หน้าแรก บทความสาระ
การปฏิรูปวุฒิสภาแบบลิงแก้แห โดย คุณชนินทร์ ติชาวัน
คุณชนินทร์ ติชาวัน นบ.,นบ.ท.,นม., มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
3 กันยายน 2550 06:59 น.
 
ในที่สุดผลของการออกเสียงแสดงประชามติครั้งแรกในประเทศไทยเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เป็นที่ทราบผลกันแล้ว สรุปว่า ผู้ที่มาออกเสียงประชามติรับร่างฯ ประมาณ 14 ล้านเสียง และผู้ที่ไม่รับร่างฯ ประมาณ 10 ล้านเสียง ก็เป็นอันว่าร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ผ่านประชามติไปได้ กระบวนการทางการเมืองต่างๆ ก็คงจะต้องเดินหน้ากันต่อไปตามกติกาที่ได้กำหนดไว้ สำหรับในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น แม้กระทั่งฝ่ายที่สนับสนุนให้เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญเอง ก็ยังยอมรับว่ามีข้อบกพร่อง แต่ก็พยายามผลักดันให้ผ่านประชามติโดยให้ความหวังว่า เมื่อประชามติเห็นชอบกับร่างฯ แล้ว ค่อยไปแก้ไขจุดบกพร่องกันทีหลัง ภายหลังจากการเลือกตั้ง ผู้เขียนเองก็ยังนึกไม่ออกว่า จะแก้ไขกันได้ง่ายดายขนาดนั้นเชียวหรือ ขนาดการแก้ไขกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไข นับประสาอะไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เชื่อกันว่าเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ และยังผ่านประชามติจากประชาชน ทั้งประเทศแล้ว แม้ว่าจะมีประชาชนที่ไม่เห็นชอบกว่าสิบล้านคนก็ตาม และยังจะมีกลุ่มผลประโยชน์ที่อาจเสียประโยชน์คอยขัดขวางกันอยู่มากมาย และจะแก้ไขประเด็นไหนก็ไม่มีความ ชัดเจน
       แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเองได้อ่านรัฐธรรมนูญ 2550 มาบ้างแล้ว ก็พบจุดบกพร่อง อยู่ประการหนึ่ง เกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภา ว่าห้ามเป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตร ของสมาชิกวุฒิสภา หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าองค์กรวุฒิสภานั้น เป็นองค์กรหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากในการทำหน้าที่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ว่าเป็นสภาผัวเมียบ้าง สภาเครือญาติบ้าง แต่การกำหนดคุณสมบัติเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องนัก เพราะอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบบางประการตามมา ซึ่งผู้เขียนจะขอนำเสนอตามลำดับต่อไปนี้
       
       1. กำเนิดวุฒิสภาไทย
       เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเบื้องต้นเกี่ยวกับวุฒิสภา จึงจำเป็นต้องกล่าวถึงที่มาและกำเนิดของวุฒิสภาไทยพอสังเขป กล่าวคือ นับตั้งแต่คณะราษฎร์ได้ปฏิบัติการยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น คณะราษฎร์เลือกรูปแบบการปกครองในระบบรัฐสภาแบบสภาเดียว มีสมาชิกมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด จนกระทั่งเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2489 จึงให้รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและพฤฒิสภา ซึ่งต่อมาเรียกว่าวุฒิสภา ตลอดช่วงระยะเวลาของการเมืองการปกครองไทย ที่ผ่านมา บางช่วงอาจจะมีรัฐสภาแบบสภาเดียว หรือบางช่วงจะมีรัฐสภาแบบสองสภา ซึ่งอาจจำแนกลักษณะได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
       1) สภาเดียว สมาชิกแต่งตั้งทั้งหมด
       - ธรรมนูญการปกครอง 2475 เรียก สภาผู้แทนราษฎร
       - ธรรมนูญการปกครอง 2502 เรียก สภาร่างรัฐธรรมนูญ
       - ธรรมนูญการปกครอง 2515 2520 2534 และ2549 เรียกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
       - รัฐธรรมนูญ 2519 เรียก สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
       2) สภาเดียว มีสมาชิก 2 ประเภท เลือกตั้งและแต่งตั้ง
       
- รัฐธรรมนูญ 2475 และ 2495 สมาชิกมีสิทธิเท่าเทียมกัน เรียกว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง ประเภท 2 มาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี
       3) สภาคู่ เลือกตั้งและแต่งตั้ง
       
- รัฐธรรมนูญ 2489 2490 2511 2517 2521 และ2534 สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งเรียกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สำหรับสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งเรียกว่าสมาชิกวุฒิสภา (2489 เรียก พฤฒิสภา)
       -รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นฉบับเดียวที่สมาชิกวุฒิสภามีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน
       
