หน้าแรก บทความสาระ
วิธีพิจารณาคดีอาญาตามระบบไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดย คุณณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์
คุณณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์ นบ. นบท. นม. (รามคำแหง)
24 มิถุนายน 2550 22:14 น.
 
1. ความนำ
       
       การปฏิรูปการเมืองไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้กำหนดระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และได้กำหนดให้มีศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีของนักการเมืองโดยเฉพาะ อันเป็นการนำหลัก “ศาลอาญาชั้นสูงและศาลอาญาแห่งสาธารณรัฐ” ตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1993 ของประเทศฝรั่งเศสมาใช้ 1 เดิมคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) เสนอให้มี “ตุลาการอาญาธร” ซึ่งเป็นศาลอาญาชั้นสูงพิจารณาความผิดทางอาญาของนักการเมือง 2 ต่อมาสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ได้เสนอให้มี “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ตามบทบัญญัติมาตรา 272 วรรคสอง ในการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 บัญญัติให้ยึดสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือสำนวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนเป็นหลักในการพิจารณา และศาลอาจไต่ส่วนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร มาตรา 19 บัญญัติให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานต่อเนื่องติดต่อกันไปทุกวันทำการจนกว่าจะเสร็จสิ้นการพิจารณา และในการไต่สวนให้องค์คณะผู้พิพากษาสอบถามพยานบุคคลเอง โดยการแจ้งให้พยานทราบประเด็นและข้อเท็จจริงซึ่งจะทำการไต่สวน แล้วให้พยานเบิกความในข้อนั้นโดยวิธีการแถลงด้วยตนเองหรือตอบคำถามศาล แล้วจึงให้โจทก์จำเลยถามเพิ่มเติมต่อไป (มาตรา 31 ) จะเห็นได้ว่า วิธีพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 บัญญัติให้เป็น “ระบบไต่สวน” อย่างเต็มรูปแบบในการพิจารณา ซึ่งระบบไต่สวนที่ใช้ในการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนี้ มีความแตกต่างจากระบบวิธีพิจารณาคดีอาญาทั่วไปในศาลยุติธรรมอื่นที่ใช้ระบบผสมเน้นไปทางระบบกล่าวหาเป็นหลัก ทำให้คู่ความ ทนายความหรือศาลเคยชินกับระบบผสมเน้นไปในทางระบบกล่าวหา จึงไม่คุ้นเคยกับระบบไต่สวนที่จะต้องกระทำกันอย่างเต็มรูปแบบ
       แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 จะถูกยกเลิก เนื่องจากการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 แต่ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน 2549 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้ต่อไป ดังนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงยังคงฐานะอยู่ต่อไป และคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็จะต้องได้รับการพิจารณาโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
       ผู้เขียนจึงได้เขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อจะวิเคราะห์ถึงลักษณะสำคัญของระบบไต่สวนเต็มรูปแบบของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และวิเคราะห์ข้อเห็นหรือไม่เห็นด้วยของการระบบไต่สวนเต็มรูปแบบ และจะเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในส่วนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
       
       2. ระบบวิธีพิจารณาความอาญา
       

       ในเบื้องต้นจะขอทำความเข้าใจหลักทั่วไปของระบบวิธีพิจารณาความอาญาตามระบบกล่าวหาและระบบไต่สวนก่อน ดังนี้
       
       1.1 ระบบกล่าวหา มีลักษณะสำคัญคือ ศาลมีบทบาทจำกัดเป็นเพียงผู้ตัดสินคดีเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการสืบพยานเพิ่มเติมหรือช่วยคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแสวงหาพยานหลักฐาน การดำเนินการพิจารณามีหลักเกณฑ์ละเอียดปลีกย่อยมาก ศาลใช้ดุลพินิจได้น้อยมาก คู่ความสองฝ่ายมีบทบาทสำคัญเป็นคู่ต่อสู้ซึ่งกันและกันเห็นได้ชัด ในคดีอาญา ศาลจะไม่ช่วยโจทก์แสวงหาพยานหลักฐาน ดังนั้น บางครั้งศาลอาจยกฟ้องทั้งๆ ปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดก็ได้ แต่พยานหลักฐานโจทก์มีข้อน่าสงสัย ต้องยกผลประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย และในระบบกล่าวหานี้ มีหลักเกณฑ์การสืบพยานที่เคร่งครัดมาก ศาลมีโอกาสใช้ดุลพินิจได้น้อย มีบทตัดพยานเด็ดขาด ไม่ยอมให้ศาลรับฟังพยานนั้นเข้าสู่สำนวนความเลย นอกจากนี้มีการห้ามใช้คำถามนำในการถามพยานตนเอง 3
       
       
1.2 ระบบไต่สวน มีลักษณะที่สำคัญ คือ ศาลเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพิจารณาคดี มีอำนาจที่จะสืบพยานเพิ่มเติมหรืองดสืบพยาน ทั้งนี้เพื่อค้นหาให้ได้ข้อเท็จจริงใกล้เคียงความจริงมากที่สุด การกำหนดระเบียบวิธีเกี่ยวกับการสืบพยานมีน้อย มักจะไม่มีหลักเกณฑ์การสืบพยานที่เคร่งครัดมากนัก โดยเฉพาะจะไม่มีบทตัดพยานที่เด็ดขาด แต่จะเปิดโอกาสให้มีการเสนอพยานหลักฐานทุกชนิดสู่ศาล ศาลจึงมีสิทธิรับฟังพยานบอกเล่าได้และศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง การพิจารณาโดยเฉพาะคดีอาญา จะมีลักษณะเป็นการดำเนินการระหว่างศาลกับจำเลย โจทก์ไม่มีบทบาทในการสืบพยานน้อยมาก โจทก์เป็นเพียงผู้ช่วยเหลือศาลในการค้นคว้าหาพยานหลักฐานเท่านั้น ในระบบไต่สวนจะไม่ใช้หลักยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย (in dubio pro reo) ดังนั้น จำเลยจึงมีหน้าที่สำคัญในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองให้ชัดแจ้ง พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยก็สามารถนำมาลงโทษแก่จำเลยได้ 4
       
       
1.3 ข้อแตกต่างระหว่างระบบกล่าวหากับระบบไต่สวน มีข้อเปรียบเทียบได้ดังนี้ 5
       
ประการแรก ในระบบกล่าวหาศาลมีบทบาทในการพิจารณาคดีค่อนข้างจำกัดโดยเป็นกรรมการผู้ดูแลให้คู่ความดำเนินคดีไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ไม่มีอำนาจสืบพยานเอง แต่ตามระบบไต่สวน ศาลมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาคดี จะสั่งสืบพยานเพิ่มเติม หรืองดสืบพยานก็ได้ กำหนดระเบียบวิธีการเกี่ยวกับการสืบพยานมีน้อย เพราะศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวาง
       ประการที่สอง คู่ความในระบบกล่าวหาจะมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้คดี โดยเสนอข้อเท็จจริงและตรวจสอบข้อเท็จจริงกันเอง (adversary system) แต่ในระบบไต่สวนโดยเฉพาะในคดีอาญา จะเป็นการดำเนินคดีระหว่างศาลกับจำเลย โจทก์เป็นเพียงผู้ช่วยเหลือศาลในการค้นหาข้อเท็จจริงเท่านั้น
       ประการที่สาม ตามระบบกล่าวหามีหลักเกณฑ์การนำสืบพยานเคร่งครัดมาก เช่น มีบทตัดพยาน (Exclusionary Rule) ไม่ยอมให้ศาลรับฟังพยานนั้นเข้าสู่สำนวนความเลย ทั้งการใช้คำถามซักถาม ถามค้าน ก็ต้องอยู่ในบังคับกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากบกพร่องหรือผิดพลาดไปจากนี้ ศาลจะไม่เชื่อเลย ต่างกับระบบไต่สวนที่เปิดโอกาสให้มีการเสนอพยานหลักฐานต่อศาลได้โดยไม่จำกัด กำหนดระเบียบวิธีการ ( technicality) เกี่ยวกับการสืบพยานมีน้อย และไม่เป็นสาระสำคัญ ศาลจึงมีดุลพินิจอย่างกว้างขวาง
       
