หน้าที่แล้ว   หน้า 1 | หน้า 2  

           มาตรา ๘๕ การสั่งหรือการปฏิบัติราชการของผู้ช่วยเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปตามที่เลขานุการสภากรุงเทพมหานครมีคำสั่งมอบหมาย
           ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขานุการสภากรุงเทพมหานครหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้ช่วยเลขานุการสภากรุงเทพมหานครเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีผู้ช่วยเลขานุการสภากรุงเทพมหานครหลายคน ให้ประธานสภากรุงเทพมหานครมีคำสั่งมอบหมายให้ผู้ช่วยเลขานุการสภากรุงเทพมหานครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ช่วยเลขานุการสภากรุงเทพมหานครหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ประธานสภากรุงเทพมหานครแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานครผู้มีอาวุโสตามระเบียบแบบแผนของทางราชการเป็นผู้รักษาราชการแทน
           มาตรา ๘๖ การสั่งหรือการปฏิบัติราชการของผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปตามที่เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีคำสั่งมอบหมาย
           ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหลายคนให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีคำสั่งมอบหมายให้ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครผู้มีอาวุโสตามระเบียบแบบแผนของทางราชการเป็นผู้รักษาราชการแทน
           มาตรา ๘๗ ในกรณีที่มีผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร การสั่งหรือการปฏิบัติราชการของผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปตามที่หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครมีคำสั่งมอบหมาย
           ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครหลายคน ให้ประธานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ประธานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครผู้มีอาวุโสตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ เป็นผู้รักษาราชการแทน
           มาตรา ๘๘ ให้ผู้รักษาราชการแทนตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน
           ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดหรือผู้รักษาราชการแทนผู้ดำรงตำแหน่งนั้นมอบหมายหรือมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทน ให้ผู้ปฏิบัติราชการแทนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งมอบหมายหรือมอบอำนาจ
           ในกรณีที่มีกฎหมายอื่นแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดเป็นกรรมการหรือให้มีอำนาจหน้าที่อย่างใด ให้ผู้รักษาราชการแทนหรือผู้ปฏิบัติราชการแทนทำหน้าที่กรรมการหรือมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งนั้นในระหว่างที่รักษาราชการแทนหรือปฏิบัติราชการแทนด้วย แล้วแต่กรณี

