ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์

28 พฤษภาคม 2549 21:53 น.

       ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité)
       
       La procès équitable หรือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่ากระบวนการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมนั้น ถือเป็นศัพท์กฎหมายสมัยใหม่ที่ปรากฎอยู่ค่อนข้างมากในกฎหมายอาญา อันเป็นตัวอย่างของกฎหมายที่นักศึกษากฎหมายหรือผู้สนใจในประเด็นของความเกี่ยวเนื่องระหว่างกฎหมายกับสิทธิเสรีภาพของมนุษย์รู้จักกันดี ดังนั้น จึงมิเป็นที่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่เมื่อเรากล่าวถึงกระบวนการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม หรือ Le procès équitable นั้น นักกฎหมายดังกล่าวหรือผู้สนใจโดยทั่วไปจะเกิดความคิดว่าแนวคิดในเรื่องดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนได้อย่างไรและมีเนื้อหาสาระความเป็นมาอย่างไร เพราะโดยภาพรวมแล้วเมื่อเรากล่าวถึงกฎหมายอันมีความเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ เราก็มักจะมุ่งประเด็นไปที่กฎหมายอาญาซึ่งเป็นกฎหมายที่มีตัวอย่างชัดเจนในการที่อาจจะมีการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ได้ชัดเจนที่สุด ตัวอย่างเช่น การค้น การจับ เป็นต้น
       
       ยิ่งไปกว่านั้น ความคิดประการที่สองก็ยังปรากฎตามมาในประเด็นที่ว่า หลัก équité อันเป็นหลักกฎหมายที่นักศึกษากฎหมายจะต้องมีความคุ้นเคยจากการอ่านผ่านตามาในวิชา “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป” อันเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรระดับนิติศาสตร์บัณฑิต โดยหลัก équité ดังกล่าวเป็นหลักกฎหมายในสกุล anglo-saxon ในระบบกฎหมาย common law ซึ่งเป็นระบบที่ปฎิเสธการมีอยู่ของกฎหมายในรูปแบบของประมวลกฎหมายแต่กลับถือว่าการใช้กฎหมายในรูปของ “คำพิพากษาของศาล” เป็นที่มาของกฎหมาย ดังนั้น การตัดสินของศาลในแต่ละครั้งจึงมีความสำคัญและมีความจำเป็นที่จะต้องเดินตามคำพิพากษาเดิมรวมและ/หรือตามหลัก équité อันเป็นหลักว่าด้วยความยุติธรรมในกรณีที่ไม่มีคำพิพากษาเดิมวางหลักเอาไว้ หรือ ในกรณีที่คำพิพากษาเดิมวางหลักดังกล่าวเอาไว้ แต่มีข้อมีรายละเอียดในบางกรณีของสำนวนความที่แตกต่างกัน จึงอาจจะกล่าวได้ง่ายๆว่า หลัก équité ถือเป็นสิ่งที่ทำให้การยึดติดกับคำพิพากษาเดิมของศาลนั้นมีความ “ยืดหยุ่น” ขึ้น และเมื่อหลัก équité เป็นหลักที่ปรากฎอยู่ในระบบกฎหมาย anglo-saxon แล้วเหตุใดหลักดังกล่าวจึงมาเข้ามามีบทบาทกับระบบกฎหมายปกครองอันมี “ราก” มาจากกฎหมายอีกตระกูล นั่นคือ ระบบ romano-germanique อันมีลักษณะตรงข้ามกับระบบ common law โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ในระบบ romano-germanique หรือระบบกฎหมายภาคพิ้นยุโรปนั้นถือว่าแหล่งที่มาของกฎหมายมาจากประมวลกฎหมาย และถือว่าคำพิพากษาเป็นเพียงตัวอย่างการใช้หรือการตีความกฎหมายเท่านั้น
       
       คำตอบของความคิดทั้งสองประการข้างต้นสามารถตอบได้ด้วยตัวเชื่อม คือ La Convention Européenne de Droits de l’Homme หรือ La Convention EDH หรือปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป ซึ่งเป็นปฎิญญา (convention) ความร่วมมือในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆในยุโรป ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะมีระบบกฎหมายในตระกูล romano-germanique โดยมีข้อยกเว้นที่เห็นได้ชัดเจนคือประเทศอังกฤษอันเป็นแม่แบบของประเทศในกลุ่มกฎหมาย anglo-saxon ดังนั้นการร่วมมือในรูปแบบของ convention ดังกล่าวจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการวิเคราะห์ระบบกฎหมายของประเทศที่จะเข้าร่วมและตกลงกันในรูปแบบของ “ระบบกฎหมายกลาง” ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน ซึ่งได้มีมาตรา 6 กล่าวไว้ในเรื่องของ la procès équitable เอาไว้ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก และมีความเกี่ยวข้องกับระบบกฎหมายปกครองเนื่องจากกฎหมายปกครองเองก็ถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่มีการจำกัดสิทธิประชาชนในบางกรณี เช่น การปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจทางปกครอง หรือ อย่างน้อยที่สุดการพิจารณาคดีปกครองก็มีการพิจารณาคิดในรูปของ “ศาล” ดังนั้นจึงมีความจำเป็นจะต้องเคารพต่อกระบวนการพิจารณาที่เป็นธรรมอันเป็นอีกหนึ่งหลักที่ตุลาการศาลปกครองควรยึดถือ ซึ่งนอกไปจากมาตรา 6 อันกล่าวไปแล้วข้างต้น นั้น การคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาทางศาลยังมีมาตราที่แตกออกไปย่อยๆอีกหลายมาตรา ตัวอย่างเช่น มาตรา 13 อันกล่าวถึงการคุ้มครองตามหลัก recours effectif หรือการฟ้องคดีอย่างมีประสิทธิภาพ (1) อันมีความหมายรวมไปถึงสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีในศาลที่มีความเป็นอิสระ มีความเป็นกลาง ในระยะเวลาอันเหมาะสม มีความเปิดเผยต่อสาธารณะชน และมีการดำเนินการตามคำพิพาษาที่เหมาะสมที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
       
       ตามมาตรา 6 ของ La Convention Européenne de Droits de l’Homme หรือ La Convention EDH หรือปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป ได้กล่าวถึงสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม เอาไว้โดยแบ่งเป็นสามวรรค กล่าวคือ
       วรรคแรก « Toute personne a droit à ce que sa cause soit entendue équitablement, publiquement et dans un délai raisonnable, par un tribunal indépendant et impartial, établi par la loi, qui décidera, soit des contestations sur ses droits et obligations de caractère civil, soit du bien-fondé de toute accusation en matière pénale dirigée contre elle. Le jugement doit être rendu publiquement, mais l'accès de la salle d'audience peut être interdit à la presse et au public pendant la totalité ou une partie du procès dans l'intérêt de la moralité, de l'ordre public ou de la sécurité nationale dans une société démocratique, lorsque les intérêts des mineurs ou la protection de la vie privée des parties au procès l'exigent, ou dans la mesure jugée strictement nécessaire par le tribunal, lorsque dans des circonstances spéciales la publicité serait de nature à porter atteinte aux intérêts de la justice » ซึ่งถอดความเป็นภาษาไทย (2)ได้ว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม, เปิดเผยและในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยองค์กรฝ่ายตุลาการ (3)ที่มีความเป็นอิสระและมีความเป็นกลางที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย ในการพิพากษาคดีที่เป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ทางแพ่งและข้อกล่าวหาในทางอาญา คำพิพากษาในกรณีดังกล่าวจะต้องกระทำโดยเปิดเผย แต่ในการเข้าร่วมการเข้าฟังกระบวนพิจารณาในคดีดังกล่าวนั้นอาจจะต้องห้ามสำหรับสื่อมวลชนหรือประชาชนทั่วไปหรือคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากเป็นการพิจารณาแล้วว่าเป็นคดีที่มีประเด็นในเรื่องศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของรัฐในสังคมประชาธิปไตย ในเรื่องผลประโยชน์ของผู้เยาว์ หรือในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิของปัจเจกชนของคู่กรณี หรือในกระบวนการพิจารณาที่เคร่งครัดเป็นพิเศษโดยศาล ในกรณีพิเศษซึ่งการเผยแพร่ดังกล่าวจะเป็นการฟ้องร้องต่อศาลไปในตัว
       
       วรรคที่สอง « Toute personne accusée d'une infraction est présumée innocente jusqu'à ce que sa culpabilité ait été légalement établie » บุคคลที่ถูกกล่าวหาจะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกระทั่งมีบทกำหนดโทษ
       