       1.4 ข้อดีและข้อเสียของระบบกล่าวหาและระบบไต่สวน มีดังนี้
       ข้อดีของระบบกล่าวหา คือ ฐานะของจำเลยถูกเปลี่ยนจากผู้ถูกซักฟอก ในฐานะเป็นกรรมแห่งคดี มาเป็นผู้ร่วมในการเสนอข้อเท็จจริง และรวมในการค้นหาความจริงในกระบวนพิจารณา ซึ่งว่าเป็นประธานแห่งคดี ดังนั้น จำเลยจึงได้รับสิทธิต่างๆ ที่จะต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ หรือการวางเฉยในการดำเนินคดีเพราะได้รับการสันนิฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะได้รับการพิพากษาตัดสินจากศาลว่าเป็นผู้กระทำความผิด 6
       
ข้อเสียของระบบกล่าวหา คือ เมื่อจำเลยได้รับการยกฐานะเป็นประธานในคดีแล้ว จำเลยจะมีโอกาสในการต่อสู่คดีได้อย่างเต็มที่ ทำให้อาจมีการพิพากษายกฟ้องจำเลยโดยอาศัยเทคนิคทางกระบวนการพิจารณาคดี และจำเลยอาจหลุดพ้นคดีเพียงเพราะพยานหลักฐานยังเพียงพอและพยานหลักฐานน่าสงสัย ทำให้ไม่ได้ความจริงแห่งคดีที่ครบถ้วนและรอบด้าน ศาลมีบทบาทในการเสาะหาข้อเท็จจริงในคดีน้อยมาก เป็นเรื่องของคู่ความแต่ละฝ่ายจะต้องเสนอข้อเท็จจริงและตรวจสอบข้อเท็จจริงกันเอง 7 จึงมักจะปรากฏอยู่เสมอว่าจำเลยชนะคดีเนื่องกฎหมายวิธีพิจารณาความ
       ข้อดีของระบบไต่สวน คือ มีความรวดเร็วในการพิจารณาคดี คู่ความไม่อาจที่จะประวิงคดีได้ และทำให้คดีได้ข้อเท็จจริงที่รอบด้านครบถ้วน ถ้ามีหลักฐานฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดก็ลงโทษได้ การสงสัยไม่แน่ใจว่าจำเลยทำผิดหรือไม่ จึงไม่น่ามีได้ เพราะถ้าสงสัยศาลก็ต้องค้นหาความจริงจนถึงที่สุดให้สิ้นสงสัย ถ้าค้นหาความจริงจนที่สุดแล้ว ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอก็พิพากษายกฟ้องไป 8
       
ข้อเสียของระบบไต่สวน คือ การให้อำนาจชี้ขาดทั้งกระบวนการอยู่ในดุลพินิจของคนเพียงคนเดียว โดยไม่มีการตรวจสอบหรือคานอำนาจหน้าที่ ดังนั้น จึงอาจเกิดกรณีที่การพิจารณาและการพิพากษานั้นมิได้เกิดจากความบริสุทธิ์ใจ หรือมีอคติต่อจำเลยโดยง่าย และการที่ถือว่าจำเลยเป็นกรรมแห่งคดี ทำให้ผู้นั้นไม่มีโอกาสแก้ข้อกล่าวหา 9 และศาลจะต้องลดตัวมาทำหน้าที่เป็นทนายความเสียเองด้วย 10
       
       3. ลักษณะสำคัญของวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามระบบไต่สวนเต็มรูปแบบ
       
       ลักษณะวิธีพิจารณาคดีในระบบไต่สวนที่ใช้ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นี้ เป็นระบบไต่สวนที่เต็มรูปแบบ ไม่ใช่ระบบผสมดังเช่นในคดีอาญาทั่วไป จึงมีความแตกต่างจากระบบกล่าวหาอย่างมาก ผู้เขียนจึงได้แยกวิเคราะห์ลักษณะสำคัญบางประการของระบบไต่สวนเต็มรูปแบบในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาเสนอ ดังนี้
       
       3.1 จำเลยเป็นกรรมของคดี
       ตามระบบกล่าวหาในคดีอาญาทั่วไป จำเลยได้การยกย่องให้เป็น “ประธานแห่งคดี” การเป็นประธานแห่งคดี ก็คือ จำเลยเป็นผู้กระทำในทางคดี และจำเลยเป็นผู้มีสิทธิต่างๆ ในทางคดีที่จะได้รับการเคารพ และยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ เช่น การนำเสนอพยานหลักฐานมาหักล้างพยานโจทก์โดยไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีระบุพยานไว้ล่วงหน้าก่อนสืบไม่น้อยกว่า 7 วัน เป็นต้น
       การดำเนินคดีอาญาสมัยใหม่ใช้ “ระบบกล่าวหา” การดำเนินคดีอาญาตามระบบกล่าวหานี้แท้จริงมิใช่ระบบใหม่ แต่เป็นระบบการดำเนินคดีอาญาที่มีการแก้ไขข้อบกพร่องของการดำเนินคดีอาญาระบบไต่สวนนั่นเเอง ลักษณะสำคัญของการดำเนินคดีอาญาระบบกล่าวหาก็คือ การแยก “หน้าที่สอบสวน หน้าที่ฟ้อง” และ “หน้าที่พิจารณาพิพากษาคดี” ออกจากกันให้องค์กรการดำเนินคดีที่แยกต่างหากจากกันเป็นผู้ทำหน้าที่ทั้งสองนั้น และยกฐานของผู้ถูกกล่าวหา (ผู้ต้องหาและจำเลย) จากเป็น “กรรมในคดี” (Process-object) ขึ้นเป็น “ประธานในคดี” (Process – subject) ไม่ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นวัตถุแห่งการซักฟอกหรือกรรมในคดี แต่ถือว่าเป็น “คน” และเป็นส่วนหนึ่งของวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายจึงให้สิทธิต่าง ๆ แก่ผู้กล่าวหา เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และห้ามกระบวนพิจารณาที่มิชอบ 11
       