หมวด ๕
อำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร

           มาตรา ๘๙ ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอื่น ให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการในเขตกรุงเทพมหานครในเรื่องดังต่อไปนี้
           (๑) การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งนี้ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และตามกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร
           (๒) การทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด
           (๓) การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
           (๔) การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
           (๕) การผังเมือง
           (๖) การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ
           (๗) การวิศวกรรมจราจร
           (๘) การขนส่ง
           (๙) การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้ามและที่จอดรถ
           (๑๐) การดูแลรักษาที่สาธารณะ
           (๑๑) การควบคุมอาคาร
           (๑๒) การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
           (๑๓) การจัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
           (๑๔) การพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
           (๑๔ ทวิ) บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
           (๑๕) การสาธารณูปโภค
           (๑๖) การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล
           (๑๗) การจัดให้มีและควบคุมสุสานและฌาปนสถาน
           (๑๘) การควบคุมการเลี้ยงสัตว์
           (๑๙) การจัดให้มีและควบคุมการฆ่าสัตว์
           (๒๐) การควบคุมความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการอนามัยในโรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่น ๆ
           (๒๑) การจัดการศึกษา
           (๒๒) การสาธารณูปการ
           (๒๓) การสังคมสงเคราะห์
           (๒๔) การส่งเสริมการกีฬา
           (๒๕) การส่งเสริมการประกอบอาชีพ
           (๒๖) การพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร
           (๒๗) หน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายระบุให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เทศบาลนคร หรือตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย หรือที่กฎหมายระบุเป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร
           บรรดาอำนาจหน้าที่ใด ซึ่งเป็นของราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคจะมอบให้กรุงเทพมหานครปฏิบัติก็ได้ โดยให้ทำเป็นพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ข้อบังคับ หรือประกาศ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ทำเป็นข้อบังคับหรือประกาศต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
           (ความใน (๑๔ ทวิ) เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๒)
           มาตรา ๙๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๘๙ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานคร รองปลัดกรุงเทพมหานคร หัวหน้าส่วนราชการที่เป็นสำนักหรือเทียบเท่าสำนัก ผู้อำนวยการเขต ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต และข้าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้ง เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่สำหรับปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และให้มีฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
           ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่งมีอำนาจเข้าไปในอาคารหรือบริเวณที่ตั้งอาคารที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อบัญญัติดังกล่าว ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น และเพื่อการนี้ให้มีอำนาจสอบถามข้อเท็จจริงหรือสั่งให้แสดงเอกสารหรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องจากบุคคลที่อยู่หรือทำงานในสถานที่นั้น และให้มีอำนาจยึดหรืออายัดเอกสาร หลักฐาน ยานพาหนะ หรือสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รวมทั้งให้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดได้ด้วย
           ในกรณีที่มีการจับกุมผู้กระทำความผิดตามวรรคสอง ถ้าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งมีฐานะเป็นสำนัก ผู้อำนวยการเขต แล้วแต่กรณี เห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรได้รับโทษจำคุกให้มีอำนาจเปรียบเทียบกำหนดค่าปรับได้ เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามจำนวนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวกำหนดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบ ให้ถือว่าคดีเลิกกัน
           ถ้าผู้ต้องหาไม่ยอมตามที่ปรับ หรือเมื่อยอมแล้วไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ข้าราชการกรุงเทพมหานครที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งมีอำนาจในการสอบสวนและมีฐานะเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
           เงินค่าปรับตามมาตรานี้ให้เป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร
           มาตรา ๙๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลขานุการประธานสภากรุงเทพมหานคร เลขานุการรองประธานสภากรุงเทพมหานคร ประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา และข้าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
           มาตรา ๙๒ กรุงเทพมหานครอาจให้บริการแก่เอกชน ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น โดยเรียกค่าบริการได้โดยตราเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
           มาตรา ๙๓ กรุงเทพมหานครอาจดำเนินกิจการนอกเขตกรุงเทพมหานครได้ เมื่อ
           (๑) การนั้นจำเป็นต้องกระทำและเป็นการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร หรือเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร และ
           (๒) ได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร และ
           (๓) ได้รับความยินยอมจากผู้ว่าราชการจังหวัด ราชการส่วนท้องถิ่น หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี
           มาตรา ๙๔ กรุงเทพมหานครอาจทำกิจการร่วมกับบุคคลอื่น โดยก่อตั้งบริษัทหรือถือหุ้นในบริษัทได้ เมื่อ
           (๑) บริษัทนั้นมีวัตถุประสงค์เฉพาะกิจการเป็นสาธารณูปโภค แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงกิจการที่กรุงเทพมหานครได้กระทำอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และ
           (๒) กรุงเทพมหานครต้องถือหุ้นเป็นมูลค่าเกินร้อยละห้าสิบของทุนที่บริษัทนั้นจดทะเบียนไว้ ในกรณีที่มีกรุงเทพมหานคร ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นถือหุ้นอยู่ในบริษัทเดียวกัน ให้นับหุ้นที่ถือนั้นรวมกัน และ
           (๓) สภากรุงเทพมหานครมีมติให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้งหมด และ
           (๔) ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
           การเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นที่กรุงเทพมหานครถืออยู่ต้องได้รับอนุมัติจากสภากรุงเทพมหานคร
           มาตรา ๙๕ ถ้ากิจการใดอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครอาจดำเนินการนั้นร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่นได้โดยจัดตั้งเป็นองค์การเรียกว่า สหการมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีคณะกรรมการบริหารประกอบด้วยผู้แทนของกรุงเทพมหานคร ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจและราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี
           การจัดตั้งสหการจะกระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ในพระราชกฤษฎีกานั้นให้กำหนดชื่ออำนาจหน้าที่ และวิธีดำเนินงาน เมื่อจะยุบเลิกสหการให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และให้ระบุวิธีจัดการทรัพย์สินไว้ด้วย
           มาตรา ๙๖ ในกรณีจำเป็น กรุงเทพมหานครอาจมอบให้เอกชนกระทำกิจการ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่าบริการ หรือค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องแทนกรุงเทพมหานครได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน
           หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้กระทำกิจการตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
           สิทธิในการกระทำกิจการตามวรรคหนึ่ง เป็นสิทธิเฉพาะตัวจะโอนไปมิได

หมวด ๖
ข้อบัญญัติ

           มาตรา ๙๗ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครจะตราขึ้นได้โดยความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร ในกรณีดังต่อไปนี้
           (๑) เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร
           (๒) เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจตราเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
           (๓) การดำเนินการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร
           (๔) การคลัง การงบประมาณ การเงิน การทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจ้าง และการพัสดุ
           ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครจะกำหนดโทษผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้แต่มิให้กำหนดโทษจำคุกเกินหกเดือน และหรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท
           มาตรา ๙๘ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครจะเสนอได้ก็แต่โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานครตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ในกรณีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเป็นผู้เสนอต้องมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครลงนามรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้งหมด
           ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวด้วยการเงิน สมาชิกสภากรุงเทพมหานครจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
           (วรรคหนึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๒)
           มาตรา ๙๙ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวด้วยการเงิน หมายความถึงร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยข้อความต่อไปนี้ทั้งหมดหรือแต่ข้อใดข้อหนึ่ง
           (๑) การตั้งขึ้นหรือยกเลิก หรือลด หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือผ่อนหรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีอากร
           (๒) การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินของกรุงเทพมหานคร หรือการโอนงบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานคร
           (๓) การกู้เงิน การค้ำประกัน หรือการใช้เงินกู้
           (๔) การคลัง การงบประมาณ การเงิน การทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจ้างและการพัสดุ
           (๕) การพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร
           (๖) การออกพันธบัตรของกรุงเทพมหานคร
           ในกรณีเป็นที่สงสัยว่าร่างข้อบัญญัติใดเป็นร่างข้อบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินที่จะต้องมีคำรับรองของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือไม่ ให้ประธานสภากรุงเทพมหานครเป็นผู้วินิจฉัย
           มาตรา ๑๐๐ เมื่อสภากรุงเทพมหานครได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครและลงมติเห็นชอบแล้ว ให้ประธานสภากรุงเทพมหานครส่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่สภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบ และให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามในร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่ผ่านความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานครแล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมายภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบัญญัติจากประธานสภากรุงเทพมหานคร
           มาตรา ๑๐๑ ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่เห็นชอบด้วยกับสภากรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครส่งร่างข้อบัญญัตินั้นพร้อมด้วยเหตุผลที่ไม่เห็นชอบด้วยให้สภากรุงเทพมหานครภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้รับร่างข้อบัญญัติจากประธานสภากรุงเทพมหานครเพื่อให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณาใหม่ ถ้าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ส่งให้สภากรุงเทพมหานครภายในเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเห็นชอบด้วย และให้ประธานสภากรุงเทพมหานครลงนามในร่างข้อบัญญัตินั้นแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมาย
           ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่เห็นชอบด้วยและส่งให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณาใหม่ สภากรุงเทพมหานครจะยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อเวลาได้ล่วงพ้นไปสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครส่งกลับให้สภากรุงเทพมหานคร นอกจากร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวด้วยการเงิน สภากรุงเทพมหานครอาจยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที
           ในกรณีที่สภากรุงเทพมหานครมีมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้งหมด ให้ประธานสภากรุงเทพมหานครส่งร่างข้อบัญญัติดังกล่าวให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๐๐ ถ้าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ดำเนินการตามกำหนด ให้ประธานสภากรุงเทพมหานครลงนามในร่างข้อบัญญัตินั้นแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมาย
           มาตรา ๑๐๒ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่สภากรุงเทพมหานครไม่เห็นชอบด้วยให้เป็นอันตกไป ยกเว้นร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
           ร่างข้อบัญญัติที่ตกไปตามวรรคหนึ่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจะเสนอใหม่ได้เมื่อพ้นหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่สภากรุงเทพมหานครไม่เห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัตินั้น
           มาตรา ๑๐๓ งบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานครให้ทำเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้เสนอ ถ้าข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณที่แล้วนั้นไปพลางก่อน
           ถ้าปีใดจำนวนเงินซึ่งได้กำหนดไว้ตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณไม่พอสำหรับการใช้จ่ายประจำปีก็ดี หรือมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายขึ้นใหม่ในระหว่างปีก็ดี ให้ทำเป็นข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
           มาตรา ๑๐๔ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐๖ ในกรณีที่สภากรุงเทพมหานครเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ให้สภากรุงเทพมหานครเลือกคณะกรรมการวิสามัญตามมาตรา ๓๙ เพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้นตามข้อบังคับของสภากรุงเทพมหานคร และให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับ
           มาตรา ๑๐๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐๖ ในกรณีที่สภากรุงเทพมหานครไม่เห็นด้วยกับร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ให้สภากรุงเทพมหานครตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจำนวนแปดคน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตั้งบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจำนวนเจ็ดคน ประกอบเป็นคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาหาข้อยุติความขัดแย้งในสาระสำคัญที่บัญญัติไว้ในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย แล้วรายงานผลการพิจารณาต่อสภากรุงเทพมหานครภายในสิบวันนับแต่วันที่สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการร่วม
           ถ้าสภากรุงเทพมหานครยังไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการร่วมด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้งหมด ให้ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเป็นอันตกไป และให้ใช้ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีที่แล้วนั้นไปพลางก่อน ในกรณีเช่นว่านี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งยุบสภากรุงเทพมหานคร ถ้ามีข้อเสนอของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
           มาตรา ๑๐๖ ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณและร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม สภากรุงเทพมหานครจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สภากรุงเทพมหานครได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้นเป็นครั้งแรก
           ถ้าสภากรุงเทพมหานครพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้นไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนดดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสภากรุงเทพมหานครได้ให้ความเห็นชอบในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้น และให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับ
           มาตรา ๑๐๗ ในกรณีที่สภากรุงเทพมหานครสิ้นอายุหรือมีการยุบสภากรุงเทพมหานคร บรรดาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่สภากรุงเทพมหานครยังมิได้ให้ความเห็นชอบ หรือที่สภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบแล้วแต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังมิได้ลงนามและประกาศใช้เป็นกฎหมายภายในสามสิบวันนับแต่วันรับร่างข้อบัญญัติจากประธานสภากรุงเทพมหานครให้เป็นอันตกไป
           มาตรา ๑๐๘ ในระหว่างที่ไม่มีสภากรุงเทพมหานคร หรือในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะและจะเรียกประชุมสภากรุงเทพมหานครให้ทันท่วงทีมิได้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะออกข้อกำหนดกรุงเทพมหานครให้ใช้บังคับดังเช่นข้อบัญญัติ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
           ในการประชุมสภากรุงเทพมหานครคราวต่อไป ให้นำข้อกำหนดกรุงเทพมหานครนั้นเสนอต่อสภากรุงเทพมหานครเพื่ออนุมัติ ถ้าสภากรุงเทพมหานครอนุมัติแล้ว ให้ข้อกำหนดกรุงเทพมหานครนั้นใช้บังคับเป็นข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานครต่อไป ถ้าสภากรุงเทพมหานครไม่อนุมัติ ให้ข้อกำหนดกรุงเทพมหานครนั้นเป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงกิจการที่ได้กระทำไป ระหว่างที่ใช้ข้อกำหนดกรุงเทพมหานครนั้น
           การอนุมัติหรือไม่อนุมัติข้อกำหนดกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีไม่อนุมัติให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด ๗
การคลังและทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร

           มาตรา ๑๐๙ ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้ายอากรการฆ่าสัตว์ และผลประโยชน์อื่นอันเนื่องในการฆ่าสัตว์ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้กรุงเทพมหานครจัดเก็บเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานครตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
           มาตรา ๑๑๐ ภาษีและค่าธรรมเนียมรถหรือรถยนต์ หรือล้อเลื่อนที่จัดเก็บได้ในเขตกรุงเทพมหานครให้เป็นรายได้ของกรุงเทพมหานครตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
           มาตรา ๑๑๑ ให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจออกข้อบัญญัติเก็บภาษีบำรุงกรุงเทพมหานคร สำหรับน้ำมันเบนซินและน้ำมันที่คล้ายกัน น้ำมันดีเซลและน้ำมันที่คล้ายกัน และก๊าซปิโตรเลียม ซึ่งสถานการค้าปลีกในเขตกรุงเทพมหานครเป็นผู้จำหน่ายได้ไม่เกินลิตรละห้าสตางค์ ราคาขายปลีกที่สูงเพิ่มขึ้นไม่เกินจำนวนภาษีที่เรียกเก็บตามมาตรานี้ไม่ถือว่าเป็นการต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด
           มาตรา ๑๑๒ กรุงเทพมหานครมีอำนาจออกข้อบัญญัติเพื่อเก็บภาษีอากร และค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นได้ไม่เกินร้อยละสิบของภาษี และค่าธรรมเนียมประเภทใดประเภทหนึ่งหรือทุกประเภท ดังต่อไปนี้
           (๑) ภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร
           (๒) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุราตามกฎหมายว่าด้วยสุรา
           (๓) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในการเล่นการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน
           ในการเสียภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามมาตรานี้ เศษของหนึ่งบาทให้ตัดทิ้ง
           ภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นภาษีอากรและธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
           (มาตรา ๑๑๒ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๔)
           มาตรา ๑๑๒ ทวิ กรุงเทพมหานครมีอำนาจออกข้อบัญญัติเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้กำหนดเป็นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มขึ้นจากอัตราที่เรียกเก็บตามประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
           (๑) ในกรณีที่ประมวลรัษฎากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละศูนย์ให้กรุงเทพมหานครเก็บในอัตราร้อยละศูนย์
           (๒) ในกรณีที่ประมวลรัษฎากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราอื่นให้กรุงเทพมหานครเก็บหนึ่งในเก้าของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บตามประมวลรัษฎากร
           ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร
           (มาตรา ๑๑๒ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๕๓๔)
           มาตรา ๑๑๓ กิจการใดที่กฎหมายมอบหน้าที่ให้เทศบาลเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ถ้ากิจการนั้นอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครให้กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายนั้น และบรรดาค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาตและค่าปรับเนื่องในกิจการเช่นว่านั้น ให้เป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร
           มาตรา ๑๑๔ กรุงเทพมหานครอาจออกข้อบัญญัติเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ จากผู้ซึ่งใช้หรือได้ประโยชน์จากบริการสาธารณะที่กรุงเทพมหานคร จัดให้มีขึ้นได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
           มาตรา ๑๑๕ ในการจัดเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานคร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนัก หัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมีฐานะเป็นสำนัก ผู้อำนวยการเขต ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากอง หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจและหน้าที่ปฏิบัติการตามกฎหมาย เว้นแต่กฎหมายว่าด้วยการนั้นจะได้กำหนดไว้เป็นประการอื่น
           ในการบังคับเรียกเก็บภาษีอากรค้างชำระ ให้ปลัดกรุงเทพมหานคร หรือผู้อำนวยการเขต โดยความเห็นชอบของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีอำนาจสั่งยึด และสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดชอบเสียภาษีอากรได้ โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง
           วิธียึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวในวรรคสอง ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยอนุโลม
           เงินที่ได้จากการขายทอดตลาด เมื่อหักค่าธรรมเนียมกับค่าใช้จ่ายในการยึด และขาย และเงินภาษีอากรค้างชำระออกแล้ว ถ้ามีเงินเหลือให้คืนแก่เจ้าของทรัพย์สิน
           มาตรา ๑๑๖ กรุงเทพมหานครจะมอบให้กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียม เรียกเก็บภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมเพื่อกรุงเทพมหานครก็ได้ ในกรณีเช่นนี้เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงแล้ว ให้กระทรวง ทบวง กรม นั้นส่งมอบให้แก่กรุงเทพมหานคร
           มาตรา ๑๑๗ กรุงเทพมหานครอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้
           (๑) รายได้จากทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร
           (๒) รายได้จากการสาธารณูปโภคของกรุงเทพมหานคร
           (๓) รายได้จากการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร การทำกิจการร่วมกับบุคคลอื่นหรือจากสหการ
           (๔) ภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมตามที่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นของเทศบาลหรือมีกฎหมายบัญญัติให้เป็นของกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะ
           (๕) ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต และค่าปรับตามที่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้
           (๖) ค่าบริการตามมาตรา ๙๒
           (๗) รายได้จากการจำหน่ายพันธบัตร เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และตราเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
           (๘) เงินกู้จากกระทรวง ทบวง กรม องค์การ หรือนิติบุคคลต่าง ๆซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร
           (๙) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล ส่วนราชการ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่นและเงินสมทบจากรัฐบาล
           (๑๐) เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ องค์การต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ
           (๑๑) เงินกู้จากต่างประเทศ องค์การต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร
           (๑๒) เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีผู้อุทิศให้
           (๑๓) เงินช่วยเหลือหรือเงินค่าตอบแทน
           (๑๔) รายได้จากทรัพย์สินของแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการเพื่อมุ่งแสวงหากำไรในกรุงเทพมหานครตามที่จะมีกฎหมายกำหนด
           (๑๕) รายได้จากการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินหรือค่าธรรมเนียมพิเศษตามที่จะมีกฎหมายกำหนด
           (๑๖) รายได้อื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นของกรุงเทพมหานคร
           มาตรา ๑๑๘ กรุงเทพมหานครอาจมีรายจ่ายดังต่อไปนี้
           (๑) เงินเดือน
           (๒) ค่าจ้างประจำ
           (๓) ค่าจ้างชั่วคราว
           (๔) ค่าตอบแทน
           (๕) ค่าใช้สอย
           (๖) ค่าสาธารณูปโภค
           (๗) ค่าวัสดุ
           (๘) ค่าครุภัณฑ์
           (๙) ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
           (๑๐) เงินอุดหนุน
           (๑๑) รายจ่ายอื่นตามที่กฎหมายหรือระเบียบของกรุงเทพมหานครกำหนดไว้
           (๑๒) รายจ่ายตามข้อผูกพัน
           มาตรา ๑๑๙ การจ่ายเงินของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามที่ได้อนุญาตไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม การจ่ายเงินซึ่งมิได้อนุญาตไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อบัญญัติว่าด้วยการนั้น
           มาตรา ๑๒๐ ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบการรับเงินการจ่ายเงิน การบัญชี การเงิน และทรัพย์สินอื่นๆ ของกรุงเทพมหานคร
           เมื่อสิ้นปีงบประมาณให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครประกาศรายงานการรับจ่ายเงินประจำปีงบประมาณที่สิ้นสุดลงนั้นในราชกิจจานุเบกษา โดยมิชักช้า
           รายงานการรับจ่ายเงินประจำปีตามวรรคสอง เมื่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบแล้ว ให้ทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อเสนอสภากรุงเทพมหานคร

