มาตรา ๖๔ เมืองพัทยาอาจให้บริการแก่บุคคล หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น โดยมีค่าตอบแทนได้ เมื่อบริการนั้นโดยปกติเป็นบริการที่มีค่าตอบแทน
การประกอบการพาณิชย์ของเมืองพัทยาให้ตราเป็นข้อบัญญัติ
การประกอบกิจการใดที่เมืองพัทยามีรายได้หรือผลพลอยได้อันเกิดจากการกระทำตามอำนาจหน้าที่จะไม่ตราเป็นข้อบัญญัติก็ได้
มาตรา ๖๕ เมืองพัทยาอาจดำเนินกิจการนอกเขตเมืองพัทยา เมื่อการนั้นจำเป็นต้องทำและเป็นการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่อยู่ภายในเขตเมืองพัทยา หรือเป็นประโยชน์แก่เมืองพัทยา
การดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาเมืองพัทยา และได้รับความยินยอมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะเข้าไปดำเนินการ
ในกรณีที่ไม่ได้รับความยินยอมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามวรรคสอง ให้นายกเมืองพัทยารายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณา ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าการดำเนินกิจการนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นส่วนรวม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการให้นายกเมืองพัทยาและผู้แทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมาประชุม เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน
มาตรา ๖๖ ในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดดำเนินกิจการใดที่อยู่นอกเขตเมืองพัทยา อันมีลักษณะที่จะมีผลกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อย หรือความปลอดภัยของประชาชนในเขตเมืองพัทยา ให้นายกเมืองพัทยาเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าวร่วมกัน
เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับข้อเสนอของนายกเมืองพัทยาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งภายในสิบห้าวันนับแต่ได้รับข้อเสนอและถ้าคณะกรรมการได้พิจารณาและมีมติอย่างใดแล้ว ให้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อแจ้งให้เมืองพัทยาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติและคณะกรรมการต่อไป ในกรณีที่หาข้อยุติไม่ได้ ให้รัฐมนตรีเป็นผู้ชี้ขาด
คณะกรรมการตามวรรคสอง ให้ประกอบด้วยผู้แทนเมืองพัทยา ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และบุคคลอื่นตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควร
มาตรา ๖๗ ในกรณีที่หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ดำเนินกิจการใดที่อยู่นอกเขตเมืองพัทยาอันมีลักษณะที่จะมีผลกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อย หรือความปลอดภัยของประชาชนในเขตเมืองพัทยา ให้นายกเมืองพัทยารายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อแจ้งให้หน่วยราชการรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาและหาข้อยุติร่วมกัน
มาตรา ๖๘ ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการให้บริการแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและลดภาระทางการเงินของเมืองพัทยา เมืองพัทยาอาจมอบให้บุคคลอื่นหรือเข้าร่วมกับบุคคลอื่นกระทำกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยาได้ ในกรณีเช่นนั้น ผู้กระทำกิจการมีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือค่าตอบแทน ที่เกี่ยวข้องกับกิจการนั้นแทนเมืองพัทยาตามอัตราที่ได้ทำความตกลงกับเมืองพัทยาได้
การกระทำกิจการตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาเมืองพัทยา และรัฐมนตรีก่อน
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกระทำกิจการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติ ทั้งนี้ ข้อบัญญัติดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะที่อาจเป็นผลให้ประชาชนผู้ใช้หรือรับบริการต้องเสียค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายอื่นสูงขึ้น
มาตรา ๖๙ เมืองพัทยาอาจร่วมกับหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น จัดตั้งองค์การขึ้นเรียกว่า สหการ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เพื่อทำกิจการใดอันอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยาได้
การจัดตั้งสหการจะทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยระบุชื่อ อำนาจหน้าที่ และวิธีการบริการและการดำเนินงานไว้ และเมื่อจะยุบเลิกสหการ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยระบุวิธีจัดการทรัพย์สินไว้ด้วย
หมวด ๕
ข้อบัญญัติเมืองพัทยา
มาตรา ๗๐ เมืองพัทยามีอำนาจตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) การปฏิบัติให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยา
(๒) เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้เมืองพัทยามีอำนาจตราข้อบัญญัติได้
