ครั้งที่ 68

14 ธันวาคม 2547 18:21 น.

       ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำคุก "คุณรักเกียรติฯ"
       
ผมเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้วเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ กลับมาได้ 3-4 วันก็เปิดเทอมพอดี ประกอบกับขณะนี้คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่ใหญ่โตมโหฬาร ก็เลยทำให้ผมมีภาระยุ่งๆกับการย้ายของและจัดห้องใหม่ครับ เลยยังไม่มีเวลามาทุ่มเทให้ pub-law.net เท่าไหร่นัก
       ผมไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ไทยเสียเกือบสองเดือน หนังสือพิมพ์ที่ว่านี้หมายความถึงหนังสือพิมพ์จริงๆ (ที่จับแล้วมือดำไปหมด) นะครับ แต่ตลอดเวลาที่อยู่ฝรั่งเศสก็ได้อาศัยอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาไทยใน internet ทำให้ไม่ตกข่าวคราวของเมืองไทยครับ ก็นับได้ว่ามีความสะดวกมากในการติดตามข่าวคราวผ่าน internet ครับ
       ผมให้ความสนใจกับข่าว “คุณรักเกียรติ” เป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมานี้ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาให้จำคุกคุณรักเกียรติฯ เป็นเวลา 15 ปี คงจำกันได้ดีนะครับว่าเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสร้างกลไกในการตรวจสอบทางการเมืองขึ้นมาใหม่ หลายๆคนได้วาดภาพเอาไว้ว่าสักวันหนึ่งเราจะได้เห็นภาพของนักการเมืองที่ทุจริตโกงแผ่นดินต้องถูกพิพากษาให้จำคุก ภาพของนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ในชุดนักโทษมีโซ่ตรวนต้องเดินคอตกเข้าคุกเป็นภาพที่ “สร้างความเป็นธรรม” ให้กับสังคม เพราะมิใช่โจรผู้ร้ายไม่มีการศึกษาเท่านั้นที่ต้องติดคุก นักการเมืองผู้มีบารมีก็อาจติดคุกเยี่ยงโจรได้เช่นกันหากทำผิดกฎหมาย ในวันนี้เราเริ่มมองเห็นภาพเหล่านั้นแล้ว กรณีคุณรักเกียรติฯ นี้ถือว่าเป็นกรณีประวัติศาสตร์ที่สำคัญกรณีหนึ่งของไทยเพราะมีการตัดสินอดีตรัฐมนตรีว่ากระทำความผิดความผิดรวมกันถึง 3 คดี โดยในคดีแรกศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินห้ามคุณรักเกียรติฯ ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเวลา 5 ปีเนื่องจากยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ คดีที่สองศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินจำนวน 233 ล้านบาทของคุณรักเกียรติฯ ให้ตกเป็นของแผ่นดินเนื่องจากร่ำรวยปกติ และคดีที่สามศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาลงโทษจำคุกคุณรักเกียรติฯเป็นเวลา 15 ปี ฐานะเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบนในคดีทุจริตจัดซื้อยา แต่เนื่องจากในปัจจุบันคุณรักเกียรติฯ (ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรี) ได้หลบหนีไปเสียแล้ว (ไม่รู้ว่าอดีตรัฐมนตรีหลบหนีไปได้อย่างไร !!!!!) เราจึงไม่ได้เห็นภาพคุณรักเกียรติฯ ชดใช้ความผิดที่กระทำต่อแผ่นดิน ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ตำรวจจะสามารถจับคุณรักเกียรติฯ มารับโทษได้หรือไม่ครับ
       สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณรักเกียรติฯ นั้น สะท้อนให้เห็นภาพหลายด้าน ภาพที่เกี่ยวกับ “การเมือง” นั้น อาจเรียกได้ว่าเป็นภาพแห่งความ “ยินดี” ครับ ผมเห็นว่าการ “ตรวจสอบ” การดำเนินการของนักการเมืองที่ “ ไม่โปร่งใส” น่าจะทำต่อไปครับ โดยการตรวจสอบนี้อาจช่วยกันทำได้โดยภาคเอกชนได้เช่นเดียวกับที่องค์กรเอกชนได้ร่วมมือกันตรวจสอบการทุจริตของ คุณจิรายุ จรัสเสถียร ที่ปรึกษาของคุณรักเกียรติฯ (ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินลงโทษจำคุกไปแล้วและขณะนี้ก็ยังติดคุกอยู่) และตรวจสอบกรณีทุจริตของคุณรักเกียรติฯ องค์กรประชาชนที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบนี้สมควรได้รับคำชมเชยจากคนไทยทั้งปวงนะครับ เพราะองค์กรเหล่านี้ เราจึงสามารถก้าวเข้าไปสู่การมีระบบตรวจสอบทางการเมืองที่ดีได้ในประเทศไทยครับ คงต้องมานั่งดูกันต่อไปแล้วว่า บรรดานักการเมืองทั้งหลายที่มีความ “สามารถ” ในการทุจริตนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้อง “คืน” ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นให้กับ แผ่นดินและ “ชดใช้” สิ่งที่ท่านได้ทำไว้กับแผ่นดินครับ ใน “กลุ่ม” ของคุณรักเกียรติฯ เองก็ยังมีอีกหลายคนนะครับ บางคนก็ตายไปแล้ว (แต่ทิ้งสมบัติไว้ให้ครอบครัวใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย) บางคนก็ยังมีอำนาจวาสนาอยู่ และคนอื่นๆ ที่มี “ชื่อเสียง” ในด้านทุจริตก็ยังคงอยู่ในสังคมต่อไปครับ ก็ต้องช่วยกันตรวจสอบและหาทางเอาทรัพย์สินที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้มาโดยสุจริตคืนมาเป็นของแผ่นดินต่อไปครับ ส่วนภาครัฐก็ต้องขอปรบมือให้กับคณะกรรมการ ปปช. และอดีตเลขาธิการ ปปช. ที่ได้ร่วมกันสร้าง “ภาพ” ของ ปปช. ให้เป็นหน่วยงานที่ “ตรง” และ “มี ประสิทธิภาพ” ครับ เช่นเดียวกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีและน่ายกย่องครับ
       ภาพที่เกิดขึ้นจากคดีคุณรักเกียรติฯ อีกภาพหนึ่งเป็นภาพแห่งความ “วิตก” ครับ คงทราบกันแล้วว่า ปัจจุบันคณะกรรมการ ปปช. ชุดเดิมหมดวาระลงเช่นเดียวกับเลขาธิการ ปปช. ขณะนี้กำลัง “หาคนแทน” อยู่ครับ ผมอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์เมื่อสองสามวันที่ผ่านมาก็รู้สึกวิตกว่า เราจะ “มีทางใด” บ้างที่จะมีคณะกรรมการ ปปช. และเลขาธิการ ปปช. ที่เป็นอิสระและทำงานได้อย่างเต็มที่เหมือนเช่นที่เราเคยมีมา ที่ผมกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่าผมติในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นนะครับ ผม “วิตก” ต่างหาก ! ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกกรรมการเลือกตั้งหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มักมีเสียงครหาอยู่เสมอว่า คณะกรรมการสรรหาไม่โปร่งใส วุฒิสภาเลือกคนที่ไม่เหมาะสม เราจะทำอย่างไรกันดีรับที่จะให้การสรรหาคณะกรรมการ ปปช. ในครั้งนี้เป็นไปอย่างโปร่งใสและยุติธรรมที่สุด เพื่อให้ได้คนดีที่สุดเข้ามาทำงานเพื่อปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติจาก “ผู้ไม่หวังดี” ทั้งหลายครับ ผมคงให้คำตอบแทนไม่ได้ เวลานี้เรามีคณะกรรมการสรรหาแล้ว (ซึ่งผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาเท่าไหร่เพราะจริงๆแล้วกรรมการสรรหาควรจะต้องประกอบด้วยตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายค้านด้วยนะครับ จะได้ช่วยกันดูแลและถ่วงดุลไม่ให้ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลชี้นำ) เมื่อคณะกรรมการสรรหาทำงานเสร็จแล้วเสนอรายชื่อให้วุฒิสภาเลือก คงต้องฝากความหวังขั้นสุดท้ายไว้กับวุฒิสภาแหละครับ ว่าจะ “สร้าง” ระบบการตรวจสอบทางการเมืองที่ดีต่อไปหรือไม่ครับ เรื่องนี้พูดกันอีกยาวก็ไม่จบครับ ผมขอจบลงแค่นี้จะเหมาะสมกว่า โดยขอฝาก “ความหวัง” ทั้งหลายทั้งปวงไว้กับคณะกรรมการสรรหาและวุฒิสภาว่า ในการเลือกคณะกรรมการ ปปช. ชุดใหม่นั้น ขอให้คำนึงถึงคนที่จะเข้ามาตอบสนองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการสร้างกลไกในการตรวจสอบทางการเมืองที่ดีและคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความเพียงบทความเดียวคือ เรื่อง “ความรู้เบื้องต้นกฎหมายปกครองฝรั่งเศส” ซึ่งลงเป็นตอนที่ 6 แล้วครับ ส่วนอื่นๆผมยังไม่มีเวลาปรับปรุงนะครับ ขอติดไว้คราวหน้าแล้วกันครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=85
เวลา 27 เมษายน 2567 12:48 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)