หมวด ๘
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกรุงเทพมหานคร

            มาตรา ๑๒๑ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการอื่นนอกเหนือจากที่พระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ถ้ากระทรวง ทบวง กรมใดเห็นสมควรส่งข้าราชการมาประจำกรุงเทพมหานครเพื่อปฏิบัติราชการในหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรมนั้น ๆ ก็ย่อมกระทำได้ โดยทำความตกลงกับกรุงเทพมหานคร
           มาตรา ๑๒๒ การตั้งงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนในกรุงเทพมหานครให้รัฐบาลตั้งให้กรุงเทพมหานครโดยตรง
           ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอื่น เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดให้แก่กรุงเทพมหานครนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะออกระเบียบกำหนดการใช้จ่ายเงินดังกล่าวก็ได้
           มาตรา ๑๒๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานคร เพื่อการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริง หรือสั่งให้ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานครชี้แจงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานคร ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นว่าการปฏิบัติใด ๆ ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขัดต่อกฎหมาย มติของคณะรัฐมนตรี หรือเป็นไปในทางที่อาจทำให้เสียประโยชน์ของกรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะยับยั้งหรือสั่งการตามที่เห็นสมควรก็ได้

บทเฉพาะกาล

           มาตรา ๑๒๔ ในระหว่างที่ยังมิได้ตราพระราชกฤษฎีกา ออกกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ ประกาศ หรือคำสั่ง เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับข้อบัญญัติ ประกาศ หรือคำสั่งที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามาใช้บังคับโดยอนุโลม
           มาตรา ๑๒๕ให้ดำเนินการให้มีกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
           มาตรา ๑๒๖ ให้กรุงเทพมหานครจัดให้มีส่วนราชการตามมาตรา ๖๐ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
           มาตรา ๑๒๗ ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภาเขตให้เสร็จสิ้นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
           มาตรา ๑๒๘ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดตามกฎหมายนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของปลัดกรุงเทพมหานคร
           ในการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเขตแต่ละเขตเป็นเขตเลือกตั้ง และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่จะทำการเลือกตั้งในแต่ละเขตนั้น
           จำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่แต่ละเขตจะพึงมี ให้คำนวณตามเกณฑ์จำนวนราษฎรแต่ละเขตตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่กระทรวงมหาดไทยประกาศครั้งสุดท้ายก่อนวันประกาศพระราชกฤษฎีกา ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครในราชกิจจานุเบกษา โดยถือเกณฑ์หนึ่งแสนคนต่อสมาชิกสภากรุงเทพมหานครหนึ่งคน เขตใดมีราษฎรไม่ถึงหนึ่งแสนคนให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครในเขตนั้นได้หนึ่งคน ถ้าเขตใดมีราษฎรเกินหนึ่งแสนคนก็ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครในเขตนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนต่อจำนวนราษฎรทุกหนึ่งแสนคน เศษของหนึ่งแสนถ้าถึงห้าหมื่นหรือกว่านั้นให้นับเป็นหนึ่งแสน
           การประกาศตามวรรคสอง และผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
           มาตรา ๑๒๙ ในระหว่างที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๕๙ให้นำบัญชีอัตราเงินเดือนของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๔ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐ มาใช้บังคับ
           มาตรา ๑๓๐ นับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครตามมาตรา ๑๒๗ ให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาคงมีวาระอยู่ในตำแหน่งต่อไป ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวเมื่อมีเหตุอันสมควร ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้งคณะหรือแต่ละบุคคลพ้นจากตำแหน่ง และจะแต่งตั้งบุคคลที่เห็นสมควรดำรงตำแหน่งแทนก็ได้
           ในกรณีที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานครว่างลงในระหว่างระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะแต่งตั้งบุคคลที่เห็นสมควรดำรงตำแหน่งแทนก็ได้
           มาตรา ๑๓๑ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งได้รับเลือกตั้งตามมาตรา ๑๒๗ จะเข้ารับหน้าที่ ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวเมื่อมีเหตุอันสมควรให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตำแหน่งและจะแต่งตั้งบุคคลที่เห็นสมควรดำรงตำแหน่งแทนก็ได้
           มาตรา ๑๓๒ ให้ตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบลและสารวัตรกำนันในเขตกรุงเทพมหานครที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงมีอยู่ต่อไป ถ้าในเขตหรือแขวงใดหมดความจำเป็นต้องมีตำแหน่งดังกล่าว ให้กรุงเทพมหานครประกาศยกเลิกตำแหน่งนั้น ในราชกิจจานุเบกษา

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
รองนายกรัฐมนตรี

(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๑๕ ฉบับพิเศษ หน้า ๑ วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๒๘)

หมายเหตุ
            เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้วรวม ๕ ครั้ง ก็ยังมีบทบัญญัติที่ไม่เหมาะสมกับกาลสมัย ดังนั้น เพื่อให้การบริหารราชการกรุงเทพมหานครมีความเหมาะสมและคล่องตัว สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนได้โดยสะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้เป็นไปตามหลักการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๔
(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๒๐๑ ฉบับพิเศษ หน้า ๒๐๘ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๔)

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๙
(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๙ ก หน้า 1วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๓๙)

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๒ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๑๐๔ ก หน้า ๒๒ วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๒)
หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ในส่วนของการกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการมีสัญชาติไทยและการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งยังไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังได้เพิ่มสิทธิของราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถลงคะแนนเสียงให้สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งตามที่กฎหมายบัญญัติ และให้มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ รวมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

หน้าที่แล้ว   หน้า 1 | หน้า 2