หน้าแรก บทความสาระ
ข้อเสนอ หลักในการรับรัฐธรรมนูญ ฉบับ สสร. 2 หัวข้อ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา โดย คุณสมศักดิ์ พิทักษ์มงคลกุล
คุณสมศักดิ์ พิทักษ์มงคลกุล อดีตประธานหอการค้าไทย-สหรัฐอเมริกา
29 เมษายน 2550 22:50 น.
 
ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย นั่นเป็นหลักการอันสำคัญเพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดกับประชาชน เพราะผู้พิพากษาเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ หนึ่งในอำนาจอธิปไตย ถ้าผู้พิพากษาไม่มีอิสระ ถูกแทรกแซงหรือมีแรงจากภายนอกมาโน้มน้าว ก็อาจตัดสินคดีไปโดยความลำเอียงหรือมีอคติ อย่างใดอย่างหนึ่ง ความยุติธรรมจึงย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ บ้านเมืองระส่ำระส่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้เดือดร้อนหรือถูกข่มเหงไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำพิพากษาของศาล
       
       ผู้เขียนมีความเคารพและศรัทธาต่อท่านผู้พิพากษาหลายท่านที่ดำรงตนสมกับที่เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการแทนองค์พระมหากษัตริย์ แต่ในขณะเดียวกัน จากเหตุการณ์ในหลายคดี ตามช่วงเวลาที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ายังมีตุลาการอีกหลายท่าน อาศัยสิทธิ์ขาดในความเป็นอิสระดังกล่าวใช้ดุลพินิจไปในทางที่ไม่ชอบธรรมและไม่ถูกต้อง ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวว่ามีการคอร์รัปชั่นในวงการผู้พิพากษา แต่ที่ผู้เขียนจะนำเสนอต่อไปนี้ไม่เกี่ยวกับความคดโกง การรับสินบนหรือผลประโยชน์ได้เสียประการอื่นของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนหรือเจ้าของคดี เพราะเป็นเรื่องหลากหลายและการตรวจสอบทำได้ยาก แต่สิ่งที่ผู้เขียนจะพูดก็คือ “ภูมิปัญญา” และ “จริยธรรม” ของผู้พิพากษา
       
       ต้องยอมรับว่าบุคคลที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นผู้พิพากษาได้ผ่านการเรียนวิชานิติศาสตร์อย่างเชี่ยวชาญเป็นเวลานาน และต้องสอบแข่งขันอย่างยากแสนยาก ดังนั้น ในเรื่องของภูมิรู้หรือภูมิปัญญาของผู้พิพากษา จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาใดๆ หากผู้พิพากษาได้ชี้ขาดหรือมีคำวินิจฉัยในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย อันเป็นวิชาชีพของตนโดยตน แต่มีเหตุการณ์หลายกรณีที่แทบไม่เชื่อว่าผู้พิพากษาที่แกล้งทำเป็น “โง่” หรือ “ปัญญาทึบ” เพราะปัญหาข้อกฎหมายที่ขึ้นมาให้วินิจฉัยนั้น แม้กระทั่งนักศึกษาชั้นปี 1 วิชานิติศาสตร์ ก็ย่อมชี้ขาดให้ตรงตามหลักกฎหมายได้ แต่ระดับตุลาการผู้ช่ำชอง แม้กระทั่งในศาลใหญ่อันเป็นศูนย์กลางของชาติ กลับมีคำวินิจฉัยขัดแย้งกับตัวบทกฎหมาย โดยปราศจากเหตุผล ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะมี “เบื้องหน้าและเบื้องหลัง” แทบทุกเรื่อง
       
       ตัวอย่าง โจทก์เป็นราษฎร ฟ้องผู้ต้องหาในคดีอาญาว่าได้กระทำความผิด ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บังคับว่าศาลจะต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องว่าคดีที่ฟ้องนั้นมีมูลหรือไม่ ถ้ามีมูลจึงให้ประทับฟ้อง แต่ถ้าไม่มีมูลให้ยกฟ้อง ข้อกฎหมายนี้เป็นเรื่องเบื้องต้นและสามัญมาก แต่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในหลายๆคดีกลับไม่ยอมไต่สวน โดยให้เลื่อนคดีไปไม่มีกำหนด เพื่อรอฟังผลอีกคดีหนึ่งซึ่งฟ้องกันในศาลอื่นๆ ให้ถึงที่สุดเสียก่อน
       
       ปัญหาเกิดขึ้นตามมา คือ การกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องเอง กฎหมายกำหนดว่าตราบใดที่ศาลยังไม่ประทับรับฟ้อง ผู้ต้องหาก็ยังไม่อยู่ในอำนาจศาล แต่ถ้าประทับรับฟ้องแล้วผู้ต้องหาก็จะถูกศาลหมายเรียกหรือหมายจับมาให้อยู่ในอำนาจศาล อายุความของการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นแล้วย่อมนับหนึ่งหรือเดินหน้าตั้งแต่วันแรกที่กระทำความผิด ดังนั้น หากศาลหลีกเลี่ยงไม่ยอมไต่สวนมูลฟ้อง อายุความอาจจะขาดลง เพราะคำสั่งของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนนี้ที่ให้เลื่อนคดีออกไปโดยไม่มีกำหนด เพื่อรอฟังผลคดีอื่นถึงที่สุด ซึ่งทราบกันดีว่าคดีส่วนใหญ่ทุกวันนี้คดีจะอยู่ในศาลชั้นต้น 2-3 ปี , ศาลอุทธรณ์ 3 ปี บวกศาลฎีกาอีก 3 ปี เกือบ 10 ปี ถ้าคดีของโจทก์ขาดอายุความลง ผู้พิพากษาท่านนั้นจะรับผิดชอบหรือไม่ ในเมื่อโจทก์เองก็พร้อมที่จะให้ศาลทำการไต่สวนมูลฟ้องตามกฎหมาย แต่ศาลไม่ยอมไต่สวน
       
