หน้าแรก บทความสาระ
สิทธิมนุษยชนกับความมั่นคงของชาติ โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง
คุณชำนาญ จันทร์เรือง
3 กันยายน 2550 06:59 น.
 
ปัญหาที่ดูเหมือนจะหาข้อยุติไม่ได้ในการถกเถียงกันระหว่างภาครัฐกับประชาชน ก็คือปัญหาเรื่องของสิทธิมนุษยชนกับความมั่นคงของชาติว่าอย่างไหนสำคัญกว่ากัน โดยฝ่ายรัฐมองว่าหากมีสิทธิมนุษยชนมากเท่าใดก็ย่อมที่จะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติมากขึ้นเท่านั้น จึงมีความพยายามที่จะออกมาตรการต่างซึ่งรวมถึงกฎหมายที่มีบทบัญญัติละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอ ซึ่งความเข้าใจดังว่านั้นแท้ที่จริงแล้วหาเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องไม่
       ความหมายและสาระสำคัญ
       สิทธิมนุษยชน คือ สิทธิประจำตัวของมนุษย์ทุกคน ที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกคนที่ต้องได้รับในฐานะที่เป็นมนุษย์ ซึ่งทำให้คนๆนั้นมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความเหมาะสมแก่ความเป็นมนุษย์และสามารถมีการพัฒนาตนเองได้ ที่ว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกคนที่ต้องได้รับฐานะที่เป็นมนุษย์ก็เพื่อทำให้คนๆนั้นมีชีวิตอยู่รอดและมีพัฒนาการ
       สิทธิมนุษยชนมี ๒ ระดับ
       ระดับแรก เป็นสิทธิที่ติดตัวทุกคนตั้งแต่เกิด ไม่สามารถถ่ายโอนให้กันได้ อยู่เหนือกฎหมายและอำนาจใดๆของรัฐทุกรัฐ สิทธิเหล่านี้ได้แก่ สิทธิในชีวิต ห้ามฆ่าหรือทำร้ายชีวิต ห้ามการค้ามนุษย์ ห้ามการทรมานอย่างโหดร้ายทารุณ คนทุกคนมีสิทธิในความเชื่อ มโนธรรมหรือสิทธิทางศาสนา ทางการเมือง มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกหรือการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นใด สิทธิมนุษยชนเหล่านี้ไม่ต้องมีกฎหมายรับรอง สิทธิเหล่านี้ดำรงอยู่อย่างน้อยก็คือมโนธรรมสำนึกในบาปบุญคุณโทษที่มีอยู่ในตัวของแต่ละคน เช่น หากแม้ว่าจะมีหรือไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการฆ่าคนเป็นความผิดตามกฎหมายก็ตาม แต่คทุกคนย่อมมีสำนึกรู้ได้เองว่า การฆ่าคนย่อมเป็นสิ่งต้องห้ามหรือเป็นบาปทางศาสนา เป็นต้น
       ระดับที่สอง เป็นสิทธิที่ต้องได้รับรองในรูปแบบของกฎหมาย หรือต้องได้รับการคุ้มครองโดยรัฐ ได้แก่ การได้รับสัญชาติ การมีงานทำ การได้รับการคุ้มครองแรงงาน ความเสมอภาคของหญิงชาย สิทธิของเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ การได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การประกันการว่างงาน การได้รับการบริการทางสาธารณสุข การสามารถแสดงทางวัฒนธรรมอย่างอิสระ สามารถได้รับความเพลิดเพลินจากศิลปวัฒนธรรมในกลุ่มของตน เป็นต้น
       สิทธิมนุษยชนระดับที่สองนี้ต้องเขียนรับรองไว้ในกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญหรือแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐแต่ละประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันว่าคนทุกคนที่อยู่ในรัฐนั้นจะได้รับความคุ้มครองชีวิตความเป็นอยู่ให้มีความเหมาะสมแก่การเป็นมนุษย์
       เราสามารถจำแนกสิทธิมนุษยชนได้เป็น ๕ ประเภท ได้แก่
       ๑) สิทธิพลเมือง ได้แก่ สิทธิในชีวิตและร่างกาย เสรีภาพและความมั่นคงในชีวิต ไม่ถูกทรมาน ไม่ถูกทำร้ายหรือฆ่า สิทธิในความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย สิทธิที่จะได้รับการปกป้องจากการจับกุมหรือคุมขังโดยมิชอบ สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาในศาลอย่างยุติธรรมโดยผู้พิพากษาที่มีอิสระ สิทธิการได้รับสัญชาติ เสรีภาพในศาสนิกในการเชื่อถือและปฏิบัติตามความเชื่อถือของตน ฯลฯ
