ครั้งที่ 81

15 ธันวาคม 2547 13:55 น.

       "ทิศทางในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไทย"
       ผมกลับถึงประเทศไทยได้เกือบสองอาทิตย์แล้วครับ กลับมาถึงก็มีงานที่ต้องทำอีกมาก ทั้งงานด้านวิชาการและงานที่คณะที่ผมต้องเร่งตรวจร่างวิทยานิพนธ์ของนิสิตจำนวนหนึ่งที่จะต้องเสนอต่อมหาวิทยาลัยภายในกลางเดือนพฤษภาคมนี้ สองอาทิตย์ที่ผ่านมาก็เลยเหนื่อยมากเป็นพิเศษครับ ข่าวเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของไทยเป็นข่าวสำคัญที่อยู่ในความสนใจของคนเป็นจำนวนมาก ผมรู้สึกไม่สบายใจในเรื่องดังกล่าวเพราะเข้าใจว่า ยังมีการเข้าใจผิดกันอยู่อีกมากในสังคมของเราเกี่ยวกับเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพียง “ส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่ง” ของปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในวันข้างหน้า เพราะหากรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งสามารถ “คัดค้าน” อำนาจรัฐได้ต้องเป็น “ตัวอย่าง” ที่ดีสำหรับรัฐวิสาหกิจอื่นที่จะ “ตามรอย” ต่อไปครับ ปัญหาเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในบ้านเราเป็นปัญหาที่คงต้อง “ย้อน” กลับไปสู่จุดเริ่มต้นกันใหม่ จุดเริ่มต้นที่ผมกล่าวถึงนี้หมายความไกลไปถึงการเกิดขึ้นของรัฐวิสาหกิจ และการสิ้นสุดความเป็นรัฐวิสาหกิจครับ เราคงต้องวิเคราะห์กันอย่างเป็นระบบในจุดทั้งสองที่ผมกล่าวถึง รัฐวิสาหกิจนั้นเกิดขึ้นมาก็เพราะ “รัฐ” จัดตั้งขึ้นนะครับ เดิมทีรัฐรับภาระในการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อสนองความต้องการของประชาชน ต่อมา “รัฐสมัยใหม่” จำนวนหนึ่งก็ใช้วิธีใหม่จัดตั้ง “หน่วยงานอิสระ” จากระบบรัฐขึ้นมาทำหน้าที่เฉพาะในการจัดทำบริการสาธารณะ รัฐไทยเราก็หันมาใช้วิธีจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะเช่นกัน โดยในการจัดตั้งก็มีการออกกฎหมาย รัฐวิสาหกิจที่สำคัญ ๆ ให้บริการครอบคลุมทั้งประเทศและต้องมีการใช้อำนาจรัฐ ก็จัดตั้งโดยกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ รองลงมาก็เป็นพระราชกฤษฎีกา และในระยะหลัง ๆ ก็มีการนำเอาระบบก่อตั้ง “ธุรกิจ” ของเอกชนมาใช้ในการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจเชิงธุรกิจที่ต้องการความคล่องตัว คือ การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจในรูปแบบบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด แต่ไม่ว่ารัฐวิสาหกิจนั้นจะจัดตั้งโดยกฎหมายประเภทใดก็ตาม รัฐวิสาหกิจทั้งหลายก็ยังคงมีภารกิจในการจัดทำบริการสาธารณะแทนรัฐ ดังนั้นรัฐจึงเป็นผู้ลงทุนใน รัฐวิสาหกิจทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ทุนประเดิมในตอนจัดตั้งไปจนถึงการจัดสรรงบประมาณสำหรับรัฐวิสาหกิจในแต่ละปี เงินลงทุนและเงินต่าง ๆ ที่รัฐนำมาใช้ในการดำเนินการและบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่แล้วก็มีที่มาจากภาษีอากรของประชาชนที่รัฐเก็บมาจากประชาชนและจากค่าใช้บริการของรัฐวิสาหกิจ นอกจากรัฐจะเป็น “เจ้าของเงิน” ที่ใช้ในการดำเนินการและบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจแล้ว รัฐยังเป็น “เจ้าของนโยบาย” ในการดำเนินการและบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจด้วย จะเห็นได้จากการกำหนดให้แต่ละรัฐวิสาหกิจมี “คณะกรรมการบริหาร” ที่แต่งตั้งโดย “รัฐ” เพื่อนำนโยบายของรัฐไปดำเนินการต่อในรัฐวิสาหกิจ กล่าวโดยสรุปก็คือ ระหว่างรัฐกับรัฐวิสาหกิจนั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อกัน เพราะรัฐจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาเพื่อดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะบางอย่างแทนรัฐ รัฐวิสาหกิจที่รัฐตั้งขึ้นมาบางแห่งก็ประสบผลสำเร็จ มีขนาดใหญ่โต แต่บางแห่งก็ประสบความล้มเหลว ดังนั้น ในต่างประเทศที่ประสบปัญหาเช่นนี้ จึงมีแนวความคิดที่จะ “แปรรูปรัฐวิสาหกิจ” เพราะกิจการบางประเภทนั้น ในปัจจุบันรัฐไม่มีความจำเป็นต้องทำแล้ว การที่รัฐต้องนำเงินมาอุดหนุนรัฐวิสาหกิจต่อไป จะทำให้รัฐมีภาระอย่างต่อเนื่องทั้ง ๆ ที่ไม่ควรจะมี เพราะกิจการเหล่านั้นเป็นกิจการที่ “ใคร ๆ” ก็ทำได้ นอกจากนี้บางประเทศก็ยังอยากแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้รัฐมีรายได้จากการ “ขาย” รัฐวิสาหกิจเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ และเกิดขึ้นจากหลาย ๆ เหตุผล ขึ้นอยู่กับ “สภาพ” และ “ความจำเป็น” ของแต่ละประเทศ จุดเริ่มต้นที่ผมกล่าวถึงในตอนแรกที่เราต้อง “ย้อน” ถาม “รัฐ” หรือ “ท่านผู้นำ” ของเรา ก็คือ เราจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปเพื่ออะไร และมีเกณฑ์อย่างไรในการ “เลือก” รัฐวิสาหกิจที่จะมาแปรรูปครับ สองคำถามนี้เป็นสองคำถามแรกที่จะต้องตอบให้ได้ก่อนที่จะมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจใดรัฐวิสาหกิจหนึ่งหลาย ๆ คนคงอาจสงสัยว่าทำไมถึงต้องตอบคำถามของผม ง่ายมากครับ เพราะหากเราจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะ “ระบบ” ของรัฐวิสาหกิจไม่ดี คำถามที่จะถามมาต่อไปก็คือ ทำไม่ต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น เพราะระบบที่มีปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ต้องไปไกลถึงขนาดแปรรูปรัฐวิสาหกิจ!!! ส่วนเกณฑ์ในการเลือกรัฐวิสาหกิจมาแปรรูปนั้น คำถามนี้อันตรายมากครับ เพราะอาจเป็นเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “ผลประโยชน์ข้างเคียง” ก็ได้นะครับ คำถามหลังนี้ยังไม่ขอวิจารณ์ ณ ที่นี้ครับ!!!
       ผมอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วก็รู้สึก “วังเวง” กับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจครับ ผมขอยืนยันว่า รัฐวิสาหกิจนั้นเกิดขึ้นมาจาก “ภาษีอากร” ของประชาชนครับ ฉะนั้นในเมื่อ “รัฐบาล” ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนให้เข้ามาบริหารประเทศมีนโยบายที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เราก็ต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจครับ เพียงแต่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ดีนั้นต้องมี “กระบวนการ” ที่ดีด้วยและจะต้องปกป้องประโยชน์สาธารณะ เพราะรัฐวิสาหกิจเป็น “สมบัติของชาติ” ครับ ไม่ใช่สมบัติของใครทั้งนั้น การที่เรา “ทำงาน” ในรัฐวิสาหกิจไม่ได้หมายความว่า เราเป็น “เจ้าของ” รัฐวิสาหกิจนั้น ๆ แต่เพียงผู้เดียวนะครับ ในฐานะประชาชนธรรมดาคนหนึ่งที่เสียภาษีอากรต่างหากที่เราจะ “อ้างสิทธิ” ในความเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจได้ เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นและปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า คณะกรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจมีมติว่าจะไม่ให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจ มีมติให้ชะลอการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือมีมติให้ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ นี่ยิ่ง “แปลก" เข้าไปใหญ่ครับ เพราะหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจคงไม่ใช่เช่นนั้นนะครับ คณะกรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจไม่ “น่าจะ” อยู่ในสถานะที่สามารถค้านนโยบายระดับชาติได้ และคงไม่ใช่องค์กรที่จะเสนอให้ยกเลิกกฎหมายใด ๆ ได้ด้วยครับ หากคณะกรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจ “เข้าใจผิดในสาระสำคัญของหน้าที่” ของตนเองแบบนั้นทุกแห่ง คงสนุกแน่ ๆ เลยครับ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารคง “ตกงาน” กันเป็นแถว เพราะถูก “แย่งหน้าที่” ไปทำหมดครับ!!!
       จริง ๆ แล้วผมมีเรื่องเขียนอีกมากเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่เนื่องด้วยไม่ต้องการให้บทบรรณาธิการนี้ยาวเกินไป ก็คงขอหยุดไว้ตรงนี้ว่า รัฐวิสาหกิจไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของพนักงานของคณะกรรมการบริหาร หรือของรัฐบาล แต่เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติและของประชาชนครับ หากรัฐบาลมีนโยบายที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็ต้องทำครับ แต่ขอให้ทำด้วยความละเอียดรอบคอบ ศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีกฎหมายที่ดีที่เกิดจากการศึกษาอย่างเป็นระบบเช่นกัน (ไม่ใช่จัด “สัมมนา” แล้วก็ “เก็บ” เอาคำพูดของผู้เข้าร่วมสัมมนามา “ยกร่าง” เป็นกฎหมาย!!! ) และโดยรวม การแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะครับ
       ในสัปดาห์ เรามีบทความเรื่อง “รัฐธรรมนูญกับการสร้างธรรมรัฐในองค์กรอิสระ” โดย นายมนตรี กนกวารี (เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ 7 ว.) ซึ่งผมต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ นอกจากบทความแล้วเราก็มีการแนะนำหนังสือดี ๆ อีกจำนวนหนึ่งครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม 2547 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=98
เวลา 30 เมษายน 2567 09:51 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)