       วรรคที่สาม « Tout accusé a droit notamment à:
       a. être informé, dans le plus court délai, dans une langue qu'il comprend et d'une manière détaillée, de la nature et de la cause de l'accusation portée contre lui;
       b. disposer du temps et des facilités nécessaires à la préparation de sa défense;
       c. se défendre lui-même ou avoir l'assistance d'un défenseur de son choix et, s'il n'a pas les moyens de rémunérer un défenseur, pouvoir être assisté gratuitement par un avocat d'office, lorsque les intérêts de la justice l'exigent;
       d. interroger ou faire interroger les témoins à charge et obtenir la convocation et l'interrogation des témoins à décharge dans les mêmes conditions que les témoins à charge;
       e. se faire assister gratuitement d'un interprète, s'il ne comprend pas ou ne parle pas la langue employée à l'audience » ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะ a. ได้รับการแจ้งบอกในเวลาอันสั้นโดย
       ภาษาที่เข้าใจได้ในรายละเอียดที่พอเหมาะในเรื่องที่ตนถูกกล่าวหา, b. มีการเตรียมการในระยะเวลาที่เหมาะสมและจำเป็นในการต่อสู้คดี , c. ต่อสู้คดีด้วยตนเองหรือมีผู้ช่วยเหลือในการต่อสู้คดีโดยการเลือกของตนเอง และหากผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความสามารถในการต้อสู้คดีหรือในการหาผู้ช่วยในการต่อสู้คดีดังกล่าว ผู้ต้องหามีสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือโดยไม่คิดมูลค่าในการจัดหาผู้ช่วยในการต่อสู้คดีนั้นๆ , d. เบิกตัวพยานและซักค้านพยานในเงื่อนไขเดียวกับที่พยานฝ่ายตัวได้ถูกเบิกตัวและซักค้าน, e. ได้รับการแปลภาษาหากผู้ถูกกล่าวหาไม่เข้าใจภาษาที่ใช้ในกระบวนพิจารณาคดี
       
       ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงรายละเอียดของ la procès équitable หรือกระบวนการพิจารณาคดี
       อย่างเป็นธรรมโดยยึดถือเอาการตีความตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง เป็นหลัก โดยจะแบ่งการพิจารณาออกเป็นสองส่วน กล่าวคือ ส่วนที่หนึ่งจะกล่าวถึงบทบาทของกระบวนการดังกล่าวในกฎหมายภายในของฝรั่งเศส โดยในส่วนที่หนึ่งนี้ จะขอกล่าวถึงบทบาทในการ “ถูกนำมาใช้” ของกระบวนการดังกล่าวโดยตุลาการศาลปกครองในนามของสภาแห่งรัฐของฝรั่งเศส ซึ่งผู้เขียนได้ยกมาเป็นตัวอย่างไว้สองประการด้วยกัน คือ ในกรณีของ droits de la défense หรือสิทธิในการต่อสู้คดี (4) อันได้รับการยอมรับเป็น “หลักกฎหมายทั่วไปในวิธีพิจารณาความของฝรั่งเศส” ตั้งแต่ปี คศ. 1980 ว่าสิทธิดังกล่าวมีความเหมือนหรือแตกต่างหรือมีการนำมาปรับใช้ในกรณี “แคบ” หรือ “กว้าง” อย่างไรหากเปรียบเทียบกับ la procès équitable หรือกระบวนการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม สำหรับตัวอย่างประการที่สองในส่วนแรกของบทความนี้ ก็คือ ตัวอย่างในเรื่องการนำหลักดังกล่าวมาปรับใช้ในเรื่องของมาตรการหักคะแนนใบขับขี่ในกรณีการดูแลความสงบของตำรวจทางปกครองในการจราจรทางบก ซึ่งจะยกตัวอย่างให้เห็นถึงการรับหลักกฎหมายใหม่เข้ามาแล้วทำให้ระบบเดิมในทางกฎหมายภายในเกิดความสับสนในการปรับใช้ สำหรับในส่วนที่สองของบทความนี้ก็จะขอกล่าวถึงการนำ la procès équitable มาใช้และพบว่ามีความไม่สอดคล้องกับระบบกฎหมายภายในโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการตีความตามตัวอักษร ซึ่งในส่วนนี้เราจะพบว่าศาลฝรั่งเศสเองก็ได้แก้ปัญหาโดยการนำเทคนิคการตีความมาปรับใช้เป็นรายข้อเท็จจริงไป อันมีผลทำให้สามารถนำเอามาตรา 6 วรรคหนึ่งดังกล่าวมาใช้ได้ในกฎหมายภายในได้อย่างเหมาะสมและเอื้อประโยชน์ต่อการคุ้มครองประชาชนมากที่สุด ซึ่งผู้เขียนได้ยกตัวอย่างการตีความดังกล่าวไว้เพียงสองประการอีกเช่นกัน คือ กรณีการตีความประเภทของคดีที่นำมาปรับใช้ และ บทบาทของตุลาการศาลปกครองในการพิจาณาคดีบางประเภทอันมีลักษณะเฉพาะของวิธิพิจารณาคดีปกครองของฝรั่งเศสอันอาจจะก่อให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมหรือไม่เป็นกลางจากการเข้ามามีบทบาทของ “ตุลาการผู้แถลงคดี” ได้
       
       ส่วนที่หนึ่ง การนำ la procès équitable หรือกระบวนการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมมาใช้ในระบบกฎหมายฝรั่งเศส
       
       ในส่วนนี้จะยกตัวอย่างสองประการด้วยกันคือ สิทธิในการต่อสู้คดี หรือ droits de la défense ซึ่งแม้จะเป็นถ้อยคำของกฎหมายที่ได้รับการยอมรับในประเทศฝรั่งเศสมาเป็นระยะเวลานานก็ตาม แต่เป็นถ้อยคำที่แตกต่างจากที่ La Convention Européenne des droits de l’homme หรือปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป ได้รับรองเอาไว้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเสียในเบื้องต้นว่า droits de la défense หรือสิทธิในการต่อสู้คดี มีประวัติ ความเป็นมา บทบาท และมีลำดับศักดิ์เป็นประการใดในระบบกฎหมายฝรั่งเศส โดยผู้เขียนได้เสนอแนวคิดในเรื่องดังกล่าวเอาไว้ในส่วนที่หนึ่ง (1) และในส่วนที่หนึ่ง (2) นั้น ผู้เขียนก็ได้ยกตัวอย่างการปรับใช้ la procès équitable ในคดีปกครองเกี่ยวกับการจราจรทางบก ซึ่งสาเหตุที่ผู้เขียนเลือกเอาคดีดังกล่าวมาเป็นตัวอย่างนั้น ก็เนื่องจากมีความเห็นว่า ระบบการควบคุมการจราจรทางบกของประเทศฝรั่งเศสในการหักคะแนนผู้กระทำผิดกฎหมายนั้นเป็นระบบการควบคุมที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ และยังมีประเด็นล่อแหลมคาบเกี่ยวกันระหว่างการเป็นคดีอาญาและการเป็นคดีปกครอง เนื่องจากมีการลงโทษที่มีการหักคะแนนและค่อนข้างรุนแรงตามความผิดที่ได้กระทำลงไปในแต่ละครั้ง ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่าการหยิบยกคดีลักษณะประเภทดังกล่าวขี้นมาเป็นตัวอย่างในกรณีนี้ นอกจากจะเป็นการสมประโยชน์ในการยกตัวอย่างเรื่องการใช้ droits de la défense หรือ la procès équitable แล้ว ยังมีประโยชน์ต่อเนื่องไปถึงการพิจารณาประเด็นความเกี่ยวโยงกันของคดีอาญาและคดีปกครองของประเทศฝรั่งเศสได้อีกด้วย
       
       (1) สิทธิในการต่อสู้คดี หรือ droits de la défense
       
       สิทธิในการต่อสู้คดี หรือ droits de la défense เป็นสิทธิที่ปรากฎอยู่ในกระบวนวิธีพิจารณาของ
       ประเทศฝรั่งเศสมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ซึ่งสิทธิประการนี้ก็ยังมีปัญหาในการปรับใช้เนื่องจากการยอมรับในระบบกระบวนวิธีพิจารณาของฝรั่งเศสคือ การยอมรับในชื่อที่เรียกว่า droit de la défense หรือสิทธิในการสู้คดี ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่แตกต่างจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 แห่ง La Convention Européenne de Droits de l’Homme หรือ La Convention EDH หรือปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป ซึ่งกล่าวถึงกระบวนการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ดังนั้นการนำหลักการดังกล่าวมาใช้จึงค่อนข้างจะมีปัญหาหากมีการตีความตัวบทกฎหมายดังกล่าว “อย่างเคร่งครัดตามตัวอักษร” อย่างไรก็ดีในส่วนที่หนึ่งนี้ จะเป็นการดีหากจะกล่าวถึงข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดของสิทธิทั้งสองประการ กล่าวคือ la procès équitable หรือกระบวนวิธีพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมนั้น เป็นสิทธิที่ถือว่า ตุลาการศาลปกครองมีบทบาทเป็น “บุคลลที่สาม” ในกระบวนการวิธีพิจารณา ซึ่งบทบาทดังกล่าวส่งผลให้ตุลาการศาลปกครองจะต้องดำเนินการพิพากษาด้วยความเป็นธรรม(condition d’équité) โปร่งใส (transparence) และอยู่ในกระบวนยุติธรรมที่ดี (bonne justice) (5) ในขณะที่นิยามของสิทธิในการต่อสู้คดี หรือ droits de la défense เป็นสิทธิที่เป็นของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายในการต่อสู้คดี ซึงมีอยู่ด้วยกันหลายสิทธิ เช่น สิทธิในการโต้แย้ง การฟังคำพิพากษา หรือ ขอคัดเอกสาร ฯลฯ โดยในรูปคำศัพท์เองได้ใช้คำว่า droits อันมีรูปเป็นพหูพจน์ จึงถือได้ว่าสิทธิในการสู้คดีดังกล่าวมีอยู่ด้วยกันหลายสิทธิ แต่โดยรวมเรียกว่า droits de la défense
       
