ครั้งที่ 123

11 ธันวาคม 2548 23:24 น.

       "จีนซื้อเครื่องบินจำนวนมากจากฝรั่งเศส:โปรดระวังของเลียนแบบ"
       
ผมมาอยู่ที่เมือง Aix-en-Provence ประเทศฝรั่งเศสได้หนึ่งสัปดาห์แล้วครับ ผมทำการบรรยายไปแล้ว 2 ครั้งให้นักศึกษาระดับปริญญาเอกของคณะรัฐศาสตร์ฟัง ยังคงต้องบรรยายอีก 2 ครั้งในวันที่ 13 และ 14 ที่คณะนิติศาสตร์ครับ ช่วงนี้อากาศหนาวมาก ๆ เลยครับ ผมไม่มีโอกาสได้สัมผัสอากาศหนาวแบบนี้มาหลายปีแล้ว สองวันที่ผ่านมาผมว่างตอนเย็นก็ออกไปเดินเล่นและดื่มไวน์ร้อน (vin chaud) ทำให้หายหนาวไปได้บ้าง มีหลาย ๆ อย่างที่มีเฉพาะฤดูกาลเช่นไวน์ร้อนที่ไม่ได้ดื่มมาเกือบ 10 ปีแล้ว ก็เปลี่ยนบรรยากาศไปอีกแบบหนึ่งครับ เสียดายที่คราวนี้ผมไม่มีเวลาอยู่ได้นาน ๆ เพราะติดภารกิจสำคัญที่กรุงเทพฯในวันพุธที่ 21 ธันวาคมครับ ช่วงคริสต์มาสและปีใหม่เป็นช่วงเวลาที่สนุกและสวยงามมากเพราะเขาประดับถนนหนทางและร้านค้าต่าง ๆ ด้วยไฟหลายสี ดูแล้วก็มีความสุขดีครับ ปีหน้าคงต้องหาเวลามาอยู่ให้นานกว่านี้หน่อยครับ
       
       มีข่าวน่าสนใจหลายข่าวที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสแต่บังเอิญมีหลายข่าวที่ผมไม่มีข้อมูลมากพอที่จะเขียนครับ ! ข่าวที่น่าสนใจข่าวแรกก็คือข่าวที่เกี่ยวกับการแปรรูปการไฟฟ้าของฝรั่งเศส (EDF) ที่ผมได้เล่าไปให้ฟังในบทบรรณาธิการก่อนหน้านี้ว่า ในช่วงเวลาเดียวกับที่เราจะขายหุ้น กฟผ. การไฟฟ้าฝรั่งเศสก็ได้นำเอาบริษัทผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์เข้าตลาดหลักทรัพย์ครับ โดยกระบวนการแปรรูปการไฟฟ้าของเขาเตรียมพร้อมมานานพอสมควร มีการเปลี่ยนสภาพของการไฟฟ้าฝรั่งเศสเป็นบริษัทและแยกกิจการออกเป็นส่วน ๆ ไปตั้งบริษัทในเครือ ในส่วนของการไฟฟ้าฝรั่งเศสเองก่อนที่จะเป็นบริษัทก็ต้องทำสัญญา (contrat de service public) กับรัฐว่า แม้จะเปลี่ยนสภาพไปเป็นบริษัทแต่ก็ยังคงมีหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะอยู่ซึ่งก็หมายความว่า กิจการไฟฟ้ายังคงเป็นกิจการประเภทบริการสาธารณะที่ไม่สามารถหากำไรได้เพราะไม่ใช่กิจการประเภทธุรกิจ สามสัปดาห์หลังจากที่การไฟฟ้าฝรั่งเศสนำเอาหุ้นของบริษัทผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์เข้าไปขายในตลาดหลักทรัพย์ แม้ในสัญญาจัดทำบริการสาธารณะที่ทำไว้กับรัฐจะระบุไว้ว่าจะไม่มีการปลดหรือไล่พนักงานออกจากงาน แต่เมื่อวันพุธที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา การไฟฟ้าแห่งฝรั่งเศสก็ประกาศว่าจะยุบตำแหน่งของผู้ที่จะเกษียณอายุในระหว่างปี 2006-2007 จำนวน 6000 ตำแหน่งครับ ผลจากการยุบตำแหน่งก็คือทำให้คนที่อยู่ในตำแหน่งต้องทำงานมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเรื่องดังกล่าวสหภาพแรงงานไฟฟ้าก็ได้ออกมาคัดค้านโดยให้เหตุผลว่าการยุบเลิกตำแหน่งมีผลเสมือนการปรับองค์กรให้เล็กลงซึ่งส่งผลทำให้เกิดการลดค่าใช้จ่ายขององค์กรลง จึงน่าจะเป็นการเปลี่ยนเป้าหมายขององค์กรจากการที่มีหน้าที่ต้องจัดทำบริการสาธารณะเป็นการดำเนินการในลักษณะหวังผลกำไรเชิงธุรกิจ สหภาพแรงงานไฟฟ้าฝรั่งเศสคงจะเดินขบวนคัดค้านการยุบตำแหน่งในเร็ววันนี้แหล่ะครับ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าผลจะเป็นอย่างไร จริง ๆ แล้วรัฐบาลไทยน่าจะทำการศึกษาการแปรรูปกิจการไฟฟ้าบางส่วน (la privatisation partielle) ของการไฟฟ้าฝรั่งเศสเพราะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับเราและมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่คล้ายกัน เพียงแต่เขานำหน้าเราไปก่อนแค่นั้นเองครับ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสอาจนำมาปรับใช้ในบ้านเราได้ครับ
       
