หน้าแรก บทความสาระ
๑๙ ก.ย. ๔๙ : รัฐประหารครั้งสุดท้ายของไทย โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ อาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย
29 เมษายน 2550 22:50 น.
 
หนึ่งในจำนวนบรรดาผู้คนจำนวนมากที่มีความรู้สึกอึดอัดขัดข้องและทุกข์ระทมในประเทศไทยปัจจุบันนี้คงจะต้องรวม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร ๑๙ ก.ย. ๔๙ และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารในครั้งนี้เข้าไปด้วยอย่างแน่นอน
       
       เนื่องเพราะการตัดสินใจทำรัฐประหารในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างไม่มีการเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากการรัฐประหารที่ผ่าน ๆ มาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านจากกลุ่มอำนาจเก่าหรือคลื่นใต้น้ำ การก่อความไม่สงบไม่ว่าจะเป็นการวางระเบิดหรือเผาโรงเรียนที่ระบาดจากภาคใต้เข้าสู่เมืองหลวงและเมืองอื่นๆ การชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่างๆ การเข้าเกียร์ว่างของบรรดาข้าราชการทั้งหลายทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองที่คณะรัฐประหารตั้งมาเองกับมือแท้ ๆ ตลอดจนการไม่ยอมรับจากบรรดานานาประเทศที่ต่อต้านการยึดอำนาจโดยใช้กำลัง ฯลฯ
       
       การขับเคลื่อนรัฐนาวาเป็นไปด้วยความอึดอัด ขัดข้อง จะเดินหน้าก็เดินไม่ได้ จะถอยหลังด้วยการวางมือกลางคันก็ไม่ได้เพราะเกรงว่านอกจากจะถูกตามเช็คบิลแล้วยังต้องเสื่อมเสียถึงเกียรติประวัติวงศ์ตระกูลเสียอีก เพราะต้นทุนเดิมที่มีอยู่ค่อนข้างสูงด้วยความเชื่อว่าเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้อยู่เหนือเส้นมาตรฐานของความดี แต่เมื่อเข้าสู่อำนาจแล้วความดีต่าง ๆ ที่สั่งสมมาไม่ได้ช่วยให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นแต่อย่างใด แต่กลับถูกว่ากล่าวโจมตีอย่าง เสีย ๆ หายๆ รวมไปถึงการขุดคุ้ยทั้งเรื่องจริงและไม่จริงออกมาก่นด่าประจานโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสื่ออีเล็กโทรนิก
       
       จากประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ผ่านมาไม่มีคณะรัฐประหารใดที่จบลงอย่างสวยงามเลย แม้แต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ และ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ เจ้าของวลีอมตะ “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ที่บางคนยังถวิลหาความเด็ดขาดในการบริหารบ้านเมือง มีการยิงเป้าผู้ถูกข้อหาลอบวางเพลิงและข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยการใช้ ม.๑๗ อย่างมากมาย จนท้ายสุดต้องเสียชีวิตคาตำแหน่ง แต่ทรัพย์สมบัติหรือมรดกตกทอดก็ต้องถูกตามยึดอายัดตกเป็นของแผ่นดินด้วย ม.๑๗ ที่ตนเองใช้ประหารชีวิตผู้อื่นนั่นเอง
       
       การรัฐประหารครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ รัฐบาลโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา"ให้ปิดสภาผู้แทนราษฎรและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่” โดยยุบคณะรัฐมนตรี แล้วตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เป็นผลให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกสมัยโดยมิได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรพร้อมทั้งงดใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๔๗๕ บางมาตรา ซึ่งน่าประหลาดเพราะพระราชกฤษฎีกาซึ่งถือว่ามีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายต่ำกว่ารัฐธรรมนูญแต่กลับไปบังคับให้งดใช้รัฐธรรมนูญ จึงถือได้ว่าเป็นการรัฐประหารเช่นกันแต่เป็นการรัฐประหารเงียบ
       
       แต่ต่อมาเมื่อ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ พระยามโนฯก็ถูกยึดอำนาจโดยคณะราษฎรเดิมจนต้องเดินทางออกจากเมืองไปลี้ภัยอยู่ที่เกาะปีนังเป็นเวลา ๑๕ ปีเศษโดยมิได้กลับมาเมืองไทยอีกเลยและเสียชีวิตที่นั่น
       
       ส่วนการรัฐประหารของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ที่รัฐประหารรัฐบาลของตนเองแล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับมาราธอนเป็นปีๆ ก็ไม่เสร็จจนเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ ที่นักศึกษาและประชาชนออกมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญและขับไล่ออกจากตำแหน่งจนต้องหนีออกนอกประเทศ แต่ก็ยังถือว่าโชคดีที่ได้กลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย
       