       สิทธิในการต่อสู้คดี หรือ droits de la défense ดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าเป็นหลักกฎหมายที่มีคุณค่าเทียบเท่ารัฐธรรมนูญ หรือ principe à valeur constitutionnelle (6) แต่ในส่วนของการยอมรับโดยสภาแห่งรัฐของฝรั่งเศสนั้น นอกจากการยอมรับสิทธิในการต่อสู้คดี หรือ droits de la défense ในรูปแบบของ “หลักกฎหมายทั่วไปในวิธิพิจารณาความของฝรั่งเศส” ตั้งแต่ปี คศ. 1980 แล้วนั้น เรายังจะได้พบกับสิทธิอีกประการหนึ่งคือ le principe de contradictoire หรือ สิทธิในการโต้แย้ง (7) อันเป็นสิทธิที่ของคู่ความทั้งสองฝ่ายในการโต้แย้งกัน ซึ่งสิทธิประการดังกล่าวนี้จะเป็นสิทธิที่ปรากฏอยู่อย่างชัดเจนในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลในระบบกล่าวหา กล่าวคือเป็นกรณีที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมีการกล่าวหา และ มีการแก้ต่าง ตลอดจนมีการต่อสู้คดีกันด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การสืบพยาน หรือ การทำคำคัดค้าน หากถือตามสิทธิอันเป็นหัวใจหลักในกระบวนวิธีพิจารณาสิทธินี้ เราจะถือได้ว่าจะไม่มีคู่ความฝ่ายใดถูกพิพากษาโดยมิได้รับการพิจารณาหรือการเรียกเข้าสู่กระบวนการพิจารณา (8) โดยสภาแห่งรัฐเองได้ยอมรับ le principe de contradictoire หรือ สิทธิในการโต้แย้งว่าเป็นข้อบังคับทั่วไปของวิธีพิจารณา (règle général de la procédure) (9) ซึ่งสามารถนำเอามาใช้ได้แม้ในตัวบทกฎหมายดังกล่าวจะไม่ได้บัญญัติเอาไว้ก็ตาม และยิ่งไปกว่านั้น เราจึงอาจถือได้ว่า le principe de contradictoire หรือ สิทธิในการโต้แย้งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในการต่อสู้คดี หรือ droits de la défense
       
       ในกฎหมายระบบกฎหมายภายในของฝรั่งเศสเองได้มีการยอมรับหลัก le principe de contradictoire ไว้ในกระบวนการของการร้องอุทธรณ์ตามมาตรา 58 แห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (La code de procédure pénal) ในขณะที่ทางคำวินิจฉัยของสภารัฐธรรมนูญ (le conseil constitutionnel) ของฝรั่งเศสเองกลับถือว่าสิทธิในการต่อสู้คดี หรือ droits de la défense มีศักดิ์อยู่ในระดับของ Les principes fondamentaux reconnus par les lois de la république (หรือตัวย่อ PPFRL) อันหมายความถึงหลักกฎหมายพื้นฐานที่ได้รับการรับรองจากบรรดากฎหมายแห่งสาธารณรัฐ (10) ซึ่งมีผลให้ในการดำเนินการทางวิธีพิจารณาคดีในศาลใดจะต้องยึดถือกระบวนการดังกล่าวเสมอ มิพักเพียงแต่การยึดถือในนามของ le principe de contradictoire ในศาลอาญาตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น หรือในฐานะที่เป็น droits de la défense ในกระบวนการพิจารณาคดีปกครองในระบบศาลพิเศษในเรื่องการแข่งขันทางการค้า (la concurrence) แต่ยังหมายถึงการปรากฎชัดในการปรับปรุงกฎหมาย la loi du 24 août 1993 ในเรื่องของการเปิดโอกาสให้มีสิทธิในการเข้าพบทนายความในขณะที่ถูกการดำเนินการควบคุมตัว (garde à vue) อีกด้วย ซึ่งในส่วนของการปรับปรุงกฎหมาย la loi du 24 août 1993 ก็ได้มีอิทธิพลในการพัฒนาระบบวิธีพิจารณาความแพ่งในศาลยุติธรรมอีกประการหนึ่งด้วย
       
       (2) การปรับใช้ในกรณีการจราจรทางบก
       

       ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ในส่วนที่หนึ่ง (2) นี้จะมีการกล่าวถึงคดีอาญาที่มีความเกี่ยวพันกับคดีปกครอง ดังนั้นผู้เขียนจึงมีความจะเป็นที่จะต้องกล่าวถึง การคุ้มครองทางกฎหมายอาญาที่ปรากฎใน La Convention Européenne de Droits de l’Homme หรือ La Convention EDH หรือปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป ในบางประการ อาทิเช่น การคุ้มครองตามมาตรา 4 ของ protocole ลำดับที่ 7 ในเรื่องการลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญา ว่าบุคคลจะไม่ได้รับการลงโทษทางอาญาสองครั้งในความผิดครั้งเดียว หรือ หลัก non bis in idem ตามสุภาษิตกฎหมายโรมัน (11) คดีที่วางหลักในกรณีนี้คือ คดีของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปในข้อพิพาทระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศออสเตรีย ข้อเท็จจจริงในคดีนี้มีว่าบุคคลใดที่ได้เคยถูกลงโทษอาญาโดยศาลอาญาของออสเตรียแล้ว จะสามารถถูกลงโทษทางปกครองโดยองค์กรทางปกครองของฝรั่งเศสได้หรือไม่ โดยการลงโทษทางปกครองดังกล่าวเป็น “โทษทางปกครอง” ที่ปญิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษญชนยุโรปถือเป็น “โทษทางอาญา” เพื่อประสิทธิภาพในการบังคับใช้มาตรา 6 ในกฎหมายภาคในของแต่ละประเทศ (12) ซึ่งในคดีนี้ดังกล่าวศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้ตัดสินไว้อย่างน่าสนใจว่า การลงโทษดังกล่าวถือเป็นการลงโทษที่แตกต่างกัน แต่เป็นการพิจารณาจากข้อเท็จจริงเดียวกัน นอกจากนั้นศาลยังถือว่าหลัก non bis in idem หรือบุคคลจะไม่ได้รับการลงโทษทางอาญาสองครั้งในความผิดครั้งเดียว นั้นบังคับใช้ได้ในระบบการลงโทษทางอาญาของกฎหมายออสเตรีย แต่ศาลเองถือว่าการลงโทษทางปกครองโดยองค์กรฝ่ายปกครองของฝรั่งเศสถือเป็นการลงโทษ “ครั้งใหม่” แต่เนื่องจากเป็นการลงโทษ “ครั้งใหม่” ในคดีปกครองที่อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงเดิม การลงโทษดังกล่าวจึงต้องห้ามตามมาตราดังกล่าว
       
       แต่ในระบบกฎหมายภายในของฝรั่งเศสเอง สภาแห่งรัฐ (Conseil d’Etat) ได้พิจารณาคดีนี้แล้วเห็นว่าการตีความดังกล่าวเป็นการตีความกฎหมายตามมาตรา 4 ของ protocole ลำดับที่ 7 ซึ่งเป็นการคุ้มครองสิทธิในประเภทสิทธิของพลเมืองและการเมืองอันมิได้อยู่ในขอบเขตที่จะไม่สามารถสงวนซึ่งการตีความได้ ดังนั้นฝรั่งเศสจึงไม่จำเป็นที่จะต้องยอมรับการตีความดังกล่าว ฝรั่งเศสจึงสามารถกำหนดโทษในทางปกครองในคดีนี้อันเป็นคดีเกี่ยวกับการไม่ชำระภาษีโดยไม่สุจริตได้อีกกรณีหนึ่ง นอกเหนือไปจากโทษทางอาญาที่บุคคลดังกล่าวได้รับมาแล้วโดยศาลออสเตรีย
       