       ข่าวสำคัญมากอีกข่าวหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือข่าวของการที่ประเทศจีนสั่งซื้อเครื่องบิน Airbus A320 จากฝรั่งเศสจำนวน 150 ลำ โดยนายกรัฐมนตรีจีนได้เดินทางมาลงนามในสัญญาสั่งซื้อเครื่องบินด้วยตัวเองที่ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่สำคัญมากคิดเป็นเงินสูงถึง 6.5 พันล้านยูโรครับ
       ในโลกนี้มีบริษัทใหญ่ ๆ ที่ผลิตเครื่องบินขายอยู่สองบริษัท คือ บริษัท Boeing แห่งสหรัฐอเมริกา และบริษัท Airbus แห่งฝรั่งเศส บริษัททั้งสองเป็น “คู่แข่ง” ทางธุรกิจที่สำคัญ การแข่งขันส่วนใหญ่ก็เน้นหนักไปในทางพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบิน เช่น คิดค้นวัสดุที่จะนำมาใช้กับเครื่องบินและภายในเครื่องบินเพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย ปลอดภัย ทนทาน น้ำหนักเบา ซึ่งก็จะส่งผลทำให้เครื่องบินสามารถบินได้เร็วขึ้นและประหยัดน้ำมันมากขึ้น ในรอบปีที่ผ่านมา Airbus ขายเครื่องบินไปได้มากโดยส่งมอบไปแล้ว 370 ลำ ในขณะที่ Boeing ส่งมอบไปเพียง 290 ลำ เมื่อจีนสั่งซื้อเครื่องบินจาก Airbus อีก150 ลำจึงทำให้ Airbus กลายเป็นบริษัทผลิตเครื่องบินอันดับ 1 ของโลกไปแล้วครับ ส่วนสาเหตุที่มีการซื้อเครื่องบินกันมากในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็เพราะในปัจจุบันเกิดสายการบินราคาถูก (compagnie à bas coûts) หรือที่เราเรียกทับศัพท์กันในประเทศไทยว่า low cost airlines จำนวนมากครับ เครื่องบินก็เลยขายดีเป็นพิเศษ !
       ในสัญญาที่นายกรัฐมนตรีจีนลงนาม มีการคาดการณ์และการร้องขอปนอยู่ด้วยครับ จีนคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจีนต้องการซื้อเครื่องบินอีกประมาณ 2700 ลำซึ่งน่าจะเป็นเครื่องบิน Airbus ประมาณ 2000 ลำ ดังนั้น จีนจึงร้องขอให้ฝรั่งเศสศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างโรงงานประกอบเครื่องบิน Airbus ที่ประเทศจีน รวมไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตและประกอบชิ้นส่วนของเครื่องบินและตัวเครื่องบินให้จีนด้วยครับ ในวันต่อมาคือ 6 ธันวาคม จีนกับฝรั่งเศสก็ได้ลงนามในข้อตกลงที่จะทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานประกอบเครื่องบิน Airbus ในจีนพร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้จีนโดยกำหนดให้การศึกษาต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันลงนามในสัญญาครับ ข้อตกลงดังกล่าวมุ่งที่จะหารูปแบบที่เหมาะสมของความร่วมมือทางด้านเทคนิคและการเงินที่จะสร้างโรงงานผลิตเครื่องบิน “สาขา” ของฝรั่งเศสในจีน ซึ่งต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเข้ามาด้วยเพื่อให้การประกอบเครื่องบินของฝรั่งเศสในจีนมีคุณภาพดีเช่นเดียวกับที่ประกอบในฝรั่งเศสครับ
       หลายปีที่ผ่านมา ฝรั่งเศส “พยายาม” เตรียมตัวในการประกอบธุรกิจสาขาต่าง ๆ กับจีนมาตลอดครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจของการผลิตเครื่องบินที่ฝรั่งเศสพยายามที่จะแย่งตลาดมาจากบริษัท Boeing ของสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1999 บริษัท Airbus เข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัทในจีนจำนวน 5 บริษัทเพื่อตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเครื่องบิน เช่น ประตูของเครื่อง Airbus A320 ส่งให้กับบริษัท Airbus ในฝรั่งเศส