(๓) การให้บริการโดยมีค่าตอบแทนตามมาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง
(๔) การพาณิชย์ตามมาตรา ๖๔ วรรคสอง
(๕) การคลัง การงบประมาณ การเงิน ทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจ้าง และการพัสดุ
ในข้อบัญญัติตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดโทษจำคุกหรือโทษปรับหรือทั้งจำและปรับผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่จะกำหนดโทษจำคุกเกินหกเดือนและโทษปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้
ข้อบัญญัติตาม (๕) ต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานกลางที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
ข้อบัญญัติตามวรรคหนึ่งจะตราขึ้นได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาเมืองพัทยา
มาตรา ๗๑ ร่างข้อบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดยนายกเมืองพัทยา สมาชิก หรือราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมืองพัทยาตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
ในกรณีที่สมาชิกเป็นผู้เสนอร่างข้อบัญญัติ ต้องมีสมาชิกลงนามรับรอง ไม่น้อยกว่าสองคน
ร่างข้อบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน สมาชิกจะเสนอได้ต่อเมื่อคำรับรองของนายกเมืองพัทยา
มาตรา ๗๒ ร่างข้อบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน หมายความถึงข้อบัญญัติ ว่าด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) การจัดเก็บ ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบ การบังคับ อันเกี่ยวกับภาษีอากร
(๒) การเก็บรักษาเงิน การจ่ายเงิน หรือการโอนงบประมาณของเมืองพัทยา
(๓) การกู้เงิน การค้ำประกัน หรือการใช้เงินกู้
(๔) การคลัง การงบประมารณ การเงิน ทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจ้าง และการพัสดุ
ในกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้อบัญญัติใดเป็นร่างข้อบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน ที่จะต้องมีคำรับรองของนายกเมืองพัทยา ให้ประธานสภาเมืองพัทยาเป็นผู้วินิจฉัย
มาตรา ๗๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๗๖ ร่างข้อบัญญัติที่สภาเมืองพัทยาไม่เห็นชอบด้วยให้เป็นอันตกไป
ร่างข้อบัญญัติที่ตกไปตามวรรคหนึ่ง จะเสนอใหม่ได้เมื่อพ้นหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ร่างข้อบัญญัตินั้นตกไป
มาตรา ๗๔ งบประมาณรายจ่ายประจำปีของเมืองพัทยา ต้องตราเป็นข้อบัญญัติ ในกรณีที่ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของปีงบประมาณก่อนนั้นไปพลางก่อน
ในกรณีที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ตั้งไว้ไม่พอสำหรับการใช้จ่าย หรือมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายขึ้นใหม่ระหว่างปีงบประมาณ ให้ตราเป็นข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
มาตรา ๗๕ ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม สภาเมืองพัทยาจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ทสภาเมืองพัทยาได้รับร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้น
ถ้าสภาเมืองพัทยาพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสภาเมืองพัทยาได้ให้ความเห็นชอบในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้น และให้นายกเมืองพัทยาลงนามใช้บังคับเป็นข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายต่อไป
ในการพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของสภาเมืองพัทยา การเสนอ การแปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกมีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้
มาตรา ๗๖ ในกรณีที่สภาเมืองพัทยาไม่เห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้สภาเมืองพัทยาตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยกรรมการจำนวนสิบห้าวัน เพื่อพิจารณาหาข้อยุติความขัดแย้งในสาระสำคัญที่บัญญัติไว้ในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้น
คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งสภาเมืองพัทยาแต่งตั้งจำนวนเจ็ดคน และบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกซึ่งนายกเมืองพัทยาเสนอจำนวนเจ็ดคน และให้กรรมการทั้งสิบสี่คนร่วมกันปรึกษาและเสนอบุคคลซึ่งมิได้เป็นกรรมการและมิได้เป็นสมาชิกคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าวภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่กรรมการครบจำนวนสิบสี่คน
ในกรณีที่ไม่สามารถเสนอบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นประธานได้ภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งบุคคลซึ่งมิได้เป็นกรรมการและมิได้เป็นสมาชิกขึ้นทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการดังกล่าว