       ข้อเท็จจริงที่ได้จากคดีพิพาทระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศออสเตรียดังกล่าวสามารถนำมาปรับใช้ได้กับกรณีการหักคะแนนผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะอันเป็นมาตรการหนึ่งในการรักษาความปลอดภัยบนท้องถนนของตำรวจทางปกครอง
       
       ในระบบการควบคุมการจราจรทางบกของฝรั่งเศสได้ให้อำนาจการพิจารณาโทษของการกระทำผิดกฎจราจรในกรณีต่างๆไว้กับผู้ว่าการจังหวัด (le préfet) (13) ในการลงโทษภาคทัณฑ์ (suspendre) ในระยะเวลาไม่เกินหกเดือนในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการจราจรทางบกที่เป็นความผิดทั่วไป (façon général) และการการลงโทษภาคทัณฑ์ (suspendre) ในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี สำหรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการจราจรทางบกที่ถือเป็นโทษร้ายแรง ทั้งนี้ถือตามที่ Code de la route หรือประมวลกฎหมายเกี่ยวกับการจราจรทางบก (14) วางหลักไว้ นอกจากนี้ ผู้ว่าการจังหวัดยังมีอำนาจในการยึดใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ได้อีกด้วย ในกรณีฉุกเฉินการพิจารณาลงโทษภาคทัณฑ์ดังกล่าวสามารถภาคทัณฑ์ได้โดยมีกำหนดไม่เกินสองเดือน โดยถือตามความเห็นของคณะกรรมการการลงโทษภาคทัณฑ์ (15) ซึ่งได้เคยมีความเห็นที่จะทำให้ระบบการลงโทษภาคทัณฑ์ดังกล่าวถูกพิจารณาโดยหน่วยงานทางปกครองอิสระ ( une autorité administrative indépendante) แต่สุดท้ายความคิดดังกล่าวก็ไม่เป็นผล เนื่องจากระบบการพิจารณาเรื่องการลงโทษ อันหมายความรวมถึงความรวดเร็วในการพิจารณาโทษและความหนักเบาของการลงโทษแบบเก่าและแบบใหม่ รวมทั้งถึงการขาดแคลนบุคลากรที่มีความชำนาญในการพิจารณาดคีประเภทดังกล่าวเป็นการเฉพาะอีกด้วย
       
       สำหรับโทษในการ การลงโทษภาคทัณฑ์ (suspendre) ซึ่งมีจำนวนไม่มากนักต่อปี มีระบบการลงโทษโดยเริ่มจากการปรับ หรือ procédure de l’amande forfaitaire (16) ซึ่งจะมีเป็นระดับจนถึงการปรับระดับที่สี่แล้วจะเปลี่ยนแปลงเป็นการลงโทษแบบอื่น เช่น การบังคับให้ไปเรียนกฎจราจรใหม่ หรือ การหักคะแนนผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะ เป็นต้น
       
       ระบบการหักคะแนนผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะได้ประกาศใช้ครั้งแรกในวันที่ 10 กันยายน 1989 ซึ่งถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้ร่วมใช้ถนนและทางหลวง ผู้ขับขี่ยวดยานจะมีคะแนนเต็มทั้งหมดสิบสองคะแนน โดยการลงโทษหักคะแนนดังกล่าวอาจเป็นการลงโทษหักคะแนนเพียงอย่างเดียว หรือมีโทษทางอาญาอื่นประกอบด้วยก็ได้ ในทางเดียวกัน ผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะจะมีสิทธิได้รับคะแนนใหม่(ภายหลังจากโดนหักคะแนนไปแล้ว ได้โดยการเข้าทำการอบรมการขับขี่ยวดยานพาหนะ) มาตรการการพิจารณาหักคะแนนจะโดยเริ่มต้นที่การประกาศโทษทางอาญา หรือ การชำระค่าปรับโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (le ministre de l’Intérieur) หากผู้ขับขี่ยวดยานหาหนะผู้ใดถูกหักคะแนนจนหมด ก็เป็นหน้าที่ของผู้ว่าการรัฐในการยกเลิกใบอนุญาตขับขี่ดังกล่าว
       
       ความยุ่งยากในกรณีการหักคะแนนผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะมีอยู่ที่ว่าการพิจารณาหักคะแนนโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถือเป็นการกระทำทางปกครอง (les actes administratifs) ซึ่งการยกเลิกเพิกถอน หรือการฟ้องการกระทำการดังกล่าวต้องเป็นการฟ้องในเรื่องของการเพิกถอนการกระทำทางปกครอง (le recours excès de pouvoir) (17) ซึ่งผลของการพิจาณาหักคะแนนดังกล่าวจะมีผลให้ผู้ว่าการรัฐพิจารณาเพิกถอนใบขับขี่ ดังนั้นหากการพิจาณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีข้อผิดพลาด ก็จะยังเป็นผลให้การพิจารณาของผู้ว่าการรัฐไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าการพิจารณา “โทษ” ดังกล่าวเป็นการพิจารณาโทษทางอาญา แต่ใช้ระบบการพิจารณาให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งหากปรับข้อเท็จจริงดังกล่าวกับถ้อยคำตามมาตรา 6 วรรคหนึ่งที่กล่าวไปแล้วจะเห็นได้ว่ามีข้อขัดข้องในการตีความตามกฎหมายภายในอยู่สองประการ คือ เรื่องของการตีความโทษดังกล่าวว่าเป็นโทษทางอาญา อันจะส่งผลให้การพิจารณาความผิดตามโทษดังกล่าวได้เพียงครั้งเดียว แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วอาจจะต้องมีการพิจารณาคดีสองครั้งในข้อเท็จจริงเดียวกัน กล่าวคือ การพิจารณาค่าปรับแบบคดีอาญา และ การพิจารณาการกระทำดังกล่าวในเรื่องของการเพิกถอนการกระทำทางปกครอง ซึ่งหากถือตามคำพิพากษาคดีพิพาทระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศออสเตรียดังที่ยกมากล่าวไว้ข้างต้น จะเห็นว่ามีข้อขัดข้องในการปรับใช้ในกฎหมายภายในอยู่มิน้อย
       
       ข้อขัดข้องในการตีความตามกฎหมายภายในประการที่สองก็คือ การพิจารณา “โทษ" ของผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะดังกล่าว ได้กระทำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งอาจไม่อยู่ในความหมายของ tribunal หรือองค์กรทางด้านตุลาการในความหมายของมาตรา 6 วรรคหนึ่งดังกล่าว อันจะส่งผลให้การพิจารณาโทษของรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยมิจำต้องคำนึงถึงการละเมิด la procès équitable ตามข้อความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง
       
       ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปยืนยันเสมอว่าการพิจารณาโทษการหักคะแนนของผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะของฝรั่งเศสจะต้องเป็นการพิจารณาที่สอดคล้องกับมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งปญิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรปโดยตีความว่า โทษปรับหักคะแนนดังกล่าวถือเป็น โทษทางอาญา (une accusion de matière pénale) แม้ว่าการหักคะแนนดังกล่าวในบางกรณีจะเป็นการหักคะแนนเพื่อเป็นการเตือนมิให้กระทำผิดก็ตาม แต่ก็ถือว่ามีลักษณะของการให้โทษทางอาญาแล้ว (18) แต่สำหรับการปฏิบัติตามกฎหมายภายในของฝรั่งเศสเอง พบว่าการตีความของสภาแห่งรัฐได้มีการกลับหลักหลายครั้ง ยกตัวอย่างเช่น ในคดี Mouvement de défense des automobilistes du 8 décembre 1995 (19) สภาแห่งรัฐได้พิจารณาว่าโทษการหักคะแนนดังกล่าวไม่ถือเป็นโทษทางอาญา แต่ในอีกสี่ปีถัดมาในคดี Rouxel du 27 septembre 1999 (20) สภาแห่งรัฐกลับวางหลักว่าการหักคะแนนดังกล่าวถือเป็นโทษทางอาญา สำหรับในประเด็นการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นั้น สภาแห่งรัฐเองก็เคยได้ตีความว่า การพิจารณาโทษดังกล่าวถือเป็นเพียงการกระทำทางยุติธรรม ( un relèvement judiciaire) โดยไม่ถือเป็นการพิจารณาโทษทางอาญา แต่ในบางคำพิพากษาเอง สภาแห่งรัฐก็ได้ตีความโดยเปิดช่องให้ผู้ฟ้องคดีสามารถอ้าง มาตรา 6 วรรคหนึ่งดังกล่าวมาใช้ได้ในส่วนของ “การพิจารณาความเป็นธรรมในการกำหนดความรุนแรงของโทษ” แทน ยิ่งไปกว่านั้นผู้เสียหายในกรณีดังกล่าวยังสามารถฟ้องร้องต่ององค์กรทางปกครองในคดีการเพิกถอนการกระทำทางปกครอง (le recours pour excès de pouvoir) ได้อีกประการหนึ่งด้วย
       