       ประเด็นของการถ่ายทอดเทคโนโลยีถือเป็น “ประเด็นใหญ่” ที่เจรจากันอยู่นานก่อนจะมีการลงนามในสัญญาสั่งซื้อเครื่องบินเพราะประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่สร้างความวิตกกังวลให้กับฝรั่งเศสอย่างมากด้วยเกรงว่าจีนจะลอกแบบไปเหมือนกับสินค้า “ของจริง” ทุก ๆ อย่างในโลกที่จีนสามารถผลิตได้เช่นเดียวกันแต่ราคาถูกกว่ามาก แต่เนื่องจากฝรั่งเศสประสงค์ที่จะเป็น “ที่ 1” ในธุรกิจการผลิตเครื่องบิน ประกอบกับในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเมื่อประธานาธิบดี George Bush ไปเยือนประเทศจีน จีนได้สั่งซื้อเครื่องบิน Boeing 737 จำนวน 70 ลำ และเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา สายการบิน Cathay Pacific ก็ได้สั่งซื้อเครื่องบิน Boeing รุ่นใหม่ล่าสุดคือรุ่น 777-300 ER ในจำนวนที่ไม่เปิดเผยซึ่งคาดว่าน่าจะเป็น 20 ลำ ส่วนสายการบินต่อมาที่จะสั่งซื้อเครื่องบินในปีหน้าคือสายการบิน Quantas แห่งออสเตรเลียที่คาดว่าน่าจะสั่งซื้อเครื่องบินไม่ต่ำกว่า 100 ลำจึงไม่น่าแปลกใจที่ฝรั่งเศส “ต้อง” ยอมแลกการถ่ายทอดเทคโนโลยีของการผลิตและประกอบเครื่องบิน Airbus เพื่อแลกกับการขายเครื่องบินจำนวนมากให้กับจีนเพื่อคงความเป็น “ที่ 1” ในธุรกิจของการผลิตเครื่องบินเอาไว้และเพื่อ “หาเงิน” เข้าประเทศในช่วงนี้ด้วยครับ !
       ผมติดตามข่าวดังกล่าวอยู่ 2-3 วันก็พบว่า คนฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตและประกอบเครื่องบิน Airbus ให้กับจีนด้วยเหตุผลที่ว่า เกรงว่าในวันข้างหน้าจีนจะผลิตเครื่อง Airbus “ปลอม” ออกมาขายให้กับประเทศต่าง ๆ ในราคาที่ถูกกว่าของฝรั่งเศสครับ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของฝรั่งเศสก็ออกมายืนยันถึงการกระทำดังกล่าวเพราะทำให้ฝรั่งเศสสามารถขายเครื่องบินได้จำนวนมาก ซึ่งก็เป็นการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมากเพราะบริษัท Airbus เป็นรัฐวิสาหกิจครับ แต่อย่างไรก็ตาม มีสิ่งน่าสนใจอยู่สิ่งหนึ่งคือผมไม่เห็นมีการพูดถึงหรือการเจรจาต่อรองที่เกี่ยวข้องกับการที่จีน “ละเมิดลิขสิทธิ์” สินค้าของฝรั่งเศสและของประเทศอื่น ๆ เลยครับ นี่คงเป็นการที่จีนมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจสูงมากจนประเทศที่ต้องการผูกพันทางเศรษฐกิจกับจีนต้อง “มองข้าม” การละเมิดลิขสิทธิ์ เหล่านั้นทั้งหมดก็เป็นได้ครับ
       พูดถึงเรื่องเครื่องบินแล้วก็อดไม่ได้ที่จะต้อง “กล่าวถึง” การบินไทยของเราครับ ในฐานะที่เป็นลูกค้าประจำของการบินไทยคนหนึ่งที่เริ่มไต่เต้ามาจากการโดยสารในชั้นประหยัดจนมาถึงการโดยสารในชั้นดีที่สุด ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาผมพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงน้อยมากเมื่อเทียบกับสายการบินอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกับเรา ปัญหาที่ผมพบมีหลายอย่าง เช่น ความไม่ “สมบูรณ์” ของห้องโดยสารที่มีบางส่วนชำรุดในหลาย ๆ ครั้งที่ผมใช้บริการ พนักงานบางคนที่ไม่ค่อยจะเต็มใจบริการคนไทยเท่าไรนัก รวมไปถึงการให้บริการภาคพื้นดินที่ยังไม่ค่อยดีและไม่ค่อยสะดวกเท่าไรเช่นกันครับ
