หน้าแรก บทความสาระ
พระราชอำนาจ การลงพระปรมาภิไธย และการสนองพระบรมราชโองการ โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๒) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, DEA de Droit public général et Droit de l’environnement (Université de Nantes)
21 มกราคม 2550 23:08 น.
 
ระบอบประชาธิปไตยที่มีประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์และใช้ระบบรัฐสภา มีหลักการสำคัญประการหนึ่ง คือ “กษัตริย์ไม่ทรงต้องรับผิด” หรือ “The king can do no wrong” ที่ว่า “no wrong” นั้น หมายความว่า “The king” ไม่ทำอะไรเลยจึง “no wrong” กล่าวคือ กษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเทศ คณะรัฐมนตรี สภา ศาล องค์กรของรัฐอื่นๆ แล้วแต่กรณี เป็นผู้ใช้อำนาจอย่างแท้จริงในนามของกษัตริย์ และเป็นผู้ใช้อำนาจเหล่านั้นนั่นเองที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการกระทำของตน สมดังคำกล่าวที่ว่า “กษัตริย์ทรงปกเกล้าแต่ไม่ทรงปกครอง”
       
       เป็นธรรมดาอยู่เองที่ประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ต้องใช้ระบบรัฐสภาที่มีการแยกประมุขของรัฐ (Head of State) ซึ่งก็คือกษัตริย์ ออกจากหัวหน้ารัฐบาล (Head of government) อันได้แก่นายกรัฐมนตรี ประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุขไม่มีทางที่จะใช้ระบบประธานาธิบดีได้ เพราะระบบประธานาธิบดีไม่มีการแยกประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลออกจากกัน หากเป็นตัวประธานาธิบดีที่เป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล
       
       เดิมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ริเริ่มให้มีสภาและคณะมนตรี กษัตริย์มีอำนาจแท้จริงในการบริหารประเทศและออกกฎหมาย โดยมีสภาหรือคณะมนตรีทำหน้าที่ปรึกษาและให้ความช่วยเหลือ แต่ในท้ายที่สุดก็เป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจตัดสินใจโดยแท้ ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตยแต่ยังคงต้องการรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ จึงยกให้กษัตริย์ขึ้นเป็นประมุขของรัฐแต่ไม่ได้มีอำนาจในทางการเมือง และมีการแบ่งแยกหัวหน้ารัฐบาลออกจากประมุขของรัฐอย่างชัดเจน โดยนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลและรับผิดชอบต่อรัฐสภา
       
       เพื่อให้เป็นไปตามสามหลักการ อันได้แก่ หนึ่ง หลักการของราชอาณาจักรที่กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐต้องเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน สอง หลัก “ The king can do no wrong ” และสาม หลักการตามระบอบประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องคิดค้น “การลงพระปรมาภิไธย” และ “การสนองพระบรมราชโองการ” (Contreseing) ขึ้น กล่าวคือ การใช้อำนาจอธิปไตยต้องใช้ในนามกษัตริย์เสมอจึงต้องให้กษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยในการกระทำต่างๆที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจอธิปไตย แต่เมื่อกษัตริย์ไม่ต้องรับผิด และไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริงตามระบอบประชาธิปไตย จึงต้องให้องค์กรหรือบุคคลที่ใช้อำนาจในเรื่องนั้นจริงๆ เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบแทน ด้วยการกำหนดให้องค์กรหรือบุคคลนั้นเข้ามาเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ
       
       การสนองพระบรมราชโองการจึงเกิดขึ้นเพื่อถ่ายโอนอำนาจและความรับผิดชอบจากประมุขของรัฐมายังหัวหน้ารัฐบาล และแบ่งแยกอำนาจและความรับผิดระหว่างประมุขของรัฐกับหัวหน้ารัฐบาลให้ชัดเจนนั่นเอง
       
       กล่าวให้ถึงที่สุด “การลงพระปรมาภิไธย” ในการกระทำใด ก็เพื่อบอกว่าการกระทำนั้นเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนในนามของกษัตริย์ และ “การสนองพระบรมราชโองการ” เพื่อแสดงให้เห็นว่าการกระทำนั้นกระทำโดยองค์กรผู้สนองพระบรมราชโองการในนามของกษัตริย์ และรับผิดชอบโดยองค์กรผู้สนองพระบรมราชโองการ
       