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งพิจารณาและรายงานผลการพิจารณาต่อสภาเมืองพัทยาให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่แต่งตั้งประธานคณะกรรมการ ในกรณีที่คณะกรรมการไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ประธานคณะกรรมการรวบรวมผลการพิจารณา แล้ววินิจฉัยชี้ขาดและรายงานต่อสภาเมืองพัทยาโดยเร็ว
ถ้าสภาเมืองพัทยายังไม่เห็นชอบด้วยกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการ หรือผลการวินิจฉัยของประธานคณะกรรม แล้วแต่กรณี ให้ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้นเป็นอันตกไปและให้รัฐมนตรีสั่งยุบสภาเมืองพัทยา
มาตรา ๗๗ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่สภาเมืองพัทยามีมติเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติใดให้ประธานสภาเมืองพัทยาส่งร่างข้อบัญญัตินั้นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา
ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องพิจารณาร่างข้อบัญญัติตามวรรคหนึ่งให้เสร็จและส่งคืนประธานสภาเมืองพัทยาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ร่างข้อบัญญัตินั้น ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติดังกล่าว
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งให้นายกเมืองพัทยาลงนามใช้บังคับเป็นข้อบัญญัติต่อไป แต่ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นชอบด้วยให้ส่งร่างข้อบัญญัตินั้นพร้อมด้วยเหตุผลที่ไม่เห็นชอบด้วยคืนไปยังสภาเมืองพัทยาเพื่อพิจารณาใหม่ ถ้าสภาเมืองพัทยามีมติยืนยันตามร่างข้อบัญญัติเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ให้ประธานสภาเมืองพัทยาแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบและส่งร่างข้อบัญญัตินั้นให้นายกเมืองพัทยาลงนามใช้บังคับเป็นข้อบัญญัติต่อไป
มาตรา ๗๘ ข้อบัญญัตินั้นให้ประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ ศาลาว่าการเมืองพัทยาและให้มีผลใช้บังคับได้ ดังนี้
(๑) ถ้าเป็นข้อบัญญัติว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไปหรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัตินั้น
(๒) ถ้าเป็นข้อบัญญัติอื่น ให้มีผลใช้บังคับเพื่อพ้นเจ็ดวันนับแต่วันประกาศ เว้นแต่ข้อบัญญัตินั้นจะกำหนดไว้เป็นประการอื่น แต่ต้องไม่เร็วกว่าวันถัดจากวันประกาศ
ให้ปลัดเมืองพัทยาเป็นผู้รับผิดชอบในการประกาศข้อบัญญัติตามวรรคหนึ่ง และให้ระบุวันที่ที่ประกาศไว้ด้วย
มาตรา ๗๙ ให้เมืองพัทยาจัดให้มีสำเนาข้อบัญญัติไว้ ณ ศาลาว่าการเมืองพัทยาเพื่อให้ประชาชนตรวจดูได้ว่า และหากประชาชนประสงค์จะได้สำเนาข้อบัญญัติใด ๆ ให้เมืองพัทยาจัดให้โดยคิดค่าตอบแทนได้ไม่เกินค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริงในการดำเนินการดังกล่าว
หมวด ๖
รายได้และรายจ่าย
มาตรา ๘๐ ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย และอากรการฆ่าสัตว์และค่าธรรมเนียมรวมถึงผลประโยชน์อื่นอันเกิดจากการฆ่าสัตว์ ในเขตเมืองพัทยา ให้เมืองพัทยาจัดเก็บเป็นรายได้ของเมืองพัทยาตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
มาตรา ๘๑ กิจการใดที่มีกฎหมายมอบหน้าที่ให้เทศบาลหรือนายกเทศมนตรีเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการหรือกำหนดให้แบ่งรายได้ให้เทศบาล ถ้ากิจการนั้นอยู่ในเขตเมืองพัทยา ให้เมืองพัทยาหรือนายกเมืองพัทยาเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการหรือให้เมืองพัทยาได้รับส่วนแบ่งรายได้ตามกฎหมายนั้น และบรรดาค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต และค่าปรับ เนื่องในกิจการเช่นว่านั้น ให้เป็นรายได้ของเมืองพัทยา
มาตรา ๘๒ เมืองพัทยามีอำนาจออกข้อบัญญัติเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละสิบของภาษีอากรและค่าธรรมเนียมประเภทใดประเภทหนึ่งหรือทุกประเภท ดังต่อไปนี้
(๑) ภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร ซึ่งสถานประกอบการอยู่ในเขตเมืองพัทยา
(๒) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุราตามกฎหมายว่าด้วยสุรา ซึ่งร้านขายสุราอยู่ในเขตเมืองพัทยา
(๓) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในการเล่นการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน ซึ่งสถานที่เล่นการพนันอยู่ในเขตเมืองพัทยา
ในการเสียภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามมาตรานี้เศษของหนึ่งบาทให้ปัดทิ้ง
ภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นภาษีอากรและค่าธรรมเนียม ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
