หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 88
15 ธันวาคม 2547 13:54 น.
"ประเด็นเรื่องเงินเดือนของข้าราชการประเภทต่าง ๆ "
       เมื่อวันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม 2547 ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ฟังคำกล่าวของ “ท่านผู้นำ” ในรายการ “นายกฯทักษิณ คุยกับประชาชน” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับผมที่ฟังรายการนี้นะครับ ผมฟังมานานพอสมควรแล้ว และทุกครั้งที่มีโอกาสก็มักจะเล่าให้เพื่อน ๆ ต่างชาติฟังอย่างภาคภูมิใจว่า “ท่านผู้นำ” ของเรานี่ดีเหลือเกิน อุตส่าห์มานั่งรายงานภารกิจต่าง ๆ ที่ไปทำมาในรอบสัปดาห์ให้ประชาชนทราบ ทำให้ประชาชนได้รับรู้ว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้นบ้างในประเทศของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวไทยทั้งในต่างจังหวัดและต่างประเทศที่อาจ “พลาด” ข่าวสารสำคัญบางข่าวไป ฟัง “ท่านผู้นำ” ของเราทุกเช้าวันเสาร์ก็จะทราบได้อย่างไม่ตกหล่นเลยว่า “ท่านผู้นำ” และคณะรัฐมนตรีทำอะไรกันไปบ้างครับ ฟังแล้วก็รู้สึก “ปิติยินดี” เป็นอย่างนิ่งครับ เพราะสิ่งที่ “ท่านผู้นำ” นำมาเล่าให้เราฟังนั้นส่วนมากจะเป็น “ข่าวดี” ส่วนที่ “ไม่ดี” นั้น “ท่านผู้นำ” ก็ “ปลอบใจ” ประชาชนด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่ทำให้เกิด “ความหวัง” ว่าสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้นจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว หรือไม่ก็จะคลี่คลายไปในทางที่ดีครับ สรุปง่าย ๆ ก็คือ รายการ “พูดฝ่ายเดียว” ของ “ท่านผู้นำ” เป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยควรให้ความสนใจและติดตามเป็นอย่างยิ่งเพราะจะทำให้เราทราบถึงข่าวคราวสำคัญ “ในทรรศนะ” ของ “ท่านผู้นำ” ได้เป็นอย่างดีครับ
       แต่อย่างไรก็ดี เมื่อผมได้ฟังรายการ “พูดฝ่ายเดียว” ของ “ท่านผู้นำ” เมื่อวันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผมก็มีความรู้สึกแปลก ๆ หลายอย่าง ทั้งโกรธ ทั้งโมโห ทั้งเสียใจครับ ผมคงไม่นั่งบรรยาย ณ ที่นี้ครับ แต่จะขอ “คัด” คำกล่าวของ “ท่านผู้นำ” เฉพาะส่วนนี้มาจาก www.thaigov.go.th ในหมวด “สุนทรพจน์/คำกล่าว” หัวข้อ 31 กรกฎาคม 2547 คำกล่าวของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในรายการ “นายกฯทักษิณคุยกับประชาชน” และในหัวข้อย่อย คือ “ศึกษาการเก็บภาษีคนที่เสียเงินทำลายสุขภาพตัวเอง” ครับ คำกล่าวในส่วนนี้มีรายละเอียด ดังนี้ “ศึกษาการเก็บภาษีคนที่เสียเงินทำลายสุขภาพตัวเอง ทีนี้เกิดความคิดว่าถ้าเราจะเอาภาษีของคนที่เสียเงินทำลายสุขภาพตัวเอง คือภาษีบุหรี่ เหล้า เบียร์ เอามารวมกันไว้ไม่ต้องเข้างบประมาณ ภาษีนี้เอามาใช้สำหรับการสร้างสุขภาพ การรักษาสุขภาพให้กับพี่น้องประชาชน หมายความว่าเอางานด้านสาธารณสุขมารวมกันเพื่อจะใช้งบประมาณส่วนนี้ไม่ต้องไปยุ่งกับใคร