หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 92
15 ธันวาคม 2547 13:54 น.
"ทำไมยุโรปต้องมีรัฐธรรมนูญของสหภาพยุโรป"
       ตอนนี้ผมอยู่ที่เมือง Aix-en-Provence ก็ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเท่าไหร่ สองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น สัปดาห์แรกก็ร่วมปฏิบัติภารกิจกับเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในประเทศฝรั่งเศส ส่วนสัปดาห์ที่สองก็ไปเป็นกรรมการสอบสารนิพนธ์ (mémoire) ของนักเรียนไทย 2 คนที่มหาวิทยาลัย Nantes จากนั้นก็อยู่ที่ Paris 3 วัน แล้วก็กลับมาถึง Aix-en-Provence เมื่อต้นอาทิตย์ที่แล้วนี่เองครับ
       ที่ฝรั่งเศสอากาศยังสบายอยู่ ไม่หนาวเท่าไหร่ ผมใช้ชีวิตสองอาทิตย์ที่ผ่านมาอย่างมีความสุขเพราะอยู่ห่างไกลจากบรรดาสิ่งที่เข้ามารบกวนจิตใจทั้งหลายครับ จริง ๆ แล้วการเป็น “อาจารย์” นี่ก็ดีไปอย่างหนึ่งคือ สามารถทำแบบที่ผมทำได้ ปีหนึ่งไปสอนหนังสือต่างประเทศสองหน หนละ 1 ถึง 2 เดือน นอกจากจะเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงานและได้พักผ่อน “จริง ๆ” แล้ว ยังได้ “วัตถุดิบ” กลับมาทำงานอีกด้วยครับ ขณะนี้ผมมีงานวิจัยที่จะทำอยู่ 2-3 เรื่องและก็มีงานเขียนที่ตั้งใจไว้ว่าจะเขียนอีก 2 เล่ม ก็เลยเป็นโอกาสดีที่จะได้ค้นคว้าหาข้อมูลกลับไปทำงานเหล่านั้นต่อครับ แต่การไปสอนหนังสือต่างประเทศนี้ก็ไม่ใช่เรื่อง “ง่าย” ที่จะทำกันได้ตลอดเวลานะครับ เพราะการที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศจะเชิญไปสอนหนังสือได้ก็ต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ ของเขามากมายครับ เมื่อไปถึงที่แล้วก็ยังมีเรื่องวุ่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น ที่พัก อาหาร เงิน เป็นต้น แต่สรุปแล้วโดยภาพรวมผมคิดว่า สำหรับตัวผมนั้นพอใจและได้ประโยชน์จากการเดินทางมาต่างประเทศในลักษณะนี้ครับ
       สำหรับแฟนประจำของ www.pub-law.net คงจำกันได้ว่าเมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน ที่ผ่านมาเมื่อครั้งผมไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศส ผมได้เขียนเล่าถึงรัฐธรรมนูญของสหภาพยุโรปว่า มีการจัดทำขึ้นแล้วและกำลังอยู่ในระหว่างการที่ประเทศสมาชิกให้สัตยาบัน กลับมางวดนี้ ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญของสหภาพยุโรปก็ยังคงเป็นประเด็น “ร้อน” อยู่ในประเทศฝรั่งเศสครับ เหตุที่เป็นประเด็นร้อนก็เพราะพรรคสังคมนิยมซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านต่างก็พากันออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญของสหภาพยุโรปครับ
       คงต้องเล่ากันใหม่อีกครั้งถึงรัฐธรรมนูญของสหภาพยุโรปครับ รัฐธรรมนูญของสหภาพ ยุโรปได้รับการพิจารณาจากประเทศสมาชิกอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเห็นพ้องต้องกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.2004 ที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ว่าควรจะมี
       “รัฐธรรมนูญ” ของยุโรป ก่อนจะมีผลใช้บังคับในปี ค.ศ.2009 รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องได้รับการลงนามร่วมกันอย่างเป็นทางการจากบรรดาสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 25 ประเทศก่อนในวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.2004 ที่จะถึงนี้ ซึ่งก็หมายความว่าต้องมีการแปลรัฐธรรมนูญเป็นภาษาของประเทศสมาชิกทั้ง 25 ประเทศด้วย และนอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องผ่านกระบวนการภายในประเทศของแต่ละประเทศเสียก่อนเพื่อให้สัตยาบันรับรองในรัฐธรรมนูญฉบับที่จะเป็นรัฐธรรมนูญของ “ยุโรป” ซึ่งกระบวนการให้สัตยาบันก็มีอยู่สองวิธีการคือ การให้ประชาชนออกเสียงประชามติ (referendum) หรือการให้รัฐสภาลงมติให้สัตยาบันครับ
