ครั้งที่ 60

14 ธันวาคม 2547 18:21 น.

       "ถนนยกระดับเลียบอ่าวไทย:ประชาพิจารณ์และมาตรฐานนักวิจัย"
       เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้ที่สนใจข่าวสารบ้านเมืองคงได้ยินได้ฟังข่าวที่ว่าคณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบก (คจร.)ได้อนุมัติโครงการและนายกรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยกับโครงการก่อสร้างถนนยกระดับเลียบอ่าวไทยจากจังหวัดสมุทรสาครถึงจังหวัดเพชรบุรีเป็นระยะทาง127 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณสี่หมื่นล้านบาทและต้องตัดถนนข้ามอ่าวไทยยาว 47 กิโลเมตร
       ข่าวที่เกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าวมีอยู่หลายด้าน บรรดาผู้ประกอบกิจการค้าริมทางสายปัจจุบันที่เป็นทางมุ่งลงสู่ภาคใต้ไม่เห็นด้วยเนื่องจากหากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น การประกอบธุรกิจของตนก็จะลำบากเพราะประชาชนคงใช้ถนนสายใหม่กันมากเนื่องจากย่นระยะทางในการเดินทางลงสู่ภาคใต้ไปได้มากเมื่อเทียบกับทางสายเก่า ส่วนบรรดานักวิชาการ นักเคลื่อนไหว และประชาชนบางกลุ่มก็มีความเห็นว่า การก่อสร้างถนนสายดังกล่าวน่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อระบบนิเวศวิทยา และต่อวิถีชีวิตของชุมชนเพราะถนนเลียบอ่าวไทยจะทำลายภูมิทัศน์บริเวณชายฝั่งทะเล ทั้งหมดที่ถนนตัดผ่าน รวมไปถึงทำลายวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของชุมชนที่อยู่ริมทะเลมาเป็นเวลานาน ซึ่งในประเด็นดังกล่าว นายกรัฐมนตรีก็ได้แสดงความเห็นว่าโครงการนี้ผ่านการศึกษาของอาจารย์มหาวิทยาลัยสามสี่แห่งมาแล้ว (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม หน้า 3)
       ผมให้ความสนใจข่าวนี้มาก แต่เป็นความสนใจในสองลักษณะ ลักษณะแรกเป็นความสนใจในโครงการร่วมกับคนอื่นๆที่วิตกว่า โครงการเลียบอ่าวไทยจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อระบบนิเวศวิทยา และต่อวิถีชีวิตชุมชน ส่วนความสนใจในลักษณะที่สองก็เป็นเรื่องที่อาจแตกต่างจากผู้อื่นอยู่บ้างเพราะผมกำลังวิตกเกี่ยวกับผลการศึกษาโครงการดังกล่าวโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง
       ในส่วนที่เกี่ยวกับความสนใจในลักษณะแรกของผมนั้น เมื่อพิจารณาดูมาตรา 56 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะพบว่ารัฐธรรมนูญได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญสำหรับการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมไว้ว่าจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้ให้องค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้าน สิ่งแวดล้อมให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เองทำให้เราพอมองเห็นภาพว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวคงหลีกเลี่ยงกระบวนการตามมาตรา 56 แห่งรัฐธรรมนูญไปไม่ได้ ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลคงต้องใช้มาตรการในการทำ “ประชาพิจารณ์” มารับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั่นเอง เมื่อพูดถึงเรื่องการทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2535 แล้วก็รู้สึกเบื่อหน่ายเพราะที่ผ่านมามักจะใช้ไม่ค่อยได้ผล ที่ใช้ไม่ได้ผลก็เพราะการทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบดังกล่าวได้สร้างปัญหาให้กับสังคมขึ้นมามาก ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ที่มักจะทำกันหลังจากรัฐบาลตัดสินโครงการไปแล้วว่าให้ทำได้ มีการศึกษา มีการตั้งงบประมาณไว้อย่างเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น แม้ประชาชนจะแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการแต่ส่วนใหญ่แล้วโครงการเหล่านั้นก็ดำเนินการต่อไปเพราะรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการขั้นตอนต่างๆไว้เรียบร้อยก่อนการทำประชาพิจารณ์แล้ว ในประเด็นนี้เองที่ผมได้นำเสนอไว้ในการสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนเรื่องร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ. …. ที่จัดขึ้น ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า หากต้องการให้การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุด รัฐอาจทำการประชาพิจารณ์หรือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆทางปกครองในโครงการดังกล่าว กล่าวคือ ก่อนที่จะมีการออกแบบ อนุมัติ อนุญาต ตั้งงบประมาณสำหรับโครงการก็มาฟังความเห็นของประชาชนเสียก่อนว่าประชาชนมีความเห็นอย่างไรกับโครงการนั้น การดำเนินการดังกล่าวจะเกิดผลดีต่อสังคมเพราะหากประชาชนไม่เห็นด้วยในเรื่องใด ฝ่ายปกครองก็จะแก้ไขปัญหาในส่วนนั้นให้ลุล่วงไปก่อนแล้วก็มา ฟังความเห็นจากประชาชนอีกครั้ง โครงการที่เกิดขึ้นจากความเห็นส่วนใหญ่ของประชาชนก็จะเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายในเวลาต่อไปและลดแรงกดดันทางสังคมไปได้มาก ดังนั้น โครงการถนนเลียบอ่าวไทยจึงน่าจะลองใช้วิธีนี้ดูบ้าง ถามความเห็นของประชาชนก่อนในทุกๆด้านแล้วก็นำมาศึกษาหาทางแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องให้ลุล่วงไปก่อนที่จะลงมือสร้างครับ
       ในส่วนที่เกี่ยวกับความสนใจในลักษณะที่สองของผมคือ จากการที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเห็นว่าโครงการถนนเลียบอ่าวไทยที่ผ่านการศึกษาของอาจารย์มหาวิทยาลัยสามสี่แห่งมาแล้ว นั้น ในฐานะที่เป็นหนึ่งในอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมมีความรู้สึกว่านับวัน การศึกษาวิจัยก็จะกลายเป็น “แหล่งทำมาหากิน” ของคนจำนวนมากไป ในอดีต ผมเข้าใจว่า การทำวิจัยเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญที่บรรดาผู้อาวุโสซึ่งมีความรู้และประสบการณ์สั่งสมกันมานานจะเป็นผู้เข้ามาทำวิจัยเพื่อ “หาข้อยุติ” หรือ “หาแนวทางใหม่ๆที่เหมาะสม” เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นสาเหตุให้ต้องทำงานวิจัยนั้น แต่ในปัจจุบัน ผมพบว่ามีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่ผู้วิจัยยังเยาว์วัยนัก เรียนหนังสือจบมาไม่กี่เดือนก็เข้ามาทำงานวิจัยแล้ว ผมไม่ทราบว่า ผู้วิจัยเหล่านี้มีประสบการณ์ใดบ้างที่จะนำมาเสนอเป็นทางแก้ปัญหาในงานวิจัย หรือเป็นแต่เพียงดูเอกสารทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศที่มีผู้เขียนเอาไว้แล้วก็นำเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็น “ข้อเสนอ” ในงานวิจัยของตน บังเอิญผมมีโอกาสได้อ่านสรุปงานวิจัยหลายเรื่องซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสารการสัมมนาทางวิชาการเรื่องหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ไปเปิดงานและกล่าวปาฐกถานำเมื่อไม่นานมานี้เอง ในเอกสารที่แจกในงานสัมมนานั้นมีบทความทางวิชาการอยู่หลายเรื่องที่สรุปย่อมาจากงานวิจัยต่างๆซึ่งเมื่อผมได้ลองอ่านดูเอกสารเหล่านั้นแล้ว มีบางเรื่องที่ผมเข้าใจว่าเป็นงานวิจัยที่มีลักษณะปกติทั่วๆไปที่พบเห็นได้ในงานวิจัย “สมัยใหม่” ที่ผู้วิจัยคงไม่สามารถหาข้อเสนอแนะอะไรมาเสนอแนะได้นอกจากเสนอว่า สมควรปรับปรุงกฎหมาย สมควรหารูปแบบกฎหมายที่เหมาะสม หรือสมควรสร้างกระบวนการที่เหมาะสม ฯลฯ ข้อเสนอเหล่านี้เป็นข้อเสนอที่มีลักษณะ “ทั่วไป” ที่ทุกคนพูดได้ ทุกคนกล่าวได้ งานวิจัยที่ทำโดยผู้วิจัยที่ดีนั้นน่าจะมีข้อเสนอที่เป็น “รูปธรรม” มากกว่านี้ หากเสนอให้ปรับปรุงกฎหมาย ผู้วิจัยก็ต้องยกร่างกฎหมายมาด้วย หากเสนอให้มีการวางมาตรการใหม่ๆขึ้นมา ผู้วิจัยก็ต้องหามาตรการที่เหมาะสมมาเสนอด้วยโดยร่างกฎหมายหรือมาตรการเหล่านั้นจะต้องทำขึ้นโดยหลักวิชาการและใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่มากของผู้วิจัยมาสร้างสรรข้อเสนอให้เข้ากับบริบทของสังคมไทยต่อไป งานวิจัยนั้นจึงจะเป็นงานวิจัยที่มีคุณค่าและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ดังนั้น ผมจึงค่อนข้างวิตกว่า ที่นากรัฐมนตรีกล่าวว่าโครงการถนนเลียบอ่าวไทยผ่านการศึกษาของอาจารย์มหาวิทยาลัยสามสี่แห่งไปแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ผมวิตกเป็นอย่างยิ่งว่างานวิจัยเหล่านั้นมี “มาตรฐาน” มากน้อยเพียงไร ที่ถูกสมควรนำงานวิจัยเหล่านั้นมาเปิดเผยให้สาธารณชนทราบด้วยครับ !