       2. การปฏิรูปวุฒิสภา
       วุฒิสภาจากการแต่งตั้งทุกชุด ถูกขนานนามว่า “สภาตรายาง” มาโดยตลอด เนื่องจากแทนที่จะแสดงบทบาทในการกลั่นกรองกฎหมายในฐานะ “สภากลั่นกรอง” แต่กลับไปรับใช้อำนาจการเมืองแทน ทั้งนี้ เป็นเพราะนายกรัฐมนตรีในแต่ละยุคเป็นผู้เสนอชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง นอกจากนี้ จากเหตุที่ผู้ได้รับการแต่งตั้งส่วนใหญ่จะมาจาก นายทหาร ทั้งในกองทัพและนอกราชการ รวมทั้งข้าราชการระดับปลัดกระทรวงที่มีแนวคิดไปในทางอนุรักษ์นิยม ทำให้แนวคิดของวุฒิสมาชิกแต่ละชุดแทบไม่มีอะไรแตกต่างกัน
       จากปัญหาที่พบว่า การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง การตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหารโดยวุฒิสภา ไม่สามารถที่จะกระทำได้อย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 จึงพยายามแก้ปัญหาให้วุฒิสภามีความเป็นอิสระปราศจากฝักฝ่ายทางการเมือง และกำหนดอำนาจหน้าที่เพิ่มมากขึ้น เช่น สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบถอดถอน ข้าราชการระดับสูง หรือผู้ดำรงดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ที่มาของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 จึงกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จำนวน 200 คน 1 ด้วยเหตุผลที่ว่า ในเมื่อได้กำหนดให้วุฒิสภาเป็นองค์กรที่มีอำนาจมากขึ้น โดยเฉพาะอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้วุฒิสภามีความเชื่อมโยงกับประชาชน กล่าวคือ ต้องมาจาการเลือกตั้งของประชาชนนั่นเอง
       คุณสมบัติของผู้ที่จะมีสิทธิสมัครรับ เลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญ 2540 จะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง การศึกษาจะต้องไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และจะต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
       -มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้ว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งหรือ
       -เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง หรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในจังหวัดนั้นหรือ
       -เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งหรือ
       -เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษาหรือ
       -เคยรับราชการหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่ สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
       
       จากประสบการณ์การมีวุฒิสภาที่มีที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 สะท้อนให้เห็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือ สมาชิกวุฒิสภา ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาไม่มีความเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง มีการอาศัยฐานเสียงจากนักการเมืองในพื้นที่นั้นๆ เป็น “สภาผัวเมีย” และเครือญาติ ภรรยา ลูกหลาน และญาติพี่น้องของนักการเมือง สภาพการณ์เช่นนี้เองส่งผลให้การตรวจสอบฝ่ายบริหารของวุฒิสภาไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ จึงเป็นจุดอ่อนประการหนึ่งของ รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งได้มีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับวุฒิสภาเพื่อให้มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง
       ภายหลังจากคณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จึงได้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ซึ่งก็คือฉบับที่ได้มีการลงประชามติไปเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมานั่นเอง รัฐธรรมนูญ 2550 ในส่วนที่เกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภานั้น ได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาของวุฒิสภา ให้พ้นจากข้อครหาว่าเป็นสภาผัวเมีย หรือสภาเครือญาติ จึงได้มีการกำหนดที่มาของสมาชิกวุฒิสภาเป็นสองประเภท โดยมาจากการเลือกตั้งจำนวนหนึ่ง และมาจากการสรรหาอีกจำนวนหนึ่ง2 นอกจากนี้ ยังได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่สำคัญประการหนึ่งไว้ว่า “ต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” 3
       
การกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นสมาชิกวุฒิสภาเช่นนี้ หากพิจารณาอย่างผิวเผินก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไร และยังสามารถที่จะป้องกันไม่ให้สมาชิกวุฒิสภา มีความเกี่ยวพันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่หากพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้วจะพบว่า บทบัญญัติดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดปัญหาและความวุ่นวายทางการเมืองเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวเสนอ ดังต่อไปนี้
       
       3.วิเคราะห์คุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา 115(5) รัฐธรรมนูญ 2550
       
       3.1) การใช้ถ้อยคำและความหมาย
       
มาตรา 115 (5) กำหนดว่า ผู้มีคุณสมบัติที่จะสมัครรับเลือกตั้งหรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
       ผู้เขียนใคร่ขอให้ความหมายของคำว่า บุพการี คู่สมรส บุตร ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนี้
       บุพการี หมายถึง บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย และทวด
       
คู่สมรส หมายถึง คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย
       บุตร หมายถึง บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
       สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หมายถึง บุคคลผู้เป็นสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 93 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550
       
