หน้าแรก บทความสาระ
ข้อค้างคาใจในคำวินิจฉัยคดียุบพรรค โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการอิสระ อาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย
24 มิถุนายน 2550 22:14 น.
 
ผมไม่ติดใจต่อผลของคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ ๑-๒/๒๕๕๐ และ ๓-๕/๒๕๕๐ ในกรณีที่มีคำวินิจฉัยไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์และให้ยุบพรรคไทยรักไทยและที่เหลืออีก ๓ พรรคตามคำร้องของอัยการสูงสุด เพราะจะกลายเป็นการ “ดันทุรัง” และไม่ยอมรับในกติกาที่มีอยู่ว่าเมื่อผลออกมาเช่นไรก็ควรที่จะต้องยอมรับและยุติเพราะคณะตุลาการฯได้ทำหน้าที่จบแล้ว
       
       แต่ผมติดใจในเหตุผลที่ใช้ในการอธิบายคำวินิจฉัยในประเด็นที่สำคัญๆและมีผลต่อบรรทัดฐานของระบบกฎหมายไทยต่อไปภายหน้า เพราะมิได้อธิบายฐานที่มาแห่งอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเองว่าเป็นการแต่งตั้งศาลพิเศษเฉพาะคดีที่เข้าข่ายเป็นการละเมิดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(International Covenant on Civil and Political Rights)ของสหประชาชาติที่ไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยหรือไม่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญถูกยุบไปแล้ว คดีที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญเดิมก็ควรจะตกไปตามกัน แต่กลับถูกรื้อฟื้นให้คืนชีพขึ้นมาใหม่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ
       
       แต่กลับไปอธิบายขยายความรับรองความชอบธรรมของคำสั่งที่ออกโดยคณะบุคคลที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและยังย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่บุคคลหรือคณะบุคคลอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากประเด็นดังต่อไปนี้
       
       ๑) ประเด็นเกี่ยวกับประเพณีการปกครองของไทย
       คำวินิจฉัยที่ ๑-๒/๒๕๕๐ หน้า ๔๒ ใช้ถ้อยคำว่า “...เมื่อพิจารณาตามประเพณีการปกครองของประเทศไทยในอดีต เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสิ้นสุดลงภายหลังการเข้ายึดอำนาจการปกครอง หากคณะผู้เข้ายึดอำนาจการปกครองไม่ประสงค์ให้กฎหมายที่มีเนื้อหาสาระเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ต่อไป ก็จะมีประกาศหรือคำสั่งให้ยกเลิก...”
       
ซึ่งเป็นการตีความกฎหมายโดยยึดหลัก “ประเพณี” แต่เป็นประเพณีของการยึดอำนาจตามแบบเผด็จการมิใช่ประเพณีของประชาธิปไตยแต่อย่างใด
       
       ๒) ประเด็นเกี่ยวกับการยึดอำนาจการปกครองด้วยกำลังเป็นวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
       
คำวินิจฉัยที่ ๓-๕/๒๕๕๐ หน้า ๙๔ ใช้ถ้อยคำว่า “...ดังนั้น การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงมิได้หมายความถึง การได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยการปฏิวัติรัฐประหารหรือยึดอำนาจการปกครองด้วยกำลัง ทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๖๕ ดังที่ผู้ถูกร้องที่ ๑ กล่าวอ้างเท่านั้น...
       ซึ่งก็แสดงว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเห็นว่าการทำรัฐประหารก็เป็นการได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ด้วยการยึดอำนาจการปกครองด้วยกำลังเป็นวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นกัน แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ยังพิจารณาคดีโดยอาศัยกฎหมายที่ออกโดยคณะบุคคลที่กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับผู้ถูกร้องเสียอีก
       
       ๓) ประเด็นการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งย้อนหลัง
       
คำวินิจฉัยที่๑-๒/๒๕๕๐ หน้า ๘๖ มีถ้อยคำว่า ...หลักการห้ามออกกฎหมายมีผลย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่บุคคลนั้น มีที่มาจากหลักที่ว่า ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ แต่หลักการดังกล่าวใช้บังคับกับการกระทำอันเป็นความผิดอาญาเท่านั้น...แต่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมิใช่โทษทางอาญา เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่เกิดจากผลของกฎหมายที่ให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่กระทำการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ เพื่อมิให้ผู้บริหารพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสที่จะกระทำการอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีกในช่วงเวลาหนึ่ง และแม้สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในสังคมที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่การมีกฎหมายกำหนดว่าบุคคลใดสมควรมีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้เหมาะสมแก่สภาพแห่งสังคมหรือเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในสังคมนั้นดำรงอยู่ย่อมมีได้...ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมรพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๒๗ ข้อ ๓ จึงมีผลบังคับใช้ย้อนหลังกับการกระทำอันเป็นเหตุยุบพรรคในคดีนี้ได้...”
       

       ซึ่งคงมีปัญหาตามมาว่าแล้วจะว่าอย่างไรหากต่อไปมีการดื้อตาใสย้อนหลังไปยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อเช็คบิลหรือนำตัวคนผิดมาลงโทษ เพราะเห็นว่ากฎหมายนิรโทษกรรมก็มิใช่กฎหมายอาญา เนื่องจากไม่มีการบัญญัติความผิดและโทษไว้ แต่เป็นเพียงกฎหมายที่ยกเว้นการจะต้องรับผิดเท่านั้น ทั้งนี้ ก็อาจจะหมายรวมถึงความรับผิดทางแพ่ง ทางปกครอง ทางภาษีหรือทางวินัยด้วยว่ามิใช่กฎหมายอาญาก็อาจออกย้อนหลังไปเป็นโทษได้เช่นกัน ซึ่งก็คงยุ่งดีพิลึก
       
       กฎหมายย้อนหลังหรือในภาษากฎหมายเรียกว่า ex post facto law นี้ ในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาบัญญัติว่า No state shall pass any ex post facto law โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นคดีแพ่งหรืออาญา และโธมัส เจฟเฟอร์สันผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้ให้เหตุผลว่ากฎหมายย้อนหลังไม่เป็นธรรมกับสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ และกฎหมายย้อนหลังอาจมีโทษและผลร้ายได้แม้กระทั่งในคดีแพ่งมากเท่ากับคดีอาญา เมื่อตอนที่เขาร่างจึงจงใจละเว้นคำว่าแพ่งและอาญาเพื่อให้มีผลทางกว้างและไม่ก่อให้เกิดความอยุติธรรม และในประเทศอื่นเช่น อิตาลีก็บัญญัติในรัฐธรรมนูญไว้ว่า nobody can be punished but according to the law come into force before the deed was committed เช่นกัน
       
       ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มิได้หมายความว่าจะชักชวนหรือต่อต้านคำวินิจฉัยนี้ แต่เป็นการชี้ให้เห็นว่าไม่มีความจำเป็นใดใดที่จะต้องอธิบายหรือขยายความไปจนทำให้เกิดเป็นนิติประเพณีใหม่ขึ้นมา
       
       ที่สำคัญก็คือว่าแล้วจะให้คำตอบแก่ผู้ที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอย่างไรว่านี่มิใช่การรับรองความชอบธรรมของประเพณีของการยึดอำนาจและรับรองความชอบธรรมของการทำรัฐประหารที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายเช่นกันและเป็นกฎหมายสูงสุดเสียด้วยสิครับ
       


       
------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544