หน้าแรก บทความสาระ
ข้อคิดเห็นบางประการในการบรรจุพุทธศาสนาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 โดยนายภาสพงษ์ เรณุมาศ
คุณภาสพงษ์ เรณุมาศ เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ 5 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
28 พฤษภาคม 2550 00:26 น.
 
1. บทนำ
       ตามที่มีกระแสเรียกร้องจากเหล่าพุทธศาสนิกชน และคณะสงฆ์ โดยการนำของพระเทพวิสุทธิกวี เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา ฯ นำทีมคณะสงฆ์ยื่นหนังสือเรียกร้องต่อ สภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2550 1 เพื่อให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ เพิ่มเติมข้อความลงในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ว่า “ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก” ลงในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ โดยให้เหตุผลว่า จะก่อให้เกิดความชัดเจนในการบริหารจัดการ ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง เป็นการส่งเสริมอารยธรรมที่สูงส่งในพระพุทธศาสนา โดยที่ศาสนาอื่นก็ได้รับการส่งเสริมคุ้มครองไปพร้อมๆ กัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่ชาติบ้านเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในทุกๆ ด้าน
       
       ซึ่งจากเหตุผลที่ฝ่ายสนับสนุนได้กล่าวไว้ จึงเกิดประเด็นคำถามขึ้นว่า ผลดี(Positive) และผลเสีย (Negative) ที่อาจเกิดขึ้นจากการบรรจุถ้อยคำดังกล่าว จะเกิดผลกระทบอย่างไรเกิดขึ้นบ้างในสังคมไทย โดยผู้เขียนจะพิจารณาในแง่มุมดังต่อไปนี้ เพื่อนำไปสู่บทวิเคราะห์เปรียบเทียบ ต่อไป
       1.1 พิจารณาตามรัฐธรรมนูญของไทย
       1.2 พิจารณาตามรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ
       1.3 พิจารณาในแง่มุมสิทธิมนุษยชน (Human Rights)
       
       1.1 พิจารณาตามรัฐธรรมนูญของไทย
       
       จากการศึกษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตั้งแต่อดีต พ.ศ. 2475 จนถึงรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 มิได้มีการบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแต่อย่างใด สาเหตุส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากโดยพื้นฐานในเรื่องประเพณี ( Custom) การปกครองของคนไทย ซึ่งถูกสืบเชื้อสายถ่ายทอดมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัย โดยจุดรุ่งเรืองสุดก็คือในรัชสมัยของพระเจ้าลิไท ( ซึ่งทรงเป็น พระราชนัดดาของ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช)2 ดังนั้น ด้วยความผูกพันดังกล่าว ประชาชนส่วนหนึ่ง จึงมิได้เห็นว่าการบรรจุพระพุทธศาสนาในรัฐธรรมนูญจะเกิดผลดีหรือหากไม่บรรจุจะเกิดผลลบต่อวิถีชีวิตในการดำรงชีวิตของตนเองแต่อย่างใด เพราะการนับถือศาสนาพุทธของประชาชนเป็นไปด้วยความศรัทธา มากกว่าการที่จะต้องถูกบังคับไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ดังนั้น ด้วยเหตุดังกล่าวรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในฉบับก่อน ๆ จึงไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องบัญญัติให้ พุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติไทย ( ปัจจุบันประเทศไทย มี ผู้นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 95 นิกายเถรวาท ศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 1 ศาสนาคริสต์และศาสนาอื่น อีกร้อยละ 1)
       
       1.2 พิจารณาตามรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ
       
       1.2.1 ประเทศฝรั่งเศส
       ตามรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ. 1958 มาตรา 1 3 บัญญัติว่า “ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐที่มิอาจแบ่งแยกได้ เป็นกลางทางศาสนา เป็นประชาธิปไตย และเป็นของสังคม สาธารณรัฐรับรองความเสมอภาคตามกฎหมายของพลเมืองโดยไม่แบ่งแยกแหล่งกำเนิด เชื้อชาติ หรือศาสนา สาธารณรัฐเคารพต่อความเชื่อของทุกนิกาย โครงสร้างของสาธารณรัฐเป็นการกระจายอำนาจการปกครอง”
       
       1.2.2 ประเทศจีน
       
       ตามรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ.1982 มาตรา 36 4 บัญญัติว่า “พลเมืองของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีเสรีภาพในการเลื่อมใสศรัทธาศาสนาไม่ว่าองค์กรของรัฐ องค์กรสังคมและบุคคลใดๆ ใช้กำลังบีบบังคับให้พลเมืองเลื่อมใสศรัทธาศาสนาหรือไม่เลื่อมใสศรัทธาศาสนาไม่ได้ ดูถูกเหยียดหยามพลเมืองที่เลื่อมใสศรัทธาศาสนาและไม่เลื่อมใสศรัทธาศาสนาไม่ได้…..”
       