       เทคนิค “การลงพระปรมาภิไธย” และ “การสนองพระบรมราชโองการ” จึงเป็นของคู่กันที่ขาดเสียมิได้ในรัฐธรรมนูญของทุกประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย (Démocratie) มีประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์ (Monarchie) และใช้ระบบรัฐสภา (Régime parlementaire)
       
       เราอาจพิจารณาได้จากรัฐธรรมนูญของประเทศที่ปกครองในระบอบดังกล่าวได้ ดังนี้
       
       รัฐธรรมนูญสเปน ๑๙๗๘ มาตรา ๕๖ มาตรา ๖๔ และมาตรา ๖๕ กำหนดว่าองค์พระมหากษัตริย์แห่งสเปนไม่อาจถูกละเมิดได้และไม่ทรงต้องรับผิด ทั้งนี้การกระทำของพระมหากษัตริย์ต้องมีผู้สนองพระบรมราชโองการเสมอ โดยหลักแล้วนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ ในบางกรณีที่รัฐมนตรีมีอำนาจในเรื่องใด ก็เป็นรัฐมนตรีที่เป็นผู้สนองพระบรมราชโองการในเรื่องนั้น ส่วนประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการในกรณีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ผู้สนองพระบรมราชโองการย่อมเป็นผู้รับผิดชอบในการกระทำที่ตนรับสนอง หากการกระทำของพระมหากษัตริย์ไม่มีผู้สนองพระบรมราชโองการ การกระทำนั้นย่อมไม่มีผลสมบูรณ์ เว้นแต่เป็นเรื่องการจัดการงบประมาณที่รัฐบาลจัดให้เพื่อราชวงศ์และพระราชวัง และเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนและทหารในพระราชวัง ซึ่งถือเป็นพระราชอำนาจโดยแท้ของกษัตริย์
       
       ในเบลเยียม รัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๘ กำหนดว่า “องค์พระมหากษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้ รัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับผิด” โดยมาตรา ๑๐๒ ขยายความต่อไปว่า “ไม่มีกรณีใดที่พระราชดำรัสและพระราชหัตถเลขาจะหลุดพ้นไปจากการตรวจสอบของรัฐมนตรี” และมาตรา ๑๐๖ “ไม่มีการกระทำใดของกษัตริย์จะมีผล หากปราศจากการลงนามสนองพระบรมราชโองการโดยรัฐมนตรี ให้รัฐมนตรีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ”
       
       มาตราแรกของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นยืนยันว่า “จักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ของชาติและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน พระองค์ทรงใช้อำนาจตามเจตจำนงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย” และมาตรา ๓ กำหนดว่า “ทุกการกระทำของจักรพรรดิในฐานะเป็นตัวแทนของรัฐ ต้องเป็นไปตามคำแนะนำและความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการกระทำนั้น” ในมาตรา ๔ ยังเน้นย้ำให้ชัดเจนอีกว่าจักรพรรดิทรงใช้อำนาจได้เท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด และไม่มีอำนาจในการปกครองประเทศ โดยขยายความไว้ในมาตรา ๖ ว่าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและประธานศาลสูงสุดตามคำเสนอแนะของสภาไดเอท ในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารประเทศ มาตรา ๗ กำหนดไว้อย่างละเอียดให้การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา และสนธิสัญญา, การเรียกประชุมสภา การยุบสภา, การรับรองการแต่งตั้งและปลดรัฐมนตรี ข้าราชการ เอกอัครราชทูต, การอภัยโทษ, การให้เครื่องราชอิสริยาภรณ์, การรับรองการให้สัตยาบันในเอกสารทางการทูตต่างๆ, การรับเอกอัครราชทูตและรัฐมนตรีของต่างชาติ และการเป็นตัวแทนของรัฐในพิธีการสำคัญ ทั้งหลายเหล่านี้ จักรพรรดิทรงกระทำตามคำแนะนำและความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีทั้งนี้ในฐานะที่พระองค์เป็นตัวแทนของประเทศและในนามของประชาชน
       