       ส่วนที่สอง การนำ la procès équitable มาใช้และเทคนิคการตีความเพื่อแก้ปัญหาในการปรับใช้
       

       ในส่วนนี้ผู้เขียนได้ทำการหยิบยกตัวอย่างในการนำ la procès équitable มาใช้ในระบบกฎหมายปกครองของฝรั่งเศสในส่วนของการตีความการเป็น “คดีแพ่ง” หรือ “คดีอาญา” ตามถ้อยคำในมาตรา 6 ดังกล่าว ซึ่งในประเด็นนี้จะเห็นได้ว่ามีการนำแนวความคิดกฎหมายในเรื่องการตีความตามตัวอักษรหรือการตีความตามเจตนารมณ์เพื่อให้กฎหมายฉบับนั้นๆ มีผลใช้บังคับได้จริงมาเกี่ยวข้องด้วย โดยผู้เขียนได้เสนอรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวเอาไว้บ้างแล้วในเรื่องการตีความโทษทางอาญาในเรื่องของการหักคะแนนผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และจะขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมในคดีบางประเภทไว้ในส่วนที่สอง (1) และนอกไปจากการตีความประเภทของคดีแล้ว การนำ la procès équitable ตามมาตราดังกล่าวมาใช้ยังมีปัญหาวิธีพิจารณาของคดีปกครองแบบพิเศษ นั่นก็คือ ในกรณีการดำเนินการทางวินัย (contentieux disciplinaires) การดำเนินการของกรรมการจัดการตลาดหลักทรัพย์ ( la Commission des Opérations de Bourse หรือ COB ) การดำเนินการของสภากำกับตลาดเงิน ( Le Conseil de marchés financières) และยังหมายความรวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของตุลาการผู้แถลงคดีในคดีปกครองทั่วไป
       
       (1) กรณีการตีความประเภทของคดีที่นำมาปรับใช้
       
       ถ้อยคำในมาตรา 6 ได้กล่าวถึงประเภทคดีที่เกี่ยวข้องเพียงสองประเภท คือ คดีแพ่งและคดีอาญาโดย
       ใช้ถ้อยคำสำหรับคดีแพ่งว่า « contestations portant sur des droits et obligations de caractère civil » อันมีความหมายถึง ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ทางแพ่ง และใช้ถ้อยคำสำหรับคดีอาญาว่า « accusation en matière pénale » อันมีความหมายถึง ข้อกล่าวหาในทางอาญา ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า หากตีความตามตัวอักษรแล้ว มาตรา 6 ดังกล่าวไม่กินความรวมถึงคดีปกครองและคดีปกครองพิเศษในระบบศาลฝรั่งเศส อาทิ คดีเกี่ยวกับภาษี หรือ คดีเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย (contentieux disciplinaire)
       
       แต่ในทางปฎิบัติเอง กรณีการนำมาตรา 6 มาใช้ในกฎหมายภายในนี้ ฝรั่งเศสได้กลับใช้แนวคำพิพากษา (jurisprudence) ในการตีความคดีปกครองในประเภทต่างๆให้ “เข้า” กับการบังคับใช้มาตรา 6 ทั้งนี้โดยมีจุดประสงค์เพื่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มากที่สุดและเพื่อเป็นการควมคุมการพิจารณาคดีของศาลให้เป็นธรรมมากยิ่งขึ้นโดยทางอ้อม โดยศาลฝรั่งเศสได้ให้เหตุผลการตีความประภทของคดีปกครองบางประเภทเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาแตกต่างกันไป ดังที่จะได้ยกตัวอย่างมาให้ดูในบางประเภท อาทิ
       
       (1) คดีเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย (le contentieux disciplinaire) ถือเป็นคดีใน
       เงื่อนไขตาม « contestations portant sur des droits et obligations de caractère civil » คือ ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ทางแพ่ง (21)
       
       (2) คดีเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยของสภากำกับตลาดเงิน ( Le Conseil de
       marchés financières) (22) ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีอยู่ว่า นาย Didier ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (carte professionnelle) เป็นเวลาหกเดือน นาย Didier จึงได้มาฟ้องขอค่าเสียหายในกรณีถูกเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวเป็นจำนวนห้าล้านฟรังก์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาว่ารูปแบบคดีของนาย Didier ดังกล่าวถือเป็น « contestations portant sur des droits et obligations de caractère civil » อันมีความหมายถึง ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ทางแพ่ง หรือ « accusation en matière pénale » อันมีความหมายถึง ข้อกล่าวหาในทางอาญา หรือไม่
       
       ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปได้วางหลักในการพิจารณาว่าคดีประเภทใดควรจะเป็น “คดีอาญา"”ในความหมายของมาตรา 6 เอาไว้ว่าต้องมีองค์ประกอบด้วยกันสามประการ กล่าวคือ มีการลงโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายภายในอันมีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดโทษแบบอย่างกว้างของกฎหมายอาญาทั่วไป มีลักษณะที่เป็นส่วนประกอบของการควบคุมและการลงโทษ และในประการสุดท้าย การลงโทษดังกล่าวจะต้องเป็นการลงโทษในการตักเตือนไม่ให้กระทำอีก
       
       ศาลได้ปรับหลักกฎหมายดังกล่าวกับกรณีการเรียกค่าเสียหายจากการยึดใบอนุญาตของนาย Didier และท้ายสุดศาลได้วางหลักไว้ในคดีของนาย Didier ไว้ว่าคดีดังกล่าวถือเป็นคดีอาญา โดยให้เหตุผลว่าคือเป็นข้อพิพาทในกรณีที่เกี่ยวกับการเรียกเงินค่าปรับอันเป็นโทษทางอาญา เพราะเงินค่าปรับดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกค่าปรับเมื่อเกิดโทษแล้ว (คือการยึดใบอนุญาต) และรวมถึงเป็นการเรียกค่าปรับที่ไม่ได้เป็นไปในกรณีปกติ อันเป็นกรณีที่ต่างจากการเรียกค่าปรับในกรณีชดเชยค่าเสียหายหรือในทางบำบัดความเสียหายที่มีขึ้นและไม่สามารถทำการบำบัดในกรณีอื่นได้ยกเว้นในทางตัวเงิน
       
       (3) ในกรณีเกี่ยวกับภาษีอากร (fiscal) ศาลตีความว่าเป็นกรณีคดีอาญาอีกเช่นกันหากเป็นกรณีการหลีกเลี่ยงไม่ชำระภาษีโดยมีเจตนาไม่สุจริต (23) หรือในกรณีมีการกำหนดโทษในด้านภาษี ซึ่งการกำหนดโทษดังกล่าวก่อให้เกิดผลในการในการขัดขวางกระบวนการในการดำเนินการทางภาษีอันมิใช่เป็นเพียงการเรียกให้ชำระค่าปรับธรรมดา (24) ซึ่งจากข้อเท็จจริงในคดีนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าการที่ศาลตีความคดีปกครองดังกล่าวเป็น “คดีอาญา” นั้น อาจจะเป็นเพราะว่าได้มีการพิสูจน์เจตนาถือความมี “เจตนาไม่สุจริต” อันเป็นองค์ประกอบตามทฤษฎีความผิดของระบบกฎหมายอาญาในประการหนึ่ง และได้แยกแยะการชำระค่าปรับในกรณีธรรมดา เช่น การชำระค่าปรับในกรณีชำระภาษีล่าช้า หรือ การชำระค่าปรับในการชำระเงินภาษีไม่ครบถ้วน ว่าเป็นการชำระค่าปรับในกรณีที่แตกต่างกับการชำระค่าปรับในกรณีที่เกิด “โทษ” ขึ้นมาแล้ว ดังกรณีการไม่ชำระภาษีโดยเจตนาไม่สุจริต เป็นองค์ประกอบอีกประการหนึ่งในการพิจารณาประเภทและลักษณะของคดี
       
       (4) ในกรณีเกี่ยวกับการดำเนินการของ la Commission des opérations de Bourse (COB) หรือ กรรมการจัดการหลักทรัพย์ ซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรอิสระทางปกครอง (une autorité administrative indépendente) ศาลถือว่ากรณีการเรียกค่าเสียหายจากการดำเนินการดังกล่าวของ COB ถือเป็นคดีอาญาเช่นเดียวกัน โดยให้เหตุผลในทางเดียวกับกรณีคดีภาษี (25)
       