แต่ในระบบไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง “จำเลยตกเป็นกรรมของคดี” หมายถึง การที่จำเลยถูกพิพากษาเบื้องต้นว่าตนเองมีความผิด และจำเลยมีภาระหน้าที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง จำเลยต้องต่อสู้คดีกับศาล โดยจำเลยกับศาลเป็นคู่ความกันโดยตรง และไม่การยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย พยานจำเลยนำมาลงโทษจำเลยได้ จำเลยตกเป็นฝ่ายถูกกระทำในทางคดี ระบบไต่สวนที่ให้จำเลยเป็นกรรมของคดีจึงเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน การที่ศาลยืดหยุ่นไม่เคร่งครัดทำให้ถูกมองว่าศาลใช้อำนาจและดุลพินิจตามอำเภอใจ ศาลก็เป็นคนเหมือนกันซึ่งย่อมมีกิเลส เมื่อมองจำเลยเป็นตัวตั้งเป็นวัตถุในคดี ผู้มองย่อมมีกิเลสมักจะเข้าข้างตนเอง เชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองได้ไต่สวนมา ระบบไต่สวนจำเลยจึงแทบจะไม่โอกาสหลุดพ้นจากคดีไปได้ ผู้ถูกไต่สวนมีฐานะเป็นกรรมในคดี ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน 12
       

       3.2 จำเลยถูกพิพากษาเบื้องต้นว่า “มีความผิด”
       
การที่ว่า จำเลยถูกพิพากษาเบื้องต้นว่ามีความผิด นั้น สืบเนื่องจาก ในการฟ้องร้องคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือกรรมการ ปปช. จะต้องผ่านการไต่สวนและชี้มูลความผิดโดยคณะกรรมการ ปปช. หรือคณะกรรมการไต่สวนก่อน เสมือนเป็นการให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาก่อน แล้วจึงส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อให้พิจารณาพิพากษาในชั้นสุดท้าย กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นศาลไต่สวนหรือศาลชั้นต้นในการพิจารณาหาข้อเท็จจริง ส่วนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทำหน้าที่เป็นศาลตัดสิน ดังนั้น ในคดีที่องค์กรไต่สวนชี้มูลความผิด จึงเป็นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดไว้ก่อนในเบื้องต้น เสมือนหนึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง และเมื่อโจทก์ (อัยการสูงสุด) ได้ยื่นฟ้องและสำนวนการสอบสวนอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว จำเลยก็อยู่ในฐานะถูกพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิด จำเลยจึงมีภาระหน้าที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง แม้ว่าโจทก์ไม่อาจจะนำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ก็ตาม จำเลยก็ไม่ควรจะไว้วางใจหรือมั่นใจว่าจะชนะคดีได้ ทราบใดที่จำเลยไม่สามารถนำสืบพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ จำเลยก็อาจตกเป็นฝ่ายแพ้คดีได้ เพราะศาลอาจถือตามข้อเท็จจริงของจำเลยนำสืบมาลงโทษจำเลยได้หรือศาลอาจจะไต่สวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมใดๆ ก็ได้ เพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลย แต่ในทางปฏิบัติศาลก็มักจะไม่เรียกพยานไต่สวนเพิ่มเติมเอง แต่กลับเป็นฝ่ายของจำเลยเองที่จะต้องหาพยานหลักฐานมาเพิ่มเติมเท่าที่เป็นประโยชน์แก่จำเลยมากที่สุด
       แม้ว่าตามหลักการจำเลยจะถูกพิพากษาเบื้องต้นว่ามีความผิด เนื่องจากได้ผ่านการไต่สวนและชี้มูลความผิดโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ตาม แต่ผู้เขียนเห็นว่าในการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งไม่ใช่ระบบวิธีพิจารณาความคดี และไม่ได้ดำเนินไปตามหลักทั่วไปของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กล่าวคือ ไม่มีการนำหลักฟังความทุกฝ่ายอย่างเต็มรูปแบบมาใช้ ไม่มีการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวนำพยานของตนเองเข้าสืบได้ และผู้ถูกกล่าวหาไม่มีสิทธิแต่งตั้งทนายความเพื่อซักถามพยานที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เรียกมาสอบ ไม่มีการนำหลักเปิดเผยมาใช้ ในการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้กระทำต่อหน้าจำเลย และสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถือว่าเป็นความลับ ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีสิทธิที่ตรวจดูหรือไม่มีสิทธิที่จะรู้ว่ามีการได้มีนำสืบพยานหลักฐานไปเพียงใดบ้างเพื่อที่ตนจะได้นำพยานหลักฐานนำสืบหรือนำเข้าไต่สวนเพื่อโต้แย้งพยานหลักฐานที่มีการไต่สวนไปแล้วด้วย อีกทั้ง มาตรฐานในการพิสูจน์ในระดับการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นเพียงระดับมาตรฐานการพิสูจน์ให้เห็นว่ามีมูลความแห่งคดี (proof prim facie case) เท่านั้น แต่ในมาตรฐานการพิสูจน์ในคดีอาญาทั่วไปจะต้องมาตรฐานการพิสูจน์ระดับที่โจทก์จะต้องสืบให้เห็นโดยปราศจากความสงสัย (proof beyond reasonable doubt) 13 ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า การที่จำเลยถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชี้ว่าคดีมีมูล จึงไม่อาจที่จะถือว่าเป็นการพิจารณาโดยศาลชั้นต้นและไม่อาจจะถือว่า เป็นการพิพากษาในเบื้องต้นว่าจำเลยมีความผิด แต่ในปฏิบัติและการต่อสู้คดีตามวิธีพิจารณาคดีอาญาระบบไต่สวนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นก็ยังถือว่า จำเลยถูกพิพากษาเบื้องต้นว่ามีความผิดนั้นเอง
       
