หน้าแรก บทความสาระ
ศาลรัฐธรรมนูญ ในประเทศไทย สมควรมีอยู่หรือไม่ โดย คุณภาสพงษ์ เรณุมาศ
คุณภาสพงษ์ เรณุมาศ เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ 5 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
5 มีนาคม 2550 00:44 น.
 
1.ความเป็นมาและสภาพของปัญหา
       
       ต้องกล่าวก่อนว่า ต้นเหตุของการยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 สาเหตุส่วนหนึ่งอันเป็นรากฐาน และอยู่ในจิตสำนึกของประชาชนกลุ่มหนึ่ง นั่นคือการที่รัฐใช้อำนาจโดยอำเภอใจ และองค์กรอิสระไม่มีประสิทธิภาพ โดยเห็นได้จากผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เลขที่ 20/ 2544 1 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ตุลาการเสียงข้างมาก 8 ต่อ 7 ตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีความผิด ตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จากปัจจัยดังกล่าวเป็นต้นมาความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระนี้ เริ่มมีมากขึ้น ประกอบกับประเด็นโต้แย้ง ต่างๆ อาทิเช่น
       1. การแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในยุคเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 โดยมีเหตุการณ์ที่สำคัญในช่วงที่ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ว่างลงหนึ่งตำแหน่ง และคณะกรรมการสรรหาได้เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ จำนวน 2 คน เพื่อให้วุฒิสภาเลือก นั่นคือ ดร.ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล นิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นิติศาสตรมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาเอกทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแห่งกรุงบอร์น ประเทศเยอรมัน และนายศักดิ์ เตชาชาญ 2 ซึ่งมีวุฒิกฎหมายชั้นปริญญาตรีเท่านั้นจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลปรากฏว่าผู้ที่ได้ คือ นายศักดิ์ เตชาชาญ จากผลดังกล่าว ก็ให้เกิดเสียงวิจารณ์ในเรื่องมาตรฐานในการวัดของวุฒิสภา และตัวตุลาการขององค์กรนี้ เป็นอย่างมาก
       2. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเอง ไม่ว่าจะเป็นคดีซุกหุ้น 20/2544 คำวินิจฉัยคดีคุณหญิงจารุวรรณ ฯ ที่มีข้อโต้แย้งในทางวิชาการเรื่องสภาพบังคับ หรือแม้กระทั่งล่าสุด คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เลขที่ 9/2549 เกี่ยวกับคดีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เอง ที่แม้จะถูกใจสำหรับประชาชนกลุ่มหนึ่ง แต่เมื่อมองในแง่มุมของหลักวิชาการทางกฎหมายแล้ว กลับเห็นถึงความไร้เดียงสา ในข้อกฎหมาย และเหตุผลอันเป็นหลักการทางมหาชน
       3.กระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนผู้แทนจากพรรคการเมือง ก็เป็นข้อถกเถียงหนึ่ง ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาหรือเปล่า
       4.วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็มิได้มีระบบระเบียบแบบแผน อันถูกต้องตามหลักวิชาการ อันขาดการเชื่อมโยงหรือตรวจสอบจากประชาชน การสร้างระเบียบก็เป็นเพียงความเห็นชอบของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพียงเท่านั้น โดยมิได้ผ่านการตราโดยรัฐสภา อันเป็นผู้แทนของปวงชนแต่อย่างใด
       5. บุคลากรในหน่วยงานธุรการ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เองก็มีข้อโต้แย้งในเรื่องความเชี่ยวชาญ วิชาการ คุณวุฒิ รวมถึงงบประมาณต่าง ๆ ที่ทางสำนักงาน ฯ นำไปบริหาร
       จากเหตุต่างๆ เหล่านี้ จึงเกิดคำถามมากมาย ภายหลังการรัฐประหาร ว่าศาลรัฐธรรมนูญ สมควรมีอยู่หรือไม่
       โดยเฉพาะขั้นตอนในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550 ได้มีการโยนหินถามทาง จากคณะอนุกรรมการ เป็น 3 ข้อ ผ่านสื่อ สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ นั่นคือ
       1.ศาลรัฐธรรมนูญ สมควรมีอยู่หรือไม่
       2.ถ้ามี สมควรอยู่ในรูปแบบไหน กล่าวคือ จะใช้ลักษณะเป็นองค์คณะตุลาการ หรือ คงไว้เป็นศาลอย่างเดิม หรือ นำไปเป็นแผนกหนึ่งในศาลยุติธรรม และสุดท้าย
       3.อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ควรเป็นเช่นไร
       จากคำถาม ดังกล่าว ผู้เขียน จึงขอเสนอบทความ ชิ้นนี้ เป็นปฐมบทแรกในการตอบโจทก์ในข้อที่ 1 ส่วนข้อที่ 2 ที่ 3 บทความของผู้เขียนจะนำเสนอในภายหลัง
       