       1.2.3 ประเทศญี่ปุ่น
       
       ตามรัฐธรรมนูญแห่งประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1946 มาตรา 20 5 บัญญัติว่า “ เสรีภาพในการถือศาสนา เป็นสิ่งที่ได้รับการรับรองสำหรับบุคคลทุกคน องค์กรทางศาสนาใดๆ จะขอรับสิทธิ์จากรัฐ หรือใช้อำนาจทางการเมืองมิได้…”
       
       ซึ่งเมื่อพิจารณา จากบทบัญญัติของประเทศต่าง ๆ และตามรัฐธรรมนูญในอีกบางประเทศ เช่น ประเทศ Albania 6 ประเทศ Bulgaria 7 จะเห็นได้ว่ารัฐมุ่งให้ความเป็นอิสระและเสรีภาพของประชาชนในการนับถือศาสนา โดยรัฐมิได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือจำกัดสิทธิแต่อย่างใด การกำหนดให้ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ จึงไม่ใช่เรื่องจำเป็น
       แต่ ณ ปัจจุบันหากจะมีประเทศที่มีการบัญญัติในเรื่องศาสนาประจำชาติ ก็สามารถพบได้ในประเทศศรีลังกา ประเทศกัมพูชา และกลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม เช่น ประเทศ อิรัก 8 ประเทศคูเวต 9 ที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนให้ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาประจำชาติ
       
       1.3 พิจารณาในแง่มุมสิทธิมนุษยชน ( Human Rights)
       

       1.3.1 ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966
       ข้อบทที่ 18 บัญญัติว่า 10
       
1. บุคคลย่อมมีสิทธิในเสรีภาพทางความคิด มโนธรรมและศาสนา สิทธินี้ย่อมรวมถึงเสรีภาพในการมีหรือนับถือศาสนา หรือมีความเชื่อตามคตินิยมของตน และเสรีภาพในการแสดงออกทางศาสนา หรือความเชื่อของตนโดยการสักการบูชา การปฏิบัติการประกอบพิธีกรรม และการสอนไม่ว่าจะทำโดยลำพังตนเอง หรือในชุมชนร่วมกับผู้อื่น และไม่ว่าต่อสาธารณชนหรือเป็นการส่วนตัว
       2. บุคคลจะถูกบีบบังคับให้เสื่อมเสียเสรีภาพในการมีหรือนับถือศาสนาหรือความเชื่อตามคตินิยมของตนมิได้
       3. เสรีภาพในการแสดงออกทางศาสนา หรือความเชื่อของบุคคลอาจอยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อจำกัดเฉพาะที่บัญญัติโดยกฎหมายและตามความจำเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อยสุขอนามัย หรือศีลธรรมของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นมูลฐานของบุคคลอื่นเท่านั้น
       4. รัฐภาคี แห่งกติกานี้รับที่จะเคารพเสรีภาพของบิดามารดาหรือผู้ปกครองตามกฎหมายในการให้การศึกษาทางศาสนาและศีลธรรมแก่เด็ก ตามความเชื่อของตน
       
       จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจน ว่าเป็นแนวทางให้รัฐภาคี ดำเนินการแก้ไขกฎหมาย ให้สอดคล้องและต้องกันกับ กติกา ฯ ดังกล่าว ซึ่งหลังจากที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2540 11 ประเทศไทยก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
       
       มาตรา 38 โดยได้บัญญัติว่า “ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของตน.....”
       
       2. บทวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ
       
       ตามที่ได้ศึกษาถึงแง่มุมในด้านต่าง ๆ ทั้งในส่วนของรัฐธรรมนูญของไทยเอง และของต่างประเทศ ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึง กติการะหว่างประเทศ ฯ ที่มุ่งให้ประเทศภาคีได้ปฏิบัติจะเห็นได้ว่า โดยส่วนใหญ่ของแต่ละประเทศมุ่งจะให้เกิดความมีเสรีภาพ(Freedom) ในการนับถือศาสนา เหตุผลส่วนใหญ่นั่นคือ ไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยกของประชาชนในท้องที่หรือเกิดความแบ่งแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เหตุที่ประเทศต่างๆ ได้ ทราบถึงปัญหาดังกล่าวก็เพราะการศึกษา หรือดูแบบอย่างของประวัติศาสตร์ในอดีต อย่างเช่น
       