       (2) ปัญหาการปรับใช้ในคดีปกครองแบบพิเศษและ/หรือแบบทั่วไป
       
       นอกเหนือไปจากการความแตกต่างกับ droit de la défense ตามกฎหมายภายใน และยกตัวอย่างการปรับใช้ตามกฎหมายภายในตัวอย่างคดีประเภทการการหักคะแนนในส่วนของตำรวจทางปกครอง, การตีความการประเภทของคดี ประเด็นสุดท้ายที่ควรนำมาพิจารณาในกรณีนี้คือ ความเกี่ยวข้องของหลัก équité กับการดำเนินการในส่วนของวิธิพิจารณาคดีปกครองในระบบคดีปกครองแบบพิเศษและ/หรือแบบทั่วไป ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาคดีในระบบใด สิ่งที่ต้องตระหนักถึงเสมอในกรณีนี้ คือ ปัญหาการปรับใช้ในคดีปกครองแบบพิเศษหรือแบบทั่วไป นี้ ตั้งอยู่บนสมมติฐานของสุภาษิตกฎหมาย anglo-saxon ที่กล่าวว่า « justice must not only be done, it must also be seen to be done » อันสามารถถอดความได้ว่าการดำเนินการทางยุติธรรมนั้นต้องมิใช่เพียงแต่การดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนพิจารณาด้วย
       
       “การมีส่วนร่วม” ในกระบวนการพิจารณาอาจจะมีหลายวิธีด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น การเปิดเผยต่อสาธารณชน หรือ la publicité des audiences ซึ่งสอดคล้องกับทั้งตามมาตรา 6 วรคคหนึ่งและตามกฎหมายภายในของฝรั่งเศสเอง โดยสภาแห่งรัฐยังไม่ถือว่าการเปิดเผยต่อสาธารณชนดังกล่าวถือเป็นหลักทั่วไปทางกระบวนวิธีพิจารณา (une règle général de procédure) แต่อย่างไรก็ดี หลักดังกล่าวก็มีประเด็นในการปรับใช้ในกรณีของแพทย์ (ตาม décret n° 93-181 du 5 février 1993) (26) กรณีของศาลภาษี (la cour des comptes) และในกรณีทางวินัย (la matière disciplinaire) ว่าการเปิดเผยต่อสาธารณชนดังกล่าวถือเป็นการต้องห้าม
       
       ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้ก็คือ การปรับใช้ในกรณีของ la Commission des opérations de Bourse (COB) หรือกรรมการจัดการตลาดหลักทรัพย์ ว่ากระบวนการพิจารณาคดีของกรรมการจัดการตลาดหลักทรัพย์เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิในการต่อสู้คดี หรือ droits de la défense หรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้แนวคำวินิจฉัยของฝรั่งเศสถือว่า การพิจารณาคดีโดย la Commission des opérations de Bourse (COB) ถือเป็นการพิจารณาคดีประเภทเดี่ยวกับการพิจารณาคดีอาญา กล่าวคือมีการกำหนดโทษรวมทั้งมีประเด็นที่เกี่ยวพันในเรื่องของผลประโยชน์ของสังคมด้วย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่การพิจารณาคดีโดย la Commission des opérations de Bourse (COB)หรือกรรมการจัดการตลาดหลักทรัพย์ ดังกล่าวจะต้องเคารพตาม droits de la défenseหรือสิทธิในการต่อสู้คดี ด้วยประการหนึ่ง
       
       สำหรับในกรณีกระบวนวิธีพิจารณาของ le Conseil des marchés financiers หรือสภากำกับตลาดเงินนั้น โดยหลักการถือว่าการดำเนินการขององค์กรดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการกึ่งทางศาล (quasi-juridictionnalisation) ซึ่งเป็นองค์กรที่แบ่งแยกจากองค์กรปกครองอิสระในด้านการดำเนินการทางวินัย (les autorités administratives indépendantes des juridictions disciplinaire) ซึ่งภายในกฎหมายภายในเองมิได้มีบทบัญญัติใดกล่าวถึงการมีสภาพเป็นองค์กรกึ่งศาลดังกล่าว แต่โดยแท้จริงแล้ว le Conseil des marchés financiers มีสภาพเป็น “ศาล” โดยถือตามกฎหมายจัดตั้งว่าคณะกรรมการในสภาดังกล่าวจะต้องมีลักษณะเป็นองค์คณะและมีอำนาจในการลงโทษบุคคลได้ รัฐบัญญัติฉบับ 3 octobre 1996 เองก็ถือว่าคดีที่ฟอ้งเกี่ยวกับการดำเนินงานของ le Conseil des marchés financiers ว่าเป็นคดีในประเภทการร้องขอต่อศาลที่มีอำนาจเต็ม (recours de pleine juridiction) อันมีผลทำให้การยื่นฟ้องต่อสภาแห่งรัฐถือเป็นการยื่นอุทธรณ์
       
       แต่ในทางเดียวกันสภารัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสเองก็ได้วางหลักว่า le Conseil de la concurrence สภาควบคุมการแข่งขันทางการค้า, le Conseil supérieur du l’audiovisuel สภาวิทยุกระจายเสียง (27) และ la Commission des opérations de Bourse กรรมการจัดการตลาดหลักทรัพย์ ไม่มีลักษณะของการเป็นองค์กรยุติธรรม (caractère juridictionnel) แม้ว่าองค์กรทั้งสามองค์กรดังกล่าวจะมีอำนาจในการกำหนดโทษก็ตาม ทั้งนี้สภาแห่งรัฐถือว่าการกำหนดโทษดังกล่าวขององค์กรทั้งสามองค์กรเป็นการกำหนดโทษที่มีกฎหมายกำหนดเอาไว้โดยชัดแจ้งแล้ว และการกำหนดโทษในแต่ละประเด็นก็เป็นการกำหนดชนิดของโทษตามที่กฎหมายได้บัญญัติเอาไว้เป็นกรณีโดยชัดแจ้ง อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ โทษที่กำหนดโดยกฎหมายดังกล่าวก็ยังเป็นโทษที่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นกฎหมายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงส่งผลให้โทษดังกล่าวเป็นโทษที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วยอีกประการหนึ่ง
       
       สำหรับประเด็นปัญหาในเรื่องของการเข้ามามีส่วนร่วมของตุลาการผู้แถลงคดี (rapporteur) ว่าจะเป็นการขัดต่อความเป็นกลาง (l’impartialité) ของการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือไม่นั้น ในส่วนนี้สภาแห่งรัฐได้วางหลักไว้ว่าจะต้องพิจารณาบทบาทของตุลาการผู้แถลงคดีในแต่ละการดำเนินกระบวนพิจาณาไป ตัวอย่างเช่น ในการพิจารณาคดีของ le Conseil des marchés financiers หรือ สภากำกับตลาดเงิน ตุลาการผู้แถลงคดีจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในวิธีพิจารณาคดีโดยมีบทบาทเป็นผู้ชี้แจง (instruction) ในคดีดังนั้นตุลาการผู้แถลงคดีดังกล่าวจึงมีบทบาทในการชักจูงการดำเนินการทางคดีดังกล่าว ตุลาการผู้แถลงคดีสามารถขอเข้าดูและ/หรือตรวจสอบเอกสารต่างๆได้ทุกประเภท รวมทั้งมีอำนาจในการสอบถามบุคคลผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งมีอำนาจในการแก้ไขข้อเท็จจริงจากการสรุปสำนวนที่ผิดพลาด
       
       หรือจะเป็นบทบาทของตุลาการผู้แถลงคดีในคดีทางวินัยของ le Conseil national de l’ordre des médécins หรือแพทยสภาแห่งชาติ ซึ่งถือว่าตุลาการผู้แถลงคดีถือเป็นหนึ่งในองค์คณะที่มีอำนาจในการตรวจแก้ไขคำฟ้องดังกล่าวด้วย ตุลาการผู้แถลงคดีในคดีดังกล่าวมีอำนาจรวมไปถึงการสอบพยานและการดำเนินการอย่างใดๆที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี รวมทั้งมีหน้าที่ในการแสดงเอกสารหลักฐานข้อเท็จจริงต่างๆในวันพิจารณา จึงเห็นได้ว่า ในกรณีนี้ตุลาการผู้แถลงคดีมีอำนาจไม่ต่างจากตุลาการหนึ่งในองค์คณะ
       
       จากตัวอย่างทั้งสองประการจะเห็นได้ว่า องค์คณะสามารถรับฟังเอกสารหลักฐาน ตลอดจนการให้ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีได้ เราจึงอาจะกล่าวได้ว่าหลักความเป็นกลางหรือ l’impartialité เองไม่ได้ห้ามการเข้าร่วมในกระบวนวิธีพิจาณาของตุลาการผู้แถลงคดี แต่หากเป็นการห้ามการเข้ามามีส่วนร่วมของตุลการผู้แถลงคดีในขั้นตอนของการดำเนินการก่อนการตัดสินหรือการลงคะแนนเสียงเท่านั้น จึงสามารถสรุปได้ว่าหลักเรื่องความเป็นกลางหรือ l’impartial นั้น ต้องห้ามเฉพาะในกรณีการชี้นำของตุลาการในคดีหรือการลงมติคะแนนเสียงเท่านั้น แต่มิได้ต้องห้ามในกรณีการสอบพยาน ตรวจสอบเอกสาร อันเป็นหน้าที่ที่กฎหมายให้อำนาจไว้ อนึ่ง ในเรื่องดังกล่าวจะเห็นได้ว่า บทบาทของตุลาการเป็นบทบาทที่ปรากฎชัดในระบบการพิจารณาแบบไต่สวน อันเป็นเอกลักษณ์ของระบบวิธีพิจารณาคดีปกครองของฝรั่งเศส จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่าการนำหลักในเรื่องความเป็นกลาง หรือ l’impartial อันเป็นหลักที่เป็นจุดเด่นของระบบวิธีพิจารณาคดีแบบกล่าวหา กล่าวคือ ตุลาการทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินอย่างเดียว โดยยกบทบาทในการแสวงหาข้อเท็จจริงให้เป็นหน้าที่ของทนายความของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย และมีการดำเนินกระบวนพิจารณาในการสืบพยานจากการเสนอของทนายความของคู่กรณีแต่ละฝ่าย การนำหลักเรื่องความเป็นกลางดังกล่าวมาใช้ในระบบกฎหมายที่แตกต่างกันจึงย่อมจะทำให้เกิดผลและข้อยกเว้นที่แตกต่างกันได้
       
