หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 85
15 ธันวาคม 2547 13:54 น.
"คลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติ"
       สองสัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องน่าสนใจหลายเรื่องที่เกิดขึ้น ทั้งที่เกิดขึ้นกับตัวผมเองและเกิดขึ้นกับสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมนั้นคงไม่มีความจำเป็นที่จะนำมาพูด เพราะจะกลายเป็น website โฆษณาตัวเองไปครับ ก็เอาเป็นว่ามีความพยายามอยู่ที่ไหนก็ย่อมมีความสำเร็จอยู่ที่นั่นแล้วกันครับ ส่วนสิ่งที่เกิดกับสังคมที่เป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์กัน (อีกแล้ว) ก็คงหนีไม่พ้นข่าวเกี่ยวกับการที่กรมประชาสัมพันธ์ทำสัญญากับบริษัทเอกชนให้เป็นผู้ร่วมผลิตรายการข่าวดาวเทียมให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และให้มีโฆษณาได้ด้วย (ใช้ชื่อว่า ช่อง 11/1 และช่อง 11/2) กับข่าวของการที่สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ทำสัญญาให้บริษัทเอกชนนำเวลาออกอากาศทั้งหมดของ ททบ.5 ไปให้สัมปทานเป็นเวลา 30 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวของกรณี ททบ.5 นั้น ค่อนข้าง “ฉาว” พอควร เพราะมีการ “ปลด” ผอ.สถานีถึง 2 คนใน 1 สัปดาห์ครับ!!!
       เรื่องนี้ไม่ทราบจะพูดกันอย่างไรแล้ว เพราะผมเข้าใจว่าหลาย ๆ คน รวมทั้งผมเองด้วย ก็เคยพูดเคยเขียนกันไปหลายครั้งแล้วครับในเรื่อง “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” หรือ “การเปลี่ยนสภาพความเป็นเจ้าของกิจการของรัฐไปเป็นของเอกชน” ในประเทศไทยนั้นวจะต้องมีกฎเกณฑ์ใหม่ที่ “ตอบสนอง” ประโยชน์สาธารณะครับ แต่อย่างไรก็ดี เรื่องนี้คงจะเก็บไว้พูดยาว ๆ อีกครั้งในโอกาสต่อไป ในวันนี้ผมมีข้อสังเกตหลายประการเกี่ยวกับการดำเนินการที่มีลักษณะ “แอบแฝง” ของโทรทัศน์ทั้งช่อง 5 และช่อง 11 อยู่ครับ
       ข้อสังเกตประการแรกคงอยู่ที่มาตรา 40 วรรคแรกของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ที่บัญญัติหลักเอาไว้อย่างกว้าง ๆ แต่ครอบคลุม “ประโยชน์มหาชน” ไว้ทั้งหมด ก็คือ “คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ” บทบัญญัติดังกล่าวมีขึ้นเพื่อ “ยืนยัน” ว่า คลื่นความถี่ทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้เป็นสมบัติของ “ชาติ” มิใช่สมบัติของ “หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง” ซึ่งได้รับมอบหมายหรือเข้าไปดำเนินกิจกรรมทั้งหลายที่เกี่ยวกับคลื่น และเมื่อพิจารณาถึงวรรคต่อ ๆ มาของมาตรา 40 ก็จะพบว่า รัฐธรรมนูญได้วางกลไกในการ “จัดสรร” คลื่นความถี่ทั้งหมดไว้ว่าให้ทำโดย “องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ” ที่จะต้องดำเนินการ “จัดสรร” โดยคำนึงถึงประโยชน์มหาชนเป็นหลัก
       รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้บังคับมากว่า 6 ปีแล้ว แต่องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระตามมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญก็ยังไม่เกิด แม้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อ 8 มีนาคม 2543 จะบัญญัติไว้ให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ” (กสช.) และ “คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” (กทช.) และในบทเฉพาะกาลของกฎหมายดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ต้องมีการสรรหาและคัดเลือกกรรมการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่กฎหมายใช้บังคับ แต่จนถึงปัจจุบัน แม้ระยะเวลาจะผ่านไปถึง 4 ปีแล้วก็ตาม แต่ยังไม่สามารถตั้ง กทช. และ กสช. ได้ และก็ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่า จะเกิด กทช. และ กสช. ขึ้นเมื่อใด ดังนั้น จึงเกิดปัญหาให้ผู้คนจำนวนมาก “เพ่งเล็ง” ไปที่ “ผลประโยชน์” ของธุรกิจโทรคมนาคมและการสื่อสารอันเป็นธุรกิจที่ “ผูกขาด” โดยคนจำนวนน้อย และเป็นธุรกิจที่ทำให้ผู้ผูกขาดได้ประโยชน์มหาศาล ยิ่ง กทช. และ กสช. เกิดขึ้นช้าเท่าใด ก็จะทำให้ผู้ผูกขาดรายเดิมยังสามารถประกอบธุรกิจในลักษณะเดิมที่ให้ประโยชน์ตอบแทนมหาศาลได้อย่างต่อเนื่อง