       2. ประวัติความเป็นมาของศาลรัฐธรรมนูญไทย 3
       
       ในอดีตก่อนปี พ.ศ.2489 นั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่ากรณี ที่บทบัญญัติของกฎหมาย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จะให้องค์กรใดทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดว่า กฎหมายนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ประการใด
       จนกระทั่งปี พ.ศ.2488 หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ได้มีการตรา “พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488” ขึ้นเพื่อลงโทษแก่ผู้ที่ได้กระทำการตามกฎหมายนี้ถือว่าเป็นอาชญากรสงคราม ไม่ว่าการกระทำนั้นจะได้กระทำไปก่อนหรือหลังจากที่กฎหมายนี้ใช้บังคับก็ตาม ต่อมาเมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ศาลฎีกาได้พิจารณาโดยให้เหตุผลว่าศาลฎีกามีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่า กฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่โดยให้เหตุผลว่า ศาลเป็นองค์กรที่ใช้กฎหมายจึงต้องรู้ว่ากฎหมายนั้นใช้บังคับได้หรือไม่ นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถที่จะตีความได้ว่ากฎหมายใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ตรากฎหมายขึ้นเอง ส่วนฝ่ายบริหารก็ไม่อำนาจเช่นเดียวกัน
       ดังนั้น ศาลฎีกา จึงได้พิพากษาว่า พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ.2488 ที่ตราขึ้นนั้นเป็นการบังคับใช้กฎหมายอาญาในลักษณะที่มีผลย้อนหลัง เป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับไม่ได้
       จากแนวคำพิพากษาฎีกาในคดีดังกล่าว ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันต่อมาว่า องค์กรใดควรจะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งในขณะนั้นฝ่ายนิติบัญญัติเอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 ได้ให้อำนาจตนในการตีความ ดังนั้น การวินิจฉัยจึงควรเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยุติข้อขัดแย้งในประเด็นปัญหาดังกล่าวระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 จึงได้กำหนดองค์กรขึ้นใหม่เรียกว่า “ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งมีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จึงได้เปลี่ยนแปลงมาเป็น “ ศาลรัฐธรรมนูญ” และปัจจุบันภายหลังการรัฐประหาร ก็เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบเดิมอีก นั่นคือ “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549
       2.1 เหตุที่ต้องมีองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ
       2.1.1 เพื่อป้องกันมิให้มีการตรากฎหมายที่อาจไปละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ เพื่อปกป้องคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม
       2.1.2 เพื่อรักษาดุลยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มิให้ใช้อำนาจหน้าที่ไปเหลื่อมล้ำหรือขัดแย้งกัน
       2.1.3 เพื่อพิทักษ์ปกป้องคุ้มครองรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศไว้ ไม่ให้กฎหมายอื่นใด มาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
       
       3. ประวัติความเป็นมาของศาลรัฐธรรมนูญในประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส 5
       

       เดิมประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ไม่มีระบบศาลรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ โดยมีเหตุผลว่า เนื่องจากกฎหมาย ถือเป็นการแสดงออกซึ่งเจตนาร่วมกันของปวงชน ดังนั้น จึงไม่สามารถควบคุมกฎหมายที่จัดทำขึ้นโดยผู้แทนปวงชนได้ ซึ่งต่อมาแนวคิดดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากแนวคิดของนักการเมืองชื่อดังคนหนึ่งในขณะนั้น คือ Emmanuel Joseph SIEYES ซึ่งก่อให้เกิดเป็นรูปธรรมในรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1958 อันเป็นฉบับปัจจุบัน โดยได้จัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ขึ้นเพื่อตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายบางประเภท คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงเป็นองค์กรสำคัญองค์กรหนึ่งในระบบการเมืองการปกครองของประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน
       3.1 เหตุที่ต้องมีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
       3.1.1 ควบคุมกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่เฉพาะก่อนที่จะประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย เท่านั้น
       3.1.2 ตรวจสอบความถูกต้องของการเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติ
       3.1.3 ตรวจสอบความถูกต้องของการลงคะแนนเสียงประชามติ
       3.1.4 ตรวจสอบความถูกต้องของการเลือกตั้งประธานาธิบดี และอื่น ๆ
       
       4. ประวัติความเป็นมาของศาลรัฐธรรมนูญในประเทศเยอรมัน 7
       
       จุดเด่นประการหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ของเยอรมัน คือ มาจากการศึกษาประสบการณ์อันผิดพลาดในการจัดโครงสร้างของรัฐของยุคที่ผ่าน ๆมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ใช้รัฐธรรมนูญไวมาร์ (ค.ศ. 1919) อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ฮิตเลอร์ใช้บันไดไปสู่อำนาจเผด็จการอย่างเบ็ดเสร็จ
       ในยุคเริ่มต้น มีที่มาจากบทความ ของ Wagner ชาวเยอรมัน ที่ได้เสนอแนวคิด เรื่อง การเกิดขึ้นการจัดองค์กรและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์
       มาในยุคกลาง อำนาจของศาลมักจะมีความขัดแย้งกับผู้ใช้อำนาจปกครอง หลังจากนั้นมองเตสกิเออ ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ จากแนวคิดดังกล่าวของมองเตสกิเออ ได้ก่อให้เกิดการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1819 ต่อมาจึงเกิดพัฒนาการตามรัฐธรรมนูญ แต่ละฉบับ ตั้งแต่ ปี 1849 , 1871 รัฐธรรมนูญไวมาร์ ค.ศ.1919 จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ค.ศ.1949
       4.1 เหตุที่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ
       
4.1.1 ตรวจสอบการเลือกตั้ง
       4.1.2 การควบคุมความชอบด้วยกฎหมายแบบนามธรรม
       4.1.3 คดีเกี่ยวกับพรรคการเมือง
       4.1.4 ข้อพิพาทตามกฎหมายมหาชน และอื่น ๆ
       
       5. บทวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ
       
       เมื่อได้ศึกษาพัฒนาการ(Development) ของประเทศไทยเอง และของต่างประเทศซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จะพบว่าแต่ละประเทศต่างมีวิวัฒนาการ และการต่อสู้ที่ยาวนาน เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์กร ที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยต่างมีอำนาจหน้าที่ ที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่ประสบการณ์และจุดบกพร่องของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ บางประเทศยังพัฒนาไปจนถึงให้สิทธิประชาชน ที่จะยื่นคดีโดยตรง ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้
       ดังนั้น หากในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่กำลังร่างขึ้น ยังมีการบัญญัติในเรื่อง
       - สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค ของประชาชน
       - องค์กรตรวจสอบ หรือองค์กรอิสระต่าง ๆ
       - พรรคการเมือง , การตราพระราชบัญญัติ หรือ ข้อบังคับ ต่าง ๆ
       - หรือมาตรา อื่นๆ ที่บัญญัติรับรองสิทธิต่าง ๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ
       การพิจารณาว่ากฎหมายอื่นใดจะมาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการคุ้มครอง สิทธิ และเสรีภาพของประชาชนก็ย่อมต้องได้รับคุ้มครอง และยิ่งกระแส Human rights มีมากขึ้นเท่าไร การกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิก็ย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น ความจำเป็นในการมีศาล ที่วินิจฉัยชี้ขาดเป็นการเฉพาะย่อมมีความสำคัญ เพื่อให้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนได้รับการคุ้มครองและโต้แย้งได้อย่างแท้จริง ส่วนการที่องค์กรวินิจฉัย จะอยู่ในรูปแบบใด เป็นสิ่งที่ผู้เขียนจะเสนอเป็นแนวทางในบทความชิ้นต่อไป
       การที่จะก้าว ถอยหลัง โดยไม่มีการตั้งองค์กรใด มาทำในการวินิจฉัย เพียงเพราะขาดตุลาการที่เป็นกลาง คงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด และขาดซึ่งความเข้าใจในรัฐธรรมนูญ และรากฐานกฎหมายมหาชน และคงเป็นเรื่องน่าตลกอย่างยิ่ง หากประเทศไทย มีรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาทางรัฐธรรมนูญ เพียงเพราะกลัวว่าจะได้ตุลาการที่ไม่เป็นกลางมาวินิจฉัยคดี
       ผู้เขียน จึงขอสรุปสั้นๆ ง่าย ๆว่า ตราบใดที่ ช้อน ยังคู่กับ ส้อม ครก ยังคู่กับ สาก ผู้ชาย ยังคู่กับ ผู้หญิง ตราบนั้น รัฐธรรมนูญ ย่อมต้องคู่กับ ศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ร่ำไป มิฉะนั้น แล้วคำกล่าวที่ คณะรัฐประหาร ให้ต่อประชาชนว่า ก้าวถอยหลังมาตั้งหลัก แล้วเดินต่อไปอย่างมั่นคง จะกลายเป็นก้าวถอยหลัง แล้วไม่หันกลับมามอง วิถีทางในระบอบประชาธิปไตย.......... อีกเลย


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544