มาตรา ๘๓ เมืองพัทยามีอำนาจออกข้อบัญญัติเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดยให้กำหนดเป็นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นจากอัตราที่เรียกเก็บตามประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่ประมวลรัษฎากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละศูนย์ ให้เมืองพัทยาเก็บอัตราร้อยละศูนย์
(๒) ในกรณีที่ประมวลรัษฎากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราอื่น ให้เมืองพัทยาเก็บหนึ่งในเก้าของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บเพิ่มขึ้นตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร
มาตรา ๘๔ เมื่อเมืองพัทยาออกข้อบัญญัติตามมาตรา ๘๒ (๑) หรือมาตรา ๘๓ แล้วให้เป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรที่จะจัดเก็บภาษีดังกล่าวให้เมืองพัทยา
มาตรา ๘๕ เมืองพัทยาจะมอบให้กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าตอบแทน หรือรายได้อื่นใด เพื่อเมืองพัทยาก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายไม่เกินร้อยละหนึ่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้วให้กระทรวง ทบวง กรม นั้นส่งมอบให้แก่เมืองพัทยา
มาตรา ๘๖ ในการปฏิบัติตามมาตรา ๘๐ มาตรา ๘๑ หรือข้อบัญญัติที่ออกตามมาตรา ๘๒ (๒) หรือ (๓) ให้เมืองพัทยามีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการ และให้เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับแต่งตั้งมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ในการบังคับเรียกเก็บภาษีค้างตามมาตรา ๘๐ มาตรา ๘๑ มาตรา ๘๒ (๒) หรือ (๓) หรือมาตรา ๘๓ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากนายกเมืองพัทยา ให้ปลัดเมืองพัทยามีอำนาจสั่งยึดและสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรโดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง แต่ถ้าจะขายทอดตลาดต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย
วิธีการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามวรรคสอง ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม
เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น ให้หักค่าธรรมเนียมกับค่าใช้จ่ายในการยึดและขายและเงินภาษีอากรค้าง ถ้ามีเงินเหลือให้คืนให้แก่เจ้าของทรัพย์สิน
มาตรา ๘๗ ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อนที่จัดเก็บได้ในจังหวัดชลบุรี ให้จัดสรรให้แก่เมืองพัทยาโดยให้ถือว่าเมืองพัทยาเป็นเทศบาล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการนั้น
มาตรา ๘๘ ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้จัดสรรหรือแบ่งรายได้ อันเกิดจากภาษีอากร ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต หรือค่าปรับใด ๆ ให้แก่เทศบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ให้เมืองพัทยาได้รับส่วนแบ่งรายได้ดังกล่าวด้วย เช่นเดียวกับเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นและเพื่อประโยชน์ในการนี้ ให้ถือว่าเมืองพัทยาเป็นเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นแล้วแต่กรณี
มาตรา ๘๙ เมืองพัทยาอาจมีรายได้อื่นดังต่อไปนี้
(๑) ภาษีอากร ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต หรือค่าปรับใด ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
(๒) รายได้จากทรัพย์สินของเมืองพัทยา
(๓) รายได้จากสาธารณูปโภคของเมืองพัทยา
(๔) รายได้จากการพาณิชย์ของเมืองพัทยา
(๕) รายได้จากการจำหน่ายพันธบัตรเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังร่วมกัน และตราเป็นข้อบัญญัติแล้ว
(๖) เงินกู้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทย และตราเป็นข้อบัญญัติแล้ว ถ้าเป็นเงินกู้จากต่างประเทศต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังด้วย
(๗) เงินอุดหนุนหรือรายได้อื่นตามที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐจัดสรรให้
(๘) เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ องค์การต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ถ้าเป็นกรณีที่เงินช่วยเหลือดังกล่าวมีเงื่อนไขหรือข้อผูกพันใด ๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังร่วมกันก่อน ถ้ากรณีไม่มีเงื่อนไขหรือข้อผูกพันใด ๆ ให้รายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ
(๙) เงินช่วยเหลือและค่าตอบแทน
(๑๐) เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีผู้อุทิศให้
(๑๑) รายได้อื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นของเมืองพัทยา
มาตรา ๙๐ การตั้งงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนเมืองพัทยา ให้รัฐบาลตั้งให้เมืองพัทยาโดยตรง ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความเหมาะสมของปริมาณงาน และรายได้ของรัฐที่ได้รับจากเมืองพัทยาด้วย
ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอื่น เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดให้แก่เมืองพัทยา รัฐมนตรีจะออกระเบียบเพื่อกำหนดการใช้จ่ายเงินดังกล่าวก็ได้
มาตรา ๙๑ เมืองพัทยาอาจมีรายจ่ายดังต่อไปนี้
(๑) เงินเดือน
(๒) ค่าจ้าง
(๓) ค่าตอบแทน
(๔) ค่าใช้สอย
(๕) ค่าวัสดุ
(๖) ค่าครุภัณฑ์
(๗) ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
(๘) เงินอุดหนุน
(๙) รายจ่ายตามข้อผูกพัน
(๑๐) รายจ่ายอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือข้อบัญญัติกำหนด
มาตรา ๙๒ การจ่ายเงินของเมืองพัทยา ให้เป็นไปตามที่ได้อนุญาตไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
การจ่ายเงินที่มิได้อนุญาตไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อเป็นกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาประโยชน์ของเมืองพัทยา หรือการป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย ในกรณีเช่นนั้น นายกเมืองพัทยาจะสั่งจ่ายเงินจากเงินสะสมไปก่อนก็ได้ แต่ต้องรายงานให้สภาเมืองพัทยาทราบในการประชุมครั้งแรกหลังจากการสั่งจ่ายเงินและให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้เงินสะสมต่อไป ทั้งนี้ การจ่ายเงินสะสมและการตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้เงินสะสมให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
งบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้เพื่อการใด จะโอนไปเพื่อใช้จ่ายสำหรับการอื่นไม่ได้ เว้นแต่จะมีข้อบัญญัติให้โอนได้
มาตรา ๙๓ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ ให้นายกเมืองพัทยาประกาศรายการรับจ่ายเงินประจำปีงบประมาณที่สิ้นสุดลงพร้อมทั้งรายการผูกพันที่เบิกตัดปีงบประมาณไว้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สิ้นสุดปีงบประมาณ ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบการรับเงิน การจ่ายเงิน การบัญชี การเงินและทรัพย์สินอื่น ๆ ของเมืองพัทยาและทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอนายกเมืองพัทยาเพื่อเสนอสภาเมืองพัทยาต่อไป
หมวด ๗
การกำกับดูแล
มาตรา ๙๔ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของเมืองพัทยาเพื่อการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงหรือสั่งให้นายกเมืองพัทยาชี้แจงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของเมืองพัทยาได้
มาตรา ๙๕ บรรดาเรื่องที่เมืองพัทยาต้องเสนอไปยังรัฐมนตรีหรือกระทรวง ทบวง กรม ให้นายกเมืองพัทยารายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบด้วย ในการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำความเห็นเสนอรัฐมนตรี หรือกระทรวง ทบวง กรม แล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้
มาตรา ๙๖ ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่านายกเมืองพัทยาปฏิบัติการในทางที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่เมืองพัทยา หรือกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อบัญญัติและผู้ว่าราชการจังหวัดได้ชี้แจง แนะนำ หรือตักเตือนแล้ว แต่นายกเมืองพัทยาไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานให้รัฐมนตรีทราบเพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นรีบด่วนที่จะรอช้ามิได้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจตามคำสั่งระงับการปฏิบัติราชการของนายกเมืองพัทยาไว้ตามที่เห็นสมควรได้
การกระทำของนายกเมืองพัทยาที่ฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐมนตรี แล้วแต่กรณีตามวรรคหนึ่ง ไม่มีผลผูกพันเมืองพัทยา
มาตรา ๙๗ ในกรณีที่เมืองพัทยาดำเนินการนอกเขตเมืองพัทยาตามมาตรา ๖๕ และกิจการนั้นมีลักษณะที่อาจนำมาซึ่งความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนในเขตเมืองพัทยา หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อย หรือความปลอดภัยของประชาชนในเขตเมืองพัทยาหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจแนะนำให้ปรับปรุงแก้ไขหรือกระทำการใด ๆ ได้ตามสมควร ในกรณีที่เมืองพัทยาไม่ปฏิบัติตามและผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าไม่มีเหตุผลอันสมควร ผู้ว่าราชการจังหวัดจะออกคำสั่งระงับการดำเนินกิจการดังกล่าวก็ได้
มาตรา ๙๘ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในเขตเมืองพัทยาหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม ผู้ว่าราชการจังหวัดจะรายงานเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งยุบสภาเมืองพัทยาก็ได้
เมื่อมีกรณีตามวรรคหนึ่งหรือกรณีอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ รัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภาเมืองพัทยา และให้แสดงเหตุผลไว้ในคำสั่งด้วย