       3.3 ศาลต้องทำหน้าที่เป็นโจทก์และเป็นฝ่ายทนายความจำเลย
       ตามระบบกล่าวหาในคดีอาญาทั่วไป โจทก์มีหน้าที่นำสืบพยานพิสูจน์ความผิดของจำเลยตามที่กล่าวหา และจำเลยมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อกล่าวหาโจทก์ ดังนั้นหน้าที่ในการนำเสนอพยานหลักฐาน รวมทั้งการซักถามพยานจึงเป็นหน้าที่ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยที่จะต้องนำพยานหลักฐานของฝ่ายตนเองมาสืบ ดังนั้นคู่ความในการต่อสู้คดีในศาลเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นคู่ความกันโดยตรง
       แต่ในวิธีพิจารณาคดีอาญาตามระบบไต่สวนอย่างเต็มรูปแบบของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คู่ความที่ต่อสู้ในคดีเป็นระหว่างศาลกับจำเลย กล่าวคือ ศาลกับจำเลยจะต้องเป็นคู่ความในคดีกันโดยตรง โดยศาลจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้แสวงหาข้อเท็จจริงโดยการซักถามพยานและแสวงหาพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลย การที่ให้ศาลหรือองค์คณะผู้พิพากษาเป็นผู้ซักถามพยานเองนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ตามระบบการสรรหาคัดเลือกและการอบรม ตลอดจนการปฏิบัติหน้าของผู้พิพากษาของศาลยุติธรรมไทย ไม่ได้ฝึกให้ผู้พิพากษามาทำหน้าที่เป็นผู้ซักความถามพยานมาตั้งแต่ต้น การที่จะให้ผู้พิพากษาศาลฎีกาทำหน้าที่เป็นทนายความเสียเอง บางครั้งในการซักถามพยานอาจจะทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์แบบดังเช่นทนายความอาชีพ ในการที่พยานเบิกความเท็จหรือพยายามบายเบี่ยงการเบิกความในข้อเท็จจริงใดหรือกลับคำให้การ ในการซักความของผู้พิพากษาก็อาจขาดเทคนิคในการค้นหาความจริงจากพยานก็ได้
       ในการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามหลักการศาลจะต้องทำหน้าที่เป็นทั้งทนายโจทก์และทนายจำเลยเองดังกล่าวมานั้น แต่ในทางปฏิบัติที่แท้จริงแล้ว ศาลกลับทำหน้าที่เป็นฝ่ายโจทก์หรือเป็นฝ่ายอัยการเสียเองที่จะซักถามพยานในการที่พิสูจน์ความผิดของจำเลย และจำเลยมีหน้าที่พิสูจน์หักล้างในสิ่งที่ศาลได้แสวงหาข้อเท็จจริงหรือนำสืบพยาน ดังนี้ จำเลยกลับตกกลายเป็นภาระหนักในการต่อสู้คดีกับศาล ซึ่งในบางครั้งองค์คณะผู้พิพากษาถามพยานของจำเลยทำให้ไม่เป็นประโยชน์แก่จำเลย ฝ่ายจำเลยก็ต้องหาทางแก้ไขและซักถามพยานเข้าสู่แนวทางการต่อสู้คดีของตนเองให้ได้ ดังนั้น ในการยื่นคำคู่ความต่างๆ จึงเป็นการกระทำระหว่างศาลกับจำเลยโดยตรง คำคู่ความบางอย่าง โจทก์แทบจะไม่ต้องการเลยก็ได้ เช่น คำร้องเสนอแนวคำถาม เป็นต้น และในการซักถามพยานโจทก์ โจทก์ก็ไม่แทบจะต้องถามพยานเพิ่มเติมเลย เพราะศาลถามในสิ่งที่โจทก์ต้องการหมดแล้ว แต่ตกเป็นฝ่ายจำเลยที่จะต้องถามพยานโจทก์หักล้างพยานโจทก์หรือพยานที่ศาลนำเข้ามาสืบเองให้ได้
       
       3.4 ศาลมีดุจพินิจอย่างกว้างขวางในการสืบพยานและรับฟังข้อเท็จจริง
       ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 บัญญัติให้อำนาจแก่ศาลเรียกพยานหลักฐานเข้าสืบนอกเหนือจากที่ปรากฏในสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร หรือนอกเหนือจากที่คู่ความได้นำมาสืบ จะเห็นได้ว่า ศาลมีดุจพินิจอย่างกว้างในการสืบพยาน และศาลก็มีดุลพินิจอย่างกว้างขวางในการรับฟังข้อเท็จจริง ดังนั้น การพิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงสามารถฟังพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยที่จำเลยนำเข้ามาสืบเพื่อลงโทษจำเลยได้ นอกจากนี้ การรับฟังพยานหลักฐานของไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับชั้นของพยานหลักฐานว่า เป็นพยานหลักฐานชั้นหนึ่ง หรือพยานหลักฐานชั้นสอง หรือจะเป็นประจักษ์พยานหรือพยานบอกเล่า แม้กระทั้งพยานบอกเล่าหรือพยานที่นำสืบโดยฝ่าฝืนวิธีพิจารณาความ เช่น พยานที่ไม่มีในบัญชีระบุพยาน เป็นต้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถที่จะฟังพยานทุกชนิดเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์หรือนำมาลงโทษจำเลยได้ เนื่องจากตามระบบไต่สวนจะไม่บทตัดพยาน (Exclusionary Rule) และไม่คำนึงถึงหลักภาระการพิสูจน์ด้วย ศาลจะไม่เคร่งครัดกฎกติกาในการรับฟังพยานหลักฐานมากนัก ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะฟังพยานหลักฐานทั้งปวง ซึ่งรวมถึงคำให้การพยานชั้นไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคำให้การของจำเลยเองก็สามารถรับฟังมาลงโทษจำเลยได้หรือยกฟ้องโจทก์ได้ ในการต่อสู้คดีของจำเลยจึงไม่ได้จำกัดเพียงแต่การสืบพยานเข้าสืบต่อสู้ในชั้นศาลเท่านั้น ยังรวมทั้งการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย จึงสรุปรวมความได้ว่าในพิจารณาคดีอาญาตามระบบไต่สวน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพยานหลักฐานทั้งสำนวนในชั้นไต่สวนและชั้นสืบพยานในศาล รวมทั้งพยานหลักฐานอื่นที่ศาลอาจจะเรียกมาไต่สวนเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์หรือความผิดของจำเลย ดังนี้ คู่ความโดยเฉพาะจำเลยจึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำพยานหลักฐานของตนเองเข้าสืบซึ่งอาจจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยเอง รวมทั้งจะต้องมิให้พยานหลักฐานของตนยังมีข้อสงสัยจนเป็นเหตุให้ศาลเรียกพยานหลักฐานอื่นเข้าสืบเองด้วย
       
       3.5 ไม่มีการยกประโยชน์แห่งข้อสงสัยให้แก่จำเลย
       
ในระบบกล่าวหาในคดีอาญาทั่วไป หากพยานหลักฐานฝ่ายที่นำสืบน่าสงสัยจะต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง “หลักยกประโยชน์แห่งความสงสัย (in dubio pro reo)” นี้เป็นหนักนิติธรรมที่สำคัญหลักหนึ่ง และได้รับการยอมรับมายาวนานจนถือเป็นสุภาษิตกฎหมาย ในคดีอาญาต้องมีการพิสูจน์ความผิดของจำเลยจนสิ้นสงสัยเสมอ เพราะเมื่อมีความสงสัยจะต้องยกผลประโยชน์แห่งความสงสัยในจำเลย ความสงสัยที่จะต้องยกประโยชน์ให้ผู้ถูกกล่าวหานั้นต้องเป็นเรื่องความสงสัยในข้อเท็จจริงเท่านั้น ความสงสัยในข้อกฎหมายจะใช้หลักนี้ไม่ได้ 14 ความสงสัยนี้จะต้องเป็นความสงสัยตามสมควร มิใช่เพียงแต่ความสงสัยแล้วจะยกฟ้องหรือเป็นเพียงความสงสัยในพลความเท่านั้น 15
       แต่ในวิธีพิจารณาคดีอาญาตามระบบไต่สวนเต็มรูปแบบของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อจำเลยเป็นกรรมของคดี จะนำ “หลักยกประโยชน์แห่งความสงสัย (in dubio pro reo)” ให้แก่จำเลยมาใช้ไม่ได้ ศาลต้องค้นหาความจริงให้ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่ คำวินิจฉัยของศาลตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงที่เชื่อถือได้ คือได้ความจริงทำให้เชื่อได้หรือไม่ว่า จำเลยทำผิด ถ้าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอว่าจำเลยทำผิดก็พิพากษายกฟ้อง ถ้ามีพยานหลักฐานฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดก็ลงโทษ การสงสัยไม่แน่ใจว่าจำเลยทำผิดตามคำฟ้องหรือไม่นั้น ไม่มีในระบบไต่สวน และศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานได้อย่างกว้างขวาง แม้คู่ความจะมิได้นำพยานหลักฐานเข้าสู่สำนวนของศาล ศาลย่อมนำรับฟังได้ เมื่อได้ความจริงอย่างไรก็พิพากษาตามนั้น ซึ่งอาจพิพากษายกฟ้องหรือลงโทษ ไม่มีการยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย 16 ดังนั้น จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบความบริสุทธิ์ของตนเองให้ชัดแจ้ง จะนำสืบเพียงให้สงสัยในพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ไม่ได้ จึงเป็นการยากอย่างยิ่งที่จำเลยจะกระทำได้เช่นนั้น การนำสืบความผิดของจำเลยในคดีอาญาทั่วไปที่ว่ายากแล้ว ยังยากลำบากน้อยกว่าที่จำเลยต้องนำสืบความบริสุทธิ์ของตนเองให้ชัดแจ้งในวิธีพิจารณาคดีอาญาตามระบบไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงแทบไม่มีโอกาสที่หลุดพ้นคดีได้เลย
       