ถ้อยคำที่เป็นปัญหาและจะได้พิจารณาคือคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” นั้นมีความหมายอย่างไร ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2535 ให้ส่งเรื่องให้ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาให้ความเห็น และที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมายก็ได้วินิจฉัยให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวแล้ว โดยได้ให้ความหมายพอสรุปได้ว่า4 “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” รวมทั้งถ้อยคำอื่นในลักษณะเดียวกันนั้น หมายถึงผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศ หรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นถ้อยคำที่มีความหมายกว้างกว่าคำว่า “ข้าราชการการเมือง” โดยรวมถึงบรรดาผู้ที่รับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมด โดยงานการเมืองนั้นจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย (policy) เพื่อให้ฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหาร (administration) ให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดนั้น “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” จึงหมายถึงคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน
       โดยนัยดังกล่าว สมาชิกรัฐสภา ซึ่งหมายความรวมถึง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจึงมีฐานะเป็น “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ตามความเห็นของกรรมการร่างกฎหมายด้วย
       ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ได้นั้น นอกจากจะไม่เป็นบุพการี คู่สมรส บุตร ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยังจะต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมรส บุตร ของสมาชิกวุฒิสภาด้วย นั่นหมายความว่า ผู้ที่ความเกี่ยวพันเป็นญาติกันในลักษณะที่เป็น บุพการี คู่สมรส บุตร จะเป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วยกันไม่ได้ ผู้เขียนเห็นว่ากรณีเช่นนี้ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะเป็นการจำกัดสิทธิทางการเมืองของบุคคลจนเกินความจำเป็น และเป็นการใช้ถ้อยคำที่มีความหมายกว้างจนเกินไป มีลักษณะเป็นการหว่านแหคลุมไปหมด
       ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเช่น นาย ก เป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ในระหว่างอายุของวุฒิสภา มีวุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งท่านหนึ่งเสียชีวิตลง จึงต้องมีการเลือกตั้งเพื่อทดแทนสมาชิกที่เสียชีวิตไป นาย ข เป็นบิดา ของนาย ก มีความประสงค์ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา กรณีเช่นนี้ จะเห็นว่า นาย ข เป็นผู้ขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 115(5) เพราะเป็นบุพการีของนาย ก ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาอยู่แล้ว
       
หรืออีกกรณีหนึ่ง เช่น นายรัก เป็นบุตรของ นายชาติ เมื่อได้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา นายรัก มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ จึงได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ นายชาติ มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดพัทลุง จึงได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตจังหวัดพัทลุง ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าทั้งนายรัก และนายชาติ ต่างก็ได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงสุดในเขตจังหวัดนั้นๆ ปัญหาที่ตามมาก็คือ ทั้งนายรักและนายชาติ จะเป็นสมาชิกวุฒิสภา พร้อมกันไม่ได้ เพราะจะทำให้ ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 115(5) ทันที
       
       
3.2) เป็นบทบัญญัติที่ไม่มีความชัดเจน
       
บทบัญญัติมาตรา 115 (5) เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นสมาชิกวุฒิสภา ว่าจะต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งหมายความว่า หากข้อเท็จจริงปรากฏขึ้นมาเมื่อใดว่าสมาชิกวุฒิสภา เป็นบุคคลต้องห้ามตาม มาตรา 115(5) สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา นั้นก็จะต้องสิ้นสุดลง5 ไม่ว่าข้อเท็จจริงนั้นจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่สมาชิกวุฒิสภา นั้นได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ก็ตาม
       ผู้เขียนใคร่ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น เช่น นาย เอ เป็นสมาชิกวุฒิสภา นางสาว บี เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในระหว่างอายุของสภา บุคคลทั้งสองเกิดชอบพอกันเนื่องจากได้ทำงานใกล้ชิดกัน และตกลงที่จะทำการสมรสกัน ในกรณีเช่นนี้ นาย ก ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาอยู่ก็จะต้องพ้นสมาชิกสภาพ ตามมาตรา 119 เพราะเป็นคู่สมรสของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
       

       3.3) เป็นบทบัญญัติที่ไม่มีความสมดุล
       รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดห้ามไม่ให้สมาชิกวุฒิสภา เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรกับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ในบทบัญญัติที่ว่าด้วยสภาผู้แทนราษฎร กลับไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่า ห้ามเป็นเป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรกับสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้น ผู้ที่จะสมัครรับการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะเป็นเป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรกับกับ สมาชิกวุฒิสภา หรือไม่ เพราะแม้จะเป็นเป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรกับสมาชิกวุฒิสภา ก็สามารถ สมัครได้ และเมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏว่าเป็นผู้ได้รับคะแนนสูงสุดก็ได้เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผลกระทบที่ตามมาคือ สมาชิกวุฒิสภา ก็จะต้องพ้นสมาชิกภาพไป แม้ว่าญาติตนเองนั้นจะได้เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่ตนได้เป็นสมาชิกวุฒิสภา แล้วก็ตาม เช่น นาย ก เป็นสมาชิกวุฒิสภา และเป็นปู่ของนาย ข ต่อมาได้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนาย ข ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับคะแนนสูงสุดจึงได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีเช่นนี้ นาย ก ก็จะต้องพ้นสมาชิกภาพวุฒิสภา เนื่องจากเป็นบุพการีของนาย ข
       แต่ในทางตรงกันข้าม หากนาย ข เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ นาย ก ผู้เป็นปู่ของนาย ข นั้น กลับไม่มีสิทธิที่จะสมัครรับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้
       