มาตรา ๙๙ บรรดาอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเห็นสมควร จะทำหนังสือมอบอำนาจให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติแทนก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้เมืองพัทยาทราบและให้รายงานกระทรวงมหาดไทยทราบด้วย
บทเฉพาะกาล
มาตรา ๑๐๐ ให้สมาชิกสภาเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง และให้เลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัตินี้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๑๐๑ ให้ปลัดเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่ง และให้มีการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ในระหว่างที่ไม่มีนายกเมืองพัทยาตามวรรคหนึ่ง ให้ปลัดเมืองพัทยาซึ่งได้รับแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกเมืองพัทยาเท่าที่จำเป็นได้เป็นการชั่วคราวจนกว่านายกเมืองพัทยา ซึ่งได้รับเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่
ในกรณีที่ไม่มีปลัดเมืองพัทยาตามวรรคสอง ให้หัวหน้าสำนักปลัดเมืองพัทยา ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกเมืองพัทยาเท่าที่จำเป็นได้เป็นการชั่วคราว จนกว่านายกเมืองพัทยาที่ได้รับเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่
มาตรา ๑๐๒ ในระหว่างที่ไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้นำกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้บังคับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยาหรือนายกเมืองพัทยาเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ให้ยกเว้นไม่ต้องเรียกเก็บเงินประกันการสมัคร
ในการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา ให้ถือเขตเมืองพัทยาเป็นเขตเลือกตั้ง
ในกรณีที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยา และนายกเมืองพัทยาในคราวเดียวกันให้ใช้หน่วยเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจตรวจคะแนน เจ้าหน้าที่คะแนนและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันก็ได้
ใบสมัครและบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยา หรือนายกเมืองพัทยาให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยเรียบร้อย กระทรวงมหาดไทยอาจออกระเบียบกำหนดวิธีปฏิบัติในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยา หรือนายกเมืองพัทยาเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลได้
มาตรา ๑๐๓ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ และเงินงบประมาณของเมืองพัทยาที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไปเป็นของเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๐๔ ให้บรรดาพนักงานเมืองพัทยาและลูกจ้างเมืองพัทยาซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นพนักงานเมืองพัทยาหรือลูกจ้างเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัตินี้
ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของพนักงานเมืองพัทยาและลูกจ้างเมืองพัทยา ให้การบริหารงานบุคคลของพนักงานเมืองพัทยาและลูกจ้างเมืองพัทยาเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑
มาตรา ๑๐๕ ให้บรรดาข้อบัญญัติ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศของเมืองพัทยาและมติของเมืองพัทยาซึ่งออกโดยสภาเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ และใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นข้อบัญญัติ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และมติของเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๐๖ บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศในเรื่องใดที่ออกตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๒๑ หรือที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือที่ใช้บังคับกับเมืองพัทยาหรือกิจการของเมืองพัทยา และใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศในเรื่องนั้น ตามพระราชบัญญัตินี้ขึ้นใช้บังคับแทน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๑๒๐ ก หน้า ๒๑ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒)
หมายเหตุ
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น แต่เนื่องจากการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเมืองพัทยาในปัจจุบันซึ่งมีปลัดเมืองพัทยาทำหน้าที่บริหารกิจการเมืองพัทยาโดยสัญญาจ้างยังไม่สอดคล้องและเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ประกอบกับสมควรจัดระเบียบการปกครองเมืองพัทยาใหม่ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ และเพื่อให้เมืองพัทยามีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การปกครอง การบริหาร การบริหารงานบุคคล การเงิน และการคลังสอดคล้องกับหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|