       3.6 โจทก์ไม่มีภาระการพิสูจน์ความผิดของจำเลย
       ตามระบบกล่าวหาในคดีอาญาทั่วไป มีหลักว่า “ผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ” หากโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ตามที่กล่าวหา ศาลต้องยกฟ้อง ดังนั้น ภาระการพิสูจน์ความผิดของจำเลยจึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ แต่วิธีพิจารณาคดีอาญาตามระบบไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คู่ความในการต่อสู้คดีจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาระหว่างศาลกับจำเลย เป็นหลัก ในระบบไต่สวนจะไม่คำนึงผู้ใดจะกล่าวหา หรือผู้ใดมีจะหน้าที่นำสืบ เพราะศาลถือตามข้อเท็จจริงที่มีการสืบพยาน ไม่ว่าจะเป็นพยานฝ่ายใดนำมาพิจารณาพิพากษาได้ เพราะถือว่าพยานทั้งหมดที่คู่ความนำมาสืบถือว่าเป็นพยานศาลทั้งสิ้น โจทก์ (อัยการสูงสุด) แทบไม่มีบทบาทใดๆ เลยในการนำเสนอพยานหลักฐานต่อศาล ทั้งนี้เพราะ มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 กำหนดให้ยึดสำนวนของคณะกรรมการ ปปช. หรือสำนวนของคณะกรรมการไต่สวน เป็นหลักในการพิจารณา กล่าวอีกนัยหนึ่ง พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ คือ สำนวนของคณะกรรมการ ปปช. นั้นเอง ดังนี้ โจทก์(อัยการสูงสุด) จึงแทบจะไม่ต้องเสนอพยานใดๆ นอกเหนือสำนวนของคณะกรรมการป้องการและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติอีก เนื่องจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคำให้การพยานบุคคลหรือพยานเอกสาร ได้ผ่านการไต่สวนมาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาแล้วทั้งสิ้น และเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่ามีมูลแล้ว ย่อมถือได้ว่าได้รับการพิจารณาเบื้องต้นมาโดยองค์การกึ่งตุลาการมาแล้ว ซึ่งอาจจะถือเสมือนหนึ่งได้รับการพิจารณาโดยศาลชั้นต้นมาแล้ว ซึ่งมาตรา 29 วรรคสองได้บัญญัติรองรับไว้ชัดเจนว่า ในกรณีที่มิได้มีการโต้แย้งพยานหลักฐานใด องค์คณะผู้พิพากษาจะมีคำสั่งให้รับฟังพยานหลักฐานนั้นโดยไม่ต้องไต่สวนก็ได้ ซึ่งหมายความว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถนำสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาพิจารณาและพิพากษาไปเลยก็ได้ ดังนั้นในระบบไต่สวนเต็มรูปแบบจึงไม่คำนึงหน้าที่นำสืบดังเช่นระบบกล่าวหา และโจทก์ไม่มีหน้าที่นำสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยแต่อย่างใด
       
       3.7 จำเลยมีหน้าที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง
       ในระบบกล่าวหาคดีอาญาทั่วไปโจทก์มีภาระหน้าที่นำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลย การต่อสู้ของจำเลยในระบบกล่าวหาคดีอาญาทั่วไป จำเลยมีหน้าที่หลักสำคัญคือ การทำลายน้ำหนักพยานฝ่ายโจทก์ เพื่อให้พยานโจทก์มีข้อสงสัยหรือมีพิรุธ ก็เพียงพอชนะคดีได้แล้ว แต่ในระบบไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โจทก์ไม่มีหน้าที่นำสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยดังที่กล่าวมาแล้ว แต่กลับเป็นว่า ภาระการพิสูจน์ตกเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จำเลยจะต้องนำสืบความบริสุทธิ์ของตนเองให้ชัดแจ้ง ส่วนวิธีการที่จำเลยต้องนำสืบความบริสุทธิ์ของตนเองให้ชัดแจ้งจะต้องทำอย่างไร และนำสืบแค่ไหนจึงจะรับฟังว่าจำเลยบริสุทธิ์ จำเลยจะทำลายนำหนักพยานโจทก์ได้หรือไม่ ล้วนแล้วแต่ยังไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ และไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ผู้ที่ถูกดำเนินคดีเป็นจำเลยในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องเป็นที่ผู้บุกเบิกแนวทางการดำเนินคดี แม้จะมีหลักเกณฑ์วิธีพิจารณาอยู่บ้าง แต่ส่วนมากก็ต้องคิดค้น ดำเนินคดีเองแทบทั้งสิ้น เสมือนการลองผิดลองถูก แต่ชีวิตเสรีภาพของจำเลย ไม่ใช่วัตถุสิ่งของที่จะนำมาทดลองกันได้ หากผิดแล้วก็ผิดเลย ไม่สามารถที่จะอุทธรณ์หรือฎีกา เพื่อให้ทบทวนตรวจสอบได้ การที่ให้จำเลยนำสืบความบริสุทธิ์ของตนเอง ก็แทบเป็นจริงในทางปฏิบัติไม่ได้ ในกรณีที่จำเลยเห็นว่าพยานหลักฐานตนเองได้เปรียบพยานหลักฐานมิได้หมายความว่าจะชนะคดี แต่จะต้องสืบให้หนักแน่นยิ่งกว่าที่ตนเองคิด ถึงชั้นที่ให้เชื่อได้ว่า ข้อเท็จจริงของพยานหลักฐานทั้งหมดที่มีการไต่สวนและนำสืบมารับฟังอย่างชัดแจ้งให้รับฟังได้ว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามที่ฟ้องหรือมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ต้องรับโทษ จึงจะมีโอกาสชนะคดีได้
       