ตามที่ผู้เขียนได้นำเสนอในข้อ 3.1 ,3.2 และ 3.3 จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติ มาตรา115(5) แม้จะแก้ปัญหาไม่ให้ สมาชิกวุฒิสภา มีความเกี่ยวพันเป็นบุพการี คู่สมรส บุตร ของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง แต่กลับจะก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ และในทางกฎหมายได้ กล่าวคือ เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อธรรมชาติของมนุษย์ และขัดต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคม เป็นบทบัญญัติที่ไม่ได้มีความชัดเจน และไม่เหมาะสม เพราะบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ต้องพ้นจากสมาชิกภาพ เพียงเพราะเป็นบุพการี คู่สมรส บุตร ของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น จะเกิดขึ้นภายหลังที่ตนได้เป็นสมาชิกวุฒิสภา แล้วก็ตาม ย่อมไม่มีเหตุผลที่ชอบใดๆเลยที่จะให้สมาชิกวุฒิสภา คนนั้นต้อง พ้นจากสมาชิกภาพไป และอาจพิจารณาได้เป็น 2 นัย คือ
       -หากสมาชิกวุฒิสภา ท่านนั้นเป็น สมาชิกวุฒิสภา ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน การกำหนดให้ต้องพ้นจากสมาชิกภาพ เพราะเป็นบุพการี คู่สมรส บุตร ของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้น ก็ย่อมเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งเพราะเป็นการทำให้บุคคลที่ประชาชนได้เลือกตัวแทนมาทำหน้าที่ สมาชิกวุฒิสภา ต้องพ้นจากตำแหน่งไป เพราะประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งได้เลือกอีกบุคคลหนึ่งเป็นตัวแทนของตนเพื่อทำหน้าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
       -หาก สมาชิกวุฒิสภา ท่านนั้นเป็น สมาชิกวุฒิสภา ที่มาจากการสรรหา ก็ยิ่งจะเป็นการตอกย้ำอีกว่าคณะกรรมการสรรหา ไม่สามารถที่จะสรรหาบุคคลที่มีความเป็นกลางทางการเมืองได้
       
       สรุป ผู้เขียนจึงเห็นว่า การกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้นั้นจะต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมรส บุตร ของสมาชิกวุฒิสภา หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ไม่น่าจะเป็นการแก้ปัญหามิให้ สมาชิกวุฒิสภา ฝักฝ่ายทางการเมืองได้ และยังจะเป็นการจำกัดสิทธิทางการเมืองของบุคคลจนเกินขอบเขตความจำเป็น จะเห็นว่าตลอดระยะเวลาของการเดินทางของการเมืองในประเทศไทย วุฒิสภาจะเป็นองค์กรที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด มีการปฏิรูปวุฒิสภาโดยกำหนดให้มาจากการเลือกตั้งแทนการแต่งตั้งเพื่อแก้ปัญหาการถูกขนานนามว่า เป็น “สภาตรายาง” แต่เมื่อมีการเลือกตั้งก็ถูกขนานนามว่าเป็น “สภาผัวเมีย” หรือสภาเครือญาติ จนมีการแก้โดย เพิ่มเติมคุณสมบัติเพื่อให้พ้นจากข้อครหาดังกล่าว แต่ก็เกิดปัญหาใหม่ตามมาอีกตามที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปข้างต้น จึงดูเหมือนว่าองค์กรวุฒิสภาเป็นองค์กรหนึ่งที่ค่อนข้างจะมีปัญหาในทางการเมืองและอาจจะดูเหมือนว่าเป็นจุดอ่อนของการเมืองไทยตลอดมา ดังนั้น จึงสมควรที่จะต้องมาขบคิดกันให้หนักว่าจะยังคงมีวุฒิสภาต่อไปหรือไม่ หรือจะคอยแก้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนดั่งลิงแก้แหกระนั้นหรือ
       
       เชิงอรรถ
       
       1. โปรดดู มาตรา 121 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540.
       2. มาตรา 111 รัฐธรรมนูญ 2550
       3. มาตรา 115(5) รัฐธรรมนูญ 2550
       4. บันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา , เรื่อง การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ , กรกฎาคม 2535.
       5. มาตรา 119(4) รัฐธรรมนูญ 2550


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544