       2.1 ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งเชิงศาสนาระหว่างคริสต์กับอิสลาม หรืออาจย้อนประวัติศาสตร์ไปถึงเรื่องสงครามครูเสด (Crusade) หรือสงครามเพื่อไม้กางเขนในช่วงต้น คริสตวรรษที่ 11 สงครามศาสนาอันยาวนานระหว่างคริสเตียนกับอิสลามดังกล่าว จัดเป็นส่วนหนึ่งแห่งความสัมพันธ์อันขมขื่นยาวนานระหว่างตะวันออกและตะวันตก โดยมีผู้จัดให้สงครามกรุงทรอยและสงครามเปอร์เซียในประวัติศาสตร์โบราณเป็นภาคต้น สงครามครูเสดเป็นภาคกลาง และการขยายอำนาจแสวงหาอาณานิคม (ของตะวันตก) ในศษตวรรษที่แล้วเป็นภาคสุดท้าย 12
       
2.2 ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มยิวกับมุสลิม
       2.3 การก่อการร้ายของพวกมุสลิมหัวรุนแรง ณ ดินแดนต่าง ๆ ของโลก
       2.4 ความรุนแรงระหว่างฝ่ายคาทอลิกและโปรเตสแตนท์ในไอร์แลนด์เหนือโดยน้ำมือของขบวนการไออาร์เอ
       
       และหากจะเป็นการพิจารณาแบบอย่างในปัจจุบันเอง ก็สามารถดูแบบอย่างได้ จากประเทศศรีลังกา ซึ่งในอดีตไม่ได้บรรจุให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่หลังจากที่มีการบรรจุเข้าไป ก็เกิดการรบราฆ่าฟันกันระหว่างชาวสิงหล ( 74% นับถือพุทธ) กับชาวทมิฬ ( 18% นับถือฮินดู – ที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์กับอิสลาม)
       
       เหล่านี้ถือเป็นบทเรียนอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ เห็นถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในเชิงศาสนา
       
       ซึ่งเมื่อกลับมาพิจารณาในส่วนของประเทศไทยเอง จะพบว่าในอดีตรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ต่างให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา เพื่อมิให้เกิดความแตกแยกและเลือกปฏิบัติ ศาสนาต่าง ๆ ต่างได้รับความคุ้มครองในการประกอบพิธีกรรม ตามระเบียบกรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยองค์การศาสนาต่าง ๆ พ.ศ. 2512 การนับถือศาสนาพุทธของประชาชนชาวไทย ต่างเป็นไปด้วยความเต็มใจและการถูกถ่ายทอดมาแต่อดีต จนหยั่งลึกในสังคมเกินที่จะต้องนำมาบัญญัติเป็นกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตาม
       
       ดังนั้น การที่จะบรรจุศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติ ผู้ร่าง ฯ จึงจำต้องตระหนักถึงผลดีผลเสีย ที่อาจเกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ ทั้งในแง่มุมของประวัติศาสตร์ในอารยธรรมโลก และสภาพความขัดแย้งในสังคมไทย โดยเฉพาะในประเด็นภาคใต้ ที่มวลชนของไทยกำลังถูกแบ่งฝัก แบ่งฝ่าย โดยอ้างการนับถือศาสนาเป็นเหตุในการแบ่งแยกดินแดน
       
       สุดท้ายนี้ ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า การทดลองบรรจุหลักเกณฑ์หรือหลักกฎหมาย ใด ๆ ในเรื่องบางเรื่องสามารถทำได้ และหากเกิดผลเสียก็ย่อมแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แต่การบรรจุในเรื่องบางเรื่องที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อความคิดของบุคคล อาจไม่สามารถแก้ไขได้ หากเกิดข้อขัดแย้งในสังคมและอาจจะเป็นการตอกลิ่ม การแบ่งแยกของความคิด จนยากเกินที่จะแก้ไขเยียวยา
       
       เชิงอรรถ
       1.http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9500000045362
       2.http://sunsite.au.ac.th/thailand/buddism/indext.html
       3.http://www5.nesac.go.th/about/France_constitution_TH.php
       4.http://www5.nesac.go.th/about/China_constitution_TH.php
       5.http://www5.nesac.go.th/about/Japan_constitution_TH.php
       6.โปรดดู Constitution of Albania Article 7
       7.โปรดดู Constitution of Bulgaria Article 13
       8.โปรดดู Constitution of Iraq Article 4
       9.โปรดดู Constitution of Kuwait Article 2
       10.กุลพล พลวัน ,สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย (พิมพ์ครั้งที่ 1),หน้า 249-254.
       11.กุลพล พลวัน ,สิทธิมนุษยชนในสังคมโลก (สำนักพิมพ์นิติธรรม :พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2547 ),หน้า 236..
       12.นิธิ เอียวศรีวงศ์,”อิสลามสมัยแรก”.(กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย,2511) หน้า 292.


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544