       3.8 พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลย สามารถนำมาลงโทษจำเลยได้
       ตามระบบกล่าวหาในคดีอาญาทั่วไปมีหลักว่า พยานหลักฐานที่จะนำมาลงโทษจำเลยได้นั้นจะต้องเป็นพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์เท่านั้น หมายความว่า ศาลจะรับฟังเฉพาะพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ในการพิจารณาพิพากษาเท่านั้น ศาลจะนำพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยนำมารับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ หลักนี้สืบเนืองจากหลักว่า “ผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ” เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิด พยานหลักฐานที่จะนำมาลงโทษจำเลยได้ก็ต้องเป็นพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์เท่านั้น ถ้าพยานโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด แม้จะมีพยานจำเลยบางคนเบิกความเป็นโทษแก่จำเลยทำให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิด ศาลจะรับฟังพยานจำเลยมารวมกับพยานโจทก์เพื่อรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ 17 ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากการที่จำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ถือมิได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบพยาน จึงไม่อาจเอามาฟังลงโทษจำเลยได้ เพราะในคดีอาญา โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง (คำพิพากษาฎีกาที่ 809/2528, 853/2532) นอกจากนี้ศาลฎีกายังเคยวินิจฉัยว่า จำเลยอ้างเอกสารคำให้การพยานโจทก์ชั้นสอบสวนเพื่อจับเท็จว่าพยานโจทก์ขัดแย้งกัน แต่คำให้การกลับทำให้พยานโจทก์น่าเชื่อยิ่งขึ้น ดังนี้ ศาลไม่พึงนำคำให้การนั้นไปประกอบพยานหลักฐานของโจทก์ว่าพยานโจทก์ฟังได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 232/2524) 18
       แต่วิธีพิจารณาคคีอาญาตามระบบไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นั้น “พยานหลักฐานฝ่ายจำเลยสามารถนำมาลงโทษจำเลยได้” หลักนี้สืบเนื่องจากหลัก โจทก์ไม่มีหน้าที่นำสืบ ดังที่กล่าวมานั้นเอง ในระบบไต่สวนจะไม่มีการคำนึงพยานหลักฐานว่าเป็นของฝ่ายใด พยานหลักฐานที่นำสืบถือว่าเป็น “พยานศาล” ทั้งหมด โดยศาลจะทำหน้าที่เป็นผู้ไต่สวนและค้นหาความจริง ดังนั้น ข้อเท็จจริงหรือความจริงที่ปรากฏในสำนวนหรือจากไต่สวนของศาลแม้เป็นพยานฝ่ายที่จำเลยนำเสนอก็ตาม หากเป็นผลร้ายแก่จำเลยศาลก็สามารถนำมาลงโทษจำเลยได้ นอกจากนี้ศาลรับฟังพยานบอกเล่าหรือพยานชั้นสองได้ เพราะศาลไม่มีข้อจำกัดในการรับฟังพยานนั้นเอง และคำซัดทอดของจำเลยคนอื่นในคดีเดียวกันสามารถนำมาลงโทษจำเลยได้ เพราะระบบไต่สวนไม่มีบทตัดพยาน (Exclusionary Rule) ศาลมีดุลพินิจอย่างกว้างขวางในการรับฟังพยานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งแตกต่างจากวิธีพิจารณาคดีอาญาทั่วไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232 ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน มีคำพิพากษาศาลฎีกาหลายฉบับตีความรวมถึง การที่จำเลยในคดีเดียวกันให้การซัดทอดจำเลยอีกคนหนึ่งด้วย คำซัดทอดดังกล่าว ศาลจะนำมารับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ 19 แต่ในระบบไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากไม่บทตัดพยาน ศาลจึงรับฟังคำของจำเลยอีกคนหนึ่งในคดีเดียวกันลงโทษจำเลยอีกคนหนึ่งได้ โดยไม่จำเป็นต้องแยกฟ้องผู้ร่วมกระทำความผิดไปอีกต่างหากหรือไม่จำเป็นต้องกันผู้ร่วมกระทำความผิดไว้เป็นพยาน ศาลสามารถรับฟังตามข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ไม่ว่าข้อเท็จจริงนั้นจะเกิดจากหลักฐานพยานของฝ่ายใดหรือพยานบุคคลนั้นจะเป็นใครก็ตาม การที่ศาลรับฟังพยานฝ่ายจำเลยหรือรับฟังคำซัดทอดจำเลยร่วมหรือแม้กระทั้งคำให้การหรือคำเบิกความของจำเลยเองนำมาลงโทษจำเลยได้ จึงข้อหนึ่งที่แสดงว่าจำเลยเป็นกรรมแห่งคดี ดังที่กล่าวมาแล้ว
       
       จากลักษณะวิธีพิจารณาความคดีอาญาตามระบบไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นลักษณะที่สำคัญหลายประการที่ทำให้ จำเลยถูกจำกัดสิทธิในลักษณะ เป็นกรรมแห่งคดี โดยไม่นำหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั่วไปมาใช้ในหลายกรณี ที่สำคัญได้แก่ โจทก์ไม่มีหน้าที่นำสืบ แต่จำเลยกลับมีหน้าที่นำสืบความบริสุทธิ์ของตนเอง จำเลยถูกพิพากษาเบื้องต้นว่ามีความผิด การไม่นำหลักยกผลประโยชน์แห่งข้อสงสัยให้กับจำเลย พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยศาลสามารถนำมาลงโทษจำเลยได้ จำเลยเป็นคู่ความกับศาลโดยตรง จะต้องต่อสู้คดีกับศาลเอง และการจำเลยถูกมองว่ากระทำผิดมาตั้งแต่ต้น ด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาตามระบบไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่นนี้ ยากอย่างยิ่งที่จำเลยจะมีโอกาสชนะคดี ผู้เขียนเห็นว่าในระบบไต่สวนนี้ แม้จะมีประสิทธิภาพในการลงโทษจำเลย แต่ก็ไม่เคารพสิทธิของจำเลยมากเช่นกัน โดยเฉพาะการที่ให้คำสั่งใดๆ และคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดทุกกรณี ยิ่งทำให้ขาดระบบตรวจสอบและถ่วงดุล แค่ทำให้จำเลยตกเป็นกรรมในคดีไม่เพียงพอแล้วยังไม่มีการตรวจสอบใดๆ อีก ยิ่งทำให้เป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงด้วย การดำเนินคดีอาญาที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิ่งที่นานาอารยะประเทศเห็นกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และย่อมทำให้ “ขาดคุณลักษณะความเป็นประชาธิปไตย” ด้วย
       
       4. ข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมในส่วนเกี่ยวศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
       
