หน้าแรก บทความสาระ
การลงคะแนนเสียงถอดถอนนายก อบต. ก้าวแรกของท้องถิ่นไทยในการสร้างอำนาจทางการเมืองภาคประชาชน โดย คุณชรินทร์ สัจจามั่น
คุณชรินทร์ สัจจามั่น เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 6ว. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
5 มีนาคม 2550 00:44 น.
 
ต้องยอมรับประการหนึ่งว่า เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย เพราะตลอดระยะเวลา 10 ปี ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เดิมก่อนที่จะมีการประกาศยกเลิก แม้จะมีการสร้างกลไกสำคัญทางการมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยขึ้นใหม่เพื่อป้องกันการใช้อำนาจรัฐแบบเบ็ดเสร็จโดยมิชอบไว้หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการใช้อำนาจรัฐหรือสร้างเจตจำนงค์ทางการเมือง ที่ถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย คือ สิทธิในการออกเสียงประชามติ สิทธิเข้าชื่อร้องขอถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภา ท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และ สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายและข้อบัญญัติท้องถิ่น สิทธิเหล่านี้แม้จะมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญรองรับ แต่หลายเรื่องก็ไม่เคยเกิดผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิการเข้าชื่อร้องขอถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นและมีผลบังคับใช้ได้จริงตราบจนกระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกยกเลิกไป
        ท่ามกลางกระแสข่าวการลอบวางระเบิดในกรุงเทพฯ ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ และการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม 2550 ที่ผ่านมาในพื้นที่ อบต.ห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ซึ่งเชื่อว่าหลายคนไม่รู้จักและถึงแม้จะรู้จักก็ไม่เคยไปเยือนเพราะเป็นพื้นที่ท้องถิ่นห่างไกลจากแสงสีศิวิไลซ์ของชุมชนเมือง ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ของการมีส่วนร่วมทางการเมืองภาคประชาชนซึ่งไม่เคยเกิดมีขึ้นได้ในตลอดอายุขัย 10 ปีที่ผ่านมาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กล่าวคือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตพื้นที่ อบต.ห้วยโก๋น ได้ร่วมกันใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนนายก อบต. ห้วยโก๋น ซึ่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงออกจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงคิดเป็นจำนวนมากถึงร้อยละ 85 และโดยที่มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงถอดถอนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดใน อบต. และมีคะแนนเสียงที่เห็นด้วยกับการถอดถอนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียง จึงทำให้ นายก อบต. ห้วยโก๋น ต้องพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นเป็นรายแรกของประเทศไทย รวมถึงเป็นนักการเมืองรายแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกเข้าชื่อและลงคะแนนเสียงให้พ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นเวลา 5 ปี ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 กรณีหากไม่มีการร้องคัดค้านต่อ กกต.จังหวัดน่าน หรือคำร้องคัดค้านไม่เป็นผลอีกด้วย
        กรณีของ อบต.ห้วยโก๋น มิใช่เป็นกรณีแรกและกรณีเดียวที่ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เพราะนับถึงปัจจุบันได้มีการเข้าชื่อถอนถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นแล้วรวม 4 แห่ง ตามลำดับ คือ
        1. เข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภา อบต.โนนภิบาล หมู่ที่ 11 อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม ถูกเข้าชื่อเพราะเหตุนำเงินบริหารกองทุนหมู่บ้านไปใช้ส่วนตัว มีพฤติกรรมทางทุจริต ยักยอก และไม่อยู่ร่วมพัฒนาหมู่บ้าน แต่ไม่มีการลงคะแนนเสียงถอดถอน เนื่องจาก ผู้เข้าชื่อถอดถอนมีจำนวนไม่ถึงหนึ่งในห้าของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขต
        2. เข้าชื่อถอดถอน นายก อบต.ห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ถูกเข้าชื่อเพราะเหตุบริหารงานไม่โปร่งใส ไม่ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเดือดร้อน และทุจริตเรียกรับผลประโยชน์จากประชาชน มีการลงคะแนนเสียงถอดถอน และผลการลงคะแนนเสียงเห็นด้วยให้พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายดังกล่าวมาแล้ว
        3. เข้าชื่อถอดถอนนายก อบต.ป่าแฝก อำเภอพรเจริญ จังหวัดหนองคาย ถูกเข้าชื่อเพราะเหตุมีพฤติกรรมในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และจะมีการลงคะแนนเสียงถอดถอนในวันที่ 17 มีนาคม 2550
        4. เข้าชื่อถอดถอนนายก อบต.หาดสูง อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ ถูกเข้าชื่อเพราะเหตุไม่พยายามแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างจริงจัง ขาดความเป็นธรรมในการบริหารงาน ขาดความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง ใช้อำนาจส่อไปในทางทุจริตและเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง ผู้เข้าชื่อถอดถอนมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขต อบต. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอ กกต.จังหวัดนครสวรรค์ กำหนดวันลงคะแนนเสียงถอดถอนฯ
       
        ความน่าสนใจของกรณีการถอดถอนนายก อบต.ห้วยโก๋น นอกจากจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยแล้ว เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการเข้าชื่อและลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนฯ แล้ว พบว่ามีข้อสังเกตที่บรรดานักการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นควรนำไปใช้เป็นกรณีศึกษาได้หลายประการ เช่น
        1. การเข้าชื่อถอดถอนฯ ครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2550
        2. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากทุกหมู่บ้านในเขตพื้นที่ อบต.ห้วยโก๋น ซึ่งส่วนใหญ่ใช้นามสกุลเดียวกัน คือ "หอมดอก" ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการลงมติให้ นายก อบต.พ้นจากตำแหน่ง ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่หมู่บ้านซึ่งนายก อบต. ซึ่งถูกเข้าชื่อถอดถอนมีภูมิลำเนาอยู่
        3. ข้อกล่าวหาในการเข้าชื่อถอดถอนฯ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส ไม่ใส่ใจในความเดือดร้อนของประชาชน และทุจริตเรียกรับผลประโยชน์จากประชาชนในท้องถิ่น
        พิจารณาอย่างผิวเผินตามข้อสังเกตดังกล่าวแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาการเมืองในระดับชาติปัจจุบันไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของประชาชนในท้องถิ่น เนื่องจากการปกครองท้องถิ่นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน หากนักการเมืองท้องถิ่นโดยเฉพาะสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นปฏิบัติหน้าที่หรือบริหารงานโดยขาดหลักนิติธรรม ไม่คำนึงถึงประโยชน์สุขความเดือดร้อนของประชาชน ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมสามารถใช้อำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติเข้าชื่อถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่เหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่แทนได้ ซึ่งผลเสียในท้ายสุดที่ผู้ถูกเข้าชื่อถอดถอนจะได้รับก็คือ ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นเวลา 5 ปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุถูกเข้าชื่อถอดถอนตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง
       เชื่อได้ว่ากรณีศึกษางของ อบต.ห้วยโก๋น คงจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการจุดประกายความคิดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนได้รู้สึกหวงแหนอำนาจการมีส่วนร่วมทางการเมือง และเห็นช่องทางในการใช้อำนาจถอดถอนตามที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าวเพื่อป้องปรามมิให้นักการเมืองซึ่งได้รับการเลือกตั้งให้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนทั้งในการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น บริหารงานหรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่คำนึงผลประโยชน์โดยรวมของประชาชน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น การเมืองและการเลือกตั้งก็จะมิใช่เรื่องผลประโยชน์ของนักการเมือง แต่จะกลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประชาชนตามอุดมคติอย่างแท้จริง


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544