       ๒) สิทธิทางการเมือง ได้แก่ สิทธิในการเลือกวิถีชีวิตของคนเองทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมถึงการการจัดการทรัพยกรธรรมชาติ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก สิทธิในมีส่วนร่วมกับรัฐในการดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์สาธารณะ เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เสรีภาพในการรวมกลุ่ม สิทธิในการเลือกตั้งอย่างเสรี ฯลฯ
       ๓) สิทธิทางเศรษฐกิจ ได้แก่ สิทธิการมีงานทำ ได้เลือกงานอย่างอิสระและได้รับค่าจ้างอย่างเป็นธรรม สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน การได้รับอาหารที่เพียงพอแก่การยังชีพ ฯลฯ
       ๔) สิทธิทางสังคม ได้แก่ สิทธิการได้รับการศึกษา สิทธิการได้รับหลักประกันด้านสุขภาพ แม่และเด็กต้องได้รับการดูแล ได้รับการพัฒนาบุคลิกภาพอย่างเต็มที่ ได้รับความมั่นคงทางสังคม มีเสรีภาพในการเลือกคู่ครองและสร้างครอบครัว ฯลฯ
       ๕) สิทธิทางวัฒนธรรม ได้แก่ การมีเสรีภาพในการใช้ภาษาหรือ สื่อความหมายในภาษาท้องถิ่นของตน มีเสรีภาพในการแต่งกายตามวัฒนธรรม การปฏิบัติตามวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของตน การปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนา การพักผ่อนหย่อนใจทางศิลปวัฒนธรรมและการบันเทิงได้โดยไม่มีใครมาบีบบังคับ ฯลฯ
       จึงจะเห็นได้ว่า “สิทธิตามกฎหมาย” ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชน มีสิทธิบางอย่างเท่านั้นถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชน และสิทธิที่เป็นสิทธิมนุษยชนนั้น ถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติต่อกันระหว่างมนุษย์ เช่น การฆ่าหรือทำร้ายกัน แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า การทำร้ายหรือการฆ่าเป็นความผิด คนทุกคนก็รู้แก่ใจว่าการฆ่าเป็นความผิด แต่การที่คนในชาติไม่ได้รับอาหารที่เพียงพอแก่การยังชีพ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่งคือสิทธิทางเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องจัดการให้คนในชาติได้รับอาหารเพียงพอแก่การมีชีวิตอยู่รอด
       ฉะนั้น สิทธิมนุษยชนจึงเป็นของมนุษย์ทุกคนไม่จำเพาะแต่ฝรั่งมังค่าหรือจำเพาะตามกฎบัตรสหประชาชาติเท่านั้น เพราะไม่มีส่วนใดเลยของสิทธิมนุษยชนที่จะไปกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติตามที่ภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหวั่นเกรงจนต้องออกมาตรการหรือกฎหมายความมั่นคงรวมถึงกฎอัยการศึกที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้อย่างมากมายมหาศาลแทบจะไม่มีขีดจำกัด ซึ่งแทนที่จะช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงกลับทำให้ปัญหาลุกลามใหญ่โตดังเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาคใต้หรือปัญหาในภูมิภาคอื่น
       ในทำนองกลับกันยิ่งประเทศที่มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากขึ้นเท่าใด ประชาชนยิ่งดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสงบสุข เมื่อมีสันติสุขประชาชนย่อมมีเวลาทำมาหากิน ความมั่นคงของชาติซึ่งไม่จำเพาะแต่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการเมือง และที่สำคัญก็คือความมั่นคงทางทหารเอง ก็ย่อมมีความมั่นคงควบคู่กันไปกับสิทธิมนุษยชนมากยิ่งๆ ขึ้นไปเท่านั้น ใช่ไหมครับ
       

       --------------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544