       ผมคงไม่ก้าวล่วงไปวิจารณ์ในเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นคนละประเด็นกับที่เป็นข่าว แต่ก็อย่างฝากไว้เป็นการบ้านให้ช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะเกิด กทช. และ กสช. เพื่อมาดำเนินการตามมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด แต่ประเด็นที่ผมอยากจะตั้งเป็นข้อสังเกตประการต่อมาคือ ในเมื่อเราก็รู้ ๆ กันอยู่แล้วว่า คลื่นทั้งหลายเป็นสมบัติของชาติและก็กำลังจะมีองค์กรเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ ทำไมหน่วยงานที่ผมจำเป็นต้องถือว่าเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ “รักษาการ” ชั่วคราวระหว่างรอการมีองค์กรกำกับดูแล ถึงเข้าไปทำหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลที่กำลังอยู่ในกระบวนการสรรคัดเลือก จริงอยู่ แม้ว่าเดิมก่อนรัฐธรรมนูญจะประกาศใช้บังคับหน่วยงานเหล่านี้จะเป็น “เจ้าของ” คลื่น แต่เมื่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับไปแล้ว คงไม่สามารถที่จะไปต่อล้อต่อเถียงได้ว่า ยังเป็น “เจ้าของ” คลื่นเหล่านั้นอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญ “ยืนยัน” ไว้แล้วว่า คลื่นเป็นสมบัติของชาติ ด้วยบทบัญญัติดังกล่าวจึงทำให้หน่วยงานที่คิดว่า “ตนเอง” เป็น “เจ้าของ” คลื่น กลายเป็น “ผู้ดูแล” คลื่นเป็นการ “ชั่วคราว” ก่อนที่จะส่งมอบต่อให้องค์กรตามมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญต่อไปเมื่อองค์กรเหล่านั้นเกิดขึ้น ฉะนั้น ไม่ว่าจะโดยกฎหมาย โดยมารยาท โดยทางปฏิบัติทั้งหลาย หน่วยงานที่เป็นผู้ดูแลคงทำได้แต่เพียงดำเนินการบริหารงานไปตามปกติรายวันเท่านั้น คงไม่สามารถเข้าไปทำอะไรที่ “ละเมิด” บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการให้บริษัทเอกชนเข้ามาเป็นผู้ร่วมผลิตรายการของช่อง 11 หรือการให้สัมปทานเอกชนของช่อง 5 จึงล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่ “จงใจ” ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งไม่ควรจะเกิดการกระทำเหล่านี้ขึ้นในองค์กรของรัฐครับ!!! ส่วนข้อสังเกตประการสุดท้ายก็คงเป็น “กระบวนการ” และ “วิธีการ” ของการให้เอกชนเข้ามาร่วมงานหรือการให้สัมปทาน คงต้องไปตรวจสอบกันดูให้ดีอีกครั้งหนึ่งนะครับว่าเป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือไม่ ครับ
       จากข้อสังเกตทั้ง 3 ประการข้างต้น ผมจึงขอร่วม “คัดค้าน” ด้วยคนกับการดำเนินการที่มีผลเป็นการ “จงใจ” ฝ่าฝืนมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ครับ
       กลับมาสู่สาระของ website ของเรากันดีกว่าครับ หนังสือรวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 3 ที่เราแจกไปแล้วเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมายังพอมีอยู่บ้างนะครับ อยากได้ไว้เป็นเจ้าของก็ดำเนินการตามที่ได้แจ้งไว้ในกรอบด้านขวามือของบทบรรณาธิการนะครับ ส่วนบทความที่นำเสนอในครั้งนี้เป็นบทความเรื่อง “ศาลปกครอง” ของประธานศาลปกครองสูงสุด ศาสตราจารย์ ดร.อักขราทร จุฬารัตน ที่ได้กรุณามอบให้ผมนำมาลงเผยแพร่ใน www.pub-law.net ซึ่งผมก็ต้องขอกราบขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ บทความนี้เป็นบทความที่เขียนขึ้นเพื่อใช้เป็นคำนำของ “ประมวลกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง” ที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ.2546 ซึ่งผมได้อ่านดูแล้วพบว่าเป็นเอกสารทางวิชาการที่สมบูรณ์มาก จึงได้ขออนุญาตท่านประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อนำมาลงเผยแพร่ใน website ของเราครับ นอกจากนี้ เราก็ยังมี “หนังสือ” ใหม่อีกจำนวนหนึ่งให้ผู้ใช้บริการได้อ่านกันตามสบายใน ebook หนังสือเหล่านี้เป็นผลงานเขียนของ ดร.เชาวนะ ไตรมาส แห่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ ด้วยครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2547 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544