       จากตัวอย่างข้างต้นพอสังเขป สังเกตได้ว่ารัฐธรรมนูญของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยและมีประมุขเป็นกษัตริย์ มีบทบัญญัติกำหนดไว้อย่างชัดเจนถึงการลงพระปรมาภิไธยและการสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งสองสิ่งนี้ต้องอยู่คู่กันตลอด หากการกระทำใดมีการลงพระปรมาภิไธยโดยปราศจากการสนองพระบรมราชโองการ การกระทำนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เช่นเดียวกัน หากการกระทำใดที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีการลงพระปรมาภิไธยแล้วไม่มีการลงพระปรมาภิไธย การกระทำนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ดุจกัน เว้นเสียแต่ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น (เช่น การประกาศให้กฎหมายมีผลใช้ทันทีในกรณีที่กษัตริย์ไม่ลงพระปรมาภิไธย)
       
       เทคนิค “การลงพระปรมาภิไธย” และ “การสนองพระบรมราชโองการ” ยังปรากฏอยู่ในรัฐที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีประมุขไม่ได้เป็นกษัตริย์อีกด้วย ประมุขของรัฐเหล่านี้ไม่ได้มีที่มาจากการสืบทอดตำแหน่งทางสายเลือดแต่อาจมาจากการเลือกตั้งโดยรัฐสภา รัฐเหล่านี้มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล เช่น ในเยอรมันและอิตาลี ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐโดยมาจากการเลือกของรัฐสภา และการกระทำของประธานาธิบดีจะสมบูรณ์ได้ต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลงนามรับรองร่วม (Contreseing) ด้วยเสมอ เพียงแต่เราไม่อาจแปล “Contreseing” เป็นภาษาไทยว่า “การสนองพระบรมราชโองการ” ได้เท่านั้นเอง
       
       ในส่วนของรัฐธรรมนูญไทย ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ กำหนดไว้อย่างชัดเจนในมาตรา ๓ ว่า “กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่น ๆ ซึ่งจะมีบทกฎหมายระบุไว้โดยฉะเพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามของกษัตริย์” แต่ “การกระทำใด ๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎร ผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะ กรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ” ตามมาตรา ๗
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า มีเพียงธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ฉบับเดียวเท่านั้นที่ปรากฏบทบัญญัติในลักษณะ “บททั่วไป” เพื่อยืนยันให้การกระทำในนามของกษัตริย์ต้องมีการสนองพระบรมราชโองการ หากไม่มีการสนองพระบรมราชโองการให้ถือเป็นโมฆะ นอกเหนือไปจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ไม่เคยปรากฏบทบัญญัติเช่นว่าในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นอีกเลย ตรงกันข้าม กลับมีบทบัญญัติเป็นกรณีๆไป เช่น การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ การตราพระราชบัญญัติต้องเป็นไปตามคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ตลอดจนรับรองอย่างกว้างๆในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ มาตรา ๒๓๑ ว่า “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้” แต่ก็ไม่ได้กำหนดว่าหากไม่มีการลงนามสนองพระบรมราชโองการแล้วผลจะเป็นเช่นไร
       
       อนึ่ง มีผู้เห็นกันว่าแม้โดยหลักแล้วกษัตริย์จะไม่มีพระราชอำนาจที่แท้จริงในการบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตย แต่กษัตริย์ก็อาจมีพระราชอำนาจตามธรรมเนียมปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ความข้อนี้ต้องพิจารณาว่ามีกฎเกณฑ์ใดกฎเกณฑ์หนึ่งที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจซึ่งไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นธรรมเนียมที่ประพฤติปฏิบัติกันมาจนเป็นที่ยอมรับว่าบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญต้องปฏิบัติตาม หรือไม่ อย่างไร
       
       โดยทั่วไป พระราชอำนาจตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญก็ได้แก่ การให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี การให้การสนับสนุน และการว่ากล่าวตักเตือน ในกรณีอังกฤษ มีธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญว่า กษัตริย์จะไม่ใช้พระราชอำนาจไม่เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติหรือพระราชทานคืนร่างพระราชบัญญัติกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาใหม่ ปกติแล้วกษัตริย์จะทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติเสมอ หากจะทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างพระราชบัญญัติก็ต้องมาจากคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ความข้อนี้ตรงกันข้ามกับไทย ซึ่งมีธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญว่า ในกรณีที่กษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติใด หรือไม่พระราชทานร่างพระราชบัญญัติใดคืนมาภายใน ๙๐ วัน รัฐสภาจะไม่นำร่างพระราชบัญญัตินั้นกลับมาพิจารณาเพื่อยืนยันใหม่ แต่กลับให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไปทั้งๆที่รัฐธรรมนูญ อนุญาตให้รัฐสภามีอำนาจยืนยันร่างพระราชบัญญัติกลับไปใหม่ได้
       