คนที่เสียเงินทำลายสุขภาพตัวเองถูกเก็บภาษี เมื่อทำลายสุขภาพตัวเองก็เป็นภาระของรัฐที่ต้องรักษา เพราะฉะนั้น เอาเงินภาษีนี้มาเก็บกองไว้ และเอามาใช้สำหรับรักษาสุขภาพถ้าจะดี จึงมอบให้รองนายกรัฐมนตรีสุชาติ เชาว์วิศิษฐ ไปศึกษา เพื่อให้ค่าตอบแทนคนทำงานสมเหตุสมผล ไม่อย่างนั้นแพทย์รัฐบาลกับแพทย์เอกชนเงินเดือนต่างกับเยอะมาก และโครงสร้างเงินเดือนเพี้ยนไป คนจบกฎหมายไปเป็นผู้พิพากษา อัยการ เงินเดือนสูงกว่าคนจบแพทย์ ซึ่งเป็นคนหัวดีเรียนหนังสือหนัก อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันว่าจะแก้ไขอย่างไร เรื่องนี้ยังเป็นความคิดอยู่ที่มอบให้ไปศึกษา ถ้าลงตัวอย่างนั้นระบบสาธารณสุขจะเข้มแข็งมาก”
       ผมได้ตีเส้นข้อความที่เป็นประเด็นที่ผมประสงค์จะนำมากล่าวถึง ณ ที่นี้เอาไว้ด้วยแล้วครับ จริง ๆ แล้วปัญหาเรื่องเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่าง ๆ นี้มันมีอยู่มานานมากแล้ว และก็มีอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดมา แม้ว่ารัฐบาลหลาย ๆ รัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหาแต่ก็ไม่สำเร็จ ที่ทำได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องใช้สมองมาคิดให้เสียเวลา ก็คือ ขึ้นเงินเดือนกันเข้าไป พวกไหนโวยวายมากพวกนั้นก็ได้ขึ้นเงินเดือน หน่วยงานตั้งใหม่หลาย ๆ หน่วยงานก็พยายามที่จะ “กำหนด” เงินเดือนของตนเองให้สูงกว่าที่อื่น ๆ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าจากในอดีตที่มีเพียงเฉพาะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่มีเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการประเภทอื่น จะกลายมาเป็นในปัจจุบันที่ทั้งอัยการ ตุลาการศาลปกครอง และหน่วยงานใหม่ ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ฯลฯ ที่ต่างก็มีเงินเดือนสูงมากกันทั้งนั้น และนอกจากเงินเดือนจะสูงแล้ว บางแห่งก็ยังมีการให้ “เฟอร์นิเจอร์” ประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นรถ โทรศัพท์ ฯลฯ รวมความเป็นว่าประโยชน์ทั้งหลายที่ได้รับต้องสูงไว้ก่อนครับ
       ปัญหาเรื่องเงินเดือนที่ผมนำมาพูด ณ ที่นี้ ผมคงไม่มีจุดประสงค์สำคัญอะไรมากนัก เพราะเท่าที่ผม “รู้สึก” อยู่เสมอตลอดเวลาที่ผ่านมาก็คือ เพราะ “เงินเดือน” นี่เองที่ทำให้เกิดการ “ถ่ายเท” กันในหมู่ข้าราชการ ที่ไหนเงินเดือนมากก็อยากไปที่นั่น บางคนเสนอตัวไปแล้วไม่ได้รับการคัดเลือกก็ยังอุตสาห์เสนอตัวเข้าไปอีกหลายต่อหลายรอบ เพื่อที่จะได้เข้าไปรับ “เงินเดือน” จำนวนมาก ๆ ทั้งที่ตนเองมีปัญหาเรื่อง “ความสามารถ” ครับ!!! ท่านผู้นำคงต้อง “ทบทวน” สิ่งที่ท่านคิดอยู่เสียใหม่ ตราบใดที่ “ท่านผู้นำ” ยังใช้วิธีที่จะขึ้นเงินเดือนแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ “ตรวจสอบ” หรือให้ความสำคัญกับ “การประเมินผลงาน” ว่า “สัมพันธ์” กับเงินเดือนที่รับไปหรือไม่ ประเทศชาติก็จะเสียประโยชน์ครับ!!!
