอาไว้อีกมากมาย เช่น การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยการเข้าชื่อของประชาชนจำนวนห้าหมื่นคนขึ้นไป การตรวจสอบโดยศาลปกครอง โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยคณะกรรมการ ปปช. โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนหรือโดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เป็นต้น รวมไปถึงการตรวจสอบนอกรัฐธรรมนูญอันได้แก่ สื่อมวลชน องค์การเอกชน นักวิชาการ ที่คงต้องช่วยกัน “อุดช่องว่าง” ของการตรวจสอบที่เกิดขึ้นในกระบวนการตรวจสอบโดยสภาผู้แทนราษฎรครับ ผมเข้าใจว่า แม้ระบบพรรคการเมืองจะแข็งขึ้นและพรรคไทยรักไทยจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว แต่การปกครองประเทศก็คงทำตามอำเภอใจไม่ได้เพราะสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงตลอดเวลาก็คือ เสียงของประชาชนจำนวนมากที่ให้ความไว้วางใจกับพรรคไทยรักไทยครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ ผมได้รับบทความที่กำลังทันเหตุการณ์จาก คุณ สโรช สันตะพันธุ์ นิสิตชั้นปีที่3คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "มาตรการในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม :ใบเหลือง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง" และบทความขนาดยาวที่น่าสนใจมาก ๆ บทความหนึ่งจากอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งขณะนี้กำลังทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกด้านกฎหมายมหาชนอยู่ที่มหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศสครับ บทความนี้ชื่อว่า “เหตุการณ์สำคัญในกฎหมายมหาชนผรั่งเศสตลอดปี 2004” ที่ว่าน่าสนใจก็ด้วยเหตุผลหลายประการครับ ลองอ่านดูได้ใน “นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน” แล้วจะทราบว่าสิ่งที่ผู้เขียนนำมาเล่าให้เราฟังนั้นเป็นผลงานทางวิชาการที่ดีมากชิ้นหนึ่ง อ่านแล้วสิ่งแรกที่คิดก็คือ อิจฉาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีบุคลากรคุณภาพดีแบบนี้ครับ!!! ผมขอขอบคุณผู้เขียนรุ่นใหม่ทั้งสองท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะมีนักกฎหมายรุ่นใหม่ๆที่ผลิตบทความดีๆมาอีกนะครับ  นอกจากบทความนี้แล้ว เราก็ยังมีการนำเสนอ "หนังสือใหม่" จำนวนหนึ่งจากสถาบันพระปกเกล้าและจากสำนักงานศาลปกครองรวมทั้งมีการแนะนำหนังสือใหม่ด้านกฎหมายมหาชนอีกด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2548 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=739
เวลา 29 เมษายน 2567 19:49 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)