       สมควรกล่าวด้วยว่าพระราชอำนาจตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญของกษัตริย์แต่ละพระองค์ย่อมไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นกับพระบารมีของแต่ละพระองค์เอง อย่างไรก็ตาม ในทุกกรณี พระราชอำนาจเช่นว่าก็ไม่อาจหลุดจากกรอบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้
       
       สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ การประกาศให้พระราชบัญญัติสิ้นผลไปเพราะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การยกเลิกเพิกถอนกฎหมายลำดับรองหรือการกระทำของฝ่ายปกครองว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย การแต่งตั้งและการปลดรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง หรือข้าราชการระดับสูง ตลอดจนการพิพากษาคดีความ หลายครั้ง เราพบเห็นคนนำกรณีเหล่านี้ไปผูกติดกับ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” โดยอ้างว่ากระทบต่อการกระทำที่กษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย คำกล่าวเช่นนี้ย่อมเป็นการเข้าใจผิดโดยแท้ ก็ในเมื่อการกระทำในกรณีเหล่านี้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แสดงว่าเป็นผู้รับสนองฯที่เป็นผู้กระทำในนามของกษัตริย์ และย่อมเป็นผู้รับสนองฯนั้นเองที่ต้องรับผิดชอบ เช่นนี้แล้วจะเกี่ยวข้องกับกษัตริย์ได้อย่างไร
       
       ความสำคัญของการกำหนดให้กษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยกษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของรัฐ หาใช่ให้ผู้ใดใช้กล่าวอ้างใหญ่โตไปทั่วว่าตนมาจากพระบรมราชโองการ หากกล่าวอ้างพร่ำเพรื่อเช่นนี้ ก็เป็นอันไม่ต้องทำอะไรกัน เพราะการกระทำต่างๆที่เกี่ยวพันกับอำนาจอธิปไตยล้วนแล้วแต่กระทำในนามกษัตริย์ทั้งสิ้น ต้องไม่ลืมด้วยว่าพระปรมาภิไธยนั้นไม่ได้อยู่เพียงลำพัง หากอยู่คู่กันกับการสนองพระบรมราชโองการเสมอ หลายคนที่อวดอ้างฤทธีว่ามีพระบรมราชโองการแต่งตั้งตนให้เป็นนั่นเป็นนี่ เป็นไปได้ว่าเขาเหล่านั้นหลงลืมหรือจงใจมองข้ามการสนองพระบรมราชโองการไป
       
       จะเห็นได้ว่า “การลงพระปรมาภิไธย” และ “การสนองพระบรมราชโองการ” ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกประหลาดหรือจำเพาะเจาะจงเอากับประเทศใดประเทศหนึ่งที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ตรงกันข้ามเราพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์ หากเข้าใจตรงกันถึงหลักการเกี่ยวกับ “การลงพระปรมาภิไธย” และ “การสนองพระบรมราชโองการ” ก็ต้องยอมรับว่าระบอบประชาธิปไตยที่มีประมุขเป็นกษัตริย์ ผู้ใช้อำนาจทางการเมืองโดยแท้และเป็นผู้รับผิดชอบจากการใช้อำนาจของตน คือ ผู้สนองพระบรมราชโองการ
       
       หากยังคงยืนยันว่าประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐและทรงมีพระราชอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริงโดยลำพัง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีก็ดี การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงก็ดี การแต่งตั้งข้าราชการทหารก็ดี การพิพากษาคดีความก็ดี ตลอดจนการออกกฎหมายก็ดี เราก็ไม่อาจเรียกได้ว่าประเทศนั้นปกครองใน “ระบอบประชาธิปไตย”
       
       แต่ควรเรียกว่า “ระบอบราชาธิปไตยอันมีคณะรัฐมนตรีช่วยบริหารประเทศ” มากกว่า


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544