       ผมพูดเรื่องเงินเดือนไปเสียเยอะแยะ จนอาจทำให้ผู้อ่าน “หลงประเด็น”กันไปบ้าง จริงๆแล้วผม “ติดใจ” คำกล่าวของ “ท่านผู้นำ” เฉพาะในส่วนที่ผมตีเส้นไว้ต่างหาก แล้วก็เฉพาะในส่วนที่ว่า “คนจบกฎหมายไปเป็นผู้พิพากษา อัยการ เงินเดือนสูงกว่าคนจบแพทย์ซึ่งเป็นคนหัวดี เรียนหนังสือหนัก” ไม่ทราบว่า “ท่านผู้นำ” ต้องการ “สื่อ” ถึงอะไรกันแน่ครับ แต่ละวิชาชีพต่างก็มีความชำนาญเป็นของตัวเองนะครับ เด็กบางคนตั้งใจเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ทันทีที่จบมัธยมปลายก็มี และไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เด็กเหล่านี้ไม่ใช่คนหัวดีครับ ในคณะนิติศาสตร์ ผมเห็นเด็กหัวดีจำนวนมากแล้วก็เรียนหนังสือหนักมากด้วยครับ ปัญหาคงไม่ใช่คนหัวดีเรียนหนังสือหนักที่จะได้เงินเดือนมาก น่าจะเป็นการประกอบวิชาชีพมากกว่าที่ควรนำมาเป็นเกณฑ์ ถามจริง ๆ เถอะครับว่า หากหัวดีแล้วเรียนหนังสือหนัก แต่ทำงานไม่ได้เรื่อง ท่านผู้นำยังจะให้เงินเดือนสูง ๆ อยู่ไหมครับ !!!
       ผมขอ “ประท้วง” คำกล่าวของ “ท่านผู้นำ” ข้างต้นนะครับ ในฐานะ “นักกฎหมาย” และในฐานะ “ข้าราชการ” คนหนึ่งที่ตั้งใจประกอบวิชาชีพของตนอย่างดีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คำกล่าวของท่านผู้นำ มีผลกระทบในเชิงลบต่อสถาบันนักกฎหมายของผมเป็นอย่างมากครับ!!!
       กลับมาเรื่องวิชาการของเราดีกว่านะครับ เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาผมได้รับทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งให้กับคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ทำอยู่หลายปีก็เพราะเป็นงานวิจัย “พิเศษ” ที่คณะกรรมการพัฒนากฎหมายตั้งใจว่าจะให้เป็น งานวิจัยตามมาตรฐานงานวิจัยสากลครับ ปัจจุบันงานวิจัยนี้เพิ่งจะเสร็จเรียบร้อย และได้มีการนำเสนอรายงานการวิจัยเรื่องนี้ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันอังคารที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้เองครับ งานวิจัยเรื่องนี้มีชื่อว่า “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” ครับ เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยของผม ผมจึงได้ขออนุญาตต่อเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อนำบทสรุปของงานวิจัย และ “ร่างพระราชบัญญัติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ....” ซึ่งเป็น “จุดเด่น” ของงานวิจัยลงเผยแพร่ใน website แห่งนี้ และได้รับอนุญาตให้ลงเผยแพร่ได้แล้ว ดังนั้น บทความทางวิชาการในครั้งนี้ก็คือ รายงานสรุปผลการศึกษาวิจัยเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ผมขอนำเสนอพร้อมทั้งร่างกฎหมายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจครับ มีความเห็นอย่างไรลองวิจารณ์กันดูนะครับ ขอชี้แจงไว้สักนิดหนึ่งว่า ทุกร่างมาตรามีความเชื่อมโยงกันและมี “เจตนารมณ์” พิเศษอยู่ภายใน ฉะนั้น “นักลอก” ทั้งหลายหากจะ “ลอก” เอาไปใช้ หรือนำไป “ดัดแปลง” ก็จะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของร่างกฎหมายทั้งฉบับ หรือของร่างกฎหมายแต่ละมาตราเป็นเช่นไรครับ !!!
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม 2547 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544