       หากเราติดตามข่าวคราวของการบินไทยอย่างต่อเนื่อง ก็จะพบว่าการบริหารจัดการของการบินไทยเป็นปัญหาเรื้อรังและสะสมมานานโดยเฉพาะเรื่องการ “รั่วไหล” ต่าง ๆ ในทุกขั้นตอนที่หากสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ การบินไทยก็จะ “ประหยัด” ไปได้มากครับ จริง ๆ แล้วในปัจจุบัน ธุรกิจการบินเป็นธุรกิจที่เอกชนสามารถทำได้ดีและเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมากครับ สังเกตดูจากบรรดาสายการบิน low cost ที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศที่ให้บริการได้ดีไม่แพ้สายการบินหลักแต่มีราคาที่ถูกกว่ามาก ผมคิดอยู่เสมอว่าทำไมเราถึงไม่แปรรูปการบินไทยกันอย่างจริงจังเสียทีครับ การบินไทยเป็นบริษัทมหาชนอยู่แล้วและหุ้นการบินไทยที่เคยขายไปก็ไม่มากเท่าไร ผมว่าแปรรูปการบินไทยจะเหมาะสมที่สุดในหลาย ๆ ประการ เพราะการบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดทำ “สาธารณูปโภค” เช่นไฟฟ้า และก็ยังเป็นธุรกิจที่เอกชนสามารถทำได้ดีและมีการแข่งขันอยู่แล้ว ขายไปสัก 30-40% ก็จะทำให้รัฐมีรายได้เข้ามาจำนวนมาก แล้วก็จะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่สะสมในการบินไทยได้อีกด้วยครับ ทุกวันนี้ในสายตาคนนอก ผมมองว่าการบินไทยต้องปรับตัวในหลาย ๆ อย่าง เช่น เครื่องบินโดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องโดยสารที่ “ล้าสมัย” กว่าสายการบินอื่น ๆ การบริหารจัดการที่มีการ “รั่วไหล” มาก การบริหารงานบุคคลที่ยังคงเป็นระบบ “อุปถัมภ์” อยู่ หากเราแปรรูปไปเสียแล้วมีผู้บริหารมืออาชีพและจัดการทุกอย่างเช่น “ธุรกิจ” สายการบินที่ไม่ใช่ “รัฐวิสาหกิจ” ประเภทสายการบิน ผมคิดว่าน่าจะมีอะไร ๆ ที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบันครับ เพียงแต่คงต้องหามาตรการในการควบคุมไม่ให้การบินไทยซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติไปตกอยู่ในมือของสายการบินแห่งชาติอื่นหรือของคนต่างชาติอื่นเพราะจะทำให้เราสูญเสียสายการบินแห่งชาติของเราไปครับ
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความจำนวนมากจนทำให้ผมสับสนว่าจะทำอย่างไรกับบทความเหล่านั้นดีเพราะคงลงเผยแพร่ทุกบทความในคราวนี้ไม่หมดครับ ผมคงต้องขอลงบทความที่ต่อเนื่องจากคราวที่แล้วก่อนนะครับ คือ บทความของอาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศส คือบทความเรื่อง “บทโต้แย้งทางวิชาการกรณีตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ตอนที่ 2)” ซึ่งในเวลาเดียวกัน ผมได้รับบทความจากรองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ที่เขียน “ตอบ” อาจารย์ธีระฯ ในบทความตอนแรก ผมก็เลยขอนำเสนอไว้ในคราวนี้ด้วยคือ บทความเรื่อง “คำตอบสำหรับบทโต้แย้งทางวิชาการกรณีตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินกับการใช้และการตีความรัฐธรรมนูญ (ตอนที่ 1)” ผมรู้สึก “ตื่นเต้น” กับบรรยากาศของการนำเสนอบทความทางวิชาการของสองนักวิชาการในครั้งนี้มากเพราะการมองและวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากบุคคลต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาแนวคิดและความรู้ทางวิชาการให้กับผู้อ่านทั้งหลายครับ ผมคงต้องขอขอบคุณนักวิชาการทั้งสองสำหรับบทความดี ๆ และขอขอบคุณที่ “เลือก” เผยแพร่บทความใน www.pub-law.net ครับ ส่วนบทความอื่น ๆ รวมทั้งบทความตอนที่ 2 ของผม เรื่อง กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขอติดไว้ลงคราวหน้า และผมต้องขอโทษผู้เขียนบทความที่ผมยังไม่ได้ลงเผยแพร่ในครั้งนี้ไว้ ณ ที่นี้ด้วย อย่าโกรธกันนะครับ
       
       สุขสันต์วันคริสต์มาสและพบกันใหม่วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม 2548 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=849
เวลา 29 เมษายน 2567 17:17 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)