       การรัฐประหารที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งที่สำคัญก็คือการรัฐประหารเมื่อ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือ รสช.ที่คณะรัฐประหารของ พล.อ.สนธิ นำรูปแบบมาใช้เกือบทุกอย่างแม้กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี ๔๙ ก็แทบจะลอกมาทุกมาตราเพียงแต่เปลี่ยนจากคำว่า รสช.เป็น คมช.เท่านั้น และผลสุดท้ายของการรัฐประหารของ รสช.ก็จบลงด้วยเหตุการณ์นองเลือด “พฤษภาทมิฬ” อันเศร้าสลดเมื่อปี ๒๕๓๕
       
       เมื่อหันกลับมาดูการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบันที่ล่วงมา ๖ – ๗ เดือนนั้นเล่า นับได้ว่าเป็นการรัฐประหารที่มีผู้คนออกมาแสดงความเห็นคัดค้านอย่างชัดแจ้งมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเห็นผ่านสื่อต่าง ๆ ที่สำคัญคือในโลกของไซเบอร์หรืออินเตอร์เน็ตที่กระทรวงไอซีทีต้องตามไปปิดไปบล็อกอย่างจ้าละหวั่น แต่การปิดเว็บก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น เพราะเป็นเหมือนกับการวิ่งไล่จับเงานั่นเอง
       
       ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญนั้นเล่า โอกาสที่จะไม่ผ่านประชามติก็มีค่อนข้างสูง เพราะในเนื้อหาหลัก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสรรหา ส.ว.ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าหากเรามี ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งแล้วก็ไม่รู้ว่าเราจะมี ส.ว. ไว้ทำไมให้อับอายขายหน้าประชาชีเขา เพราะแม้แต่สภาขุนนางของอังกฤษที่มีวิวัฒนาการมาเป็นหลายร้อยปีเดี๋ยวนี้ก็มีการเสนอให้เลือกตั้งกันหมดแล้ว หากเรามี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งสู้เรามีสภาเดียวเหมือนสวีเดนหรือนอร์เวย์เสียยังจะดีกว่า
       
       อีกทั้งระบบการเลือกตั้งที่จะใช้แบบแบ่งเขตเรียงเบอร์แทนแบบเขตเดียวคนเดียวที่เดิมผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีสิทธิ์เท่าเทียมกันไม่ว่าจะอยู่จังหวัดเล็กหรือจังหวัดใหญ่นั้น มองอย่างไรก็ไม่อาจคิดเป็นอย่างอื่นได้ว่าไม่ใช่การจงใจทำลายระบบพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่าพรรคใหม่ หรือพรรคที่หลงไปเชลียร์คณะรัฐประหารมาตั้งแต่ต้น ที่ตอนนี้ก็คงรู้ซึ้งแล้วว่าเขาคิดอย่างไรกับระบบพรรคการเมืองและยิ่งจะเลวร้ายมากขึ้นไปอีกหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้ว คมช.หยิบเอา รธน.ที่ต่ำกว่ามาตรฐานฉบับปี ๔๐ มาใช้ซึ่งจะถูกต่อต้านอย่างรุนแรงอย่างแน่นอน
       
       จากเหตุผลที่ยกมาข้างต้นทั้งหมดนี้ จึงจะเห็นได้ว่าการทำรัฐประหารในยุคต่อไปนี้ “ไม่หมู” แล้วสำหรับการนำรถถังเก่าๆออกมาวิ่งในถนน ยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์พร้อมกับออกประกาศยึดอำนาจเพื่อปกครองผู้คนในยุคที่โลกมีการสื่อสารถึงกันทั่วโลกในพริบตาเดียวเช่นนี้ให้เชื่อฟังและปฏิบัติตามโดยไม่หือไม่อือเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
       
       การห้ามความคิดของคนที่อยากจะทำรัฐประหารนั้นคงห้ามความคิดกันไม่ได้ เพราะคนที่คิดแก้ปัญหาบ้านเมืองด้วยวิธีการมักง่าย ใจร้อน นั้นมีอยู่มากมาย แม้แต่กลุ่มองค์กรที่มีชื่อต่อท้ายว่า “ประชาธิปไตย” ทั้งหลาย ก็ยังพากันเรียกร้องให้ทหารออกมายึดอำนาจ แทนการแก้ไขปัญหาในวิถีทางประชาธิปไตยตามชื่อเรียกของกลุ่มตนเอง
       
       ฉะนั้น จากบทเรียนอันเจ็บปวดที่ผมยกมาทั้งหมดนี้ จึงเชื่อได้ว่าการรัฐประหาร ๑๙ ก.ย. ๔๙ นี้จะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้ายของไทยเรา ด้วยเหตุว่าคนที่คิดจะทำรัฐประหารต่อไปในอนาคตนอกจากจะ “โง่” แล้วยัง “บ้า” อีกต่างหาก นอกเสียจากว่าอยากจะคิดฆ่าตัวเองและประเทศชาติให้ตายตกไปตามกันเท่านั้น
       


       
-----------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544