       ผู้เขียนเห็นด้วยที่จะใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณาคดีของของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเนื่องจากมีประสิทธิภาพในแสวงหาข้อเท็จจริงและได้ข้อความจริงในการพิจารณาพิพากษาและการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แต่ผู้เขียนไม่เห็นกับการใช้ระบบไต่สวนเต็มรูปแบบของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเนื่องจากเหตุที่ทำให้จำเลยตกเป็นกรรมแห่งคดี การไม่ยกผลประโยชน์แห่งข้อสงสัยให้กับจำเลย นั้นเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม รวมทั้งขัดหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ผู้เขียนเห็นว่า ระบบวิธีพิจารณาความอาญาตามหลักสากลในปัจจุบัน จะใช้ระบบผสมระหว่างระบบกล่าวหากับระบบไต่สวน ซึ่งได้ผ่านวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน โดยได้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียของการใช้ระบบใดระบบหนึ่งอย่างเดียว ระบบวิธีพิจารณาความตามของสกุลกฎหมายของโลก 2 ระบบใหญ่ คือ สกุลคอมมอนลอว์หรือระบบแองโกล-อเมริกันใช้ระบบผสมที่เน้นไปในทางระบบกล่าวหา และสกุลซิวิลล์ ลอว์ หรือระบบกฎหมายภาคพื้นยุโรปก็ระบบผสมเช่นเดียวกัน แต่ที่เน้นไปในทางระบบไต่สวนโดยนำระบบกล่าวหามาลดความเข็มข้นของระบบไต่สวนลงบางประการ จึงเห็นได้ว่า ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะมุ่งใช้ระบบวิธีพิจารณาความระบบใด ระบบหนึ่งเพียงระบบเดียว การที่ประเทศใดยังใช้ระบบวิธีพิจารณาความโดยระบบไต่สวนหรือระบบกล่าวหาเพียงอย่างเดียว จึงเป็นการใช้หลักกฎหมายที่ล้าสมัยและย้อนยุค อย่างยิ่ง แต่ผู้เขียนเห็นด้วยที่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขึ้นศาลพิเศษและมีระบบวิธีพิจารณาความในระบบไต่สวน แต่จะต้องงดใช้ข้อเสียของระบบไต่สวนเต็มรูปแบบที่ทำให้จำเลยเป็นกรรมแห่งคดีลงแล้วใช้ข้อดีของระบบกล่าวหามาเสริมเพื่อยกฐานะของจำเลยเป็นประธานแห่งคดีและเคารพหลักสิทธิมนุษยชนของจำเลยที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมและการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนี้
       ในการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็จะต้องคำนึงถึงหลักวิธีพิจารณาความอาญาที่เป็นหลักสากลดุจดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาของบุคคลทั่วไปและต้องคำนึงหลักสิทธิมนุษยชนอันเป็นที่ยอมรับทั่วไป ด้วย ผู้เขียนจึงเสนอแนะจะต้องมีบทบัญญัติในหลักการต่อไปนี้ในร่างรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ดังนี้
       1. ให้มีหลักการยกฐานะจำเลยเป็นประธานในคดี การเป็นประธานในคดี คือ การที่ผู้มีสิทธิต่างๆ ในคดี สิทธิของจำเลยที่กฎหมายรอบรับมีทั้งสิทธิในทางกระทำ (action right) และสิทธิในการอยู่เฉย (passive right) 20 นั้นคือ การยอมรับหลักฟังความทุกฝ่ายในทุกชั้นการไต่สวนและการพิจารณาของศาล และไม่ควรที่จะถือว่าจำเลยถูกพิพากษาว่ามีความผิดในเบื้องต้น ควรถือว่าจำเลยยังบริสุทธิ์จนกว่าจะถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดดังเช่นคดีอาญาทั่วไป และยกผลประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย
       2. ให้มีหลักการค้นหาความจริงในเนื้อหา ไม่เน้นรูปแบบ เช่น การโต้แย้งพยานหลักฐาน การยื่นบัญชีระบุพยานของจำเลยไม่ควรที่เคร่งครัดมาก โดยไม่ควรจำกัดสิทธิของจำเลยในการนำพยานหลักฐานเข้ามาสืบ หากปรากฏว่าจำเลยมีพยานหลักฐานที่เกิดในภายหลังหรือได้มาภายหลังจากที่ยื่นบัญชีระบุพยานแล้วก็ควรที่จะให้จำเลยนำพยานหลักฐานเข้ามาสืบได้ รวมทั้งให้โอกาสแก่จำเลยอย่างเต็มที่ในการซักถามพยานไม่ควรที่จำกัดเวลาในการซักถามพยานของจำเลย
       3. ให้มีหลักฟังความทุกฝ่ายและหลักเปิดเผยมาตั้งแต่ชั้นการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเปิดโอกาสผู้ถูกกล่าวหานำพยานหลักฐานของตนเองเข้าไต่สวนโดยมีทนายความรับฟังอยู่ด้วย และในการพิจารณาของศาลหากศาลเรียกพยานหลักฐานเข้าไต่สวนเพิ่มเติมก็ควรให้โอกาสแก่จำเลยในการที่จะนำพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมเพื่อหักล้างพยานหลักฐานที่เรียกไต่สวนเพิ่มเติมด้วย และในกรณีที่พยานหลักฐานอันสำคัญของคดียังไม่ได้มาในการเรียกของศาล เนื่องจากการประสานของของเจ้าหน้าที่รัฐที่ล้าช้าก็ควรที่จะรอพยานหลักฐานดังกล่าว มิใช่จะทำการตัดสินไปโดยมิได้มีพยานหลักฐานที่สำคัญเข้าสู่สำนวนคดี
       4. ให้มีหลักยกประโยชน์แห่งความสงสัย โดยมีบทบัญญัติโดยชัดแจ้งว่า ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้จะต้องรับฟังจำเลยได้กระทำความผิดโดยปราศจากข้อสงสัย ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาการเมือง หากไม่ได้บัญญัติให้ชัดแจ้ง อาจมีปัญหาการตีความว่าในระบบไต่สวนจะนำบทบัญญัติมาตรา 227 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาบังคับใช้ได้หรือไม่ ดังนั้นควรที่จะบัญญัติให้ชัดว่าในระบบไต่สวนให้มีหลักยกประโยชน์แห่งสงสัยมาใช้ด้วย
       5. ให้มีการแยกองค์คณะผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริง กับองค์คณะผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดคดี ในประเทศภาคพื้นยุโรป คดีเหล่านี้จะมีผู้พิพากษาสองชุด คือ ชุดแรกทำหน้าที่สืบพยาน ผู้พิพากษาชุดนี้เรียกว่า ผู้พิพากษาพิจารณา (Ruling Judge หรือ Instructing Judge) เมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาแล้ว ผู้พิพากษาชุดนี้จะทำบันทึกสรุปเป็นลายลักษณ์อักษรและส่งบันทึกดังกล่าวพร้อมทั้งสำนวนให้ผู้พิพากษาอีกชุดหนึ่ง เรียกว่า ผู้พิพากษาชี้ขาดตัดสิน ผู้พิพากษาชุดหลังจะฟังคำแถลงการณ์ของคู่ความแล้วตัดสินเลย หรือจะไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมก่อนก็ได้ 21 ผู้เขียนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในระบบไต่สวนของคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซี่งมีการพิจารณาโดยศาลชั้นเดียวเท่านั้น คือ ศาลฎีกา และใช้ระบบไต่สวนด้วย ดังนั้นเพื่อให้ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลในกระบวนการยุติธรรมอันเป็นที่ยอมรับ จึงควรที่แยกองค์คณะผู้พิจารณาและองค์คณะผู้ชี้ขาดออกจากกัน ซึ่งเป็นการประสาทความยุติธรรมให้แก่คู่ความยิ่งขึ้นด้วย
       6. ควรปรับปรุงระบบบันทึกคำคู่ความและการสรุปข้อเท็จจริงแห่งคดี โดยในการสืบพยานของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะวิธีบันทึกโดยเครื่องบันทึกภาพและเสียง (บันทึกวิดีโอ) และเครื่องบันทึกเสียง โดยไม่มีการถอดข้อความที่พยานเบิกความตามที่บันทึกไว้ ผู้เขียนเห็นว่า การบันทึกดังกล่าวมีข้อดีทำให้การพิจารณาดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเร็วรวด แต่ก็มีปัญหาในการสรุปข้อเท็จจริงของพยานและการสรุปข้อเท็จจริงแห่งคดีในการนำไปสู่การวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานและการวินิจฉัยสรุปข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ ดังนั้น ผู้เขียนจึงเสนอว่า ในการเบิกความของพยาน ควรที่ให้องค์คณะผู้พิพากษามอบหมายให้ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฏีกาทำการสรุปคำเบิกความของพยานแต่ละปาก และองค์คณะผู้พิจารณาก็ควรที่จะทำสรุปข้อเท็จจริงจากการรับฟังพยานหลักฐานส่งให้องค์คณะผู้ชี้ขาด รวมทั้งส่งให้คู่ความเพื่อให้โอการโต้แย้งสรุปข้อเท็จจริงโดยการทำเป็นคำแถลงการณ์ปิดคดี เสนอต่อองค์คณะผู้ชี้ขาดก่อนที่คณะองค์ผู้ชี้ขาดจะพิพากษาต่อไปด้วย
       7. ควรให้สิทธิแก่คู่ความในการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยแยกเป็นการการอุทธรณ์ในข้อกฎหมายที่เป็นสาระสำคัญแห่งคดี อุทธรณ์ได้ทุกกรณี และการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจะต้องได้รับการรับรองจากผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีไม่น้อยกว่าสามคน จึงจะอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ โดยการพิจารณาคดีของที่ประชุมของศาลฎีกาให้ถือตามสำนวนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ไต่สวนไว้แล้วเท่านั้น จะไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมไม่ได้ หากปรากฏพยานหลักฐานใหม่จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้ตามพระราชบัญญัติรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 ด้วย
       โดยหลักการเหล่านี้ควรที่จะบัญญัติให้ชัดแจ้งในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งจะทำให้ระบบวิธีพิจารณาคดีอาญาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นระบบไต่สวนที่มีการข้อดีของระบบกล่าวหามาเสริมเพื่อยกฐานะสิทธิมนุษชนของจำเลยให้เป็นประธานแห่งคดีเป็นสำคัญ
       ผู้เขียนเห็นว่าในการไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะจะต้องให้โอกาสแก่จำเลยให้มากที่สุด แม้จะเป็นคู่ต่อสู้กับศาลเองก็ตาม องค์คณะจะต้องไม่มีอคติคิดว่าปักใจเชื่อว่าจำเลยมีความผิดในเบื้องต้น ไม่จำกัดเวลาในการนำสืบพยานหลักฐานของจำเลย จะยึดเพียงแต่พิจารณาคดีให้รวดเร็วไม่ได้ จะต้องคำนึงความเป็นธรรมด้วย และความเป็นธรรมนี้ก็เป็นอำนาจทั่วไปของศาลที่ที่จะประสิทธิประสาทให้แก่คู่ความในคดีได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายใดอีก นอกจากนี้ยังมีผู้เสนอว่า ในการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะต้องทั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งคดีอาญาทั่วไป คือ ยึดหลักในการรับฟังความทุกฝ่ายและสิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ถูกกล่าวหา การพิจารณาต้องกระทำโดยเปิดเผย รวดเร็ว และเที่ยงธรรม และระบบไต่สวนที่อาศัยหลักการบริหารจัดการที่ดี 22
       ในส่วนของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หมวดการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในส่วนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ผู้เขียนเสนอมีการบัญญัติว่า ให้คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ โดยให้คู่ความมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาในปัญหาข้อกฎหมายที่เป็นสาระสำคัญแห่งคดีได้ทุกกรณี และในกรณีการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจะต้องได้รับการรับรองโดยผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีไม่น้อยกว่า 3 คน รับรองข้อเท็จจริงให้อุทธรณ์ได้ จะช่วยให้สร้างความเป็นธรรมแก่คู่ความ โดยเฉพาะจำเลยในคดีมากขึ้นด้วย ไม่ควรที่จำกัดสิทธิอุทธรณ์ได้เฉพาะในกรณีที่พยานหลักฐานใหม่เท่านั้น ซึ่งในประเด็นการมีพยานหลักฐานใหม่ที่อาจจะมีผลทำให้คดีเปลี่ยนแปลงไปนั้น มีพระราชบัญญัติรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 รองรับที่จะกระทำได้อยู่แล้ว หากจำกัดเฉพาะกรณีมีพยานหลักฐานใหม่ก็ยังเป็นการจำกัดสิทธิของจำเลย และละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่นั้นเอง
       