       สำหรับผู้ที่ลงชื่อขอหนังสือ “รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 2” ไปแล้ว และไม่ได้มารับหนังสือภายในเวลา 1 เดือนเศษที่ผ่านมาตามที่ผมได้แจ้งไว้ในบทบรรณาธิการก่อนหน้านี้นั้น ขอแจ้งให้ทราบว่าขณะนี้หมดระยะเวลาขอรับหนังสือไปแล้วครับ หนังสือเหล่านี้จะถูกแจกต่อไปโดยขอให้ผู้ที่สนใจขอรับหนังสือที่มีอยู่อีกไม่มากนักโทรศัพท์เข้ามาสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2218-2067 ในวันและเวลา ราชการครับ ส่วนงานสัมมนาทางวิชาการเรื่องนิติรัฐกับประชาสังคม อันเป็นการสัมมนาเพื่อเปิดตัวหนังสือเรื่องนิติรัฐกับประชาสังคม ที่รวมบทสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คนจาก pub-law.net ที่เราจะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม 2546 นี้ โดยมีนักวิชาการ 4 คนด้วยกันคือ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ และ รศ.ดร.โภคิน พลกุล เป็นผู้อภิปรายนั้น ผู้ที่สนใจจะจองที่นั่งสามารถติดต่อได้ที่สถาบันนโยบายศึกษา โทรศัพท์ 0-2941-1832 ถึง 3 ครับ ที่นั่งมีจำนวนจำกัดนะครับ
       หลังจากที่รอคอยกันมานาน ในสัปดาห์นี้ เรามีบทสัมภาษณ์นักกฎหมายมหาชนคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย คือ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะ รัฐมนตรี จริงๆแล้วผมพยายามที่จะขอสัมภาษณ์ อ.บวรศักดิ์ฯ มาตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าอยู่ แต่ก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากเวลาไม่สัมพันธ์กัน ในครั้งนี้ อ.บวรศักดิ์ฯ ได้กรุณาสละเวลาให้ผมสัมภาษณ์ ซึ่งผมก็ต้องขอขอบคุณ อ.บวรศักดิ์ฯ มา ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งครับ บทสัมภาษณ์ อ.บวรศักดิ์ฯ นี้ได้นำลงพิมพ์ในหนังสือ “นิติรัฐกับประชาสังคม” ด้วยครับ นอกจากบทสัมภาษณ์ อ.บวรศักดิ์ฯ แล้ว เราก็มีบทความเรื่อง “สาระสำคัญของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539” ของคุณปกรณ์ นิลประพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายพัฒนาเศรษฐกิจ แห่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยครับ บทความนี้เป็นบทความที่ดีมากเพราะผู้เขียนได้อธิบายกฎหมายดังกล่าวอย่างละเอียดและมีการอ้างอิงคำพิพากษาฎีกาและคำวินิจฉัยต่างๆที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยครับ
       นอกจากบทสัมภาษณ์ อ.บวรศักดิ์ฯ และบทความของคุณปกรณ์ฯ แล้ว เรามีการตอบคำถามและแนะนำหนังสือใหม่ไว้ด้วย ลองติดตามดูในเวทีทรรศนะและหนังสือตำรานะครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม 2546 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=77
เวลา 28 เมษายน 2567 19:31 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)