ครั้งที่ 103

7 มีนาคม 2548 07:10 น.

       "คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าของไทย"
       เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา www.pub-law.net ได้เปิดให้บริการมาครบ 4 ปีแล้ว ณ วันนี้ เราก็ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 ครับ
       4 ปีที่ผ่านมาแม้จะดูไม่นาน แต่สำหรับการจัดทำ website ที่มี “ความเคลื่อนไหว” อยู่ตลอดเวลา และแถมยังเป็น website ที่ไม่มีโฆษณาและไม่มีรายได้ใด ๆ มาจุนเจือนั้น นับว่าเราอยู่ได้นานพอสมควรทีเดียวครับ ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ผมทำงานร่วมกับลูกศิษย์ 2-3 คน เริ่มกันจากไม่มีอะไรเลย ในปีแรกเรามีคนเข้าใช้บริการสองหมื่นกว่าคน ปีที่สองแปดหมื่นกว่าคน พอปีที่สาม เรามีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็นแสนกว่าคน ตัวเลขผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นทุกวัน จนในขณะนี้เรามีผู้เข้าใช้บริการโดยเฉลี่ยแล้ววันละประมาณหนึ่งพันครั้งครับ ก็เป็นที่น่ายินดีสำหรับผมและทีมงานที่ website แห่งนี้ได้รับความสนใจครับ ต่อไปนี้ เราก็คงต้องพัฒนาและปรับปรุง website ให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ ติชมหรือต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใดก็ติดต่อมาได้ที่ webmaster@pub-law.net ครับ
       
       สำหรับ “แฟนประจำ” ของเราก็คงทราบแล้วว่า ทุกครบรอบปีของเรา (1มีนาคม-28มีนาคม) เราจะทำการรวบรวมบทความที่ได้ลงเผยแพร่ไปแล้วใน website แห่งนี้และจัดพิมพ์เป็นเล่มเพื่อแจกให้กับผู้ใช้บริการของเราโดยเราได้รับการสนับสนุนในการจัดพิมพ์หนังสือ "รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net" จากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว 3 เล่ม ในปีนี้เช่นกัน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ให้คำตอบในเบื้องต้นแล้วว่าจะกรุณารับเป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์หนังสือ “รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 4” เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ใช้บริการ ผมคาดว่าหนังสือน่าจะแล้วเสร็จและพร้อมที่จะแจกได้ กลางเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ครับ สนใจที่จะขอรับหนังสือก็ติดตามข่าวคราวที่ผมจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะ ๆ โดยผ่านทางบทบรรณาธิการนี้ครับ
       
       ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ความสนใจของคนส่วนใหญ่คงพุ่งไปที่การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งก็มีข่าวออกมาหลายกระแส ทั้งข่าวที่ “จริง” และข่าวที่ “สร้างขึ้นมา” ว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงใดบ้าง ผมเข้าใจว่าประมาณกลางเดือนนี้เราก็คงจะเห็นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของเราแล้วนะครับ ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะเป็นใครบ้างและรัฐบาลใหม่จะเริ่มทำงานใหม่ ๆ อะไรกันบ้างครับ
       ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นกัน มีข่าวที่น่าสนใจข่าวหนึ่งที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน นั่นคือข่าวนี้มีการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. …. กับร่างระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. …. เพื่อใช้ในการทำงานของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่เป็นข่าวและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ก็เพราะในร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. …. นั้น ว่ากันว่ามีการกำหนดองค์ประชุมของคณะรัฐมนตรีไว้เพียง 1 ใน 3 และในเรื่องฉุกเฉิน ก็มีการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะสามารถหารือเฉพาะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อออกมติรัฐมนตรีได้ ประเด็นดังกล่าวมีนักวิชาการออกมาให้ความเห็นกันมากว่าเป็นการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมากเกินไป และก็อาจเป็นช่องทางให้นายกรัฐมนตรีสามารถออกพระราชกำหนดได้โดยใช้วิธีการฉุกเฉินดังกล่าวไปแล้วคือ หารือเฉพาะกับรัฐมนตรี 2-3 คนเพื่อออกพระราชกำหนดครับ ภายหลังจากที่เป็นข่าว เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ) ก็ได้ออกมา “ชี้แจง” ว่า อยากให้อ่านสาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. …. ทั้งฉบับก่อนแล้วจึงค่อยวิจารณ์ครับ ดังนั้น ผมจึงได้ขอเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาจากท่านอาจารย์บวรศักดิ์ฯ และนำมาลงเผยแพร่ไว้ใน website นี้แล้ว โดยท่านอาจารย์บวรศักดิ์ฯ ได้ให้เอกสารผมมา 3 ชิ้น คือ
       1.คำชี้แจงของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. …. และร่างระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. ….
       2. ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. ….
       3. ร่างระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. ….
       ผู้ใดสนใจก็ลองศึกษาดูนะครับ!!!
       