       บทสรุป
       

       ศาสตราจารย์ Hauriou ได้กล่าวว่ากฎหมายปกครองฝรั่งเศสเป็นกฎหมายที่อยู่บนพื้นฐานของหลักความเป็นธรรม ที่สร้างขึ้นมาโดยถือเอกสิทธิ์ของฝ่ายปกครองเป็นหลัก และมีจัดการการปฏิบัติการทางกฎหมายโดยใช้ทฤษฎีเรื่องการกระทำทางปกครองเป็นเครื่องมือ (28) จึงอาจถือได้ว่าหลักในเรื่อง équité ดังกล่าวถือเป็นหลักที่ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตุลาการอันมีหน้าที่ในการตัดสินคดีความจะต้องยึดถือ ซึ่งความเป็นธรรมในกรณีนี้มิได้มีความหมายเพียงความเป็นธรรมทางธรรมชาติ หรือความเป็นธรรมที่ก่อให้เกิดกฎหมายลายลักษณ์อักษรเพียงเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงความเป็นธรรมที่ได้จากการประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรือ ความเป็นธรรมที่สร้างสมมาจากประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพกฎหมาย ตลอดจนการปฏิบัติการทางอาชีพที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมดังกล่าว ซึ่งหากเป็นกรณีประการหลังแล้ว เราจึงอาจถือได้ว่า หลัก équité เป็นหนึ่งในที่มาของคำพิพากษา
       
       เราจึงยังสามารถแยกหลักความเป็นธรรม หรือหลัก équité ดังกล่าว ได้ออกเป็นสองประเภทด้วยกัน กล่าวคือ หลักความเป็นธรรมโดยบทบาทของตุลาการ (rôle du juge) และ หลักความเป็นธรรมโดยกฎเกณฑ์ของกฎหมาย (règle de droit) โดยจากมาตรา 6 วรรคหนึ่งแห่ง La Convention Européenne de Droits de l’Homme หรือ La Convention EDH หรือปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป อันเป็นข้อเขียนในบทความชิ้นนี้ นั้น เราอาจถือได้ว่าเป็นการที่กฎหมายกำหนดบทบาทของตุลการในเรื่อง équité หรือการพิจาณาคดีอย่างเป็นธรรมเอาไว้อย่างชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร อันอาจถือได้ว่าเป็นการเคารพ équité ในประเภทหลักความเป็นธรรมโดยกฎเกณฑ์ของกฎหมาย (règle de droit) แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่า ตุลาการจะมีหน้าที่ในการเคารพหลักความเป็นธรรมตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เพราะตุลาการยังมีหน้าที่ในการต้องเคารพความเป็นธรรมโดยบทบาทของตุลาการ หรือ rôle du juge อีกประการหนึ่งด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้ก็คือหลักเรื่องความรับผิดของฝ่ายปกครอง (les responsabilité de la puissance publique) หรือ ในเรื่องความรับผิดในกรณีที่ไม่มีความผิด ( la responsabilité sans faute) ซึ่งเดิมไม่มีกฎหมายบัญญัติในเรื่องความรับผิดทั้งสองประการเอาไว้ แต่ภายหลังเป็นหลักที่ถูกสร้างมาจากตุลาการศาลปกครองเอง และเป็นที่ยอมรับต่อมาในทฤษฎีกฎหมายปกครองฝรั่งเศส
       
       บทบาทของตุลาการกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมจึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่การศึกษากฎหมายปกครองควรให้ความสนใจ ทั้งนี้นอกเหนือไปจากเหตุผลในด้านการคุ้มครองประชาชนผู้เสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การศึกษาทฤษฎียังกล่าวยังมีแง่มุมให้พิจารณาถึงการนำเอาหลักกฎหมายตามข้อตกลงของนานาประเทศมาใช้บังคับในแต่ละประเทศซึ่งมีระบบกฎหมายที่แตกต่างกัน รวมถึงเทคนิคการตีความทั้งโดยที่เป็นการขยายความให้สามารถปรับใช้ได้โดยกล้างขึ้น และการตีความโดยทำให้เกิดอุปสรรคในการปรับใช้กฎหมาย อันถือเป็นเทคนิคที่ตุลาการและรวมไปถึงผู้ใช้กฎหมายควรนำมาศึกษาไว้เป็นตัวอย่าง
       