       จากที่ผู้เขียนเสนอแนะข้างต้น ความมีอิสระของผู้พิพากษาประการเดียวจึงย่อมเป็นอันตรายต่อสังคม เพราะตัวอย่างข้างต้น ผู้พิพากษาท่านนั้นมีอิสระในการพิจารณาและพิพากษา จึงย่อมใช้อำนาจสั่งอย่างไรก็ได้ โดยที่ไม่ต้องรับผิดเพราะมีเกราะคุ้มกันอยู่ หากใครไม่พอใจก็อุทธรณ์ฎีกาเอาเอง ซึ่งเป็นเรื่องเสียเวลาโดยใช่เหตุ และหากเป็นเรื่องมีเบื้องหลังก็เป็นเรื่องยากมากที่ฝ่ายเจ้าทุกข์จะพิสูจน์ได้ว่าผู้พิพากษาท่านนั้นรับสินบนหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับฝ่ายจำเลยหรือผู้ต้องหา และหนูที่ไหนจะกล้าเอากระดิ่งไปผูกคอแมว
       
       ข้อเสนอแนะของผู้เขียน จึงควรเพิ่มเติมในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกี่ยวกับความเป็นอิสระของผู้พิพากษา เพราะในปัจจุบัน สถาบันตุลาการนับเป็นสถาบันเดียวที่ไม่มีการตรวจสอบจากองค์กรหรือสถาบันอื่นหรืออำนาจอื่น คงมีแต่องค์กรตรวจสอบภายในของตนเอง เช่น คณะกรรมการตุลาการหรือ ก.ต. เท่านั้น อันไม่เพียงพอต่อการดำรงความเที่ยงธรรมของผู้พิพากษา ตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ที่ถูกยกเลิกไป มาตรา 249 บัญญัติว่าผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ผู้เขียนเห็นว่าเป็นคำที่กว้างเกินไป เพราะตามตัวอย่างที่ผู้เขียนยกข้างต้น ผู้พิพากษาท่านนั้นก็จะอ้างได้ว่ามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ถามว่าทำตามกฎหมายหรือไม่ ท่านก็อาจจะตอบว่าผมเห็นของผมอย่างนี้ แต่โปรดอย่าลืมว่าการใช้ดุลพินิจและความเห็นของท่านต่ำกว่ามาตรฐานมาก ไม่สมควรที่คนระดับผู้พิพากษามีความเห็นและสั่งการไปเช่นนั้น
       
       ถ้อยคำที่ผู้เขียนอยากจะให้เพิ่มคือ “โดยไม่เป็นการฝ่าฝืนภูมิปัญญาความรู้และจริยธรรมตามที่กฎหมายกำหนด” ต่อท้ายข้อความข้างต้นด้วย
       
       ถ้าเพิ่มข้อความตรงนี้ไปหรือข้อความอะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ในทำนองเดียวกัน อย่างน้อยจะได้เป็นการเตือนสติผู้พิพากษามิให้ออกความเห็นหรือใช้ดุลพินิจโดยปราศจากความรู้และภูมิปัญญา รวมทั้งขัดต่อหลักจริยธรรมเป็นการคานอำนาจโดยตัวบทกฎหมายโดยตรง
       
       เกี่ยวกับสภาพบังคับ เมื่อแม่บทกำหนดไว้อย่างนี้ ผู้เขียนขอเสนอให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่รองรับเรื่องนี้ในลักษณะเป็นพรบ.ว่าด้วยภูมิปัญญาและจริยธรรมของผู้พิพากษาและตุลาการขึ้นมารองรับ มีบทลงโทษหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นการฝ่าฝืน เช่น วินิจฉัยโดยไม่มีภูมิปัญญาหรือมีแต่น้อยมากไม่เหมาะกับตำแหน่งผู้พิพากษา
       
       นอกจากนั้น ผู้เขียนยังเห็นว่าไหนๆเราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์แบบกันแล้ว หลักการส่วนนี้ควรจะขยายความให้รวมถึงบุคคลที่ทำหน้าที่เหมือนผู้พิพากษาที่มีกฎหมายรองรับ นั่นคือ อนุญาโตตุลาการ ซึ่งก่อตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายในทางแพ่ง เกี่ยวกับผลประโยชน์มหาศาลของกิจการ สิทธิเรียกร้องต่างๆ บางครั้งใช้อำนาจชี้ขาดโดยหักดิบ แต่คำชี้ขาดกลับมีผลอย่างยิ่ง เพราะมีช่องทางที่จะอุทธรณ์หรือเพิกถอนน้อยมาก ดังนั้นในรัฐธรรมนูญจึงควรมีบทบัญญัติควบคุมการใช้อำนาจชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไว้ด้วย เพื่อเป็นแม่บท แล้วให้ออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญควบคุมและมีบทลงโทษในรายละเอียดเช่นเดียวกับตุลาการด้วย
       


       ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544