       ในบทบรรณาธิการเมื่อเดือนที่ผ่าน คือ บทบรรณาธิการที่ 101 (7-20 กุมภาพันธ์ 2548) ผมได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องที่ผมได้มีโอกาสไปดูงานที่องค์กรกำกับดูแลด้านพลังงานของอิตาลี โดยผมได้ทิ้งท้ายไว้ว่าเสียดายที่บ้านเรายังไม่มีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลด้านพลังงาน อย่างไรก็ดี เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมก็ได้มีโอกาสเห็น “ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า พ.ศ. .....” ซึ่งกระทรวงพลังงานได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2548 เพื่อพิจารณา โดยในขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ ผมยังไม่ทราบผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าว แต่ผมเห็นว่าน่าสนใจจึงนำมาเล่าให้ฟังครับ
       ร่างระเบียบดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) (8) และ (9) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 โดยมีสาระสำคัญคือ จัดตั้ง “คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า” ขึ้นเพื่อทำหน้าที่หลายประการ เช่น กำกับดูแลอัตราค่าบริการของผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า กำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมการแข่งขันและป้องกันการใช้อำนาจผูกขาด กำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า กำหนดและกำกับดูแลมาตรฐานทางวิชาการและความปลอดภัยของการประกอบกิจการไฟฟ้า ฯลฯ คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีก 3 – 5 คน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ส่วนค่าตอบแทนนั้นจากเอกสารที่ผมเห็นเข้าใจว่าคณะกรรมการมีค่าตอบแทนสูงพอสมควรครับ ร่างระเบียบนี้เป็นร่างระเบียบสั้น ๆ แค่ 16 ข้อครับ
       
       ผมพิจารณาดูร่างระเบียบดังกล่าวแล้วก็รู้สึกแปลกใจพอสมควรและมีคำถามหลักก็คือว่า ทำไมจึงมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลด้านไฟฟ้าโดยใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีทั้งๆที่ การจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลที่ผ่านมา คือ กสช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ) และ กทช. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ก็จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ (พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543) สถานะของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีและพระราชบัญญัตินั้นต่างกันลิบลับแถมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรียังแก้ไข ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้ง่ายมาก ผมไม่แน่ใจในเรื่องดังกล่าวแต่ถ้าจะให้คาดเดาเอาเองก็คงจะพอเดาได้ว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนหรือเพื่อความรวดเร็วครับ เพราะหากจะออกเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติมาจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลด้านไฟฟ้าก็คงใช้เวลานานพอควรซึ่งจากเหตุผลดังกล่าวก็คงตามมาด้วยคำถามรองที่เป็นคำถามที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำไมจึงต้องเร่งด่วนรวดเร็วขนาดนี้ คำตอบก็คงเป็นไปในลักษณะที่อาจคาดเดาได้เช่นกันว่า สงสัยจะเกิดการแปรรูปกิจการไฟฟ้าในเร็ววันนี้ครับ ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะเกิดอะไรตามมากันบ้างครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ นอกจากเอกสาร 3 ชุด ของท่านอาจารย์บวรศักดิ์ฯ ที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้นแล้ว เรามีบทความใหม่อีกบทความหนึ่ง คือบทความเรื่อง “ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการเรียนการสอนกฎหมายมหาชนในประเทศไทย” ที่เขียนโดย นางสาววรลักษณ์ สงวนแก้ว ซึ่งผมต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ ลองอ่านดูได้ใน “นานาสาระของนักเรียนไทยในต่างแดน”ครับ
       เมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา คุณธีรเดช เอี่ยมสำราญ จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ได้สัมภาษณ์ผมเพื่อนำไปลงในวารสารฉบับหนึ่ง บรรดาทีมงานของ website (ยกเว้นผม!) เห็นว่าน่าจะนำบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมาลงใน www.pub-law.net ด้วยก็เลยขออนุญาตผมและได้นำมาลงเผยแพร่ไว้ในคราวนี้ด้วยแล้วครับ
       สัปดาห์หน้าในระหว่างวันที่ 13-20 มีนาคม ผมจะเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสกับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครับ กลับมาหากมีอะไรน่าในใจก็จะนำมาเล่าให้ฟังครับ ส่วนบทบรรณาธิการประจำวันที่ 21 มีนาคม ผมได้ขอให้ “กองบรรณาธิการ” ของเราเป็นผู้เขียนครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2548 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=744
เวลา 29 เมษายน 2567 08:21 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)