       เชิงอรรถ
       1.ผลการจากศึกษาวิจัยของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ระบบการตรวจสอบทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองระดับสูง, รายงานวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.), กรุงทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2538.
       2.คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.), ข้อเสนอกรอบความคิดในการปฏิรูปการเมืองไทย, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2538, หน้า 39 – 42.
       3.เข็มชัย ชุติวงศ์, กฎหมายลักษณะพยาน, พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ: นิติบรรณาการ, 2536: หน้า 2-3.
       4.เรื่องเดิม, หน้า 3-4.
       5.ธีสุทธิ์ พันธ์ฤทธิ์, กฎหมายหลักษณะพยาน, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2549: หน้า 19-20.
       6.ณรงค์ ใจหาญ, หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เล่ม 1, พิมพ์ครั้งที่ 8, กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2547: หน้า 26.
       7.โสภณ รัตนากร, คำอภิบายกฎหมายลักษณะพยาน, พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : นิติบรรณาการ, หน้า 2.
       8.ประพันธ์ ทรัพย์แสง, การค้นหาความจริงของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง : แนวทางปัญหาสู่ความเป็นระบบไต่สวนเต็มรูปแบบ, งานวิจัยตามหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง ( บ.ย.ส.) วิทยาลัยการยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม, 2548, หน้า 18.
       9.ณรงค์ ใจหาญ, เรื่องดียวกัน, หน้า 26.
       10.ประพันธ์ ทรัพย์แสง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 18.
       11.คณิต ณ นคร, กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, พิมพ์ครั้งที่ 6, กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2546, น.45
       12.ประพันธ์ ทรัพย์แสง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 18-19.
       13.จรัญ ภักดีธนากุล, กฎหมายลักษณะพยาน, กรุงเทพฯ : สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2548, หน้า 242.
       14.คณิต ณ นคร, เรื่องเดิม, หน้า 56,149.
       15.จิตติ ติงศภัทิย์, ข้อสังเกตในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและการเขียนคำพิพากษา, กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2549, หน้า 26, 31.
       16.ประพันธ์ ทรัพย์แสง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 1.
       17.เข็มชัย ชุติวงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 263.
       18.โสภณ รัตนากร, เรื่องเดียวกัน, หน้า 177-178.
       19.คำเบิกความของจำเลยร่วมที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยคนอื่นเป็นคำซัดทอด ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังลงโทษจำเลยด้วยกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ 915/2478, 70/2479) ศาลจะใช้คำพยานของจำเลยด้วยกันมาฟังลงโทษจำเลยอีกผู้หนึ่งไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 977/2481) อ้างใน โสภณ รัตนากร, เรื่องเดียวกัน, หน้า 175.
       20.คณิต ณ นคร, เรื่องเดียวกัน, หน้า 102.
       21.ประพันธ์ ทรัพย์แสง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 34-35.
       22.บทคัดย่อในงานวิจัยตามหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง ของนายประพันธ์ ทรัพย์แสง, เรื่องเดียวกัน, หน้า (3).


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544