       เชิงอรรถ
       
1. คำแปลความหมายตามตัวอักษรโดยผู้เขียน
       2. การถอดความดังกล่าว ผู้เขียนได้ถอดความโดยอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจโดยส่วนตัวและความขาดแคลนเอกสารการเปรียบเทียบถ้อยคำเทคนิคทางกฎหมายอันอาจจะมีการแปลคำเฉพาะบางคำไว้เป็นที่ยุติแล้ว ดังนั้นจึงอาจถือได้ว่าการถอดความดังกล่าวและบทแปลจากภาษาต่างประเทศนี้เป็นเพียงเอกสารข้อความทางกฎหมายที่ยังไม่มีความสมบูรณ์ทางวิชาการนัก หากผู้อ่านท่านใดมีข้อสงสัยหรือประสงค์จะบอกกล่าวการแปลคำศัพท์ตลอดจนความบิดเบือนของภาษาที่ผู้เขียนใช้ รวมทั้งเสนอแนะหรือติเตียนในการแปลศัพท์ใดๆในบทความนี้ ผู้เขียนยินดีรับขอเสนอแนะหรือคำติเตียนนั้นทุกประการโดยผ่านทางเวปมาสเตอร์ของ www.pub-law.net
       3. ผู้เขียนได้แปล « tribunal » ในมาตรา 6 วรรคหนึ่งดังกล่าวโดยใช้คำว่า ”องค์กรฝ่ายตุลาการ” แทนที่จะแปลว่า “ศาล” ทั้งนี้โดยเหตุผลว่าคำว่า “องค์กรฝ่ายตุลาการ” มีความหมายถึงองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการโดยไม่จำกัดว่าจะเป็นในรูปแบบของ “ศาล” หรือไม่ ซึ่งการตีความโดยกว้างเช่นนี้เป็นผลมาจากปัญหาในการปรับใช้มาตรา 6 วรรคหนึ่งดังกล่าวในระบบกฎหมายภายในของฝรั่งเศส
       4. คำแปลความหมายตามตัวอักษรโดยผู้เขียน
       5. สรุปความจากคำกล่าวของ professeur Gérard Timsit
       6. แปลเป็นภาษาไทยโดย ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์, คำอธิบายศัพท์กฎหมายมหาชน ฝรั่งเศส-ไทย, สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2548
       7. คำแปลโดยผู้เขียน
       8. ทั้งนี้ รากของการบัญญัติคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศสดังกล่าวมาจากคำว่า contre อันแปลว่าการโต้แย้ง การค้าน หรือ ฝ่ายตรงข้าม
       9. ในคำวินิจฉัยกรณีการควบคุมการกระทำของฝ่ายปกครองในส่วนที่เกี่ยวกับโทษในปี 1964 และ 1968
       10. ในส่วนของ Les principes fondamentaux reconnus par les lois de la république นี้ รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสเองก็มิได้ให้นิยามเอาไว้ว่าหมายถึงอะไรและมีขอบเขตเพียงใดโดยแน่ชัด เพียงแต่ยอมรับ “การมีอยู่” ของหลักดังกล่าว และตีความถ้อยคำ “บรรดากฎหมายแห่งสาธารณรัฐ” เอาไว้ว่าหมายถึงตัวบทกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่สาธารณรัฐที่ 1 (ค.ศ.1792) เรื่อยมาจนกระทั่งก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1946 โดยหลักกฎหมายพื้นฐานดังกล่าวจะต้องเป็นหลักที่เคยมีอยู่ในกฎหมายในอดีตเหล่านั้นและจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน ปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์, ความรู้เบื้องต้นกฎหมายรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสสำหรับผู้เริ่มเรียน, ลงพิมพ์เผยแพร่ใน “นานาสาระของนักเรียนไทยในต่างแดน” www.pub-law.net วันที่ 30 กันยายน 2548 )
       11. ในต้นฉบับคำแปลภาษาฝรั่งเศสได้แปล non bis in idem เพียงว่า Pas deux fois sur la même chose คือ ไม่มีการลงโทษสองครั้งในความผิดเดียวกัน แต่ในการอ้างถึงสุภาษิตดังกล่าวในตำรากฎหมายไทยมักจะเติมคำว่า “อาญา” เข้าไปด้วยเสมอ ทำให้เกิดความเข้าใจว่าสุภาษิตดังกล่าวเป็นสุภาษิตที่ใช้ได้กับแนวคิดทางกฎหมายอาญาเท่านั้น ซึ่งในประเด็นนี้ผู้เขียนไม่ขอแสดงความเห็นไว้ ณ ที่นี้
       12. ทั้งนี้เนื่องจากความในมาตรา 6 วรรคหนึ่งเองได้คุ้มครองคดีเพียงสองประเภทคือ คดีอาญาและคดีแพ่ง จึงจำต้องมีการตีความโดยเปิดกว้างให้มาตราดังกล่าวมีผลบังคับใช้มากที่สุด ซึ่งในประเด็นการตีความนี้ผู้เขียนได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ในส่วนที่สอง ตอนที่หนึ่ง
       13. ผู้ว่าการจังหวัด ถือเป็นข้ารัฐการระดับสูง ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐในจังหวัด (département) เป็นตำแหน่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1800 ปัจจุบันเป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งและถอดถอนโดยรัฐบาล ผู้ว่าการจังหวัดถือเป็นผู้เดียวที่สามารถดำเนินการหรือกระทำการได้โดยนามของรัฐ (au nom de l’Etat) ถือเป็นผู้แทนตามกฎหมายของรัฐ (représentation juridique) เป็นผู้คอยดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรี เป็นผู้นำนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาที่ดินของรัฐมาปฏิบัติให้เกิดผลและมีอำนาจทางปกครองพิเศษหลายประการ อาทิ การพักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ (ดังที่ยกมาเป็นตัวอย่างในบทความนี้) นอกจากนั้น ผู้ว่าการจังหวัดยังมีฐานะเป็นหัวหน้าหน่วยงานทางปกครองส่วนกลาง เป็นเจ้าของและเป็นผู้ใช้อำนาจในการป้องกันมิให้เกิดการกระทำผิดกฎหมาย (pouvoir de police administrative) รวมทั้งถึงมีอำนาจในการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสามารถฟ้องศาลปกครองชั้นต้น (tribunaux administratifs) เพื่อขอให้พิจารณานิติกรรมทางปกครองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือฟ้องศาลตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค (la Chambre régionales des comptes) ให้พิจารณากระบวนการในการจัดทำงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (คำแปลบางส่วนจาก นันทวัฒน์ บรมานันท์, คำอธิบายศัพท์กฎหมายมหาชนฝรั่งเศส – ไทย, สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2548)
       14. อาจเทียบเคียงได้เป็น พระราชบัญญัติขนส่งทางบกของกฎหมายไทย
       15. โดยมีสมาชิก อาทิ ผู้ว่าการจังหวัด รองผู้ว่าการจังหวัด และข้ารัฐการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
       16. une amande forfaitaire เป็นค่าปรับประเภทหนึ่งในระบบการปรับทางอาญาของฝรั่งเศส โดยมีลักษณะเป็นการชำระค่าปรับที่ผู้ถูกปรับมีสิทธิเลือกชำระสองประการ กล่าวคือ การชำระโดยตรงกับเจ้าหน้าที่เมื่อถูกเรียก หรือ การชำระโดยจ่ายเป็นอากรค่าปรับ ทั้งนี้ การชำระค่าปรับทั้งสองประการดังกล่าวจะมีจำนวนเงินเป็นเกณฑ์กำหนดไว้แล้ว
       17. CE 4 juin 1997, Ministère de l’Intérieur c/ Mitermite, confirmé par avis CE Sect. 20 juin 1997, Fety et autres, Leb. p. 247
       18. C EDH Malige c/ France du 23 septembre 1998
       19. Leb. tables p.943
       20. Leb. p.280
       21. CE Maubleu, du 14 février 1996, CE Debout du 27 octobre 1978
       22. Le Conseil de marchés financières นี้ได้ก่อตั้งโดยกฎหมายฉบับ La loi du 2 juillet 1996 โดยเป็นหน่วยงานใหม่ที่ยุบรวมมาจากองค์กรสององค์กร คือ Conseil des bourses de valeur และ Conseil des marches à terme มีอำนาจในการตรวจสอบการปฏิบัติงานตามกฎเกณฑ์ของบริษัทต่างๆ และของบุคคลที่ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับตลาดเงินทั้งในด้านการทำงานและในด้านบัญชี ดังนั้นตามหน้าที่ดังกล่าว Le Conseil de marchés financières จึงมีอำนาจใช้มาตรการทางวินัยในการเรียกมาตรวจสอบ (avertissement) การว่ากล่าวตักเตือน (blâme) หรือการเพิกถอนใบอนุญาตชั่วคราวหรือถาวร (retrait temporaire, ou définitif de la carte professionnelle)
       23. CEDH Bendenoun c/ France
       24. CE 31 mars 1995 Ministre du Budget c/ SARL Auto Industrie Méric
       25. Cass. 9 avril 1996, Haddad c/ Agent judiciaire du Trésor
       26. décret เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายลำดับรองซึ่งออกโดยฝ่ายบริหาร
       27. คำแปลโดยผู้เขียน
       28. ถอดความจาก « Le droit administratif français est un droit d’un équité fondé sur la prérogative de l’administration, fait par le juge et organisé selon la théorie de l’actes » โดยศาสตราจารย์ Hauriou
       
       อ้างอิง
       
AMICIE Maucour-Isabelle, La CDBF a-t-elle raison de se dessaisir de son propre contentieux ?, AJDA 6 septembre 2004, pp.1602
       BUILY Pierre, La sanction administrative en matière de sécurité routière, AJDA 20 octobre 2001 spécial pp.34
       COMBARNOUS Michel, L’équité et le juge administratif, Revue générale de droit processuel « justice et équité », janvier /mars, Dalloz 1998
       COLLIN Pierre, GUYOMAR Mattias et, Chronique générale de jurisprudence administrative français, AJDA 20 mai 2000, pp.404
       DUCOULOUX-FAVARD Claude, La Commission des Opérations de Bourse et les droits de l’homme : à propos de l’arrêt de l’Assemblée plénière de la Cour de cassation du 5 février 1999, Petites Affiches 10 février 1999, n°29, pp.14
       GAMBIER Marie-Ange, La guerre de tranchés (suite) : La décision Didier contre France de la Cour Européenne des Droits de l’homme (27 août 2002), RDA n°332 pp.159
       GOUTTENOIRE Adeline, chron. droit à un procès équitable et juridictions judiciaires, RDP n°3-2003, pp.699
       GUINCHARD Serge, Le procès équitable : droit fondamental ? , AJDA 20 juillet/20 août 1998 spécial, pp.191
       HAMON Francis, chron. jurisprudence Conseil d’Etat 5 mai 1982, D.1984, pp.103
       MAGNET Jacques, chron. jurisprudence Cour des comptes 11 mars et 29 avril 1993, D.1993, pp.534
       MATSOPOULOU Haritini, La présence du rapporteur du Conseil de la concurrence au délibéré, au regard de la Convention Européenne des droits de l’homme, les petites affiches 20 septembre 1996, pp.4
       MORANGE Jean, Les règles du procès équitable et l’article 6 de la Convention européenne des droits de l’homme, RFDA 12(6) nov.-dec. 1996, pp.1186
       ZEGHBIB Hocine, Principe de contradictoire et procédure administrative non contentieuse, RDP n°2-1998, pp.467
       อื่นๆ
       
ไม่ปรากฎชื่อผู้แต่ง, Droit Boursier : l’arret de l’Assemblée plénière de la Cour de Cassation du 5 février 1999, Petites Affiches 10 février 1999, n°29, pp.2
       ไม่ปรากฎชื่อผู้แต่ง, doctrine de droits fondamentaux, AJDA 20 février 2000 pp.126
       ไม่ปรากฎชื่อผู้แต่ง, chron.jurisprudence Cour des comptes (aff. du CE : Sté Labor Métal et autres), AJDA 20 mai 2000, pp.464
       ไม่ปรากฎชื่อผู้แต่ง, doctrine de actes, AJDA 20 octobre 2000 pp.796
       ไม่ปรากฎชื่อผู้แต่ง, doctrine de procédure, AJDA 20 décembre 2000 pp.1001


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=923
เวลา 29 มีนาคม 2567 16:33 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)