       ทำไมยุโรปถึงต้องมีรัฐธรรมนูญของยุโรป ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจก่อน ตามความเข้าใจของเรานั้น รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศและเป็นบทบัญญัติที่กำหนดรูปแบบและกลไกในการปกครองประเทศ การนำเอาคำว่า “รัฐธรรมนูญ” (Constitution) มาใช้กับ “หลักเกณฑ์ร่วม” ของยุโรปก็เพราะต้องการให้มีสิ่งที่สำคัญที่สุดของยุโรปที่ประเทศสมาชิกทั้งหลายต้องเคารพและปฏิบัติตามในกระบวนการเดียวกันและเรื่องเดียวกัน เพราะยุโรปทั้ง 25 ประเทศที่รวมกันเป็นสหภาพยุโรปในวันนี้ประกอบด้วยพลเมืองจำนวนมาก การอยู่ภายใต้ข้อตกลงหรือสนธิสัญญา (conventions, traités) เช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ดูเป็นสิ่งที่ขาดน้ำหนักในด้านความเชื่อมโยงระหว่างประเทศและดูไม่ค่อยเป็น “สาระ” เท่าใดนัก ดังนั้น การนำเอาข้อตกลงหรือสนธิสัญญาทั้งหลายมารวบรวมไว้ที่เดียวกัน จึงก่อให้เกิดผลดีกับประเทศสมาชิกทั้งหลายมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ข้อตกลงและสนธิสัญญาเหล่านั้นจึงกลายมาเป็น “รัฐธรรมนูญ” ของสหภาพยุโรป แม้จะมีความแตกต่างจาก “รูปแบบ” ของรัฐธรรมนูญ “ภายใน” ของแต่ละประเทศ แต่รัฐธรรมนูญของสหภาพยุโรปก็ได้สร้าง “สถาบัน” ใหม่ขึ้นมาเช่นกัน ดังตัวอย่างเช่น ประธานสภายุโรป (Président du Counseil Européen) ที่มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสหภาพยุโรป มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปีครึ่ง รัฐมนตรีด้านการต่างประเทศ (Ministre des Affaires Etrangères) ที่มาจากการแต่งตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี หรือสภายุโรป (Parlement Européen) ที่ทำหน้าที่ “วางกฎเกณฑ์” ของสหภาพยุโรป พิจารณางบประมาณ ดูแลเรื่องนโยบายทางการเมืองของยุโรป สมาชิกสภายุโรปมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของ “พลเมือง” ยุโรปมีจำนวน 2750 คน ซึ่งก็มีวิธีการคำนวณจำนวนของสมาชิกสภายุโรปจากแต่ละประเทศไว้เป็นพิเศษครับ การรวมตัวกันของประเทศต่าง ๆ เข้าเป็นสหภาพยุโรปนั้นมีสาระสำคัญหลายประการ แต่ส่วนหนึ่งแล้วก็คือ เพื่อให้เกิดการพาณิชย์อย่างเสรี มีการแข่งขันกัน ซึ่งจากสาระสำคัญที่กล่าวไปก็เลยทำให้เกิดผลตามมาก็คือ กิจกรรมหลาย ๆ อย่างที่เป็น “บริการสาธารณะ” (service public) ที่รัฐผูกขาดก็ต้องถูกยกเลิก ทำให้เกิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหลาย ๆ แห่งในหลาย ๆ ประเทศ ก็เลยเกิดการคัดค้านหรือการประท้วงกันอยู่บ่อย ๆ ครับ ก็คงต้องเอาใจช่วยกันต่อไปนะครับ การที่พลเมืองของประเทศต่าง ๆ ทั้ง 25 ประเทศจะให้ “ความเห็นชอบ” กับรัฐธรรมนูญของสหภาพยุโรปคงไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าใดนะครับ!!!
       ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีนักเรียนไทยไปประเทศฝรั่งเศสหลาย ๆ คนที่มีโอกาสได้พบกันแล้วก็ได้เสนอ “แนวคิด” ที่ควรมี “กรอบ” ใหม่ขึ้นใน website แห่งนี้ โดยกรอบใหม่ที่ว่านี้จะเป็น “ข่าวคราว” ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย การเมือง การปกครอง ของประเทศฝรั่งเศสที่นักเรียนไทยจะเขียนส่งมา ผมรู้สึกเห็นด้วยกับความคิดนั้น ในวันนี้เราก็มี “ข่าว” ชิ้นแรกที่ส่งมาจากฝรั่งเศสที่เขียนโดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษากฎหมายมหาชนระดับปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศสครับ ผมเลยขอถือโอกาสเปิด “กรอบ" ใหม่คือ “นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน” ขึ้นเพื่อให้เป็นที่ “บอกเล่า” ข่าวคราวสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศให้พวกเราได้รับทราบครับ ผมต้องขอขอบคุณ อ.ปิยบุตรฯ ที่เป็นผู้เริ่มต้นส่งความเห็นมายังเราเป็นคนแรกครับ!!! ผมหวังว่าคงมีนักเรียนไทยคนอื่น ๆ ที่พอมีเวลา ส่งเรื่องที่น่าสนใจมาบอกเล่ากันบ้างนะครับ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสเท่านั้นนะครับ ขอบคุณครับ!!!
       ผมรับทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งให้กับสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปีที่แล้ว งานวิจัยนั้นชื่อว่า “การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” ที่ผ่านมาผมได้รับการขอสำเนาหรือขอดูงานวิจัยนี้หลายต่อหลายคน ผมเลยตัดสินใจขอสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเผยแพร่งานวิจัยนี้ใน website ซึ่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ให้ความสนับสนุนเป็นอย่างดี ดังนั้นผมจึงขอนำผลงานวิจัย เรื่อง การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” ลงเผยแพร่เป็นตอน ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะจบครับ โดยในครั้งนี้ผมขอนำเสนอสารบัญของงานวิจัยทั้งหมดไว้ และเสนอส่วนแรกของงานวิจัย คือ สิทธิและเสรีภาพ กับหลักประกันสิทธิและเสรีภาพตาม
       รัฐธรรมนูญ (ส่วนที่หนึ่ง) ครับ หวังว่าคงได้ประโยชน์กันบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ 18 ตุลาคม 2547 ครับ
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544